วิปัสสนาภาวนา

กิเลสมี ๓ ขั้น คือ อนุสัยกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส วีติกกมกิเลส

วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ ทําให้ล่วงเป็นทุจริตกรรม ทางกาย วาจา วิรัติ คือ ละเว้นวีติกกมกิเลสได้ด้วยศีล

ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต แต่ไม่ถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรม ระงับปริยุฏฐานกิเลสได้ชั่วคราว เป็นวิกขัมภณปหานด้วยฌานกุศลจิต

อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด เมื่อยังไม่ได้ดับกิเลส อนุสัยกิเลสก็นอนเนื่องอยู่ในจิตที่เกิดดับสืบต่อกัน เป็นเชื้อเป็นปัจจัยให้เกิดปริยุฏฐานกิเลส กิเลสทั้งหลายจะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทปหาน ไม่เกิดอีกเลย เมื่อโลกุตตรมัคคจิตรู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยประจักษ์แจ้งสภาพของพระนิพพานตามลําดับขั้นของมัคคจิต ซึ่งปหานกิเลสเป็นสมุจเฉท ตามลําดับขั้นของมัคคจิตนั้นๆ

ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคนั้น มีผู้ที่รักษาศีล วิรัติทุจริต และเจริญสมถภาวนาจนถึงอรูปฌานขั้นสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ระงับกิเลสได้ชั่วคราวเป็นวิกขัมภนปหาน แต่ไม่มีใครสามารถดับอนุสัยกิเลสได้ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงบําเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์มาแล้ว จึงทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงหนทางปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จึงมีพระอริยสงฆ์สาวกผู้บรรลุอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้เป็นจํานวนมาก สืบต่อมาจนตราบเท่าที่มีผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้ และได้ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดตลอด ๔๕ พรรษา พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วนั้น สุขุม ละเอียด ลึกซึ้ง เพราะทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ทรงตรัสรู้ โดยทรงประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าผู้ใดไม่ศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็ย่อมไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและดับกิเลสได้

การที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตาม ความเป็นจริงได้นั้น ก็จะต้องเข้าใจถูกตั้งแต่เบื้องต้นว่า สภาพธรรมที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงนั้นคืออะไร คือทุกสิ่งที่เป็นของจริง ที่กําลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในขณะนี้เอง แสดงว่าทุกขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะและคิดนึกนั้น ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกวันทุกขณะโดยละเอียด เพื่อให้เห็นโทษของอกุศลธรรมและภัยของสังสารวัฏฏ์ฐ์ ซึ่งเมื่อยังไม่เห็นโทษภัยของสังสารวัฏฏ์ฏ ก็ย่อมไม่เพียรอบรมเจริญวิปัสสนา ซึ่งเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงจนดับกิเลสได้

การเจริญสมถภาวนาและการเจริญวิปัสสนาภาวนาต่างกันที่อารมณ์และระดับขั้นของปัญญา สมถภาวนามีอารมณ์ที่มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตพิจารณาแล้วสงบ จนตั้งมั่นแน่วแน่ที่อารมณ์นั้นอารมณ์เดียว วิปัสสนาภาวนามีปรมัตถอารมณ์ คือ นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วดับไป เป็นอารมณ์ที่มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเริ่มสังเกตพิจารณาทีละอารมณ์บ่อยๆ เนื่องๆ จนรู้ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ผลของสมถภาวนาทําให้เกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมภูมิ ผลของวิปัสสนาภาวนาทําให้ปัญญารู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงและดับกิเลสเป็นสมุจเฉทตามขั้นของโลกุตตรมัคคจิตซึ่งมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จนถึงอรหัตตมัคคจิต ซึ่งดับกิเลสหมดไม่เหลือเลย จึงดับสังสารวัฏฏ์ ไม่เกิดอีกเลย

ผู้อบรมเจริญวิปัสสนาต้องเป็นผู้ตรงที่รู้ว่ายังมีกิเลสครบทุกอย่าง และยังไม่ต้องการดับโลภะให้หมดก่อน เนื่องจากผู้ที่เป็นปุถุชนจะข้ามไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ทันทีไม่ได้ เพราะต้องดับโลภะที่เกิดร่วมกับสักกายทิฏฐิที่ยึดถือสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ให้หมดสิ้น เป็นสมุจเฉทก่อน กิเลสอื่นๆ จึงจะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้ต่อไปตามลําดับ

เมื่อไม่รู้ว่าขณะที่กําลังเห็นไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล จะละกิเลส คือความยินดียินร้าย ฯลฯ ได้อย่างไร ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางปฏิบัติที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้แจ้งสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริงว่า มีหนทางเดียวคือ การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิก) ๑ สัมมาสังกัปปะ (วิตกเจตสิก) ๑ สัมมาวาจา (สัมมาวาจาเจตสิก) ๑ สัมมากัมมันตะ (สัมมากัมมันตเจตสิก) ๑ สัมมาอาชีวะ (สัมมาอาชีวเจตสิก) ๑ สัมมาวายามะ (วิริยเจตสิก) ๑ สัมมาสติ (สติเจตสิก) ๑ สัมมาสมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) ๑

ในเบื้องต้นที่โลกุตตรจิตยังไม่เกิด มรรคมีองค์ ๕ (เว้นวิรตี เพราะวิรตีเกิดทีละดวง วิรตีเจตสิกทั้ง ๓ ดวง จะเกิดพร้อมกันเฉพาะในโลกุตตรจิตเท่านั้น) ย่อมเกิดขึ้นกระทํากิจร่วมกันในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ และปัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมกับสัมมาสติในขณะนั้นก็เริ่มสังเกต พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมนั้นๆ ทีละเล็กละน้อย บ่อยๆ เนื่องๆ จนกว่าจะรู้ชัดว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น จําแนกเป็นสติปัฏฐาน ๔ เมื่อสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ คือ

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ ลักษณะของรูปที่กาย ขณะนั้นเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกที่กําลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ขณะนั้นเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมอื่นๆ ขณะนั้นเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

คําว่า สติปัฏฐาน มี ๓ ความหมาย คือ

๑. สติปัฏฐาน เป็นสติเจตสิกที่เกิดกับญาณสัมปยุตตจิตซึ่งระลึกรู้อารมณ์ที่เป็นสติปัฏฐาน

๒. สติปัฏฐาน เป็นปรมัตถอารมณ์ คือ นามธรรมและรูปธรรมที่สติระลึกรู้ (สติปัฏฐาน ๔)

๓. สติปัฏฐาน ความที่พระศาสดาประพฤติล่วงความยินดียินร้ายในหมู่สาวกผู้ปฏิบัติ ๓ อย่าง คือ ปฏิบัติตาม ไม่ปฏิบัติตาม ปฏิบัติตามบ้างไม่ปฏิบัติตามบ้าง)

อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ ระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในวันหนึ่งๆ นั้นย่อมเกิดยากและไม่บ่อย ตามเหตุคือ อวิชชา โลภะ และอกุศลธรรมทั้งหลายที่สะสมพอกพูนมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ และแม้ในชาตินี้ตั้งแต่เกิดมาแต่ละวัน ผู้ที่เข้าใจเหตุและผลของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงเป็นผู้อดทนอย่างยิ่งต่อการที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม ให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกว่าจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ สังเกต พิจารณา ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏได้ถูกต้องตามที่ได้ฟังและได้เข้าใจแล้ว ธรรมทั้งหลายแม้สติปัฏฐานและอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นอนัตตา ย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัย คือ เมื่อมหากุศลญาณสัมปยุตต์สะสมมาสมควรแล้ว ทําให้ไม่หันเหไปประพฤติปฏิบัติหนทางที่ไม่ใช่การระลึกรู้สังเกต พิจารณาสภาพของนามธรรมและรูปธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่กําลังปรากฏ

ผู้อบรมปัญญาเป็นผู้ตรง เมื่อสติปัฏฐานเกิดก็รู้ว่าต่างกับขณะที่หลงลืมสติ เมื่อสติปัฏฐานเกิดในตอนต้นๆ นั้น ยังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ความเพียรที่เกิดพร้อมสติปัฏฐานที่ระลึกรู้สังเกต พิจารณา ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏจึงเป็นสัมมัปปธาน ๔ คือ สังวรปธาน ๑ ปหานปธาน ๑ ภาวนาปธาน ๑ อนุรักขนาปธาน ๑

สังวรปธาน คือ เพียรเพื่อไม่ให้อกุศลธรรม (ที่ยังไม่เกิด) เกิดขึ้น

ปหานปธาน คือ เพียรเพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

ภาวนาปธาน คือ เพียรเพื่อให้กุศลธรรม (ที่ยังไม่เกิด) เกิดขึ้น

อนุรักขนาปธาน คือ เพียรเพื่อความเจริญมั่นคงบริบูรณ์ ของกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

ความเพียรซึ่งเป็นสัมมัปปธาน ๔ นั้น ย่อมเป็นบาทให้สําเร็จผลร่วมกับสัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกับสภาพธรรมที่เป็น อิทธิบาท ๔ คือ

๑. ฉันทิทธิบาท ได้แก่ ฉันทเจตสิก ความพอใจที่จะสังเกต พิจารณา รู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่กําลังปรากฏตามความเป็นจริง (43) การยังผลสําเร็จให้เกิดขึ้นโดยอาศัยความพอใจนั้น พึงเห็นเช่นกับบุตรอํามาตย์ผู้ไม่ประมาทในการบํารุงพระราชา จึงได้ฐานันดรโดยอาศัยการบํารุงนั้น

๒. วิริยิทธิบาท ได้แก่ วิริยเจตสิก ความเพียรที่จะสังเกต พิจารณา รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กําลังปรากฏ (44) การยังผลสําเร็จให้เกิดขึ้นโดยอาศัยความเพียรนั้นพึงเห็นเช่นกับบุตรอํามาตย์ผู้ยังพระราชาให้พอพระทัย โดยความเป็นผู้กล้าหาญในการงาน แล้วได้ฐานันดร

๓. จิตติทธิบาท ได้แก่ จิต (45) การยังผลสําเร็จให้เกิดขึ้นโดย อาศัยจิตนั้น พึงเห็นเช่นกับบุตรอํามาตย์ผู้ได้ฐานันดรเพราะความถึงด้วยดีแห่งชาติ

๔. วิมังสิทธิบาท ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ไตร่ตรอง สังเกต พิจารณาลักษณะของสภาพธรรม (46) การยังผลสําเร็จให้เกิดขึ้นโดยอาศัยปัญญานั้น พึงเห็นเช่นกับบุตรอํามาตย์ผู้ได้ฐานันดรเพราะอาศัยความรู้

บุตรอํามาตย์เหล่านั้นแม้ทั้งหมดถึงแล้วซึ่งฐานันดรโดยกําลังแห่งภาวะอันเป็นที่อาศัย (โดยความสามารถ) ของตนๆ

การที่อิทธิบาท ๔ เหล่านี้จะดําเนินไปได้ ก็ต้องอาศัยการสะสมเจริญขึ้นของอินทรีย์ ๕ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการนําไปสู่สัมมามรรคหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง อินทรีย์ ๕ คือ

๑. สัทธินทรีย์ ได้แก่ สัทธาเจตสิก เป็นใหญ่ในการมีศรัทธาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏ

๒. วิริยินทรีย์ ได้แก่ วิริยเจตสิก เป็นใหญ่ไม่เกียจคร้าน ไม่ท้อถอยที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏ

๓. สตินทรีย์ ได้แก่ สติเจตสิก เป็นใหญ่ในการไม่หลงลืม ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

๔. สมาธินทรีย์ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก เป็นใหญ่ในการตั้งมั่นในอารมณ์ที่ปรากฏ

๕. ปัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก เป็นใหญ่ในการไตร่ตรอง พิจารณา สังเกตศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

เมื่ออินทรีย์ ๕ เจริญเพิ่มขึ้นเป็นสภาพธรรมที่มีกําลัง ไม่หวั่นไหวในการพิจารณาอารมณ์ใดๆ ที่ปรากฏ ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นพละ ๕ คือ

๑. สัทธาพละ ไม่หวั่นไหวไปด้วยความไม่ศรัทธา

๒. วิริยพละ ไม่หวั่นไหวไปด้วยความท้อถอย

๓. สติพละ ไม่หวั่นไหวในการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่ปรากฏ

๔. สมาธิพละ ไม่หวั่นไหวไปด้วยความฟุ้งซ่านไม่มั่นคง

๕. ปัญญาพละ ไม่หวั่นไหวไปด้วยความไม่รู้

การที่สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ จะเป็นสภาพธรรมที่มีกําลังได้ ก็เมื่อปัญญาเป็นพละ เพราะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วขึ้น จึงไม่หวั่นไหวที่จะระลึกรู้ได้ว่าขณะที่กําลังเห็นเป็นนามธรรมและรูปธรรมอย่างไร ขณะที่กําลังได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ก็โดยนัยเดียวกัน

เมื่อปัญญาที่เกิดพร้อมสติซึ่งระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมสมบูรณ์เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นแล้ว ก็ประกอบด้วย โพชฌงค์ ๗ คือ องค์ธรรมของการตรัสรู้อริยสัจจธรรม โพชฌงค์ ๗ คือ

๑. สติสัมโพชฌงค์

องค์ของการตรัสรู้ คือ สติเจตสิก

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

องค์ของการตรัสรู้ คือ ปัญญาเจตสิก

๓. วิริยสัมโพชฌงค์

องค์ของการตรัสรู้ คือ วิริยเจตสิก

๔. ปีติสัมโพชฌงค์

องค์ของการตรัสรู้ คือ ปีติเจตสิก

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

องค์ของการตรัสรู้ คือ กายปัสสัทธิเจตสิก และจิตตปัสสัทธิเจตสิก

. สมาธิสัมโพชฌงค์

องค์ของการตรัสรู้ คือ เอกัคคตาเจตสิก

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์

องค์ของการตรัสรู้ คือ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก

เมื่อปัญญาอบรมสมบูรณ์พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมประกอบด้วยองค์ของการตรัสรู้ คือ โพชฌงค์ ๗ สมบูรณ์ด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ (สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘) แล้ว โลกุตตรจิตประกอบด้วยมรรคมีองค์๘ ครบทั้ง ๘ องค์ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งสภาพของพระนิพพาน เป็นมัคควิถี ทางมโนทวาร ดังนี้ คือ

ภวังค์ เป็นวิบากญาณสัมปยุตตจิต

ภวังคจลนะ เป็นวิบากญาณสัมปยุตตจิต (ประเภทเดียวกับภวังค์)

ภวังคุปัจเฉทะ เป็นวิบากญาณสัมปยุตตจิต (ประเภทเดียวกับภวังค์)

มโนทวาราวัชชนะ เป็นกิริยาจิต

บริกัมม์ เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต

อุปจาร เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต (ประเภทเดียวกับบริกัมม์)

อนุโลม เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต (ประเภทเดียวกับบริกัมม์)

โคตรภู เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต (ประเภทเดียวกับบริกัมม์)

โสตาปัตติมัคคจิต เป็นโลกุตตรกุศลจิต

(ตั้งแต่บริกัมม์ จนถึง โสตาปัตติมัคคจิต เป็น ชวนวิถีจิต)

โสตาปัตติผลจิต เป็นโลกุตตรวิบากจิต

โสตาปัตติผลจิต เป็นโลกุตตรวิบากจิต

(โสตาปัตติผลจิต 2 ขณะ เป็น ชวนวิถีจิต)

ภวังคจิต เป็นวิบากญาณสัมปยุตตจิต

ถ้าเป็นโลกุตตรฌานจิตขั้นใด ก็เกิดร่วมกับองค์ฌานขั้นนั้น คือ ถ้าเป็นโลกุตตรทุติยฌาน ก็ไม่มีวิตกเจตสิกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นโลกุตตรตติยฌานก็ไม่มีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นโลกุตตรจตุตถฌาน ก็ไม่มีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นโลกุตตรปัญจมฌาน ก็มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วยแทนโสมนัสเวทนา

มัคควิถีจิตของผู้บรรลุอริยสัจจธรรมได้รวดเร็วนั้นเป็นติกขบุคคล ไม่จําเป็นต้องมีบริกัมม์ ฉะนั้น มัคคชวนวิถีจึงมีแต่ อุปจาร ๑ ขณะ อนุโลม ๑ ขณะ โคตรภู ๑ ขณะ มัคคจิต ๑ ขณะ และผลจิตเพิ่มจาก ๒ ขณะเป็น ๓ ขณะ รวมเป็นชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

เมื่อมัคควิถีจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดสืบต่อหลายขณะแล้ว ปัจจเวกขณะวิถีก็เกิดขึ้นพิจารณามัคคจิตวาระ ๑ ผลจิตวาระ ๑ พระนิพพานวาระ ๑ กิเลสที่ดับแล้ววาระ ๑ กิเลสที่ยังเหลือวาระ ๑ รวมเป็นปัจจเวกขณะวิถี ๕ วาระ เมื่อมัคควิถีดับไปแล้ว ปัจจเวกขณะวิถีต้องเกิดต่อทุกครั้ง ด้วยเหตุนี้พระอริยบุคคลจึงไม่เข้าใจผิดในคุณธรรมที่ตนบรรลุ คือ พระโสดาบันบุคคลไม่เข้าใจผิดว่าท่านเป็นพระสกทาคามีบุคคล พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ก็โดยนัยเดียวกัน

การบรรลุอริยสัจจธรรมขั้นต่อไป คือ สกทาคามิมัคควิถี อนาคามิมัคควิถี และอรหัตตมัคควิถีนั้น มหากุศลที่เป็นโคตรภูก็เปลี่ยนเป็นโวทาน (ผ่องแผ้วขึ้น) เพราะท่านข้ามพ้นความเป็นปุถุชนแล้ว

ก่อนที่มัคควิถีจิตจะเกิดขึ้นได้นั้น มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเกิดขึ้น ระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปแต่ละชาติๆ จนกว่าปัญญาที่สังเกตรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะเพิ่มขึ้น เมื่อปัญญาสมบูรณ์มั่นคงถึงขั้นใด มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตที่เป็นวิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามลําดับขั้นของวิปัสสนาญาณทางมโนทวาร คือ

วิปัสสนาญาณที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ

มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่แยกขาดจากกันที่ละอารมณ์ โลกปรากฏสภาพที่สูญเปล่าจากตัวตน ขณะนั้นไม่มีอัตตสัญญาที่เคยทรงจําสภาพธรรมรวมกันเป็นโลก เมื่อสภาพธรรมขณะนั้นปรากฏลักษณะที่เป็นอนัตตา สัญญาจําลักษณะที่เป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นๆ จึงจะเริ่มมีได้ และสติปัฏฐานก็จะต้องระลึกถึงอนัตตสัญญาที่ได้ประจักษ์แล้ว เมื่อพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอื่นๆ ต่อไป เพราะถ้าไม่ระลึกถึงอนัตตสัญญาที่ได้ประจักษ์แล้วในนามรูปปริจเฉทญาณเพิ่มขึ้นอีก อัตตสัญญาที่สะสมพอกพูนมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ฏ ก็หมดสิ้นไปไม่ได้

วิปัสสนาญาณที่ ๒ ปัจจยปริคคหญาณ

เมื่อวิปัสสนาญาณดับไปหมดแล้ว โลกก็ปรากฏรวมกันเหมือนเดิม ผู้เจริญสติปัฏฐานจึงรู้ชัดความต่างกันของขณะที่วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และขณะที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เมื่อวิปัสสนาญาณดับหมดแล้ว ความไม่รู้ ความสงสัยในนามธรรมและรูปธรรมอื่นๆ ก็เกิดอีกได้ เพราะความไม่รู้และความสงสัยยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาตปริญญา คือ ญาณที่รู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณเท่านั้น ในขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณนั้น ไม่มีความไม่รู้และความสงสัยลักษณะธรรมที่ปรากฏ นามรูปปริจเฉทญาณเป็นวิปัสสนาขั้นต้นที่นําทางไปสู่วิปัสสนาญาณขั้นต่อๆ ไป ที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น

เมื่อสติปัฏฐานระลึกรู้และพิจารณาสังเกตลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏต่อๆ ไปอีก ย่อมพิจารณารู้ขณะที่อารมณ์แต่ละอารมณ์ปรากฏว่า สภาพรู้แต่ละอย่างนั้นย่อมเกิดขึ้นตามปัจจัย คือ อารมณ์ ถ้าอารมณ์นั้นๆ ไม่ปรากฏ นามธรรมที่รู้อารมณ์ก็เกิดไม่ได้ การปรากฏของแต่ละอารมณ์ย่อมทําให้ปัญญาเห็นสภาพการเป็นปัจจัยของธรรมที่กําลังปรากฏ ทําให้รู้ลักษณะที่เป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย ค่อยๆ คลายการเพ่งเล็งติดตามอารมณ์ด้วยความเป็นตัวตนลง เมื่อมรรคมีองค์ ๘ (ปกติมีองค์ ๕) ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ เจริญขึ้นสมบูรณ์ขณะใด ก็ปรุงแต่งให้วิปัสสนาญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณเกิดขึ้น ประจักษ์การเกิดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรมตามปัจจัยต่างๆ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น เช่น ประจักษ์การเกิดขึ้นของนามได้ยินหรือเสียง ประจักษ์การเกิดขึ้นของสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา หรือนามคิดนึก ซึ่งปรากฏโดยสภาพที่แยกขาดจากกันทีละอารมณ์ โดยลักษณะสูญเปล่าจากตัวตน เป็นต้น

วิปัสสนาญาณประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามปกติ แต่เป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทางมโนทวาร ซึ่งแยกขาดลักษณะของแต่ละอารมณ์โดยลักษณะที่ว่างเปล่าจากสิ่งอื่นๆ และตัวตน เมื่อวิปัสสนาญาณดับหมดแล้ว โลกก็ปรากฏรวมกันเหมือนเดิม

วิปัสสนาญาณที่ ๓ สัมมสนญาณ

สัมมสนญาณเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แม้จะพิจารณารู้ว่านามธรรมและรูปธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่การเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรมก็ไม่ปรากฏ หรือแม้ในวิปัสสนาญาณที่ ๑ และที่ ๒ การประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็เป็นการประจักษ์เฉพาะลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทีละอย่างเท่านั้น

วิปัสสนาญาณที่ ๑, ๒, ๓ เป็นตรุณวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาญาณขั้นเริ่มแรก จึงเป็นวิปัสสนาที่ยังอ่อน ไม่ใช่พลววิปัสสนา คือวิปัสสนาที่มีกําลัง ที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้นๆ ตรุณวิปัสสนายังมีการตรึกถึงนามธรรมและรูปธรรมที่กําลังประจักษ์แจ้ง แม้โดยอาการที่ว่างเปล่าจากโลกที่เคยรวมกัน

เมื่อยังมีการตรึกถึงนามธรรมและรูปธรรมที่กําลังประจักษ์จึงชื่อว่า จินตาญาณ ซึ่งทําให้บางท่านเข้าใจว่าวิปัสสนาญาณทั้ง ๓ นี้ คือ ขณะที่กําลังระลึก สังเกตรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และเข้าใจชัดขึ้น แต่ตราบใดที่วิปัสสนาญาณยังไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมไม่สามารถรู้ได้ว่า วิปัสสนาญาณที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารนั้น จะเกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตา ณ สถานที่ใด ขณะใด และจะมีนามธรรมใดและรูปธรรมใดปรากฏเป็น อารมณ์กี่อารมณ์บ้าง

บางท่านเข้าใจว่า ขณะที่กําลังระลึกรู้ พิจารณาสังเกตรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และคิดว่ารู้ชัดแล้วนั้น เป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ที่เข้าใจอย่างนี้ เพราะยังไม่รู้ว่า วิปัสสนาญาณต้องเกิดขึ้น ปรากฏโดยความเป็นอนัตตา เช่นเดียวกับนามธรรมอื่นๆ และการประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมสืบต่อกันทางมโนทวาร โดยลักษณะที่ทวารอื่นเสมือนถูกมโนทวารปิดบังไว้ โดยนัยตรงกันข้ามกับขณะที่วิปัสสนาญาณไม่เกิด ซึ่งแม้มโนทวารวิถีจิตเกิดคั่นปัญจทวารวิถีจิตทุกวาระ แต่มโนทวารวิถีจิตก็ไม่ปรากฏ เพราะอารมณ์ของปัญจทวารวิถีจิตปิดบังไว้

บางท่านคิดว่าขณะที่พิจารณารู้ว่านามนี้เกิดจากรูปนี้ รูปนั้นเกิดจากนามนั้นจนเข้าใจแล้วนั้น เป็นวิปัสสนาญาณ คือ ปัจจยปริคคหญาณ แต่เมื่อนามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด วิปัสสนาญาณอื่นๆ ก็เกิดไม่ได้ และเมื่อนามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว จะไม่เข้าใจผิดเลยว่า ขณะที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณนั้นเป็นวิปัสสนาญาณ ผู้ที่วิปัสสนาญาณเกิดแล้ว ย่อมรู้ความเป็นอนัตตาของวิปัสสนาญาณว่า วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นตามที่มรรคมีองค์ ๘ (ปกติมีองค์ ๕) ปรุงแต่งไปจนถึงความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณนั้นๆ วิปัสสนาญาณนั้นๆ จึงเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ฉะนั้น จึงเป็นผู้อบรมเจริญเหตุ คือ สติปัฏฐาน ระลึกศึกษา พิจารณา สังเกต รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเป็นปกติต่อไปเรื่อยๆ เพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น

บางท่านคิดว่า เมื่อสัมมสนญาณเกิดขึ้นนั้น จะเห็นนามธรรมเกิดขึ้นและดับไปเป็นดวงกลมๆ ต่อๆ กัน นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม เมื่อไม่รู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้เพราะไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละประเภท ก็คิดว่านามธรรมที่เกิดดับนั้นมีลักษณะเหมือนกับรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ที่ใจร้อนอยากจะให้วิปัสสนาญาณเกิดเร็วๆ นั้น ย่อมพยายามทําอย่างอื่นแทนการระลึก พิจารณา สังเกตลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง แต่ไม่มีทางจะเร่งรัดปัญญาได้เลย เหตุที่จะอบรมปัญญาให้ค่อยๆ เจริญขึ้นได้นั้น มีหนทางเดียว คือ สติปัฏฐานตามปกติในชีวิตประจําวันเท่านั้น ถ้าทําอย่างอื่นที่ผิดไปจากนี้ ก็แน่นอนที่ผลต้องผิดไปตามเหตุที่ผิดด้วย การปฏิบัติผิดนั้น เกิดจากการหวังผลอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เข้าใจหนทางปฏิบัติที่ถูก โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดจึงเป็นมิจฉามรรคที่นําไปสู่มิจฉาวิมุตติ คือ การพ้นอย่างผิดๆ เพราะไม่ใช่การพ้นจากกิเลสอย่างถูกต้อง แต่ก็เข้าใจผิดว่าพ้นจากกิเลสแล้ว

วิปัสสนาญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ

แม้ว่าวิปัสสนาญาณที่ ๓ จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็วแล้วก็ตาม แม้กระนั้นปัญญาก็ยังไม่ละเอียดพอที่จะละคลายหรือเห็นโทษของการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม เพราะการเกิดขึ้นสืบต่อการดับไปนั้นเร็วจนปิดบังโทษของการเกิดดับ ปัญญาจะต้องสมบูรณ์ถึงขั้นต่อไป ที่แทงตลอดการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละประเภทชัดเจนยิ่งขึ้นอีก ซึ่งไม่มีใครจะพากเพียรทําอย่างอื่นได้ นอกจากพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่อไปโดยไม่หวั่นไหวโดยทั่ว ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมนามธรรมประเภทใด กุศลธรรม อกุศลธรรมขั้นใด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๔ ซึ่งเป็นอุทยัพพยญาณนั้น ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละประเภทอย่างชัดเจนยิ่ง ซึ่งอุทยัพพยญาณจะเกิดขึ้นได้เมื่อตีรณปริญญา คือปัญญาที่พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ทั่วทั้ง ๖ ทางถึงความสมบูรณ์แล้ว ตราบใดที่สติปัฏฐานยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ชัดเจนทั่วทั้ง ๖ ทวาร อุทยัพพยญาณก็ไม่มีปัจจัยที่จะเกิดได้เลย

ผู้ที่อบรมเจริญอริยมรรค คือ สัมมามรรคที่ถูกต้อง จึงรู้ว่าไม่มีทางที่จะรู้แจ้งสภาพของพระนิพพานซึ่งเป็นธรรมที่ดับกิเลสได้เลย ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงก่อน การที่จะรู้แจ้งสภาพของพระนิพพาน โดยปัญญาไม่พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทวารโดยทั่วโดยละเอียดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วจริงๆ ก็ไม่รู้ว่านามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะนั้นต่างกันอย่างไร เมื่อไม่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ต่างกันทั้ง ๖ ทวาร ก็ประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้ เมื่อไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ก็จะดับความไม่รู้ ความสงสัย และความเห็นผิดในสภาพธรรมไม่ได้เลย

วิปัสสนาญาณที่ ๕ ภังคญาณ

แม้ว่าอุทยัพพยญาณจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของ นามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะอย่างชัดเจนแล้ว แต่ความยินดีพอใจ ยึดมั่นในสภาพธรรมทั้งหลายที่สะสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ก็ยังเหนียวแน่นอยู่ แสดงให้เห็นมูลรากที่ฝังแน่นของอวิชชาและตัณหาในความเป็นตัวตน ซึ่งปัญญาจะต้องอบรมเพิ่มขึ้นอีก โดยสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะที่ได้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏแก่อุทยัพพยญาณแล้ว และจะต้องใฝ่ใจพิจารณาการดับไปของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ เพื่อปัญญาจะได้เห็นความไม่มีสาระของนามธรรมและรูปธรรมที่ดับไปๆ เมื่อสติปัฏฐานเจริญขึ้น ปัญญาเพิ่มขึ้นจนมีปัจจัยสมบูรณ์พร้อมเมื่อไหร่ ภังคญาณก็เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งความไม่มีสาระของการเกิดขึ้นและดับไปๆ ของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นปหานปริญญา ซึ่งจะนําไปสู่การเจริญปัญญาขั้นต่อๆ ไป ที่เริ่มจะละคลายความพอใจยึดมั่นในสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล

วิปัสสนาญาณที่ ๖ ภยญาณ

เมื่อภังคญาณดับหมดแล้ว ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานก็รู้ว่ากิเลสทั้งหลายยังมีกําลังเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสม ซึ่งแม้จะใฝ่ใจระลึกถึงลักษณะที่ดับไปๆ ของนามธรรมและรูปธรรม ความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนก็ยังฝังแน่นอยู่ ซึ่งจะละคลายลงได้ก็ด้วยการเห็นภัยของการดับไปๆ ของนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง สติปัฏฐานและปัญญาจึงระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่อๆ ไป ด้วยการพิจารณาเห็นภัยของการดับไปๆ ของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อปัญญาสมบูรณ์พร้อมด้วยปัจจัยขณะใด ภยญาณก็เกิดขึ้นเห็นภัยของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กําลังประจักษ์แจ้งการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น

วิปัสสนาญาณที่ ๗ อาทีนวญาณ

แม้ว่าภยญาณจะเห็นภัยของการเกิดขึ้นและดับไปของ นามธรรมและรูปธรรมแล้ว เมื่อภยญาณดับไปแล้ว ความยินดีพอใจในการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนก็ยังไม่หมดสิ้น ผู้เจริญสติปัฏฐานจึงรู้ว่าจะต้องเห็นโทษของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับเพิ่มขึ้น โดยประการต่างๆ อีก จนกว่าจะคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนลงไปอีก เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ ปัญญาก็เห็นโทษของการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้น จนปัจจัยสมบูรณ์พร้อมที่จะปรุงแต่งให้อาทีนวญาณเกิดขึ้นขณะใด อาทีนวญาณก็เกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งโทษของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับในขณะนั้น

วิปัสสนาญาณที่ ๘ นิพพิทาญาณ

เมื่อประจักษ์แจ้งในโทษของสังขารธรรมทั้งหลาย ดุจเรือนที่ถูกไฟติดทั่วทั้งหลังแล้ว ย่อมคลายความยินดีในภพ โดยความรู้ชัดความหน่ายลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ จึงเป็นนิพพิทาญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๙ มุญจิตุกัมยตาญาณ

เมื่อปัญญารู้ชัดความหน่ายนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเกิดปัญญาที่ต้องการจะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับปรากฏในขณะนั้น ปัญญาที่ต้องการจะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมเป็นมุญจิตุกัมยตาญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๑๐ ปฏิสังขาญาณ

เมื่อเกิดปัญญาที่ต้องการจะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายยิ่งขึ้นแล้ว ปัญญาก็พิจารณาไตรลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายตามสภาวะที่เป็นอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะต่อไปอีก แล้วจึงประจักษ์อนิจจลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดดับๆ นั้น โดยเป็นสภาพที่ไม่แน่นอนเป็นที่สุด เป็นชั่วขณะ ง่อนแง่น แปรผัน ไม่ยั่งยืน ไม่มีสาระ ประจักษ์แจ้งในทุกขลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดดับๆ นั้น โดยสภาพที่บีบคั้นเนืองๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ไม่มีทางแก้ไข เป็นทุกขภัย คือ เป็นสภาพที่ไม่น่าพอใจติดข้อง ประจักษ์แจ้งในอนัตตลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดดับๆ นั้น โดยสภาพที่สูญไป สิ้นไป ไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอํานาจบังคับบัญชาได้ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งไตรลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายนั้นเป็นปฏิสังขาญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๑๑ สังขารุเปกขาญาณ

เมื่อปัญญาประจักษ์แจ้งไตรลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลาย เพิ่มยิ่งขึ้นแล้ว ทําให้สังขารธรรมทั้งหลายที่เคยปรากฏโดยเป็นสภาพที่เที่ยง เป็นสุข และเป็นตัวตน อ่อนกําลังลงจนเกิดความวางเฉยในสังขารธรรมทั้งหลาย เพราะรู้ชัดว่าตราบใดที่ยังไม่ถึงกาลที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของพระนิพพาน โดยมีพระนิพพานปรากฏเป็นอารมณ์ ตราบนั้นก็พิจารณาไตรลักษณะ ลักษณะหนึ่งลักษณะใดเป็นอารมณ์ไปเรื่อยๆ ปัญญาที่รู้ชัดในความวางเฉยในสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดดับปรากฏนั้น เป็นสังขารุเปกขาญาณ สังขารุเปกขาญาณนี้เป็นวิปัสสนาอันบรรลุถึงยอด เป็นวุฏฐานคามินีปัญญา คือ ปัญญาอันเป็นเหตุพาพ้นออกไปจากภาวะแห่งปุถุชนเมื่อมัคควิถีเกิดขึ้น วุฏฐานคามินี เป็นชื่อของญาณ ๓ คือ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ และ โคตรภูญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ

อนุโลมญาณเป็นวิปัสสนาญาณในมัคควิถี ซึ่งอนุโลมต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อนุโลมญาณเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๓ ขณะในมัคควิถี คือ บริกัมม์ ๑ ขณะ อุปจาร ๑ ขณะ อนุโลม ๑ ขณะ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๓ ขณะนี้มีไตรลักษณ์ลักษณะหนึ่งลักษณะใดเป็นอารมณ์ คือ มีอนิจจลักษณะของสังขารธรรมเป็นอารมณ์ หรือมีทุกขลักษณะของสังขารธรรมเป็นอารมณ์ หรือมีอนัตตลักษณะของสังขารธรรมเป็นอารมณ์ ซึ่งอนุโลมต่อการที่จะปล่อยอารมณ์ที่เป็นสังขารธรรม

(47) สําหรับบุคคลที่เป็นติกขบุคคล คือ มีปัญญากล้าบรรลุอริยสัจจธรรมได้เร็ว อนุโลมญาณก็มี ๒ ขณะ คือ เว้นขณะบริกัมม์ ๑ ขณะ และเพิ่มผลจิตเป็น ๓ ขณะ

วิปัสสนาญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

เมื่ออนุโลมญาณ ๓ ขณะ (สําหรับผู้เป็นมันทบุคคล คือ ผู้ บรรลุอริยสัจจธรรมช้ากว่าติกขบุคคล) หรือ ๒ ขณะ (สําหรับผู้เป็นติกขบุคคล) ดับไปแล้ว โคตรภูญาณ คือ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตก็เกิดต่อโดยน้อมไปมีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นอาเสวนปัจจัยให้โสตาปัตติมัคคจิตเกิดต่อ มีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยเป็นโลกุตตรกุศลจิตที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

ธรรมดาของชวนวิถีในวาระเดียวกัน ๗ ขณะนั้นต้องมีอารมณ์เดียวกัน แต่ในมัคควิถีนั้นชวนวิถี ๗ ขณะ มีอารมณ์ต่างกัน คือ บริกัมม์ ๑ ขณะ อุปจาระ ๑ ขณะ อนุโลม ๑ ขณะ มีไตรลักษณ์ลักษณะหนึ่ง ลักษณะใดใน ๓ ลักษณะเป็นอารมณ์ แต่โคตรภูจิต ๑ ขณะ มัคคจิต ๑ ขณะ และผลจิต ๒ ขณะ มีนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อโคตรภูจิตเป็นมหากุศลจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ขณะแรก จึงเป็นดุจอาวัชชนะของโสตาปัตติมัคคจิตซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ต่อจากโคตรภูจิต โสตาปัตติมัคคจิตจึงทํากิจดับกิเลสได้

ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาโลกุตตรกุศล และ วิสุทธิมรรค ญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส อุปมาอนุโลมญาณและโคตรภูญาณ ดุจบุรุษผู้แหงนดูดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ขณะนั้นดวงจันทร์ไม่ปรากฏเพราะเมฆหมอกกําบังไว้ ทันใดนั้นมีลมกองหนึ่งพัดเมฆก้อนทึบนั้นให้กระจายไป แล้วลมอีกกองหนึ่งก็พัดเมฆที่กระจายแล้วนั้นให้ออกไปอีก แล้วลมอีกกองหนึ่งก็พัดเมฆแม้ละเอียดที่ปิดบังดวงจันทร์นั้นให้ออกไป บุรุษนั้นจึงเห็นดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆปิดบัง นิพพานเปรียบดุจดวงจันทร์ อนุโลมญาณ ๓ ขณะเปรียบดุจลม ๓ กอง โคตรภูญาณเปรียบดุจบุรุษผู้เห็นดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆปิดบัง

อนุโลมญาณ ๓ ขณะเหมือนลม ๓ กองซึ่งอาจกําจัดเมฆที่ปิดบังดวงจันทร์ได้ แต่ไม่อาจเห็นดวงจันทร์ ฉันใด อนุโลมญาณก็บรรเทาความมืดอันปกปิดสัจจะได้ แต่ไม่อาจเห็นนิพพานได้ฉันนั้น และบุรุษนั้นอาจเห็นดวงจันทร์ได้อย่างเดียว แต่ไม่สามารถกําจัดเมฆได้ฉันใด โคตรภูญาณก็ฉันนั้น คือ อาจเห็นนิพพานได้ แต่ไม่อาจทําลายความมืดคือกิเลสได้

วิปัสสนาญาณที่ ๑๔ มัคคญาณ

เมื่อโคตรภูจิตดับไปแล้ว โสตาปัตติมัคคจิตที่เกิดต่อก็ข้ามพ้นสภาพความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยบุคคล โสตาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นดับกิเลสเป็นสมุจเฉทตามขั้นของโลกุตตรปัญญา

วิปัสสนาญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

เมื่อโสตาปัตติมัคคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลจิตดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้โสตาปัตติผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตเกิดสืบต่อโดยไม่มีจิตอื่นเกิดคั่นเลย โลกุตตรกุศลจิตเป็นอกาลิโก เป็นอนันตรกัมมปัจจัยที่ทําให้โลกุตตรวิบากจิตเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นเกิดคั่นเลย โลกุตตรวิบากจิตจึงเป็นวิบากจิตที่ต่างกับวิบากอื่นๆ คือ ทําชวนกิจสืบต่อจากโลกุตตรกุศลจิต ๒ หรือ ๓ ขณะ ในมัคควิถี และโลกุตตรวิบาก คือ ผลจิตซึ่งเกิดภายหลังของมัคควิถีนั้นก็ทําชวนกิจ ไม่ทํากิจเหมือนวิบากจิตอื่นๆ เลย

วิปัสสนาญาณที่ ๑๖ ปัจจเวกขณญาณ

เมื่อมัคควิถีจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อ และหลังจากนั้นมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้น พิจารณาสภาพธรรมที่เพิ่งประจักษ์แจ้ง ทีละวาระ คือ พิจารณามัคคจิต วาระ ๑ พิจารณาผลจิต วาระ ๑ พิจารณา กิเลสที่ละได้แล้ว วาระ ๑ พิจารณกิเลสที่ยังเหลือ วาระ ๑ พิจารณานิพพาน วาระ ๑

สําหรับผู้ที่บรรลุอรหัตตมรรคและอรหัตตผลนั้น ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลือ เพราะอรหัตตมัคคจิตดับกิเลสทุกประเภทหมดเป็นสมุจเฉท ไม่มีกิเลสใดๆ เหลือเลย

วิปัสสนาญาณ ๑๖ นั้น ในบางแห่ง แสดงวิปัสสนาญาณ ๙ ซึ่งเป็นพลววิปัสสนาญาณ คือ

๑. อุทยัพพยญาณ

๒. ภังคญาณ

๓. ภยญาณ

๔. อาทีนวญาณ

๕. นิพพิทาญาณ

๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ

๗. ปฏิสังขาญาณ

๘. สังขารุเปกขาญาณ

๙. อนุโลมญาณ

ในบางแห่งแสดง วิปัสสนาญาณ ๑๐ คือ เริ่มตั้งแต่สัมมสนญาณถึงอนุโลมญาณ การที่แสดงวิปัสสนาญาณตั้งแต่ญาณแรกถึงอนุโลมญาณนั้น ก็เพราะวิปัสสนาญาณเหล่านั้นค่อยๆ คมกล้าขึ้นจนอนุโลมต่อการมีนิพพานเป็นอารมณ์

การอบรมเจริญสติปัฏฐานทําให้ปัญญาคมกล้าและบริสุทธิ์ขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณตามลําดับขั้นนั้น เป็นวิสุทธิ ๗ ดังนี้

๑. ศีลวิสุทธิ ได้แก่ ศีลเมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นวิสุทธิจากการไม่รู้สภาพปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิดไม่ใช่ศีลวิสุทธิเพราะยึดถือศีลว่าเป็นเรา เป็นตัวตน

๒. จิตตวิสุทธิ ได้แก่ สมาธิขั้นต่างๆ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และขณะใดที่ฌานจิตเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ฌานจิตขณะนั้นก็เป็นจิตตวิสุทธิเพราะขณะนั้นไม่ยึดถือฌานจิตนั้นว่าเป็นเรา เป็นตัวตน

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นจึงวิสุทธิจากการไม่เคยประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนมาก่อนเลย

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ เมื่อทิฏฐิวิสุทธิเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาที่เจริญขึ้นจากการเจริญสติปัฏฐานก็เป็นยถาภูตญาณทัสสนะ คือเห็นลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนสมบูรณ์ถึงขั้นเป็นปัจจยปริคคหญาณ ข้ามพ้นความสงสัยในการเกิดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามปัจจัยทั้งสิ้น ปัจจยปริคคหญาณจึงเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อกังขาวิตรณวิสุทธิเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาที่เจริญขึ้นจากสติปัฏฐานที่พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วขึ้นจนชิน รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น เสมอกันหมดทุกประเภท ทําให้ละคลายการใฝ่ใจแสวงหายึดมั่นในนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใดโดยเฉพาะ และน้อมพิจารณาการเกิดดับ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏจนประจักษ์การเกิดดับสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรม เป็นสัมมสนญาณและอุทยัพพยญาณตามลําดับ เมื่ออุทยัพพยญาณดับไปแล้ว กิเลสที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็ทําให้เกิดความยินดีพอใจใน วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑. โอภาส แสงสว่าง

๒. ญาณ ความรู้

๓. ปีติ ความอิ่มใจ

๔. ปัสสัทธิ ความสงบ

๕. สุข ความสบายแช่มชื่นใจ

๖. อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ

๗. ปัคคาหะ ความเพียร

๘. อุปัฏฐานะ ความมั่นคง

๙. อุเบกขา ความวางเฉย

๑๐. นิกันติ ความใคร่

๑. เมื่ออุทยัพพยญาณดับไปแล้ว โอภาสย่อมเกิดจากจิตที่สงบถึงขั้นที่เป็นปัจจัยให้แสงสว่างเกิดขึ้นได้ ขณะที่เกิดความยินดีในโอภาสนั้นเป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะทําให้วิปัสสนาเศร้าหมอง ไม่ได้พิจารณาความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนั้น

๒. ขณะที่เกิดความยินดีในความคมกล้าของปัญญาที่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็วดุจฟ้าแลบนั้นก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะไม่ได้พิจารณาความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนั้นต่อไป

๓. ขณะที่ยินดีในปิติ ความอิ่มเอิบที่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้นก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๔. ขณะที่ยินดีในความสงบ ซึ่งปราศจากความกระวนกระวาย ความแข็งกระด้าง ความคดงอไม่ควรแก่การงาน เป็นต้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๕. ขณะที่ยินดีในความสุข ซึ่งเป็นโสมนัสเวทนาอย่างยิ่งนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๖. ขณะที่ยินดีในความน้อมใจเชื่อที่มั่นคงยิ่งขึ้นนั้น ก็เป็น วิปัสสนูปกิเลส

๗. ขณะที่ยินดีในความเพียรที่ไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก ที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๘. ขณะที่ยินดีในความมั่นคงของสติปัฏฐาน ๔ ที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๙. ขณะที่ยินดีในความวางเฉย คือ เป็นกลางเสมอกันในสังขารธรรมทั้งปวงที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ เมื่อประจักษ์การเกิดดับของอารมณ์ที่ปรากฏอย่างรวดเร็วดุจฟ้าแลบนั้นก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๑๐. ขณะที่ยินดีที่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมด้วยวิปัสสนาญาณนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

เมื่อปัญญาพิจารณารู้ว่าวิปัสสนูปกิเลสเป็นสิ่งที่ควรละ ขณะที่ปัญญาคมกล้ารู้ชัดความละเอียดของวิปัสสนูปกิเลสซึ่งไม่ใช่ทางที่จะนําไปสู่การละคลายความติดข้องในสภาพธรรมทั้งหลายที่ละเอียดขึ้น ขณะนั้นเป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ อุทยพพยญาณที่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้ว

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้ว ปัญญาที่เจริญขึ้นจากการเจริญสติปัฏฐานต่อนั้นก็เป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ปราศจากวิปัสสนูปกิเลส จนถึงอนุโลมญาณ ๓ ขณะในมัคควิถี คือ บริกัมม์ อุปจาร อนุโลม

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่ออนุโลมญาณ ๓ ขณะดับแล้ว โคตรภูญาณก็เกิด โคตรภูญาณไม่ใช่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ และ ไม่ใช่ญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะโคตรภูญาณมีฐานะเป็นดุจอาวัชชนะของโลกุตตรจิตระหว่างปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิและญาณทัสสนวิสุทธิ แต่ถึงการนับว่าเป็นวิปัสสนาญาณเพราะเป็นกระแสของวิปัสสนา เมื่อโคตรภูญาณดับแล้วมัคคจิตต์เกิดเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ

รวมเป็นวิสุทธิ ๗

ปริญญา ๓

การเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น ทําให้เกิดปริญญา คือ ปัญญารอบรู้ ๓ ขั้น ได้แก่ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา

ญาตปริญญา คือ ปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏโดยสภาพไม่ใช่ตัวตน ด้วยนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้นไป เป็นพื้นฐานให้น้อมพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น รอบรู้ขึ้นตามลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ได้ประจักษ์แล้วในนามรูปปริจเฉทญาณ

ตีรณปริญญา คือ ปัญญาที่พิจารณาลักษณะ ของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยเสมอกัน โดยรอบรู้ ไม่เจาะจงฝักใฝ่มุ่งหวังนามธรรมและรูปธรรมใดโดยเฉพาะ เพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนทั่วทั้ง ๖ ทวาร ความสมบูรณ์ของปัญญาที่รู้ชัดในความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรม ทําให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมตั้งแต่ สัมมสนญาณ เป็นต้นไป

ปหานปริญญา คือ เมื่อพิจารณาความดับไปของนามธรรมและรูปธรรม จนประจักษ์แจ้งการดับไปของนามธรรมและรูปธรรมด้วยภังคญาณแล้ว ปัญญารอบรู้เพิ่มขึ้น ก็เริ่มคลายความยินดีในนามธรรมและรูปธรรม เพราะเห็นโทษของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นเป็นปหานปริญญา เป็นต้นไป จนถึงมัคคญาณ

ในวันหนึ่งๆ ปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงนั้น น้อยกว่าปัจจัยที่จะให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นมากเหลือเกิน ฉะนั้น การเจริญขึ้นของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ๔ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ นั้น จึงต้องสะสมอบรมนานมาก เพราะไม่ใช่เป็นการทําสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมารู้ แต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาที่มีเหตุปัจจจัยเกิดขึ้น ปรากฏแล้วดับไปรวดเร็วเป็นปกติในชีวิตประจําวัน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในขณะนี้เอง ถ้าขณะนี้ไม่รู้ว่าสติปัฏฐานเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าสิ่งที่กําลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร ก็จะต้องอบรมปัญญาขั้นต้นด้วยการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ เพื่อให้พุทธบริษัทเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏ ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงตามที่ทรงตรัสรู้ และจะต้องพิจารณาหนทางปฏิบัติ คือ การอบรมเจริญปัญญาให้ถูกต้องว่า เหตุต้องสมควรแก่ผล เมื่อผลคือปัญญาที่ประจักษ์แจ้งไตรลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพที่เกิดขึ้นและดับไปเป็นทุกข์ เพราะไม่ใช่สภาพที่น่ายินดีและเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏในขณะนี้ ก็ย่อมรู้ว่าไม่มีทางอื่นเลย นอกจากหนทางเดียว คือ สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ศึกษา สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏในขณะนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าสังขารขันธ์ทั้งหลายจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้ปัญญาที่อบรมสมบูรณ์ แล้วเกิดขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นๆ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอบรมพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์ หลังจากที่ทรงได้รับพระพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงอบรมเจริญบารมีมาโดยตลอด และได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ ก่อนที่จะทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล แล้วบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยลําดับ ในปัจฉิมยาม ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ในวันเพ็ญเดือน ๖

พระอัครสาวกทั้ง ๒ คือ ท่านพระสารีบุตร ผู้เลิศทางปัญญา และท่านพระมหาโมคคัลลานะ ผู้เลิศทางอิทธิฤทธิ์นั้น อบรมเจริญปัญญามาแล้ว ๑ อสงไขยแสนกัปป์ ในชาติสุดท้ายท่านพระสารีบุตรบรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล เมื่อได้ฟังท่านพระอัสสชิแสดงธรรมแก่ท่าน และท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้ฟังท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมที่ท่านพระอัสสชิได้แสดงแล้วนั้น

พระมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศในทางต่างๆ เช่น ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอานนท์ ท่านพระอุบาลี ท่านพระอนุรุทธะ เป็นต้น ก็ได้อบรมเจริญปัญญาแล้วแสนกัปป์ พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัทก็ได้อบรมเจริญปัญญามาแล้วจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคลเป็นจํานวนมากในกาลสมบัติ คือ สมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงดับขันธปรินิพพาน และหลังจากทรงดับขันธปรินิพพานแล้วไม่นานสืบต่อมาจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมย่อมลดน้อยลงไปตามการศึกษา การเข้าใจพระธรรมและการปฏิบัติธรรมโดยถูกต้อง และโดยเหตุ คือ การอบรมสะสมเจริญปัญญาที่สมควรแก่ผล

ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคนั้น มีผู้อบรมเจริญสมถภาวนาจนสามารถบรรลุคุณวิเศษ กระทําอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณและทรงแสดงพระธรรมแล้ว ก็มีผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นจํานวนมาก และบางท่านที่เจริญสมถภาวนาบรรลุฌานจิตมาแล้ว เมื่อเจริญสติปัฏฐาน ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย ฉะนั้น พระอริยสาวกจึงมี ๒ ประเภท คือ พระอริยสาวกผู้ไม่ได้ฌาน และพระอริยสาวกผู้ได้ฌานด้วย

พระอริยบุคคลผู้ไม่ได้ฌานนั้นบรรลุมัคคจิตโดยไม่มีฌานจิตเป็นบาท คือ ไม่ได้บรรลุฌานจิต ฌานจิตจึงไม่เกิดขึ้นเป็นอารมณ์ให้พิจารณา และถึงแม้ว่าโลกุตตรจิตประจักษ์แจ้งนิพพานอย่างชัดเจนแนบแน่นเช่นเดียวกับอัปปนาสมาธิที่แนบแน่นในอารมณ์ของฌานจิตขั้นต่างๆ แต่เมื่อพระอริยะผู้ไม่ได้ฌาน ไม่ได้บรรลุฌาน ก็ไม่สามารถเข้าถึงฌานสมาบัติได้ การนับประเภทจิตโดยนัย ๘๙ ดวง จึงนับโดยนัยของพระอริยบุคคลผู้ไม่ได้ฌาน

ส่วนพระอริยบุคคลผู้ได้ฌานด้วยนั้น บรรลุมัคคจิตผลจิตโดยมีฌานเป็นบาท ฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้บรรลุฌานพร้อมด้วยวสี ฌานจิตจึงเกิดขึ้นเป็นอารมณ์ให้มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตพิจารณาจนบรรลุโลกุตตรมัคคจิตและผลจิต ได้ด้วยการพิจารณาฌานจิตนั้นเอง พระอริยบุคคลผู้บรรลุมรรคผลนิพพานพร้อมด้วยองค์ของฌานขั้นต่างๆ พ้นจากกิเลสด้วยปัญญาและความสงบของฌานขั้นต่างๆ การนับประเภทจิตโดยนัย ๑๒๑ ดวง จึงนับโดยนัยของพระอริยบุคคลผู้ได้ฌาน

สมาบัติ ๓

สมาบัติ ๓ คือ ฌานสมาบัติ ๑ ผลสมาบัติ ๑ นิโรธสมาบัติ ๑

ปุถุชนผู้บรรลุฌานจิตและมีวสี ๕ คือ ความชํานาญในการเข้าและออกฌานแต่ละขั้นเป็นต้นนั้น เป็นฌานลาภีบุคคล คือ ผู้มีฌานเป็นลาภ จึงสามารถเข้าฌานสมาบัติ คือ ฌานวิถีจิตเกิดสืบต่อกันทางมโนทวารโดยไม่มีภวังคจิตเกิดคั่นเลยตลอดเวลาที่กําหนดไว้ในวันหนึ่งๆ ขณะที่เป็นฌานสมาบัตินั้นระงับทุกข์กายและทุกข์ใจ เพราะขณะนั้นสงบจากอารมณ์อื่นๆ ทั้งหมด มีแต่ความสุขสงบด้วยการเข้าถึงอารมณ์ของฌานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ขณะนั้นจึงเป็นฌานสมาบัติ

พระอริยบุคคผู้ได้ฌานด้วยนั้น สามารถเข้า ผลสมาบัติ คือ โลกุตตรปฐมฌานผลจิต หรือโลกุตตรทุติยฌานผลจิต หรือโลกุตตรตติยฌานผลจิต หรือโลกุตตรจตุตถฌานผลจิต หรือโลกุตตรปัญจมฌานผลจิต เกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ตลอดเวลาที่กําหนดไว้ในวันหนึ่งๆ โดยไม่มีภวังคจิตเกิดคั่นเลย ผลสมาบัติเป็นการเข้าถึงโลกุตตรฌานตามลําดับขั้นของโลกุตตรผลจิตซึ่งเกิดพร้อมด้วยองค์ของฌานนั้นๆ

ขณะที่ผลสมาบัติวิถีจะเกิดนั้น กามาวจรจิตที่เกิดก่อนไม่ชื่อว่าบริกัมม์ และอุปจาร แต่เป็นอนุโลมทั้ง ๓ ขณะ เพราะอนุโลมต่อการที่โลกุตตรผลจิตซึ่งเคยเกิดแล้วจะเกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์อีกตามขั้นของโลกุตตรฌาน ต่างกับบริกัมม์ อุปจาร อนุโลมในมัคควิถี ซึ่งมัคคจิตจะเกิดขึ้นเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ขณะที่ผลจิตเกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ตลอดเวลาที่กําหนดไว้ในวันหนึ่งๆ นั้น เป็นผลสมาบัติ

สําหรับพระอนาคามีบุคคลและพระอรหันต์ผู้บรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น สามารถเข้า นิโรธสมาบัติ คือดับจิตและเจตสิกไม่เกิดเลยตลอดเวลาไม่เกิน ๗ วัน เพราะอาหารที่บริโภคแล้วนั้นค้ำจุนร่างกายได้ไม่เกิน ๗ วัน การเข้านิโรธสมาบัติซึ่งดับจิตและเจตสิกได้ชั่วคราวนั้น ต้องประกอบด้วยกําลัง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งสมถะและวิปัสสนา คือถึงแม้ว่าเป็นพระอนาคามีบุคคลหรือพระอรหันต์ แต่ไม่บรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ พระโสดาบันบุคคลและพระสกทาคามีบุคคลที่บรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้

เมื่อจะเข้านิโรธสมาบัตินั้น ต้องเข้าตั้งแต่ปฐมฌานเป็นลําดับไป โดยเมื่อออกจากปฐมฌานแล้วพิจารณาสังขารทั้งหลายโดยเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจึงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน แล้วพิจารณาสังขารทั้งหลายโดยสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจึงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯลฯ ตลอดไป จนถึงอากิญจัญญายตนฌานเมื่อออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว กระทํากิจเบื้องต้น ๔ อย่าง คือ (48)

นานาพัทธอวิโกปนะ ๑

สังฆปฏิมานนะ ๑

สัตถุปักโกสนะ ๑

อัทธานปริจเฉท ๑

นานาพัทธอวิโกปนะ คือ อธิษฐานให้บริขารของใช้อันเนื่องกับตน เช่น บาตร จีวร เตียง ที่อยู่อาศัย ไม่ถูกทําลายเสียหายด้วยไฟ น้ำ ลม โจร เป็นต้น ภายใน ๗ วันที่เป็นนิโรธสมาบัติ ส่วนสิ่งใดที่ใช้อยู่เนื่องกับตน เช่น ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นั่ง ไม่มีกิจที่จะอธิษฐานต่างหาก เพราะสมาบัตินั่นแลย่อมคุ้มครองมิให้ถูกทําลายเสียหายได้

สังฆปฏิมานนะ คือ อธิษฐานให้ออกจากนิโรธสมาบัติเมื่อต้องร่วมประชุมสงฆ์เพื่อทําสังฆกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด

สัตถุปักโกสนะ คือ อธิษฐานให้ออกจากนิโรธสมาบัติเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกหา

อัทธานปริจเฉทะ คือ การพิจารณากําหนดกาลของชีวิตว่าจะมีอายุตลอดไป ๗ วันหรือไม่ เพราะระหว่างนิโรธสมาบัตินั้นจุติจิตเกิดไม่ได้ เมื่อมีอายุตลอดไป ๗ วันได้จึงเข้านิโรธสมาบัติ

เมื่อทําบุพพกิจ ๔ นี้แล้ว ก็เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยจิตเกิดดับสืบต่อกันตามลําดับวาระของเนวสัญญานาสัญญายตนฌานวิถีจิต โดยเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตเกิด ๒ ขณะ แล้วจิตเจตสิกไม่เกิดเลยในระหว่างที่เป็นนิโรธสมาบัติตลอด ๗ วัน

เมื่อถึงกําหนดออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ผลจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะแล้วภวังคจิตจึงเกิดต่อ

นิโรธสมาบัติมีเฉพาะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เท่านั้น ในอรูปพรหมภูมิไม่มีนิโรธสมาบัติเพราะไม่มีรูปฌานจิต


(43) สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ อิทธิปาทวิภังคนิทเทส

(44) สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ อิทธิปาทวิภังคนิทเทส

(45) สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ อิทธิปาทวิภังคนิทเทส

(46) สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ อิทธิปาทวิภังคนิทเทส

(47) สัจจสังเขป ข้อ ๓๕๗

(48) สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถานิโรธสมาปัตติญาณ นิทเทส ข้อ ๒๑๗ - ๒๒๕

เปิด  1,200
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ