จิตตสังเขป บทที่ ๕ ชาติของจิต
การเกิดดับสืบต่อกันของจิตและวิถีต่างๆ นั้นเป็นชีวิตปกติประจําวัน แต่เมื่อมีศัพท์ธรรมที่แสดงลักษณะและกิจของจิตต่างๆ ก็ทําให้สงสัย เพราะไม่เข้าใจความหมายของศัพท์นั้นๆ แต่ศัพท์นั้นๆ ล้วนแสดงลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ ในชีวิตปกติประจําวันนั่นเอง ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายจึงไม่ได้อยู่ในหนังสือตํารา แต่เป็นชีวิตจริงๆ แต่ละขณะที่กําลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ขณะนี้ทุกท่านกําลังเห็น รู้แล้วว่าเป็นวิถีจิตซึ่งมีอาวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และตทาลัมพนจิต เกิดดับสืบต่อกันทีละขณะ ความเข้าใจพระธรรมย่อมเตือนให้ระลึกว่า ชวนวิถีจิตที่เกิดในวาระที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้นนั้น เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งเกิดดับสั่งสมสืบต่อสันดานตนเอง
การศึกษาเรื่องชาติทั้ง ๔ ของจิต คือ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ จึงทําให้รู้ว่าจิตขณะใดเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล คือ วิบากจิตข้างหน้า และจิตขณะใดเป็นวิบาก คือ ผลของเหตุที่ได้กระทําแล้วในอดีต ฉะนั้น การศึกษาเรื่องจิตซึ่งเป็นวิถีจิตและจิตที่ไม่ใช่วิถีนั้น จะต้องรู้ด้วยว่าจิตนั้นๆ เป็นชาติอะไร เช่น ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรม หนึ่งในกรรมทั้งหลายที่ได้กระทําแล้วในอดีต เป็นปัจจัยทําให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตที่ทํากิจปฏิสนธิในภพหนึ่งชาติหนึ่งเพียงชั่วขณะเดียว จะทํากิจปฏิสนธิในชาตินั้นอีกไม่ได้เลย ทําได้เพียงชั่วขณะแรกขณะเดียวที่เกิดต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเท่านั้น แล้วปฏิสนธิจิตก็ดับไปไม่ยั่งยืนเลย
เมื่อปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นชาติวิบากดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตนั้นเป็นอนันตรปัจจัย ทําให้จิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตทันที จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตนั้นทําภวังคกิจ จึงไม่ใช่วิถีจิต ภวังคจิตเป็นวิบากจิต ฉะนั้น กรรมจึงไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไปเท่านั้น แต่กรรมยังทําให้วิบากจิตเกิดขึ้นทําภวังคกิจสืบต่อ และภวังคจิตดวงแรกที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตนั้นชื่อว่า ปฐมภวังค์ ส่วนภวังค์ดวงต่อๆ ไปจนถึงจุติจิตนั้นไม่จําเป็นต้องนับเลย
ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าวิถีจิตจะเกิด วิถีจิตแรกที่เกิดก่อนวิถีจิตอื่นๆ คือ จิตที่ทําอาวัชชนกิจ ได้แก่ อาวัชชนจิต ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตทําอาวัชชนกิจทางปัญจทวารหนึ่งดวง และมโนทวาราวัชชนจิตทําอาวัชชนกิจทางมโนทวารหนึ่งดวง จิตที่ทําอาวัชชนกิจทั้ง ๒ ดวงนี้เป็นกิริยาจิต คือ ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิต เพราะจิต ๒ ดวงนั้นรู้ได้ทั้งอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดีน่าพอใจ และอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นวิบากจิตแล้ว อกุศลวิบากรู้ได้แต่อนิฏฐารมณ์ และกุศลวิบากก็รู้ได้แต่อิฏฐารมณ์เท่านั้น
ข้อความในอัฏฐสาลินี แสดงลักษณะของกิริยาจิตว่าเป็นเพียงการกระทํา และแสดงลักษณะของกิริยาจิตที่ต่างกันโดยกิจว่า
ก็ในบรรดากิริยาจิตทุกดวงทีเดียว กิริยาจิตดวงใดไม่ถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตดวงนั้นย่อมไม่มีผล เหมือนดอกไม้ลม (วาตปุปฺผํ) ซึ่งมูลฎีกาแก้ว่า โมฆบุปฺผํ หมายถึง ดอกไม้ที่ไร้ผล) เพราะดอกไม้บางดอกเมื่อร่วงหล่นไปแล้วก็ไม่มีผลฉันใด กิริยาจิตก็ฉันนั้น กิริยาจิตซึ่งไม่ถึงความเป็นชวนะ คือ ไม่เป็นชวนวิถีจิตนั้นมี ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และมโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง ปัญจทวาราวัชชนจิตทํากิจเดียว คือ ทําอาวัชชนกิจทางปัญจทวาร มโนทวาราวัชชนจิตทํา ๒ กิจ คือ ทําอาวัชชนกิจทางมโนทวาร และ ทําโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร ส่วนกิริยาจิตอื่นๆ ซึ่งถึงความเป็นชวนะนั้นเป็นจิตของพระอรหันต์ ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินีอุปมาว่า กิริยาจิตดวงใดถึงความเป็นชวนะ (คือ กิริยาชวนวิถีจิตของพระอรหันต์) กิริยาจิตดวงนั้นก็ไม่มีผล เหมือนดอกของต้นไม้ที่รากขาดเสียแล้ว จึงเป็นแต่เพียงการกระทําเท่านั้น เพราะเป็นไปด้วยอํานาจให้สําเร็จกิจนั้นๆ
ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และมโนทวาราวัชชนจิต ๑
กิริยาจิตอื่นทั้งหมดนอกจากปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ทั้งสิ้น ฉะนั้น พระอรหันต์จึงมีกิริยาจิตที่ไม่ใช่ชวนะ ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และมีชวนวิถีที่เป็นกิริยาจิตเท่านั้น เพราะพระอรหันต์ดับกุศลและอกุศลทั้งหมด จึงไม่มีชวนวิถีจิตที่เป็นกุศลและอกุศลเลย
วิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางตานั้น เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จิตเห็น คือ จักขุวิญญาณ เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ได้กระทําแล้ว กุศลกรรมเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณกุศลวิบากเห็นรูปต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ที่สวยงามน่าพอใจ เป็นอิฏฐารมณ์ อกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณอกุศลวิบากเห็นรูปที่ไม่สวยงาม ไม่น่าพอใจ เป็นอนิฏฐารมณ์ วิถีจิตที่ได้ยินเสียงทางหู คือ โสตวิญญาณ ก็เป็นวิบากจิตซึ่งไม่มีใครรู้ว่าขณะใดโสตวิญญาณจะได้ยินเสียงอะไร ทั้งนี้เพราะย่อมเป็นไปตามเหตุ คือ กรรมที่ได้กระทําแล้วในอดีตทั้งสิ้น ขณะได้กลิ่นทางจมูก ฆานวิญญาณที่รู้กลิ่นก็เป็นวิบากจิต ขณะลิ้มรสทางลิ้น ชิวหาวิญญาณก็เป็นวิบากจิต ขณะกระทบสัมผัสทางกาย กายวิญญาณที่รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว ก็เป็นวิบากจิต เป็นผลของอดีตกรรมซึ่งได้กระทําสําเร็จแล้ว เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเหล่านั้นเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิต และเมื่อปัญจวิญญาณที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ดับไปแล้ว ก็เป็นอนันตรปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นๆ ต่อ สัมปฏิจฉันนจิตก็เป็นวิบากจิต เพราะเป็นผลของกรรมเดียวกับกรรมที่เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นนั่นเอง กรรมเดียวกันนั้นเองก็ทําให้สันตีรณจิตซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้น กระทําสันตีรณกิจต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต
ฉะนั้น วิถีจิตซึ่งเป็นวิบากจิตที่เกิดทางปัญจทวารนั้น คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต จึงไม่ได้สั่งสมสันดาน เป็นแต่เพียงผลของกรรมที่เกิดขึ้นกระทํากิจของตนๆ แล้วก็ดับไป ต่อจากนั้นโวฏฐัพพนจิต ซึ่งได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิตนั่นเอง กระทําโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร โวฏฐัพพนจิตเป็นกิริยาจิต กระทําโวฏฐัพพนกิจแล้วก็ดับไป ไม่ได้สั่งสมสันดาน เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อคือ ชวนวิถีจิต ซึ่งกระทํากิจแล่นไปในอารมณ์โดยเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต สําหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และสําหรับพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิตชวนวิถีจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ จึงเป็นขณะที่สั่งสมสันดานตนเอง ซึ่งก็เป็นในขณะนี้นั่นเอง
ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ อุปมาการเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ของวิถีจิตทางปัญจทวารว่า พระราชาองค์หนึ่งบรรทมหลับอยู่บนแท่นบรรทม มหาดเล็กคนหนึ่งถวายนวดพระยุคลบาทอยู่ นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร ทหารยาม ๓ คน ยืนเรียงลําดับอยู่ ทีนั้น ยังมีคนบ้านนอกคนหนึ่งถือเครื่องราชบรรณาการมาเคาะประตูเรียก นายทวารหูหนวกไม่ได้ยินเสียง มหาดเล็กผู้ถวายนวดพระยุคลบาทจึงให้สัญญาณ นายทวารหูหนวกจึงเปิดประตูดูด้วยสัญญาณนั้น ทหารยามคนที่หนึ่งรับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่สอง คนที่สองส่งให้คนที่สาม คนที่สามทูลเกล้าฯ ถวายพระราชา พระราชาเสวย คําอุปมาเปรียบเทียบแสดงให้เห็น วิถีจิต ที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์แต่ละขณะว่า ขณะที่อารมณ์กระทบกับจักขุปสาท เปรียบเหมือนคนบ้านนอกที่ถือเครื่องราชบรรณาการมาเคาะที่พระทวาร มหาดเล็กที่ถวายงานนวดพระยุคลบาทของพระราชา คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นขณะที่รู้ว่ามีแขกมาเคาะที่ทวาร จึงให้สัญญาณ คือรู้อารมณ์ที่กระทบ แล้วก็ดับไป นายทวารหูหนวก คือ จักขุวิญญาณ ก็เกิดขึ้น สืบต่อทํากิจเห็นที่จักขุปสาท แล้วต่อจากนั้นทหารยามคนที่หนึ่ง คือ สัมปฏิจฉันนจิต ก็รับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่สอง คือ สันตีรณจิต คนที่สองส่งให้คนที่สาม คือ โวฏฐัพพนจิต คนที่สามทูลเกล้าฯ ถวายพระราชา คือ ชวนจิต พระราชาได้เสวยเครื่องราชบรรณาการ คือ อารมณ์นั้น
มีคําอธิบายว่า ข้อเปรียบเทียบนั้นแสดงเนื้อความอะไร แสดงเนื้อความว่า อารมณ์มีกิจ คือ หน้าที่เพียงกระทบปสาทเท่านั้น คนบ้านนอกไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน แต่เครื่องราชบรรณาการถูกส่งต่อจากคนที่หนึ่ง-สอง-สาม ตามลําดับจนถึงพระราชา
จักขุวิญญาณเท่านั้นที่กระทํากิจเห็นอารมณ์ที่กระทบ ทวาร อารมณ์สามารถเพียงกระทบปสาทรูปเท่านั้น แต่ว่าจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์สืบต่อกัน โดยอารมณ์ไม่ได้ข้ามพ้นหรือล่วงล้ำปสาทเข้าไปสู่ที่อื่นเลย
เมื่อพิจารณาคําอุปมานี้ก็เข้าใจการเปรียบวิถีจิตที่เกิดขึ้น ทํากิจแต่ละขณะว่า จักขุวิญญาณกระทํากิจเห็นที่จักขุปสาทรูปซึ่งเป็นจักขุทวาร เหมือนนายทวารที่เปิดประตูดูที่ทวาร สัมปฏิจฉันนจิตเป็นทหารยามคนที่หนึ่งที่รับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่สอง เพราะเมื่อจักขุวิญญาณกระทํากิจเห็นแล้วก็ดับไป จักขุวิญญาณจะกระทํากิจรับอารมณ์อย่างสัมปฏิจฉันนจิตไม่ได้ เพราะว่าจักขุวิญญาณกระทําทัสสนกิจได้อย่างเดียว โดยเกิดที่จักขุปสาทรูปเท่านั้น แต่สัมปฏิจฉันนจิตเป็นดุจทหารยามคนที่หนึ่ง ที่ทํากิจรับอารมณ์ แล้วส่งให้ทหารยามคนที่สอง คือ สันตีรณจิต ซึ่งพิจารณาอารมณ์แล้วส่งต่อให้โวฏฐัพพนจิตตัดสิน แล้วส่งต่อให้พระราชา คือ ชวนวิถีจิตทํากิจเสวย คือ เสพเครื่องราชบรรณาการนั้น
ฉะนั้น ที่ใช้คําว่า เสพ หรือเสวย ก็เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของกุศลจิต หรืออกุศลจิตที่กระทําชวนกิจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ชวนวิถีจิตเป็นจิตที่เสพอารมณ์ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือด้วยกุศล หรือด้วยกิริยาจิตของพระอรหันต์ ชวนจิตกระทํากิจแล่นไปในอารมณ์โดยไม่ใช่เห็น ไม่ใช่รับ ไม่ใช่พิจารณา ไม่ใช่ตัดสิน เพราะจิตที่เกิดก่อนได้กระทํากิจเหล่านั้นไปหมดแล้ว จึงเป็นปัจจัยให้กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์เกิดขึ้นเสพ คือ แล่นไปในอารมณ์นั้นถึง ๗ ขณะ ชวนวิถีจิตจึงเป็นวิถีจิตที่เสพอารมณ์จริงๆ ถ้าเป็นโมฆวาระ แม้เสียงกระทบโสตปสาทแต่ก็ไม่ได้ยิน หรือ ถ้าเป็นโวฏฐัพพนวาระ กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิตของพระอรหันต์ก็ไม่เกิด จะเสพอารมณ์นั้นได้ไหม ในเมื่อชวนวิถีจิตไม่เกิด แต่เมื่อชวนวิถีจิตเกิดจึงเสพอารมณ์นั้น โดยเป็นจิตประเภทเดียวกัน เกิดดับสืบต่อกันถึง ๗ ขณะ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลชวนวิถีจิต หรืออกุศลชวนวิถีจิต หรือกิริยาชวนวิถีจิต
การที่ชวนวิถีจิตเกิดดับเสพอารมณ์ซ้ำถึง ๗ ขณะนั้นเป็นไปโดยปัจจัย คือ ชวนวิถีจิตขณะที่ ๑ เป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๒ เกิดขึ้น เสพอารมณ์นั้นซ้ำอีก และชวนวิถีจิตขณะที่ ๒ ก็เป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๓ เกิดขึ้น เสพอารมณ์นั้นซ้ำอีกเรื่อยไป จนถึงชวนวิถีจิตขณะที่ ๗ จึงไม่เป็นอาเสวนปัจจัย อาเสวนปัจจัย คือ อกุศลชวนวิถีจิต กุศลชวนวิถีจิต หรือกิริยาชวนวิถีจิตที่ทําให้จิตชาติเดียวกันเกิดขึ้นทําชวนกิจซ้ำอีก จึงมีกําลังทําให้อกุศลกรรมและกุศลกรรมเป็นกัมมปัจจัย ให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นอุปนิสสยปัจจัย ให้อกุศลชวนวิถี และกุศลชวนวิถี และกิริยาชวนวิถีเกิดขึ้นอีกในอนาคต การสั่งสมอกุศลประเภทต่างๆ มากมายหนาแน่นพอกพูนขึ้นนั้น ทําให้ทันทีที่ลืมตาขึ้นเห็นแล้วก็หลงเลย ขณะที่เป็นภวังคจิตนั้นไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะถ้าคิดนึกหรือฝัน ก็เป็นมโนทวารวิถีจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ฉะนั้น ตลอดเวลาที่เป็นภวังคจิตนั้นไม่รู้อารมณ์ใดๆ ของโลกนี้เลย โลกนี้ไม่ปรากฏเลย แต่แม้กระนั้น ในขณะนั้นก็มีอนุสัยกิเลส ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่รู้อารมณ์ใดๆ ในโลกนี้แล้วจะไม่มีกิเลส ทั้งนี้เพราะกิเลสมี ๓ ขั้น คือ
อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่สะสม นอนเนื่องอยู่ในจิต
ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดร่วมกับชวนวิถีจิต
วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบที่เกิดร่วมกับชวนวิถีจิต
ฉะนั้น แม้จิตซึ่งไม่ใช่ชวนวิถีจิตก็มีอนุสัยกิเลส เว้นจิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่มีกิเลสใดๆ เลยทั้งสิ้น
ฉะนั้น ให้ทราบว่า ขณะใดที่วิถีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น กระทบสัมผัสโผฏฐัพพะทางกาย หรือคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ทางใจ ขณะนั้นชวนวิถีจิตก็สั่งสมสันดานตนเพิ่มขึ้น ทั้งที่เป็นอกุศล กามาวจรกุศล และกามาวจรกิริยาชวนวิถี
วาระหนึ่งๆ ที่เห็น วิถีจิตทั้ง ๗ วิถี เป็นจักขุทวารวิถี
วาระหนึ่งๆ ที่ได้ยิน วิถีจิตทั้ง ๗ วิถี เป็นโสตทวารวิถี
วาระหนึ่งๆ ที่ได้กลิ่น วิถีจิตทั้ง ๗ วิถี เป็นฆานทวารวิถี
วาระหนึ่งๆ ที่ลิ้มรส วิถีจิตทั้ง ๗ วิถี เป็นชิวหาทวารวิถี
วาระหนึ่งๆ ที่รู้โผฏฐัพพะ วิถีจิตทั้ง ๗ วิถี เป็นกายทวารวิถี
วาระหนึ่งๆ ที่คิดนึก วิถีจิตทั้ง ๓ วิถี เป็นมโนทวารวิถี
คําถามทบทวน
๑. วิถีจิตใดทางปัญจทวารและทางมโนทวารเป็นวิบากจิตบ้าง
๒. ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิตกี่ดวง
๓. พระอรหันต์มีกิริยาจิตที่ไม่ใช่ชวนวิถีกี่ดวง
๔. อาเสวนปัจจัยคืออะไร
๕. จิตขณะใดเป็นอาเสวนปัจจัย
- พระพุทธศาสนามีองค์ ๙
- ปรมัตถธรรมสังเขป
- จิตตสังเขป บทที่ ๑ ความสำคัญของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๒ คำอธิบายจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๓ คำอธิบายจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๔ วิถีจิต, ทวาร, วัตถุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๕ ชาติของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๖ จิต ๘๙ จำแนกเป็น ๔ ชาติ, กิจของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๗ อรรถของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๘ อรรถของจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๙ ภูมิของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๐ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๑ สัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๒ คำอธิบาย อสังขาริก และ สสังขาริก
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๓ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็นเหตุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๔ จิตต่างกันโดยนัยของโสภณะและอโสภณะ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๕ จิตต่างกันโดยนัยของโลกิยจิตและโลกุตตรจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๖ อรรถของจิตประการที่ ๕ ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร
- บัญญัติ
- ภาคผนวก จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท
- ภาคผนวก เจตสิก ๕๒ ประเภท
- ภาคผนวก รูป ๒๔ ประเภท
- สมถภาวนา
- วิปัสสนาภาวนา
- แนวทางเจริญวิปัสสนา