แนวทางเจริญวิปัสสนา
ถ. การเจริญสมถภาวนามีอารมณ์ตั้ง ๔๐ ประเภท เห็นว่าส่วนใหญ่นิยมอานาปานสติ เข้าใจว่าจะไม่สามารถขัดเกลากิเลส ไม่ถึงพระนิพพานหรือบรรลุอริยสัจจธรรมได้
สุ. ถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนาก็ดับกิเลสไม่ได้ เพราะไม่บรรลุถึงนิพพานซึ่งเป็นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ถ. ถ้าอย่างนั้นการจะขัดเกลากิเลสได้อย่างบุคคลทั่วไปที่มุ่งจะขัดเกลากิเลสให้ถึงพระนิพพาน แต่ว่าเขาไม่เข้าใจเลยว่าในชีวิตประจําวันนี้ อะไรเป็นเหตุให้เรายึดถือ ถ้าเผื่อไม่เข้าใจ แต่เป็น โลภะ หรือเป็นความต้องการที่ว่าอยากจะละกิเลสอย่างเดียว โดยที่ไม่รู้จักกิเลส จะสามารถเจริญสติปัฏฐานหรือไม่
สุ. เป็นไปไม่ได้
ถ. สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ทั้งสองอย่างเจริญไม่ได้
สุ. เข้าใจเอาเองว่ากําลังเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา แต่เมื่อไม่ใช่ปัญญา ก็เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาไม่ได้ ถ. ทีนี้ถ้าจะเจริญสติปัฏฐาน อาจารย์จะมีแนวทางอย่างไรให้เขาพิจารณา
สุ. ไม่มีใครเร่งรัดให้ใครเจริญสติปัฏฐานได้ ไปเอาเด็กมานั่งเข้าแถวแล้วบอกให้เจริญสติปัฏฐาน เด็กไม่รู้จักกิเลสเลย และก็ไม่ได้อยากละกิเลสด้วย แล้วเด็กจะเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังไม่ได้หมดกิเลส ผู้ใหญ่ทุกคนก็มีกิเลสคนละเยอะๆ ทั้งนั้น ลองถามผู้ใหญ่แต่ละคนว่าอยากหมดกิเลสไหม ส่วนใหญ่ก็บอกว่าไม่อยากหมดกิเลส แม้บางคนจะบอกว่าไม่อยากมีกิเลส แต่เมื่อเอ่ยคําว่า “กิเลส” นั้นรู้จักกิเลสจริงๆ หรือยัง โลภะเป็นกิเลส อยากมีโลภะไหม ไม่ชอบชื่อโลภะ แต่ว่าต้องการโลภะทุกขณะ นี่แสดงว่าไม่เข้าใจลักษณะโลภะซึ่งเป็นกิเลส อาหารอร่อยไหม เสื้อผ้าอาภรณ์สวยไหม เพลงนี้เพราะไหม กลิ่นนั้นหอมไหม เก้าอี้อย่างนี้อ่อนนุ่มดีไหม กระทบสัมผัสแล้วสบายไหม นี่คือไม่ชอบชื่อโลภะ แต่ทุกขณะจิตต้องการโลภะ การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญสติปัญญา ไม่ใช่การอยากทําสมาธิ
ถ. อัตตสัญญา คืออะไร
ส. อัตตสัญญา คือ ความจําด้วยการยึดถือว่าเป็นตัวตน ความจริงไม่น่าสงสัยในอัตตสัญญาเลย เพราะทุกคนมีอัตตสัญญา เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล จึงดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ แต่ก่อนที่สติจะเกิด และปัญญาศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งรู้ชัดประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนได้นั้นก็จะต้องมีอัตตสัญญา เมื่อสติไม่เกิดจึงไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารตามความเป็นจริง จึงเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏรวมกันเป็นอัตตา คือเป็นตัวตนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อไม่รู้ความจริงว่าเป็นสภาพธรรมขณะนี้ ก็มีอัตตสัญญา มีความทรงจําว่าเป็นเราที่เห็น และจําว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ต่างๆ
ปัญญาที่เกิดจากการฟังไม่สามารถประจักษ์แจ้งว่าสิ่งที่เคยเห็นเป็นคนเป็นสัตว์นั้น แท้จริงเป็นเพียงสิ่งที่กําลังปรากฏทางตาเท่านั้น ฉะนั้น การฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรมต้องพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ใคร่ครวญอย่างละเอียดจนกระทั่งเข้าใจคําที่แสดงลักษณะของสภาพธรรม เช่น คําว่า “สิ่งที่ปรากฏทางตา” นั้นเป็นคําที่ถูกต้องที่สุด เพราะแสดงว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่ปรากฏได้ทางตา สิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั้น ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเขียว สีฟ้า สีเหลือง สีขาว สีใส สีขุ่น ก็ต้องปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท เมื่อเห็นแล้วไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงมีอัตตสัญญาว่าเป็นคน สัตว์ วัตถุต่างๆ ขณะที่สนใจในสีต่างๆ นั้นทําให้คิดนึกเป็นรูปร่าง สัณฐาน เกิดความทรงจําในรูปร่างสัณฐาน จึงเห็นเป็นคน สัตว์ สิ่งของต่างๆ ซึ่งรูปร่างที่เห็นเป็นคน สัตว์ สิ่งของต่างๆ นั้นก็ต้องมีหลายสี เช่น สีดํา สีขาว สีเนื้อ สีแดง สีเหลือง เป็นต้น ถ้าไม่จําหมายสีต่างๆ เป็นรูปร่างสัณฐาน ความสําคัญหมายว่าเป็นสัตว์ บุคคล วัตถุต่างๆ ก็มีไม่ได้
ฉะนั้น ขณะใดที่เห็นแล้วสนใจ เพลินในนิมิต คือ รูปร่าง สัณฐานและอนุพยัญชนะ คือ ส่วนละเอียดของสิ่งที่ปรากฏ ให้ทราบว่าขณะนั้นเพราะสีปรากฏ จึงทําให้คิดนึกเป็นรูปร่าง สัณฐานและส่วนละเอียดของสิ่งต่างๆ ขึ้น เมื่อใดที่สติเกิดระลึกรู้ และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณา ก็จะเริ่มรู้ว่านิมิตและอนุพยัญชนะ ทั้งหลายซึ่งเป็นสีต่างๆ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี้คือปัญญาที่เริ่มเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เมื่อสติเกิดระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ ก็จะเข้าใจอรรถที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ (ด้วยการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความจริง) และเริ่มละคลายอัตตสัญญาในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามขั้นของปัญญาที่เจริญขึ้น
ฉะนั้น จะต้องรู้ว่าไม่ว่าพระไตรปิฎกจะกล่าวถึงข้อความใด พยัญชนะใด ก็เป็นเรื่องสภาพธรรมในชีวิตประจําวันจริงๆ ซึ่งสติจะต้องระลึกและพิจารณาให้เข้าใจจนกว่าปัญญาจะรู้ชัด ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
นี่เป็นเรื่องที่ทุกๆ ท่านจะค่อยๆ ฟังไป ศึกษาไป พิจารณาไปตามปกติในสภาพที่เป็นชีวิตจริงๆ เพราะยังไม่สามารถที่จะดับกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ ซึ่งหลายคนอยากจะดับให้หมดเสียเหลือเกิน แต่จะต้องรู้ว่ากิเลสจะดับได้ก็ต่อเมื่อโลกุตตรมัคคจิตเกิดขึ้นดับสักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันก่อน แล้วปัญญาจึงจะเจริญขึ้นจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ตามลําดับ ฉะนั้น จึงจะต้องอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่มุ่งหน้ารีบร้อนที่จะไปปฏิบัติเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี โดยไม่เข้าใจเหตุปัจจัยว่า สติที่เป็นสัมมาสติซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ นั้นจะเกิดได้ เมื่อศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จริงๆ เสียก่อน แล้วสัมมาสติจึงจะเกิดระลึกได้ และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณาจนประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจําวัน
การเจริญสติปัฏฐานเป็นไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา (สมาธิ) อธิปัญญาสิกขา เพราะในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นเป็นศีลอย่างละเอียด คือ เป็นอธิศีลสิกขา เป็นการระลึกรู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูป รู้ลักษณะของกุศลธรรมและอกุศลธรรมก่อนที่จะเกิดการกระทําใดๆ ทางกาย วาจา สติปัฏฐานเป็นอธิจิตตสิกขา เพราะเป็นความตั้งมั่นของเอกัคคตาเจตสิก (สมาธิ) ในอารมณ์ที่ปรากฏซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว สติปัฏฐานเป็นอธิปัญญาสิกขา เพราะเป็นปัญญาที่พิจารณาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามปกติ โดยละเอียดตามความเป็นจริง
###
ถ. ผมขออภัยท่านผู้ฟังด้วยนะครับ ที่ท่านอาจารย์อธิบายหมดประโยคไปเดี๋ยวนี้นะครับตรงกับตัวผมเป็นอย่างยิ่ง แล้วก็ตัวผมไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจเท่าที่อาจารย์กล่าว ไม่เข้าใจมากกว่านั้นอีก เช่น สมมติว่าเราจะปฏิบัติเรื่องสติปัฏฐานนี้ประเดี๋ยวกลายเป็นตัวเราไปใช้สติ สติก็มีหลายประตูหลายทวาร สติเบื้องต้นนี่แหละครับ สําหรับตัวผมยังไม่ไปแค่ไหนเลยครับ เท่าที่สํารวจตัวเองเบื้องต้นนี่ครับ ยังไม่เข้านามรูปปริจเฉทญาณเลยสักที จะทําอย่างไรดีครับ
สุ. เวลาที่จะทําวิปัสสนาครั้งใดก็ยุ่งยากครั้งนั้นทีเดียว เพราะว่าจะทํา จะทําถูกได้ยังไงถ้ายังมีตัวตนที่จะทําอย่างนั้นอย่างนี้ พอเริ่มจะทําก็แสดงว่ามีความต้องการที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งความจริงแล้วลักษณะของสติปัฏฐานเป็นสภาพธรรมที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏทางหนึ่งทางใด เช่น ทางตาในขณะที่กําลังเห็นเดี๋ยวนี้ สติปัฏฐานก็ระลึกได้ตามปกติทีละเล็กทีละน้อย และปัญญาก็จะเริ่มศึกษาพิจารณารู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทีละเล็กละน้อย
ถ. ขณะที่กําลังเห็นจะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร
สุ. ขณะที่กําลังเห็นก็ระลึกรู้ว่าสิ่งที่กําลังปรากฏให้เห็นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้น จะเห็นเป็นผม จะเห็นเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นเสา เป็นศาลา เป็นอะไรก็ตาม ความจริงแล้วก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเลย เมื่ออบรมเจริญปัญญายังไม่ถึงขั้นนามรูปปริจเฉทญาณ ก็เป็นนามรูปปริจเฉทญาณไม่ได้
ถ. กระผมขอเรียนว่า เมื่อได้รับหนังสือธรรมปฏิบัติในชีวิตประจําวันแล้ว ผมอ่านไม่รู้กี่จบครับ ๗-๘ จบหรือจะกว่า อยากจะปฏิบัติให้ได้ แต่มันเป็นตัวเราเสียทุกที ทางตาก็เราเห็น ไม่ใช่สีเป็นรูป เห็นเป็นนาม นึกๆ ไปมันก็แพร่สะพัดไปหมดครับ ไม่กระจายหรือไม่เป็นเฉพาะประตู ไม่เข้านามรูปอย่างที่ว่านี้ ขอให้อธิบายอีกทีเถอะครับ
สุ. ขณะที่เห็นทางตา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติขณะนั้นได้ไหม ข้อสําคัญประการแรกก็คือ จะต้องรู้ว่าการอบรมเจริญความรู้จนถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณนั้น ต้องเริ่มจากสติระลึก ศึกษาลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่กําลังปรากฏทางหนึ่งทางใดตามปกติ ไม่ใช่โดยขั้นการฟัง และไม่ใช่พอเห็นก็เริ่มกระวนกระวายกระสับกระส่าย นึกกระจัดกระจายว่าสิ่งที่กําลังปรากฏเป็นรูป และสภาพที่กําลังเห็นเป็นนาม ขณะนั้นไม่ใช่การระลึกศึกษาลักษณะที่เป็นนามธรรมและลักษณะที่เป็นรูปธรรม การที่สติปัฏฐานจะเกิดได้นั้นจะต้องเข้าใจลักษณะของนามธรรมและ รูปธรรมอย่างถูกต้องก่อนว่า นามธรรมที่กําลังเห็นนั้นเป็นสภาพรู้ไม่มีรูปร่าง ตัวตน ไม่ต้องเอาแขน ขา มือ เท้า มาประกอบรวมกันเป็นท่าทางว่ายืนแล้วเห็น นั่งแล้วเห็น นอนแล้วเห็น สติปัฏฐานระลึกรู้เฉพาะอาการที่กําลังเห็นจริงๆ ว่าเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น และขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตานั้น ก็พิจารณาศึกษาเข้าใจจนกว่าจะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น
###
ถ. เพื่อจะให้การปฏิบัติแน่วแน่ ไม่กระสับกระส่ายอย่างท่านอาจารย์ว่านะครับ ถ้าเราจะใช้วิธีอานาปานสติปัฏฐานจะได้ไหม กาย เวทนา จิต ธรรม แต่เราใช้ควบกับอานาปานสติ กระผมก็เลยตั้งชื่อพิเศษของกระผมว่า อานาปานสติปัฏฐาน การปฏิบัติเช่นนี้น่ะครับ
สุ. โดยมากความต้องการผล จะทําให้หาวิธีผสม เพราะบางทีพอไม่รู้ว่าจะทําอย่างไร ก็ลองใช้อย่างโน้นกับอย่างนี้รวมกัน เผื่อว่าจะมีสัมปชัญญะบริบูรณ์ขึ้นและสติจะได้ไม่หลงลืมและจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใดได้นาน แต่นี่เป็นลักษณะของความต้องการหรือเปล่า ท่านที่ต้องการให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ แต่ทางตาก็ระลึกไม่ได้ ระลึกไม่ถูก ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปกติธรรมดาก็ระลึกไม่ถูก เมื่อต้องการให้จิตจดจ่ออยู่ที่หนึ่งที่ใด ก็เลยพยายามผสมรวมกันหลายๆ ทาง ซึ่งก็เป็นเพราะความต้องการ จึงไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั้นอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แล้วละ แต่เมื่อยังไม่รู้ก็ไม่ละ การพยายามจะทําให้จิตจดจ่อนั้นละความต้องการหรือเปล่า และก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แล้วละด้วย อย่าบิดเบือนทําอย่างอื่นหรือผสมการปฏิบัติอื่นๆ เข้ามาอีก เพราะจะไม่ทําให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขณะนี้ที่กําลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ได้ยินเป็นปกติ คิดนึกเป็นสุขเป็นทุกข์ตามปกตินั้น ล้วนเป็นธรรมทั้งหมด ตราบใดที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ ก็ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะถึงพยายามทําอย่างอื่นผสมวิธีต่างๆ มากสักเท่าไร ปัญญาก็ไม่ได้รู้สภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไรที่จะไปผสมวิธีต่างๆ ขึ้น ในเมื่อไม่ใช่ปัญญาที่ศึกษาพิจารณารู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมตามปกติทางตา ทางหู ทาง จมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ขอทราบว่าขณะที่กําลังผสมวิธีปฏิบัติต่างๆ นั้นมีประโยชน์อะไรบ้าง เกิดความรู้อะไรขึ้นบ้าง
ถ. เท่าที่อาจารย์ถามผมว่าได้ความรู้อะไรบ้างนะครับ ผมก็ได้ความรู้ทางไตรลักษณ์ เพราะว่าในหลักฐานของท่านอาจารย์พระธรรมกถึกมีตําราอานาปานสติ ๓ เล่ม ผมก็ไปอ่านจตุกกะที่ ๔ ท่านว่า อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา และอธิบาย อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา ด้วย ตามที่ผมอ่าน ท่านชี้แจงว่า อานาปานสตินี้มี ๑๖ ข้อ แต่จตุกกะที่ ๔ นี้เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเกี่ยวกับปัญญาโดยแท้ ไม่ได้เกี่ยวกับหายใจเข้าหายใจออกเท่าไร ทีนี้เราก็เอาอานาปานสติบังคับไว้ จะได้ไม่ไปแพร่เป็นอย่างอื่น ถ้านึกอะไรๆ ไม่ออก คือ วิปัสสนาอย่างที่อาจารย์สอนนะครับ หายใจเข้าหายใจออก บังคับไว้ เป็นวงไว้ที่เดียว คิดอะไรไม่ออกก็หายใจเข้าหายใจออกเอาไว้ ถ้าเกิดมีปัญหาขึ้นก็คิดไปอย่างนี้ ที่คิดนี้ผมก็ไม่ได้ไปคิดนอกอาจารย์นะครับ ก็อยากจะคิดว่าตาเห็นเป็นนาม ก็อยากจะคิดอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวตนหรอกนะ ก็เห็น ก็ได้ยินนะ ไม่ใช่ตัวตนนะ แต่ที่นี้เจ้าตัวตน เจ้าผม เจ้าเรา เจ้าคิดนี่มันมีเรื่อยละครับ นี่ละครับมันหนักใจละครับ
สุ. ผสมอย่างนั้นแล้วก็ยังหนักใจ เพราะไม่ใช่ปัญญาที่พิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ท่านบอกว่าประโยชน์ที่ท่านได้ คือ ความรู้ทางไตรลักษณ์ ถ้าไม่รู้สภาพนามธรรมและรูปธรรมแล้วจะรู้ไตรลักษณ์ของอะไร ก็เป็นเพียงการรู้ไตรลักษณ์ตามหนังสือเท่านั้น การประจักษ์ไตรลักษณ์จริงๆ นั้นต้องเป็นวิปัสสนาญาณ และวิปัสสนาญาณจะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้เลย ฉะนั้น จะกล่าวว่า รู้ไตรลักษณ์โดยไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมย่อมไม่ได้
ถ. ต่อไปนี้ก็อ้อนวอนเรียนถามอาจารย์ว่า การระลึกน่ะ ระลึกอย่างไร ระลึกมากๆ หรือระลึกนิดๆ หน่อยๆ ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ เช่น สติ เรารู้ว่าเป็นการระลึก จะระลึกอย่างไร มีปัญหาแล้ว ระลึกนิดหน่อย ระลึกให้ลึกซึ้ง ระลึกไปถึงว่า อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา หรือนึกแต่อ่อนแต่แข็ง ผมเข้าใจครับที่อาจารย์สอน ฟังมา ๒-๓ ปีเข้าใจ แต่เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติไม่ได้ รูป นาม อะไรคือ รูป นาม ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้เรียนพระไตรปิฎก ผมเข้าใจครับ ทีนี้ขณะที่ระลึกปัจจุบันที่ระลึก ปัจจุบันนธรรม ขณะที่ระลึก ระลึกอย่างไรถึงจะมีเคล็ด เคล็ดในการระลึกนี่สําคัญครับ ระลึกตื้น ระลึกลึก ระลึกมาก ระลึกยาว ระลึกสั้น ระลึกเผินๆ เอาใจใส่ก็เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขาไป นี่นาม นึกแล้วนี่...
สุ. ถ้าพยายามจะทําก็วุ่นจริงๆ เลย จะให้สติระลึกเผินหรือจะให้ระลึกแรง จะให้มากหรือจะให้น้อย การอบรมเจริญความรู้คือ ปัญญานั้น ไม่ใช่มีเคล็ดที่จะทํา แต่เริ่มด้วยฟังและศึกษาสิ่งที่สติจะระลึกรู้จนเข้าใจยิ่งขึ้น พอที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึก รู้ตรงลักษณะของสภาพนามธรรมหรือรูปธรรมตามปกติตามความเป็นจริง เมื่อสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นจริงอย่างไร ก็ระลึกรู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้นเท่านั้น ไม่ต้องไปกดให้แรง ไม่ต้องไปผ่อนให้เบา ไม่ต้องไปทําให้เผินหรืออะไรเลย เพราะถ้าทําอย่างนั้นก็เป็นเรื่องตัวตน ไม่ใช่การพิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ผู้ไม่หลงลืมสติ คือ กําลังระลึกรู้สภาพธรรมนั้นตามปกติตามความเป็นจริงตรงลักษณะนั้น และเริ่มพิจารณารู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมนั้นๆ ทีละเล็กละน้อย โดยไม่ใช่ให้สติจดจ้องให้ลึกลงไปอีก หรือว่าให้เผินออกมาหน่อย หรืออะไรอย่างนั้น เมื่อสติที่เกิดขึ้นนั้นดับไปแล้วก็อาจจะหลงลืมสติต่อไป หรือสติก็อาจจะระลึกที่อารมณ์อื่นต่อไปก็ได้ จึงจะเห็นความเป็นอนัตตาของสติปัฏฐาน เมื่อรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายและสติปัฏฐานก็เป็นอนัตตา จึงจะไม่ยุ่ง มิฉะนั้นความรู้สึกว่าเป็นตัวตนก็ทําให้ยุ่งแน่ๆ เพราะแม้พอจะระลึกก็ไม่ทราบว่าระลึกแค่ไหนจึงจะถูก จะระลึกหนักหรือเบา จะแรงหรือจะเผิน ซึ่งถ้าเป็นการระลึกศึกษาพิจารณาเข้าใจ ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏก็จะไม่ยุ่งเลย เพราะเมื่อเป็นปกติแล้วจะยุ่งได้อย่างไร เมื่อผิดปกติจึงจะยุ่ง
ถ. สติปัฏฐาน ผมก็ยังไม่ทราบว่าลักษณะที่แท้จริงเป็นอย่างไร คือบางครั้งที่ผมฟังอาจารย์บรรยายแนวทางเจริญวิปัสสนา เวลาตั้งใจฟังอยู่ก็รู้เรื่องด้วย และมีสติรู้ว่าที่ฟังนั้นอาจารย์บรรยายอะไรก็รู้เรื่อง แต่ว่าไม่ได้พิจารณาให้เป็นรูปเป็นนามในขณะนี้ ไม่ทราบว่าจะเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า
สุ. ขณะที่ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ก็มีความยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตนอยู่เต็ม ซึ่งความเป็นตัวตนที่มีอยู่เต็มนี้จะลดคลายหมดไปได้ก็ด้วยสติ ที่ระลึกรู้พิจารณาศึกษาเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กําลังปรากฏทีละน้อย ความรู้ที่เกิดขึ้นทีละน้อยนั้นละความไม่รู้นามธรรมและรูปธรรมไปทีละน้อย จะละให้หมดสิ้นไปทันทีไม่ได้ เพราะเมื่อสติเกิดจะรู้ชัดทันทีไม่ได้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ความรู้ที่ เกิดขึ้นทีละน้อยนั้นน้อยจนกระทั่งไม่รู้สึก เปรียบเหมือนการจับ ด้ามมีด ซึ่งด้ามมีดก็เริ่มสึกไปทีละน้อยจริงๆ เพราะเป็นจิรกาลภาวนา (49) บางท่านก็ไม่พอใจที่สติและปัญญาเจริญขึ้นทีละน้อยๆ ซึ่งก็ไม่มีหนทางอื่น เพราะถ้าไม่พอใจและผสมวิธีอื่นก็จะทําให้ยุ่งยิ่งขึ้น
ถ. การปฏิบัติเป็นปกติกับการปฏิบัติที่ผิดปกติต่างกันอย่างไร
สุ. ขณะนี้กําลังนั่งตามปกติ ระลึกรู้สภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามความเป็นจริง เช่น สภาพธรรมที่อ่อนหรือแข็งซึ่งปรากฏที่กาย หรือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา นั่นเป็นปกติ แต่ถ้าเข้าใจว่า เมื่อเจริญสติปัฏฐานจะต้องนั่งขัดสมาธิ จดจ้องตรงนั้นตรงนี้ นั่นไม่เป็นปกติ เพราะเป็นความต้องการที่จะเลือกรู้สภาพธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ข้ามการระลึกรู้สภาพธรรมที่กําลังปรากฏ เช่น สภาพธรรมที่กําลังเห็น สภาพธรรมที่กําลังได้ยิน สภาพธรรมที่กําลังปรากฎทางตา เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ฯลฯ ที่กําลังปรากฏ แม้ความเข้าใจผิดเพียงนิดเดียว กิเลสตัณหาก็ปิดบัง ไม่ให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงในขณะนั้น
ผู้ที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานได้นั้น จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสตินั้นต่างกันอย่างไร ถ้าไม่รู้ก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เคยหลงลืมสติอย่างไร ก็ยังหลงลืมสติต่อไปอย่างนั้น หรือมิฉะนั้นก็ต้องการเลือกจดจ้องอารมณ์ที่จะให้สมาธิเกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานอยู่นั่นเอง ฉะนั้น จึงต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะที่หลงลืมสติ คือขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจําวันนั่นเอง ไม่ระลึกรู้สภาพที่เห็น สภาพได้ยิน เป็นต้น ส่วนขณะที่มีสตินั้นเป็นขณะที่ระลึกได้ จึงพิจารณาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามปกติทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ โดยไม่บังคับเจาะจง อย่าเลือกจดจ้อง หรือต้องการอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ เพราะถ้าเป็นโดยลักษณะนี้แล้วก็จะไม่ประจักษ์ว่าสติเป็นอนัตตา ฉะนั้น ขณะที่มีสติก็คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น ขณะที่กลิ่นปรากฏ ก็ระลึกรู้สภาพของกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก พิจารณารู้ว่ากลิ่นเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป หรือระลึกรู้สภาพที่กําลังรู้กลิ่นขณะนั้นว่าเป็นเพียงสภาพรู้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้น รู้กลิ่นแล้วก็หมดไป ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นต้น
###
ถ. ถ้าอย่างนั้นผู้เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่น่ะซิ
สุ. ผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลรู้ชัดว่า สภาพที่กําลังเห็นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เมื่อเห็นแล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ หรือเป็นสิ่งของ สภาพที่รู้อย่างนั้นก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีใครบ้างที่เห็นแล้วไม่รู้ว่าเห็นอะไร ถ้าเช่นนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ทรงรู้จักท่านพระอานนท์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ไม่ทรงรู้อะไรเลย และถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะมีเพียง นามธรรมที่เห็นเท่านั้น ไม่มีนามธรรมอื่นที่รู้ว่าเห็นอะไร เป็นต้น แต่สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้นนอกจากนามธรรมที่เห็นแล้ว ก็ยังมีนามธรรมที่รู้ว่าเห็นอะไรด้วย
###
ถ. ฆราวาสที่อยากพ้นทุกข์ เพราะเห็นว่าทุกข์นี้ช่างมากมายและมีอยู่ตลอดเวลา เกิดแล้วและจะเกิดอีกด้วย ควรจะทําอย่างไร วิธีสั้นๆ ด้วย
สุ. ที่ว่าทุกข์นี้ช่างมากมายนั้น ก็เพราะมีความเห็นผิด ยึดถือว่าเป็นตัวตน ถ้าไม่มีความเห็นผิดยึดถือว่าเป็นตัวตนแล้วก็จะละคลายทุกข์ลงไปมากทีเดียว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ความทุกข์ทั้งหลายจะละคลายเบาบางลงได้เมื่อกิเลสดับไปตามลําดับ เมื่อกิเลสยังไม่ดับสิ้นไป การเกิดก็ย่อมยังมีประมาณนับไม่ได้ ตราบใดที่ยังเกิด ตราบนั้นก็ยังมีทุกข์ พระโสดาบันบุคคล ดับกิเลสขั้นต้นได้แล้วจึงเกิดอย่างมากที่สุดอีกเจ็ดชาติเท่านั้น ข้อความในพระสูตร (50) มีว่า พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นเล็กน้อยไว้ที่ปลายพระนขา แล้วตรัสว่า ฝุ่นเล็กน้อยที่ปลายเล็บนี้เปรียบได้กับการเกิดอีกของพระโสดาบันบุคคล ซึ่งมีเพียงเจ็ดชาติ ส่วนมหาปฐพีนั้น เปรียบได้กับชาติที่จะต้องเกิดอีกของพวกปุถุชน เมื่อชาติคือการเกิดของปุถุชนมีมากเหลือประมาณเช่นนี้ ทุกข์ซึ่งเกิดเพราะชาติก็จะต้องมากเหลือประมาณตามที่ถามทีเดียว
ถ. ทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้คงอยากจะทราบว่าจะเริ่มปฏิบัติวิปัสสนาเดี๋ยวนี้จะทําอย่างไร
สุ. ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดนั้น สัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิกก็ตรึก คือ จรดในลักษณะของอารมณ์ที่กําลังปรากฏ และ ปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณาลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น
ความรู้จะเกิดขึ้นและเจริญขึ้นได้จากการพิจารณารู้ ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งปรากฏในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไปเร็วเหลือเกิน บางทีก็ยังไม่ทันจะพิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมนั้นเลย เช่น ขณะได้ยิน สติเกิดระลึกรู้สภาพได้ยินนิดเดียว แต่ยังไม่ทันศึกษาพิจารณารู้ว่าเป็นสภาพรู้เสียง สภาพได้ยินก็หมดไปแล้ว แม้ว่าในตอนต้นปัญญาจะไม่เกิดขึ้นรู้ชัดในลักษณะของสภาพได้ยิน ก็เป็นธรรมดาที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะไม่มีใครสามารถยึดจับเสียงหรือนามธรรมที่ได้ยินเอามาทดลอง เอามา พิสูจน์พิจารณาได้ แต่ว่าสภาพได้ยินก็จะต้องเกิดอีก ผู้อบรม เจริญสติและปัญญา จึงระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่ได้ยินใน คราวต่อไปอีกได้
ขณะนี้สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูป ธรรมที่กําลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางหนึ่งทางใดก็ได้ ที่ละลักษณะ และพิจารณาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม สามารถที่จะแยกรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมที่ได้ยินกับเสียง ฯลฯ ในที่สุดก็จะชินกับสภาพของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น เมื่อชินแล้วความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็เพิ่มขึ้นอีก ไม่ว่านามธรรมใดรูปธรรมใดจะเกิด ณ สถานที่ใด สติและปัญญาก็สามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้นได้ ตามปกติตามความเป็นจริง การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญสติปัญญา ความรู้ใดที่ได้อบรมให้เกิดขึ้นแล้วความรู้นั้นก็จะเพิ่มขึ้น และละคลายความไม่รู้ให้ลดน้อยลงไปด้วย
ถ. สมมติว่าไหว้พระสวดมนต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว คิดว่าจะนั่งกรรมฐานจะโยนิโสมนสิการอย่างไรจึงจะไม่มีอภิชฌาและโทมนัสในอารมณ์
ส. ที่จะเป็นโยนิโสมนสิการจริงๆ นั้น ต้องเป็นสัมมาสติในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ฉะนั้นจึงไม่ควรคิดว่าจะนั่งกรรมฐาน ที่คิดว่าจะนั่งกรรมฐานก็เพราะเห็นผิดว่ามีตัวตนที่สามารถจะให้สติเกิดขึ้นได้ตามกําหนดเวลา แต่สัมมาสตินั้นไม่ต้องคอยจนกระทั่งไหว้พระสวดมนต์แล้ว ใครไหว้พระ เมื่อไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม จึงยึดถือสภาพธรรมในขณะที่กําลังไหว้พระนั้นเป็นตัวตน คือ เป็นเราไหว้พระ ในขณะที่สวดมนต์ เมื่อไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมก็ยึดถือว่าเป็นเราสวดมนต์ สัมมาสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดขณะที่กําลังไหว้พระสวดมนต์ หรือในขณะอื่นๆ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดได้ทั้งนั้น
###
ถ. อาตมาอยากจะถามเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน อาตมาได้อ่านพระอภิธรรมปิฎกเล่ม ๒ ขันธวิภังค์ ในหมวดของรูป ๒๘ รูป มีรูปที่เห็นไม่ได้ กระทบไม่ได้ รูปละเอียด รูปไกล เป็นต้น
สุ. รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป และมีเพียงรูปเดียวเท่านั้นที่เห็นได้ คือ รูปารมณ์ที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นรูปที่เห็นได้ (สนิทัสสนรูป) และกระทบได้ (สัปปฏิฆรูป) อีก ๑๑ รูป คือ เสียง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ โผฏฐัพพะ ๓ จักขุปสาทรูป ๑ โสตปสาทรูป ๑ ฆานปสาทรูป ๑ ชิวหาปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ เป็นรูปที่กระทบได้แต่เห็นไม่ได้ รูป ๑๒ รูปที่กระทบได้นี้เป็นรูปหยาบ จึงเป็นรูปใกล้ต่อการพิจารณารู้ได้ ส่วนรูปอีก ๑๖ รูปที่เหลือนั้นเห็นไม่ได้ และกระทบไม่ได้ จึงเป็นรูปละเอียดและเป็นรูปไกลต่อการพิจารณารู้ได้
สภาพธรรมมีจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้นั้น ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถพิสูจน์รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ที่กําลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้ แต่ก็เป็นเรื่องละเอียดและลึกซึ้งมาก เช่น รูปารมณ์ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ปรากฎทางตานั้น เพียงได้ฟังเท่านี้ก็รู้สึกว่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ไม่ใช่ความรู้ในขณะกําลังเห็น ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานจนปัญญาคมกล้า ก็จะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง เพราะขณะเห็นทางตานั้นมีรูปารมณ์แน่ๆ แต่ก็เห็นเป็นคน สัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ จนกระทั่งเกิดความสงสัยว่ารูปารมณ์นั้นเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร
รูปารมณ์เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อลืมตาแล้วเห็น โดยที่ยังไม่ได้นึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย นั่นแหละเป็นลักษณะแท้ๆ ของรูปารมณ์ ซึ่งปัญญาจะต้องเจริญจนเข้าใจจนชินว่ารูปารมณ์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือวัตถุใดๆ ทั้งสิ้น ลักษณะที่แท้จริงของรูปารมณ์เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ ฉะนั้น เมื่อสติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็ยังไม่ระลึกศึกษาพิจารณาลักษณะของรูปารมณ์จริงๆ ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงละคลายการยึดถือสิ่งที่เคยเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ ไม่ได้เลย
ถ. ศึกษาหมายความว่าอย่างไร
ส. ขณะที่สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่งที่ปรากฏ และพิจารณารู้ลักษณะสภาพธรรมนั้นๆ (ไม่ใช่คิดในใจ เป็นคําๆ) เพื่อประจักษ์แจ้งไตรลักษณ์ของสภาพรู้ และสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ นั่นแหละคือการศึกษาลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ถ. ลืมตายังเห็นอยู่ แต่ไม่ใส่ใจใช่ไหมครับ
สุ. ห้ามการเกิดดับสืบต่อของจิต ซึ่งเป็นไปตามปกติไม่ได้ แต่เมื่อสติเกิดขึ้น สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่งที่กําลังปรากฏตามปกตินั่นเอง
ถ. ถ้าอย่างนั้นจุดมุ่งหมายในการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจําวัน ส่วนมากเราทํากันเพื่อให้พ้นทุกข์ เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นแล้วจึงพ้นทุกข์
สุ. เรื่องพ้นทุกข์ยังเป็นเรื่องที่พ้นไม่ได้ง่ายๆ จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นขั้นๆ และละความไม่รู้ ความสงสัย ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ก่อน ซึ่งผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานรู้ว่าสติและปัญญาจะค่อยๆ อบรมเจริญขึ้นทีละเล็กละน้อย เพราะอวิชชาในวันหนึ่งๆ เกิดมากกว่ากุศล ทั้งในอดีตอนันตชาติและในปัจจุบันชาติ
ถ. แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่า เวลาที่มีอะไรมากระทบ เรามักขาดสติ
ส. เป็นธรรมดา เมื่อสติยังไม่มีกําลังจะให้สติเกิดทันทีเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ถ. จากการศึกษาในบทสวดมนต์ทําวัตรเช้า ที่ท่านว่า อุปาทานักขันธา ทุกขา คือ การเข้าไปยึดมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์นี้เป็นอย่างไร
สุ. เป็นทุกข์แน่เมื่อไม่รู้สภาพความเป็นจริงของธรรมที่ปรากฏก็ย่อมยินดียินร้าย ในขณะที่ยินดียินร้ายก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง เพราะขณะนั้นไม่สงบจากกิเลสเลย ตราบใดที่ปัญญายังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่รู้สภาพที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต ทุกคนชอบโลภะ ไม่หมดความพอใจในโลภะจนกว่าปัญญาจะเห็นความต่างกันของขณะที่เป็นกุศลซึ่งไม่มีโลภะ กับขณะที่เป็นโลภะซึ่งสนุกรื่นเริง ปรารถนา พอใจ ติดข้อง เมื่อปัญญาไม่เกิดก็พอใจในกิเลส พอใจในโลภะ ซึ่งไม่มีวันพอ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทาง ลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นภัย การยึดถืออุปาทานขันธ์ ๕ จึงเป็นทุกข์
ถ. ทีนี้ถ้าเราระวังตอนกระทบ เช่น ตากระทบรูป หูกระทบเสียง ถ้าเรามีสติตอนนั้นก็จะไม่เป็นความพอใจหรือไม่พอใจ
สุ. ไม่มีใครระวังหรือบังคับให้สติเกิดขึ้นได้ เมื่อสติเกิดก็รู้ความต่างกันว่า ขณะที่สติเกิดต่างกับขณะที่สติไม่เกิด
ถ. ขันธ์ ๕ ของปุถุชนก็ย่อมมีเช่นเดียวกับพระอรหันต์ แต่ขันธ์ ๕ ของปุถุชนเต็มไปด้วยอุปาทานที่ทําให้เกิดทุกข์ ทีนี้ถ้าเราคอย ระวังตอนกระทบ เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียงและมีสติอยู่ จะเป็นการเจริญสติที่ถูกต้องไหม
สุ. การเจริญสติที่ถูกต้อง คือ รู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา จึงรู้ว่าขณะใดสติเกิด ขณะใดสติไม่เกิด แต่ถ้ามีตัวตนที่จะระวังก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน
ถ. คําว่า “อนัตตา” นี้คล้ายเส้นผมบังภูเขา บางคนก็รู้ว่า “อนัตตา” แปลว่าอะไร หรือ “อัตตา” แปลว่าอะไร แต่ถามกันหลายๆ คน ก็อธิบายแตกต่างกันหมด โดยมากกล่าวว่าอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ทั้งๆ ที่ตัวตนก็ยังมี
สุ. อะไรเป็นตัวตน
ถ. สมมติว่า ตัวเราเป็นตัวตนอยู่ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีแต่เพียงขันธ์ ๕ มาประชุมกัน
สุ. เมื่อเป็นขันธ์ก็ไม่ใช่ตัวตน แต่เมื่อไม่รู้ว่าเป็นขันธ์ก็เข้าใจว่าเป็นตัวตน
ถ. ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ เวลาเห็นทางตาก็ว่าเราเป็นผู้เห็น
ส. เพราะยังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของขันธ์ว่า ขันธ์ คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็วจริงๆ จึงจําแนกเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นภายใน เป็นภายนอก หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ไกล ใกล้ เมื่อประจักษ์ลักษณะของขันธ์จริงๆ ก็รู้ว่าสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดดับนั้นเป็นรูปขันธ์ หรือเป็นเวทนาขันธ์ หรือเป็นสัญญาขันธ์ หรือเป็นสังขารขันธ์ หรือเป็นวิญญาณขันธ์ นั่นเอง
###
ถ. ขอให้อธิบายเรื่องอิริยาบถปิดบังทุกข์
ส. ที่ว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์นั้น ต้องเข้าใจด้วยว่าหมายถึงทุกขลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะทุกขเวทนา แม้ว่า ขณะนี้จะนั่ง นอน ยืน เดิน โดยยังไม่เมื่อย อิริยาบถก็ปิดบังทุกขลักษณะ ซึ่งเป็นการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิด รวมกันในอิริยาบถนั้นๆ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับของ นามธรรมและรูปธรรมนั้น ไม่ใช่รู้อิริยาบถหนึ่งแล้วเปลี่ยนเป็นอีกอิริยาบถหนึ่ง จึงกล่าวว่า อิริยาบถปิดบังทุกข์ และถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะต้องกล่าวว่าการเปลี่ยนอิริยาบถปิดบังทุกข์ ซึ่งไม่ใช่รู้ว่า อิริยาบถนั้นเองปิดบังทุกข์ แต่ที่พระธรรมแสดงว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์นั้น ก็เพราะการเกิดรวมกันของนามรูปเป็นอิริยาบถต่างๆ จึงปิดบังไม่ให้รู้ทุกขลักษณะของแต่ละรูปแต่ละนามที่กําลังเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
บางท่านสารภาพว่าเพิ่งนั่งใหม่ๆ พอถูกถามว่าเป็นทุกข์ไหม ก็ตอบว่าไม่เป็น เมื่อไม่เป็นทุกข์แล้ว อิริยาบถจะบังทุกข์ได้อย่างไร เมื่อทุกข์ไม่มี จะกล่าวว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์ไม่ได้ ต้องมีทุกข์อยู่จึงจะกล่าวได้ว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์ ความจริงถึงแม้ว่าอิริยาบถใดไม่มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น อิริยาบถนั้นก็ปิดบังทุกข์ไว้แล้ว เพราะไม่เห็นการเกิดดับของนามรูปในขณะนั้น เมื่อไม่อบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของนามและรูป ก็เข้าใจผิดว่ารู้ทุกข์ ขณะที่พิจารณาก่อนเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ว่ารู้ทุกข์อะไร ในเมื่อยังไม่รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพรู้ทางตากับสิ่งที่ปรากฏทางตา สภาพได้ยินกับเสียงที่ปรากฏทางหู สภาพรู้กลิ่นกับกลิ่น สภาพรู้รสกับรส สภาพรู้โผฏฐัพพะและโผฏฐัพพะ สภาพคิดนึกสุขทุกข์ต่างๆ แม้แต่สภาพธรรมที่คิดจะเปลี่ยนอิริยาบถนั้น ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ปัญญาก็สมบูรณ์ขึ้นตามลําดับขั้นไม่ได้ จึงไม่ประจักษ์ทุกขอริยสัจจ์ เพราะปัญญายังไม่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
###
ถ. ขณะไหนที่มีสติก็มีแต่ทุกข์ที่ปรากฏ แต่ไม่ได้แยกรูปนามทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะการแยกนั้นแยกกันมาเยอะแยะแล้ว แต่แยกกันตามปริยัติ ดิฉันมีการศึกษาน้อย เพียงแต่ปฏิบัตินิดๆ หน่อยๆ ที่สํานักปฏิบัติ เกิดความรู้มาอย่างนั้นก็เรียนให้ทราบ จะว่ารู้ตามอริยสัจจ์ หรือรู้ตามอะไรก็แล้วแต่จะเข้าใจเถอะค่ะ แต่รู้อย่างนั้นจริงๆ
สุ. พอใจในความรู้อย่างนี้แล้วหรือยัง
ถ. ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา จะว่าพอใจก็ไม่ได้
สุ. ที่กล่าวว่าไปสํานักปฏิบัติเพื่อความรู้ความเข้าใจในหนทางปฏิบัติ แต่ถ้าไปแล้วไม่รู้ไม่เข้าใจสภาพธรรม การไปจะมีประโยชน์ไหม
ถ. ก็มี ตามธรรมดาเราอยู่บ้านอกุศลเกิดมาก เมื่อเราไปสํานักปฏิบัติ ได้พบกัลยาณมิตรที่ดี พบสถานที่ที่สงบเงียบ กุศลจิตก็เกิดมาก อันนี้ดิฉันถือว่ามีประโยชน์
ส. โสตาปัตติยังคะ องค์ธรรมของการบรรลุโสดาบันมี ๔ คือ คบสัตบุรุษ ๑ ฟังธรรมจากท่าน ๑ พิจารณาธรรมที่ได้ฟังด้วยความถูกต้อง ๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ ไม่เกี่ยวกับสถานที่เลย ฉะนั้น ในเรื่องของสํานักปฏิบัตินั้นควรย้อนกลับไปพิจารณาสํานักของพระผู้มีพระภาค เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า สํานักปฏิบัติในสมัยนี้เหมือนกับสํานักของพระผู้มีพระภาคหรือไม่ สํานักของพระผู้มีพระภาคในอดีตกาลนั้น พระภิกษุทั้งหลาย บิณฑบาต สนทนาธรรม ทํากิจต่างๆ ตามพระวินัยบัญญัติ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญกุศลทั้งปวง แต่ผู้ที่ไปสู่สํานักปฏิบัติในสมัยนี้ปฏิบัติเช่นเดียวกับพุทธบริษัทในครั้งนั้นหรือเกินกว่าหรือต่างกัน ถ้าเหตุคือการปฏิบัติต่างกัน ผลจะเหมือนกันได้ไหม อุบาสกและอุบาสิกาในครั้งพุทธกาล เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านก็ไปพระเชตวันมหาวิหารที่ท่านได้สร้างไว้ แต่ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้าใจผิดว่าจะต้องบรรลุมรรคผลเฉพาะในสถานที่เหล่านั้น เพราะท่านเหล่านั้นบรรลุมรรคผลนิพพาน ณ สถานที่ต่างๆ กันตามชีวิตประจําวันจริงๆ ของแต่ละท่าน
ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อรัญญวัคค์ที่ ๔ อรัญญกสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จําพวกนี้ ๕ จําพวกเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย ๑ มีปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงํา จึงถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๑ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะเป็นบ้าเพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะรู้ว่าเป็นวัตรอันพระพุทธเจ้าและสาวกแห่งพระพุทธเจ้าสรรเสริญ ๑ ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลาความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ ๑
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จําพวกนี้แล ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นประธานสูงสุด และดีกว่าในบรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จําพวกนี้ เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากโค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส หัวเนยใสชาวโลกย่อมกล่าวว่าเป็นยอดในจําพวกโครส ๕ เหล่านั้นฉันใด บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จําพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นเลิศ ประเสริฐ เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าในบรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จําพวกนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน
จบสูตรที่ ๑
ทําไมจึงมีภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย บางท่านคิดว่าอยู่ป่าแล้วก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ผู้ที่เข้าใจอย่างนั้นเป็นผู้อยู่ป่าเพราะโง่เขลาหรือเพราะงมงายหรือไม่ ถ้าเข้าใจเหตุผลแล้วจะเห็นว่า ไม่มีชีวิตใดที่ประเสริฐยิ่งกว่าบรรพชิตผู้สละชีวิตฆราวาสไปสู่สํานักของพระผู้มีพระภาค ซึ่ง ไม่ใช่การไปสู่สํานักปฏิบัติเพียงชั่วครู่ชั่วยามเพื่อต้องการบรรลุมรรคผล เพราะคิดว่าการไปทําวิปัสสนาที่สํานักปฏิบัติซึ่งไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ นั้น จะเป็นเหตุให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ซึ่งถ้าเป็นจริงเช่นนั้น คฤหัสถ์ไปทําวิปัสสนาที่สํานักปฏิบัติก็ควรแก่การสรรเสริญยิ่งกว่าพระภิกษุในสํานักของพระผู้มีพระภาค ซึ่งท่านมีชีวิตตามปกติธรรมดาตามพระวินัยบัญญัติ คือ บิณฑบาต ฟังธรรม สนทนาธรรม และกระทํากิจต่างๆ ของสงฆ์ด้วย
ถ. ที่ว่าไม่ใช่อัธยาศัยนี้ก็เข้าใจ แต่ถ้าจะฝืนอัธยาศัยไม่เป็นการสมควรหรือ
สุ. อันนี้ต้องพิจารณาเหตุผลให้ถูกต้อง มีพระภิกษุจํานวนมากทีเดียวที่ไม่ได้อยู่ป่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงบังคับให้เจริญสติปัฏฐานในป่า หรือในห้อง หรือในสถานที่ที่ไม่ให้ทํากิจอะไรเลย พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการอยู่ป่า ทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี ทรงสรรเสริญทุกอย่างที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ แต่มิได้ทรงบังคับ มิได้ทรงวางกฎเกณฑ์ในการอบรมเจริญปัญญา เพราะพระองค์ทรงรู้อัธยาศัยของสัตว์โลก พระองค์ทรงแสดงธรรมให้พุทธบริษัทเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง เพื่อขัดเกลากิเลสที่มีอยู่ ตามปกติตามความเป็นจริง ด้วยการเจริญสติปัฏฐานตามเพศของบรรพชิตและคฤหัสถ์ เมื่อสติระลึกรู้พิจารณาศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยนั้น ก็จะสังเกตได้ว่า ค่อยๆ ละนิสัยเก่าที่เคยเพลินไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ไปทีละน้อย เป็นอัธยาศัยจริงๆ ไม่ใช่ฮวบฮาบเป็นพักๆ ไม่ใช่อย่างที่บางท่านกล่าวว่าสถานที่ปฏิบัตินั้นไม่ควรทาสีเพราะทําให้เกิดโลภะ แต่พอกลับบ้านก็ทาสีบ้าน ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ตามอัธยาศัยแท้จริงที่สะสมมา
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมซึ่งเป็นสัจจธรรม เป็นความจริง เพื่อให้เกิดความเห็นถูก ในเหตุและผลของสภาพธรรมทั้งหลาย ทรงแสดงการอบรมเจริญปัญญาด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อละคลายอนุสัยกิเลสที่ประจําอยู่ในจิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันมาในอดีตอนันตชาติจนถึงขณะนี้ อวิชชาความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม และความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนั้นเป็นอนุสัยกิเลส ไม่ว่าจะเห็นขณะใด ได้ยินขณะใด ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ คิดนึก สุข ทุกข์ ขณะใด ก็ยึดถือว่าเป็นตัวตนทั้งสิ้น ฉะนั้น ทางเดียวที่จะละอนุสัยกิเลสได้ก็คือ เจริญสติพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กําลังปรากฏ และรู้ชัดขึ้นเป็นลําดับจนถึงวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น
การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่การพยายามสร้างทุกข์ให้เกิดขึ้นด้วยการนั่ง นอน ยืน เดินนานๆ เพื่อให้เกิดทุกขเวทนา แต่เป็นการระลึกรู้พิจารณาศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กําลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามปกติตามความจริงซึ่งเกิดขึ้นแล้วตามเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
ถ. การเจริญสติปัฏฐานมี ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ท่านอรรถกถาจารย์ อุปมาเหมือนประตูเมืองทั้ง ๔ ถ้าใครเข้าประตูใดประตูหนึ่งไม่ว่าจะเป็นประตูทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็เข้าไปจนถึงกลางเมืองได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ก็มีอาจารย์หลายต่อหลายคนที่ว่า ไม่จําเป็นต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เอาแค่กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเพียงอย่างเดียวก็พอ เพราะอรรถกถาท่านแก้ไว้ว่าเข้าประตูใดประตูหนึ่งก็ถึงกลางใจเมืองเหมือนกัน กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้เจริญอย่างเดียวจะถึงพระนิพพานไหมครับ
สุ. การเจริญปัญญาเป็นเรื่องละเอียดมาก ไม่ใช่ว่าผู้หนึ่งผู้ใดอ่านอรรถกถาแล้วปฏิบัติได้ ประตูอยู่ที่ไหน ถ้ายังไม่ทราบเลยว่าประตูอยู่ที่ไหนแล้วจะเข้าประตูไหน
ถ. ประตูก็คือ กาย เวทนา จิต ธรรม นั่นเอง
สุ. เมื่อประตู คือ กาย เวทนา จิต ธรรม แล้วรู้อะไรที่กาย ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ สภาพธรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นขันธ์ อายตนะ ธาตุ อริยสัจจ์ ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะเป็นนามธรรม คือ สภาพรู้ ๑ และเป็นรูปธรรม คือ ไม่ใช่สภาพรู้ ๑ การเข้าใจเช่นนี้ไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของ นามธรรมและรูปธรรม ในขั้นการฟังนั้นไม่สงสัยเลยว่ารูปธรรมมีจริง รูปเกิดขึ้นปรากฏทางตาเป็นสีสันต่างๆ เสียงเป็นรูปที่ปรากฏทางหู กลิ่นเป็นรูปที่ปรากฏทางจมูก รสเป็นรูปที่ปรากฏทางลิ้น เป็นต้น และนามธรรมก็มีจริงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ โดยขั้นการฟังนั้นเข้าใจได้ถูกต้อง แต่การที่ปัญญาจะรู้ลักษณะนามธรรมที่ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้นั้น จะรู้ได้อย่างไรถ้าไม่ระลึกรู้ ฉะนั้นการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียวจะทําให้รู้ลักษณะของนามธรรมได้หรือ
ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ในขณะที่กําลังเห็น พิจารณาศึกษารู้ว่าเป็นเพียงสภาพรู้อย่างหนึ่ง ขณะได้ยินก็ระลึกได้พิจารณาเข้าใจลักษณะของนามธรรมที่ได้ยิน เพื่อที่จะรู้จริงๆ ว่าขณะนั้นเป็นสภาพรู้เสียง เมื่ออบรมเจริญสติ ศึกษา พิจารณาเข้าใจและรู้ลักษณะของนามธรรมทางตา ทางหู ฯลฯ บ่อยๆ เนืองๆ ปัญญาก็จะรู้ได้ว่ายังมีนามธรรมอื่นๆ อีกที่ จะต้องระลึกรู้จนกว่าลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือ อาการรู้นั้นจะปรากฏจริงๆ ให้ประจักษ์แจ้งว่าเป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน
ถ้าผู้ใดจะระลึกเพียงลักษณะของนามธรรมที่ได้ยิน แต่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่กําลังเห็นเลย มีความตั้งใจ พากเพียรที่จะรู้เพียงลักษณะของนามธรรมที่ได้ยินเสียงเท่านั้น จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้จริงๆ ในขณะที่เห็นได้ไหม พิสูจน์ได้ด้วยตนเองว่าไม่เป็นเช่นนั้นเลย
ฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาโดยสติระลึกรู้พิจารณา ศึกษาเข้าใจลักษณะของนามธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทาง ลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เพื่อที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้จนหมดสงสัยจริงๆ
เมื่อสติเกิดและปัญญาพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยทั่วแล้วก็ละคลายความสงสัย ในลักษณะของนามธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ไปทีละเล็กละน้อย จนกว่าปัญญาความรู้ชัดลักษณะของสภาพธรรมจะเพิ่มขึ้นๆ เป็นลําดับ แต่ถ้าผู้ใดต้องการรู้เพียงนามเดียวเท่านั้นก็แสดงว่ายังต้องมีความไม่รู้และความสงสัยในลักษณะของนามธรรมอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ การที่จะขจัดความสงสัยความไม่รู้ในลักษณะของธาตุรู้นั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้เพียงลักษณะของนามธรรมเดียว เพราะถ้ารู้เพียงนามธรรมเดียวเท่านั้นจริงๆ ก็แสดงว่าไม่รู้สภาพธรรมอื่นแน่ๆ
ถ. ขั้นฟังเขาแล้วก็เข้าใจ เวลาปฏิบัติเขาก็ผ่านนามรูปปริจเฉทญาณ
สุ. ผ่านอย่างไร
ถ. อันนี้ไม่ใช่ตัวผม
สุ. เพราะฉะนั้นไม่ต้องตื่นเต้นกับการผ่านของคนอื่น จะต้องเป็นปัญญาของท่านเองที่พิจารณารู้ว่าปัญญาที่ได้อบรมเจริญขึ้นๆ จนเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นนั้น ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามปกติทีละอย่างทางมโนทวาร ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะที่กําลังปรากฏ ไม่ใช่เพียงนามธรรมเดียวและรูปธรรมเดียวเท่านั้น
ถ. ผู้ปฏิบัติจนกระทั่งได้ถึงนิพพิทาญาณ การปฏิบัติของเขาก็คือ ดูรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน ผมยังสงสัยว่า รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน เขาไปดูกันยังไง ปฏิบัติกันอย่างไร จนบรรลุได้ถึงนิพพิทาญาณ
สุ. นามรูปปริจเฉทญาณเป็นอย่างไร เมื่อไม่รู้ก็จะถึงนิพพิทาญาณไม่ได้ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของรูปปรมัตถธรรมทีละลักษณะ ซึ่งปรากฏที่กาย คือ รูปเย็นบ้าง รูปร้อนบ้าง รูปอ่อนบ้าง รูปแข็งบ้าง รูปตึงบ้าง รูปไหวบ้าง ไม่ใช่ดูรูปเป็นท่าทางนั่ง นอน ยืน เดิน เมื่อสภาพเย็นปรากฏที่กายก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เย็น จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน เมื่อไม่รู้ลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารว่าเป็นเพียงรูปที่ปรากฏได้แต่ละทวารเท่านั้น ก็จะถึงนามรูปปริจเฉทญาณไม่ได้ เมื่อปัญญาไม่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณก็จะถึงนิพพิทาญาณไม่ได้
ถ. ในสัมปชัญญบรรพ ท่านก็แสดงไว้ว่า เรายืนก็รู้ว่าเรายืน ขณะที่เดินก็รู้ว่าเราเดิน ขณะที่นั่งก็รู้ว่าเรานั่ง หรือคู้เข้าเหยียดออก ก็ให้รู้ลักษณะสัณฐานต่างๆ นี้ คําว่าเราเดินก็ให้รู้ว่าเราเดิน รู้ขณะที่เดินชื่อว่าปฏิบัติรูปเดินได้ไหมครับ
สุ. ถ้าไม่มีรูป จะมีเดินได้ไหม
ถ. ไม่มีรูป ก็มีแต่อากาศ อากาศเดินไม่ได้ครับ
สุ. ขณะที่กําลังเดิน มีรูปแต่ละลักษณะปรากฏให้รู้ได้แต่ละทาง
ถ. รูปเดินหรือเปล่าครับ
สุ. รูปที่ปรากฏไม่ว่าขณะนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดินนั้น จะต้องปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ โดยไม่เจาะจง โดยเป็นอนัตตา
ถ. นี่เขาจงใจ เพราะในอรรถกถาท่านก็อุปมาไว้ว่า เข้าประตูใดประตูหนึ่ง ก็ถึงกลางเมืองเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เจริญเฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น ปัฏฐานอื่นเขาไม่เอา
สุ. การอ่านอรรถกถาจะต้องเข้าใจด้วยว่า ปัญญาที่ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตนได้จริงๆ นั้น เป็นปัญญาที่รู้อะไร สภาพธรรมมี ๒ อย่าง คือ รูปธรรมและนามธรรม เมื่อไม่รู้แจ้งชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ยังยึดถือทั้งนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ข้อความที่ว่าในขณะที่เดินให้รู้ว่าเราเดิน ตามความเป็นจริงนั้นไม่มีเรา มีแต่รูป ขณะที่สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของรูปที่กาย ซึ่งปรากฏในขณะที่เดินก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่จะบังคับสติให้ระลึกรู้รูปซึ่งปรากฏที่กายอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ ย่อมแล้วแต่สติซึ่งเป็นอนัตตาจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใดหรือรูปธรรมใดที่เกิดขึ้น ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ปัญญาที่ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนั้นรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้น ปรากฎจนทั่วทั้ง ๖ ทวาร จึงรู้แจ้งชัดได้ว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ
ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สมุททวรรคที่ ๓ อุทายี สูตร (๓๐๐) มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระอุทายีอยู่ ณ โฆสิตารามใกล้พระนครโกสัมพี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระอุทายีออกจากที่พักผ่อนแล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกร ท่านพระอานนท์ กายนี้พระผู้มีพระภาคตรัสบอกเปิดเผย ประกาศแล้วโดยปริยายต่างๆ ว่าแม้เพราะเหตุนี้กายนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ฉันใด แม้วิญญาณนี้ ท่านอาจจะบอกแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จําแนก กระทําให้ตื้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณก็เป็นอนัตตา ฉันนั้นหรือ
เมื่อยังไม่รู้แจ้งชัดในสภาพธรรม ก็ยังไม่หมดความสงสัย เมื่อยังสงสัยอยู่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้อย่างไร จะเข้าประตูไหน เพราะประตูที่ว่านี้หมายถึง ขณะที่โลกุตตรจิตจะเกิดขึ้นรู้แจ้งนิพพาน ก่อนที่โลกุตตรจิตจะเกิดนั้น กามาวจรจิตต้องเกิดก่อน แล้วแต่ว่ากามาวจรจิตนั้นมีสติปัฏฐานใดใน ๔ สติปัฎฐาน เป็นอารมณ์ แต่ไม่ใช่ว่าไม่รู้แจ้งชัดลักษณะของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วจะไปเข้าประตู คือ บรรลุอริยสัจจธรรมประจักษ์ลักษณะของนิพพาน โดยนิพพานเป็นอารมณ์ได้ และกว่าจะเข้าใจได้ว่ากายนี้เป็นอนัตตา... แม้วิญญาณนี้ก็เป็นอนัตตา ก็ต้องบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จําแนก กระทําให้ตื้นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ที่กําลังเห็น กําลังได้ยิน กําลังได้กลิ่น กําลังลิ้มรส กําลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กําลังคิดนึก เพราะยากที่จะเข้าถึงอรรถและประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตาได้
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกร ท่านพระอุทายี กายนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผย ประกาศแล้วโดยปริยายต่างๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ กายนี้เป็นอนัตตาดังนี้ฉันใด แม้วิญญาณนี้ ผมอาจจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จําแนก กระทําให้ตื้นว่า แม้เพราะเหตุนี้วิญญาณนี้ก็เป็นอนัตตา ฉันนั้น
ถ้าท่านพระอานนท์ไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล ไม่รู้แจ้ง สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมโดยทั่วโดยตลอด จนละความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ท่านพระอานนท์ก็คงจะกล่าวกับท่านพระอุทายีไม่ได้ว่า ผมอาจบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จําแนก กระทําให้ตื้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา
ฉะนั้น บุคคลใดบรรลุธรรมใด ธรรมนั้นย่อมปรากฏกับบุคคลนั้น เวลานี้สภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เมื่อบุคคลใดยังไม่บรรลุธรรมใด ธรรมนั้นก็ไม่ปรากฏกับบุคคลนั้น แม้จะบอกกันสักเท่าไรว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ในขณะกําลังเห็น กําลังได้ยิน แต่เมื่อบุคคลนั้นยังไม่บรรลุธรรมใด ธรรมนั้นก็ไม่ปรากฏแก่บุคคลนั้น แต่เมื่อธรรมปรากฏกับบุคคลนั้นแล้ว บุคคลนั้นก็รู้แจ้งลักษณะที่แท้จริงของธรรมนั้น
ท่านพระอานนท์ไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเลยทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทาง ใจ ถ้าคนสมัยนี้เข้าใจว่าจะรู้เพียงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียว หรือรู้เพียงนามเดียวรูปเดียวเท่านั้น จะชื่อว่า รู้ลักษณะที่แท้จริงของนามธรรมและรูปธรรมได้ไหม เพราะถ้ารู้จริงแล้ว ทําไมทางตาไม่รู้ ในเมื่อทางตาเป็นนามธรรมเป็นธาตุรู้ที่กําลังเห็น ทําไมทางหูไม่รู้ ในเมื่อทางหูเป็นนามธรรมเป็นธาตุรู้ที่กําลังได้ยินเสียง ถ้ารู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ ประจักษ์แจ้งในธาตุรู้อาการรู้แล้วทําไมไม่รู้ว่าในขณะที่คิดนึกก็เป็นเพียงนามธรรมที่ กําลังรู้เรื่อง รู้คําเท่านั้นเอง
การที่จะทดสอบปัญญาของท่านว่า รู้จริง หรือเปล่า คือ ไม่ว่าเป็นนามธรรมใด รูปธรรมใด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อรู้จริงก็ต้องรู้ลักษณะของนามธรรมต่างกับรูปธรรมในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก จึงจะเป็นการรู้จริงในอรรถ และลักษณะของสภาพธรรทั้งหลายโดยความเป็นอนัตตา
ท่านพระอานนท์กล่าวกับท่านพระอุทายีว่า “ดูกร ท่านพระอุทายี จักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปหรือ”
อุทายี อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ
อานนท์ เหตุและปัจจัยที่จักขุวิญญาณอาศัยเกิดขึ้นพึงดับไปหมดสิ้น หาส่วนเหลือมิได้ จักขุวิญญาณจะปรากฏบ้างหรือหนอ
อุทายี ไม่ปรากฏเลย ท่านผู้มีอายุ
ในขณะที่ได้ยิน ไม่มีเห็น นี่คือการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน เพราะขณะนั้นกําลังรู้เรื่อง สภาพรู้กําลังคิดเรื่องที่กําลังรู้อยู่ในขณะนั้น นี่คือการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ท่านพระอานนท์จึงกล่าวกะท่านพระอุทายีว่า เมื่อจักขุวิญญาณ คือการเห็นเกิดขึ้นเพราะอาศัย จักขุคือตา และสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อจักขุและรูปซึ่งไม่เที่ยงดับไปแล้ว การเห็นจะมีได้อย่างไร การเห็นก็ต้องดับไป
ในขณะนี้ผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้จริงๆ เป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว กว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนถึงนิพพิทาญาณได้ ปัญญาจะต้องเจริญขึ้นจนรู้ปัจจัยของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น บรรลุถึงปัจจยปริคคหญาณแล้วปัญญาจึงจะอบรมเจริญต่อไป จนกว่าจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่สืบต่อกัน เป็นสัมมสนญาณแล้วปัญญาก็จะต้องอบรมเจริญต่อไป จนกว่าจะประจักษ์การเกิดดับ แยกขาดกันของสภาพธรรมแต่ละลักษณะเป็นอุทยัพพยญาณ แล้วปัญญาจึงจะอบรมเจริญขึ้นจนกว่าจะประจักษ์ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมซึ่งดับไปๆ เป็นภังคญาณ แล้วปัญญาจึงจะอบรมเจริญขึ้นจนกว่าจะประจักษ์โทษภัยของการดับไปของสภาพธรรมเป็นภยญาณและอาทีนวญาณ แล้วปัญญาก็จะต้องอบรมเจริญขึ้นจนกว่าจะถึงนิพพิทาญาณ ปัญญาจะต้องรู้แจ้งชัดจริงๆ โดยประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ว่าไม่รู้ลักษณะของนามธรรมแล้วจะเข้าประตูนิพพาน โดยเพียงรู้ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ซึ่งเป็นการจํารูปที่เกิดรวมกันเป็นสัณฐานอาการต่างๆ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของ นามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นปรากฏทางทวารต่างๆ แล้วก็ดับไป ตามปกติตามความเป็นจริง
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า แม้โดยปริยายนี้แล จักขุวิญญาณนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผย ประกาศแล้วว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ข้อความซ้ำต่อไปตลอดไปถึงโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ โดยนัยเดียวกัน
พระสูตรนี้แสดงให้เห็นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดโดยตลอด ในเรื่องของวิญญาณทั้งหลายซึ่งเป็นนามธรรม ถ้าสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้โดยสติปัฏฐานเดียว พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมอื่นเพื่อประโยชน์อะไร ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้ สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ความสุข ความทุกข์ ความจํา ฯลฯ เป็นอันมาก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึก ให้ปัญญาพิจารณา ศึกษารู้ชัดเจนดับความสงสัยและความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรม และรูปธรรมได้เป็นสมุจเฉท และที่กล่าวว่าสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้โดยไม่ต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติตามความเป็นจริงนั้น ก็แสดงความเคลือบแคลงสงสัยแล้วว่าจะรู้นามอื่นรูปอื่นไม่ได้ มิฉะนั้นก็จะไม่กล่าวว่า ให้รู้เพียงนามเดียวรูปเดียว
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ดูกร ท่านพระอุทายี บุรุษต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือเอาขวานอันคมเข้าสู่ป่า พบต้นกล้วยใหญ่ ตรง ไม่รุงรังในป่านั้น จึงตัดที่โคนต้น แล้วตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลอกกาบออก แม้กระพี้ที่ต้นกล้วยนั้นก็ไม่พบ ที่ไหนจะพบแก่นไม้ ฉันใด ดูกร ท่านพระอุทายี ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตนหรือสิ่งที่เป็นตัวตนในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเล็งเห็นอยู่อย่างนี้ก็ไม่ยึดถือสิ่งใดในโลก เมื่อไม่ยึดถือ ก็ไม่ดิ้นรน เมื่อไม่ดิ้นรนก็ปรินิพพานโดยแน่แท้ ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทํา ทําเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”
ข้อความตอนท้ายที่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ดูกร ท่าน พระอุทายี บุรุษต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือเอาขวานอันคมเข้าสู่ป่า พบต้นกล้วยใหญ่ ตรง ไม่รุงรังในป่านั้น” เมื่อเป็นต้นกล้วยก็ยังเป็นท่าทางเพราะรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน
“พึงตัดที่โคนต้น แล้วตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลอกกาบออก” คือต้องเพิกถอนสิ่งที่เคยยึดถือรวมกันประชุมกันเป็นวัตถุ เป็นตัวตน เป็นท่าทางออก “แม้กระพี้ที่ต้นกล้วยนั้นก็ไม่พบ ไฉนจะพบแก่นได้” จึงจะละการยึดถือว่าเป็นต้นกล้วย เช่นเดียวกับโคทั้งตัว ถ้ายังไม่ลอกหนังออก ไม่ตัดชิ้นส่วนต่างๆ ออก ก็ยังคงเห็นเป็นโคนอนอยู่ ตราบใดที่รูปทั้งหลายยังประชุมรวมกันอยู่ก็จําไว้เป็นท่าทาง เป็นอาการใดอาการหนึ่ง และยังคงเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นวัตถุ เป็นตัวตนบุคคลอยู่ ต่อเมื่อใดรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อนั้นจึงจะไม่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เหมือนการลอกกาบออกแม้กระพี้ที่ต้นกล้วยก็ไม่พบ ไฉนจะพบแก่นได้ ฉันใด
“ดูกรท่านพระอุทายี ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตนหรือสิ่งที่เป็นตัวตนในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้” ในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้มีท่าทางอะไรเลย ตาเป็นอายตนะหนึ่ง รูปายตนะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าตราบใดที่ยังเห็นเป็นคนกําลังนั่ง ขณะนั้นจะกล่าวว่า ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นแต่เพียงความคิดนึกเอาเองว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ประจักษ์ว่าที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ นั้น ปัญญาจะต้องรู้ว่าขณะที่เห็นนั้นเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หลังจากนั้นจึงตรึก หรือจําสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏแล้วจึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แม้ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมที่รู้ที่จํา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ทางหูซึ่งได้ยินนั้นก็ไม่มีความทรงจําเหลือค้างอยู่จากทางตาว่า กําลังเห็นคนนั่งคุยกัน หรือกําลังพูด เพราะขณะนั้นสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่ได้ยินซึ่งเป็นธาตุรู้เสียงเท่านั้น แล้วหลังจากนั้นจิตจึงคิดนึกคําหรือเรื่องตามเสียงต่ำเสียงสูงที่ได้ยิน ปัญญารู้ว่าขณะที่รู้คํานั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่รู้คํา
เมื่อรู้สภาพธรรมทั้งหลายเป็นนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตนจึงละคลายลงและความทรงจําที่ยึดถือรูปรวมกันเป็นท่าทางจึงจะหมดไป แล้วจะเข้าใจอรรถที่ว่า “ความสงบในภายใน” เพราะจิตไม่ได้ออกไปยุ่งเกี่ยวภายนอกซึ่งเป็นตัวตน คนสัตว์เลย ไม่มีโลกเก่าซึ่งเป็นโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยผู้คนวัตถุ สิ่งต่างๆ ที่เคยยึดถือว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างเที่ยงแท้ถาวร แต่ว่าสติเกิดขณะใด ปัญญารู้ชัดขณะนั้นจึงเป็นความสงบภายในเพราะไม่มี คน สัตว์ วัตถุใดๆ ที่ไม่สงบ เพราะคนเยอะ มีเรื่องมาก ถ้าเป็นบุคคลที่เคยมีความสัมพันธ์หรือมีเรื่องราวที่เคยเกี่ยวข้องกัน พอเห็นนิดเดียวก็ต่อเป็นเรื่องยาว แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยรู้จักเรื่องก็สั้น พอเห็นก็คิดนิดเดียวก็หมดแล้ว ไม่ได้ติดตามไปเป็นเรื่องราวต่างๆ
เมื่ออบรมเจริญปัญญาจริงๆ ก็จะเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ตั้งแต่ขั้นปาติโมกขสังวรศีล ความประพฤติทางกายและทางวาจาที่ควรแก่สมณะ คือ เพศบรรพชิตผู้สงบ แม้แต่การมองก็มองชั่วแอก เพื่อให้ระลึกอยู่เสมอว่าไม่ควรต่อเรื่องให้ยืดยาว เมื่อเห็นแล้วก็ไม่ควรคิดวิจิตรเป็นคนนั้นเป็นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้มากมาย เมื่อเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นเพียง “เห็น” จะชั่วแอกหรือไม่ชั่วแอกก็ตาม เห็นแล้วก็จบ ขณะนั้นก็จะไม่ผูกพันเยื่อใยในนิมิต อนุพยัญชนะ เมื่อปัญญารู้ชัดจริงๆ ว่าที่เคยเห็นเป็นโลกภายนอกมีคนมากมายนั้น ก็เป็นเพราะคิด ถ้าไม่คิด เพียงเห็นแล้วก็หมด จะมีคนเยอะไหม แต่เพราะเคยคิดมานาน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมคิด แล้วแต่ว่าจะคิดอะไร แม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกัน แต่ละคนคิดไม่เหมือนกันเลย ตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา เช่น เห็นดอกไม้ท่านหนึ่งพอใจว่าสวย อีกท่านหนึ่งว่าไม่สวย ฉะนั้น สวยหรือไม่สวยจึงเป็นความคิดของแต่ละคน โลกที่แท้จริงจึงเป็นโลกของความคิดของแต่ละบุคคล เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ก็จะรู้ชัดว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมที่กําลังคิดเรื่องต่างๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะคิดอะไรก็ตาม เมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมที่คิด ก็รู้ว่าเรื่องราวที่เป็นคน สัตว์ต่างๆ ไม่มีจริงๆ ขณะที่เป็นทุกข์กังวลใจ ก็รู้ว่าทุกข์ เพราะความคิด ขณะที่เป็นสุขก็โดยนัยเดียวกัน ขณะที่ดูโทรทัศน์เรื่องที่ชอบใจก็เป็นสุข เพราะคิดตามภาพที่เห็น ฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ก็อยู่ในโลกของความคิดนึกนั่นเอง โลกแต่ละขณะจึงเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วก็คิดนึกต่อทางใจเป็นเรื่องราวต่างๆ เท่านั้นเอง
###
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ความสุข ความทุกข์ นี้เป็นเรื่องของความคิด ตอนนี้ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ เวลามีความทุกข์ใครเขาจะอยากคิดทุกข์ ฉะนั้น ที่อาจารย์พูดว่า ความทุกข์เกิดจากความคิด คิดให้เป็นทุกข์คิดยังไงครับ
สุ. ไม่ใช่คิดให้เป็นทุกข์ มีเหตุมีปัจจัยให้คิดแล้วเป็นทุกข์
ถ. หมายความว่ามีปัจจัยเกิดขึ้น เช่น สมบัติพลัดพรากไป หรือว่าแทงม้าเสียไป กลับถึงบ้านก็คิดว่าเสียไปเท่านั้นเท่านี้ การแทงม้าเป็นปัจจัย
สุ. ถ้าไม่คิดเรื่องเสียม้า จะมีความทุกข์ไหม
ถ. ไม่ทุกข์ครับ
สุ. เมื่อเห็น ได้ยิน แล้วคิด ปัญญาจะต้องรู้ว่า ขณะที่คิดนั้นก็เป็นนามธรรมที่คิดเรื่องต่างๆ แล้วก็ดับ ขณะที่คิดเรื่องม้าไม่มีม้า ในขณะนั้น มีความจําเรื่องม้าที่ทําให้เกิดความทุกข์ขึ้น ฉะนั้น ทุกข์จึงเกิดเพราะคิดเรื่องที่ไม่พอใจ และสุขก็เกิดเพราะคิดเรื่องที่พอใจ
###
ธรรมที่ได้ฟังทั้ง ๓ ปิฎก รวมทั้งอรรถกถาและฎีกา ก็เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่กําลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติความเป็นจริง ไม่ว่าจะฟังมาก เรียนมาก สนทนาธรรมมาก ตรึกตรองธรรมมากสักเท่าไร ก็เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกศึกษาพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนี้ แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็จะต้องพิจารณาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่กําลังปรากฏจริงๆ ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะศึกษาพิจารณา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาในแต่ละวันที่ผ่านไปๆ ซึ่งก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทุกขณะ ไม่มีอะไรเหลือเลย สักขณะเดียว
ทุกคนรู้ว่าอดีตที่สนุกสนานหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็ดับหมดไปแล้ว คงเหลืออยู่แต่ปัจจุบันขณะนี้ขณะเดียว เพียงขณะเดียวจริงๆ ซึ่งจะต้องศึกษาให้เข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล บางคนก็บอกว่าไม่ขอพบคนนั้นคนนี้อีกในชาติหน้า ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมแล้วจะไม่คิดอย่างนี้เลย เพราะชาติหน้าจะไม่มีคนนั้นและจะไม่มีคนนี้ซึ่งกําลังเข้าใจว่าเป็นเราอีกในชาติหน้าด้วย ชาตินี้เท่านั้นที่ยังเป็นคนนี้หรือเป็นคนนั้นอยู่ เมื่อตายไปก็สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้และบุคคลนั้นในชาตินี้โดยเด็ดขาด ชาติหน้าก็ต้องเป็นบุคคลอื่นจริงๆ ฉะนั้น ก็ไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะต้องไปพบกับคนนั้นคนนี้อีก ซึ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้เลยเพราะว่าความเป็นบุคคลนี้บุคคลนั้นจะไม่ติดตามไปถึงชาติหน้า
ถ้ายังมีความขุ่นเคืองใจหรือความไม่พอใจในบุคคลหนึ่ง บุคคลใด ก็ขอให้เข้าใจว่าความจริงไม่มีบุคคลนั้นเลยมีแต่สภาพธรรมซึ่งเป็น จิต เจตสิก รูปที่เกิดขึ้นและดับไป ทุกชีวิตดํารงอยู่ เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง
การระลึกถึงความตายเนืองๆ บ่อยๆ ย่อมมีประโยชน์แก่การเจริญสติปัฏฐาน เมื่อระลึกได้ว่าอาจจะตายเย็นนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ ก็จะเป็นปัจจัยเกื้อกูล ให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กําลังปรากฏ เพราะผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลนั้น เมื่อจุติแล้วก็ไม่แน่นอนว่าจะปฏิสนธิในสุคติภูมิหรือทุคติภูมิ จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมและเจริญสติปัฏฐานอีกหรือไม่
ความตายพรากทุกอย่างจากชาตินี้ไปหมดสิ้น ไม่มีอะไรเหลืออีกเลยแม้แต่ความทรงจํา เหมือนเมื่อเกิดมาชาตินี้ก็จําไม่ได้ว่าชาติก่อนเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทําอะไร หมดความเป็นบุคคลในชาติก่อนโดยสิ้นเชิง ฉันใด ชาตินี้ทั้งหมดไม่ว่าจะเคยทํากุศลกรรม อกุศลกรรมอะไรมาแล้ว เป็นบุคคลที่มีมานะในชาติตระกูล ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียงอะไรๆ ก็ตาม ก็จะต้องหมดสิ้น ไม่มีเยื่อใยหลงเหลือเกี่ยวข้องกับภพนี้ชาตินี้อีกเลย หมดความ ผูกพันยึดถือทุกขณะในชาตินี้ว่าเป็น “เรา” อีกต่อไป ฉันนั้น
การประจักษ์แจ้งลักษณะที่แท้จริงของปรมัตถธรรมจะพรากจากการยึดถือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยว่าเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน แม้แต่ความทรงจําที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมประเภทหนึ่งเท่านั้น สติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนปัญญาประจักษ์แจ้งสภาพธรรม จึงพรากจากความเป็นตัวตนเป็นบุคคลในชาตินี้ เมื่อประจักษ์ลักษณะที่เป็นขณิกมรณะของสภาพธรรมทั้งหลายเพราะมรณะหรือความตายนั้นมี ๓ ประเภทคือ (51) ขณิกมรณะ สมมติมรณะ สมุจเฉทมรณะ
ขณิกมรณะ คือ การเกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรมทั้งหลาย
สมมติมรณะ คือ ความตายในภพหนึ่งชาติหนึ่ง
สมุจเฉทมรณะ คือ ปรินิพพาน การตายของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีการเกิดขึ้นอีกเลย
(49) ปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย จริยาปิฏก นิทานกถา
(50) สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อภิสมยวรรคที่ ๖ นขสิขาสูตร ข้อ ๑๗๔๗
(51) สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาสัจจวิภังคนิทเทส นิทเทสมรณะ ข้อ ๑๙๓
- พระพุทธศาสนามีองค์ ๙
- ปรมัตถธรรมสังเขป
- จิตตสังเขป บทที่ ๑ ความสำคัญของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๒ คำอธิบายจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๓ คำอธิบายจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๔ วิถีจิต, ทวาร, วัตถุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๕ ชาติของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๖ จิต ๘๙ จำแนกเป็น ๔ ชาติ, กิจของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๗ อรรถของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๘ อรรถของจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๙ ภูมิของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๐ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๑ สัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๒ คำอธิบาย อสังขาริก และ สสังขาริก
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๓ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็นเหตุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๔ จิตต่างกันโดยนัยของโสภณะและอโสภณะ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๕ จิตต่างกันโดยนัยของโลกิยจิตและโลกุตตรจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๖ อรรถของจิตประการที่ ๕ ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร
- บัญญัติ
- ภาคผนวก จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท
- ภาคผนวก เจตสิก ๕๒ ประเภท
- ภาคผนวก รูป ๒๔ ประเภท
- สมถภาวนา
- วิปัสสนาภาวนา
- แนวทางเจริญวิปัสสนา