แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 17
ด้วยพระมหากรุณาพระผู้มีพระภาค ทั้งๆ ที่สูจิโลมยักษ์กระทำอย่างนั้นกล่าวอย่างนั้น แต่พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า "อาวุโส เอาเถอะท่านจงถามตามที่ท่านจำนงเถิด" สูจิโลมยักษ์จึงถามว่า "ราคะและโทสะ มีอะไรเป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยองเกิดแต่อะไร ความตรึกในใจเกิดแต่อะไร แล้วดักจิตไว้ได้ เหมือนพวกเด็กดักกา ฉะนั้นก็เป็นผู้ที่สนใจในเรื่องของธรรม เพราะว่าถามถึงเรื่องของความโกรธและความติดข้อง คือในเรื่องของความไม่ยินดีและความยินดี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ราคะและโทสะ มีอัตตภาพนี้เป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดีและความสยดสยอง เกิดแต่อัตตภาพนี้ ความตรึกในใจเกิดแต่อัตตภาพนี้แล้ว ดักจิตไว้ได้ เหมือนพวกเด็กดักกา ฉะนั้น"
อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดจากความเยื่อใย คือตัณหา เกิดขึ้นในตน แล้วแผ่ซ่านไปในวัตุกามทั้งหลาย เหมือนย่านไทร เกิดแต่ลำต้นไทร แล้วแผ่ซ่านไปในป่า ฉะนั้น ชนเหล่าใดย่อมรู้อัตตภาพนั้น ว่าเกิดแต่สิ่งใด ชนเหล่านั้น ย่อมบรรเทาเหตุเกิดนั้นเสียได้ดูกรยักษ์ ท่านจงฟังชนเหล่านั้น ย่อมข้ามห้วงกิเลสนี้ ซึ่งข้ามได้ยากและไม่เคยข้าม เพื่อความไม่มีภพอีกต่อไป ถ้าไม่ใช่ยักษ์ที่ฟังบรรลุคุณธรรมรู้แจ้งอริยสัจจ์ได้จากพยัญชนะนี้เอง แต่เพราะว่าเป็นยักษ์และไม่ได้สะสมอินทรีย์บารมีมา เพราะฉะนั้นก็ไม่รู้แจ้ง และโดยเฉพาะถ้าท่านจะพิจารณาเนื้อความท่านก็จะเห็นได้ว่า การที่ยังมีความยินดีไม่ยินดีต่างๆ ที่จะต้องละนั้น ก็คือความที่ยังยินดียึดถือในสักกายะคือตัวตน คนที่ไม่รู้ว่าอัตตภาพคือนามรูปนี้เกิดแต่สิ่งใด ก็ย่อมไม่สามารถจะละ อัตตภาพนั้นได้ แต่ผู้ที่รู้ก็ย่อมสามารถบรรเทาเหตุเกิดนั้นเสียได้
นามรูปนี้เกิดจากอะไร อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดจากความเยื่อใยคือตัณหา พยัญชนะสั้นๆ อย่างนี้ ก็เวลานี้ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานมากพอสมควร แล้วเวลาที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏรู้ได้ทันทีไหมว่า ที่ปรากฏนี้เพราะเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ เป็นสิ่งที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้น มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเท่านั้นเอง แล้วก็ดับหมดไป ฉะนั้นการที่จะละได้ก็ต้องเข้าใจถูกต้องชัดเจน ถ้าเจริญสติปัฏฐานแบบที่จำกัดอารมณ์ จำกัดเวลาหรือว่าจำกัดสถานที่ พอนอกสถานที่นอกเวลาหรือพ้น จากอารมณ์ที่ท่านเจริญสติปัฏฐานแล้ว ความสงสัยจะมีในอารมณ์อื่นทันทีว่าอารมณ์นี้เป็นนามหรือเป็นรูป ในวันหนึ่งๆ ตามปริยัติที่ได้ศึกษามาก็ทราบว่าไม่มี อะไรนอกจากนามและรูป ไม่มีตัวตนไม่มีสัตว์บุคคล ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เวลาใดที่ขาดสติหลงลึมสติ ไม่ได้พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปนั้น ความสงสัยจะมีในนามและรูปที่ไม่ได้พิจารณา วันนี้มีข้อสงสัยอะไร บ้างไหมคะ?
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องของการไม่คลุกคลี เพราะว่าการคลุกคลีกันนั้นจะทำให้เกิดอกุศลโลภะบ้าง โทสะบ้าง พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบังคับ แต่ทรงแสดงอานิสงส์ทรงแสดงประโยชน์ ซึ่งเราเองถ้าเราเจริญสติมาก ขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เราเองก็จะเว้นตั้งหลายอย่าง แล้วก็ไม่คลุกคลีกับสิ่งที่จะทำให้เกิดอกุศลที่เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมากขึ้นด้วย
ฉะนั้น พระอริยบุคคลท่านก็เว้นเป็นลำดับขั้น อย่างเว้นทุจริตพระโสดาบันท่านเว้นไม่ล่วงละเมิดศีล ๕ เลย นั่นก็เป็นคุณธรรมของท่าน แต่ว่าผู้ที่เจริญสติอยู่หรือผู้ที่ยังไม่บรรลุคุณธรรมขั้นนั้นก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่ได้ห้ามเลย หมายความว่าทรงแสดงประโยชน์ และผู้ใดเห็นประโยชน์ก็ค่อยๆ ประพฤติปฏิบัติไป แต่โดยมากเราไม่เข้าใจอย่างนี้ พอเห็นสักข้อความหนึ่งก็คิดว่าจะทำตามอย่างนั้น อย่างนี้ แต่เป็นชีวิตจริงๆ ของเราหรือเปล่า เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนหรือเปล่า หรือว่าเป็นตัวตนที่บังคับให้ทำอย่างนั้น ต้องการอย่างนั้น อย่างเรื่องของการอยู่ป่าที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ ป่าจริงๆ ใต้ร่มไม้ในถ้ำ ซอกเขาอยู่ได้ไหมคะ? อยู่จริงๆ คงอยู่ไม่ได้แต่ให้อยู่เพื่อเจริญสติปัฏฐาน อาจจะอยู่ได้ใช่ไหม ฉะนั้นมีความหวังเกิดขึ้นว่าถ้าอยู่อย่างนั้นแล้วอาจจะเกิดความสงบอาจจะเกิดปัญญา เพราะความเข้าใจอย่างนั้นก็เลยทำให้อยู่ได้ แต่ไม่ใช่ชีวิตจริงๆ
เพราะฉะนั้น การที่จะไม่รู้ชีวิตจริงๆ ไม่ทำให้ละคลายกิเลสเลย ไปด้วยความหวังพากเพียรทั้งวันทั้งคืนด้วยความหวังมาโดยไม่ได้อะไรเพราะว่าไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ ของตัวเอง โลภะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเมื่อไร อย่างไร โทสะที่เกิดขึ้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมของนามชนิดหนึ่ง การเห็นการจำได้ตามปกติในชีวิตประจำวันไม่เคยรู้เลย เมื่อไม่เคยรู้ จะละคลายจะหน่ายในชีวิตได้อย่างไร มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ เรื่องของแต่ละบุคคลที่สะสมมานี้ก็มีมากทีเดียว
ในพระไตรปิฏก ใน ขุททกนิกาย ติกนิบาต ชาดก นานาฉันทชาดก ก็มีข้อความที่กล่าวว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระบาททั้งหลายอยู่ร่วมในเรือนหลังเดียวกัน แต่มีฉันทะต่างกัน ข้าพระบาทอยากได้บ้านส่วย นางพราหมณีอยากได้โคนมสักร้อยหนึ่ง ลูกชายอยากได้รถเทียมด้วยม้าอาชานัย ลูกสะใภ้อยากได้กุณฑลแก้ว ฝ่ายนางปุณณะทาสีผู้ชั่วช้าก็จำนงจะใคร่ได้ครก กระด้ง พวกเครื่องครัว
นี่ ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นฉันทะที่ต่างกัน ของบุคคลที่อยู่ร่วมในเรือนหลังเดียวกัน บังคับได้ไหมให้ ๔ คนนี้เปลี่ยนความต้องการให้เหมือนกัน หรือเป็นอย่างเดียวกัน บังคับไม่ได้เลย อย่างพราหมณ์ก็อยากได้บ้านส่วย ส่วนนางพรามหณีแม่บ้านแม่เรือนก็อยากได้โคนมสักร้อยหนึ่งสำหรับทำอาหารปรุงอาหาร ก็แล้วแต่อัธยาศัยที่สะสมมา ส่วนลูกชายก็อยากได้รถเทียมด้วยม้าอาชานัย ส่วนลูกสะใภ้ก็อยากได้กุณฑลแก้ว นางปุณณะทาสีก็อยากได้พวกครก กระด้ง เครื่องครัว ทั้ง ๔ คนเจริญสติปัฏฐานได้ไหม หรือว่าต้องเปลี่ยนให้เหมือนกัน จึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ ไม่ต้องเปลี่ยนเลย แล้วแต่ว่าขณะนี้มีปัจจัยของโลภะหรือของโทสะ ของนามของรูปชนิดใดเกิดขึ้นปรากฏกับบุคคลใด ผู้นั้นก็เจริญสติ รู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น รู้ลักษณะของนามและรูปได้ตามความเป็นจริง
ข้อความเล็กๆ น้อยๆ ในพระสูตร บางท่านอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ว่าเล็กๆ น้อยๆ สั้นๆ นี้ก็มีประโยชน์ และเป็นข้อที่จะเตือนให้ผู้ที่ใคร่ในธรรมได้เข้าใจธรรม อย่างใน ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก คามนิชาดก มีข้อความว่า เออ ก็ความหวังในผล ย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้ เรามีพรหมจรรย์แก่กล้าแล้ว ท่านจงเข้าใจอย่างนี้เถิด พ่อคามนี สั้นนิดเดียวเพียงแต่ว่า เออ ก็ความหวังในผล ย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้
ผู้เจริญสติปัฏฐานใจเร็วด่วนได้บ้างหรือเปล่า อยากเสียจริงๆ ที่จะให้ประจักษ์การเกิดดับของนามรูปยิ่งเร็วมากขึ้นเท่าไรยิ่งดี ซึ่งไม่มีหนทางที่จะเป็นไปได้เลย แต่ถ้าตราบใดที่ไม่คำนึงถึงผล แล้วก็พิจารณาลักษณะของนามและรูป ปัญญาเกิดขึ้นทำไมจะไม่รู้ ว่าขณะนั้นรู้ลักษณะที่ต่างกันของได้ยินกับเสียง ของเห็นกับสี วันหนึ่งๆ เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง จำได้บ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง แต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้น สติก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามและรูป ตอนนี้มีข้อสงสัยอะไรไหมคะ
ถ. ประโยชน์ของการฟังหลายทางก็มี ในระยะนั้นก็คล้ายๆ กัน แต่ในการปฏิบัติแง่มุมก็ต่างกัน ก็ไม่ทราบผิดหรือถูก แต่ปัญญาไม่มีพอที่จะตัดสินคำอธิบายของท่านได้ ไม่ทราบความหมายของท่าน การฟังหลายๆ อาจารย์กับอาจารย์คนเดียว อย่างไหนจะมีประโยชน์กว่ากัน
สุ. ถ้าประโยชน์จริงๆ ของการฟัง ก็จะต้องทำให้ผู้ฟังคลายความสงสัยได้หมดความสงสัยได้ด้วยการที่มีปัญญา เกิดปัญญาความเข้าใจที่ชัดเจนถูกต้อง แต่โดยมากผู้ฟังก็เป็นผู้ที่คิดว่ายังเป็นผู้ที่ศึกษาอยู่ ยังมีปัญญาน้อยอยู่ ฉะนั้นก็ไม่อาจจะตัดสินได้ว่าความเข้าใจนั้นถูกต้องแล้วหรือยัง สอบทานได้เลยกับพระธรรมวินัย นอกจากจะสอบทานกับพระธรรมวินัยแล้ว ก็ยังสอบทานกับสภาพความจริงที่ปรากฏได้ ไม่ใช่ว่าพระธรรมวินัยกล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีจริง พระธรรมวินัยกล่าวถึงทุกสิ่งที่มีจริง ฉะนั้น สิ่งใดเป็นความจริงสิ่งนั้นมีปรากฏในพระธรรมวินัย และสิ่งใดที่สอบทานกับพระธรรมวินัยแล้ว แล้วมาพิจารณาดูก็จะพบสภาพความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ ได้ เป็นต้นว่าเรื่องของการคิดนึก เรื่องของนิวรณ์มีจริงหรือไม่จริง ถ้าจะบอกว่ามีจริงเพราะมีกล่าวไว้ในพระธรรมวินัย ไม่พอใช่ไหมคะ แต่ว่ามีจริงเพราะว่า กามฉันทนิวรณ์ มีการตรึกถึงนามและรูปด้วยความยินดีพอใจมี การตรึกถึงเรื่องราวต่างๆ ด้วยความพยาบาท หรือด้วยโทสะเป็นพยาปาทนิวรณ์มี เป็นของจริงเพราะมีไม่ใช่ไม่มี ฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากนักถ้าจะฟังแล้วพิจารณา แล้วสอบทานกับพระธรรมวินัยพร้อมกับพิจารณาถึงสภาพของธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต สัญเจตนิยวรรค ซึ่งมีข้อความว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ ใกล้โภคนคร พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า พระผู้มีพระภาคจะแสดง มหาปเทส ๔ ให้ภิกษุทั้งหลายฟังจงใส่ใจให้ดี แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็มหาปเทส ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร อาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับมาได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วพึงเทียบเคียงในพระสูตร พึงสอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้นเทียบเคียงกันไม่ได้ในพระสูตร สอบสวนกันไม่ได้ในพระธรรมวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่านี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ ภิกษุนี้รับมาผิดแล้ว เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนี้เสียทีเดียว และในทางตรงกันข้าม ถ้าเทียบเคียงกันได้ในพระสูตร และสอบสวนกันได้กับในพระวินัย ข้อนี้พึงสันนิษฐานได้ว่า เป็นคำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน และภิกษุนี้รับมาดีแล้ว
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น มหาปเทสข้อที่ ๑ เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุรูปใดที่กล่าวว่า ได้สดับมาได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค ผู้ฟังก็อย่าเพิ่งยินดี อย่าเพิ่งคัดค้าน แต่พึงเทียบเคียงบท และพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี พึงเทียบเคียงในพระสูตร และสอบสวนในพระวินัยเมื่อเทียบเคียงแล้วเทียบเคียงกันได้ก็พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาค ถ้าเทียบเคียงกันไม่ได้ก็ไม่ใช่คำของพระผู้มีพระภาค นี่เป็นมหาประเทศข้อที่ ๑
สำหรับ มหาปเทสข้อที่ ๒ มีข้อความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สงฆ์อยู่ในอาวาสชื่อโน้น พร้อมทั้งพระเถระพร้อมทั้งท่านที่เป็นประธาน ข้าพเจ้าได้สดับมาได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา (คือ แทนที่ภิกษุนั้นจะกล่าวว่าท่านรับมาเอง ท่านก็กล่าวว่าท่านรับมาจากสงฆ์อยู่ในอาวาสชื่อโน้น พร้อมทั้งท่านพระเถระพร้อมทั้งท่านที่เป็นประธานทั้งหมดทีเดียว) แต่ท่านผู้ฟังอย่าพึงยินดีอย่าพึงคัดค้าน พึงเทียบเคียงกับพระสูตร สอบสวนในพระวินัยเสียก่อน นี่เป็นมหาประเทศข้อที่ ๒
ข้อที่ ๓ ก็มีข้อความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นพระเถระมากด้วยกัน อยู่ในอาวาสชื่อโน้น เป็นพหูสูตร ชำนาญในนิกาย (นิกาย ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย ซึ่งเป็นนิกายในพระสูตร) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับมาได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรมนี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา เมื่อได้ฟังอย่างนี้ อย่าพึงยินดี อย่าพึงคัดค้าน แต่พึงเทียบเคียงกับพระสูตร สอบสวนในพระวินัย
มหาปเทสข้อที่ ๔ มีข้อความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นเถระรูปหนึ่ง อยู่ในอาวาสชื่อโน้น เป็นพหูสูตร ชำนาญในนิกาย เช่นทีฆนิกายเป็นต้น ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระ นี้เป็นธรรมว่า นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดาไม่ว่าใครจะกล่าว ไม่ว่าผู้กล่าวนั้นได้รับมาจากพระผู้มีพระภาคเอง หรือจากท่านซึ่งเป็นสงฆ์อยู่ในอาวาสชื่อโน้น พร้อมทั้งพระเถระ หรือว่ารับฟังจากพระภิกษุเถระรูปใดรูปหนึ่งก็ตามก็เป็นเรื่องที่จะต้องเทียบเคียง ฉะนั้น ข้อความที่จะให้ท่านผู้ฟังพิจารณาที่จะเข้าใจให้ชัดเจน ก็จะได้กล่าวถึงพระสูตรต่างๆ
ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกนิบาต วีตโสกคาถา มีข้อความว่า ท่านวีตโสกเถระได้กล่าวว่า ช่างกัลบกเข้ามาหาเราด้วยคิดว่าจักตัดผมของเรา เราจึงรับเอากระจกจากช่างกัลบกนั้นมาส่องดูร่างกาย ร่างกายของเรา นี้ได้ปรากฏเป็นของเปล่า ความมืดคืออวิชชาในกายอันเป็นต้นเหตุแห่งความมืดมลได้หายหมดสิ้นไป กิเลสดุจผ้าขี้ริ้วทั้งปวงเราตัดขาดแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี ถ้าฟังภาษิตของพระเถระ ก็จะเห็นว่าท่านเปรียบเทียบสิ่งที่น่ารังเกียจ ทำให้เราพลอยรังเกียจไปด้วย ชั่วครู่ชั่วยามถ้ายังไม่ได้บรรลุมรรคผลเป็นลำดับขั้นอย่างกิเลสทั้งหลายท่านวีตโสกเถระท่านก็เปรียบว่า กิเลสดุจผ้าขี้ริ้วทั้งปวง ฉะนั้น บางท่านที่อ่านพระสูตรและพิจารณาอรรถพยัญชนะ ก็จะเห็นคล้อยตามไปได้ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ว่าเมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็ได้เพียงความไพเราะ และเห็นโทษชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น
นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าคฤหัสถ์เวลาดูกระจก เจริญสติปัฏฐานบ้างหรือเปล่า เจริญได้ไหม หรือว่ากลัวอะไรเจริญไม่ได้ในขณะนั้น ชีวิตประจำวันของฆราวาสส่องกระจกกันแน่ทีเดียว แม้แต่พระภิกษุก่อนที่จะมีพระวินัยบัญญัติเรื่องห้ามการส่องกระจก หรือการดูเงาหน้าในน้ำใสสอาด ก่อนที่จะมีพระวินัยบัญญัติในเรื่องนี้ ท่านก็ส่องเพราะท่านเคยส่อง แต่เพราะเหตุว่าชาวบ้านเห็นว่าไม่เป็นสิ่งไม่สมควรแก่สมณะ ไม่พึงกระทำ โทษภัยก็ไม่มีเพราะว่าชีวิตของการเจริญสมณะวิสัย การเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะที่ส่องกระจกก็มีนามมีรูป ถ้ามีความพอใจเกิดจากการเห็นเงาในกระจกเป็นนามชนิดหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหมดไป ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องหวั่นเกรงหรือไม่ต้องหวั่นกลัวว่าขณะนั้นจะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้
ฉะนั้น จึงใคร่จะเรียนถามว่า เวลาที่ส่องกระจกเคยเจริญสติบ้างไหม หรือ ว่าไม่กล้าเจริญสติ สติไม่เกิดเพราะว่าในขณะที่ส่องกระจกไม่เคยระลึกได้ในขณะ นั้น เพราะเหตุว่าสติไม่มีกำลัง เวลาที่ส่องกระจกว้าวุ่นใช่ไหมคะ พอส่องแล้วเอ๊ะ นามอะไร นี่รูปอะไร รูปอยู่ที่ไหน จะรู้นามอะไร รูปอะไร ในขณะไหนและถ้ายังหวั่นไหวสติไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด ความไม่รู้ก็เพิ่มขึ้นทุกขณะ ไม่มีทางที่จะละคลายให้หมดไปได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ยกตัวอย่างมาให้เห็น ท่านพระเถระท่านสามารถจะบรรลุธรรมในขณะที่ช่างกัลบกเข้าไปเพื่อที่จะตัดผมของท่าน
สำหรับเรื่องของพระภิกษุ ท่านก็อาจจะเห็นว่าชีวิตของพระภิกษุท่านขัดเกลา มีเวลามากในการเจริญกุศล ฉะนั้นท่านก็บรรลุธรรมกันได้ ไม่ว่าท่านจะทำกิจใดๆ ฉะนั้น ก็จะขอยกตัวอย่างของอุบาสกอุบาสิกาบ้าง อย่างพระนางสามาวดี กับหญิงบริวารบรรลุธรรมที่ไหน ในป่าหรือเปล่าคะ? ไม่ใช่ ในพระราชวัง สถานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือว่าอินทรีย์ที่ท่านได้เจริญมาแล้ว และพระนางสามาวดีกับนางบริวารก็ไม่ได้ออกไปไหน ก็ยังคงอยู่ในพระราชฐาน อยู่ในพระราชวัง ไฟไหม้ตำหนักที่อยู่ แล้วพระนางสามาวดีก็สิ้นพระชนม์พร้อมกับหญิงบริวารนั้น