ภาคผนวก เจตสิก ๕๒ ประเภท

เจตสิก ๕๒ ประเภท คือ

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง

อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง

โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง

อัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกที่เสมอกับเจตสิกประเภทอื่นที่อัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่ออัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลเจตสิก อัญญสมานาเจตสิกก็เป็นอกุศลด้วย เมื่ออัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมกับโสภณเจตสิก อัญญสมานาเจตสิกก็เป็นโสภณะด้วย อัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลเจตสิกก็ได้ เกิดร่วมกับโสภณเจตสิกก็ได้ แต่อกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับโสภณเจตสิกไม่ได้เลย

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง มี ๒ ประเภท คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง และปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง คือ เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง จิตทุกประเภทและทุกขณะที่เกิดขึ้นนั้นต้องมีเจตสิก ๗ ดวงนี้ เกิดร่วมด้วย สําหรับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง มีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้เกิดขึ้นร่วมด้วยเท่านั้น ไม่มีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยอีกเลย ฉะนั้น ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงจึงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด คือมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงนี้เท่านั้น จิตอื่นๆ นอกจากนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ดวงตามประเภทของจิตนั้นๆ

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง

๑. ผัสสเจตสิก เป็นเจตสิกที่กระทบอารมณ์ ผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ใด ก็เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นกระทํากิจการงานตามหน้าที่ของจิตและเจตสิกนั้นๆ ในอารมณ์ที่ผัสสเจตสิกกระทบ จิต ผัสสเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ เกิดขึ้น กระทํากิจการงานของตนๆ พร้อมกันแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว การกระทบอารมณ์ของผัสสเจตสิกจึงทําให้อารมณ์ปรากฏ พร้อมด้วยอาการของเจตสิกต่างๆ ที่เป็นไปในอารมณ์นั้น เช่น พอใจ (โลภะ) หรือ ไม่พอใจ (โทสะ) ในอารมณ์นั้นๆ เป็นต้น ผัสสเจตสิกจึงเป็นอาหารนํามาซึ่งผล คือ จิตและเจตสิกต่างๆ เกิดขึ้นร่วมกัน ทํากิจให้ปรากฏความเป็นไปของสภาพธรรมในขณะนั้น ฉะนั้น ผัสสเจตสิกจึงเป็นอาหารปัจจัยของจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน

๒. เวทนาเจตสิก เป็นเจตสิกที่รู้สึก ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใด เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้นก็รู้สึกดีใจหรือเสียใจ สุขหรือทุกข์หรือเฉยๆ ในอารมณ์นั้น เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงและต่างกันไปตามประเภทของจิตนั้นๆ เช่น โทมนัสเวทนาเกิดร่วมกับโทสมูลจิต อุเบกขาเวทนาเกิดร่วมกับโมหมูลจิตและโลภมูลจิต เป็นต้น

๓. สัญญาเจตสิก เป็นเจตสิกที่จําหมายอารมณ์ สัญญาเจตสิกจําอารมณ์ทุกอย่างที่ปรากฏสืบต่อเป็นเรื่องราว สัตว์ บุคคลต่างๆ สัญญาจําความรู้สึกสุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เฉยๆ ในอารมณ์ทุกอย่าง สัญญาเจตสิกเป็นปัจจัยสําคัญที่ส่งเสริมความผูกพันยึดมั่นในชีวิต เช่นเดียวกับเวทนาเจตสิกซึ่งเมื่อรู้สึกสุขหรือดีใจ เป็นต้น ก็ย่อมสําคัญยึดมั่นผูกพันต้องการความรู้สึกนั้นๆ เรื่อยๆ ไป ด้วยเหตุนี้เวทนาเจตสิก จึงเป็นเวทนาขันธ์ ๑ และสัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ ๑ เจตสิกอีก ๕๐ ประเภทที่เหลือนั้นก็ปรุงแต่งจิตไปตามสภาพของเจตสิกนั้นๆ เจตสิก ๕๐ ดวงนั้นจึงเป็นสังขารขันธ์

๔. เจตนาเจตสิก เป็นเจตสิกที่จงใจ ตั้งใจ ขวนขวายกระทํากิจตามประเภทของเจตนา และสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นๆ เจตนาเจตสิกจึงเป็นกัมมปัจจัย เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับวิบากจิตเป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพราะกระทํากิจของเจตนาที่เป็นวิบากพร้อมกับวิบากจิตและวิบากเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันแล้วก็ดับไป เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกิริยาเกิดขึ้นกระทํากิจของเจตนาร่วมกับกิริยาจิตและกิริยาเจตสิกอื่นๆ แล้วดับไป ก็เป็นสหชาตกัมมปัจจัย แต่อกุศลเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตหรือ กุศลเจตนาที่เกิดกับกุศลจิตนั้น เมื่อสําเร็จเป็นอกุศลกรรมบถอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือกุศลกรรมบถอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วดับไป เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เพราะทําให้วิบากจิตและเจตสิก เกิดขึ้นในกาลข้างหน้า ซึ่งไม่ใช่ในขณะเดียวกับอกุศลเจตนาหรือกุศลเจตนาที่กระทํากรรมนั้น เมื่อให้ผลต่างขณะ คือทําให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดภายหลังจากอกุศลเจตนา หรือกุศลเจตนาซึ่งเป็นเหตุดับไปแล้ว เจตนากรรมซึ่งเป็นอกุศลเจตนาหรือกุศลเจตนานั้น จึงเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย

๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใด เอกัคคตาเจตสิกก็ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น แต่เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต ไม่มีกําลังตั้งมั่นคงในอารมณ์เท่ากับเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ขณะใดที่จิตเกิดดับรู้อารมณ์เดียวสืบต่อกันนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งตั้งมั่นในอารมณ์แต่ละขณะจิตนั้น ก็ปรากฏเป็นสมาธิขั้นต่างๆ ขณะใดที่กุศลเอกัคคตาตั้งมั่นในอารมณ์ ขณะนั้นจึงเป็นสัมมาสมาธิตามลําดับขั้นของกุศลนั้นๆ

. ชีวิตินทรียเจตสิก เป็นเจตสิกที่ดํารงรักษาสัมปยุตตธรรมให้ดํารงชีวิตอยู่ก่อนที่จะดับไป แม้แต่นามธรรมที่เกิดขึ้นแล้วนั้นจะดํารงอยู่ได้เพียงชั่วขณะ ก็ยังต้องอาศัยปัจจัย คือ ชีวิตินทริยเจตสิกที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นรักษาไว้จึงดํารงอยู่ได้ ชีวิตินทริยเจตสิกจึงเป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันโดยเป็นอินทริยปัจจัย คือเป็นใหญ่ในการรักษาสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมด้วยให้ดํารงอยู่ชั่วขณะก่อนที่จะดับไป

๗. มนสิการเจตสิก เป็นเจตสิกที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ การใส่ใจในอารมณ์ย่อมเป็นปัจจัยให้เจตสิกอื่นๆ ตรึกถึงอารมณ์และปรุงแต่งเป็นความวิจิตรต่างๆ เป็นวิทยาการต่างๆ ไม่รู้จบในทางโลก ส่วนในทางธรรมนั้นก็ตรงกันข้ามกับทางโลก

เมื่อสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้เกิดกับจิตประเภทใด ก็เสมอกับจิตประเภทนั้น คือ เมื่อเกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศล เมื่อเกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอกุศล เมื่อเกิดกับวิบากจิตก็เป็นวิบาก เมื่อเกิดกับกิริยาจิตก็เป็นกิริยา เมื่อเกิดกับกามาวจรจิตก็เป็นกามาวจร เมื่อเกิดกับรูปาวจรจิตก็เป็นรูปาวจร เมื่อเกิดกับอรูปาวจรจิตก็เป็นอรูปาวจร เมื่อเกิดกับโลกุตตรจิตก็เป็นโลกุตตระ

ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง คือ เจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลเจตสิกก็ได้ โสภณเจตสิกก็ได้ แต่เว้นไม่เกิดกับจิตบางดวงตามประเภทของจิตนั้นๆ

ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง

๑. วิตักกเจตสิก (วิตกเจตสิก) เป็นเจตสิกที่จรดหรือตรึกในอารมณ์ที่ผัสสเจตสิกกระทบ วิตกเจตสิกเกิดกับจิต ๕๕ ดวง คือ กามาวจรจิต ๔๔ ดวง และปฐมฌานจิต ๑๑ ดวง เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน วิตกเจตสิกย่อมจรดหรือตรึกในอารมณ์ตามสภาพของจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย วิตกเจตสิกซึ่งจรดหรือตรึกในอารมณ์นั้นเหมือนเท้าของโลก เพราะทําให้โลกก้าวไป (โดยจิตเกิดขึ้นเป็นไป) ตามวิตกเจตสิกนั้นๆ

๒. วิจารเจตสิก เป็นเจตสิกที่ประคองตามวิตก ไม่ว่าวิตกจะตรึกอย่างไร วิจารเจตสิกก็ประคองตามอย่างนั้น วิจารเจตสิกเกิดกับจิต ๖๖ ดวง คือ กามาวจรจิต ๔๔ ดวง ปฐมฌานจิต ๑๑ ดวง และ ทุติยฌานจิต ๑๑ ดวง เว้นทวิปัญจวิญญาน ๑๐ ดวง ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน จิตใดมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นต้องมีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย เว้นจิต ๑๑ ดวง ที่มีวิจารเจตสิกโดยไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ ทุติยฌานจิต ๑๑ ดวง

๓. อธิโมกขเจตสิก เป็นเจตสิกที่ปักใจ ไม่สงสัยในอารมณ์ อธิโมกขเจตสิกเกิดกับจิต ๗๘ ดวง เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง อธิโมกขเจตสิกเป็นเจตสิกที่ปักใจ ไม่สงสัยในอารมณ์ จึงไม่เกิดกับโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์

๔. วิริยเจตสิก เป็นเจตสิกที่อุตสาหะค้ำจุนสหชาตธรรม ไม่ท้อถอย วิริยเจตสิกเกิดกับจิต ๗๓ ดวง เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง เพราะจิต ๑๖ ดวงนี้กระทํากิจของตนๆ ได้ โดยไม่มีวิริยเจตสิกเป็นปัจจัยเลย

๕. ปีติเจตสิก เป็นเจตสิกที่ปลาบปลื้ม เอิบอิ่ม ร่าเริง จึงเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาเท่านั้น ไม่เกิดร่วมกับเวทนาอื่นๆ เลย ปีติเจตสิกเกิดร่วมกับจิตที่มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ๕๑ ดวง คือ กามโสมนัสจิต ๑๘ ดวง ปฐมฌานจิต ๑๑ ดวง ทุติยฌานจิต ๑๑ ดวง ตติยฌานจิต ๑๑ ดวง จิตที่มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั้นมี ๑๑ ดวง คือ จตุตถฌานจิต ๑๑ ดวง ทั้งนี้เพราะจตุตถฌานจิตประณีตกว่าตติยฌานจิตซึ่งมีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย

. ฉันทเจตสิก เป็นเจตสิกที่พอใจกระทํา เกิดกับจิต ๖๙ ดวง เว้นไม่เกิดกับจิต ๒๐ ดวง คือ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง และโมหมูลจิต ๒ ดวง ทั้งนี้เพราะอเหตุกจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ส่วนโมหมูลจิตนั้น แม้ว่ามีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อไม่มีโลภเจตสิกหรือโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉันทเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่พอใจตามสภาพของโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือจิตอื่นๆ ที่ฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย

อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง

อกุศลเจตสิก คือ เจตสิกที่ไม่ดีงาม เมื่อเกิดกับจิตใด จิตนั้นก็เป็นอกุศล ฉะนั้น อกุศลเจตสิกจึงเกิดได้กับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น เกิดร่วมกับกุศลจิตไม่ได้ เกิดร่วมกับวิบากจิตไม่ได้ เกิดร่วมกับกิริยาจิตไม่ได้ อกุศลเจตสิกแต่ละดวงย่อมเกิดร่วมกับอกุศลจิตตามประเภทของอกุศลจิตนั้นๆ แต่อกุศลจิตทุกดวงจะต้องมีอกุศลเจตสิก ๔ ดวง คือ โมหเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก อุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉะนั้น อกุศลเจตสิก ๔ ดวงนี้ จึงเป็นอกุศลสาธารณเจตสิก นอกจากอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวงนี้แล้ว อกุศลเจตสิกอื่นๆ ก็เกิดร่วมกับอกุศลจิตตามควรแก่อกุศลจิตนั้นๆ

๑. โมหเจตสิก เป็นเจตสิกที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความจริง โมหเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลจิต ๑๒ ดวง

๒. อหิริกเจตสิก เป็นเจตสิกที่ไม่ละอายต่ออกุศลธรรมเกิดร่วมกับอกุศลจิต ๑๒ ดวง

๓. อโนตตัปปเจตสิก เป็นเจตสิกที่ไม่หวั่นเกรงภัยของอกุศลธรรม เกิดร่วมกับอกุศลจิต ๑๒ ดวง

๔. อุทธัจจเจตสิก เป็นเจตสิกที่ไม่สงบในอารมณ์ เกิดร่วมกับอกุศลจิต ๑๒ ดวง

๕. โลภเจตสิก เป็นเจตสิกที่ติดข้อง ต้องการอารมณ์ เกิดร่วมกับโลภมูลจิต ๘ ดวง

. ทิฏฐิเจตสิก เป็นเจตสิกที่เห็นผิดในสภาพธรรมจึงทําให้ยึดมั่นในหนทางประพฤติปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามเหตุและผลของสภาพธรรม และขวนขวายในการกระทํามงคลตื่นข่าวต่างๆ ขณะใดที่เห็นผิด ขวนขวายปฏิบัติธรรมผิดๆ ทางกาย วาจา ใจ ขณะนั้นทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับโลภมูลจิต ๔ ดวง (ทิฏฐิคตสัมปยุตต์) ทิฏฐิเจตสิกจะดับเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย เมื่อโสตาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว จึงไม่มีโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวงอีก

๗.มานเจตสิก เป็นเจตสิกที่สําคัญตน ทะนงตน เกิดได้กับโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง โลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง นั้น บางวาระก็มีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางวาระก็ไม่มีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย มานเจตสิกจะดับเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตบุคคล

๘. โทสเจตสิก เป็นเจตสิกที่หยาบกระด้าง เป็นสภาพธรรมที่ประทุษร้าย เดือดร้อน ขุ่นเคือง เกิดร่วมกับโทสมูลจิต ๒ ดวง โทสเจตสิกดับเป็นสมุจเฉทเมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นพระอนาคามีบุคคล ฉะนั้น พระโสดาบันบุคคลจึงยังมีความเศร้าโศกเสียใจ เพราะยังมีโทสมูลจิตทั้ง ๒ ดวง

๙. อิสสาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ริษยาสมบัติของผู้อื่น ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ อิสสาเจตสิกเกิดร่วมกับโทสมูลจิต โทสมูลจิต ๒ ดวงนั้น บางวาระก็มีอิสสาเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางวาระก็ไม่มีอิสสาเจตสิกเกิดร่วมด้วย อิสสาเจตสิกดับเป็นสมุจเฉท เมื่อโสตาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ฉะนั้น พระอริยบุคคล จึงไม่มีอิสสาเจตสิกอีกเลย

๑๐. มัจฉริยเจตสิก เป็นเจตสิกที่ตระหนี่สมบัติของตน ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นมีส่วนร่วมใช้สอยได้รับประโยชน์ใดๆ จากสมบัติของตน มัจฉริยเจตสิกเกิดได้กับโทสมูลจิต ๒ ดวง แต่ไม่เกิดกับโลภมูลจิตเลย เพราะขณะใดที่มัจฉริยเจตสิกเกิด ขณะนั้นจิตเดือดร้อนไม่สบายใจ มัจฉริยเจตสิกจึงเกิดร่วมกับโลภมูลจิตไม่ได้ เพราะโลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาและโสมนัสเวทนาเท่านั้น แต่มัจฉริยเจตสิกต้องเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนาทุกครั้ง โทสมูลจิต ๒ ดวงนั้น บางวาระก็มีมัจฉริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางวาระก็ไม่มีมัจฉริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย มัจฉริยเจตสิกดับเป็นสมุจเฉท เมื่อโสตาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลไม่มีมัจฉริยเจตสิกเกิดอีกเลย แต่ที่พระเสกขบุคคล (ผู้ยังต้องศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับกิเลส ได้แก่ พระอริยบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์) ผู้เป็นคฤหัสถ์ยังไม่สละสมบัติทั้งหลาย ก็เพราะยังมีโลภเจตสิก แต่เมื่อเป็นไปในทางที่ชอบที่ควรแล้ว พระเสกขบุคคลผู้เป็นคฤหัสถ์ผู้ปราศจากมัจฉริยะแล้ว ย่อมสละวัตถุนั้น เป็นทานได้ เพราะโสตาปัตติมัคคจิตดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท

๑๑. กุกกุจจเจตสิก เป็นเจตสิกที่เดือดร้อนรําคาญใจในอกุศลที่ได้กระทําแล้วและในกุศลที่ไม่ได้กระทํา กุกกุจจเจตสิกเกิดได้กับโทสมูลจิต ๒ ดวง บางวาระโทสมูลจิตก็มีกุกกุจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางวาระโทสมูลจิตก็ไม่มีกุกกุจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย กุกกุจจเจตสิกดับเป็นสมุจเฉทด้วยอนาคามิมัคคจิต

๑๒. ถีนเจตสิก เป็นเจตสิกที่ทําให้จิตท้อถอย หดหู่ เกิดได้กับอกุศลสสังขาริกจิต ๕ ดวง คือ โลภมูลจิต สสังขาริก ๔ ดวง โทสมูลจิต สสังขาริก ๑ ดวง บางวาระอกุศล สสังขาริกก็มีถีนเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางวาระอกุศล สสังขาริกก็ไม่มีถีนเจตสิกเกิดร่วมด้วย

๑๓. มิทธเจตสิก เป็นเจตสิกที่ทําให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซบเซา ง่วงเหงา ท้อแท้ เกิดได้กับอกุศล สสังขาริก ๕ ดวง โดยนัยเดียวกับถีนเจตสิก เพราะถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกต้องเกิดร่วมกันทุกครั้ง แยกกันไม่ได้เลย ถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกดับเป็นสมุจเฉทด้วยอรหัตตมัคคจิต

๑๔. วิจิกิจฉาเจตสิก เป็นเจตสิกที่สงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม สงสัยในอริยสัจจธรรม สงสัยในพระรัตนตรัย เกิดร่วมกับโมหมูลจิต ๑ ดวง (อุเปกฺขาสหคตํ วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตตํ) วิจิกิจฉาเจตสิกดับเป็นสมุจเฉทด้วยโสตาปัตติมัคคจิต

เพื่อสะดวกแก่การจํา จึงจําแนกอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง เป็นจําพวกดังนี้

โมจตุกกะ (เจตสิก ๔ มีโมหเจตสิก เป็นต้น) ได้แก่ อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑

โลติกะ (เจตสิก ๓ มีโลภเจตสิก เป็นต้น) ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ มานเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับโลภเจตสิก มานเจตสิกก็เกิดร่วมกับโลภเจตสิก แต่ทิฏฐิเจตสิกและมานเจตสิกไม่เกิดร่วมกัน ขณะใดที่มีทิฏฐิเจตสิก (โลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์) ขณะนั้นไม่มีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉะนั้น มานเจตสิกจึงเกิดกับโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง โดยไม่แน่นอน คือ บางครั้งก็เป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ที่ไม่มีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย และบางครั้งก็เป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ที่มีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย

โทจตุกกะ (เจตสิก ๔ มีโทสเจตสิก เป็นต้น) ได้แก่ โทสเจตสิก ๑ อิสสาเจตสิก ๑ มัจฉริยเจตสิก ๑ กุกกุจจเจตสิก ๑ อิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก กุกกุจจเจตสิกเกิดร่วมกับโทสเจตสิกโดยไม่แน่นอนและไม่เกิดพร้อมกัน ฉะนั้น โทสมูลจิต ๒ ดวงนั้น บางวาระไม่มีอิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก กุกกุจจเจตสิก เกิดร่วมด้วยเลย และบางวาระก็มีอิสสาเจตสิก หรือมัจฉริยเจตสิก หรือกุกกุจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะละ ๑ ดวง

ถีทุกะ (เจตสิก ๒ มีถีนเจตสิก เป็นต้น) ได้แก่ ถีนเจตสิก ๑ และ มิทธเจตสิก ๑ เจตสิก ๒ ดวงนี้ไม่แยกกันเลย ไม่ว่าจะเกิดในขณะใด ต้องเกิดร่วมกันทุกครั้ง

รวมอกุศลเจตสิก ๔ จําพวก เป็นอกุศลเจตสิก ๑๓ ดวง และ วิจิกิจฉาเจตสิก ๑ ดวง จึงรวมเป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง

โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง

โสภณเจตสิกเป็นเจตสิกที่ดีงาม เมื่อเกิดร่วมกับจิตใด จิตนั้นก็เป็นจิตที่ดีงาม เป็นโสภณจิต โสภณเจตสิกต่างกับอกุศลเจตสิก เพราะอกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น แต่โสภณเจตสิกเกิดร่วมกับกุศลจิตก็ได้ เกิดร่วมกับกุศลวิบากจิตก็ได้ เกิดร่วมกับโสภณกิริยาจิตก็ได้ ฉะนั้น โสภณเจตสิกจึงเกิดร่วมกับกามาวจรกุศล (มหากุศล) รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล โลกุตตรกุศล กามาวจรสเหตุกวิบาก (มหาวิบาก) รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก โลกุตตรวิบาก กามาวจรสเหตุกกิริยา (มหากิริยา) รูปาวจรกิริยา อรูปาวจรกิริยา

โสภณเจตสิกเกิดร่วมกับโสภณจิตตามควรแก่ประเภทของโสภณเจตสิกดังนี้ คือ

โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง เกิดกับโสภณจิตทุกดวง

วิรตีเจตสิก ๓ ดวง เกิดกับจิต ๑๖ ดวง คือ มหากุศล ๘ ดวง และโลกุตตรจิต ๘ (หรือ ๔๐) ดวง

อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง เกิดกับจิต ๒๘ ดวง คือ มหากุศลจิต ๘ ดวง มหากิริยาจิต ๘ ดวง และรูปาวจรกุศล ๔ ดวง รูปาวจรวิบาก ๔ ดวง รูปาวจรกิริยา ๔ ดวง (เว้นปัญจมฌาน)

ปัญญาเจตสิก ๑ ดวง เกิดกับจิต ๔๗ ดวง คือ กามาวจรญาณสัมปยุตต์ ๑๒ ดวง มหัคคตจิต ๒๗ ดวง (รูปาวจรจิต ๑๕ + อรูปาวจรจิต ๑๒) โลกุตตรจิต ๘ ดวง

โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง

๑. สัทธาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ผ่องใสสะอาด เปรียบเสมือนสารส้มหรือแก้วมณีที่ทําให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เมื่อสัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเสมือนโคลนตมย่อมจมลง คือ เกิดไม่ได้ เพราะขณะนั้นสัทธาเป็นสภาพที่เลื่อมใสในกุศลธรรม

๒. สติเจตสิก เป็นเจตสิกที่ระลึกได้ในกุศลทั้งหลาย ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ นั้น ขณะนั้นสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกเป็นไปในทาน ศีล ภาวนาเลย กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในทานหรือศีลหรือภาวนาขณะใด ขณะนั้นสติเจตสิกเกิดขึ้นระลึกเป็นกุศลประเภทนั้นๆ

๓. หิริเจตสิก เป็นเจตสิกที่ละอาย รังเกียจอกุศลธรรม ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นละอายอกุศลธรรม ลักษณะของหิริเจตสิกจึงเปรียบได้กับการรังเกียจไม่จับต้องของไม่สะอาด

๔. โอตตัปปเจตสิก เป็นเจตสิกที่หวั่นเกรงโทษของอกุศลธรรมทั้งหลาย ขณะใดที่อกุศลธรรมประเภทใดเกิดขึ้นแม้เพียงเบาบาง ขณะนั้นก็ไม่มีความหวั่นเกรงในโทษของอกุศลธรรมนั้นเลย ลักษณะของโอตตัปปเจตสิกจึงเปรียบได้กับการไม่จับต้องก้อนเหล็กร้อน

๕. อโลภเจตสิก เป็นเจตสิกที่ไม่ติดข้องในอารมณ์ ถ้าขณะใดมีความยินดีติดข้องในอารมณ์ ขณะนั้นทาน ศีล ภาวนา ก็เกิดไม่ได้ ฉะนั้น กุศลจิตทุกประเภทจึงเกิดขึ้นโดยมีอโลภเจตสิกเป็นเหตุ ลักษณะอาการของอโลภเจตสิกนั้นดุจหยาดน้ำไม่ติดค้างอยู่บนกลีบบัว

๖. อโทสเจตสิก เป็นเจตสิกที่ไม่ขัดเคือง ไม่หยาบกระด้างดุร้าย มีลักษณะอาการเป็นมิตรไมตรี (และเพราะแผ่ประโยชน์ เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายจึงชื่อว่า เมตตา)

๗. ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียง ปราศจากอคติ จึงเป็นอาการวางเฉย อุเบกขาในอารมณ์

อุเบกขา การวางเฉยมี ๑๐ อย่าง คือ

ฉฬังคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่วางเฉยในอารมณ์ของพระอรหันต์ผู้ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว

พรหมวิหารุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งวางเฉยเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย

โพชฌังคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เป็นองค์ คือ ส่วนประกอบที่ทําให้ตรัสรู้อริยสัจธรรม

วิริยุเปกขา ได้แก่ วิริยเจตสิกที่เป็นความเพียรถูก ซึ่งไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนักในการเจริญภาวนา

สังขารุเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่วางเฉยเมื่อประจักษ์ไตรลักษณะของสังขารธรรม

เวทนุเปกขา ได้แก่ เวทนาเจตสิกที่ไม่รู้สึกเป็นทุกข์หรือเป็นสุข

วิปัสสนูเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่เป็นกลางในการพิจารณาอารมณ์ที่เกิดตามเหตุปัจจัย

ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยอคติ

ฌานุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกในฌาน ซึ่งคลายความฝักใฝ่ในธรรมอื่นที่ทําให้ไม่สงบมั่นคง โดยเฉพาะ ได้แก่ ตติยฌาน (โดยจตุกกนัย) ซึ่งคลายปีติแล้ว

ปาริสุทธุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกในจตุตถฌาน (โดยจตุกกนัย) ซึ่งสงบหมดจดแล้วจากข้าศึกทั้งปวง ไม่ต้องทํากิจละองค์ฌานใดอีก

๘. กายปัสสัทธิเจตสิก เป็นเจตสิกที่สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ทําให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน

๙. จิตตปัสสัทธิ เป็นเจตสิกที่ทําให้จิตที่เกิดร่วมด้วยสงบ ขณะที่พอใจอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่วุ่นวายนั้น ไม่ใช่สงบ ถ้าจิตขณะนั้นไม่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา (สมถภาวนา คือ การอบรมเจริญความสงบจากอกุศลด้วยปัญญา วิปัสสนาภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง) ถ้าพอใจที่จะอยู่คนเดียวเงียบๆ แม้ในป่าก็เป็นโลภมูลจิต ในขณะที่ไม่ใช่ทาน ศีล ภาวนา

(กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ เป็นสภาพเจตสิกที่ตรงกันข้ามกับอุทธัจจเจตสิก)

๑๐. กายลหุตา เป็นเจตสิกที่เบา ทําให้เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยเบา ไม่หนักอย่างอกุศล

๑๑. จิตตลหุตา เป็นเจตสิกที่ทําให้จิตที่เกิดร่วมด้วยไม่หนัก

(กายลหุตาและจิตตลหุตา เป็นเจตสิกที่ตรงกันข้ามกับถีนเจตสิก และมิทธเจตสิก)

๑๒. กายมุทุตา เป็นเจตสิกที่อ่อนโยน ทําให้เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยไม่หยาบกระด้าง

๑๓. จิตตมุทุตา เป็นเจตสิกที่ทําให้จิตที่เกิดร่วมด้วยอ่อนโยน ไม่หยาบกระด้าง

(กายมุทุตาและจิตตมุทุตา เป็นเจตสิกที่ตรงกันข้ามกับทิฏฐิเจตสิก และมานเจตสิก)

๑๔. กายกัมมัญญตา เป็นเจตสิกที่ควรแก่การงานของโสภณธรรม ทําให้เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วย ควรแก่การงานของโสภณธรรม

๑๕. จิตตกัมมัญญตา เป็นเจตสิกที่ทําให้จิตที่เกิดร่วมด้วยควรแก่การงานของโสภณธรรม

(กายกัมมัญญตาและจิตตกัมมัญญตา เป็นเจตสิกที่ตรงกันข้ามกับอกุศลธรรม (ที่เหลือ) ที่ทําให้จิตไม่ควรแก่ธรรมที่ดีงาม)

๑๖. กายปาคุญญตา เป็นเจตสิกที่คล่องแคล่วและทําให้เจตสิก ทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยคล่องแคล่วในธรรมที่ดีงาม

๑๗. จิตตปาคุญญตา เป็นเจตสิกที่ทําให้จิตที่เกิดร่วมด้วยคล่องแคล่วในธรรมที่ดีงาม

(กายปาคุญญตาและจิตตปาคุญญตาเป็นเจตสิกที่ตรงกันข้ามกับความไม่เชื่อ เป็นต้น ในธรรมที่ดีงาม)

๑๘. กายุชุกตา เป็นเจตสิกที่ซื่อตรง ทําให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยแน่วแน่ ไม่คดโกง มุ่งตรงต่อธรรมที่ดีงาม

๑๙. จิตตุชุกตา เป็นเจตสิกที่ทําให้จิตมุ่งตรงต่อธรรมที่ดีงาม

(กายุชุกตาและจิตตุชุกตา เป็นเจตสิกที่ตรงกันข้ามกับอุปกิเลส มีมายา สาไถย เป็นต้น ซึ่งทําให้จิตคดโกงไม่ตรง)

เจตสิก ๑๙ ดวงนี้ เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกดวง เว้นไม่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวง และอเหตุกจิต ๑๘ ดวง รวม ๓๐ ดวง ฉะนั้น โสภณจิตจึงเป็น ทวิเหตุกะหรือติเหตุกะ แต่ที่เป็นเอกเหตุกะไม่มีเลย ส่วนอกุศลจิต ๑๒ ดวงนั้น เป็นเอกเหตุกะ ๒ ดวง เป็นทวิเหตุกะ ๑๐ ดวง เป็นติเหตุกะไม่มีเลย

วิรตีเจตสิก ๓ ดวง

วิรตีเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นทํากิจวิรัติทุจริต มี ๓ ดวง คือ

๑ (๒๐) สัมมาวาจาเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นทํากิจวิรัติวจีทุจริต ๔ คือ มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาท สัมผัปปลาปวาจา ขณะใดที่ไม่ล่วงวจีทุจริต ขณะนั้นสัมมาวาจาเจตสิกเกิดขึ้นวิรัติวจีทุจริตประเภทนั้นๆ

๒ (๒๑) สัมมากัมมันตเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดขึ้น วิรัติกายทุจริต ๓ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร ขณะใดที่เว้นกายทุจริต ๓ ขณะนั้นสัมมากัมมันตเจตสิกเกิดขึ้นทํากิจวิรัติกายทุจริตนั้นๆ

๓ (๒๒) สัมมาอาชีวเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นวิรัติกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ซึ่งเป็นมิจฉาชีพ ขณะใดที่ละเว้นมิจฉาชีพ ขณะนั้นสัมมาอาชีวเจตสิกเกิดขึ้นทํากิจวิรัติมิจฉาชีพนั้นๆ

อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง

เป็นเจตสิกที่มีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ ไม่เกิดกับมหาวิบากจิต รูปาวจรปัญจมฌาน อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง คือ

๑ (๒๓) กรุณาเจตสิก เป็นเจตสิกที่กรุณาสัตว์ที่เป็นทุกข์ มีการไม่เบียดเบียนเป็นอาการปรากฏ

๒ (๒๔) มุทิตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ยินดีต่อสัตว์ที่เป็นสุข เป็นเจตสิกที่ตรงกันข้ามกับอิสสา

ปัญญาเจตสิก ๑ ดวง

๒๕. ปัญญาเจตสิก เป็นเจตสิกที่เห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรม และในเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ

โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง เกิดกับโสภณจิตดังนี้

โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง เกิดกับโสภณจิตทุกดวง ทั้งกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ทั้งกามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตตรจิต

วิรตีเจตสิก ๓ ดวง เกิดได้กับมหากุศลจิต ๘ ดวง และโลกุตตรจิต ๘ ดวงหรือ ๔๐ ดวงเท่านั้น มหากุศลจิตบางดวงก็ไม่มีวิรตีเจตสิกเกิดร่วมด้วย วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งดวงใดจะเกิดกับมหากุศลจิตที่กําลังวิรัติทุจริตประเภทหนึ่งประเภทใดในขณะนั้นเท่านั้น วิรตีเจตสิกทั้ง ๓ ดวงจะเกิดขึ้นพร้อมกันในมหากุศลจิตไม่ได้เลย แต่ขณะที่โลกุตตรจิตเกิดขึ้นนั้นวิรตีเจตสิกทั้ง ๓ ดวงเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยทํากิจวิรัติทุจริตเป็นสมุจเฉทตามขั้นของโลกุตตรจิตนั้นๆ โลกุตตรจิต ๘ ดวง หรือ ๔๐ ดวงต้องมีวิรตีเจตสิกทั้ง ๓ ดวงเกิดร่วมด้วย

วิรตีเจตสิกไม่เกิดกับมหากิริยาจิต เพราะเมื่อพระอรหันต์ดับกิเลสทุกประเภทเป็นสมุจเฉทแล้ว วิรตีเจตสิกไม่เกิดขึ้นวิรัติทุจริตใดๆ เลย

วิรตีเจตสิกไม่เกิดกับมหาวิบากจิต เพราะมหาวิบากต่างกับรูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก โลกุตตรวิบาก คือ รูปาวจรกุศล เป็นกัมมปัจจัยให้เกิดผลเป็นรูปาวจรวิบาก ซึ่งไม่ต่างจากรูปาวจรกุศลนั้นๆ อุปมาเหมือนตัวกับเงา รูปาวจรกุศลมีเจตสิกอะไรเกิด ร่วมด้วยเท่าใด รูปาวจรวิบากก็มีเจตสิกนั้นๆ เกิดร่วมด้วยเท่านั้น รูปาวจรกุศลมีอารมณ์อะไร รูปาวจรวิบากก็มีอารมณ์นั้น อรูปาวจรกุศลและอรูปาวจรวิบาก โลกุตตรกุศลและโลกุตตรวิบากก็โดยนัยเดียวกัน แต่มหากุศลหาเป็นเช่นนั้นไม่ วิรตีเจตสิกเกิดกับมหากุศลจิตเฉพาะในขณะที่วิรัติทุจริต แต่มหาวิบากซึ่งเป็นผลของมหากุศลนั้น ไม่มีวิรตีเจตสิกและอัปปมัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะมหาวิบากไม่ได้ทํากิจวิรัติทุจริตเช่นมหากุศล

วิรตีเจตสิกไม่เกิดกับรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต เพราะขณะที่เป็นมหัคคตจิตนั้นไม่มีการกระทําใดๆ ทางกาย วาจาที่วิรตีเจตสิกจะต้องเกิดขึ้นวิรัติทุจริตทางกายหรือทางวาจาเลย

อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง ไม่เกิดพร้อมกัน อัปปมัญญาดวงหนึ่งดวงใดย่อมเกิดในขณะที่จิตมีสัตว์ บุคคล (ที่เป็นทุกข์หรือเป็นสุข) เป็นอารมณ์เท่านั้น อัปปมัญญาเจตสิกไม่เกิดกับมหาวิบากจิตโดยนัยเดียวกับวิรตีเจตสิก แต่อัปปมัญญาเจตสิกดวงหนึ่งดวงใดเกิดกับมหากุศลจิตและมหากิริยาจิตได้เมื่อมีสัตว์ที่เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเป็นอารมณ์ และในการเจริญพรหมวิหารภาวนา คือ เมตตาภาวนา ได้แก่ อโทสเจตสิก กรุณาภาวนา ได้แก่ กรุณาเจตสิก มุทิตาภาวนา ได้แก่ มุทิตาเจตสิก อุเบกขาภาวนา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เมื่ออบรมเจริญสมถภาวนาซึ่งเป็นพรหมวิหารนั้น มหากุศลที่ประกอบด้วยเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตาย่อมเจริญเพิ่มขึ้นจนเป็นความสงบที่มีกําลังมั่นคง เป็นอุปจารสมาธิ (สมาธิใกล้ต่อการแนบแน่นในอารมณ์) และอัปปนาสมาธิ (แนบแน่นในอารมณ์) ซึ่งเป็นฌานจิตขั้นที่ ๑ และเมื่ออบรมเจริญต่อไปก็บรรลุถึงฌานจิตขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ ตามลําดับ แต่เมตตา กรุณา มุทิตา ไม่อาจบรรลุถึงขั้นปัญจมฌาน ซึ่งเป็นรูปฌานที่ ๕ ได้ เพราะฌานจิตขั้นที่ ๑, ๒, ๓, ๔ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ดังนั้นเมื่อจะอบรมพรหมวิหารภาวนาให้ถึงปัญจมฌานต้องเป็นอุเบกขาพรหมวิหารเท่านั้น ฉะนั้น เมตตา กรุณา มุทิตา จึงเป็นได้เพียงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ส่วนอุเบกขาพรหมวิหารนั้นเป็นปัญจมฌานเท่านั้น

อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวงไม่เกิดกับอรูปาวจรจิต เพราะอรูปาวจรจิตไม่มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์

อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวงไม่เกิดกับโลกุตตรจิต เพราะโลกุตตรจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์

ปัญญาเจตสิก ๑ ดวง เกิดร่วมกับกามาวจรจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ทั้งหมด และเกิดร่วมกับรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตตรจิตด้วย เพราะจิตเหล่านี้ต้องประกอบด้วยปัญญาเจตสิกทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่า โดยทั่วไปกามาวจรกุศลจิตเกิดร่วมกับโสภณสาธารณเจตสิกเท่านั้น แต่บางกาลก็มีวิรตีเจตสิก ๑ ดวงเกิดร่วมด้วยเมื่อวิรัติทุจริต และบางกาลก็มีอัปปมัญญาเจตสิก ๑ ดวงเกิดร่วมด้วย และบางกาลก็เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ขณะอบรมเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานั้นเป็นมหากุศลจิตที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์

เปิด  1,159
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ