แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 7

ปิฏกที่ ๓ คือ พระอภิธรรมปิฏก บางคนอาจจะกลัวว่าพระอภิธรรมปิฏกยากมาก และไม่มีโอกาสได้ฟังบ่อย แต่เมื่อเข้าใจความหมายของธรรมว่า ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ และการที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ได้ถูกต้องนั้นมีหนทาง เดียวคือศึกษาพระอภิธรรม เพราะอีกนัยหนึ่งนั้น อภิธรรมเป็นธรรมส่วนละเอียดจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ คือประจักษ์แจ้งสัจจธรรม ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

ผู้ที่ไม่ศึกษาพระอภิธรรมนั้น อาจจะเพราะคิดว่าพระอภิธรรมละเอียดมากเกินไป แต่ถ้าเข้าใจว่าอภิธรรมคือเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก กำลังได้ลาภ กำลังเสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ การเจ็บ การตาย ไม่พ้นไปจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกทั้งหมดจะกี่โลกก็ตาม โลกพระจันทร์ หรือพรหมโลก ก็ไม่พ้นไปจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เกิดเป็นสัตว์ เป็นเทพ ก็มีตา มีหูฯ ลฯ ไม่พ้นไปจาก ๖ โลกนี้เลย ฉะนั้น ๖ โลกนี้คือพระอภิธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด การศึกษาพระอภิธรรมจึงเป็นการศึกษาที่ทำให้ค่อยๆ รู้จักตัวเอง รู้จักโลกตามความเป็นจริง เป็นสัจจธรรม

ถ. ที่กล่าวว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คืออภิธรรม ขอให้อาจารย์ขยายความ การระลึกรู้ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมว่า จะต้องทำอย่างไร มีการระลึกรู้อย่างไร

สุ. ถ้ายังไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในขณะนี้อย่างถูกต้องจริงๆ ก็ปฏิบัติธรรมไม่ได้ ไม่มีใครปฏิบัติธรรมได้ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ ถ้ามีใครชวนไปดูหนังก็ไปดูได้ ใครชวนไปซื้อของก็ไปด้วยได้ ใครชวนไปเที่ยวก็ไปได้ ใครชวนไปปฏิบัติแต่ยังไม่รู้อะไรเลยจะปฏิบัติได้ไหม ฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งหมดจะต้องเข้าใจถูกก่อนว่า ปฏิบัติคืออะไร

อย่าเข้าใจว่าปฏิบัติคือทำก็จะทำ การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่อย่างนั้นเลย กำลังเห็นขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏทางตา ขณะที่ได้ยิน มีเสียง และมีได้ ยินด้วย ขณะที่รับประทานอาหารก็ลิ้มรส ขณะที่กระทบสัมผัสทางกาย ก็รู้สึกเย็นบ้าง ร้อนบ้าง แข็งบ้าง ไหวบ้าง ถ้าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่ใช่เราหรือตัวตนที่จะปฏิบัติ

ปริยัติ คือศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ต้องไปแสวงหาที่อื่นเลย ขณะนี้ก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มีท่านผู้หนึ่งท่านเที่ยวไปเสาะแสวงหาธรรมหลายจังหวัด แต่เมื่อท่านเข้าใจธรรมแล้ว ก็รู้ว่าทันทีที่ลืมตาตื่นก็มีธรรมปรากฏ จนกระทั่งหลับไป ขณะหลับโลกไม่ปรากฏ ไม่มีอะไรๆ ปรากฏเลยทั้งสิ้น เวลาหลับสนิทไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร อยู่ที่ไหน ไม่รู้ อะไรเลยทั้งสิ้น แต่จิตก็เกิดดับดำรงภพชาติให้เป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่าตื่นอีก เห็นอีก ได้ยินอีก จนกว่าจะตายไป

เมื่อยังไม่รู้ไม่เข้าใจว่าโลกที่ปรากฏทางตานั้นเป็นโลกหนึ่ง โลกเสียง สูง ต่ำ ที่ปรากฏทางหูก็เป็นโลกหนึ่ง โลกที่ปรากฏทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เป็นแต่ละโลก เมื่อยังไม่รู้อย่างนี้ก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น คือเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นสังขารขันธ์ (ขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕) ที่ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกได้ และเริ่มพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และเข้าใจแล้วจากการฟังเพื่อให้รู้ชัดและประจักษ์แจ้งว่า ธรรมที่ปรากฏนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ ตรงกับพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังทุกประการ

ฉะนั้น ก่อนอื่นอย่าเพิ่งปฏิบัติ ต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก่อน เพราะขณะปฏิบัตินั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด เช่น สติเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ปัญญาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง วิริยะเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ในขณะนั้นสภาพธรรมหลายอย่างเกิดรวมกัน แต่เมื่อไม่รู้ ก็คิดว่าเราปฏิบัติ แต่ความจริงนั้นเป็นสภาพธรรมประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของธรรมนั้นๆ ขณะนี้จิตกำลังปฏิบัติกิจของจิต คือ เห็น ขณะที่เห็นนี้แหละเป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจเห็น เป็นจักขุวิญญาณ จิตนั้นเรียกวิญญาณก็ได้ แต่เพราะจิตมีมากมายหลายชนิด จิตเห็นต้องอาศัยตาเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้นเห็นได้ ฉะนั้น จึงเรียกจิตนี้ที่ทำกิจเห็นนี้ว่า จักขุวิญญาณ คือเป็นจิตที่อาศัยตาเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้

ต้องเข้าใจสภาพธรรมเหล่านี้ก่อน จึงจะรู้ว่าสภาพธรรมที่กำลังเข้าใจนี้เป็น สังขารขันธ์ที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมที่เข้าใจขึ้นอีกเมื่อฟังและพิจารณาสภาพธรรมมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อเห็นก็ระลึกรู้ว่าสภาพเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นจิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน นี่คือการปฏิบัติอบรมเจริญปัญญา

ถ. ผมขอถามต่ออีกนิด ที่ยกตัวอย่างทางตา อย่างผมเห็นอาจารย์คือ เห็นเป็นรูปอาจารย์ หรือเห็นเป็นสีเป็นแสง หรือเห็นเป็นตัวบุคคล หรือว่าเห็นเป็นไมโคร โฟน เห็นเป็นโต๊ะ อย่างไรครับที่ว่าเห็นถูก

สุ. นี่คือความละเอียดของสภาพธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้แต่เรื่องเห็นซึ่งก็เห็นกันอยู่ทั้งนั้น แต่ส่วนมากก็ไม่เคยพิจารณาให้รู้ความจริงของสภาพเห็น จนตายปัญญาก็ไม่เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพเห็นและธรรมอื่นๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ในเรื่องของสภาพเห็นนี้ก็ต้องเริ่มพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ว่า เห็นมีจริง และสิ่งที่ถูกเห็นก็มีด้วย สิ่งที่ถูกเห็นนั้น ทางธรรมใช้คำว่า รูปารมณ์ อะไรก็ตามที่จิตกำลังรู้ สิ่งที่ถูกรู้เป็นอรัมมณะหรืออารมณ์

จิตได้ยินเสียงคือจิตที่รู้เสียง ฉะนั้น เสียงก็เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้เสียง มีอารมณ์ ๕ อารมณ์ ที่รู้ได้ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ อารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา ภาษาบาลีเรียกว่า รูปารัมมณะ หรือ รูปารมณ์ เสียง คือสัททะ เมื่อกำลังปรากฏทางหูก็เป็นสัททารมณ์ เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดเสียง เสียงก็เกิด แต่เสียงใดก็ตามที่จิตไม่ได้ยิน เสียงนั้นก็ไม่ใช่อารมณ์ของจิตในขณะนั้น เสียงใดก็ตามที่จิตได้ยิน เสียงนั้นคือสัททารมณ์ สัทท + อารัมมณะ รวมเป็นสัททารมณ์

กลิ่นที่จิตรู้ทางจมูกเป็นคันธารมณ์ รสที่จิตรู้ทางลิ้นเป็น รสารมณ์ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่จิตรู้ได้ทางกายเป็นโผฏฐัพพารมณ์ สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง จะเรียกเป็นภาษาอะไรก็ได้ แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้นั้นเป็นภาษาบาลี สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั้นยากที่จะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เพราะเคยชินกับความคิดนึกว่าสิ่งที่เห็น เป็นคนเป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ จริงๆ

แต่ขอเปรียบเทียบกับการส่องกระจกว่าเวลาส่องกระจกนั้น เห็นใครในกระจก ทุกคนก็จะบอกว่าเห็นตัวเองในกระจก แต่มีใครจริงๆ ในกระจกบ้างไหม ไม่มีอะไรในกระจกเลย แต่ขณะใดที่เห็นเงาในกระจกก็คิดว่าเป็นตัวเราจริงๆ ในกระจก ลืมคิดถึงตัวนอกกระจกด้วยซ้ำไป ขณะที่คิดว่ามีตัวเราและมีอะไรๆ อยู่ในกระจกนั้น ลองกระทบสัมผัสกระจกก็จะรู้สึกว่าเพียงแข็ง หามีอย่างอื่นใดไม่ในกระจกนั้น ฉันใด สิ่งที่เพียงปรากฏทางตาก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง

ซี่งจะต้องฟังและพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจว่า สภาพธรรมนี้เป็นของจริงอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ต้องแยกสิ่งที่ปรากฏออกจากความคิดนึก เพราะว่าทันทีที่ได้ยินเสียงก็คิดนึกถึงเสียงสูงต่ำที่ได้ยิน และจำความหมายเป็นคำๆ รู้เรื่องราวไปเลย เหมือนกับว่าแยกออกจากกันไม่ได้เลย ระหว่างได้ยินเสียงกับรู้เรื่อง ไม่ว่าใครจะพูดภาษาอะไร ถ้ารู้ภาษานั้น ก็สามารถที่จะเข้าใจความหมายของคำนั้นๆ ได้

นี่แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่ได้แยกโลกทางตาออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางหูออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางจมูกออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางลิ้นออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางกายออกจากทางใจ เพราะ เหตุว่า โลกมี ๖ โลก คือ

โลกทางตา เห็นแสงสีต่างๆ

โลกทางหู ได้ยินแต่เสียงเท่านั้น ไม่ได้คิดนึกอะไรทั้งสิ้น

โลกทางจมูก รู้ได้เฉพาะกลิ่น

โลกทางลิ้น ลิ้มรสต่างๆ กำลังปอกมะม่วงไม่ได้ลิ้มรสอะไรเลย จน กว่ารสนั้นจะกระทบชิวหาปสาทรูปที่อยู่กลางลิ้น จิตลิ้มรสจึงเกิดขึ้นโดยอาศัยลิ้น จิตลิ้มรสต่างๆ ซึ่งวิจิตรมาก รสผลไม้ รสข้าว รสปลาต่างๆ เหล่านี้ จิตเป็นสภาพที่รู้รสโดยลิ้มรสต่างๆ เท่านั้น แยกออกไปจากโลกของความนึกคิด ขณะที่จิตกำลังลิ้มรสก็มีรสเท่านั้นปรากฏ ไม่มีปลา ไม่มีเนื้อ ไม่มีชื่ออะไรเลย แล้วหลังจากนั้นก็เป็นโลกของความคิดนึกเรื่องปลา เรื่องผัก เรื่องอะไรต่างๆ

โลกทางกาย รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงหรือไหวขณะที่กระทบสัมผัสสิ่ง หนึ่งสิ่งใด หลังจากนั้นก็คิดนึกเป็นเรื่องของเสื้อผ้าแพรพรรณต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ตาจะไม่ได้เห็นสิ่งต่างๆ หูก็ไม่ได้ยินเสียง จมูกก็ไม่ได้กลิ่น ลิ้นก็ไม่ได้ลิ้มรส กายก็ไม่ได้กระทบสัมผัส แต่โลกทางใจก็คิดนึกได้ทุกเรื่องตามที่เคยจำไว้

การจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องแยกธรรมแต่ละลักษณะออกจากกัน โดยพิจารณาให้เห็นความจริงว่าขณะคิดถึงเรื่องเมื่อวานนี้ จะเห็นไฟที่ประดับตามถนนหรือจะเห็นอะไรก็แล้วแต่ คิดนึกถึงสิ่งที่เคยเห็นเคยได้ยิน เป็นต้นได้ แต่ถ้าไม่เคยเห็นเลยจะคิดนึกเรื่องนั้นๆ ได้ไหม ก็คิดไม่ได้

ฉะนั้น เมื่อเห็นแล้วก็จำแล้วคิดต่อทันที ซึ่งความจริงเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับแต่ละขณะ ถ้าความคิดกับสิ่งที่เห็นใกล้ชิดกันมากเราไม่รู้เลย เรารู้เหมือนกับว่าเราเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ทันทีแต่ตามความจริงถ้าเราแยกออกให้ห่างกันคือ เห็นเท่านั้น เพียงลืมตาแล้วเห็น ไม่เป็นอะไรทั้งหมด หลังจากนั้นคิด แล้วจะเรียกเห็นตรงนี้ว่าอะไร จะเรียกได้ยินตรงนั้นว่าอะไร ก็จำเป็นต้องสมมติชื่อ แต่ให้เข้าใจความจริงว่า เห็น เกิดเรียกว่าชื่อนี้ ถ้าธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดเรียกว่าชื่อนั้น ฉะนั้นเราจะเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่าสมมติหรือบัญญัติว่า เป็นเพียงแต่ชื่อใช้เรียกสิ่งที่มีจริงๆ ให้เข้าใจความหมาย

ฉะนั้น ก่อนอื่นอย่าเพิ่งปฏิบัติอะไรเลย อย่าเข้าใจว่า ปฏิบัติธรรมคือต้องทำอะไร แต่การปฏิบัติธรรมเป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ กำลังปรากฏให้รู้ ให้เข้าใจตามความเป็นจริงได้ แต่เมื่อไม่เคยฟังก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ ฉะนั้นก็ต้องฟัง ศึกษา พิจารณาจนกว่าจะค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าเสียงไม่กระทบหูได้ยินก็เกิดไม่ได้เลยฉันใด ถ้าความเข้าใจสภาพธรรมไม่มี สติจะเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติ ปัญญาจะเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของปัญญาก็ไม่ได้ฉันนั้น ถ้าเสียงไม่กระทบหู จิตได้ยินเกิดไม่ได้ ถ้าความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมไม่มี ก็จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้เลย

คนที่อยากมีความสุขในครอบครัว ในชีวิต ก็จะต้องพิจารณาก่อน รู้ก่อนว่าความทุกข์ของชีวิตเกิดจากอะไร ถ้ายังไม่รู้แหล่งจริงๆ ว่าเกิดจากอกุศล มาจากกิเลส ก็แก้ไม่ได้ และทั้งๆ ที่รู้ว่ากิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะให้กิเลสค่อยๆ บางลงไป หรือลดน้อย ลงไป หรือไม่คิดที่จะมีกุศลเพิ่มขึ้น ถ้าไม่คิดที่จะมีกุศลเพิ่มขึ้นแล้วจะไปแก้ตรงอื่นก็แก้ไม่ตรงจุด

ฉะนั้น เมื่อรู้ว่าอกุศลเป็นทุกข์และเป็นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย ก็ควรศึกษาธรรม ฟัง พิจารณาให้รู้จริงๆ ว่า บังคับบัญชาสภาพธรรมทั้งหลายไม่ได้เพราะสภาพธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่คิดว่าจะถึงนิพพานโดยเร็ว เพราะเพียงความรู้ขั้นฟังเท่านั้นไม่ทำให้ใครถึงนิพพานได้ แต่อย่างน้อยที่สุดการฟังก็ทำให้เกิดความเข้าใจขึ้นในสภาพธรรมที่ไม่เคยรู้ไม่เข้าใจมาก่อนเลยว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริง ผู้ที่ฟังพระธรรมยังดับกิเลสไม่ได้ แต่ก็จะเข้าใจพระธรรมมากขึ้น และอกุศลก็จะค่อยๆ ลดลง เมื่อไม่มีปัญญาแล้วพยายามจะดับอกุศลก็เป็นไปไม่ได้ และไม่ว่าวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น

ระหว่างความรู้กับความไม่รู้ อะไรจะเป็นประโยชน์กว่ากัน ตามที่ว่า รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม แม้ในเรื่องพระธรรม พุทธบริษัทก็ควรรู้ว่ามีพระไตรปิฏก และแต่ละปิฏกกล่าวด้วยเรื่องอะไร พระธรรมจริงๆ นั้นเป็นเรื่องสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องฟังและพิจารณาให้เข้าใจมากขึ้น จนปัญญาเกิดขึ้นทำหน้าที่ของปัญญาได้

เช่น ขณะที่เห็นดอกไม้สวย โลภะเกิดขึ้นทำกิจของโลภะ ไม่มีเราไม่มีตัวตนเลย ขณะที่โทสะเกิดไม่ชอบสิ่งใด โทสะก็ทำกิจของโทสะ ก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวตน แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้เลยว่าสภาพธรรมมีลักษณะอย่างไร ทำกิจการงานอย่างไร ไม่รู้ว่ามานะความสำคัญตนเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมบ่อยๆ เวลาเกิดความสำคัญตนขึ้น สติก็ยังระลึกได้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นอกุศล เมื่อรู้ว่าอกุศลไม่ดีก็เริ่มเห็นโทษของอกุศลทีละเล็กละน้อย แต่ถ้าไม่รู้ว่าอกุศลไม่ดีโกรธก็ไม่ดี ก็คิดว่าต้องโกรธ เพราะถ้าโกรธแล้วคนอื่นจะได้เชื่อฟังหรือทำอะไรให้

เช่น มีคนหนึ่งบอกว่าอาหารไม่อร่อย ถ้าไม่โกรธคุณแม่ก็ไม่ทำให้ใหม่ นี่ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจในเหตุในผลจริงๆ ว่า แท้ที่จริงนั้นความทุกข์เกิดกับใคร คนที่กำลังโกรธนั้นเองเป็นทุกข์ พระธรรมทั้งหมดแม้พระสูตรก็ต้องสอดคล้องกับพระอภิธรรมด้วย แต่พระอภิธรรมนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงละเอียดขึ้น เพื่อเป็นเหตุให้ปัญญาของสาวกคือผู้ฟังเกิดขึ้นพิจารณาตนเอง

สิ่งหนึ่งซึ่งสังคมแก้ไม่ได้ ก็คือ สังคมพยายามแก้คนอื่นโดยไม่แก้ตัวเอง เช่นที่มักจะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า ปัญหาชีวิต ปัญหาบ้านเมือง ปัญหาเศรษฐกิจปัญหาสังคม ปัญหาของโลก สารพันปัญหานั้น มีทางเดียวที่จะแก้ได้ก็คือ พระพุทธศาสนา

แต่โดยมากนั้น ชาวพุทธพยายามให้คนอื่นศึกษาเพราะเห็นว่ามีประโยชน์มากจำเป็นมากต้องศึกษา แต่คนที่อยากจะให้คนอื่นศึกษานั้น ตนเองศึกษาหรือเปล่า ถ้าคนที่พูดไม่ศึกษาก็จะไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าต้องการให้คนอื่นศึกษา เท่ากับต้องการแก้คนอื่นให้ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ แต่ไม่แก้ตัวเอง ตัวเองเคยเห็นอกุศลของตัวเองไหม ถ้ายังไม่เห็นอกุศลของตนเองก็ไม่มีทางที่กุศลจะเจริญขึ้น

เมื่อได้ฟังพระธรรมส่วนละเอียดมากขึ้น ก็จะรู้ว่าอกุศลธรรมมีหลายขั้น อกุศลอย่างหยาบเป็นเหตุให้เกิด กายทุจริต วจีทุจริต ทางกายมีประหัตประหารเบียดเบียน ยึดถือทรัพย์ของคนอื่นที่เจ้าของไม่ได้ให้เอามาเป็นของตน ทางวาจา ก็มีกิเลสขั้นหยาบที่ทำให้พูดเท็จ คำพูดที่น่าฟังกับคำพูดที่ไม่น่าฟัง เกิดจากจิตที่ต่างกัน คำพูดหยาบ ต้องเกิดจากอกุศลจิตที่มีกำลังมาก คำพูดที่แสดงถึงความสำคัญตน ก็เกิดจากอกุศลที่ตรงกันข้ามกับสภาพจิตใจที่อ่อนโยน มีเมตตา มีความเป็นเพื่อนอย่างจริงใจ

ทั้งหมดนี้เป็นธรรม ซึ่งเมื่อศึกษาแล้วก็จะรู้ว่าอกุศลมีมากแค่ไหน และจะเห็นโทษภัยของอกุศล เริ่มคิดที่จะขัดเกลากิเลส นี่คือคุณประโยชน์ของพระธรรมแต่ถ้าไม่มีการพูดเรื่องธรรมเหล่านี้เลย ไม่ให้เกิดปัญญาจริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรทำกิจของปัญญาได้ โลภะก็ต้องทำกิจของโลภะ มานะก็ต้องทำกิจของมานะ โทสะก็ต้องทำหน้าที่ของโทสะ เพราะว่าปัญญาไม่เกิด ต่อเมื่อไรปัญญาเกิดเมื่อนั้น ซึ่งเปรียบเสมือนแสงสว่าง ที่ทำให้เห็นสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง และจะรู้พระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงพระมหากรุณา แสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา สำหรับพวกเราสมัยนี้

เปิด  448
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565