จิตตสังเขป บทที่ ๒ คำอธิบายจิต

คําอธิบาย คําว่า “จิต” ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีต่อไปว่า

จะอธิบายคําว่า “จิตฺตํ” ต่อไป ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่าคิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ อีกอย่างหนึ่งเพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคําว่า “จิตฺตํ” นี้ โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก อนึ่ง แม้จิตทุกดวงชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร ชื่อว่า “จิต” เพราะกระทําให้วิจิตร

ถ้าศึกษาจากตํารารุ่นหลังๆ ที่มีผู้รวบรวมไว้ ก็จะทราบว่าอรรถของจิต 5 อย่างที่กล่าวไว้ในตํารารุ่นหลังๆ นั้น มาจากข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ ซึ่งอธิบายคําว่า “จิต” ที่สามารถจะแยกออกได้เป็นข้อๆ คือ

ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า เพราะรู้แจ้งอารมณ์ ๑

ชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ๑

ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก ๑

ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร ๑ (ข้อนี้ ส่วนมากในตํารารุ่นหลังแยกเป็น ๒ คือ เพราะวิจิตรด้วยอารมณ์ ๑ และเพราะวิจิตรด้วยสัมปยุตตธรรม ๑)

ชื่อว่า “จิต” เพราะกระทําให้วิจิตร ๑

ซึ่งก็จะขอกล่าวถึงตามลําดับ เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิต ตามที่กล่าวไว้ในอัฏฐสาลินี

ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า “คิด” อธิบายว่ารู้แจ้งอารมณ์

ทุกท่านคิดเสมอ ถ้าสังเกตพิจารณาความคิด ก็จะเห็นได้ว่า ช่างคิดเสียจริง และคิดไปต่างๆ นานา ไม่มีทางยุติความคิดได้เลย จนกระทั่งบางท่านไม่อยากจะคิด อยากจะสงบๆ คือ หยุดไม่คิด เพราะเห็นว่าเมื่อคิดแล้วก็เดือดร้อนใจ เป็นห่วง วิตกกังวล กระสับกระส่าย ด้วยโลภะบ้าง หรือด้วยโทสะบ้าง และเข้าใจว่าถ้าไม่คิดเสียได้ก็จะดี แต่ให้ทราบว่าจิตนั่นเองเป็นสภาพธรรมที่คิด รูปธรรมคิดไม่ได้ เมื่อพิจารณาเรื่องที่จิตคิด ก็จะรู้ได้ว่าเพราะเหตุใดจิตจึงคิดเรื่องอย่างนั้นๆ ซึ่งบางครั้งไม่น่าจะคิดอย่างนั้นเลย ตามปกติจิตย่อมเกิดขึ้นคิดไปในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง อยู่เรื่อยๆ จนเห็นว่าเป็นเรื่องราวจริงจัง แต่ที่เห็นว่าเป็นเรื่องราวจริงจังทั้งหมดนั้น ก็เป็นเพียงเพราะจิตเกิดขึ้น คิดเรื่องนั้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเพียงจิตไม่คิดถึงเรื่องนั้นเท่านั้น เรื่องนั้นก็จะไม่มี

ข้อความในอัฏฐสาลินีว่า ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์

สภาพ “รู้” มีลักษณะต่างกันตามประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น เจตสิก ก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์แต่ไม่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เจตสิกแต่ละประเภทเกิดขึ้นพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่ากระทํากิจเฉพาะของเจตสิกนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิกเกิดร่วมกับจิต พร้อมกับจิต แต่ผัสสเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ โดยกระทบอารมณ์ ซึ่งถ้าผัสสเจตสิกไม่รู้อารมณ์ก็ย่อมไม่กระทบอารมณ์ ฉะนั้น ผัสสเจตสิกจึงรู้อารมณ์เพียงโดยกระทบอารมณ์ แต่ไม่ใช่รู้แจ้งอารมณ์ ปัญญาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้ธรรมเห็นธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง เช่นรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ของสิ่งที่กําลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้นมีคําอธิบายว่ารู้แจ้งอารมณ์ จึงไม่ใช่การรู้อย่างผัสสะที่กระทบอารมณ์ ไม่ใช่การรู้อย่างสัญญาที่จําหมายลักษณะของอารมณ์ ไม่ใช่การรู้อย่างปัญญา แต่จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏ สิ่งที่กําลังปรากฏทางตาในขณะนี้ต่างกันไหม สภาพธรรมเป็นสัจจธรรมเป็นสิ่งซึ่งพิสูจน์ได้ ขณะนี้เห็นสิ่งเดียวสีเดียวหมด หรือเห็นสิ่งที่กําลังปรากฏเป็นสีต่างๆ อย่างละเอียด จนทําให้รู้ความต่างกันได้ว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นเพชรแท้หรือเพชรเทียม เป็นต้น จิตเป็นสภาพที่เห็นแจ้ง คือ รู้แจ้งแม้ลักษณะที่ละเอียดต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ อุปมาเหมือนกระจกเงาที่ใสสะอาด ไม่ว่าสิ่งใดจะผ่านก็ย่อมปรากฏเงาในกระจกฉันใด ขณะนี้จักขุปสาทเป็นรูปซึ่งมีลักษณะประดุจใสพิเศษ สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา โสตปสาทสามารถกระทบเฉพาะเสียง ฆานปสาทสามารถกระทบเฉพาะกลิ่น ชิวหาปสาทสามารถกระทบเฉพาะรส กายปสาทสามารถกระทบเฉพาะรูปที่กระทบกาย ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสีสันวัณณะอย่างใดๆ ก็ตาม จะเป็นสีเพชรแท้ เพชรเทียม หยก หิน หรือแม้สีแววตาที่ริษยา ก็ปรากฏให้จิตเห็นได้ทั้งสิ้น ขณะนี้สิ่งที่กําลังปรากฏทางตาปรากฏกับจิตที่รู้แจ้ง ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นมีลักษณะอย่างไร จิตก็รู้แจ้งในลักษณะที่ปรากฏนั้นๆ คือ เห็นสีสันต่างๆ ทั้งหมดของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ จึงทําให้รู้ความหมาย รู้รูปร่างสัณฐาน และคิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาได้

เสียงที่ปรากฏทางหูเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมด หรือต่างกันเป็นแต่ละเสียงตามปัจจัยที่ทําให้เสียงนั้นๆ เกิดขึ้น คนมีเท่าไร เสียงของแต่ละบุคคลก็ต่างกันไปเท่านั้น จิตรู้แจ้งทุกเสียงที่ปรากฏต่างๆ กัน เสียงเยาะเย้ย เสียงประชดถากถางดูหมิ่น เสียงลมพัด เสียงน้ำตก เสียงสัตว์ร้อง สัตว์นานาชนิดก็ร้องต่างๆ กัน หรือแม้คนที่เลียนเสียงสัตว์ จิตก็รู้แจ้งลักษณะของเสียงที่ต่างกัน จิตได้ยินเสียงรู้แจ้ง คือ ได้ยินเสียงทุกเสียงที่ต่างกัน

สภาพธรรมทุกอย่างปรากฏได้ก็เพราะจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์นั้นๆ ที่ปรากฏ จิตที่รู้แจ้งทางจมูกเกิดขึ้นรู้แจ้งกลิ่นต่างๆ ที่ปรากฏ กลิ่นสัตว์ทุกชนิด กลิ่นพืชพันธุ์ดอกไม้นานาชนิด กลิ่นอาหาร กลิ่นแกง กลิ่นขนม ถึงไม่เห็น เพียงได้กลิ่นก็รู้ว่าเป็นอะไร

จิตที่รู้แจ้งทางลิ้นเกิดขึ้นลิ้มรสต่างๆ รสอาหารมีมากมาย รสเนื้อ รสผัก รสผลไม้ รสชา รสกาแฟ รสเกลือ รสน้ำตาล รสน้ำส้ม รสมะนาว รสมะขาม เป็นรสที่ไม่เหมือนกันเลย แต่จิตที่ลิ้มรสก็รู้แจ้งรสต่างๆ ที่ปรากฏ แม้ว่าจะต่างกันอย่างละเอียดเพียงใด จิตก็สามารถรู้แจ้งลักษณะที่ต่างกันอย่างละเอียดนั้นได้ เช่น ขณะชิมอาหาร จิตที่ลิ้มรสรู้แจ้งในรสนั้น จึงรู้ว่ายังขาดรสอะไร จึงต้องปรุงอะไร ใส่อะไร เติมอะไร เป็นต้น

จิตที่รู้แจ้งสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย รู้แจ้งลักษณะต่างๆ ที่กระทบกาย เช่น ลักษณะของเย็นลม เย็นน้ำ หรือเย็นอากาศ รู้ลักษณะของผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ เป็นต้น ที่กระทบกาย

ท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านกําลังยืนอยู่ที่ถนนก็เกิดระลึกรู้ลักษณะแข็งที่ปรากฏ แล้วต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นถนน และต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นรองเท้า แล้วต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นถุงเท้า นี่เป็นความคิดเรื่องลักษณะแข็งที่ปรากฏ จิตที่คิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อกระทบแข็งจึงคิดว่าแข็งนี้คืออะไร แข็งนี้ถนน แล้วต่อไปแข็งนี้รองเท้า แล้วต่อไปแข็งนี้ถุงเท้า จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครสามารถยับยั้งการคิดนึกเรื่องสิ่งต่างๆ ได้ แต่การที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์แต่ละขณะแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่กําลังคิดถึงถนน รองเท้า ถุงเท้า ไม่ใช่ขณะที่รู้แจ้งลักษณะที่แข็ง

ฉะนั้น การที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความจริงนั้น จะต้องรู้ชัดว่าขณะที่คิดไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นจิตที่กําลังรู้เรื่องคิด จิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่รู้อารมณ์ทางตา จิตคิดรู้อารมณ์ทางใจ ตามปกติขณะที่สภาพธรรมใดปรากฏทางกาย จะเป็นลักษณะที่อ่อน นุ่มหรือแข็งก็ตาม ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ถ้าอยู่ในที่มืด บางท่านก็อาจจะต้องลืมตาเปิดไฟขึ้นดูว่ากําลังกระทบสัมผัสอะไร ฉะนั้น ตามความเป็นจริงแล้วขณะที่จิตรู้แข็งนั้นไม่ใช่จิตคิดนึก ขณะที่จิตกําลังรู้แข็งนั้นไม่มีโลกของถุงเท้า รองเท้า หรือถนน ไม่มีโลกของสมมติบัญญัติใดๆ เลย มีแต่สภาพที่กําลังรู้ลักษณะที่แข็ง แม้สภาพที่รู้แข็งนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นเพียงสภาพที่รู้แข็งเกิดขึ้นแล้วดับไป แล้วจิตที่เกิดภายหลังจึงคิดนึกเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเรื่องราวสมมติบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ จนลืมว่าจิตที่เกิดขึ้นรู้แข็งและสภาพที่แข็งนั้นดับไปแล้ว และจิตที่คิดเรื่องสิ่งที่แข็งนั้นก็ดับไป สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้น และดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงทําให้ไม่รู้สภาพธรรมทั้งนามธรรม และรูปธรรมนั้นเกิดดับไม่ใช่ตัวตน

จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ใด จิตก็เกิดพร้อมผัสสะนั้น ก็รู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของอารมณ์นั้น ฉะนั้น แม้คําว่ารู้แจ้งอารมณ์ซึ่งเป็นลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็จะต้องเข้าใจว่า “รู้แจ้งอารมณ์” คือ รู้ลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทําให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ฉะนั้น อารมณ์จึงเป็นอารัมมณปัจจัย คือเป็นปัจจัยให้จิตเกิดโดยเป็นอารมณ์ของจิต จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย แต่จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ ฉะนั้น อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทําให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น

คําถามทบทวน

๑. ผัสสเจตสิก สัญญาเจตสิก ปัญญาเจตสิก และจิตรู้อารมณ์ต่างกันอย่างไร

๒. อารัมมณปัจจัย คืออะไร

๓. อะไรเป็นอารัมมณปัจจัยบ้าง

เปิด  938
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ