จิตตสังเขป บทที่ ๑ ความสำคัญของจิต

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อันธวรรคที่ ๗ จิตตสูตรที่ ๒

(๑๘๐) เทวดาทูลถามว่า

โลกอันอะไรย่อมนําไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอํานาจของธรรมอันหนึ่ง คืออะไร

(๑๘๑) พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

โลกอันจิตย่อมนําไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมด เป็นไปตามอํานาจของธรรมอันหนึ่ง คือ จิต

แสดงให้เห็นความสําคัญของจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กําลังปรากฏ ซึ่งไม่เพียงแต่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้น แต่ยังคิดนึกวิจิตรต่างๆ นานา ฉะนั้นโลกของแต่ละคนจึงเป็นไปตามอํานาจจิตของแต่ละคน จิตของบางคนก็สะสมกุศลไว้มาก ไม่ว่าจะเห็นบุคคลใดซึ่งเป็นผู้ที่มากไปด้วยอกุศลธรรม จิตของบุคคลซึ่งสะสมกุศลไว้มากนั้นก็ยังเกิดเมตตา หรือกรุณา หรืออุเบกขาได้ ในขณะที่โลกของคนอื่นเป็นโลกของความชิงชัง ความไม่แช่มชื่น ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ฉะนั้น แต่ละคนจึงเป็นโลกของตัวเองแต่ละโลก ทุกๆ ขณะตามความเป็นจริง

ดูเหมือนว่าเราทุกคนอยู่ร่วมโลกเดียวกัน แต่ตามความเป็นจริงนั้น สิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมซึ่งสามารถปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ย่อมไม่ปรากฏเป็นความสําคัญแต่อย่างใด แต่เพราะจิตรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง โลกของแต่ละคนจึงเป็นไปตามอํานาจของจิตของแต่ละคน โลกไหนจะดี โลกที่สะสมกุศลมากๆ พร้อมที่จะเกิดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือโลกที่ชิงชัง โกรธแค้น ขุ่นเคือง ซึ่งแม้ว่าจะเห็นบุคคลเดียวกัน รู้เรื่องบุคคลเดียวกัน แต่โลกของแต่ละคนจะเมตตาหรือชิงชัง ก็ย่อมเป็นไปตามอํานาจจิตของแต่ละคนซึ่งสะสมมาต่างๆ กัน

สิ่งที่ปรากฏทางตาทําให้ดูเหมือนว่า มีผู้คนอยู่ร่วมกันในโลกนี้มากมายตามกาละและเทศะ แต่ถ้าประจักษ์ชัดในลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพรู้ เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น จะรู้ได้ว่าชั่วขณะนั้นเป็นเพียงการเห็น เป็นเฉพาะโลกของการเห็นซึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งต่างๆ เพราะขณะนั้นเพียงเห็น ยังไม่ได้นึกถึงรูปร่าง สัณฐาน และเรื่องราวใดๆ ของสิ่งที่เห็น

ฉะนั้น จึงควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะที่คิดว่าเป็นโลก เป็นสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งของต่างๆ นั้น เป็นชั่วขณะที่จิตคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ขณะที่กําลังเห็นเป็นอีกขณะหนึ่ง ไม่ใช่ขณะที่กําลังคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏ แต่ละคนก็มีจิตเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวๆ สืบต่อกันไปทีละขณะจนปรากฏเหมือนกับว่าเป็นโลกที่กว้างใหญ่ มีผู้คนและสิ่งต่างๆ มากมาย แต่ที่จะเข้าใจโลกได้จริงๆ นั้น ต้องรู้ว่าสภาพธรรมปรากฏเพียงแต่ละขณะจิตเท่านั้น แต่เพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงทําให้ปรากฏเป็นโลกที่เสมือนไม่แตกสลาย เป็นโลกซึ่งปรากฏเสมือนยั่งยืน มีสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งของมากมาย แต่ตามความเป็นจริงนั้น โลกขณะหนึ่งๆ ก็คือ การเกิดขึ้นของจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เพียงชั่วขณะเดียวแล้วก็ดับไป

ในขุททกนิกาย มหานิทเทส ปสูรสุตตนิทเทสที่ ๘ ข้อ ๓๑๙ มีข้อความว่า ชื่อว่า “ใจ (มโน) ” ในคําว่า คิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ ความว่าใจ คือจิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุที่เกิดแต่ผัสสะ เป็นต้นนั้น

พระผู้มีพระภาคทรงใช้พยัญชนะหลายคํา เพื่อให้เข้าใจลักษณะของจิตซึ่งทุกคนมี แต่เพราะจิตเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ จึงยากที่จะรู้ได้ว่า ลักษณะที่เป็นเพียงธาตุรู้นั้นเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ทุกคนคงจะเข้าใจความหมายบางประการของจิตที่ว่า “ใจ” ซึ่งทุกคนมี แต่ก็เพียงแต่รู้ว่ามี ซึ่งเมื่อไม่พิจารณาก็ย่อมไม่ทราบว่าเมื่อไร และขณะไหนเป็นจิต

ในอัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายจิตตนิทเทส มีข้อความว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตร

ธาตุรู้มีมากไม่ใช่อย่างเดียวเลย จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตร ความวิจิตรของจิตปรากฏเมื่อคิดนึกเรื่องต่างๆ ซึ่งไม่ว่าใครจะทําอะไรในวันหนึ่งๆ นั้น เมื่อพิจารณาแล้วย่อมรู้ว่าเป็นไปตามความวิจิตรของจิตทั้งสิ้น

วันนี้ทําอะไรมาบ้างแล้ว และต่อไปเย็นนี้ พรุ่งนี้จะทําอะไร ถ้าไม่มีจิตก็ทําไม่ได้ เหตุที่ทุกคนมีการกระทําในวันหนึ่งๆ ต่างๆ กันตามวิถีชีวิตของแต่ละคนนั้น จะเห็นได้ว่าการกระทําทั้งหมดย่อมเป็นไปตามความวิจิตรของจิตของแต่ละคน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการกระทําทั้งทางกาย ทางวาจาต่างๆ กันในชีวิตประจําวัน จิตเป็นธรรมชาติที่คิด ซึ่งคิดมากเหลือเกิน แต่ละคนก็คิดต่างๆ กันไป ในบรรดาผู้ที่สนใจศึกษาธรรมก็พิจารณาธรรมต่างๆ กัน ความคิดเห็นในขั้นของการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ต่างกัน และแม้แต่ในเรื่องของโลก ความเป็นไปในกลุ่มบุคคลแต่ละกลุ่มแต่ละประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ของโลก แต่ละขณะนั้นก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามความวิจิตรของความคิดของแต่ละบุคคล โลกยุคนี้เป็นอย่างนี้ ตามความคิดของแต่ละบุคคลในยุคนี้ สมัยนี้ แล้วต่อไปโลกจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามจิตซึ่งคิดวิจิตรต่างๆ นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่า จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตร จิตที่เห็นทางตาเป็นจิตประเภทหนึ่ง ต่างกับจิตที่ได้ยินทางหู ซึ่งเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง และต่างกับจิตที่คิดนึก เป็นต้น

ที่ (จิต) ชื่อว่า “มโน” เพราะรู้อารมณ์

คําว่า อารมฺมณ (อารมณ์) หรือ อาลมฺพน หมายถึงสิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้เกิดขึ้น สิ่งที่จิตกําลังรู้ในขณะนั้นชื่อว่า “อารมณ์"

เสียงมีจริงไหม เมื่อสิ่งที่แข็งกระทบกันก็เป็นปัจจัยให้เสียงเกิดขึ้น แต่ถ้าในขณะนั้นจิตไม่เกิดขึ้นรู้เสียงนั้น เสียงนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์ ฉะนั้น ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ขณะใดจิตไม่รู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์

ที่ (จิต) ชื่อว่า “หทัย” เพราะความหมายว่าเป็นสภาวะอยู่ ภายใน

จิตเป็นภายใน เพราะเป็นสภาพรู้อารมณ์ที่ปรากฏ อารมณ์เป็นภายนอก เพราะเป็นสิ่งที่จิตกําลังรู้

ฉะนั้น การศึกษาเรื่องจิตจึงเป็นการพิจารณาสภาพธรรมที่กําลังปรากฏในขณะนี้ทั้งภายในและภายนอก จึงจะรู้ลักษณะของจิตได้ จิตมีจริง แต่จิตอยู่ไหน จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นภายใน ในขณะที่เห็น จิตไม่ได้อยู่ข้างนอก สีสันวัณณะกําลังปรากฏภายนอก จิตเป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน คือเป็นสภาพธรรมที่กําลังรู้สิ่งที่กําลังปรากฏทางตา

การอบรมเจริญปัญญานั้น ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ฉะนั้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือขณะใดที่เห็นแล้วระลึกได้ไม่หลงลืมที่จะพิจารณา ศึกษา สังเกต ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า สภาพเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ รู้สิ่งที่กําลังปรากฏทางตา

ในขณะที่กําลังได้ยินเสียง สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ว่าสภาพที่กําลังได้ยินเสียงเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นภายใน จึงยากที่จะพิจารณาให้รู้ได้ และสภาพที่ได้ยินเสียงนั้น ก็เกิดขึ้นรู้เสียงที่กําลังปรากฏแล้วดับไปทันที จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปรวดเร็วมาก เมื่อเข้าใจถูกว่าจิตกําลังเห็น จิตกําลังได้ยิน จิตกําลังคิดนึก เป็นต้น สติปัฏฐานก็ย่อมเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ในขณะนั้นๆ ได้

ฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจนประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ เป็นพระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ตามลําดับ

ที่ (จิต) ชื่อว่า “ปัณฑระ” เพราะความหมายว่าบริสุทธิ์ เพราะจิตมีลักษณะรู้แจ้งอารมณ์อย่างเดียว โดยสภาวะจึงเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ข้อความในสัทธัมมปกาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถามีว่า จิตนั้นชื่อว่า ปณฺฑรํ ขาว เพราะอรรถว่า บริสุทธิ์ ท่านกล่าวหมายเอาภวังคจิต ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตประภัสสร แต่จิตนั้นเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา อนึ่ง แม้จิตอกุศล ท่านก็กล่าวว่า ปัณฑระเหมือนกันเพราะอกุศลออกจากจิตนั้นแล้ว ดุจแม่น้ำคงคาไหลออกจากแม่น้ำคงคา และดุจแม่น้ำโคธาวรีไหลออกจากแม่น้ำโคธาวรี อนึ่ง เพราะจิตมีลักษณะรู้แจ้งอารมณ์จึงไม่เป็นกิเลสด้วยความเศร้าหมอง โดยสภาวะเป็นจิตบริสุทธิ์ทีเดียว แต่เมื่อประกอบด้วยกิเลสจึงเศร้าหมอง แม้เพราะเหตุนั้นจึงควรเพื่อจะกล่าวว่า ปัณฑระ

จิต เป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที การดับไปของจิต ดวง (ขณะ) ก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวง (ขณะ) ต่อไปเกิดขึ้น จิตเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงไม่มีจิตที่เห็นอยู่ตลอดเวลา และไม่มีจิตที่ได้ยินอยู่ตลอดเวลา ไม่มีจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายอยู่ตลอดเวลา และไม่มีจิตที่คิดนึกอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่นอนหลับสนิทไม่ฝัน จิตก็เกิดดับรู้อารมณ์สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตใดที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตนั้นเป็นภวังคจิต คือ ดํารงรักษาภพชาติที่เป็นบุคคลนั้นสืบต่อไว้ จนกว่าจิตอื่นจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ สลับกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นสุดการเป็นบุคคลนั้น

ภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะที่หลับสนิท ทุกคนไม่รู้สึกชอบ ไม่รู้สึกชัง ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่สําคัญตน ไม่เมตตา ไม่กรุณา เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น แต่ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะรู้ได้ว่าอกุศลจิตเกิด เพราะสะสมกิเลสต่างๆ ไว้มาก จึงทําให้เกิดความยินดีพอใจเมื่อเห็นสิ่งที่น่าพอใจ และรู้สึกขุ่นเคือง ไม่แช่มชื่น เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

ขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น รู้สึกอย่างไร ความรู้สึกเฉยๆ ดีใจ เสียใจนั้น ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเรียกว่า เวทนาเจตสิก จิตเป็นนามธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ แต่จิตไม่ใช่เวทนาเจตสิกซึ่งรู้สึกเฉยๆ หรือดีใจ หรือเสียใจในอารมณ์ที่กําลังปรากฏ สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น จะเกิดตามลําพังไม่ได้ ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกัน จิตต้องเกิดร่วมกับเจตสิก เจตสิกต้องเกิดร่วมกับจิต จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันนั้นดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดดับที่เดียวกัน จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นมีเจตสิกเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยต่างๆ กัน และกระทํากิจต่างๆ กัน ฉะนั้น จิตจึงต่างกันเป็นหลายประเภท

ไม่มีใครชอบขณะที่จิตขุ่นเคือง กระวนกระวาย กระสับกระส่าย โศกเศร้า เดือดร้อน แต่ชอบขณะที่เป็นสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน ขณะที่สนุกสนานรื่นเริงเพลิดเพลินนั้น จิตก็เป็นอกุศล เพราะเกิดร่วมกับโลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ปรารถนา พอใจ เพลิดเพลินในอารมณ์ การศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เพื่อให้สติปัฏฐาน (คือสติที่) ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏและอบรมเจริญปัญญาโดยศึกษา คือพิจารณาสังเกตจนรู้ชัดสภาพธรรมนั้น ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล สภาพธรรมใดเป็นอกุศล และสภาพธรรมใดไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ว่าอกุศลธรรมใดๆ ขั้นหยาบหรือละเอียดก็เป็นอกุศลธรรมทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นอกุศลธรรมเฉพาะขณะที่โทสะเกิดเท่านั้น

บางท่านถามว่า ทําอย่างไรจึงจะไม่โกรธ

สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา โทสะก็เป็นอนัตตา โทสะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ผู้ที่ดับความโกรธได้เป็นสมุจเฉท โทสเจตสิกไม่เกิดอีกเลยนั้น เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม (33) ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล

การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคลมี ๔ ขั้น

ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ประจักษ์แจ้งสภาพพระนิพพานครั้งแรกเป็นพระโสดาบันบุคคล ดับความเห็นผิดและความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย เมื่อพระโสดาบันบุคคลเจริญปัญญาขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ดับความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างหยาบเป็นพระสกทาคามีบุคคล เมื่อพระสกทาคามีบุคคลเจริญปัญญาขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงดับโทสะเป็นพระอนาคามีบุคคล เมื่อพระอนาคามีบุคคลเจริญปัญญาขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ดับอกุศลธรรมที่เหลืออยู่ทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ เมื่อพระอรหันต์ดับขันธปรินิพพานแล้วไม่เกิดอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจแล้วว่า โลกุตตรปัญญาของพระอริยบุคคลแต่ละขั้นดับกิเลสแต่ละขั้นอย่างไร ก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจหนทางปฏิบัติที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏและดับกิเลสได้จริงๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้

แม้พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงลักษณะของจิตในความหมายของคําว่า “ปัณฑระ” แล้ว เพื่อให้เข้าใจลักษณะของจิตยิ่งขึ้น จึงทรงแสดงในความหมายของคําว่า “มนายตนะ”

ที่ (จิต) ชื่อว่า “มนายตนะ” อธิบายในคําว่ามนายตนะนั้น มนะ พึงทราบว่า อายตนะ เพราะความหมายว่าเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม และเป็นเหตุ จริงดังนั้น แม้ผัสสะ เป็นต้น ย่อมเกิดใน มนะนี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอก ย่อมประชุมที่มนะโดยความเป็นอารมณ์ แม้เพราะความหมายว่า เป็นเหตุ เพราะเป็นเหตุแห่งผัสสะ เป็นต้น โดยอรรถว่าเป็นสหชาตปัจจัย

จิตทุกขณะเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่ที่จะเข้าใจลักษณะซึ่งเป็นอนัตตาของจิตได้ยิ่งขึ้น ก็โดยรู้ว่าจิตเป็นมนายตนะ เพราะเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม และเป็นเหตุ

ถึงรูปจะมีก็จริง ถึงเสียงจะเกิดขึ้นก็จริง ถึงกลิ่นจะมีปัจจัยเกิดขึ้นก็จริง ถึงรสต่างๆ จะมีก็จริง ถึงเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งต่างๆ จะมีก็จริง แต่ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ ถ้าจิตไม่เป็นที่ประชุมของธรรมเหล่านั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏไม่ได้ เสียงก็ปรากฏไม่ได้ กลิ่นก็ปรากฏไม่ได้ รสต่างๆ ก็ปรากฏไม่ได้ เย็น ร้อน อ่อน แข็งก็ปรากฏไม่ได้ แต่เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ จึงเป็นที่อาศัย เป็นที่ประชุม เป็นเหตุที่จะให้สภาพธรรมปรากฏ สีสันวัณณะข้างหลังไม่ปรากฏ เพราะไม่ได้ประชุม คือ ไม่กระทบกับจักขุปสาท ไม่กระทบกับจิต จิตจึงไม่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหลัง แม้ว่ากรรมเป็นปัจจัยทําให้จักขุปสาทเกิดขึ้นและดับไปๆ สืบต่ออยู่เรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ตาบอด แต่จิตที่เห็นก็ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา ฉะนั้น ขณะใดที่สีสันวัณณะปรากฏ ขณะนั้นจิตเป็นมนายตนะ เป็นที่ประชุมของรูปที่กระทบกับจักขุปสาท ขณะนั้นรูปที่กระทบจักขุปสาทก็เป็นรูปายตนะ จักขุปสาทที่กระทบรูปก็เป็นจักขายตนะ สภาพธรรมใดที่ประชุมรวมกันในขณะนั้นเป็นอายตนะแต่ละอายตนะทั้งสิ้น

เสียงต้องกระทบกับโสตปสาทและกระทบกับจิต จิตจึงเกิดขึ้นรู้เสียงที่ปรากฏได้ ฉะนั้น จิตจึงเป็นมนายตนะ เป็นที่ประชุมของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏ

ข้อความในอัฏฐสาลินีที่ว่า แม้เพราะความหมายว่า (จิต) เป็นเหตุ คือ เพราะจิตเป็นเหตุแห่งผัสสะ เป็นต้น

ผัสสะเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งใน ๕๒ ประเภท ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์ ขณะที่รูปกระทบกับรูป เช่น ต้นไม้ล้มกระทบพื้นดิน การกระทบกันของต้นไม้และพื้นดินไม่ใช่ผัสสเจตสิก ขณะที่เสียงกระทบกับโสตปสาท โสตปสาทเป็นรูป เสียงเป็นรูป ถ้าผัสสเจตสิกไม่เกิดขึ้นกระทบเสียงที่กระทบโสตปสาท จิตได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย

ผัสสเจตสิก เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต ฉะนั้น จิตจึงเป็นเหตุแห่งผัสสะ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตและเจตสิกต้องเกิดที่รูปใดรูปหนึ่งเสมอ รูปใดเป็นที่เกิดของจิตและเจตสิก รูปนั้นเป็นวัตถุรูป จักขุปสาทเป็นวัตถุรูป เพราะเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นโดยลําพังอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยพร้อมกันในขณะนั้น

สภาพธรรมใดเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน สภาพธรรมนั้นเป็นสหชาตปัจจัย

สห แปลว่า ร่วมกัน พร้อมกัน

ชาต แปลว่า เกิด

ปัจจัย คือ ธรรมซึ่งอุปการะอุดหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นหรือดํารงอยู่ แสดงว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม เพราะอาศัยธรรมอื่นเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าปราศจากปัจจัย สภาพธรรมทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ และสภาพธรรมซึ่งเป็นสหชาตปัจจัยนั้น ทําให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน แต่สภาพธรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยโดยเกิดก่อนสภาพธรรมที่ตนเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น สภาพธรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยโดยเกิดภายหลัง

ฉะนั้นจิตจึงเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น และเจตสิกก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิตที่เกิดพร้อมกับเจตสิกนั้น เมื่อผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ใด จิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้น ก็รู้อารมณ์ที่ผัสสเจตสิกนั้นกระทบ ไม่ใช่ว่าผัสสเจตสิก กระทบอารมณ์หนึ่งแล้วจิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้นไปรู้อีกอารมณ์หนึ่ง ขณะใดที่ผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบเสียงใด โสตวิญญาณที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกที่กระทบเสียงนั้น ก็มีเสียงนั้น เป็นอารมณ์

ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ปรมัตถธรรม แต่ละอย่างเป็นปัจจัยให้ปรมัตถธรรมอื่นที่เป็นสังขตธรรมเกิดขึ้น คือ

จิตเป็นปัจจัยให้เกิดเจตสิกและเป็นปัจจัยให้เกิดรูป (เว้นบางขณะ)

เจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดจิต และเป็นปัจจัยให้เกิดรูป (เว้นบางขณะ)

รูปเป็นปัจจัยให้เกิดรูป และเป็นปัจจัยให้เกิดจิตขณะที่รูปเป็นวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจิต และขณะที่รูปเป็นอารมณ์ของจิต ตามควรแก่สภาพของปรมัตถธรรมนั้นโดยปัจจัยต่างๆ กัน เช่น สหชาตปัจจัย เป็นต้น

จิตและเจตสิกเป็นสหชาติปัจจัยให้รูปเกิดพร้อมกับจิตทันทีที่จิตเกิดขึ้นในอุปาทขณะ จิตทุกดวงมี ๓ อนุขณะ (ขณะย่อย) คืออุปาทขณะ (ขณะเกิดขึ้น) ฐีติขณะ (ขณะยังไม่ดับ) ภังคขณะ (ขณะดับ) จิตไม่ได้สั่งให้รูปเกิด จิตตชรูป คือ รูปที่เกิดเพราะจิตเป็นปัจจัยนั้น เกิดพร้อมกับจิตทันทีที่จิตเกิดขึ้นในอุปาทขณะนั้นเอง แต่ทั้งนี้ต้องเว้นปฏิสนธิจิต เพราะในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นนั้นมีแต่กัมมชรูป คือรูปที่เกิดเพราะกรรมเกิดร่วมด้วย ไม่มีจิตตชรูป เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตจึงเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นพร้อมกับจิต ตั้งแต่ปฐมภวังค์ คือภวังค์ดวงแรกเป็นต้นไป เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ (ปัญจวิญญาณ ๕ x ๒) คือ จิตเห็น ๒ ดวง จิตได้ยิน ๒ ดวง จิตได้กลิ่น ๒ ดวง จิตลิ้มรส ๒ ดวง จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ๒ ดวง และจุติจิตของพระอรหันต์ นอกจากนั้นแล้ว ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีจิตตชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตทุกครั้ง

แต่ละบุคคลสะสมสภาพธรรมมาอย่างวิจิตรต่างๆ กัน บางคนมีอกุศลมาก บางคนก็มีกุศลมาก แต่ผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้วอบรมเจริญสติปัฏฐาน กุศลทั้งหลายก็จะเป็นบารมีที่อุปการะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เป็นขั้นๆ แต่ผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานนั้น สติปัฏฐานยังไม่มีกําลัง ความเป็นตัวตนจึงยังมีกําลังมาก ไม่ว่าในขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะรังเกียจอกุศล ขณะบําเพ็ญกุศล ก็ยังยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเรา เป็นกุศลของเรา

ฉะนั้น จุดประสงค์ของการศึกษาปรมัตถธรรมเรื่องจิตก็เพื่อเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของจิตที่กําลังเห็น กําลังได้ยิน กําลังคิดนึก เป็นต้น เพื่อให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ที่กําลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กําลังปรากฏ

ขณะที่ศึกษาเรื่องจิตก็อย่าเพิ่งคิดว่ารู้ลักษณะของจิตชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว และจุดประสงค์ของการศึกษาเรื่องจิตนั้นไม่ใช่เพื่อต้องการเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องจิตมากๆ แต่เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพของจิตซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ ที่กําลังรู้ในขณะนี้ เพื่อปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นแล้วนั้น จะได้คลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน

คําถามทบทวน

๑. ภวังคจิต คืออะไร ภวังคจิตรู้อารมณ์ไหม

๒. ขณะใดจิตชื่อว่าปัณฑระ เพราะอะไร

๓. จิต เจตสิก เป็นปัจจัยให้เกิดอะไรบ้าง

๔. รูป เป็นปัจจัยให้เกิดอะไรบ้าง

๕. การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคล มีกี่ขั้น อะไรบ้าง

๖. วัตถุรูป คืออะไร

๗. อายตนะ คืออะไร อะไรเป็นอายตนะบ้าง

๘. สหชาตปัจจัย คืออะไร

๙. จิตตชรูป คืออะไร เกิดเมื่อไร ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตใดไม่เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดบ้าง

๑๐. จุดประสงค์ที่ถูกต้องของการศึกษาพระธรรม คืออะไร


(33) อริยสัจจธรรม ๔ คือ

ทุกขอริยสัจจ์ สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไปจึงเป็นสภาพที่เป็นทุกข์ คือ ไม่ควรที่จะติดข้องเพลิดเพลิน

ทุกขสมุทยอริยสัจจ์ ตัณหา คือ โลภะ การพอใจติดข้อง เป็นสมุทัย คือ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทุกขนิโรธอริยสัจจ์ พระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ เพราะดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้ เกิดทุกข์

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญาให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์

เปิด  1,543
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ