สมถภาวนา
สมถภาวนาไม่ใช่การทําสมาธิ สมาธิเป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อจิตฝักใฝ่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกก็ปรากฏเป็นสมาธิ คือ ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นมิจฉาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตเป็นสัมมาสมาธิ
การทําสมาธิให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ นั้น เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญาก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขณะนั้นเป็นความพอใจที่จะให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์เดียว เมื่อปราศจากปัญญาก็ไม่สามารถรู้ความต่างกันของโลภมูลจิตและกุศลจิต เพราะโลภมูลจิตและกามาวจรกุศลจิตมีเวทนาประเภทเดียวกันเกิดร่วมด้วย คือ
โลภมูลจิต ๘ ดวง มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง
กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง
ฉะนั้น ขณะใดที่อุเบกขาเวทนาเกิดขึ้นหรือโสมนัสเวทนาเกิดขึ้น จึงยากที่จะรู้ว่าจิตที่ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อนหรือขณะที่โสมนัสยินดีเป็นสุขนั้น เป็นโลภมูลจิตหรือเป็นมหากุศลจิต
ความต่างกันของโลภมูลจิต ๘ ดวง และมหากุศลจิต ๘ ดวง คือ โลภมูลจิตมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย มหากุศลจิตมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย อกุศลเจตสิกที่แสดงความต่างกันของโลภมูลจิตและมหากุศลจิต คือ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด และโสภณเจตสิกที่แสดงความต่างกันของกุศลจิต และโลภมูลจิต คือ สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นปัญญาเจตสิก ฉะนั้น ความต่างกันของโลภมูลจิต ๘ ดวง และมหากุศล ๘ ดวง คือ
โลภมูลจิต ๘ ดวง เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิก ๔ ดวง ไม่เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิก ๔ ดวง
มหากุศลจิต ๘ ดวง เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ๔ ดวง ไม่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ๔ ดวง
ฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนาจึงต้องรู้ความต่างกันของโลภมูลจิต และกุศลจิต มิฉะนั้นก็จะทําสมาธิด้วยโลภมูลจิต เป็นมิจฉาสมาธิเมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา
ส่วนใหญ่ผู้ที่ทําสมาธิไม่ต้องการให้จิตวุ่นวายเดือดร้อนกังวลไปกับเรื่องราวต่างๆ พอใจที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง โดยไม่รู้ว่าขณะที่กําลังต้องการให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ที่ต้องการนั้น ไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์
การเจริญสมถภาวนาเป็นการเจริญมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนาต้องเป็นผู้มีปัญญา เห็นโทษของอกุศล ทั้งโลภะและโทสะ ไม่ใช่เห็นแต่โทษของโทสมูลจิตซึ่งเป็นความกังวลใจ เดือดร้อนใจต่างๆ เท่านั้น ผู้ที่ไม่รู้จักกิเลสและไม่เห็นโทษของโลภะ ย่อมไม่เจริญสมถภาวนา ฉะนั้น ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจึงเป็นผู้ตรง มีปัญญาเห็นโทษของโลภะและมีสติสัมปชัญญะ รู้ขณะที่ต่างกันของโลภมูลจิตและมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต จึงจะเจริญมหากุศลญาณสัมปยุตต์เพิ่มขึ้นๆ จนอกุศลจิตไม่เกิดแทรกคั่นได้ จนกว่าจะเป็นอุปจารสมาธิ แล้วบรรลุอัปปนาสมาธิ คือ ปฐมฌานกุศลจิต ประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
การเจริญสมถภาวนาที่จะให้มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเจริญขึ้นๆ จนเป็นบาทให้เกิดปฐมฌานกุศลจิตซึ่งเป็นรูปาวจรกุศลนั้น เป็นสิ่งที่กระทําได้ยาก เพราะจะต้องไม่เป็นอภัพพบุคคล คือผู้ที่แม้เจริญสมถะหรือวิปัสสนาก็ไม่อาจบรรลุฌานจิตหรือโลกุตตรจิตได้ ผู้ที่เป็นภัพพบุคคล คือผู้ที่เมื่อเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาก็อาจจะบรรลุฌานจิตหรือโลกุตตรจิตได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่
๑. (37) ไม่มีวิบากเป็นเครื่องกั้น คือ ปฏิสนธิจิตเป็นติเหตุกะ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
๒. ไม่มีกรรมเป็นเครื่องกั้น คือ ไม่ได้กระทําอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในอนันตริยกรรม ๕ ซึ่งเป็นเครื่องกั้นสวรรค์ มรรค ผล อนันตริยกรรม ๕ คือ ฆ่ามารดา ๑ ฆ่าบิดา ๑ ฆ่าพระอรหันต์ ๑ ทําร้ายพระผู้มีพระภาคให้ห้อพระโลหิต ๑ ทําสังฆเภท คือ ทําลายสงฆ์ให้แตกกันโดยไม่ทําสังฆกรรมร่วมกัน ๑
๓. ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น คือ ไม่มีนิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ได้แก่ นัตถิกทิฏฐิ อเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ
แม้ว่าปฏิสนธิจิตเป็นติเหตุกะ ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้ายินดีเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะโดยไม่เห็นโทษ ก็ย่อมไม่คิดจะบรรเทาความเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยการรักษาศีลและเจริญภาวนา ฉะนั้น การอบรมสมถภาวนาให้ถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิจึงไม่ง่ายเลย ไม่ใช่เพียงการจดจ้องที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่ต้องการก็จะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่จะทําให้บรรลุถึงอุปจารสมาธิได้ ถ้าเข้าใจผิดว่าโลภมูลจิตขณะนั้นเป็นมหากุศลก็จะทําให้คิดว่า นิมิตต่างๆ ที่จิตปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเห็นเป็น นรก สวรรค์ สถานที่ เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ นั้น เป็นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ
ฉะนั้น สมถภาวนาจึงเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจถูกต้องจริงๆ
วันหนึ่งๆ ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ และคิดนึก อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต กุศลจิตที่เกิดในวันหนึ่งๆ นั้นย่อมเป็นทานบ้าง ศีลบ้าง เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันแต่ละเดือน ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจึงอบรมจิตให้เป็นกุศลเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่ไม่ใช่ทานและศีล การอบรมจิตให้สงบจากอกุศลทั้งหลายในวันหนึ่งๆ นั้นเป็นกุศลขั้นสมถภาวนาในชีวิตประจําวัน แม้ว่าไม่สามารถจะถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ก็เป็นสิ่งที่ควรเจริญ แต่การจะระงับจิตให้สงบจากอกุศลนั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าจิตจะสงบในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ และคิดนึกได้อย่างไร มิฉะนั้นกุศลจิตก็เกิดไม่ได้
จิตที่สงบจากอกุศลเป็นสมถภาวนานั้น ต้องเป็นกุศลจิตในอารมณ์ ๔๐ อารมณ์ คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปฌาน ๔
กสิณ ๑๐
ชื่อว่า กสิณ เพราะอรรถว่าทําอารมณ์ทั้งสิ้น กสิณ ๑๐ ได้แก่
๑. ปถวีกสิณ ระลึกถึงแต่ดินเท่านั้น
๒. อาโปกสิณ ระลึกถึงแต่น้ำเท่านั้น
๓. เตโชกสิณ ระลึกถึงแต่ไฟเท่านั้น
๔. วาโยกสิณ ระลึกถึงแต่ลมเท่านั้น
๕. นีลกสิณ ระลึกถึงแต่สีเขียวเท่านั้น
๖. ปีตกสิณ ระลึกถึงแต่สีเหลืองเท่านั้น
๗. โลหิตกสิณ ระลึกถึงแต่สีแดงเท่านั้น
๘. โอทาตกสิณ ระลึกถึงแต่สีขาวเท่านั้น
๙. อาโลกกสิณ ระลึกถึงแต่แสงสว่างเท่านั้น
๑๐. อากาสกสิน ระลึกถึงแต่อากาศเท่านั้น
จิตที่ระลึกถึงแต่ดินเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เมื่อปัญญาไม่เกิด ขณะที่คิดถึงดินก็เป็นอกุศลที่ต้องการคิดถึงดิน หรือต้องการจดจ้องที่ดิน
เมื่อปัญญาเกิด จิตที่ระลึกถึงดินก็เป็นกุศล เมื่อรู้ว่ารูปทุกอย่างที่ปรากฏปราศจากธาตุดินไม่ได้ สิ่งที่เคยพอใจปรารถนาต้องการทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น ล้วนเป็นแต่เพียงดินเท่านั้น เมื่อรู้ถึงแก่นแท้ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกที่เคยพอใจปรารถนาว่าเป็นแต่เพียงดิน ก็ทําให้ละคลายความพอใจในสิ่งทั้งหลายได้ในขณะที่ระลึกรู้ว่าเป็นเพียงดินเท่านั้น
การที่จิตจะเป็นกุศลระลึกถึงแต่ดินนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่ออารมณ์กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คล้อยไปตามอารมณ์นั้นๆ ทันที ด้วยเหตุนี้การเจริญสมถภาวนาที่จะให้จิตสงบจากอกุศลมั่นคงขึ้น จึงต้องอาศัยสถานที่ที่เงียบสงัดปราศจากเสียงผู้คนรบกวน และทําดินเป็นวงกลมเกลี้ยง (ปถวีกสิณ) ปราศจากมลทินโทษที่จะทําให้จิตน้อมนึกไปพอใจในรูปร่างสัณฐานต่างๆ ได้ (ความละเอียดมีในคัมภีร์วิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส ปถวีกสิณ) ขณะที่ดูปถวีกสิณนั้น เมื่อจิตระลึกถึงดินประกอบด้วยปัญญาเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ จิตจึงจะสงบ ได้ และจะต้องดูปถวีกสิณเพื่อเตือนให้ระลึกถึงดินเท่านั้นเรื่อยๆ ไป เพื่อไม่ให้จิตรู้อารมณ์อื่น
ยากแค่ไหนที่จะระลึกถึงแต่ดินด้วยจิตที่สงบจากอกุศลทั้งหลายอยู่เรื่อยๆ โดยดูปถวีกสิณที่ไม่เล็กนักไม่ใหญ่นัก ไม่ห่างนักไม่ใกล้นัก ไม่สูงนักไม่ต่ำนัก ฉะนั้น วิตกเจตสิกจึงเป็นองค์ฌานที่ขาดไม่ได้เลย วิตกเจตสิกที่เกิดกับมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตจะต้องจรดที่ปถวีกสิณ ด้วยจิตที่สงบจากอกุศลทั้งหลาย ทั้งในขณะที่หลับตาและลืมตา จนกว่าอุคคหนิมิต คือ นิมิตของปถวีกสิณจะปรากฏทางมโนทวารเหมือนกับในขณะที่ลืมตา ซึ่งบางท่านแม้ปฏิสนธิจิตจะเป็นติเหตุกะ แต่อุคคหนิมิตก็ไม่ปรากฏเลย อุคคหนิมิตจะปรากฏเมื่อมหากุศลญาณสัมปยุตต์เพิ่มความสงบมั่นคงในปถวีกสิณแล้ว แต่ขณะที่อุคคหนิมิตปรากฏนั้นก็ยังไม่ถึงอุปจารสมาธิ
การประคับประคองให้มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตตั้งมั่นในอุคคหนิมิตต่อไปและมั่นคงขึ้นนั้นไม่ง่ายเลย ตามข้อความในวิสุทธิมรรค ปถวีกสิณ นิทเทส เมื่อนิวรณ์ทั้งหลาย (อกุศลธรรมที่กลุ้มรุมครอบงําจิต) ระงับลงโดยลําดับแล้ว จิตย่อมสงบมั่นคงเป็นอุปจารสมาธิ เมื่อปฏิภาคนิมิตปรากฎราวกะชําแรกอุคคหนิมิตออกมา ปฏิภาคนิมิตเป็นนิมิตที่ผ่องใสกว่าอุคคหนิมิต ขณะที่ปฏิภาคนิมิตปรากฏนั้น มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตสงบมั่นคงถึงขั้นอุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่ใกล้ต่อการสงบแนบแน่นในอารมณ์ขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นปฐมฌานจิต
การประคับประคองให้มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตที่สงบถึงขั้นอุปจารสมาธิสงบได้ต่อไปอีกเรื่อยๆ และเพิ่มความสงบมั่นคงขึ้นจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นจิตขั้นรูปาวจรเป็นปฐมฌานจิตเกิดขึ้นได้นั้น ต้องรักษาอุปจารสมาธิที่ได้แล้ว ดุจนางแก้วรักษาครรภ์ซึ่งเป็นที่อุบัติแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์ และต้องเว้นเหตุอันไม่เป็นสัปปายะ (ธรรมที่สะดวกสบายเกื้อกูลแก่การเจริญภาวนา) ๗ อย่างเหล่านี้ คือ
๑. เว้นอาวาส คือ ที่อยู่ซึ่งเมื่ออยู่แล้วนิมิตที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิด ที่เกิดแล้วก็หายไป
๒. เว้นโคจร คือ ทางไปที่ห่างจากอาวาสหรือที่ใกล้อาวาสมาก ที่หาภิกษาไม่ได้ง่ายและไม่สมบูรณ์
๓. เว้นถ้อยคําที่ไม่สบายที่นับเนื่องในดิรัจฉานกถา คือ กถาที่ไม่เกื้อกูลแก่ปัญญา ซึ่งทําให้นิมิตที่เกิดขึ้นแล้วหายไป
๔. เว้นบุคคลที่มากด้วยกิเลส ที่ขวนขวายในกิเลส เพราะทําให้จิตเกิดกิเลสเศร้าหมอง
๕-๖. เว้นโภชนะและอากาศที่ไม่ถูกกับร่างกาย อันจะทําให้ป่วยไข้
๗. เว้นอิริยาบถที่ไม่ทําให้จิตตั้งมั่น
เมื่อเว้นสิ่งที่ควรเว้นและเสพสิ่งที่ควรเสพแล้ว อัปปนาสมาธิก็ยังไม่เกิด ก็จะต้องบําเพ็ญอัปปนาโกศลให้เต็มที่ คือ ต้องประกอบด้วยอัปปนาโกศล ความรู้ความฉลาดในธรรมที่เกื้อกูลให้ฌานจิตเกิดขึ้นได้ ๑๐ ประการ คือ (38)
๑. โดยการทําวัตถุให้เป็นของสะอาด คือ ทั้งร่างกายและเครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัยให้สะอาด มิฉะนั้นแล้วจิตใจก็ไม่แจ่มใส
๒. โดยการยังความเสมอกันของอินทรีย์ ๕ คือ สัทธาและปัญญา วิริยะและสมาธิให้เสมอกันด้วยสติ
๓. โดยฉลาดต่อนิมิต
๔. ย่อมประคองจิตโดยสมัยที่ควรประคอง
๕. ย่อมข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม
๖. ย่อมยังจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรร่าเริง
๗. ย่อมเพ่งเฉยจิตในสมัยที่ควรเพ่งเฉย
๘. โดยการเว้นบุคคลผู้ไม่ตั้งมั่น
๙. โดยเสพบุคคลผู้ตั้งมั่น
๑๐. โดยความเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในคุณนั้นๆ
ถ้าไม่เป็นผู้ฉลาดในอัปปนาโกศล ๑๐ นี้ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตก็ไม่อาจเพิ่มความสงบมั่นคงขึ้นอีกจนเป็นบาทให้อัปปนาสมาธิ คือ รูปาวจรปฐมฌานจิตเกิดได้
ขณะที่รูปาวจรปฐมฌานจิตซึ่งเป็นจิตอีกระดับขั้นหนึ่ง คือ เป็นจิตอีกภูมิหนึ่งจะเกิดขึ้น พ้นจากสภาพจิตที่เป็นกามาวจรนั้นวิถีจิตจะเกิดสืบต่อกันตามลําดับทางมโนทวารเป็น ฌานวิถี ดังนี้
ภวังคจิต เป็น มหาวิบากญาณสัมปยุตต์
ภวังคจลนะเป็น มหาวิบากญาณสัมปยุตต์
ภวังคุปัจเฉทะ เป็น มหาวิบากญาณสัมปยุตต์
มโนทวาราวัชชนะ เป็น อเหตุกกิริยา
บริกัมม์ เป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์
อุปจาระ เป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ (ประเภทเดียวกับบริกัมม์)
อนุโลม เป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ (ประเภทเดียวกับบริกัมม์)
โคตรภู เป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ (ประเภทเดียวกับบริกัมม์)
ปฐมฌานกุศลจิต เป็น รูปาวจรกุศลจิต
ภวังคจิต เป็น มหาวิบากญาณสัมปยุตต์
รูปาวจรปฐมฌานกุศลจิตที่เกิดเป็นครั้งแรกนั้นเกิดเพียง ๑ ขณะเท่านั้น ต่อเมื่อภายหลังชํานาญขึ้นแล้ว ฌานจิตจึงจะเกิดดับสืบต่อเพิ่มขึ้นๆ ได้ โดยไม่มีภวังคจิตเกิดแทรกคั่นเลยตามกําหนดเวลาที่ตั้งใจไว้ได้ ฌานวิถีจิตที่เกิดดับสืบต่อกันโดยไม่มีภวังคจิตเกิดแทรกคั่นเลยนั้นเป็นฌานสมาบัติ คือ เป็นการบรรลุถึงสภาพจิตที่สงบแนบแน่นในอารมณ์ของฌานได้ตามกําหนดเวลาที่ตั้งใจไว้
ก่อนที่ฌานวิถีจิตจะเกิดขึ้น ต้องมีมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเกิดก่อนทุกครั้ง
มหากุศลชวนะขณะที่ ๑ เป็นบริกัมม์ คือ เป็นบริกัมม์ของอัปปนาสมาธิ เพราะปรุงแต่งอัปปนา คือ ถ้ามหากุศลซึ่งเป็นบริกัมม์ไม่เกิด จิตขณะต่อไปและอัปปนาสมาธิ คือฌานจิตก็เกิดไม่ได้
มหากุศลชวนะขณะที่ ๒ เป็นอุปจาร เพราะเข้าไปใกล้อัปปนาสมาธิ
มหากุศลชวนะขณะที่ ๓ เป็นอนุโลม เพราะอนุกูลแก่อัปปนาสมาธิ
มหากุศลชวนะขณะที่ ๔ เป็นโคตรภู เพราะข้ามพ้นกามาวจรภูมิเพื่อขึ้นสู่รูปาวจรภูมิ
เมื่อมหากุศลชวนะขณะที่ ๔ ดับแล้ว ชวนวิถีจิตขณะต่อไปจึงเป็นรูปาวจรปฐมฌานกุศลจิต
รูปาวจรฌานกุศลจิตประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แม้ว่ามีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่องค์ประกอบที่ทําให้รูปาวจรปฐมฌานจิตเกิดนั้น ได้แก่ เจตสิก ๕ ดวงนี้ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณธรรม คือ อกุศลธรรมที่กลุ้มรุมขัดขวางจิตไม่ให้ดําเนินไปในทางสงบ นิวรณธรรม ๕ คือ
กามฉันทนิวรณ์ ได้แก่ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
พยาปาทนิวรณ์ ได้แก่ ความขุ่นเคืองใจ
ถีนมิทธนิวรณ์ ได้แก่ ความท้อถอย หดหู่ และความซบเซาง่วงเหงา
อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ได้แก่ ความฟุ้งซ่าน และความ รําคาญใจ
วิจิกิจฉานิวรณ์ ได้แก่ ความสงสัยไม่แน่ใจในสภาพธรรม และในเหตุและผลของสภาพธรรม
องค์ฌาน ๕ เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณธรรม ๕ โดยวิตกเจตสิกจรดที่อารมณ์ซึ่งทําให้จิตสงบได้ และวิจารเจตสิกตามประคองอารมณ์ที่วิตกเจตสิกจรดลง ทําให้จิตไม่ฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่น ปีติเจตสิกเป็นสภาพที่เอิบอิ่ม สุขเวทนาเพิ่มพูนยิ่งขึ้นตามความเอิบอิ่ม และเอกัคคตาที่องค์ฌาน ๔ อุปการะอุดหนุนแล้ว ตั้งมั่นคงในอารมณ์โดยอาการของปฐมฌานที่ประกอบด้วยองค์ ๕
องค์ฌาน ๕ เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณธรรม ๕ ดังนี้ (39)
๑. วิตกเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธนิวรณ์ เพราะเมื่อวิตกเจตสิกตรึกถึงแต่อารมณ์ของสมถภาวนามากขึ้นเรื่อยๆ ความท้อถอย หดหู่ และความง่วงเหงาก็ย่อมเกิดไม่ได้
๒. วิจารเจตสิกเป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉานิวรณ์ เมื่อวิจารเจตสิกประคองอารมณ์ตามวิตกเจตสิกที่จรดลงในอารมณ์ของสมถภาวนาไปเรื่อยๆ ความสงสัยความไม่แน่ใจในสภาพธรรม และในเหตุผลของสภาพธรรมก็เกิดไม่ได้
๓. ปีติเจตสิกเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาปาทนิวรณ์ เมื่อความสงบในอารมณ์ของสมถภาวนาเพิ่มขึ้น ปีติก็เอิบอิ่มในความสงบนั้นยิ่งขึ้น ทําให้ความพยาบาทขุ่นเคืองใจเกิดไม่ได้ในระหว่างนั้น
๔. สุข (โสมนัสเวทนา) เป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ เมื่อกําลังเป็นสุขในอารมณ์ของสมถภาวนาอยู่ ความเดือดร้อนใจ กังวลใจ และความฟุ้งซ่านในอารมณ์อื่นก็เกิดไม่ได้ เพราะกําลังเป็นสุขในสมถอารมณ์ในขณะนั้น
๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทนิวรณ์ เพราะเมื่อสมาธิตั้งมั่นในอารมณ์ของสมถภาวนาแล้ว ก็ไม่ยินดีในกามอารมณ์ใดๆ
รูปาวจรปฐมฌานกุศลจิตเป็นอัปปนาสมาธิที่แนบแน่นในอารมณ์ด้วยองค์ฌาน ๕ ฉะนั้น ถึงแม้ว่ารูปาวจรฌานกุศลจะเกิดขึ้นครั้งแรกเพียงขณะเดียว เมื่อภวังคจิตเกิดคั่นหลายขณะดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดสืบต่อโดยมโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรําพึงถึงองค์ของฌาน ๑ ขณะ แล้วดับไป แล้วมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตก็พิจารณาองค์ฌานนั้น ๗ ขณะ แล้วภวังคจิตก็เกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้น พิจารณาองค์ของฌานทีละองค์ทีละวาระ ขณะที่มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้น พิจารณาองค์ฌานแต่ละองค์แต่ละวาระนั้น เป็นปัจจเวกขณวิถี ซึ่งต้องเกิดต่อจากฌานวิถีทุกครั้ง
ปัญญาของผู้บรรลุรูปาวจรฌานกุศลจิต จึงรู้ความต่างกันขององค์ฌานทั้ง ๕ คือ รู้ความต่างกันของวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิก รู้ความต่างกันของปีติเจตสิกและสุข (โสมนัสเวทนาเจตสิก) และรู้ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกที่เป็นอัปปนาสมาธิ
ผู้เจริญสมถภาวนาต้องมีสติสัมปชัญญะอย่างปกติ และรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลและอกุศลที่เกิดสลับกันและแทรกคั่นอย่างรวดเร็วได้ถูกต้อง มิฉะนั้นก็จะเข้าใจผิดว่าโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาเป็นความสงบและเป็นกุศล
ผู้เจริญสมถภาวนาไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลย เพราะการเจริญสมถภาวนาเป็นการเจริญกุศลทางใจ ซึ่งเมื่อจิตสงบแล้วก็ปรากฏแต่นิมิตของอารมณ์ที่ทําให้จิตน้อมเป็นกุศลมั่นคงยิ่งขึ้น เช่น ผู้ที่เจริญอาโปกสิณก็มีนิมิตของอาโปกสิณเป็นอารมณ์ จะไม่เห็นนรกสวรรค์ เหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ เลย
ขณะที่ทําสมาธิแล้วเห็นภาพต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่สมถภาวนา
การเจริญสมถภาวนาต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ซึ่งสงบเพราะระลึกอารมณ์ของสมถภาวนาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งใน ๔๐ อารมณ์ แม้โลภมูลจิตหรือมหากุศลญาณวิปปยุตตจิตจะมีอารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใดใน ๔๐ อารมณ์ ก็ไม่ใช่สมถภาวนา เช่น เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ท่องพุทโธโดยไม่ได้ระลึกถึงพระพุทธคุณประการต่างๆ ก็ไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ผู้ที่เห็นซากศพแล้วตกใจกลัวก็เป็นโทสมูลจิต ไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ผู้ที่พยายามจดจ้องที่ลมหายใจโดยไม่รู้ว่าเพราะอะไรจิตจึงจะสงบได้ ก็ไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์ กสิณอื่นๆ และอารมณ์อื่นๆ ของสมถภาวนานั้น มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตต้องพิจารณาโดยถูกต้อง จิตจึงสงบได้ โดยนัยเดียวกับการเจริญปถวีกสิณ
เมื่อผู้บรรลุปฐมฌานกุศลเห็นโทษของวิตกเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่จรดในอารมณ์ว่า ปกติย่อมจรดในอารมณ์ที่เป็นกามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงยังใกล้ชิดต่ออกุศลธรรมทั้งหลาย ถ้าสามารถให้ฌานจิตนั้นปราศจากวิตกเจตสิก ให้มีแต่วิจารเจตสิก ปีติ สุข เอกัคคตา ก็ย่อมสงบประณีตกว่า จึงเพียรระลึกถึงอารมณ์ของปฐมฌานกุศลที่บรรลุแล้ว และพยายามประคองให้จิตสงบมั่นคงที่อารมณ์ของปฐมฌาน โดยไม่ให้วิตกเจตสิตต้องจรดในอารมณ์นั้นเลย ซึ่งจะสําเร็จได้เมื่อถึงพร้อมด้วย วสี ๕ คือ ความชํานาญแคล่วคล่อง ในฌาน ๕ ประการก่อน วสี ๕ คือ (40)
๑. อาวัชชนวสี ความชํานาญในการนึกถึงปฐมฌานได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา
๒. สมาปัชชนวสี ความชํานาญในการเข้าฌาน คือ ให้ฌานจิตเกิดได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา
๓. อธิษฐานวสี ความชํานาญในการให้ฌานจิตเกิดดับสืบต่อนานมากน้อย ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา
๔. วุฏฐานวสี ความชํานาญในการออกจากฌานได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา
๕. ปัจจเวกขณวสี ความชํานาญในการนึกถึงองค์ฌานแต่ละองค์ได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา
การที่จะบรรลุฌานจิตขั้นสูงขึ้นไปได้นั้น ต้องเห็นโทษขององค์ฌานขั้นต้นๆ แล้วละองค์ฌานได้ตามลําดับ คือ
ทุติยฌาน ละวิตก จึงประกอบด้วยองค์ฌาน ๔ คือวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน ละวิจาร จึงประกอบด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน ละปีติ จึงประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
ปัญจมฌาน ละสุข จึงประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
การละองค์ฌานไปที่ละองค์นั้นเป็นฌานโดยปัญจกนัย คือ โดยนัยของฌาน ๕
สําหรับผู้ที่ปัญญาสามารถละวิตกและวิจารได้พร้อมกันนั้น เป็นฌานโดยจตุกกนัย คือ โดยนัยของฌาน ๔ ดังนี้
ทุติยฌาน ละวิตก วิจาร จึงประกอบด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน ละปีติ จึงประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน ละสุข จึงประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ คืออุเบกขา เอกัคคตา
ทุติยฌานโดยจตุกกนัย ก็คือ ตติยฌานโดยปัญจกนัย
ตติยฌานโดยจตุกกนัย ก็คือ จตุตถฌานโดยปัญจกนัย
จตุตถฌานโดยจตุกกนัย ก็คือ ปัญจมฌานโดยปัญจกนัย
ถ้าขาดวสีแล้ว การละองค์ฌานขั้นต้นๆ เพื่อบรรลุฌานขั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นไปไม่ได้เลย
เมื่อฌานวิถีจิตดับแล้ว ปัจจเวกขณวิถีต้องเกิดต่อทุกครั้ง
การระงับกิเลสด้วยการเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ฉะนั้น ฌานจิตจึงเสื่อม คือเกิดช้า ไม่ชํานาญคล่องแคล่วเหมือนเดิม หรืออาจจะไม่เกิดอีกเลยก็ได้ ฉะนั้น ที่ฌานจิตจะเกิดได้คล่องแคล่วจึงต้องมีวสีทุกๆ ฌานอยู่เสมอ (ความละเอียดมีในวิสุทธิมรรค)
อารมณ์ของสมถภาวนา ๔๐ อารมณ์นั้น บางอารมณ์จิตก็สงบได้ไม่ถึงอุปจารสมาธิ บางอารมณ์จิตก็สงบได้ถึงอุปจารสมาธิ บางอารมณ์ จิตก็สงบได้ถึงปฐมฌานเท่านั้น บางอารมณ์ก็สงบได้ถึงจตุตถฌานโดยปัญจกนัย บางอารมณ์ก็สงบได้ถึงปัญจมฌาน และบางอารมณ์ก็เป็นอารมณ์เฉพาะปัญจมฌานเท่านั้น ดังนี้คือ อนุสสติ ๖ ได้แก่ พุทธานุสสติ ๑ ธัมมานุสสติ ๑ สังฆานุสสติ ๑ จาคานุสสติ ๑ สีลานุสสติ ๑ เทวตานุสสติ ๑ ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลระลึกถึงอนุสสติ ๖ นี้ จิตสงบได้ไม่ถึงอุปจารสมาธิ สําหรับพระอริยบุคคลนั้นอาจสงบได้ถึงอุปจารสมาธิเท่านั้น ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ
อนุสสติ ๒ คือ อุปสมานุสสติ การระลึกถึงพระนิพพานและ มรณานุสสติ การระลึกถึงความตายนั้น มรณานุสสติสงบได้ถึงอุปจารสมาธิเท่านั้น แต่อุปสมานุสสติสงบได้ถึงอุปจารสมาธิเฉพาะผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเท่านั้น
อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ คือ การระลึกถึงความปฏิกูลของอาหาร จิตสงบได้ถึงอุปจารสมาธิ
จตุธาตุววัฏฐาน ๑ คือ การระลึกถึง ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่กาย จิตสงบได้ถึงอุปจารสมาธิ
อสุภ ๑๐ คือ การระลึกถึงสภาพของซากศพ ๑๐ อย่าง จิตสงบได้ถึงปฐมฌาน
กายคตาสติ (อนุสสติ) ๑ คือ การระลึกถึงความไม่น่าใคร่ของส่วนต่างๆ คือ อาการ ๓๒ ของกายแต่ละส่วน เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น จิตสามารถสงบได้ถึงปฐมฌาน
อานาปานสติ (อนุสสติ) ๑ การระลึกถึงลมหายใจ จิตสงบได้ถึงปัญจมฌาน
กสิณ ๑๐ จิตสงบได้ถึงปัญจมฌาน
พรหมวิหาร ๓ คือ เมตตา ๑ กรุณา ๑ มุทิตา ๑ จิตสงบได้ถึงจตุตถฌานโดยปัญจกนัย (ตติยฌานโดยจตุกกนัย)
พรหมวิหาร ๑ คือ อุเบกขาพรหมวิหาร เมื่อจิตสงบจากพรหมวิหาร ๓ ถึงจตุตถฌานแล้ว จึงเจริญอุเบกขาพรหมวิหารต่อไปได้ ในบรรดาพรหมวิหาร ๔ อุเบกขาพรหมวิหารจึงเป็นอารมณ์ของเฉพาะปัญจมฌาน ฌานเดียวเท่านั้น
อรูปฌาน ๔ คือ ปัญจมฌานที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ผู้ที่จะเจริญอรูปฌานได้นั้น ต้องบรรลุรูปปัญจมฌานก่อน เมื่อเห็นโทษของรูปปัญจมฌานว่าถึงแม้จะเป็นรูปฌานขั้นสูงสุด คือ ขั้นรูปปัญจมฌานก็จริง แต่เมื่อยังมีรูปเป็นอารมณ์อยู่ ก็ยังใกล้ชิด หวั่นไหวต่อการที่จะน้อมไปสู่รูปที่เป็นกามอารมณ์ได้ง่าย ควรที่จะเพิกรูปที่เป็นอารมณ์ แล้วน้อมจิตไปสู่อารมณ์ที่ไม่ใช่รูป ซึ่งสงบประณีตกว่ารูป เมื่อเพิกรูปและระลึกถึงความไม่มีที่สุดของอรูปเป็นอารมณ์ จนอัปปนาสมาธิเกิด ก็เป็นอรูปฌานกุศลโดยวิถีจิตเกิดดับสืบต่อกันทางมโนทวารเช่นเดียวกับฌานวิถี และต้องประกอบด้วยวสี ๕ จึงจะบรรลุถึงอรูปฌานขั้นสูงขึ้นๆ ได้
อรูปฌานมี ๔ ขั้น เป็นปัญจมฌานทั้ง ๔ ขั้น แต่ต่างกันที่อารมณ์ละเอียดขึ้นเป็นลําดับขั้น คือ
อรูปฌานที่ ๑ อากาสานัญจายตนฌานจิต มีอากาศซึ่งไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์
อรูปฌานที่ ๒ วิญญาณัญจายตนฌานจิต มีอากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์ เพราะพิจารณาเห็นว่าอากาศซึ่งไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์นั้น ก็ยังไม่ละเอียดประณีตเท่ากับอากาสานัญจายตนจิตซึ่งมีอากาศที่ไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ฉะนั้น จึงล่วงอากาศที่ไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ แล้วน้อมไปสู่อากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์ จนอัปปนาสมาธิเกิดขึ้น เป็นอรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌานจิต ซึ่งเป็นอรูปฌานจิตที่มีวิญญาณ คือ อากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์
อรูปฌานที่ ๓ อากิญจัญญายตนฌานจิต มีภาวะที่ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ เพราะเป็นภาวะที่ไม่มีอากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์แล้ว เมื่อพิจารณาเห็นว่าเมื่อยังมีอากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์อยู่ก็ยังไม่สงบ ไม่ละเอียดประณีตเท่ากับไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ จึงล่วงอากาสานัญจายตนจิต ซึ่งเป็นอารมณ์ แล้วน้อมไปสู่ภาวะที่ไม่มีอากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์ จนอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นเป็นอรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌานจิต มีภาวะที่ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ เพราะไม่มีอากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์
อรูปฌานที่ ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต มีอากิญจัญญายตนฌานจิตเป็นอารมณ์ เมื่อพิจารณาเห็นว่าอากิญจัญญายตนฌานจิตซึ่งมีภาวะที่ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์นั้นเป็นสภาวะที่ละเอียดมาก จึงน้อมไปสู่ภาวะของอากิญจัญญายตนจิตที่ละเอียดนั้น จนอัปปนาสมาธิจิตเกิดขึ้นเป็นอรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต เป็นสภาพที่สัญญาพร้อมทั้งสัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันนั้นละเอียด จนกล่าวไม่ได้ว่ามีหรือไม่มี เพราะไม่ได้กระทํากิจของสัมปยุตตธรรมทั้งหลายอย่างเต็มที่ จึงกล่าวไม่ได้ว่ามีหรือไม่มีสัมปยุตตธรรมนั้นๆ อรูปฌานที่ ๔ จึงชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือ มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
การเจริญสมถภาวนาจนจิตสงบจากอกุศลธรรมทั้งหลายถึงขั้นอรูปฌานนั้นเป็นจิตที่มีกําลัง สามารถฝึกให้เป็นประโยชน์ตามความประสงค์ได้ เช่น ระลึกชาติได้ อธิษฐานให้เกิดทิพจักขุเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ไกลหรือมีสิ่งกําบังได้ อธิษฐานให้เกิดโสตทิพ ได้ยินเสียงต่างๆ ทั้งที่ใกล้ที่ไกลได้ กระทําอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เช่น เดินบนน้ำ ไปในดิน เหาะไปในอากาศและเนรมิตสิ่งต่างๆ ได้ เป็นต้น แต่การจะฝึกอบรมให้เกิดคุณวิเศษแต่ละอย่างนี้ จะต้องเป็นผู้สามารถในกสิณทุกกสิณ และฌานสมาบัติทั้ง ๘ (รูปฌาน ๔ โดยจตุกกนัยและอรูปฌาน ๔) อย่าง ยอดเยี่ยม และต้องฝึกจิตโดยอาการ ๑๔ คือ (41)
๑. กสิณานุโลมโต เข้าฌานตามลําดับกสิณ
๒. กสิณปฏิโลมโต เข้าฌานย้อนกสิณ
๓. กสิณานุโลมปฏิโลมโต เข้าฌานตามลําดับกสิณ แล้วย้อนกสิณ
๔. ฌานานุโลมโต เข้าฌานตามลําดับฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
๕. ฌานปฏิโลมโต เข้าฌานโดยย้อนฌานตามลําดับ ตั้งแต่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานถึงปฐมฌาน
๖. ฌานานุโลมปฏิโลมโต เข้าฌานตามลําดับฌาน แล้วย้อนฌานตามลําดับ
๗. ฌานานุกฺกนฺตกโต เข้าฌานโดยข้ามฌาน แต่ไม่ข้ามกสิณ
๘. กสิณุกฺกนฺตกโต เข้าฌานโดยข้ามกสิณ แต่ไม่ข้ามฌาน
๙. ฌานกสิณุกฺกนฺตกโต เข้าฌานโดยข้ามฌาน และข้ามกสิณ
๑๐. องฺคสงฺกนฺติโต เข้าฌานโดยก้าวล่วงองค์
๑๑. อารมฺมณสงฺกนฺติโต เข้าฌานโดยก้าวล่วงอารมณ์
๑๒. องฺคารมฺมณสงฺกนฺติโต เข้าฌานโดยก้าวล่วงทั้งองค์และทั้งอารมณ์
๑๓. องฺคววฏฺฐาปนโต เข้าฌานโดยกําหนดองค์ของฌานแต่ละฌาน
๑๔. อารมฺมณววฏฺฐาปนโต เข้าฌานโดยกําหนดอารมณ์ของฌานแต่ละฌาน
การกระทําใดๆ หรือพฤติกรรมใดๆ ที่ดูคล้ายคุณวิเศษทั้ง หลายนั้น หาใช่คุณวิเศษที่แท้จริงไม่ เมื่อเหตุไม่สมควรแก่ผล
ข้อความในวิสุทธิมรรคแสดงว่า ผู้เริ่มบําเพ็ญเพียรยังไม่ได้ฝึกจิตด้วยอาการ ๑๔ เหล่านี้ จักยังอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ให้สําเร็จได้นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้เลย
แม้ในการบริกัมม์กสิณ คือ การเริ่มบําเพ็ญสมถภาวนานั้น ในร้อยคนหรือในพันคน ย่อมสามารถจะกระทําสําเร็จได้เพียงคนเดียว และเมื่อเจริญสมถภาวนาคือบริกัมม์กสิณไปแล้ว ที่อุคคหนิมิตจะเกิดได้ในร้อยคนหรือพันคนนั้น ย่อมสามารถเพียงคนเดียว เมื่ออุคคหนิมิตเกิดแล้ว การรักษานิมิตไว้ และการประคับประคองจิตให้สงบมั่นคงขึ้นจนปฏิภาคนิมิตเกิดแล้วบรรลุอัปปนาสมาธินั้น ในร้อยคนหรือพันคน ย่อมสามารถเพียงคนเดียว ในบรรดาผู้ที่บรรลุฌานสมาบัติ ๘ แล้วนั้น ในร้อยคนพันคนจะฝึกจิตโดยอาการ ๑๔ นี้ได้เพียงคนเดียว ในบรรดาผู้ที่ฝึกจิตโดยอาการ ๑๔ ได้แล้ว ในร้อยคนหรือพันคนจะสามารถแสดงฤทธิ์ได้เพียงคนเดียว และในบรรดาผู้แสดงฤทธิ์ได้ร้อยคนหรือพันคนนั้น ผู้ที่จะแสดงฤทธิ์ได้อย่างฉับพลันก็จะสามารถสักคนเดียว
แม้ในเรื่องการระลึกชาติก็นัยเดียวกัน ใครเลยจะได้อุปจารสมาธิ เมื่อไม่ใช่จิตที่สงบด้วยมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ใครเลยจะได้อัปปนาสมาธิซึ่งเป็นปฐมฌาน ใครเลยจะได้ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน และอรูปฌาน ใครเลยจะฝึกอบรมระลึกชาติ โดยฝึกระลึกย้อนจากขณะนี้ไปทุกๆ ขณะจนถึงเช้าวันนี้ ถอยไปจนถึงค่ำคืนวันก่อน เช้าวันก่อน ค่อยๆ ระลึกถอยไปๆ ด้วยจิตที่สงบมั่นคงจนถึงปฏิสนธิ แล้วจึงจะถึงขณะสุดท้ายวันสุดท้ายของชาติก่อน แล้วจึงถอยไปๆ ตามลําดับด้วยกําลังของฌานจิตที่ฝึกอบรมให้คล่องแคล่วเป็นกําลัง เมื่ออธิษฐานให้มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเกิดระลึกได้สําเร็จจากขณะหนึ่ง แล้วถอยไปอีกขณะหนึ่งๆ
ผู้ที่ศึกษาเข้าใจเหตุและผลของคุณวิเศษทั้งหลายโดยละเอียดจึงรู้ได้ว่า พฤติการณ์ใดเป็นคุณวิเศษที่แท้จริง และพฤติการณ์ใดไม่ใช่คุณวิเศษที่แท้จริง
การเจริญสมถภาวนาไม่ใช่การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง เมื่อฌานจิตไม่เสื่อม และฌานวิถีจิตเกิดก่อนจุติจิต เป็นกัมมปัจจัยให้ฌานวิบากจิตปฏิสนธิในพรหมภูมิขั้นต่างๆ แต่เมื่อหมดอายุของพรหมภูมินั้นๆ แล้วก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ ยินดี พอใจ ติดข้องในตัวตน ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ การเคยเจริญสมถภาวนาสะสมมาบ้างในชาติก่อนๆ ในสังสารวัฏฏ์ อาจจะทําให้บางท่านมีลางสังหรณ์ เป็นต้น ส่วนผู้ที่ทําสมาธิแล้วเห็นสิ่งต่างๆ เห็นเหตุการณ์ต่างๆ นั้น เมื่อไม่ใช่การอบรมเจริญสมถภาวนา ด้วยมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตที่สงบแนบแน่นมั่นคงในอารมณ์ตามลําดับจนเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ ซึ่งย่อมจะเป็นไปได้ยากยิ่งนั้น ก็ไม่ใช่คุณวิเศษที่เป็นอุตตริมนุสสธรรม คือ ธรรมที่ยิ่งกว่าปกติของมนุษย์ทั้งหลาย ฉะนั้น เมื่อทำสมาธิแล้วเห็นสิ่งต่างๆ บ้าง เห็นเหตุการณ์ต่างๆ เป็นต้นนั้น จึงเป็นผลเล็กๆ น้อยๆ ผิดบ้างถูกบ้างของสมาธิซึ่งไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา
การเจริญสมถภาวนาที่จะบรรลุถึงแม้อุปจารสมาธิก็แสนยาก เพราะปกติเมื่ออารมณ์ใดกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ย่อมคล้อยตามอารมณ์นั้นด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง กุศลที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในภาวนาบ้างนั้น ในวันหนึ่งๆ มีเป็นส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับอกุศลที่เกิดขึ้นรวดเร็วเป็นประจําทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และการเจริญสมถภาวนานั้นก็ดับกิเลสไม่ได้ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นครอบงําจิตใจขณะใด สมถภาวนาที่เพียรอบรมมาจนถึงขั้นสามารถแสดงอิทธิปฏิหาริย์ต่างๆ ได้ ก็เสื่อมหมดสิ้นไป
ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคก็มีผู้บําเพ็ญเพียรเจริญ สมถภาวนาจนบรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และฝึกอบรมจิตจนอธิษฐานให้มีตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ และสามารถกระทําอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แต่แม้กระนั้นท่านเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อไม่ได้อบรมเจริญเหตุ คือวิปัสสนาภาวนาจนสมบูรณ์ที่จะเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ และบางท่านก็ยังเห็นผิดยึดมั่นในการปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่หนทางให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงพระธรรมแล้ว ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยสาวกที่ไม่บรรลุฌานจิต ก็มีมากกว่าพระอริยสาวก ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมพร้อมด้วยองค์ของฌานขั้นต่างๆ (42)
ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าการเจริญสมถภาวนาที่ถูกต้องนั้น เป็นสิ่งกระทําได้ยากเพียงใด
(37) อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ภัพพสูตร ข้อ ๓๕๗ และ อาวรณตาสูตร ข้อ ๓๕๘
(38) วิสุทธิมรรค ปถวีกสิณนิทเทส
(39) อภิธัมมัตถวิภาวินี ปริจเฉทที่ ๒ วิเคราะห์องค์ฌาน
(40) ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๒๕
(41) วิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส อิทธิวิธนิทเทส
(42) สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วังคีสสังยุตต์ ปวารณาสูตร ข้อ ๗๔๕
- พระพุทธศาสนามีองค์ ๙
- ปรมัตถธรรมสังเขป
- จิตตสังเขป บทที่ ๑ ความสำคัญของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๒ คำอธิบายจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๓ คำอธิบายจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๔ วิถีจิต, ทวาร, วัตถุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๕ ชาติของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๖ จิต ๘๙ จำแนกเป็น ๔ ชาติ, กิจของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๗ อรรถของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๘ อรรถของจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๙ ภูมิของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๐ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๑ สัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๒ คำอธิบาย อสังขาริก และ สสังขาริก
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๓ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็นเหตุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๔ จิตต่างกันโดยนัยของโสภณะและอโสภณะ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๕ จิตต่างกันโดยนัยของโลกิยจิตและโลกุตตรจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๖ อรรถของจิตประการที่ ๕ ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร
- บัญญัติ
- ภาคผนวก จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท
- ภาคผนวก เจตสิก ๕๒ ประเภท
- ภาคผนวก รูป ๒๔ ประเภท
- สมถภาวนา
- วิปัสสนาภาวนา
- แนวทางเจริญวิปัสสนา