ภาคผนวก รูป ๒๔ ประเภท

รูปเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ รูปเป็นสังขตธรรม เป็น สภาพธรรมที่เกิดดับ จึงต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้รูปเกิดขึ้น อุปาทายรูปอาศัยมหาภูตรูปจึงเกิดขึ้นเป็นไป แต่ที่อุปาทายรูปและมหาภูตรูปจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องมีสมุฏฐาน คือ ธรรมที่ก่อตั้งให้รูปทั้งหมดนั้นเกิดขึ้น มิฉะนั้น รูปทั้งหมดก็เกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้เลย สมุฏฐาน คือ ธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูป มี ๔ สมุฏฐาน คือ กรรม ๑ จิต ๑ อุตุ ๑ อาหาร ๑

รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เรียกว่า กัมมชรูป

รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เรียกว่า จิตตชรูป

รูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เรียกว่า อุตุชรูป

รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน เรียกว่า อาหารชรูป

กัมมชรูป

รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานโดยเฉพาะ ไม่เกิดจากสมุฏฐานอื่นเลย มี ๙ รูป คือ

๑. จักขุปสาทรูป

๒. โสตปสาทรูป

๓. ฆานปสาทรูป

๔. ชิวหาปสาทรูป

๕. กายปสาทรูป

๖. อิตถีภาวรูป

๗. ปุริสภาวรูป

๘. หทยรูป

๙. ชีวิตินทริยรูป

สิ่งใดก็ตามที่ดูเหมือนมีชีวิตแต่ไม่ได้เกิดจากอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมใดๆ เป็นสมุฏฐาน เช่น พืชพันธุ์ต่างๆ ไม่มีกัมมชรูปทั้ง ๙ รูปนี้เลย

บางบุคคล กรรมไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดจักขุปสาทรูปบ้าง โสตปสาทรูปบ้าง ฆานปสาทรูปบ้าง ชิวหาปสาทรูปบ้าง กายปสาทรูปบ้าง อิตถีภาวรูปบ้าง ปุริสภาวรูปบ้าง แต่เมื่อเป็นสัตว์บุคคลในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แล้วต้องมีหทยรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต และมีชีวิตินทริยรูปที่เกิดร่วมกับกัมมชรูปอื่นๆ ในทุกๆ กัมมชกลาป สําหรับอสัญญสัตตาพรหมบุคคลซึ่งเป็นพรหมบุคคลที่มีแต่รูป ไม่มีนามธรรม คือ ระหว่างที่เป็นอสัญญสัตตาพรหมนั้นจิต เจตสิกไม่เกิดเลย จึงมีกัมมชรูปเพียงกลาปเดียว คือ กลาปที่มีชีวิตินทริยรูปเท่านั้น (ไม่มีจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป อิตถีภาวรูป ปุริสภาวรูป หทยรูป)

กัมมชรูป ๙ รูปนี้ เป็นอุปาทายรูป ฉะนั้น จึงต้องเกิดร่วมกับอวินิพโภครูป ๘ รูป ดังนี้ คือ

๑. จักขุทสกกลาป (กลุ่มของจักขุปสาทรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ อวินิพโภครูป ๘ + จักขุปสาทรูป + ชีวิตินทริยรูป

๒. โสตทสกกลาป (กลุ่มของโสตปสาทรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ อวินิพโภครูป ๘ + โสตปสาทรูป + ชีวิตินทริยรูป

๓. ฆานทสกกลาป (กลุ่มของฆานปสาทรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ อวินิพโภครูป ๘ + ฆานปสาทรูป + ชีวิตินทริยรูป

๔.ชิวหาทสกกลาป (กลุ่มของชิวหาปสาทรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ อวินิพโภครูป ๘ + ชิวหาปสาทรูป + ชีวิตินทริยรูป

๕. กายทสกกลาป (กลุ่มของกายปสาทรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ อวินิพโภครูป ๘ + กายปสาทรูป + ชีวิตินทริยรูป

๖. อิตถีภาวทสกกลาป (กลุ่มของอิตถีภาวรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ อวินิพโภครูป ๘ + อิตถีภาวรูป + ชีวิตินทริยรูป

๗. ปุริสภาวทสกกลาป (กลุ่มของปริสภาวรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ อวินิพโภครูป ๘ + ปุริสภาวรูป + ชีวิตินทริยรูป

๘. หทยทสกกลาป (กลุ่มของหทยรูปซึ่งมีรูปรวม ๑๐ รูป) คือ อวินิพโภครูป ๘ + หทยรูป + ชีวิตินทริยรูป

๙. ชีวิตนวกกลาป (กลุ่มของชีวิตรูปซึ่งมีรูปรวม ๙ รูป) คือ อวินิพโภครูป ๘ + ชีวิตินทริยรูป

กัมมชกลาปเหล่านี้เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตตามควรแก่ภพภูมินั้นๆ และเกิดทุกอนุขณะของจิตทุกดวง คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะของจิตดวงหนึ่งๆ และจะหยุดเกิดก่อนจุติจิต ๑๖ ขณะจิต ฉะนั้น กัมมชรูปทั้งหมดจึงดับพร้อมกับจุติจิต

กัมมชรูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตในภูมิมนุษย์ซึ่งเป็นชลาพุชกําเนิด (เกิดในครรภ์) มี ๓ กลาป คือ หทยทสกกลาป กายทสกกลาป ภาวทสกกลาป เมื่อเจริญเติบโตขึ้น จักขุทสกกลาป โสตทสกกลาป ฆานทสกกลาป ชิวหาทสกกลาปก็เกิดตามควรแก่กาลของกลาปนั้นๆ

ผู้ที่ปฏิสนธิเป็นโอปปาติกกําเนิด (เกิดเป็นกายที่มีอวัยวะครบทันที) เช่น เทวดา เปรต อสุรกาย และผู้ที่เกิดในนรก มีกัมมชรูปครบทั้ง ๗ กลาป พร้อมกันทันทีในขณะที่ปฏิสนธิ คือ หทยทสกกลาป กายทสกกลาป ภาวทสกกลาป จักขุทสกกลาป โสตทสกกลาป ฆานทสกกลาป ชิวหาทสกกลาป แต่ถ้ากรรมประเภทใดไม่เป็นปัจจัยให้รูปประเภทใดเกิด ก็เว้นรูปกลาปนั้นๆ ทั้งในปฏิสนธิกาล (ขณะปฏิสนธิจิตเกิด) และในปวัตติกาล คือ ขณะหลังปฏิสนธิ

ผู้ที่ปฏิสนธิเป็นพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิเป็นโอปปาติกกําเนิด มีกัมมชรูป ๔ กลาปเท่านั้น คือ หทยทสกกลาป จักขุทสกกลาป โสตทสกกลาป และชีวิตนวกกลาป เว้นฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป ภาวรูป ซึ่งเป็นผลของการระงับความเพลิดเพลินยินดีในกามอารมณ์ด้วยกําลังของฌานจิตที่เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นรูปพรหมบุคคล

ผู้ที่เป็นอสัญญสัตตาพรหม คือ พรหมที่มีแต่รูปธรรม ไม่มีนามธรรมเลยนั้น มีกัมมชกลาป ๑ กลาป คือ ชีวิตนวกกลาป กรเกิดเป็นอสัญญสัตตาพรหมนั้น เป็นผลของปัญจมฌานที่คลายความยินดีในนามธรรม เพราะเห็นโทษของนามธรรมที่เป็นไปตามกิเลส จึงปรารถนาที่จะไม่มีนามธรรม เมื่อปัญจมฌานกุศลจิตไม่เสื่อม และปัญจมฌานกุศลจิตเกิดก่อนจุติจิต ด้วยความหน่ายในนามธรรม จึงเป็นปัจจัยให้รูปปฏิสนธิในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ มีอายุ ๕๐๐ กัปป์ เมื่อไม่มีนามธรรมเกิดเลย จึงไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อจุติ (ก่อนเป็นอสัญญสัตตาพรหม) ด้วยอิริยาบถใด รูปปฏิสนธิของอสัญญสัตตาพรหม ก็เป็นอิริยาบถนั้นจนกว่ารูปจะจุติ และกุศลกรรมหนึ่งจึงเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิต และกัมมชรูปเกิดในกามสุคติภูมิ วนเวียนเป็น กิเลส กรรม วิบากต่อไป ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

จิตตชรูป

รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน มี ๖ กลาป คือ

๑. สุทธัฏฐกกลาป เป็นกลาปที่มีแต่อวินิพโภครูป ๘ รูปเท่านั้น ไม่มีรูปอื่นๆ เกิดร่วมด้วยเลย

เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดสืบต่อ จิตตชรูปที่เป็นสุทธัฏฐกกลาปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฐมภวังคจิต และทุกอุปาทขณะของจิต เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ซึ่งไม่มีกําลังพอที่จะเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้

จิตที่ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดจิตตชรูปมี ๑๖ ดวง คือ อรูปฌานวิบากจิต ๔ ดวง ปฏิสนธิจิต ๑ ดวง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จุติจิตของพระอรหันต์ ๑ ดวง รวม ๑๖ ดวง

อรูปฌานวิบากจิต ๔ ดวง ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปเลย เพราะเป็นผลของอรูปฌานกุศล ซึ่งเห็นโทษของรูปว่าเป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่กิเลส จึงเจริญอรูปฌานกุศลซึ่งไม่มีรูปใดๆ เป็นอารมณ์เลย เมื่ออรูปฌานวิบากทํากิจปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ จึงไม่เป็นปัจจัยให้รูปใดๆ เกิดเลยทั้งสิ้น

ปฏิสนธิจิตไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดจิตตชรูป เพราะเป็นจิตขณะแรกในภพภูมิหนึ่ง จึงยังไม่มีกําลังพอที่จะเป็นสมุฏฐานให้เกิดจิตตชรูปได้

จุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป เพราะเป็ฯจิตดวงสุดท้ายของสังสารวัฏฏ์ซึ่งสิ้นสภาพความเป็นปัจจัยที่ทําให้รูปเกิดได้

๒. กายวิญญัตินวกกลาป กลุ่มของกายวิญญัติรูปซึ่งมีรูปรวมกัน ๙ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + กายวิญญัติรูป ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่ต้องการให้รูปแสดงความหมาย

๓. วจีวิญญัติสัทททสกกลาป กลุ่มของรูปรวมกัน ๑๐ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + วจีวิญญัติรูป ๑ + สัททรูป ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่เป็นสมุฏฐานของเสียง คือ วาจา

๔. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป กลุ่มของรูปรวมกัน ๑๑ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + วิการรูป ๓ ย่อมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่ต้องการให้รูปเป็นไปในอิริยาบถต่างๆ

๕. กายวิญญัติลหุตาทิทวาทสกกลาป กลุ่มของรูปรวมกัน ๑๒ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + วิการรูป ๓ + กายวิญญัติรูป ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่ต้องการให้รูปเป็นไปในอิริยาบถต่างๆ ที่แสดงความหมาย

๖. วจีวิญญัติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป กลุ่มของรูปรวมกัน ๑๓ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘+ วิการรูป ๓ + วจีวิญญัติรูป ๑ + สัททรูป ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่ต้องการให้เกิดเสียงพิเศษที่ต้องอาศัยวิการรูปจึงจะเกิดเสียงนั้นๆ ที่ฐานของเสียงได้

จิตตชกลาป ทุกกลาปต้องเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตที่เป็นสมุฏฐานให้จิตตชกลาปนั้นเกิด จิตตชกลาปจะไม่เกิดในฐีติขณะและภังคขณะของจิตเลย

อุตุชรูป

รูปที่เกิดจากอุตุ มี ๔ กลาป คือ

. สุทธัฏฐกกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ รูปเท่านั้น ไม่มีรูปอื่นๆ เกิดร่วมด้วยเลย ในรูปที่มีใจครองนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นนั้น ในอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะของปฏิสนธิจิต มีกัมมชรูปเกิดตามที่ได้กล่าวแล้ว แต่ในฐีติขณะของปฏิสนธิจิตนั้นเอง อุตุ คือ ธาตุไฟในกัมมชกลาปที่เกิดนั้นก็เป็นสมุฏฐานให้อุตุชรูปที่เป็นสุทธัฏฐกกลาปเกิดขึ้น และอุตุชสุทธัฏฐกกลาปนี้จะเกิดขึ้นในฐีติขณะของรูปต่อๆ ไป

๒. สัททนวกกลาป กลุ่มของเสียงซึ่งมีรูปรวมกัน ๙ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + สัททรูป ๑ ขณะใดที่รูปเสียงไม่ได้เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานให้วจีวิญญัติรูปกระทบที่ฐานของเสียง ขณะนั้นเสียงเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เช่น เสียงรถยนต์ เสียงน้ำตก เป็นต้น

๓. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป กลุ่มของวิการรูปซึ่งมีรูปรวมกัน ๑๑ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + วิการรูป ๓ อุตุย่อมเป็นสมุฏฐานหนึ่งที่ทําให้เกิดรูปที่เบา รูปที่อ่อน รูปที่ควรแก่การงานในกายที่มีใจครอง ถ้าอุตุไม่สม่ำเสมอก็เกิดโรค และกายส่วนใดไม่มีวิการรูป แม้จิตก็เป็นสมุฏฐานให้กายส่วนนั้นเคลื่อนไหวไปตามความต้องการไม่ได้

๔. สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป กลุ่มของวิการรูปและเสียง รวมกันทั้งสิ้น ๑๒ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + วิการรูป ๓ + สัททรูป ๑ ในขณะที่กลุ่มของวิการรูปนั้นมีเสียงเกิดร่วมด้วย เช่นดีดนิ้ว ปรบมือ เป็นต้น

อาหารชรูป

รูปที่เกิดจากโอชารูปในกพฬิงการาหาร คือ อาหารที่เป็นคําที่กลืนกินเข้าไปนั้นมี ๒ กลาป อาหารชกลาปนี้เกิดได้เฉพาะภายในร่างกายของสัตว์บุคคลเท่านั้น อาหารชกลาป ๒ กลาป คือ

๑. สุทธัฏฐกกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ เท่านั้น ไม่มีรูปอื่นเกิดร่วมด้วยเลย

๒. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป กลุ่มของวิการรูปซึ่งมีรูปรวมกัน ๑๑ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ + วิการรูป ๓ นอกจากจิตและอุตุจะเป็นสมุฏฐานให้เกิดวิการรูป ๓ แล้ว อาหารก็เป็นอีกสมุฏฐานหนึ่งที่ทําให้เกิดวิการรูป ๓ ถ้ามีเพียงวิการรูปที่เกิดจากอุตุเท่านั้น แต่ขาดอาหาร คือ แม้อากาศดีแต่ขาดอาหาร วิการรูปก็ไม่มีกําลังพอที่จะเคลื่อนไหวได้สะดวกรวดเร็ว

อาหารชรูป อาศัยการแผ่ซ่านของโอชาในอาหารที่กลืนเข้าไปนั้นเป็นสมุฏฐานเมื่อใด ก็เกิดขึ้นในฐีติขณะของโอชารูปซึ่งเป็นสมุฏฐานเมื่อนั้น

รวมรูปแต่ละรูปเกิดจากสมุฏฐานใดสมุฏฐานหนึ่งใน ๔ สมุฏฐาน ดังนี้ คือ

อวินิพโภครูป ๘ เกิดได้จากสมุฏฐาน ๔ คือ

บางกลาปก็มีกรรมเป็นสมุฏฐาน

บางกลาปก็มีจิตเป็นสมุฏฐาน

บางกลาปก็มีอุตุเป็นสมุฏฐาน

บางกลาปก็มีอาหารเป็นสมุฏฐาน

ปสาทรูป ๕ เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น

ภาวรูป ๒ เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น

หทยรูป ๑ เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น

ชีวิตินทริยรูป ๑ เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น

วิการรูป ๓ เกิดจากสมุฏฐาน ๓ คือ

บางกลาปเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน

บางกลาปเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน

บางกลาปเกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน

วิญญัติรูป ๒ เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานเท่านั้น

สัททรูป ๑ เกิดจากสมุฏฐาน ๒ คือ

บางกลาปเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน

บางกลาปเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน

ปริจเฉทรูป ๑ เกิดจากสมุฏฐาน ๔ คือ เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เมื่อคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เมื่อคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เมื่อคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน เมื่อคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน

ลักขณรูป ๔ ไม่เกิดจากสมุฏฐานใดเลย เพราะเป็นเพียงลักษณะอาการของสภาวรูป ๑๘ รูป

รูป ๒๘ รูป จําแนกได้หลายนัย ดังนี้ คือ

สภาวรูป ๑๘ คือรูปที่มีลักษณะเฉพาะของตน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑ สัททรูป ๑ รวม ๑๘ รูป

อสภาวรูป ๑๐ คือรูปที่ไม่มีลักษณะเฉพาะอีกต่างหาก ได้แก่วิการรูป ๓ วิญญัติรูป ๒ ปริจเฉทรูป ๑ ลักขณรูป ๔

อัชญัตติกรูป ๕ คือ รูปภายใน ได้แก่ ปสาทรูป ๕

พาหิรรูป ๒๓ คือ รูปภายนอก ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๓ รูป

วัตถุรูป ๖ คือ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ได้แก่ ปสาทรูป ๕ หทยรูป๑

อวัตถุรูป ๒๒ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๒

ทวารรูป ๗ คือ รูปที่เป็นทางรับอารมณ์ ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และรูปที่เป็นทางของกายกรรมและวจีกรรม คือ กายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑

อทวารรูป ๒๑ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๑ รูป

อินทริยรูป ๔ คือ รูปที่เป็นใหญ่ในกิจการงานเฉพาะของตน๔ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๔ ภาวรูป ๒ ชีวิตินทริยรูป ๑

อนินทรียรูป ๒๐ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๐ รูป

โอฬาริกรูป ๑๒ คือ รูปหยาบ ๑๒ รูป ได้แก่ วิสยรูป ๒ (รูปที่เป็นอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย) ปสาทรูป ๕

สุขุมรูป ๑๖ คือ รูปละเอียด ได้แก่ รูปที่เหลือ ๑๖ รูป

สันติเกรูป ๑๒ คือ รูปใกล้ (ต่อการพิจารณารู้ได้) ได้แก่ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗

ทูเรรูป ๑๖ คือ รูปไกล (ยากต่อการพิจารณาแทงตลอด) ได้แก่ รูปที่เหลือ ๑๖ รูป

สัปปฏิฆรูป ๑๒ คือ รูปที่กระทบได้ ได้แก่ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗

อัปปฏิฆรูป ๑๖ คือ รูปที่กระทบไม่ได้ ได้แก่รูปที่เหลือ ๑๖ รูป

โคจรัคคาหิกรูป ๕ คือ รูปที่กระทบอารมณ์ได้ ได้แก่ ปสาทรูป ๕

อโคจรัคคาหิกรูป ๒๓ คือ รูปที่กระทบอารมณ์ไม่ได้ ได้แก่รูปที่เหลือ๒๓ รูป

อวินิพโภครูป ๘ คือ รูปที่แยกกันไม่ได้ ๘ รูป

วินิพโภครูป ๒๐ คือ รูปที่แยกกันได้ ได้แก่ รูป ๒๐ รูป

คําถามทบทวนภาคผนวก

๑. จิตที่ไม่เกิดร่วมกับอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุเป็นอกุศลจิตไหม

๒. อโสภณจิตและอกุศลจิตต่างกันอย่างไร

๓. อโสภณจิตมีกี่ดวง อะไรบ้าง

๔. จิตอะไรทําโวฏฐัพพนกิจ

๕. ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นชาติอะไร

๖. เมื่อเสียงกระทบหู จิตอะไรรู้เสียงเป็นขณะแรก

๗. จิตอะไรเกิดก่อนหสิตุปปาทจิต

๘. มโนทวาราวัชชนจิตเป็นมโนทวารใช่ไหม

๙. มโนทวาราวัชชนจิตมีกี่กิจ เกิดได้กี่ทวาร รู้อารมณ์อะไรได้บ้าง

๑๐. เหตุเป็นปรมัตถ์อะไร

๑๑. เหตุเป็นขันธ์อะไร

๑๒. นิพพานเป็นเหตุหรือนเหตุ อเหตุกะหรือสเหตุกะ

๑๓. นเหตุที่ไม่ใช่สังขารขันธ์ได้แก่อะไรบ้าง

๑๔. สังขารขันธ์ที่เป็นนเหตุมีกี่ดวง

๑๕. ปรมัตถธรรมที่เป็นนเหตุนั้นเป็นขันธ์อะไรบ้าง

๑๖. โลกุตตรจิตเป็นอสังขตธรรมใช่ไหม

๑๗. ขันธ์อะไรเป็นกุศล

๑๘. ขันธ์อะไรเป็นอัพยากตธรรม

๑๙. ขันธ์ที่ไม่ใช่อัพยากตธรรมมีไหม

๒๐. อัพยากตธรรมที่ไม่ใช่ขันธ์มีไหม

๒๑. กุศลธรรมที่ไม่ใช่ขันธ์มีไหม

๒๒. อกุศลจิตในอรูปพรหมภูมิเป็นชาติอะไร

๒๓. เวทนาเจตสิกเป็นภูมิอะไร

๒๔. นิพพานมีเวทนาไหม เพราะอะไร

๒๕. เจตสิกอะไรไม่มีเวทนาเกิดร่วมด้วย

๒๖. จิตภูมิไหนมี ๑ ชาติ

๒๗. จิตภูมิไหนมี ๒ ชาติ

๒๘. จิตภูมิไหนมี ๓ ชาติ

๒๙. จิตตชรูปที่เกิดจากโมหมูลจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดเพราะเหตุปัจจัยหรือเปล่า

๓๐. โมหเจตสิกที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิต เกิดร่วมกับเหตุหรือเปล่า

เปิด  847
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ