แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 18

อย่างพระนางสามาวดีกับหญิงบริวาร บรรลุธรรมที่ไหน ในป่าหรือเปล่าคะ? ไม่ใช่ ในพระราชวัง สถานที่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือว่าอินทรีย์ที่ท่านได้เจริญกันมาแล้ว และพระนางสามาวดีกับหญิงบริวารก็ไม่ได้ออกไปไหน ก็คงอยู่ในพระราชฐาน อยู่ในพระราชวังไฟไหม้ตำหนักที่อยู่ แล้วพระนางก็สิ้นพระชนม์พร้อมกับหญิงบริวารเหล่านั้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงพยากรณ์ว่า การสิ้นพระชนม์ของพระนางสามาวดีพร้อมด้วยหญิงบริวารนั้น ไม่ใช่เป็นการทำให้ตกต่ำ เพราะเหตุว่าพระนางสามาวดีและหญิงบริวารนั้นก็ได้บรรลุมรรคผล บางท่านก็บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล บางท่านก็เป็นพระสกทาคามีบุคคล บางท่านก็เป็นพระอนาคามีบุคคล หรือว่าวิสาขามหาอุบาสิกานั้น บรรลุเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ วิสาขามหาอุบาสิกาเป็นบุตรของสุมนเทวีกับธนัญชัยเศรษฐี ธนัญชัยเศรษฐีนี้เป็นบุตรของมณฑกเศรษฐี ในภัททิยะนคร แคว้นอังคะ เมื่อวิสาขาอุบาสิกาอายุได้ ๗ ขวบ พระผู้มีพระภาคก็ทรงเห็นอุปนิสสัยของผู้ที่จะบรรลุมรรคผลในภัททิยะนคร พระองค์ก็เสด็จไปนครนั้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เมื่อเสด็จไปถึง มณฑกเศรษฐีก็ได้ให้ ด.ญ.วิสาขาซึ่งเป็นหลานไปต้อนรับพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยเด็กหญิงบริวาร ๕๐๐ คน วิสาขาได้ขึ้นยานคือรถไปเท่าที่จะไปได้ แล้วก็ลงจากรถเมื่อสุดหนทางรถแล้ว ก็เดินตรงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม วิสาขาบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน นี่ก็แสดงเรื่องของอินทรีย์ ไม่ใช่ว่าแป็นเรื่องของสถานที่ หรือว่าถ้าจะสงสัยว่าไม่ใช่พระนางสามาวดีหรือวิสาขามหาอุบาสิกา จะมีตัวอย่างอื่นไหม

ก็ใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ จิตรดา วรรคที่ ๒ ทาสีวิมาน ซึ่งเทพธิดาชั้นดาวดึงส์นั้น ได้กล่าวถึงอดีตกรรมเมื่อครั้งเป็นทาสีหญิงรับใช้ เวลาที่เป็นมนุษย์เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาค รักษาศีลมนสิการอยู่ในกัมมัฏฐาน ๑๖ ปี กัมมัฏฐานคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการได้สำเร็จแก่นาง ด้วยอำนาจแห่งการมนสิการนั้น พระนางมีมนสิการมั่นอยู่ในจิตว่า แม้ร่างกายนี้จะแตกทำลายไปก็ตามที การที่จะหยุดความเพียรในการเจริญกัมมัฏฐานนั้นไม่มี นี่ในครั้งอดีตเป็นทาสี และเจริญกัมมัฏฐานอยู่ ๑๖ ปี ท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานจะเทียบกันได้ไหมคะ อยากจะบรรลุมรรคผลเร็วๆ แต่ปรากฏว่าไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้

เพราะฉะนั้น ก็ละไม่ได้ บรรลุไม่ได้ แล้วท่านที่เจริญกัมมัฏฐานนี้ด้วยความเพียรที่มีมนสิการมั่นอยู่ในจิตว่า ถึงแม้ร่างกายนี้จักแตกทำลายไปก็ตามที การที่จะหยุดความเพียรในการเจริญกัมมัฏฐานนั้นไม่มี ยังต้องใช้เวลาถึง ๑๖ ปี แต่ไม่ใช่ว่าไร้ประโยชน์ ขณะนี้ถ้ามีสติรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ ทีละเล็กทีละน้อยเป็นเดือนเป็นปี ความพากเพียรถึงแม้ว่าร่างกายนี้จะแตกทำลายไปก็ตามที ก็หมายความว่าไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน จะปวด จะเมื่อย จะเจ็บ จะไข้ จะปวดศีรษะบ้าง ปวดท้องบ้าง ปวดฟันบ้าง สติก็สามารถที่จะเกิดขึ้นพิจารณาลักษณะของนามและรูปขณะนั้น สำหรับเรื่องของอุบาสิกาก็ได้ยกตัวอย่างหลายตัวอย่างแล้ว ฉะนั้น ก็จะได้ยกตัวอย่างของอุบาสก เพื่อให้ท่านเห็นว่าผู้ที่ได้ถึงพร้อมด้วยอินทรีย์นั้น ไม่ว่าจะอยู่ในขณะไหน สถานที่ใด ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้

ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สรกานิสูตร ที่ ๑ ที่ ๒ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระนครกบิลพัสถ์ เจ้าศากยะพระนามว่าสรกานิสิ้นพระชนม์ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่าเป็นพระโสดาบัน พวกเจ้าศากยะมากด้วยกันก็มาร่วมประชุมพร้อมกัน แล้วก็ยกโทษขึ้นติเตียนว่า น่าอัศจรรย์หนอท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้วหนอท่านผู้เจริญ บัดนี้ในที่นี้ใครเล่าจักไม่เป็นพระโสดาบัน เพราะเจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่าเป็นพระโสดาบัน เจ้าสรกานิศากยะถึงความเป็นผู้ทุรพลด้วยสิกขา เสวยน้ำจัณฑ์ พระเจ้ามหานามศากยะราชก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้ว กราบทูลให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถึงคุณธรรมของพระอริยะและอินทรีย์ ๕ แล้วก็ได้ตรัสว่า ดูกร มหาบพิตร ถ้าแม้ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ พึงรู้ทั่วถึงสุภาษิตทุภาษิตไซร้ พระผู้มีพระภาคจักพึงพยากรณ์ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ว่าเป็นพระโสดาบัน จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า จะป่วยกล่าวไปใยถึงเจ้าสรกานิศากยะ เจ้าสรกานิสมาทานสิกขาในเวลาจะสิ้นพระชนม์ ถ้าไม่มีพระผู้มีพระภาค อย่าว่าแต่เจ้าศากยะทั้งหลายจะเข้าใจผิด เราในสมัยนี้จะเข้าใจผิดไหม แต่เจ้าสรกานิก็เสวยน้ำจัณฑ์ เป็นผู้มีสิกขาทุรพล แต่ว่าอินทรีย์ที่แก่กล้านั้นเจ้าสรกานิก็เป็นพระโสดาบันในเวลาจะสิ้นพระชนม์

มีท่านผู้ฟังถามว่า อยากจะให้อาจารย์เจริญสติให้ดู สติเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยที่คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย ไม่ใช่ว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นเจริญให้ดูได้ เจริญให้คนอื่นดูไม่ได้เลยคะ เหมือนความนึกคิดเวลานี้ของทุกท่าน จะให้คนอื่นรู้ความคิดของแต่ละคนในขณะนี้ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าความคิดนึกเป็นนามธรรม เพราะว่าสติเป็นนามธรรม แต่ว่าในขณะที่สติเกิดขึ้นนั้น ผู้ที่มีสติรู้เองว่าในขณะนั้นรู้ลักษณะของอารมณ์อะไรที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติ เจริญสติได้ตามปกติ ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นความผิดปกติเลย ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว เหยียดคู้ พูด นิ่ง คิดอยู่ที่หนึ่งที่ใด

ท่านพระสารีบุตร ในขณะที่ท่านกำลังนั่งถวายงานพัดพระผู้มีพระภาค ในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับทีฆนขปริพาชก ที่ถ้ำสุรขาตานั้น ท่านพระสารีบุตรบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในขณะที่กำลังถวายอยู่งานพัด ไม่มีการผิดปกติเลย จะผิดปกติได้อย่างไร ในชั่วขณะจิตไม่กี่ขณะที่บรรลุมรรคผล บางท่านก็อาจจะเคยพัด ลองกลับทวนไปคิดถึงความรู้สึกในขณะนั้นซิคะว่า ในขณะที่กำลังพัดนี้ คิดอะไรบ้างหรือเปล่า พัดไปคิดไปได้ไหม เมื่อพัดไปคิดไปได้ กำลังพัดแทนที่จะคิด สติก็เกิด แทนที่จะคิดตรึกไปในกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก สติที่เจริญอยู่เนืองๆ เจริญอยู่บ่อยๆ พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง โดยที่คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้สังเกตได้ เพราะว่าเป็นอากัปกิริยาตามปกติทุกอย่างไม่ใช่ฝืนหรือไม่ใช่บังคับ แต่ไม่ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติก็รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพราะเหตุปัจจัยนั้น

เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะเจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่รับประทานอาหาร การรับประทานอาหารก็เป็นปกติ ขณะที่กำลังพูดการพูดก็เป็นปกติ ขณะที่กำลังทำงานชนิดหนึ่งชนิดใดก็เป็นปกติ นี่จึงจะเป็นการเจริญสติ ไม่ใช่การบังคับสติ ทุกคนที่เจริญสติปัฏฐานไม่ต้องตามอย่างใคร ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งทำอย่างไรๆ อีกคนก็ทำตามๆ กันไป โดยที่ไม่พิจารณาเหตุผล โดยที่ไม่รู้เหตุว่าทำอย่างนั้นเพราะอะไร ก็เป็นการฝืนอัธยาศัย ไม่ใช่เป็นการที่ว่ากำลังเห็นอะไร กำลังได้ยินอะไรอีกคนอาจจะไม่ได้ยิน แต่คนที่ได้ยินใส่ใจพิจารณารู้สภาพของเสียงก็ได้ รู้สภาพได้ยินก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องตามคนอื่น แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะมี โลภะเกิด หรือโทสะเกิด หรือมีเมตตาจิตเกิด เจริญสติในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นตัวของท่านเองจริงๆ เหมือนที่พระภิกษุในครั้งกระโน้น หรือว่าอุบาสกอุบาสิกาในครั้งกระโน้นได้เจริญสติปัฏฐานกัน ได้บรรลุมรรคผลกัน เพราะเหตุว่าบางท่านบอกว่าชาติหน้าเกิดเป็นผู้หญิงก็ดี จะได้เจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะทำกับข้าว ซักผ้า หั่นผัก แกงต้ม อะไรก็แล้วแต่ก็จะเจริญสติได้ แต่ชีวิตของอุบาสกเจริญสติยากเพราะว่าเป็นเรื่องการงานที่จะต้องไปติดต่อกับคนโน้นคนนี้ ผู้นั้นลืมๆ คิดถึงพระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่บรรลุมรรคผลได้ ลืมคิดถึงท่านอื่นๆ ในครั้งอดีต ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือทาสทาสี ก็เจริญสติปัฏฐานได้ มีนามมีรูป มีการระลึกได้เมื่อไร ก็รู้ลักษณะของนามรูปเมื่อนั้นมากขึ้น ละคลายมากขึ้นจนกว่าปัญญานั้นจะสมบูรณ์ ไม่ใช่จำกัดว่าชีวิตของธุรกิจการงานยุ่งยากแล้วก็เลยเจริญสติปัฏฐานไม่ได้

สติจะทำให้เกิดโทษไม่ได้เลย ผู้ที่เจริญสติทำการงานได้ แต่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏด้วยสติสัมปชัญญะปกติสมบูรณ์ทุกประการ นี่เป็นความรวดเร็วของจิต นี่เป็นชีวิตปกติธรรมดาซึ่งไม่ใช่เป็นการผิดปกติเลย ในชีวิตจริงๆ ของแต่ละคนที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สำหรับสำนักของพระผู้มีพระภาคก็คงไม่มีผู้ใดสงสัย ว่าบรรพชิตทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายนั้น ท่านเจริญสติกันตามปกติในชีวิตประจำวันตามวินัยบัญญัติ ถ้าท่านผู้ใดสงสัยว่าพระภิกษุในครั้งกระโน้น ท่านเจริญสติปัฏฐานกันอย่างไรทำกิจการงานได้ไหม บิณฑบาตได้ไหม ไปรับนิมนต์ในที่ต่างๆ ได้ไหม ก็ขอให้ดูในพระวินัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเจริญสติปัฏฐานในครั้งอดีต อย่างพระวิหารเชตวัน แม้แต่เทวดาก็สรรเสริญ นี่คือสำนักของพระผู้มีพระภาคในครั้งโน้น ไม่มีการผิดปกติ แต่เป็นปกติของเพศบรรพชิต แม้แต่เทวดาก็ยังมากราบทูลสรรเสริญ

ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เชตวนสูตร ที่ ๘

เทวดากราบทูลว่า ก็พระเชตวันมหาวิหารนี้อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงหาคุณ อยู่อาศัยแล้ว อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาประทับแล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปิติของข้าพระองค์ การงาน ๑ วิชชา ๑ ธรรมะ ๑ ศีล ๑ ชีวิตอย่างสูง ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยคุณธรรม ๕ ประการนี้ หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตนควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคาย เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น เทวดาสรรเสริญพระวิหารเชตวันเพราะเหตุว่า ณ วิหารเชตวันนั้น เป็นแหล่งที่เกิดปิติของเทวดา เพราะการงาน ๑ ไม่ใช่พระภิกษุทั้งหลายท่านไม่มีการงาน การเย็บจีวร มีไหม? การทำกิจทุกๆ อย่างในพระวินัย มีไหม? มีแต่เป็นงานที่น่าสรรเสริญ เป็นการเลี้ยงชีวิตชอบ เป็นการแสวงหาปัจจัยโดยชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย หรือเรื่องจีวร อาหารบิณบาตต่างๆ แต่ว่าข้อสุดท้ายก็ยังได้กล่าวว่า

เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ของตน ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคาย เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ให้ฟังแล้วให้เชื่อ แต่ต้องมีเหตุผลด้วย พิจารณาธรรมด้วย เลือกเฟ้นเหตุผลด้วยความแยบคาย ผลต้องตรงกับเหตุ ไม่ใช่ว่าผลต้องการอย่างนี้ แล้วเจริญเหตุอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วไม่มีหนทางเลยที่จะได้ผลที่ต้องการ ถ้าต้องการละคลายกิเลส ละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิด ละคลายความสงสัยในนามรูปที่กำลังมีอยู่ ปัญญาที่จะละคลายความสงสัย จะละคลายเมื่อไร จะละคลายเพราะรู้แจ้งลักษณะของกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังนึกคิด หรือว่าไม่ใช่เดี๋ยวนี้

นี่เป็นสิ่งที่จะต้องคิด เดี๋ยวนี้มีความสงสัย เดี๋ยวนี้มีความไม่รู้ เดี๋ยวนี้มีความเห็นผิด จะหมดได้ก็เมื่อเดี๋ยวนี้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่คอยแล้ว ก็ไม่เลือก เพราะว่าเห็นผิดในสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ สงสัยในสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ไม่รู้ในสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ อย่างนี้แล้วเหตุและผลจะตรงกันไหม? อย่างบางท่าน บอกว่าไปหาความรู้ ถามว่าความรู้อะไร รู้ว่าจะนั่งอย่างไร ผู้ที่ไปสำนักของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอะไร ทรงสอนอะไร แม้ในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานต้องบอกให้นั่งไหม? ลองหาดู ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกา ที่ได้สะสมอบรมเจริญบารมีมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถา ให้เห็นอานิสงส์ของทาน คือ การขัดเกลากิเลส ความตระหนี่ ความติดข้อง แล้วก็ให้เห็นคุณของศีล ให้เห็นอานิสงส์ของ ทาน ศีล คือ ทรงแสดงเรื่องของสวรรค์ แล้วก็ให้เห็นโทษของกาม แล้วก็ให้เห็นคุณของการออกจากกาม ซึ่งคำว่า "เนกขัมมะ" หรือการออกจากกามนี้ก็เป็นถ้อยคำซึ่งไม่ควรจะผ่าน น่าสนใจนะคะ เพราะเหตุว่าส่วนมากนั้นเข้าใจว่า "เนกขัมมะ" นั้นคือ การบวช การละอาคารบ้านเรือน แต่ว่าผู้ฟังในขณะนั้นเป็นอุบาสกเช่น ยศะกุลบุตรก็ได้ฟังอนุปุพพิกถา อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้ฟังอนุปุพพิกถา แต่ท่านยศะกุลบุตรนั้น ท่านสะสมบารมีที่จะได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ ท่านบิณฑิกเศรษฐีไม่ได้สะสมที่จะบรรลุคุณธรรมเพื่อการละอาคาร หรือการบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะฟังเรื่องของเนกขัมมะ อนาถบิณฑิกเศรษฐีพิจารณาลักษณะของนามและรูป เพราะเหตุว่าเมื่อได้ทรงขัดเกลาจิตของผู้ฟังด้วยอนุปุพพิกถาแล้วก็ทรงแสดงอริยสัจจ์ อริยสัจจ์นี้ก็มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคไม่ใช่ไม่มี สติปัฏฐานไม่ใช่ไม่มี มี เป็นการออกจากกามเพราะไม่พัวพันเพลิดเพลินไป โดยอาศัยสติพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ เป็นเนกขัมมะ เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านอนาถบิณฑิกะฟัง ไม่ใช่ท่านไม่มีเนกขัมมะ ท่านก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านอนาถบิณฑิกะท่านก็บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน

เพราะเหตุว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และ เนกขัมมะการออกจากกาม ท่านพระยศะก็บรรลุเป็นพระโสดาบันเมื่อได้ฟัง แต่ภายหลังก็ขอบรรพชา ท่านมีเนกขัมมะด้วยข้อปฏิบัติ คือ มัคคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นการเจริญสติปัฏฐานก่อน แล้วท่านก็มีเนกขัมมะที่เป็นบรรพชาภายหลัง แต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีท่านได้ฟังเนกขัมมะ เห็นโทษของกาม เห็นคุณของการที่จะไม่พัวพัน แล้วท่านก็ได้ฟังอริยสัจจ์เจริญข้อปฏิบัติ บรรลุมรรคผลในขณะนั้น แต่ท่านไม่ได้บรรพชาท่านก็ยังคงเป็นฆราวาสอยู่ต่อไป นี่ก็ต้องเป็นวิสัยที่ต่างกัน แต่ให้เข้าใจในความหมายของเนกขัมมะด้วย มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ

ถ. ที่ว่าเจริญสติปัฏฐานในตอนนั้นนะ เป็นเพราะเหตุอะไร

สุ. มรรคมีองค์ ๘ เป็นเนกขัมมะ เพราะเหตุว่าไม่พัวพันกับกามในขณะนั้น แต่คำว่าไม่พัวพันไม่หมกมุ่น ไม่ถูกกามวิตกครอบงำ เพราะว่าในขณะนั้นสติเกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ถ้ายังคงเพลินไป หมกมุ่นอยู่ ไม่มีสติเกิดขึ้น เมื่อไม่มีสติแล้ว ก็ไม่มีการออกจากการพัวพัน ความหมายที่แท้จริงของเนกขัมมะ คือ "การออกจากกาม" ในขณะที่ไม่มีสติ ไม่ออก เป็นไปกับ รูป เสียง กลิ่น รส ที่กำลังเห็นกำลังรับกระทบ แต่เวลาที่สติเกิดขึ้น ออกด้วยมรรคมีองค์ ๘ เพราะมีสติรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ถ. ..............

สุ. หมายความว่าไม่ได้มีแต่สติ มีการระลึกได้ แต่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นนามอะไรเป็นรูป นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าสติปัฏฐานนั้นเป็นการเจริญปัญญา มี อสัมโมหสัมปชัญญะ คือการไม่หลงเข้าใจผิดในสิ่งที่กำลังปรากฏในลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญา ไม่ใช่การเจริญโดยไม่รู้อะไร ไม่ใช่มีแต่สติ แล้วไม่รู้อะไร เวลานี้รูปารามณ์หรือสีที่กำลังเห็นก็เกิดดับนับไม่ถ้วน นามที่เห็นในขณะนี้ที่รู้สึกว่าติดต่อกันก็เกิดดับนับไม่ถ้วน แต่ว่าผู้ที่ยังไม่มีความสมบูรณ์ของปัญญาไม่รู้ความจริงข้อนี้

เปิด  423
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565