แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 3

ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงรีบเสด็จออกจากพระนคร บ่ายพระพักตร์ตรง ภูเขาปัณฑวะ เสด็จไปแล้ว ลงจากพระราชยาน เสด็จไปยังสำนักพระโพธิสตว์ อันพระโพธิสัตว์ทรงอนุญาตแล้ว ประทับนั่งเหนือพื้นศิลา เมื่อทรงได้รับปฏิสันถารแล้ว ทรงถามถึงนามและโคตร ทรงมอบความเป็นใหญ่ทุกอย่างแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันไม่ประสงค์ด้วยวัตถุกามหรือกิเลสกาม หม่อมฉันปรารถนาแต่สัมโพธิญาณจึงออกบวช

พระราชาแม้ทรงอ้อนวอนหลายประการ ก็ไม่ได้น้ำพระหฤทัยของพระโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า "จักทรงเป็นพระพุทธเจ้าแน่" แล้วทูลว่า "ก็พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว โปรดเสด็จมาแคว้นของหม่อมฉันก่อน" แล้วเสด็จกลับพระนคร

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสด็จจาริกไปตามลำดับ เข้าไปหาอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร ยังสมาบัติ ๘ ให้เกิดขึ้น แล้วทรงดำริว่า ทางนี้ไม่ใช่ทางแห่งพระโพธิญาณ ไม่ทรงใส่พระทัยถึงสมาบัติภาวนานั้น มีพระประสงค์จะตั้งความเพียร จึงเสด็จไปยังอุรุเวลา ทรงดำริว่า ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริงหนอ พระองค์ประทับอยู่ ณ ตำบลนั้น ทรงตั้งความเพียรยิ่งใหญ่ ชน ๕ คนเหล่านี้คือ บุตรของพราหมณ์ผู้ทำนายพระมหาปุริสลักษณะ ๔ คน และพราหมณ์ชื่อ โกณฑัญญะ (ซึ่งเมื่อครั้งที่ทำนายมหาปุริสลักษณะนั้น พราหมณ์โกณฑัญญะยังเป็นหนุ่ม พราหมณ์อื่นสิ้นชีวิตไปแล้ว แต่ได้สั่งให้บุตรของตนบวช เพื่อที่จะได้ติดตามพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า)

ชน ๕ คนเหล่านี้ คือบุตรของพราหมณ์ผู้ทำนายพระมหาปุริสลักษณะ ๔ คน และพราหมณ์ชื่อโกณฑัญญะ บวชคอยอยู่ก่อนแล้ว ท่านทั้ง ๕ นั้นเที่ยวภิกษาจารไปในคามนิคมราชธานีทั้งหลาย บำรุงพระโพธิสัตว์ ณ ที่นั้นปัญจวัคคีย์ คือ ชน ๕ คนนี้บำรุงพระโพธิสัตว์ผู้ตั้งความเพียรยิ่งใหญ่อยู่ถึง ๖ ปี ด้วยวัตรปฏิบัติ มีกวาดบริเวณเป็นต้น ด้วยหวังอยู่ว่า พระโพธิสัตว์จักทรงเป็นพระพุทธเจ้า แม้พระโพธิสัตว์ก็ทรงยับยั้งอยู่ด้วยงาและข้าวสารเมล็ดเดียว ด้วยทรงหมายจะทำทุกกรกิริยาให้ถึงที่สุด ได้ทรงตัดอาหารด้วยประการทั้งปวง แม้เทวดาทั้งหลายก็นำทิพโอชะใส่ลงตามขุมขนทั้งหลาย

ครั้งนั้น พระวรกายที่มีสีทองของพระองค์ผู้มีพระกายถึงความซูบผอมอย่าง ยิ่งเพราะไม่มีอาหารนั้นก็มีสีดำ (ผิวสีทองเปลี่ยนเป็นสีดำ) พระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ก็ถูกปกปิด พระโพธิสัตว์ทรงถึงที่สุดแห่งทุกกรกิริยา ทรงดำริว่าทางนี้มิใช่ ทางแห่งพระโพธิญาณ มีพระประสงค์ที่จะเสวยอาหารหยาบ จึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ คามนิคมทั้งหลาย เสวยพระกระยาหาร ลำดับนั้น มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ก็กลับเป็นปกติ พระวรกายมีสีดุจสีทอง ขณะนั้น ปัญจวัคคีย์เห็นพระองค์ก็คิดว่า ท่านผู้นี้แม้ทำทุกกรกิริยามา ๖ ปี ก็ไม่อาจแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณได้ มาบัดนี้ยังเที่ยวบิณฑบาตไปตามคามนิคมราชธานีทั้งหลาย บริโภคอาหารหยาบ จักอาจได้อย่างไร ท่านผู้นี้มักมากคลาย ความเพียร ประโยชน์อะไรของเราด้วยท่านผู้นี้ แล้วก็ละพระมหาบุรุษพากันไปยังป่าอิสิปตนะ กรุงพาราณสี

ข้อความต่อไปโดยย่อมีว่า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์สมัยที่พระองค์ยังไม่ตรัสรู้ว่า เรามีปราสาท ๓ หลัง สุจันทะ โกกนุทะ และ โกญจะ มี ๙ ชั้น ๗ ชั้น และ ๕ ชั้น มีสนมฟ้อนรำ ๔ หมื่นนาง มีอัครมเหสีพระนามว่า ยโสธรา เรานั้นเห็นนิมิตร ๔ ออกมหาภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือม้า แต่นั้นก็ตั้งความเพียร ๖ ปี ในวันวิสาขบุรณมี ก็บริโภคข้าวมธุปายาสที่ธิดาของเสนานีกฏุมพี ณ อุรุเวลา เสนานิคม ชื่อสุชาดา ผู้เกิดความเลื่อมใสถวายแล้ว พักกลางวัน ณ สาลวัน เวลาเย็นรับหญ้า ๘ กำ ที่คนหาบหญ้าชื่อ "โสตถิยะ" ถวายแล้ว เข้าไปยังโคนโพธิพฤกษ์ ชื่อต้น "อัสสัตถะ" กำจัดกองกิเลสของมาร ณ ที่นั้น บรรลุพระสัมโพธิญาณ

ข้อความใน มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เรื่องสถานที่ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงละ มีข้อความว่า ก็พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ไม่ทรงละเจติยสถาน ๔ แห่ง (ในกัปป์นี้ซึ่งเป็นภัทรกัปป์ มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๕ พระองค์ และสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่เดิมเป็นสถานที่เดียวกันมี ๔ แห่ง) คือ

๑ โพธิบัลลังก์ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละ คือเป็นสถานที่แห่ง เดียวกันนั่นเอง

๒ ไม่ทรงละการประกาศพระธัมมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน (ในระหว่างพุทธันดร คือ สมัยที่ว่างพระศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายลงจากภูเขาคันธมาทน์ และมาแวะพักที่ป่าอิสิปตนะ ด้วยเหตุนั้น ป่านั้นจึงชื่อว่า "อิสิ" คือ "ฤาษี" ซึ่งหมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้านั่นเอง)

๓ ไม่ทรงละสถานที่ที่ทรงเหยียบพระบาทครั้งแรก ใกล้ประตูสังกัสสนคร ครั้งเสด็จลงจากเทวโลก

๔ ที่ไม่ทรงละสถานที่วางเท้าเตียง ๔ เท้าแห่งพระคันธกุฏีในพระวิหาร เชตวัน

ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถาปาสราสิสูตร ได้กล่าวถึงอีกสถานที่ ๑ คือ สถานที่ตั้งพระแท่นปรินิพพาน

เมื่อกล่าวโดย นักษัตร์ คือ โดยดาวฤกษ์ต่างๆ โดยนักษัตรคือดาวฤกษ์ในเดือนอุตตราสาธ หรือ อุตตรสาฬหะ

พระมหาบุรุษทรงบังเกิดในพระครรภ์พระชนนี ๑

เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ๑ ทรง

ประกาศพระธัมมจักร ๑ ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ๑

โดยนักษัตร คือ ดาวฤกษ์ในวันเพ็ญในเดือนวิสาขะ ทรงประสูติ ๑ ทรง ตรัสรู้ ๑ และทรงดับขันธปรินิพพาน ๑

โดยนักษัตร คือ ดาวฤกษ์วันเพ็ญเดือนมาฆะ พระผู้มีพระภาคทรงประชุมพระสาวก ๑ ทรงปลงพระชนมายุสังขาร ๑

โดยนักษัตร คือ ดาวฤกษ์วันเพ็ญเดือนอัสสยุชะ พระผู้มีพระภาคเสด็จลงจากเทวโลกนี้ชื่อว่า กำหนดนักษัตร์

ขอให้ท่านทั้งหลายผู้อยู่ในยุคนี้ คือในสมัยพระพุทธเจ้าพระสมณโคดม ไม่ใช่ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ในภัทรกัปป์ ย้อนคิดถึงความอดทนของบุคคลในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร ซึ่งในมธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธวงศ์ พรรณา เรื่องความปรารถนาของท่านสุเมธ มีข้อความว่า ถอยไป ๔ อสงขัยแสนกัปป์ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร ทรงพยากรณ์ท่านสุเมธดาบสว่า ต่อแต่นี้ไปอีก ๔ อสงขัยแสนกัปป์ จะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่า สมณโคดมนั้น มหาชนครั้งนั้นที่ได้ฟังพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระทีปังกร พากันร่าเริงยินดีและได้ทำความปรารถนาว่า "บุรุษกำลังจะข้ามแม่น้ำ เมื่อไม่อาจข้ามโดยท่าตรงหน้าได้ ก็ย่อมข้ามโดยท่าหลัง ฉันใด พวกเราเมื่อไม่ได้มรรคผลในศาสนาของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตกาลก็พึงสามารถทำให้แจ้ง มรรค ผล ต่อหน้าท่านในสมัยที่ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน"

๔ อสงขัยแสนกัปป์ คนในสมัยโน้นกล่าวว่า ถ้าไม่บรรลุมรรคผลในสมัยของพระทีปังกร ก็คงจะได้บรรลุในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระองค์นี้ ๔ อสงขัยแสนกัปป์ที่เป็นความอดทนของคนสมัยนั้น เขาร่าเริงยินดีเพราะเหตุว่าจะมีพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งข้างหน้า อดทนรอได้ ๔ อสงขัยแสนกัปป์ ไม่เร่งผลโดยที่ไม่มีเหตุอันสมควร อย่างบางคนอยากจะปฏิบัติให้เกิดผลภายใน ๓ เดือน หรือว่า ๑ ปี ๒ ปี แต่ว่าคนที่สามารถเข้าใจพระธรรม ก็รู้ได้ว่าจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานจริงๆ ในการอบรมปัญญา

ข้อความที่ว่า "บุรุษกำลังจะข้ามแม่น้ำ เมื่อไม่อาจข้ามโดยท่าตรงหน้าได้ ก็ย่อมข้ามโดยท่าหลัง" เมื่อไม่สามารถจะรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ก็บำเพ็ญเหตุที่จะให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ฉะนั้น ทุกท่านจึงต้องมีความอดทนอย่างนั้น ต้องเป็นผู้ที่อดทนจริงๆ ที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นตามความเป็นจริงในขณะนี้ตามปกติ

ท่านผู้หนึ่งบอกว่า เมื่อท่านได้ฟังพระธรรมและระลึกได้ ก็รู้ว่ามีโลภะเต็มทั้งวัน ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะเหตุว่า สังสารวัฏฏ์ทุกๆ ขณะถูกลากจูงไปด้วยโลภะเป็นเหตุ เป็นสมุทัย ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเกื้อกูลพุทธบริษัท โดยทรงแสดงโทษของโลภะ ให้เห็นความจริงว่าโลภะนั้นเป็นสมุทัย เป็นเหตุของทุกข์ ซึ่งเป็นสังสารวัฏฏ์ ทั้งๆ ที่วันนี้ทุกคนมีโลภะมากมาย แต่ระลึกได้ไหมว่าโลภะแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสมุทัย เป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ คือการเกิดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จากชาติหนึ่งสืบไปอีกชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง ทั้งๆ ที่มีโลภะก็ไม่เคยพิจารณารู้ว่าโลภะเป็นสมุทัย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเกื้อกูลอนุเคราะห์ทุกประการ ที่จะทำให้แต่ละท่านระลึกได้ในชีวิตประจำวัน ดังเช่นปัญญาของท่านสุเมธบัณฑิตก่อนที่ท่านจะบวชเป็นดาบส ในชาติที่ได้รับพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าว่า อีก ๔ อสงขัยแสนกัปป์จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ปัญญาในชีวิตประจำวันของแต่ละคนนั้นควรจะมีและควรอบรมเจริญขึ้น เช่นปัญญาของสุเมธบัณฑิต เมื่อ ๔ อสงขัยแสนกัปป์ เป็นปัญญาที่เกิดจากชีวิตประจำวัน ตามที่ท่านกล่าวถึงโทษของโลภะซึ่งเป็นสมุทัย ในกาลที่ท่านยังไม่ได้บวชเป็นดาบส ข้อความใน มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เรื่องความปรารถนาของท่านสุเมธ มีข้อความว่า วันหนึ่งสุเมธบัณฑิตนั่งขัดสมาธิ ณ ปราสาทชั้นบน ดำริว่าขึ้นชื่อว่า การถือปฏิสนธิในภพใหม่เป็นทุกข์

(๔ อสงขัยแสนกัปป์มาแล้ว ที่พระโพธิสัตว์ระลึกอย่างนี้ ควรพิจารณาตนเองว่าคิดบ้างหรือยังว่า ขึ้นชื่อว่า "การเกิดในภพใหม่เป็นทุกข์" เป็นปัญญาในชีวิต ประจำวันจริงๆ วันนี้ยังไม่ระลึก แต่ว่าคงจะมีบ้างบางกาลที่เกิดระลึกได้ว่า ความทุกข์ทั้งหมดมาจากการเกิด) การแตกดับแห่งสรีระในสถานที่เกิดแล้วเกิดเล่าก็เป็นทุกข์ ก็เรามีชาติ ชรา พยาธิ มรณะเป็นธรรมดา เราเป็นอยู่อย่างนี้ ก็ควรแสวงหาพระนิพพาน อันไม่มี ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นสภาพที่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พ้นจากการท่องเที่ยวไปในภพทั้งหลาย

ซึ่งจะพึงถึงได้ก็ด้วยมรรค คือหนทางอย่างหนึ่ง ซึ่งจะให้ถึงพระนิพพานแน่แท้ ถ้ากระไรเราผู้ไม่เยื่อใย ไม่ต้องการ จะพึงละกายอันเน่านี้ซึ่งเต็มไปด้วยซากศพต่างๆ ไปเสีย มรรคใดมีอยู่ จักมี มรรคนั้นไม่เป็นเหตุหามิได้ จำเราจักแสวงหามรรคนั้น เพื่อหลุดพ้นจากภพ (ไม่อยู่เฉยๆ แต่ว่าจะแสวงหาทางที่จะดับกิเลส ดับการเกิด ถ้าทุกท่านรู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ไม่ใช่เรา เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไม่รู้จักจบ จะเบื่อหน่ายละคลายความติดข้องที่ต้องการเห็นอีก ได้ยินอีกไหม แล้วจะแสวงหาหนทางที่จะทำให้ดับชาติการเกิดหรือไม่นั้นก็อยู่ที่ปัญญาของแต่ละท่าน) ธรรมดาสุขอันเป็นข้าศึกของทุกข์มีอยู่ฉันใด เมื่อความเกิดมีอยู่ ความไม่เกิดอันเป็นข้าศึกของความเกิดนั้น ก็พึงมี ฉันนั้น

อนึ่ง เมื่อความร้อนมีอยู่ แม้ความเย็นอันระงับความร้อนนั้น ก็มีอยู่ฉันใด นิพพานอันเป็นเครื่องระงับไฟคือกิเลสมีราคะเป็นต้น ก็พึงมีฉันนั้น อนึ่ง แม้ธรรมอันไม่มีโทษเป็นความดี ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมอันเป็นความชั่วลามกก็มีอยู่ฉันใด เมื่อความเกิดอันเป็นฝ่ายชั่วมีอยู่ แม้นิพพานซึ่งนับได้ว่าความไม่เกิดเพราะห้ามความเกิดได้ ก็พึงมีฉันนั้นเหมือนกัน ความคิดนั้นคิดสั้นๆ ก็ได้ คิดยาวๆ ไกลๆ ก็ได้ และถ้าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ความคิดที่เป็นฝ่ายกุศลก็จะพิจารณาไตร่ตรองเห็นธรรมตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกับความคิดที่ไร้สาระ เป็นอกุศล คิดเรื่องยาวก็ได้ แต่ว่าล้วนเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ทั้งสิ้น

ท่านสุเมธบัณฑิตคิดแม้ประการอื่นอีกว่า บุรุษผู้จมลงในกองอุจจาระ แลเห็นหนองน้ำที่มีน้ำใส ประดับด้วยบัวหลวง บัวสาย และบัวขาว ก็ควรแสวงหาหนองน้ำนั้นด้วยความคำนึงว่า ควรจะไปที่หนองน้ำนั้นโดยทางไหนหนอ การไม่แสวงหาหนองน้ำนั้น ไม่ใช่ความผิดของหนองน้ำ เป็นความผิดของบุรุษผู้นั้นผู้เดียว ฉันใด เมื่อหนองน้ำใหญ่คือ อมตธรรม ซึ่งเป็นเครื่องชำระมลทิน คือกิเลสมีอยู่ การไม่แสวงหาหนองน้ำใหญ่คืออมตธรรมนั้น นั่นไม่ใช่ความผิดของหนองน้ำใหญ่คืออมตธรรม เป็นความผิดของบุรุษผู้นั้นผู้เดียว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

(ผู้มีปัญญา คือท่านสุเมธบัณฑิต เห็นความน่ารังเกียจของอกุศล เหมือนความน่ารังเกียจของอุจจาระ และมีความรู้สึกว่ากำลังจมลงในกองอุจจาระด้วย เพราะว่าวันหนึ่งๆ กิเลสมากอกุศลมาก และถ้าเห็นกิเลสอกุศลดุจกองอุจจาระ วันนี้จมลงไปเท่าไรในกองอุจจาระ และมีหนองน้ำซึ่งจะชำระมลทิน คือกิเลสด้วย ฉะนั้นผู้ที่ต้องการจะพ้นจากการจมลงในกองอุจจาระจึงหาทางที่จะไปสู่หนองน้ำนั้น ถ้าระลึกได้อย่างนี้บ่อยๆ และพิจารณาจริงๆ ก็จะไม่ขาดการฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรม การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ก็ต้องอาศัย พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ แม้ในครั้งที่พระโพธิสัตว์เป็นสุเมธบัณฑิต และคิดถึงโทษของอกุศลและสังสารวัฏฏ์)

ท่านสุเมธบัณฑิตคิดแม้ประการอื่นว่า อนึ่ง บุรุษผู้ถูกโจรล้อมไว้ เมื่อทางหนีแม้มีอยู่ ถ้าบุรุษนั้นไม่หนีไปเสีย นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของทางนั้น เป็นความผิดของบุรุษนั้นผู้เดียว ฉันใด บุรุษที่ถูกพวกโจรคือกิเลสล้อมจับไว้ เมื่อทางใหญ่อันรุ่งเรืองที่จะไปยังมหานครคือพระนิพพาน แม้มีอยู่ ก็ไม่แสวงหาทางนั้น ก็ไม่ใช่ความผิดของทาง เป็นความผิดของบุรุษนั้นแต่ผู้เดียว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เห็นโทษของอกุศล โดยประการอื่นอีก คือ นอกจากจมลงในกองอุจจาระ ก็ยังเหมือนกับถูกกิเลส คือโจรล้อมไว้อย่างหนาแน่น ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าจะหนีโจร หรือว่ายังคงให้โจรคือกิเลสรุมล้อมอย่างหนาแน่นต่อไป)

บุรุษถูกความเจ็บป่วยบีบคั้น เมื่อหมอที่จะเยียวยาความเจ็บป่วย มีอยู่ ถ้าไม่แสวงหาหมอนั้น ไม่ยอมให้หมอนั้นเยียวยาความเจ็บป่วย นั่นไม่ใช่ความผิดของหมอ เป็นความผิดของบุรุษนั้นแต่ผู้เดียว ฉันใด ก็ผู้ใดถูกความเจ็บป่วย คือ กิเลสบีบคั้นหนัก ไม่แสวงหาศาสดาผู้ฉลาดในทางระงับกิเลสซึ่งมีอยู่ ก็เป็นความผิดของบุรุษผู้นั้นผู้เดียว ไม่ใช่ความผิดของศาสดาผู้ขจัดความเจ็บป่วย คือกิเลส ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (กำลังเจ็บป่วยทางจิตแต่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ไม่แสวงหาศาสดา)

ครั้นท่านสุเมธบัณฑิตคิดดังกล่าวมานี้แล้ว จึงคิดยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างนี้ว่า บุรุษผู้ชอบแต่งตัวสวยๆ ทิ้งซากศพที่คล้องคอเสีย ก็พึงเป็นสุขไป แม้ฉันใด แม้เราก็ทิ้งกายอันเน่านี้เสียไม่อาลัย พึงเข้าไปยังมหานครคือนิพพาน ก็ฉันนั้น

อนึ่ง บุรุษสตรีถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงที่พื้นดินอันเปื้อนอุจจาระปัสสาวะแล้ว ก็หาเอาใส่ชายพกหรือเอาชายผ้าห่ออุจจาระปัสสาวะนั้นพาไปไม่ ที่แท้ก็พากันเกลียด ไม่อยากแม้แต่จะดู ไม่อาลัย ทิ้งไปเลยฉันใด แม้เราก็ไม่อาลัยกายอันเน่านี้ ควรที่จะละทิ้งเข้าไปยังอมตนครคือนิพพาน ก็ฉันนั้น

เปิด  438
ปรับปรุง  17 ต.ค. 2566