จิตตสังเขป บทที่ ๓ คำอธิบายจิต (ต่อ)

ประการต่อไป

อีกอย่างหนึ่งเพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคําว่า “จิตฺตํ” นี้โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต ชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

การที่จะเข้าใจอรรถที่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถีนั้น จะต้องเข้าใจเรื่องของจิตซึ่งเกิดดับๆ สืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่า นามธรรมที่เกิดกับจิตแล้วดับไปแต่ละขณะนั้นสะสมสืบต่อในจิตขณะหลังๆ ที่เกิดดับสืบต่อมานั่นเอง

เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นต้น ตามปกติจะไม่รู้ว่าขณะที่เห็นหรือได้ยินนั้นเป็นลักษณะของจิต แต่มักจะรู้ว่าขณะใดจิตใจเป็นทุกข์ เศร้าหมองขุ่นมัว ขณะใดจิตใจสบาย แจ่มใส ขณะใดโกรธ ขณะใดเมตตาสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ขณะใดเป็นมิตรไมตรีกับบุคคลอื่น จิตแต่ละขณะที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วนั้น ก็สั่งสมสันดานของตน คือ ไม่ว่าจะเป็นโลกิยกุศล อกุศล แต่ละขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั้น เป็นปัจจัยสะสมสืบต่อในจิตดวง (ขณะ) ต่อๆ ไป เพราะเมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป การดับไปของจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันที ฉะนั้น จิตดวงที่เกิดต่อจึงมีสภาพธรรมซึ่งจิตดวงก่อนสะสมไว้แล้วสืบต่อไปในจิตดวงหลังๆ ที่เกิดต่อๆ ไปอีกเรื่อยๆ

แต่ละท่านจะสังเกตได้ว่า แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน มีอุปนิสัยต่างๆ กันตามการสะสมของจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน บางท่านก็เป็นผู้ใจบุญใจกุศล เพราะจิตที่เป็นบุญกุศลได้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วจิตที่เกิดสืบต่อก็สะสมบุญกุศลนั้นๆ เป็นปัจจัยสืบต่อๆ ไปข้างหน้า อกุศลก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นจิตประกอบด้วยโลภะ โทสะ หรือโมหะ เมื่ออกุศลจิตประเภทนั้นๆ ดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อสภาพธรรมที่สะสมอยู่ในจิตดวงก่อนต่อไปอีก การที่จิตดวงหลังเกิดต่อจากจิตดวงก่อนอยู่เรื่อยๆ นั้น เพราะจิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย คือเป็นปัจจัยทําให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันทีที่จิตดวงก่อนดับ จิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย ทําให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่เป็นอนันตรปัจจัย เมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ดับจึงเป็นปรินิพพาน ไม่มีปฏิสนธิจิตหรือจิตใดๆ เกิดสืบต่ออีกเลย ฉะนั้น ปัจจัยที่กล่าวถึงแล้วจึงมี ๓ ปัจจัย คือ สหชาตปัจจัย อารัมมณปัจจัย และอนันตรปัจจัย

อรรถของจิตประการที่ ๒ ข้อความในอัฏฐสาลินีมีว่า อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคําว่า “จิตฺตํ” นี้ โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องจริงในชีวิตประจําวัน ส่วนมากทุกท่านก็ได้ยินคําว่ากุศลจิต และอกุศลจิตอยู่เสมอ แต่ยังไม่คุ้นกับมหากิริยาจิต และ “ชวนวิถี” จิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นประเภทต่างๆ ประการใดก็ตาม เมื่อจําแนกโดยการเกิด คือโดยชาติแล้วมี ๔ ชาติ คือ เป็นกุศลจิต ๑ เป็นอกุศลจิต ๑ เป็นวิบากจิต ๑ เป็นกิริยาจิต ๑ (ภาษาบาลี คือ กุสลจิตฺตํ อกุสลจิตฺตํ วิปากจิตฺตํ กิริยาจิตฺตํ)

ส่วนใหญ่ทุกท่านคุ้นกับคําว่า กุศลจิต และอกุศลจิต แต่ยังไม่คุ้นกับ วิบากจิต และกิริยาจิต กุศลจิตเป็นจิตที่ดี ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดผล คือ กุศลวิบาก ในอนาคตข้างหน้า เมื่อกุศลจิตและกุศลเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกันเป็นเหตุดับไปแล้ว ธรรมที่เป็นกุศลก็สะสมสืบต่อในจิตดวงต่อๆ ไป เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกซึ่งเป็นกุศลวิบากจิตและกุศลวิบากเจตสิกเกิดขึ้นร่วมกัน โดยเป็นผลของกุศลนั้นๆ ในอรรถกถามีข้อความว่า แม้วิบากเจตสิกเกิดร่วมกับจิต แต่เพราะจิตเป็นประธาน จึงใช้คําว่าวิบากจิตเท่านั้น ซึ่งก็หมายรวมถึงวิบากเจตสิกที่เกิดร่วมกันด้วย และแม้คําว่าจิตตชรูป คือรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นปัจจัยก็เช่นเดียวกัน จิตตชรูปเกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันเป็นปัจจัย แต่ใช้คําว่า “จิตตชรูป” นั้นก็หมายรวมถึงเจตสิกเกิดร่วมกับจิตนั้นๆ ก็เป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดด้วย ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงวิบากจิต ก็หมายรวมถึงวิบากเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

อกุศลจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ เป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลที่เป็นทุกข์ ไม่น่าพอใจ คืออกุศลวิบากจิตต่างๆ นอกจากกุศลจิตและอกุศลจิตและวิบากจิตแล้ว ก็มีจิตอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก จึงไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิตด้วย เพราะกิริยาจิตไม่ใช่ผลของกุศลจิตหรืออกุศลจิต

จิตทั้งหมดจําแนกเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ คือ เป็นกุศล หรืออกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา ถ้าไม่ศึกษาให้ละเอียดขึ้นก็ไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต เช่น ขณะปฏิสนธิ ซึ่งเป็นจิตขณะแรกที่เกิดขึ้นในภพนี้ในชาตินี้ ที่ทุกท่านมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภพนี้ชาตินี้ จึงทําให้เป็นบุคคลนี้ ปฏิสนธิจิตเป็นกุศลจิตไม่ได้ เป็นอกุศลจิตไม่ได้ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้กระทํากรรมใดๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมใดกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย แม้ว่ากรรมที่ได้กระทําแล้วในแต่ละภพชาติจะมากมายเพียงใดก็ตาม กรรมใดเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตหรือวิบากจิตใดเกิดขึ้น กรรมนั้นเป็นกัมมปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตและวิบากจิตนั้น ถ้าเกิดในภูมิมนุษย์เป็นสุคติภูมิก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรม จิตที่ปฏิสนธิก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเกิดในอบายภูมิ คือเกิดในนรกหรือเกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นผลของอกุศลกรรม จิตที่ปฏิสนธิในอบายภูมิ เป็นอกุศลวิบาก

เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมนั้นไม่ได้เพียงทําให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเท่านั้น เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมเดียวกันที่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดนั้นก็เป็นกัมมปัจจัย ทําให้วิบากจิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ทําภวังคกิจสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิต คือ จิตที่ทํากิจสืบต่อจากจุติจิต (จิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน) ทันทีที่จุติจิตของชาติก่อนดับ กรรมหนึ่งที่ได้กระทําแล้วก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เป็นจิตขณะแรกในชาตินี้สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนแล้วก็ดับไป และกรรมเดียวกันนั้นเป็นปัจจัยให้วิบากจิตดวงต่อๆ ไปเกิดขึ้นกระทําภวังคกิจ คือ กิจดํารงภพชาติที่เป็นบุคคลนี้สืบต่อไปจนกว่าจะจุติ คือ เคลื่อนจากภพภูมินี้ สิ้นสุดสภาพที่เป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ และในระหว่างที่ยังไม่จุติ กรรมอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตต่างๆ เกิดขึ้น รู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้

“กุศล” คือ สภาพธรรมที่ดีงามไม่เป็นโทษภัย บางท่านเข้าใจว่าท่านสามารถจะทํากุศลได้เฉพาะเวลาที่มีทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น แต่ลืมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถึงแม้ไม่มีเงิน แต่มีสิ่งของที่พอจะแบ่งปันเจือจานสละให้เพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นๆ ได้ ท่านจะสละให้เพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้ไหม ถ้าสละให้ไม่ได้ ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ผู้ที่ไม่รู้ว่ากุศลจิตเป็นจิตที่ดีงาม ไม่มีโทษ ก็อาจจะคิดเศร้าหมองใจว่า ท่านขาดเงิน ท่านทําบุญไม่ได้ แต่ความจริงนั้นถึงแม้ว่าไม่มีเงินที่จะทําทานกุศล ก็มีกุศลอื่นอีกหลายประการที่กระทําได้ เช่น ขณะที่รู้สึกเป็นมิตรไมตรีกับบุคคลอื่น มีจิตอ่อนโยน พูดคําที่อ่อนหวานด้วยใจจริง ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจาน ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่เป็นโทษภัยใดๆ เลย

ขณะใดที่มีมานะสําคัญตนว่าสูงกว่า ดีกว่า เก่งกว่าบุคคลอื่น หรือแม้ว่ามีการแบ่งแยกเป็นเราเป็นเขา ไม่ช่วยเหลือ ไม่เอื้อเฟื้อเจือจาน ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ

เมื่อเข้าใจลักษณะของกุศลจริงๆ ก็เจริญกุศลทุกประการได้ แม้ว่าไม่มีทรัพย์สินเงินทองที่จะให้ ก็ยังมีสิ่งอื่นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งพอที่จะสละให้ได้ ถ้าสละให้ไม่ได้จริงๆ เพราะเป็นคนที่หวงของ แต่ก็คิดอยากให้จิตสงบหรืออยากหมดกิเลสเป็นพระโสดาบัน จะสละสิ่งของให้ผู้อื่นได้บ้างไหม แต่ละบุคคลสะสมกุศลและอกุศลมาต่างๆ กัน ฉะนั้น จึงควรพิจารณาจิตของตนเองว่าเป็นผู้ที่ยังหวงสิ่งของมาก หรือว่าเริ่มสละสิ่งของให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ บ้าง ทีละเล็กน้อยจนเป็นอุปนิสัย เป็นปัจจัยที่มีกําลังทําให้ละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน จนปัญญาที่อบรมเจริญคมกล้าแล้วนั้น รู้แจ้งนิพพานได้ ผู้ที่คิดว่าอยากหมดกิเลสนั้น เวลากิเลสเกิดขึ้นก็ยังพอใจที่จะให้กิเลสนั้นมีอยู่ เช่น ขณะที่มีมานะความสําคัญตน ความริษยา แม้ผู้ใดจะบอกให้ละคลายเสีย ควรยินดีกับความสุขของบุคคลอื่น หรือควรมีเมตตาแม้ในบุคคลที่เลวร้าย ท่านจะกระทําได้ไหม ผู้ที่มีฉันทะ คือพอใจที่จะโกรธ ดูหมิ่น ถือตัว ริษยา ก็ย่อมไม่สามารถที่จะกระทําได้ ฉะนั้น การละกิเลสจึงไม่ใช่สิ่งที่กระทําได้ทันที จะต้องค่อยๆ เป็นไป ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย ผู้ที่ต้องการดับกิเลสจริงๆ รู้ว่าจะต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ ไม่ใช่บําเพ็ญทานอย่างเดียว แล้วยังหวงเก็บอกุศลอย่างอื่นไว้ บางท่านก็อยากสงบเพราะรู้สึกว่าวันๆ หนึ่งกระสับกระส่าย กระวนกระวายมาก คิดเรื่องนั้นก็โกรธ คิดเรื่องนั้นก็ยุ่ง มีแต่เรื่องเดือดร้อนรําคาญใจ เพราะไม่ได้พิจารณาจิตในขณะนั้น แต่พิจารณาบุคคลซึ่งท่านโกรธ เมื่อพิจารณาบุคคลอื่นในทางที่ทําให้เกิดอกุศลจิตก็ย่อมจะกระสับกระส่าย กระวนกระวายเดือดร้อน เมื่อรู้ว่ากําลังเดือดร้อน ก็อยากจะสงบ แต่ไม่รู้ว่าถ้าไม่โกรธขณะนั้นก็ไม่เดือดร้อน ขณะโกรธไม่สบายใจ เดือดร้อนใจ กังวลใจนั้นเป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ

ฉะนั้น ถ้าขณะใดโกรธแล้วระลึกได้ พิจารณาบุคคลอื่นในทางที่ทําให้เกิดเมตตาบ้าง กรุณาบ้าง มุทิตาบ้าง อุเบกขาบ้าง ก็ย่อมสงบได้ทันที เพราะขณะที่จิตมีเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา นั้นเป็นกุศล ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะจึงสงบ กุศลจิตทุกขณะสงบ ฉะนั้น เมื่อต้องการดับกิเลสจึงต้องเจริญกุศลทุกประการ ไม่ใช่เพียงทานกุศลเท่านั้น

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงอรรถของจิตประการที่ ๒ ว่าอีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ ว่า จิตฺตํ นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคําว่า “จิตฺตํ” นี้ โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

คําว่า “สันดาน” ในภาษาไทยมาจากคําภาษาบาลีว่า “สนฺตาน” หรือ “สนฺตติ” ซึ่งหมายถึง การเกิดดับสืบต่อกัน จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นวิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่อกุศลจิต จึงไม่สั่งสมสันดาน จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นผลของอดีตกรรม เมื่อกรรมใดสุกงอมพร้อมที่จะให้ผล คือ ประกอบพร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ก็ทําให้วิบากจิตประเภทต่างๆ เกิดขึ้นทํากิจต่างๆ เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น วิบากจิตไม่สั่งสมสันดาน เพราะวิบากจิตแต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่สะสมมาแล้วนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น เมื่อวิบากจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ก็ไม่เป็นเหตุให้วิบากใดๆ เกิดขึ้นเลย

เพื่อที่จะเข้าใจอรรถของจิตประการที่ ๒ ที่ว่า โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถีนั้น ก็จะต้องเข้าใจวิถีจิตก่อนว่า วิถีจิตคือจิตประเภทไหน เกิดขึ้นเมื่อไร และจะต้องเข้าใจ ชวนวิถี ซึ่งเป็นขณะที่จิตสั่งสมสันดานของตน ซึ่งเป็นโลกิยกุศลบ้าง อกุศลบ้าง และสําหรับพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิต เพราะถึงแม้ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นพระอรหันต์ที่มีกาย วาจา ใจ ต่างๆ กันตามการสั่งสมสันดานของตน

ฉะนั้น จึงต้องเข้าใจความหมายของวิถีจิตก่อนว่า วิถีจิต คือจิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติจิตแล้ว เป็นวิถีจิตทั้งหมด ในชาติหนึ่ง ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียว คือขณะที่ทําปฏิสนธิกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพียงขณะเดียวเท่านั้นที่เป็นปฏิสนธิจิต ขณะที่จิตทําปฏิสนธิกิจนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น ปฏิสนธิเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ปฏิสนธิจิตที่เกิดในภูมิมนุษย์เป็นกุศลวิบากจิต เป็นผลของกุศลกรรม

เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมไม่ได้ให้ผลเพียงให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเท่านั้น แต่เป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทเดียวกันเกิดขึ้น ทําภวังคกิจ สืบต่อดํารงภพชาติของการเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะจุติ

ขณะที่ยังไม่จุตินั้น ภวังคจิตเกิดดับๆ กระทํากิจสืบต่อดํารงความเป็นบุคคลนั้นไว้ ในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งกระทบสัมผัส และไม่คิดนึก ฉะนั้น ขณะใดที่เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต ขณะหลับสนิท ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะฝันหรือตื่นขึ้น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึก อารมณ์ต่างๆ ในโลกนี้ ขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้นทําปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจนั้น อารมณ์ต่างๆ ในโลกนี้ไม่ปรากฏเลย โลกนี้จะเป็นโลกมนุษย์ ลักษณะอย่างไรก็ไม่ปรากฏทั้งสิ้น ถ้าขณะนี้ใครกําลังหลับก็จะไม่รู้ไม่เห็นเลยว่า ในที่นี้มีใครบ้าง มีเสียงอะไรบ้าง มีกลิ่นอะไรบ้าง เย็น ร้อนประการใด โลกนี้ไม่ปรากฏกับปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิตเลย เมื่อไม่หลับก็จําเรื่องโลกนี้ จําบุคคลต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ในโลกนี้ แต่ขณะหลับสนิทเป็นภวังคจิต ตัดขาดจากอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏใน โลกนี้ทั้งหมด ไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร อยู่ที่ไหน เกี่ยวข้องเป็นญาติมิตรกับใคร มีทรัพย์สมบัติยศฐาบรรดาศักดิ์ สุข ทุกข์ อย่างใด

ขณะเห็นไม่ใช่ภวังคจิต เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นเห็น หรือรู้ หรือยินดีพอใจในสิ่งที่กําลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตขณะนั้นๆ เป็นวิถีจิต ขณะได้ยินเสียงแล้วพอใจ หรือไม่พอใจเสียง ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ขณะนั้นเป็นวิถีจิต จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นรู้รูปที่ปรากฏทางตาเป็นจักขุทวารวิถีจิต จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นรู้เสียงทางหูเป็นโสตทวารวิถีจิต จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นรู้กลิ่นทางจมูกเป็นฆานทวารวิถีจิต จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นรู้รสทางลิ้นเป็นชิวหาทวารวิถีจิต จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบกายเป็นกายทวารวิถีจิต จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจเป็นมโนทวารวิถีจิต

นามธรรมที่เกิดดับเป็นปกติในชีวิตประจําวันเป็นภวังคจิตที่เกิดดับสลับกับวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ

เมื่อปฏิสนธิในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ ในภูมิที่มีทั้งรูปขันธ์และนามขันธ์ กรรมเป็นปัจจัยทําให้กัมมชรูป คือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป เป็นต้น เกิดดับสืบต่อดํารงสภาพที่ไม่ใช่บุคคลที่ตาบอด หูหนวก เป็นต้น แต่ถ้าขณะใดกรรมไม่เป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิด บุคคลนั้นก็ตาบอดไม่เห็นอะไรเลย ฉะนั้น จิตเห็นและจิตอื่นๆ ทุกขณะจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยปัจจัยที่ทําให้เกิดจิตนั้นๆ ขณะที่วิถีจิตยังไม่เกิดขึ้นนั้น ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ

เมื่อรูปใดเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูปใด และขณะแห่งภวังค์ใด วิถีจิตจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ แต่เพื่อกําหนดให้รู้ว่ารูปเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูป ณ ภวังคจิตขณะใด จึงบัญญัติภวังคจิตที่รูปเกิดขึ้นกระทบนั้นว่า “อตีตภวังค์” คือเป็นภวังค์ที่เหมือนกับภวังค์ก่อนๆ แม้ว่ารูปจะเกิดดับเร็วมาก แต่จิตก็เกิดดับเร็วกว่ารูป สภาวรูปรูปหนึ่งเกิดดับเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ฉะนั้น อตีตภวังค์ คือ ขณะที่รูปเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูป ทั้งนี้เพื่อให้รู้ว่ารูปที่กระทบปสาทรูปนั้นจะดับเมื่อไร เพราะรูปหนึ่งมีอายุเพียงจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่านั้น เมื่ออตีตภวังค์ดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตดวงต่อไปไหว เป็น “ภวังคจลนะ” ซึ่งยังเป็นภวังคจิตอยู่ เพราะวิถีจิตจะเกิดขึ้นคั่นกระแสของภวังค์ทันทีไม่ได้ เมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคจิตที่เกิดต่อเป็น “ภวังคุปัจเฉทะ” คือ เป็นภวังคจิตที่ตัดกระแสของภวังค์ เพราะเป็นภวังคจิตดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ เมื่อ ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตจึงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจได้

วิถีจิตทุกขณะที่รู้อารมณ์ทางตาเป็นจักขุทวารวิถีจิต เพราะรู้รูปารมณ์ (สิ่งที่ปรากฏทางตา) ที่กระทบกับจักขุปสาทและยังไม่ดับ

วิถีจิตทุกขณะที่รู้อารมณ์ทางหูเป็นโสตทวารวิถีจิต เพราะรู้สัททารมณ์ (เสียง) ที่กระทบกับโสตปสาทและยังไม่ดับไป

วิถีจิตทุกขณะที่รู้อารมณ์ทางจมูกเป็นฆานทวารวิถีจิต เพราะรู้คันธารมณ์ (กลิ่น) ที่กระทบกับฆานปสาทและยังไม่ดับไป

วิถีจิตทุกขณะที่รู้อารมณ์ทางลิ้นเป็นชิวหาทวารวิถีจิต เพราะรู้รสารมณ์ (รส) ที่กระทบชิวหาปสาทและยังไม่ดับไป

วิถีจิตทุกขณะที่รู้อารมณ์ทางกายเป็นกายทวารวิถีจิต เพราะรู้โผฏฐัพพารมณ์ (เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว) ที่กระทบกับกายปสาทและยังไม่ดับไป

วิถีจิตทุกขณะทางใจซึ่งเป็นมโนทวารวิถีจิตนั้น รู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ คือ รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่อจากวิถีจิตที่รู้ทางปัญจทวาร และรู้ธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่สามารถรู้ได้เฉพาะทางใจ คือ มโนทวาร ทวารเดียวเท่านั้น

อารมณ์ทั้งหมดจําแนกเป็น ๖ อารมณ์ ซึ่งจิตรู้ได้ทาง ๖ ทวาร ดังนี้ คือ

รูปารมณ์ จิตรู้ได้ทางจักขุทวารและทางมโนทวาร

สัททารมณ์ จิตรู้ได้ทางโสตทวารและทางมโนทวาร

คันธารมณ์ จิตรู้ได้ทางฆานทวารและทางมโนทวาร

รสารมณ์ จิตรู้ได้ทางชิวหาทวารและทางมโนทวาร

โผฏฐัพพารมณ์ จิตรู้ได้ทางกายทวารและทางมโนทวาร

ธัมมารมณ์ จิตรู้ได้ทางมโนทวารเพียงทวารเดียว

มโนทวารวิถีจิตรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ อารมณ์ แต่ธัมมารมณ์นั้นรู้ได้เฉพาะมโนทวารวิถีจิตเท่านั้น

จิตทุกดวงเกิดขึ้นกระทํากิจหนึ่งกิจใดแล้วก็ดับไป คือปฏิสนธิจิตทําปฏิสนธิกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเพียงหนึ่งขณะเท่านั้น ภวังคจิตทุกดวงทั้งอตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ทําภวังคกิจสืบต่อดํารงภพชาตินั้นไว้ เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตดวงแรกที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะนั้นกระทําอาวัชชนกิจ แปลโดยศัพท์ว่ารําพึงถึงอารมณ์ที่ปรากฏที่ทวาร คือรู้อารมณ์ที่กระทบทวาร ชื่อว่าอาวัชชนะ เพราะอรรถว่านําออกไปจากสันดาน (การเกิดดับสืบต่อ) อันเป็นภวังค์ คือ น้อมไปสู่อารมณ์ที่กระทบทวาร ถ้าเป็นทางปัญจทวารคือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นจิตดวงหนึ่ง (ประเภทหนึ่ง) เกิดขึ้นทําอาวัชชนกิจ รําพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร แต่จิตขณะนั้นยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งกระทบสัมผัสกาย ถ้าเป็นทางมโนทวารคือ ทางใจ ซึ่งไม่ใช่ทางจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตอีกดวงหนึ่ง (ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต) เกิดขึ้นทําอาวัชชนกิจเฉพาะทางมโนทวารทวารเดียวเท่านั้น

ตัวอย่าง เมื่อรสเกิดขึ้นกระทบกับชิวหาปสาท และกระทบกับภวังค์เป็นอตีตภวังค์ดับไป ภวังคจลนะเกิดต่อแล้วดับไป ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อแล้วดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อรําพึง คือรู้ว่าอารมณ์กระทบชิวหาทวาร แต่ยังไม่ได้ลิ้มรสนั้น อุปมาเหมือนขณะที่รู้ว่ามีแขกมาที่ประตู แต่ยังไม่เห็นแขก จึงยังไม่รู้ว่าเป็นใคร เพียงแต่รู้ว่ามีแขกมาเท่านั้น ทุกท่านย่อมมีแขกไปมาหาสู่ เวลาคิดถึงแขกก็มักจะคิดถึงคน แต่ความจริงแขกคืออารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง ขณะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแขก ขณะได้ยินเสียง เสียงเป็นแขก ขณะไม่ได้ยินเสียง เสียงไม่ปรากฏ แขกทางหูจึงยังไม่มา ขณะที่รสปรากฎ รสเป็นแขกที่ปรากฏทางลิ้นชั่วขณะแล้วก็ดับไป ขณะใดที่อารมณ์ปรากฏทางทวารใด ขณะนั้นอารมณ์นั้นก็เป็นแขกของทวารนั้น ชั่วระยะสั้นที่สุด แล้วก็ดับหมดสิ้นไป ไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ผู้ใหญ่บางท่านรู้สึกเหงา เพราะระหว่างที่ยังไม่ใช่ผู้สูงอายุ ท่านพบปะบุคคลมากหน้าหลายตา รื่นเริง สนุกสนานกับญาติมิตรสหาย แต่เมื่อสูงอายุขึ้นแล้ว แขกซึ่งเป็นบุคคลต่างๆ ในความรู้สึกของท่านก็ลดน้อยลง เมื่อถามท่านผู้สูงอายุว่าท่านชอบอะไรมากที่สุด บางท่านก็บอกว่าท่านชอบคน คือชอบให้คนมาหา พูดคุยกันเพลิดเพลิน แต่ความจริงทุกคนมีแขกทุกขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และตามธรรมดานั้น พอแขกมา โลภมูลจิตก็เกิดขึ้น ยินดีพอใจในสิ่งที่กําลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั้นๆ

แขกมีหลายประเภท ถ้าเป็นโจรผู้ร้าย ก็ไม่มีใครต้องการแขกประเภทนั้น แต่ถ้าเป็นญาติมิตรสหายก็รอว่าเมื่อไรจะมา แต่ความจริงอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเพียงรูปธรรม ไม่มีเจตนาร้ายกับใคร เพราะรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ฉะนั้น แขกที่จะเป็นโจรหรือจะเป็นญาตินั้น ในขณะไหน ในขณะที่อารมณ์ใดปรากฏแล้วยินดี พอใจ ติดข้องในอารมณ์นั้น โจรก็อยู่ที่นั่นเพราะความยินดี พอใจ ติดข้องเป็นอกุศลธรรม อกุศลธรรมไม่เป็นมิตรกับใคร กุศลธรรมเป็นเสมือนญาติสนิทที่คอยอุปการะเกื้อกูล ช่วยเหลือไม่ว่าในยามใดทั้งสิ้น ฉะนั้น จึงต้องรู้ลักษณะของจิตที่ต่างกัน คือ อกุศลจิตเป็นโทษ เป็นโจร ไม่ใช่มิตร

เมื่อคิดถึงโจรผู้ร้ายย่อมกลัวและไม่อยากให้เป็นแขกเลย แต่โจรคือ อกุศลจิต ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีแขกที่เป็นโจรในวันหน้า ส่วนกุศลจิตก็เปรียบเสมือนญาติมิตร ซึ่งเป็นเหตุนํามาซึ่งญาติมิตรสหายในวันหน้าด้วย

ฉะนั้น รูปธรรมจึงไม่ใช่เหตุ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ จึงไม่มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น เสียงที่ปรากฏไม่ใช่สภาพรู้ที่ต้องการให้ใครได้ยิน หรือว่าไม่ต้องการให้ใครได้ยิน ไม่เลือกที่รักมักที่ชังว่าให้คนนี้ได้ยิน ไม่ให้คนนั้นได้ยิน เสียงเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นตามปัจจัยที่ทําให้เกิดเสียงนั้น และแล้วแต่ว่าโสตปสาทของใครจะกระทบกับเสียงใด บางคนนอนหลับสนิทไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้องดังลั่นสนั่นน่ากลัว เสียงฟ้าร้องนั้นไม่ใช่แขกของบุคคลนั้น แต่เป็นแขกของคนที่สะสมเหตุที่ทําให้โสตปสาทกระทบกับเสียงนั้น ฉะนั้น ขณะที่อารมณ์ใดเกิดขึ้นเป็นแขกของบุคคลใดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ กรรมที่บุคคลนั้นสะสมมา เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ

ฉะนั้น แขกที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายนั้น ก็เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเกิดขึ้นปรากฏชั่วขณะแล้วก็ดับสูญไปไม่กลับมาอีกเลย หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งใดไม่ และในวันหนึ่งๆ ก็ไม่มีใครรู้เลยว่าแขกไหนจะมาทางใด และเมื่อไร

ขณะใดที่จิตกําลังรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นเป็นวิถีจิต ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีปฏิปาทกะ คือ เป็นวิถีจิตแรกที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ทําอาวัชชนกิจ เพียงรู้ว่าอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดกระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร จึงไม่ใช่จิตที่ทํากิจเห็น ฯลฯ วิถีจิตอื่นๆ จะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ได้เลย ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิดขึ้นแล้วดับไปก่อน ฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงเป็นวิถีจิตแรกที่เกิดทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร เมื่อจิตดวงนี้กระทํากิจนี้ได้ ๕ ทวาร จึงชื่อว่าปัญจทวาราวัชชนจิต (ปัญจ + ทวาร + อาวัชชน) ถ้าแยกเป็นแต่ละทวาร คือ ขณะที่เกิดทางจักขุทวารก็เป็นจักขุทวาราวัชชนะ ขณะที่เกิดทางหูก็เป็นโสตทวาราวัชชนะ ขณะที่เกิดทางจมูกก็เป็นฆานทวาราวัชชนะ ขณะที่เกิดทางลิ้นก็เป็นชิวหาทวาราวัชชนะ ขณะที่เกิดทางกายก็เป็นกายทวาราวัชชนะ

แต่เมื่อจิตดวงนี้กระทําอาวัชชนกิจได้ ๕ ทวารจึงเรียกรวมว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต

สําหรับวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ ทางใจนั้น ก่อนที่วิถีจิต คือ กุศลจิตหรืออกุศลจิต เป็นต้น จะเกิดนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ก็จะต้องมีอาวัชชนจิตเกิดก่อน จิตที่กระทําอาวัชชนกิจ คือรู้อารมณ์ที่กระทบทางใจนั้น ชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตดวงแรกที่เกิดทางมโนทวาร ถ้ามโนทวาราวัชชนจิตไม่เกิด วิถีจิตต่างๆ จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจ คือทางมโนทวารไม่ได้ มโนทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตแต่ละดวงแต่ละประเภท ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดได้เฉพาะ ๕ ทาง เกิดทางมโนทวารไม่ได้เลย มโนทวาราวัชชนจิตทําอาวัชชนกิจได้เฉพาะทางมโนทวาร ทวารเดียวเท่านั้น

ฉะนั้น วิถีจิตที่ทําอาวัชชนกิจ ๖ ทวารจึงมี ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง ทําอาวัชชนกิจทาง ๕ ทวาร มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง ทําอาวัชชนกิจเฉพาะทางมโนทวาร ทวารเดียว

ขณะนี้มีปัญจทวาราวัชชนจิตไหม มี ถ้าไม่มีก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย

ขณะนี้มีมโนทวาราวัชชนจิตไหม มี เมื่อวิถีจิตทางปัญจทวาร ทวารใดทวารหนึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์แล้วดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดคั่นหลายขณะ แล้วมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นสืบต่อรับรู้อารมณ์นั้นต่อทางใจอีก คือ อาศัยใจ (ภวังคุปัจเฉทจิต) เป็นมโนทวารเกิดขึ้น รู้อารมณ์เดียวกับจิตที่รู้อารมณ์ทางปัญจทวารที่ดับไปแล้วนั้นซ้ำอีก

ขณะหลับสนิทไม่รู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดเลยนั้น มีปัญจทวาราวัชชนจิตไหม ไม่มี มีมโนทวาราวัชชนจิตไหม ไม่มี ขณะไม่หลับ แต่ไม่รู้อารมณ์ทางทวารใดทวารหนึ่งเลย ขณะนั้นมีปัญจทวาราวัชชนจิตไหม ไม่มี มีมโนทวาราวัชชนจิตไหม ไม่มี ถ้าเช่นนั้น ขณะนั้นเป็นจิตอะไร เป็นภวังคจิตที่เกิดคั่นระหว่างวิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางปัญจทวาร และวิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวาร

ทางปัญจทวารมีวิถีจิต ๗ วิถีตามลําดับ

เมื่อวิถีจิตที่ ๑ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น ทําอาวัชชนกิจแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้วิถีจิตที่ ๒ เกิดขึ้น คือ

ถ้าเป็นทางตา จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทําทัสสนกิจ คือ กิจเห็น ๑ ขณะแล้วดับไป

ถ้าเป็นทางหู โสตวิญญาณเกิดขึ้นทําสวนกิจ คือ กิจได้ยิน ๑ ขณะแล้วดับไป

ถ้าเป็นทางจมูก ฆานวิญญาณเกิดขึ้นทําฆายนกิจ คือ กิจได้กลิ่น ๑ ขณะแล้วดับไป

ถ้าเป็นทางลิ้น ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นทําสายนกิจ คือ กิจลิ้มรส ๑ ขณะแล้วดับไป

ถ้าเป็นทางกาย กายวิญญาณเกิดขึ้นทําผุสสนกิจ คือ กิจรู้ อารมณ์ที่กระทบกาย ๑ ขณะแล้วดับไป

เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จิตอื่นนอกจากจิต ๑๐ ดวงนี้จะเกิดต่อไม่ได้เลย (ปัญจวิญญาณทาง ๕ ทวารๆ ละ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง)

ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตที่ ๑ จักขุวิญญาณ หรือ โสตวิญญาณ หรือ ฆานวิญญาณ หรือ ชิวหาวิญญาณ หรือ กายวิญญาณ เป็นวิถีจิตที่ ๒ เมื่อจิตหนึ่งจิตใดในทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงนี้ดับไป แล้ว วิถีจิตที่ ๓ เป็นสัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นทําสัมปฏิจฉันนกิจ คือรับอารมณ์นั้นต่อจากปัญจวิญญาณ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว วิถีจิตที่ ๔ เป็นสันตีรณจิต เกิดขึ้นทําสันตีรณกิจ คือ พิจารณาอารมณ์นั้น ๑ ขณะแล้วดับไป วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนจิต (ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิตที่เกิดขึ้นทําโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร) เกิดขึ้นเป็นชวนปฏิปาทกะทํากิจกําหนด คือ กระทําทางให้โลกิยกุศลจิต หรือ อกุศลจิต หรือมหากิริยาจิตเกิดต่อ

เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว วิถีจิตที่ ๖ คือ โลกิยกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือมหากิริยาจิตประเภทใดประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นทําชวนกิจ ๗ ขณะ จึงสั่งสมสันดาน ตามข้อความที่ว่า ในคําว่า “จิตฺตํ” นี้ โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต ชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

การเกิดขึ้นเป็นไปของวิถีจิตตามลําดับแต่ละขณะที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นเป็นจิตนิยาม เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอํานาจบังคับบัญชาของใครเลย

วิถีจิตที่ ๑ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดขึ้น ๑ ขณะแล้วดับไป ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย

วิถีจิตที่ ๒ คือ ปัญจวิญญาณเกิดขึ้น ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๖ คือ โลกิยกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือมหากิริยาจิต เกิดขึ้นทําชวนกิจ ๗ ขณะก็เป็นไปตามปัจจัยที่ชวนวิถีสั่งสมสันดานตน เพราะเป็นวิถีจิตที่เกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้น จิตที่ทําชวนกิจเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว จึงไม่มีทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต ฉะนั้น มหากิริยาจิตจึงทําชวนกิจ เมื่อพระอรหันต์ไม่มีกุศลจิตและอกุศลจิต พระอรหันต์จึงมีแต่วิบากจิตและกิริยาจิต กิริยาจิตมีหลายประเภท วาระใดที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพารมณ์ และคิดนึก ชวนวิถีของพระอรหันต์เป็นมหากิริยาจิต คือเป็นจิตที่รู้อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

เพียงเห็นขณะหนึ่งแล้วยินดีพอใจสิ่งที่เห็น อกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิตก็เกิดขึ้นทําชวนกิจ ๗ ขณะ ซึ่งเท่ากับ ๗ เท่าของจักขุวิญญาณซึ่งเกิดขึ้นเห็นเพียงขณะเดียวเท่านั้น นี่คือการสะสมอกุศลซึ่งทุกคนกําลังเป็นอยู่ตามความเป็นจริงในชีวิตประจําวัน ฉะนั้น การดับกิเลสจึงไม่ง่าย และไม่ใช่โดยไม่ต้องรู้อะไรเลย ผู้ที่เข้าใจว่าจะดับกิเลสได้ง่ายๆ นั้น ควรรู้ความจริงที่สะสมอวิชชา โลภะ โทสะ และกิเลสอื่นๆ ไว้ ๗ เท่าของจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ วาระหนึ่งๆ ผู้ที่หวังรอว่าเมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น ไม่ได้คิดนึกถึงเหตุและผลตามความเป็นจริงที่ได้สะสมมาในสังสารวัฏฏ์ว่าจะต้องอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น จนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จึงจะดับกิเลสได้เป็นลําดับขั้น

ขณะที่กําลังฟังหรือศึกษาเรื่องของจิตนั้น ถ้าสติปัฏฐานระลึกรู้สภาพธรรมที่กําลังปรากฏ ขณะนั้นกําลังปฏิบัติ คือ อบรมเจริญหนทางที่จะทําให้รู้แจ้งพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลสได้ ขณะใดที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นถึงแม้ว่าเป็นกุศล ก็ไม่ใช่หนทางดับกิเลส ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายคําว่า อาจยคามี ว่า

อกุศลและกุศลที่ไม่ใช่มรรค ชื่อว่า อาจยคามี เพราะอรรถว่า ไปก่อธรรมที่เป็นเสมือนช่างอิฐก่อกําแพง ฉะนั้น ขณะใดที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นอกุศลหรือกุศลใดๆ ก็สะสมก่อสร้างภพชาติเหมือนช่างอิฐที่ก่อกําแพงด้วยอิฐทีละก้อน ซ้อนทับกันจนกระทั่งเป็นกําแพง แต่ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นมรรคเป็น อปจยคามี เพราะอรรถว่า ไม่ไปก่อธรรมที่เป็นไปนั้นแหละ เหมือนบุรุษรื้ออิฐที่ช่างอิฐก่อทับกันไว้ ฉะนั้น ขณะนี้กําลังเป็นบุรุษรื้ออิฐ หรือกําลังเป็นช่างก่ออิฐ

วิถีจิตที่ ๑ คือ อาวัชชนจิต สั่งสมสันดานไม่ได้ เพราะเกิด ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๒ คือ ปัญจวิญญาณ สั่งสมสันดานไม่ได้ เพราะเกิด ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิต สั่งสมสันดานไม่ได้ เพราะ เกิด ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณจิต สั่งสมสันดานไม่ได้ เพราะเกิด ๑ ขณะ

วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนจิต สั่งสมสันดานไม่ได้ เพราะเกิด ๑ ขณะ (หรือแม้ว่าเกิด ๒-๓ ขณะ เมื่อรูปดับก่อนชวนวิถีจิตเกิด)

วิถีจิตที่ ๖ คือ ชวนจิต สั่งสมสันดานเพราะเกิดดับสืบต่อซ้ำๆ กัน ๗ ขณะตามปกติ ในระหว่างสลบ ชวนจิตจะเกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๖ ขณะ ในขณะก่อนจะจุติ ชวนจิตจะเกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๕ ขณะ เพราะชวนจิตเกิดดับสืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ซึ่งมากกว่าวิถีจิตอื่นๆ ฉะนั้น ชวนวิถีจิตจึงสั่งสมสันดานของตน

คําถามทบทวน

๑. อนันตรปัจจัย คืออะไร

๒. จิตและเจตสิกมีกี่ชาติ อะไรบ้าง

๓. วิถีจิต คืออะไร จิตขณะใดไม่ใช่วิถีจิต

๔. อตีตภวังค์ คืออะไร

๕. ขณะไม่หลับมีภวังคจิตไหม

๖. ปัญจทวารวิถีจิต รู้อารมณ์อะไร ทางทวารไหน

๗. มโนทวารวิถีจิต รู้อารมณ์ทางทวารไหน

๘. จิตรู้ธัมมารมณ์ได้กี่ทวาร

๙. ปัญจทวาราวัชชนจิตทํากิจอะไร ทางทวารไหน

๑๐. มโนทวาราวัชชนจิตทํากิจอะไร ทางทวารไหน

เปิด  752
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ