ปรมัตถธรรมสังเขป
ในอดีตสมัย ณ สาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานระหว่างไม้สาละคู่ หมดโอกาสที่สัตวโลกจะได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์อีกต่อไป พระผู้มีพระภาคประทานพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงแล้ว ทรงบัญญัติแล้ว ไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์เมื่อทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว (1)
พุทธบริษัทย่อมถวายความนอบน้อมสักการะพระธรรมอันประเสริฐสุดของพระผู้มีพระภาค ตามความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย แม้ผู้ใดเห็นพระวรกายของพระองค์ ได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ หรือแม้ได้จับชายสังฆาฏิติดตามพระองค์ไป แต่ไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรม ผู้นั้นก็หาได้เห็นพระองค์ไม่ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่า ย่อมเห็นตถาคต (2)
พระพุทธศาสนา คือ พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มี ๓ ขั้น
๑. ขั้นปริยัติ ศึกษาพระธรรมวินัย
๒. ขั้นปฏิบัติ เจริญธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์
๓. ขั้นปฏิเวธ รู้แจ้งธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์
พระพุทธดำรัสที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต หมายถึงการเห็นธรรม รู้แจ้งธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ คือ โลกุตตรธรรม ๙ ขั้นปฏิเวธ การเห็นธรรมขั้นปฏิเวธเป็นผลของการ เจริญธรรมขั้นปฏิบัติ การเจริญธรรมขั้นปฏิบัติต้องอาศัยปริยัติ ด้วยเหตุนี้ ปริยัติคือการศึกษาพระธรรมวินัย จึงเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นทางนำไปสู่พระพุทธศาสนาขั้นปฏิบัติ และขั้นปฏิเวธ เป็นลำดับไป
พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคได้จดจำสืบต่อกันมาโดยมุขปาฐะ คือ การท่องจำจากพระอรหันตสาวกผู้กระทำสังคายนาพระธรรมวินัย เป็น ๓ ปิฎก เรียกว่า พระไตรปิฎก การท่องจำกระทำได้สืบต่อกันมาตราบจนกระทั่งได้จารึกเป็นตัวอักษร พระธรรมวินัยซึ่งพระอรหันตสาวกได้สังคายนาเป็น ๓ ปิฎกนั้น คือ
๑. พระวินัยปิฏก
๒. พระสุตตันตปิฏก
๓. พระอภิธรรมปิฏก
พระวินัยปิฎกเกี่ยวกับระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ขั้นสูงยิ่งขึ้นเป็นส่วนใหญ่ พระสุตตันตปิฎกเกี่ยวกับหลักธรรมที่ทรงเทศนาแก่บุคคลต่างๆ ณ สถานที่ต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ พระอภิธรรมปิฎกเกี่ยวกับสภาพธรรมพร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวง
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรม พร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวง พระองค์ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้เพื่ออนุเคราะห์สัตวโลก ตั้งแต่สมัยตรัสรู้ ตราบจนถึงสมัยปรินิพพานด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ อันไม่มีผู้ใดเปรียบปาน พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อบรรลุธรรม เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงถึงพร้อมด้วยสัมปทา (3) คือ เหตุสัมปทา ผลสัมปทา สัตตูปการสัมปทา
เหตุสัมปทา การถึงพร้อมด้วยเหตุ คือ การทรงบำเพ็ญ พระบารมีจนถึงพร้อมเพื่อตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขยแสนกัปป์ หลังจากได้รับคำพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า
ผลสัมปทา การถึงพร้อมด้วยผล มี ๔ อย่าง คือ
๑. ญาณสัมปทา ได้แก่ มัคคญาณมัค ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งพระสัพพัญญุตญาณ และพระทศพลญาณ เป็นต้น ซึ่งมีมัคคญาณนั้นเป็นมูล
๒. ปหานสัมปทาได้แก่ กิเลสทั้งสิ้นละพร้อมทั้งวาสนาที่ไม่ดี วาสนา คือ กิริยาอาการทางกายวาจาที่ประพฤติจนเคยชิน ซึ่งถ้าไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ละไม่ได้
๓. อานุภาวสัมปทา ได้แก่ ความเป็นใหญ่ในการทำให้สำเร็จ ได้ตามที่ปรารถนา
๔. รูปกายสัมปทาได้แก่ พระรูปสมบัติอันประกอบด้วยพระมหาปุริสลักษณะ และอนุพยัญชนะ อันเป็นที่เจริญตาเจริญใจของชาวโลกทั้งมวล
เมื่อเหตุคือบารมีถึงพร้อมแล้ว ก็ทำให้ถึงพร้อมด้วยผลสัมปทา คือ การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่ทำให้พระองค์พ้นทุกข์แต่เพียงพระองค์เดียว พระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมานั้นก็เพื่อการตรัสรู้และบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระองค์ ถ้าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อดับกิเลสพ้นทุกข์แต่พระองค์เดียวเท่านั้น พระองค์ก็จะไม่ทรงพระนามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้านั้นมี ๒ ประเภท คือ
๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (4) ผู้ตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่งซึ่งสัจจะด้วยพระองค์เองในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน ทรงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น และทรงบรรลุความเป็นผู้มีความชำนาญในธรรมที่เป็นกำลังทั้งหลาย
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า (5) ผู้ตรัสรู้ซึ่งสัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เองที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน แต่มิได้บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้น และไม่ถึงความเป็นผู้ชำนาญในธรรมที่เป็นกำลังทั้งหลาย
ฉะนั้น การบำเพ็ญเหตุ คือ บารมี เพื่อบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผล จึงมากน้อยต่างกัน
สัตตูปการสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยพระอัธยาศัยและอุตสาหะอุปการะแก่สัตวโลกเป็นนิจ แม้ในเหล่าสัตว์ผู้มีความผิด มีท่านพระเทวทัต เป็นต้น กับการรอเวลาแก่กล้าแห่งอินทรีย์ของเวไนยสัตว์ ผู้มีปัญญินทรียยังไม่แก่กล้า และพระองค์ทรงแสดงพระธรรมอันจะนำสัตว์ออกจากทุกข์ทั้งปวง โดยมิได้ทรงเพ่งลาภสักการะ เป็นต้น
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถึงพร้อมด้วยเหตุสัมปทา และผลสัมปทาแล้ว พระองค์ก็ทรงโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์เป็นการถึงพร้อมด้วย สัตตูปการสัมปทา การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นการถึงพร้อมด้วยสัมปทาทั้งสาม
ด้วยเหตุนี้ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาจึงเป็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ การตรัสรู้ธรรมทำให้พระองค์ทรงหมดกิเลส และพระองค์ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามก็หมดกิเลสด้วย
ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนจึงควรพิจารณาและศึกษาให้รู้ว่าธรรมและความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นคือะไร ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นต่างกับความจริงที่เราคิดนึกหรือเข้าใจอย่างไรบ้าง
ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจและปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ ก็คือสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้นเป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเสียใจ ความทุกข์ ความสุข ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา ความกรุณา การเห็น การได้ยิน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด สภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภทนั้นต่างกัน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ กัน
การที่หลงยึดความโลภ ความโกรธ และสภาพธรรมอื่นๆ ที่ เกิดขึ้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น เป็นความเห็นผิด เป็นความเข้าใจผิด เพราะธรรมเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนตาย การหลงเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ก็เพราะไม่รู้ความจริงของธรรมทั้งปวง เมื่อเห็นขณะใดก็ยึดการเห็นซึ่งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งว่าเป็นตัวตน เป็นเราเห็น เมื่อได้ยินก็ยึดสภาพธรรมที่ได้ยินนั้นเป็นตัวตน เป็นเราได้ยิน เมื่อได้กลิ่นก็ยึดสภาพธรรมที่ได้กลิ่นนั้นเป็นตัวตน เป็นเราได้กลิ่น เมื่อลิ้มรสก็ยึดสภาพธรรมที่ลิ้มรสนั้นเป็นตัวตน เป็นเราลิ้มรส เมื่อคิดนึกเรื่องใดก็ยึดสภาพธรรมที่คิดนึกนั้นเป็นตัวตน เป็นเรานึกคิด เป็นต้น
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งปวงแล้ว พระองค์ก็ทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้รู้ว่า สภาพธรรมทั้งปวงนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นปรมัตถธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ใครจะเรียกสภาพธรรมนั้นด้วยคำใดภาษาใดหรือไม่เรียกสภาพธรรมนั้นด้วยคำใดๆ เลยก็ตาม สภาพธรรมนั้นก็เป็นสภาพที่ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้เลย สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ดังที่พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่ท่านพระอานนท์ว่า สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา (6)
เมื่อความไม่รู้ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และยึดถือสภาพธรรมที่เกิดดับว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดความยินดีพอใจ หลงยึดถือเพิ่มพูนยิ่งขึ้นในยศฐาบรรดาศักดิ์ ตระกูลชาติ วรรณะ เป็นต้น ความจริงนั้นสิ่งที่มองเห็นเป็นเพียงสีต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆ กัน
การหลงยึดสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น อุปมาเหมือนคนเดินทางในที่ซึ่งย่อมเห็นเหมือนกับว่ามีเงานํ้าอยู่ข้างหน้า แต่เมื่อเข้าใกล้ เงานํ้าที่เห็นก็หายไป เพราะแท้จริงหามีนํ้าไม่ เงานํ้าที่เห็นเป็นมายา เป็นภาพลวงตาฉันใด การเข้าใจผิดว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเพราะความไม่รู้ เพราะความจำ เพราะความยึดถือก็ฉันนั้น
คำว่า สัตว์ บุคคล หญิง ชาย เป็นต้นนั้น เป็นเพียงคำบัญญัติให้รู้ความหมายของสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น อีกประการหนึ่ง ย่อมจะเห็นได้ว่า วัตถุสิ่งของต่างๆ เสียงต่างๆ กลิ่นต่างๆ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และเรื่องต่างๆ นั้น แม้จะวิจิตรสักเพียงใด ก็จะปรากฏให้รู้ไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ซึ่งได้แก่ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้ แข็ง รู้ตึง รู้ไหว การรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ และการคิดนึก
สภาพธรรมที่รู้สิ่งต่างๆ เช่น สภาพธรรมที่รู้สี สภาพธรรมที่ รู้เสียง สภาพธรรมที่รู้กลิ่น สภาพธรรมที่ลิ้มรส สภาพธรรมที่รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว สภาพธรรมที่รู้ความหมายของสิ่งต่างๆ และสภาพธรรมที่คิดนึกเรื่องต่างๆ เป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเรียกสภาพรู้สิ่งต่างๆ นั้นว่า จิต
ปรมัตถธรรมมี ๔ ประเภท
จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น จิตทั้งหมด ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ
เจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต เจตสิกแต่ละเจตสิกมีลักษณะ และกิจต่างกันตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท
รูป เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ เช่น สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น รูปทั้งหมดมี ๒๘ ประเภท
นิพพาน เป็นธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น นิพพานจึงไม่เกิดดับ
จิตปรมัตถ์
ขณะที่เห็นสีต่างๆ ทางตานั้น ตาไม่เห็นอะไร ตาเป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็นซึ่งเป็นจิต เมื่อเสียงกระทบหู หูไม่ใช่จิต เพราะเสียงและหูไม่รู้อะไร แต่สภาพธรรมที่ได้ยินเสียงหรือรู้เสียงนั้นเป็นจิต ฉะนั้น จิตปรมัตถ์จึงเป็นสภาพธรรมที่รู้สี เสียงรู้ รู้สิ่งต่างๆ
ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริงนี้เป็นอภิธรรม เป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ประสูติและตรัสรู้ สภาพธรรมทั้งหลายก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่แล้ว (7) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระบรมศาสดา เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงด้วยพระองค์เองว่า ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และธรรมทั้งปวงไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น
คำว่าอภิ แปลว่ายิ่งใหญ่ อภิธรรม คือ ธรรมที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงเทศนาธรรมทั้งปวงที่ทรงตรัสรู้พร้อมทั้งเหตุปัจจัยของธรรมทั้งปวงนั้นโดยสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ พระองค์ทรงเคารพธรรมที่ทรงตรัสรู้ (8) พระองค์มิได้ทรงเทศนาว่าธรรมทั้งปวงอยู่ในอำนาจของพระองค์ แต่ทรงเทศนาว่าแม้พระองค์เองก็ไม่สามารถบันดาลให้ผู้ใดพ้นทุกข์ หรือบรรลุมัคค์ ผล นิพพานได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่เป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติบรรลุมรรค ผล นิพพาน และพ้นทุกข์ได้
ปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมนั้น มิใช่ธรรมที่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่มีจริง ฉะนั้น ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จึงเป็นการรู้ความจริงของปรมัตถธรรมตามสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ
จิตเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นรู้สี รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รู้สิ่งต่างๆ ตามประเภทของจิตนั้น เช่น จิตที่เกิดขึ้นเห็นสีทางตาเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตที่เกิดขึ้นได้ยินเสียงทางหูเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง จิตที่เกิดขึ้นรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหวทางกายเป็นจิตรู้ประเภทหนึ่ง จิตคิดนึกที่เกิดขึ้นรู้เรื่องต่างๆ ทางใจเป็นจิตประเภทหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้ตามประเภทของจิตและตามปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้นๆ
ในขณะที่จิตกำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่นั้น ขณะนั้นมิได้มีแต่เฉพาะจิตที่เห็นเท่านั้น หรือมิได้มีแต่เฉพาะสิ่งที่จิตเห็นเท่านั้น แต่ต้องมีทั้งจิตเห็นและสิ่งที่จิตเห็น เมื่อมีสิ่งที่ถูกเห็นขณะใด ก็แสดงว่าขณะนั้นต้องมีสภาพเห็น คือจิตเห็นด้วย แต่ถ้ามุ่งสนใจแต่เฉพาะวัตถุหรือสิ่งที่ถูกเห็นเท่านั้นจะทำก็ให้ไม่รู้ความจริงว่า สิ่งที่ถูกเห็นนั้นจะปรากฏได้ก็เพราะจิตเกิดขึ้นทำกิจเห็นสิ่งนั้น ในขณะคิดนึกก็เช่นเดียวกัน เมื่อจิตคิดนึกเรื่องใด เรื่องราวนั้นเป็นคำที่จิตกำลังคิดนึกอยู่ในขณะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งที่จิตรู้นั้น ภาษาบาลีเรียกว่า อารมฺมณ
คำว่า อารมฺมณ (อารมณ์) หรือ อาลมฺพน ในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หมายถึงสิ่งที่จิตรู้ ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้กลิ่น กลิ่นก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นลิ้มรส รสก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ เป็นอารมณ์ของจิตที่ก็กำลังคิดนึกขณะนั้น ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์คู่กันไปทุกครั้ง จิตเกิดขึ้นขณะใด จะต้องรู้อารมณ์ขณะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นแล้วไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ หรือจะมีแต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้โดยไม่มีอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ก็ไม่ได้
จิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์นั้นมิใช่มีแต่ในพระพุทธศาสนา หรือเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้นนั้นเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่เชื้อชาติใดๆ ทั้งสิ้น การที่บัญญัติว่าเป็นบุคคลนี้เห็น สัตว์นั้นได้ยิน เป็นต้น ก็โดยอาศัยรูปและการจำ ถ้าไม่มีรูปและการจำก็ย่อมจะบัญญัติจิตเห็น จิตได้ยินนั้นๆ ว่าเป็นบุคคลนี้เห็น หรือเป็นสัตว์นั้นได้ยินไม่ได้ จิตเป็นปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็นของสัตว์ใด บุคคลใด จิตเห็นที่เกิดขึ้นนั้นก็จะต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยินก็จะต้องได้ยินเสียง จิตเห็นจะรู้เสียงไม่ได้ และจิตได้ยินจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ ไม่มีผู้ใดมีอำนาจบังคับบัญชาให้ปรมัตถธรรมเปลี่ยนลักษณะและสภาพของปรมัตถธรรมนั้นๆ เป็นอย่างอื่นได้ จิตซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัย ทำให้เกิดขึ้น เมื่อไม่มีปัจจัย จิตก็เกิดไม่ได้ เช่น เมื่อเสียงไม่เกิดขึ้นกระทบหู จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ เมื่อกลิ่นไม่เกิดขึ้นกระทบจมูก จิตรู้กลิ่นก็เกิดไม่ได้ จิตแต่ละประเภทจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะมีปัจจัยที่ทำให้เกิด จิตประเภทนั้นๆ ฉะนั้นที่เกิดขึ้นจึงต่างกันเป็น ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ (ซึ่งเรียกว่า ๘๙ ดวงหรือ ๑๒๑ ดวง) และปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทหนึ่งๆ นั้นก็ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียว แต่ต้องมีหลายปัจจัย เช่น
จิตเห็นเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย คือตา ซึ่งได้แก่จักขุปสาท และ รูป คือสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นต้น
จิตเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่รูป ปรมัตถธรรมใดไม่ใช่รูป ปรมัตถธรรมนั้นเป็นามธรรม จิต เจตสิก นิพพานเป็นนามธรรม รูปเป็นรูปธรรม
เจตสิกปรมัตถ์
ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น มีนามปรมัตถ์อีกประเภท
หนึ่งเกิดร่วมกับจิต และรู้อารมณ์เดียวกับจิต นามปรมัตถ์นั้น คือเจตสิก เจตสิกได้แก่ ความโกรธ ความรัก ความสุข ความทุกข์ ความตระหนี่ ความริษยา ความเมตตา ความกรุณา เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้เป็นเจตสิกปรมัตถ์ ไม่ใช่จิตปรมัตถ์
ความโกรธ ความรัก ความสุข ความทุกข์ เป็นต้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต ถ้าไม่มีจิต เจตสิกคือ ความโกรธ ความรัก ความทุกข์ เป็นต้น ก็เกิดไม่ได้ เจตสิกปรมัตถ์มี ๕๒ ประเภทหรือเรียกว่า ๕๒ ดวง เช่น ความโกรธ (โทสะ) ก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง มีลักษณะหยาบ กระด้าง ดุร้าย ความรักก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง คือ โลภเจตสิก มีลักษณะยึดติด ไม่สละและปรารถนาอารมณ์ จะเห็นได้ว่าเจตสิกแต่ละประเภทเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน นอกจากมีลักษณะต่างกัน กิจของเจตสิกแต่ละอย่างก็ต่างกัน ผลคืออาการที่ปรากฏก็ต่างกัน และเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเจตสิกแต่ละประเภทก็ต่างกัน
จิตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์เป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์และเกิดร่วมกัน เจตสิกเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต คือจิตเกิดดับที่ไหนเจตสิกก็เกิดดับที่นั่น จิตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์นั้นไม่แยกกัน คือ ไม่เกิดดับแต่เพียงปรมัตถ์เดียว จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ส่วนเจตสิกต่างๆ ที่เกิดร่วมกับจิตก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่มีลักษณะและหน้าที่ในการรู้อารมณ์นั้นต่างกันไปตามลักษณะและกิจการงานของเจตสิกแต่ละประเภท เพราะเหตุที่จิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้นนั้นมีเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วยมากน้อยต่างๆ กัน และเป็นเจตสิกต่างประเภทกัน จึงทําให้จิตต่างกันเป็น ๘๙ หรือ ๑๒๑ประเภท โดยพิเศษ จิตแต่ละประเภทนั้นไม่เหมือนกัน โดยรู้อารมณ์ต่างกันบ้าง โดยทํากิจต่างกันบ้าง โดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างกันบ้าง เช่นจิตบางดวงมีสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอารมณ์ จิตบางดวงมีเสียงเป็นอารมณ์ เป็นต้น จิตบางดวงทํากิจเห็น จิตบางดวงทํากิจได้ยิน เป็นต้น จิตบางดวงมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตบางดวงมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดังนี้ เป็นต้น เมื่อเวไนยสัตว์ฟังพระอภิธรรม ก็พิจารณาสภาพปรมัตถธรรมที่กําลังปรากฏด้วยปัญญาที่ได้อบรมสะสมมาแล้วในอดีต จึงรู้ความจริงของปรมัตถธรรมในขณะนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ในครั้งพุทธกาล เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมจบลง จึงมีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจํานวนมาก เพราะท่านเหล่านั้นฟังพระธรรมเข้าใจและพิจารณารู้ความจริงของสภาพปรมัตถธรรมที่กําลังปรากฏในขณะนั้น เช่น เมื่อพระองค์ทรงเทศนาว่า จักขุวิญญาณ คือ จิตที่ทํากิจเห็นนั้นไม่เที่ยง ท่านเหล่านั้นก็มีสติสัมปชัญญะ รู้สภาพลักษณะของจิตในขณะที่กําลังเห็นนั้นได้ถูกต้องว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะที่กําลังได้ยิน ท่านเหล่านั้นก็มีสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่กําลังได้ยินนั้น เมื่อปัญญารู้แจ้งลักษณะที่ไม่เที่ยง เกิดดับเป็นทุกข์ของปรมัตถธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นแล้ว ก็ละคลายความยินดีเห็นผิดที่ยึดถือปรมัตถธรรมเหล่านั้นว่าเป็นตัวตน เที่ยง และเป็นสุข ฉะนั้น จึงเข้าใจให้ถูกต้องว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงเทศนาสั่งสอน ซึ่งได้รวบรวมบันทึกไว้เป็นพระไตรปิฎกนั้นเป็นเรื่องความจริงของสภาพธรรมทั้งปวง เมื่อศึกษาและเข้าใจปรมัตถธรรมแล้ว ก็ควรพิจารณาปรมัตถธรรมที่กําลังปรากฏ เพื่อรู้แจ้งลักษณะความจริงของปรมัตถธรรมที่กําลังปรากฏนั้น จึงจะละความสงสัยและความไม่รู้ในสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมได้อย่างแท้จริง
การศึกษาเพื่อให้เข้าใจปรมัตถธรรมนั้น จะต้องพิจารณาถึงเหตุผลจึงจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง เช่น จะต้องรู้ว่าสภาพที่เห็นกับสภาพที่ได้ยินนั้นเหมือนกันหรือไม่ ถ้าเหมือนกัน เหมือนกันอย่างไร ถ้าไม่เหมือน ไม่เหมือนกันอย่างไร สภาพเห็นและสภาพได้ยินเป็นจิตปรมัตถ์ก็จริง แต่ไม่ใช่จิตเดียวกัน เพราะเหตุปัจจัยที่ทําให้เกิดต่างกัน จิตเห็นนั้นต้องอาศัยสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาทเป็นปัจจัยจึงจะเกิดได้ ส่วนจิตได้ยินต้องอาศัยเสียงกระทบกับโสตปสาทเป็นปัจจัยจึงจะเกิดได้ จิตเห็นและจิตได้ยินมีกิจต่างกัน และเกิดจากปัจจัยต่างกัน
รูปปรมัตถ์
รูปปรมัตถ์เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ (9) มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นและดับไปเช่นเดียวกับจิตและเจตสิก
รูปปรมัตถ์มี ๒๘ รูป หรือ ๒๘ ประเภท และมีความหมายไม่เหมือนที่เข้าใจกันว่า โต๊ะเป็นรูปหนึ่ง เก้าอี้เป็นรูปหนึ่ง หนังสือเป็นรูปหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น ในรูปปรมัตถ์ ๒๘ ประเภทนั้น มีรูปที่จิตรู้ได้ทางตา คือ มองเห็นได้เพียงรูปเดียว คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วน อีก ๒๗ รูปนั้น จิตเห็นไม่ได้ แต่รู้ได้ทางอื่นตามประเภทของรูปนั้นๆ เช่น เสียงรู้ได้ทางหู เป็นต้น
ถึงแม้ว่าจะเห็นจิตและเจตสิกด้วยตาไม่ได้เช่นเดียวกับรูป ๒๗ รูปที่มองไม่เห็น แต่จิตและเจตสิกก็ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ เพราะจิตและเจตสิกเป็นปรมัตถธรรมที่รู้อารมณ์ ส่วนรูปเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ รูปปรมัตถ์เป็นสังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น รูปๆ หนึ่งอาศัยรูปอื่นเกิดขึ้น ฉะนั้น จะมีรูปเกิดขึ้นเพียงรูปเดียวไม่ได้ ต้องมีรูปที่เกิดพร้อมกัน และอาศัยกันเกิดขึ้นหลายรูปรวมกันเป็น ๑ กลุ่มเล็กๆ ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้เลย ภาษาบาลีเรียกว่า ๑ กลาป
รูปเป็นสภาพธรรมที่เล็กละเอียดมาก เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา รูปกลาปหนึ่งที่เกิดขึ้นจะดับไปเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะจิตที่เห็นและจิตที่ได้ยินขณะนี้ ซึ่งปรากฏเสมือนว่าพร้อมกันนั้นก็เกิดดับห่างไกลกันเกินกว่า ๑๗ ขณะจิต ฉะนั้นรูปที่เกิดพร้อมกับจิตที่เห็นก็ดับไปก่อนที่จิตได้ยิน จะเกิดขึ้น
รูปแต่ละรูปเล็กละเอียดมาก ซึ่งเมื่อแตกย่อยรูปที่เกิดดับรวมกันอยู่ออกจนละเอียดยิบ จนแยกต่อไปไม่ได้อีกแล้วนั้น ในกลุ่มของรูป (กลาปหนึ่ง) ที่เล็กที่สุดที่แยกอีกไม่ได้เลยนั้นก็มีรูปรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป เรียกว่า อวินิพโภครูป ๘ คือ
มหาภูตรูป (รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน) ๔ ได้แก่
ปฐวี (ธาตุดิน) เป็นรูปที่อ่อนหรือแข็ง ๑ รูป
อาโป (ธาตุน้ำ) เป็นรูปที่เอิบอาบหรือเกาะกุม ๑ รูป
เตโช (ธาตุไฟ) เป็นรูปที่ร้อนหรือเย็น ๑ รูป
วาโย (ธาตุลม) เป็นรูปที่ไหวหรือตึง ๑ รูป
มหาภูตรูป ๔ นี้ต่างอาศัยกันเกิดขึ้น จึงแยกกันไม่ได้เลย และ มหาภูตรูป ๔ นี้เป็นปัจจัย โดยเป็นที่อาศัยเกิดของรูปอีก ๔ รูปที่เกิดร่วมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียวกัน คือ
วัณโณ (แสงสี) เป็นรูปที่ปรากฏทางตา ๑ รูป คันโธ (กลิ่น) เป็นรูปที่ปรากฏทางจมูก ๑ รูป
รโส (รส) เป็นรูปที่ปรากฏทางลิ้น ๑ รูป
โอชา (อาหาร) เป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป ๑ รูป
รูป ๘ รูปนี้แยกกันไม่ได้เลย เป็นกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดที่เกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกันอย่างรวดเร็ว จะมีแต่มหาภูตรูป ๔ โดยไม่มีอุปาทายรูป (รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด) ๔ รูปนี้ไม่ได้เลย
มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัย โดยเป็นที่อาศัยของอุปาทายรูปที่เกิดร่วมกันในกลาปเดียวกัน แต่แม้ว่าอุปาทายรูปจะเกิดพร้อมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียวกัน แต่อุปาทายรูปก็ไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิด ฉะนั้น มหาภูตรูป ๔ จึงเกิดพร้อมกับอุปาทายรูป โดยมหาภูตรูปเป็นปัจจัย คือเป็นที่อาศัยของอุปาทายรูป และอุปาทายรูปเกิดพร้อมกับมหาภูตรูปโดยอาศัยมหาภูตรูป แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิด
รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป เป็นมหาภูตรูป ๔ เป็นอุปาทายรูป ๒๔ เมื่อมหาภูตรูป ๔ ไม่เกิด อุปาทายรูป ๒๔ ก็มีไม่ได้เลย
การกล่าวถึงรูป ๒๘ รูปนั้นกล่าวได้หลายนัย แต่จะขอกล่าว โดยนัยที่สัมพันธ์กัน เพื่อสะดวกแก่การเข้าใจและการจําดังนี้ คือ
กลุ่มของรูปแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละกลาปนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ยังไม่ดับไปทันที สภาวรูป (รูปที่มีลักษณะเฉพาะของตน) มีอายุเท่ากับ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ
เมื่อรูปเกิดขึ้นขณะแรกนั้นเป็น อุปจยรูป ๑
ขณะที่รูปเจริญขึ้นเป็น สันตติรูป ๑
ขณะที่รูปเสื่อมลงเป็น ชรตารูป ๑
ขณะที่รูปดับเป็น อนิจจตารูป ๑
รวมเป็น ลักขณรูป ๔
ลักขณรูป ๔ นี้เป็น อสภาวรูป คือ เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะต่างหากเฉพาะของตน แต่สภาวรูปทุกรูปนั้นย่อมมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๔ ลักษณะ คือ ขณะที่รูปเกิดขึ้นไม่ใช่ขณะที่รูปเจริญขึ้น และขณะที่รูปเสื่อมก็ไม่ใช่ขณะที่กําลังเจริญ และขณะที่ดับก็ไม่ใช่ขณะที่เสื่อม กล่าวได้ว่า อุปจยรูปและสันตติรูป คือ ขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับ ส่วนชรตารูปและอนิจจตารูปนั้นคือ ขณะที่ใกล้จะดับและขณะดับ
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ เป็น ๑๒ รูป นอกจาก นั้นยังมี
ปริจเฉทรูป คือ อากาสรูป ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างกลาปทุกๆ กลาป ทําให้รูปแต่ละกลาปไม่ติดกัน ไม่ว่ารูปจะปรากฏเล็กใหญ่ขนาดใดก็ตาม ให้ทราบว่ามีอากาสรูปคั่นอยู่ระหว่างทุกๆ กลาปอย่างละเอียดที่สุด ทําให้รูปแต่ละกลาปแยกออกจากกันได้ ถ้าไม่มีปริจเฉทรูปคั่นแต่ละกลาป รูปทั้งหลายก็ติดกันหมด แตกแยกกระจัดกระจายออกไม่ได้เลย แต่แม้รูปที่ปรากฏว่าใหญ่โตก็สามารถแตกย่อยออกได้อย่างละเอียดที่สุดนั้น ก็เพราะมีอากาสธาตุ คือปริจเฉทรูปคั่นอยู่ทุกๆ กลาปนั่นเอง ฉะนั้น ปริจเฉทรูปจึงเป็นอสภาวรูปอีกรูปหนึ่ง ซึ่งไม่มีลักษณะเฉพาะของตนที่เกิดขึ้นต่างหาก แต่เกิดคั่นอยู่ระหว่างกลาปต่างๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันนั่นเอง
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ เป็น ๑๓ รูป
ไม่ว่ารูปจะเกิดที่ใด ภพภูมิใดก็ตาม จะเป็นรูปที่มีใจครอง (อุปาทินนกรูป) หรือรูปไม่มีใจครอง (อนุปาทินนกรูป) ก็ตาม จะปราศจากรูป ๑๓ รูปนี้ไม่ได้เลย
ส่วนรูปที่มีใจครอง ซึ่งเป็นรูปของสัตว์ บุคคลต่างๆ ในภพภูมิที่มีขันธ์ ๕ นั้น มีปสาทรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน (ปัจจัย) ดังนี้ คือ
จักขุปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ๑ รูป
โสตปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับเสียงได้ ๑ รูป
ฆานปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับกลิ่นได้ ๑ รูป
ชิวหาปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับรสได้ ๑ รูป
กายปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับเย็น ร้อน (ธาตุไฟ) ๑ อ่อน แข็ง (ธาตุดิน) ๑ ตึง ไหว (ธาตุลม) ๑
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ เป็น ๑๔ รูป
รูปที่มีใจครอง คือ มีจิตเกิดกับรูปนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตทุกขณะจะต้องเกิดที่รูปตามประเภทของจิตนั้นๆ คือ จักขุวิญญาณทํากิจเห็นเกิดที่จักขุปสาทรูป โสตวิญญาณทํากิจได้ยินเกิดที่โสตปสาทรูป ฆานวิญญาณทํากิจดมกลิ่นเกิดที่ฆานปสาทรูป ชิวหาวิญญาณทํากิจลิ้มรสเกิดที่ชิวหาปสาทรูป กายวิญญาณทํากิจรู้โผฏฐัพพะ (ธาตุดิน ไฟ ลม) เกิดที่กายปสาทรูป
จิตอื่นๆ (ในภูมิที่มีขันธ์ ๕) นอกจากนี้เกิดที่รูปๆ หนึ่ง เรียก ว่า หทยรูป เพราะเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ฉะนั้น วัตถุรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตจึงมี ๖ รูป
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ เป็น ๑๙ รูป
รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานทุกๆ กลาป จะต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยทุกกลาป ชีวิตินทริยรูปรักษารูปที่เกิดร่วมกันในกลาปหนึ่งๆ ให้เป็นรูปที่ดํารงชีวิต ฉะนั้น รูปของสัตว์บุคคลที่ดํารงชีวิตจึงต่างกับรูปทั้งหลายที่ไม่มีใจครอง
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ เป็น ๒๐ รูป
การที่สัตว์บุคคลทั้งหลายโดยทั่วไปต่างกันเป็นหญิงและชายนั้นเพราะภาวรูป ๒ คือ
อิตถีภาวรูป เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย ทําให้ปรากฏเป็นทรวดทรง สัณฐาน อาการ กิริยา ท่าทางของเพศหญิง
ปุริสภาวรูป เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย ทําให้ปรากฏเป็นทรวดทรง สัณฐาน อาการ กิริยา ท่าทางของเพศชาย
ในแต่ละบุคคลจะมีภาวรูปหนึ่งภาวรูปใด คือ อิตถีภาวรูป หรือ ปุริสภาวรูปเพียงรูปเดียวเท่านั้น และบางบุคคลก็ไม่มีภาวรูปเลย เช่น พรหมบุคคลในพรหมโลก และผู้ที่เป็นกระเทย
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ เป็น ๒๒ รูป
การที่รูปของสัตว์บุคคลทั้งหลายเคลื่อนไหวไปได้เพราะมีจิตนั้น ก็จะต้องมีรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานด้วย เพราะถ้ามีเพียงรูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้น จะเคลื่อนไหวไปมาทํากิจธุระใดๆ ไม่ได้เลย การที่รูปร่างกายจะเคลื่อนไหวทํากิจการงานต่างๆ ได้นั้น จะต้องมีวิการรูป ๓ รูป คือ
ลหุตารูป เป็นภาวะที่เบา ไม่หนักของรูป อุปมาเหมือนอาการของคนไม่มีโรค
มุทุตารูป เป็นภาวะที่อ่อน ไม่กระด้างของรูป อุปมาเหมือนหนังที่ขยําไว้ดีแล้ว
กัมมัญญตารูป เป็นภาวะที่ควรแก่การงานของรูป อุปมาเหมือนทองคําที่หลอมไว้ดีแล้ว
วิการรูป ๓ รูปนี้เป็นอสภาวรูป เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะต่างหาก เฉพาะของตน เป็นอาการวิการของมหาภูตรูป คือ เบา อ่อน และควรแก่การงาน
วิการรูป ๓ เป็นรูปที่เกิดภายในสัตว์บุคคลเท่านั้น รูปที่ไม่มีใจครองไม่มีวิการรูป ๓ เลย และวิการรูป ๓ นี้ไม่แยกกันเลย ในกลาปใดมีลหุตารูป กลาปนั้นก็มีมุทุตารูป และกัมมัญญตารูปด้วย นอกจากนั้นเมื่อจิตต้องการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ร่างกายส่วนนั้นจะต้องมีวิการรูปที่เกิดจากอุตุ (ความสม่ำเสมอของธาตุเย็นร้อน) เป็นสมุฏฐาน และมีวิการรูปที่เกิดจากอาหาร (โอชารูป) เป็นสมุฏฐานด้วย มิฉะนั้นแล้ว แม้จิตต้องการจะเคลื่อนไหว รูปก็เคลื่อนไหวไม่ได้ เช่น ผู้ที่เป็นอัมพาตหรือเคล็ดขัดยอก กระปลกกระเปลี้ย เป็นต้น
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ + วิการรูป ๓ เป็น ๒๕ รูป
รูปที่มีใจครองนั้น เมื่อจิตต้องการให้รูปเป็นไปตามความประสงค์ของจิตขณะใด ขณะนั้นจิตเป็นสมุฏฐานให้ กายวิญญัติรูป คือ อาการพิเศษที่มีความหมาย หรือมีอาการเป็นไปของรูปตามที่จิตรู้ในอาการนั้นทางตา หรือทางหน้า หรือท่าทาง เช่น ถลึงตา ยิ้มเยาะ เหยียดหยาม หรือห้ามปราม เป็นต้น เมื่อจิตไม่ต้องการให้รูปแสดงความหมาย หรือ มีอาการเจาะจงเป็นไปตามความประสงค์ของจิต กายวิญญัติรูปก็ไม่เกิด
ขณะใดที่จิตเป็นปัจจัยให้เกิดเสียงทางวาจา ซึ่งเป็นการพูด การเปล่งเสียงให้รู้ความหมาย ขณะนั้นจิตเป็นสมุฏฐาน คือ เป็นปัจจัยให้วจีวิญญัติรูปเกิดขึ้น กระทบฐานที่เกิดของเสียงต่างๆ เช่น ริมฝีปาก เป็นต้น ถ้าวจีวิญญัติรูปไม่เกิด การพูด หรือการเปล่งเสียงต่างๆ ก็มีไม่ได้
กายวิญญัติรูปและวจีวิญญัติรูปเป็นอสภาวรูปที่เกิดและดับพร้อมกับจิต
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ + วิการรูป ๓ + วิญญัติรูป ๒ เป็น ๒๗ รูป
ในบางแห่งจะรวมวิการรูป ๓ และวิญญัติรูป ๒ เป็นวิการรูป ๕
เสียง หรือสัททรูป ไม่ใช่วจีวิญญัติรูป เสียงเป็นรูปที่กระทบกับโสตปสาทรูป เป็นปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณ เสียงบางเสียงก็เกิดจากจิต และบางเสียงก็ไม่ได้เกิดจากจิต เช่น เสียงฟ้าร้อง เสียงลมพายุ เสียงเครื่องยนต์ เสียงกลอง เสียงวิทยุ เสียงโทรทัศน์ เป็นต้น
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ + วิการรูป ๓ + วิญญัติรูป ๒ + สัททรูป ๑ เป็น ๒๘ รูป
ในบางแห่งแสดงจํานวนของรูปต่างกัน เช่น ในอัฏฐสาลินีรูปกัณฑ์ ปกิณณกกถา แสดงรูป ๒๕ คือ รวมธาตุดิน ไฟ ลม เป็น โผฏฐัพพายตนะ (รูปที่กระทบกายปสาท) ๑ รูป รวมกับหทยรูปอีก ๑ รูป จึงเป็นรูป ๒๖
เมื่อรูปๆ หนึ่งเกิดขึ้นจะเกิดพร้อมกับรูปอีกกี่รูป รวมกันเป็นกลาปหนึ่งๆ นั้น ย่อมต่างกันไปตามประเภทของรูปนั้นๆ และการจําแนกรูป ๒๘ รูปมีหลายนัย ซึ่งจะกล่าวถึงพอสมควรในภาคผนวก
นิพพานปรมัตถ์
ปรมัตถธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ นิพพานปรมัตถ์ พระผู้มี พระภาคตรัสเรียกว่า นิพพาน เพราะออกจากตัณหา คือ วานะ (10)
นิพพานปรมัตถ์เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ จิต เจตสิก รูป เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป การที่จะดับทุกข์ได้นั้นจะต้องดับตัณหา เพราะตัณหาเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นสมุทัยให้เกิดขันธ์ ซึ่งได้แก่ จิต เจตสิก รูป การที่จะดับตัณหาได้นั้นก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งชัดในลักษณะเกิดดับของจิต เจตสิก รูป แล้วละคลายความยินดียึดมั่นเห็นผิดในจิต เจตสิก รูปได้ด้วย การรู้แจ้งนิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดับตัณหา ดับทุกข์ ดับขันธ์ นิพพานจึงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งได้
นิพพานปรมัตถ์ โดยปริยายแห่งเหตุมี ๒ อย่าง (11) คือ
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
คําว่าอุปาทินี้เป็นชื่อของขันธ์ ๕ คือ จิต เจตสิก รูป สอุปาทิเสสนิพพาน คือ ความสิ้นไปของกิเลสทั้งหมด แต่ยังมีขันธ์เกิดดับสืบต่ออยู่ อนุปาทิเสสนิพพาน คือ การดับขันธ์ทั้งหมด เป็นการปรินิพพานของพระอรหันต์
คําว่าโดยปริยายแห่งเหตุ คือ การอ้างถึงมีขันธ์เหลือและไม่มีขันธ์เหลือ ซึ่งเป็นเหตุในการบัญญัตินิพพาน ๒
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ พระองค์ทรงบรรลุสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ กิเลสและธรรม (ซึ่งได้แก่จิตและเจตสิกอื่นๆ) ที่เกิดร่วมกับกิเลสนั้นดับหมดสิ้นและไม่เกิดอีกเลย แต่ยังมีขันธ์ คือ จิต เจตสิก (ที่ปราศจากกิเลส) และรูปเกิดดับสืบต่ออยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สอุปาทิเสสนิพพานเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทํากิจที่ควรทําเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงพอใจและไม่พึงพอใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่เพราะความที่อินทรีย์ ๕ เหล่าใดเป็นธรรมชาติ ไม่บุบสลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่นั่นเทียว ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ (12)
อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ไม่มีขันธ์เหลือ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดับขันธปรินิพพานระหว่างไม้สาละคู่ เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน (13) ดับขันธ์หมดสิ้นโดยรอบ ดับสนิทซึ่งภพทั้งหลายโดยประการทั้งปวง ดับจิต เจตสิก รูป ทั้งหมด ไม่มีการเกิดอีกเลย
พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระเสกขบุคคล เพราะยังต้องศึกษาเจริญธรรมยิ่งๆ ขึ้นเพื่อดับกิเลสที่เหลือ อยู่ให้หมดไป ส่วนพระอรหันต์เป็นพระอเสกขบุคคล เพราะดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉทได้แล้ว ไม่ต้องศึกษาเพื่อดับกิเลสอีก (14)
นิพพานปรมัตถ์ ว่าโดยความแตกต่างแห่งอาการ มี ๓ อย่างคือ
สุญญตะ ๑
อนิมิตตะ ๑
อัปปณิหิตะ ๑
พระนิพพาน ชื่อว่า สุญญตะ เพราะเป็นสภาพสูญจากสังขารทั้งปวง ชื่อว่า อนิมิตตะ เพราะไม่มีนิมิต คือสังขารทั้งปวง ชื่อว่า อัปปณิหิตะ เพราะไม่มีที่ตั้ง คือ สังขารทั้งปวง
เมื่อบุคคลมนสิการสภาพธรรมโดยเป็นสภาพไม่เที่ยง ย่อมหลุดพ้นไป (คือ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม) ด้วยอนิมิตตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยสภาพเป็นทุกข์ ย่อมหลุดพ้นไปด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยสภาพเป็นอนัตตา ย่อมหลุดพ้นไปด้วยสุญญตวิโมกข์
วิโมกข์ ๓ ย่อมมีในขณะต่างกันด้วยอาการ ๔ (15) คือ
๑. ด้วยความเป็นใหญ่ บุคคลเมื่อมนสิการโดยความเป็น สภาพไม่เที่ยง อนิมิตตวิโมกข์ย่อมเป็นใหญ่ เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ย่อมเป็นใหญ่ เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา สุญญตวิโมกข์ย่อมเป็นใหญ่
๒. ด้วยความตั้งมั่น บุคคลเมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ย่อมตั้งจิตไว้มั่นด้วยสามารถแห่งอนิมิตตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ ย่อมตั้งจิตไว้มั่นด้วยสามารถแห่งอัปปณิหิตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา ย่อมตั้งจิตไว้มั่นด้วยสามารถแห่งสุญญตวิโมกข์
๓. ด้วยความน้อมจิตไป บุคคลเมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ย่อมน้อมจิตไปด้วยสามารถแห่งอนิมิตตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ ย่อมน้อมจิตไปด้วยสามารถแห่งอัปปณิหิตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา ย่อมน้อมจิตไปด้วยสามารถแห่งสุญญตวิโมกข์
๔. ด้วยความนําออกไป บุคคลเมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ย่อมนําจิตออกไปสู่นิพพาน อันเป็นที่ดับด้วยสามารถแห่งอนิมิตตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ ย่อมนําจิตออกไปสู่นิพพาน อันเป็นที่ดับด้วยสามารถแห่งอัปปณิหิตวิโมกข์ เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา ย่อมนําจิตออกไปสู่นิพพาน อันเป็นที่ดับด้วยสามารถแห่งสุญญตวิโมกข์
สงเคราะห์ปรมัตถธรรม ๔
จิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่รู้ว่าจิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเพราะ จิต เจตสิก รูป เกิดดับสืบต่อกัน จึงปรากฏให้รู้ได้ เช่น ขณะที่เห็นรูป ได้ยินเสียง และคิดนึก เป็นต้น จิตเกิดดับสืบต่อกันทํากิจการงานต่างๆ เช่น จิตบางดวงเห็นสี บางดวงได้ยินเสียง บางดวงคิดนึก เป็นต้น ทั้งนี้ตามประเภทของจิตและเหตุปัจจัยที่ทําให้เกิดจิตนั้นๆ การเกิดดับสืบต่อกันของจิต เจตสิก รูปนั้น เป็นไปอย่างรวดเร็วมากจนทําให้ไม่เห็นการเกิดดับ ทําให้เข้าใจว่ารูปค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป และทําให้เข้าใจว่าจิตนั้นเกิดเมื่อคนหรือสัตว์เกิด จิตนั้นดับเมื่อคนหรือสัตว์ตาย ถ้าไม่ศึกษา ไม่พิจารณา และไม่อบรมเจริญสติและปัญญาให้รู้ลักษณะของ จิต เจตสิก รูป ที่กําลังปรากฏ ก็จะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา
สภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เมื่อไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด ท่านพระสารีบุตรเกิดความเลื่อมใสในคําสอนของพระผู้มีพระภาค ก็เพราะได้เห็นท่านพระอัสสชิ ซึ่งเป็นภิกษุรูปหนึ่งในภิกษุปัญจวัคคีย์ ท่านพระสารีบุตรเห็นท่านพระอัสสชิมีความน่าเลื่อมใสเป็นอันมาก จึงได้ตามท่านพระอัสสชิไป และถามท่านพระอัสสชิว่า ใครเป็นศาสดา และศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร ท่านพระอัสสชิตอบว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา
เตสํ เหตุ ตถาคโต (อาห)
เตสญฺจ โย นิโรโธ
เอวํวาที มหาสมโณติฯ (16)
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้
ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้พร้อมทั้งเหตุปัจจัยของธรรมนั้นๆ ก็จะไม่มีผู้ใดรู้ว่าธรรมใดเกิดจากเหตุปัจจัยใด ไม่มีผู้ใดรู้ว่าจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ แต่ละประเภทนั้นเกิดขึ้นเพราะมีธรรมใดเป็นปัจจัย พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวง พระองค์จึงได้ทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดจึงเกิดขึ้น และทรงแสดงเหตุปัจจัยที่ทําให้เกิดธรรมนั้นๆ ธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้
ที่กล่าวว่า คนเกิด สัตว์เกิด เทวดาเกิด เป็นต้นนั้น คือ จิต เจตสิก รูป เกิดนั่นเอง เมื่อจิต เจตสิก ประเภทหนึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับรูปของคน ก็บัญญัติว่าคนเกิด เมื่อจิต เจตสิก เกิดขึ้นพร้อมกับรูปของเทวดา ก็บัญญัติว่าเทวดาเกิด เป็นต้น การเกิดของคน สัตว์ เทวดา เป็นต้นนั้น ต่างกันเพราะเหตุปัจจัยที่ทําให้เกิดนั้นต่างกัน เหตุปัจจัยที่ทําให้เกิดนั้นมีมาก และสลับซับซ้อนมาก แต่ด้วยพระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวง พร้อมทั้งเหตุปัจจัยของธรรมทั้งปวงนั้น พระองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมตามสภาพความจริงของธรรมแต่ละประเภทว่า ธรรมใดเกิดขึ้น ธรรมนั้นมีปัจจัยทําให้เกิดขึ้น ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม
ที่รู้ได้ว่ามีจิต เจตสิก รูป ก็เพราะจิต เจตสิก รูปเกิดขึ้น และ ที่จิต เจตสิก รูปเกิดขึ้นนั้นก็เพราะมีปัจจัย จิต เจตสิก และรูปเป็น สังขารธรรม
พระธรรมคําสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น สมบูรณ์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ธรรมข้อใดที่อาจจะมีผู้เข้าใจผิดได้ พระองค์ก็ทรงบัญญัติคํากํากับให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้าใจความหมายของธรรมข้อนั้นผิด เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติว่าธรรมที่เกิดขึ้นมีปัจจัยทําให้เกิดขึ้นเป็น สังขารธรรม เพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้าใจผิดว่าธรรมที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ตลอดไปเรื่อยๆ พระองค์จึงทรงบัญญัติว่าธรรมที่เป็นสังขารธรรม (ธรรมที่มีสภาพปรุงแต่ง) นั้นเป็นสังขตธรรม (ธรรมที่ปรุงแต่งแล้ว) สังขตธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป (17) พระองค์ทรงบัญญัติคําว่า สังขตธรรม กับคําว่า สังขารธรรม เพื่อให้รู้ว่าธรรมใดที่เกิดขึ้น ธรรมนั้นมีปัจจัยทําให้เกิดขึ้น เมื่อปัจจัยดับ ธรรมที่เกิดขึ้น เพราะปัจจัยนั้นก็ต้องดับไป สังขตธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ฉะนั้นสังขารธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้นจึงเป็นสังขตธรรม (18) จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์รูปปรมัตถ์ เป็นสังขารธรรมเป็นสังขตธรรม
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา ฯ
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา ฯ
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ฯ
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา (19)
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สังขารธรรมทั้งหมดไม่เที่ยง ความเสื่อม ความไม่เที่ยงของรูปธรรมนั้นพอจะปรากฏให้เห็นได้ แต่ความไม่เที่ยงของนามธรรมนั้นรู้ยาก ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า ความเจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี การเกิดก็ดี การตายก็ดี ของร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ย่อมปรากฏ ฉะนั้น ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายนั้น แต่ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชนผู้มิได้สดับ รวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฏฐิว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้ ตลอดกาลช้านาน ฉะนั้น ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นไม่ได้เลย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ โดยความเป็นตน ยังชอบกว่า แต่จะเข้าไปยึดถือเอาจิตโดยความเป็นตนหาชอบไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ เมื่อดำรงอยู่ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง ย่อมปรากฏ แต่ว่าตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและในกลางวัน ฯ (20)
แม้ว่าจิต เจตสิก รูป จะเกิดดับอยู่ตลอดเวลาก็ยากที่จะรู้และเบื่อหน่าย ละความยินดีคลายความยึดถือในนามรูปได้ การที่จะเบื่อหน่าย ละความยินดี ความยึดถือในนามรูปนั้นต้องพิจารณาเห็นด้วยปัญญา ดังที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ
ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข
เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา ฯ
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ
ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข
เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา ฯ
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ
ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข
เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา ฯ (21)
เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
ผู้ใดที่ไม่เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมจนละคลาย ผู้นั้นจะบรรลุอริยสัจจ์ ๔ เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ พระอริยบุคคลเห็นความเป็น “พุทธะ” ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเห็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงเทศนาเท่านั้น พระอริยบุคคลหมดความสงสัยในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพราะพระอริยบุคคลได้บรรลุธรรมนั้น (22) และได้ประจักษ์ในความเป็น “พุทธะ” ว่า พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ไม่ใช่โดยคาดคะเน แต่โดยตรัสรู้ธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต (23) ผู้ใดศึกษาและปฏิบัติ เพื่อให้รู้แจ้งธรรม ผู้นั้นย่อมสามารถรู้แจ้งธรรมและดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลตามลําดับ คือ ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี จนถึงพระอรหันต์ (24)
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
สังขารธรรมทั้งปวงเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทดี หรือจิตประเภทไม่ดี รูปงามหรือไม่งาม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเหมือนกันหมด การเกิดดับไม่เที่ยงนี้แหละเป็นทุกข์ เพราะไม่ดํารงอยู่ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์นั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะทุกข์กายที่เจ็บปวด ป่วยไข้ หรือทุกข์ที่ต้องลําบากเดือดร้อน ทุกข์ที่พลัดพรากจากสิ่งที่รัก หรือทุกข์ที่ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเท่านั้น สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เพราะสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงไม่ควรยึดถือว่าเป็นสุข บางท่านอาจสงสัยว่าจิตที่เพลิดเพลินยินดีเป็นสุขก็มี เหตุใดจึงว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ที่ว่าเป็นทุกข์นั้นเพราะจิตที่เพลิดเพลิน ยินดี เป็นสุขนั้นก็ไม่เที่ยง ฉะนั้น สังขารธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ทั้งหมดเป็นทุกข์ เพราะจิต เจตสิก รูป ทั้งหมดไม่เที่ยง
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
ธรรมทั้งปวง ได้แก่ ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอํานาจบังคับบัญชาของบุคคลใด
นิพพานเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีจริง นิพพานไม่ใช่ สังขารธรรม เป็นวิสังขารธรรม คือ เป็นธรรมที่ไม่เกิด (25) ตรงกันข้ามกับสังขารธรรม สังขารธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้น มีปัจจัยปรุงแต่ง วิสังขารธรรม คือ ธรรมที่ไม่เกิดขึ้น ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
นิพพานเป็นอสังขตธรรม ไม่ใช่สังขตธรรม (26) สังขตธรรม คือ ธรรมที่เกิดดับ อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่เกิดดับ นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงไม่เกิดดับ
จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม เป็นโลกียะ คําว่าโลกียะ หมายถึง แตกดับ ทําลาย ส่วนนิพพานเป็นวิสังขารธรรม เป็นโลกุตตระ คําว่า โลกุตตระ หมายถึง พ้นจากโลก
จิตปรมัตถ์ ๘๙ หรือ ๑๒๑ เป็นนามธรรม (รู้อารมณ์)
เป็นสังขารธรรม, สังขตธรรม
เจตสิกปรมัตถ์ ๕๒ เป็นนามธรรม (รู้อารมณ์)
เป็นสังขารธรรม, สังขตธรรม
รูปปรมัตถ์ ๒๘ เป็นรูปธรรม
เป็นสังขารธรรม, สังขตธรรม
นิพพานปรมัตถ์ เป็นนามธรรม (ไม่รู้อารมณ์)
เป็นวิสังขารธรรม,อสังขตธรรม (27)
ขันธ์ ๕
ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ (28)
ปรมัตถธรรม ๔ โดยขันธ์ คือ
จิต เป็นวิญญาณขันธ์
เจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์
รูป เป็นรูปขันธ์
นิพพาน ไม่ใช่ขันธ์ นิพพานเป็นขันธวิมุตติ คือ พ้นจากขันธ์
คําว่า ขันธ์ หมายถึง สภาพธรรมที่จําแนกเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ไกล ใกล้ (29) ฉะนั้นขันธ์ จึงได้แก่ สังขตธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดดับ จึงเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นต้น ส่วนอสังขตธรรม คือ นิพพานนั้น เป็นธรรมที่ไม่เกิด ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง จะกล่าวว่าเป็นธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้ ว่าเป็นธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ ว่าเป็นธรรมจักเกิดขึ้นก็ไม่ได้ (30) จะกล่าวว่าเป็นอดีตก็ไม่ได้ ว่าเป็นอนาคตก็ไม่ได้ ว่าเป็นปัจจุบันก็ไม่ได้ (31) เพราะฉะนั้น วิสังขารธรรม คือ นิพพาน จึงไม่ใช่ขันธ์ เป็นขันธวิมุตติ คือ พ้นจากขันธ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ ดังนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ขันธ์ ๕ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ นี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ นี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าขันธ์ ๕
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน ดูกร ภิกษุ ทั้งหลายรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทานนี้เรียกว่ารูปูปาทานขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน... อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทานนี้เรียกว่า วิญญาณูปาทานขันธ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์ ๕ (32)
ปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕
จิตปรมัตถ์ ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท
ทุกประเภทเป็นวิญญาณขันธ์
เจตสิกปรมัตถ์ ๕๒ ประเภท
เวทนาเจตสิก ๑ เป็นเวทนาขันธ์
สัญญาเจตสิก ๑ เป็น สัญญาขันธ์
เจตสิก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์
รูปปรมัตถ์ ๒๘ ประเภท
ทุกประเภทเป็นรูปขันธ์
ขันธ์ ๕ เป็นปรมัตถธรรม ๓
รูปขันธ์ ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ๒๘
เวทนาขันธ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก ๑ ดวง
สัญญาขันธ์ ได้แก่ สัญญาเจตสิก ๑ ดวง
สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง
(รวมเวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ คือ เจตสิกปรมัตถ์ ๕๒)
วิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิตปรมัตถ์ ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง
คําถามทบทวน
๑. ปรมัตถธรรมอะไรบ้าง เป็นสังขารธรรม
๒. สังขารธรรม เป็นสังขารขันธ์ ใช่ไหม
๓. วิสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม ใช่ไหม
๔. อสังขตธรรม เป็นขันธ์อะไร
๕. อสังขตธรรม เป็นโลกียะ หรือโลกุตตระ
๖. จิต เป็นสังขารขันธ์ ใช่ไหม
๗. เจตสิก เป็นสังขารขันธ์ ใช่ไหม
๘. เวทนาขันธ์ เป็นปรมัตถธรรมอะไร
๙. ขันธ์อะไร ไม่ใช่ปรมัตถธรรม
๑๐. ปรมัตถธรรมอะไร ไม่ใช่ขันธ์
(1) ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ ๑๔๑
(2) ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ สังฆาฏิสูตร ข้อ ๒๗๒
(3) อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา
(4) ปุคคลบัญญัติปกรณ์ เอกนิทเทส ข้อ ๓๘ นวกนิทเทส ข้อ ๑๕๑
(5) ปุคคลบัญญัติปกรณ์ เอกนิทเทส ข้อ ๓๙ นวกนิทเทส ข้อ ๑๕๑
(6) ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ ๑๓๕
(7) อังคุตตรนิกาย อุปปาทสูตร ข้อ ๕๗๖
(8) สังยุตตนิกาย คารวสูตรที่ ๒ ข้อ ๕๖๐
(9) ธรรมสังคณีปกรณ์ รูปกัณฑ์ ข้อ ๕๐๓
(10) อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ธาตุสูตร ข้อ ๒๒๒
(11) ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ธาตุสูตร ข้อ ๒๒๒ และอรรถกถา
(12) ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ธาตุสูตร ข้อ ๒๒๒ และอรรถกถา
(13) ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาสาทิกสูตร ข้อ ๑๒๐
(14) ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส อชิตมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๙๒
(15) ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค วิโมกขกถา ข้อ ๕๐๙
(16) พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ ข้อ ๖๕
(17) อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต จูฬวรรคที่ ๕ สังขตสูตร ข้อ ๔๘๖
(18) ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ จูฬันตรทุกะ ข้อ ๗๐๒
(19) ขุททกนิกาย มหานิทเทส สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส ข้อ๑๓๑
(20) สังยุตตนิกาย อัสสุตวตาสูตรที่ ๒ ข้อ ๒๓๕-๖
(21) ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ข้อ ๓๐
(22) สังยุตตนิกาย เสขสูตร ข้อ ๑๐๓๑-๗
(23) สังยุตตนิกาย วักกลิสูตร ข้อ ๒๑๖
(24) ขุททกนิกาย อุทาน อุโปสถสูตร ข้อ ๑๑๘
(25) ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ญาณกถา ข้อ ๒๘
(26) อังคุตตรนิกาย อสังขตสูตร ข้อ ๔๘๗
(27) ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ ข้อ ๘๔๔
(28) วิภังคปกรณ์ ขันธวิภังค์ ข้อ ๑
(29) วิภังคปกรณ์ ขันธวิภังค์ ข้อ ๑-๓๑
(30) ธรรมสังคณีปกรณ์ อัตถุทธารกัณฑ์ ข้อ ๘๙๔
(31) ธรรมสังคณีปกรณ์ อัตถุทธารกัณฑ์ ข้อ ๘๙๕
(32) สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ปัญจขันธสูตร ข้อ ๙๕-๙๖
- พระพุทธศาสนามีองค์ ๙
- ปรมัตถธรรมสังเขป
- จิตตสังเขป บทที่ ๑ ความสำคัญของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๒ คำอธิบายจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๓ คำอธิบายจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๔ วิถีจิต, ทวาร, วัตถุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๕ ชาติของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๖ จิต ๘๙ จำแนกเป็น ๔ ชาติ, กิจของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๗ อรรถของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๘ อรรถของจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๙ ภูมิของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๐ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๑ สัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๒ คำอธิบาย อสังขาริก และ สสังขาริก
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๓ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็นเหตุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๔ จิตต่างกันโดยนัยของโสภณะและอโสภณะ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๕ จิตต่างกันโดยนัยของโลกิยจิตและโลกุตตรจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๖ อรรถของจิตประการที่ ๕ ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร
- บัญญัติ
- ภาคผนวก จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท
- ภาคผนวก เจตสิก ๕๒ ประเภท
- ภาคผนวก รูป ๒๔ ประเภท
- สมถภาวนา
- วิปัสสนาภาวนา
- แนวทางเจริญวิปัสสนา