แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 19
เวลานี้ รูปารมณ์หรือสีที่กำลังเห็น ก็เกิดดับนับไม่ถ้วน นามที่เห็นในขณะนี้ที่รู้สึกว่าติดต่อกัน ก็เกิดดับนับไม่ถ้วน แต่ว่าผู้ที่ยังไม่มีความสมบูรณ์ของปัญญา ไม่รู้ความจริงในข้อนี้ เพราะเหตุว่าความรู้ขั้นการฟังนั้น ก็ละความไม่รู้ของการฟัง แต่ว่าที่จะให้ละคลายความยึดถือนามและรูปที่กำลังปรากฏนั้น ก็จะต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านรู้โลกในพระวินัยของพระอริยะ ก็ไม่มีอวิชชาที่จะปิดบังที่จะกั้นไม่ให้สัมมาวายามะ ความเพียรที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเกิดขึ้นได้เลย
อย่างบางท่านชีวิตประจำวันทุกๆ วันนี้ ก็อาจจะรู้สึกว่าคงจะมีลักษณะที่ต่างกับชีวิตประจำวันในครั้งพุทธกาล เพราะเหตุว่าโลกก็เปลี่ยนไป สถานที่ต่างๆ ก็เปลี่ยนไป เครื่องใช้อะไรต่างๆ ก็อาจจะเปลี่ยนรูปร่างลักษณะไป แต่ถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปมากมายสักเท่าไรก็ตาม โลกในพระวินัยของพระอริยเจ้านั้นไม่เปลี่ยน เพราะเหตุว่า จะต้องมีเพียง ๖ โลกหรือว่า ๖ ทางเท่านั้น อย่างเวลาที่กำลังโทรศัพท์ ขอยกตัวอย่างสักนิดหนึ่งเพื่อว่าบางท่านก็อาจจะคิดว่า ไม่น่าจะเจริญสติปัฏฐานได้ หรือว่าสิ่งเหล่านี้คงจะไม่มีในครั้งพุทธกาล ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน แต่ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นของใหม่จากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้ากำลังจับโทรศัพท์แล้วมีสติ คำว่ามีสติคือระลึกได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นลักษณะหนึ่งลักษณะใดทางตา ทางหูก็ได้ หรือว่าทางกายก็ได้ เพราะว่าถ้าจับโทรศัพท์ ก็รู้สึกว่าแข็ง เวลานี้มีแข็ง จับอะไรก็แข็งทั้งนั้น ลองจับดูก็ได้ ที่กำลังนั่งก็แข็งไม่ใช่ไม่แข็ง แล้วต่างกันอย่างไรกับโทรศัพท์ ก็เป็นแต่เพียงความแข็งเท่านั้นเอง แต่ความแข็งนั้น ท่านอาจคิดว่ากระทบที่มือแล้ว โลกใช้คำสมมติบัญญัติว่าโทรศัพท์ แต่โลกในพระวินัยของพระอริยเจ้านั้น ทางกายไม่ว่าจะเย็นหรือร้อนหรืออ่อนหรือแข็ง ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้แล้วก็ดับ ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ท่านสามารถจะยึดถือว่าเป็นตัวตนได้เลยสักอย่างเดียว แต่เพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็เอามาเชื่อมโยงเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ แต่โลกในวินัยของพระอริยเจ้านั้น ท่านไม่มีความต่างกันเลย กระทบโทรศัพท์ กระทบเก้าอี้ กระทบอะไรก็แข็งเท่านั้นเอง แล้วเมื่อมีการพูด ไม่ว่าจะพูดธรรมในพระวิหารเชตวัน ในอดีตหลายพันปีมาแล้วก็ตาม หรือว่ามีการพูดในขณะที่จับโทรศัพท์ ก็รู้ที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่กำลังปรากฏ ตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้าง โดยที่ว่าไม่จำเป็นจะต้องจงใจจำกัดปัญญาให้รู้เฉพาะตรงนี้หรือตรงนั้น นั่นเป็นการจำกัดปัญญา และโดยลักษณะนั้น ปัญญาจะเจริญขึ้นไม่ได้เลย
ฉะนั้น ผู้เจริญสติไม่ต้องกลัวว่าขณะนี้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ขณะนั้นเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ระลึกได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ สำหรับในพระสูตรก็มีมากทีเดียว ที่แสดงให้เห็นว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการเจริญสติ รู้ลักษณะของชีวิตจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ถ้าเป็นเพศภิกษุ พระภิกษุท่านก็มีชีวิตจริงๆ ที่ดำเนินไปทุกๆ วันตามพระวินัยบัญญัติ ฉะนั้น ฆราวาสที่เจริญสติปัฏฐานก็เหมือนกัน ที่จะต้องพิจารณานามและรูปที่เป็นชีวิตจริงๆ ที่ดำเนินไปทุกๆ วัน ไม่สับสนกัน แล้วถ้าท่านศึกษาในพระวินัย ท่านจะเห็นจริงๆ ว่า เป็นชีวิตปกติ เพราะว่าในตอนแรกนั้น พระผู้มีพระภาคก็ยังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทข้อหนึ่งข้อใด เมื่อท่านเหล่านั้นมีสัทธาที่จะประพฤติตาม พระองค์ก็ทรงแสดงข้อประพฤติปฏิบัติ ให้เจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะให้รู้แจ้งธรรม แต่ว่าเมื่อมีสัทธาบวชกันมากขึ้น แต่ละอัธยาศัยก็ต่างกัน ฉะนั้น ก็อาจจะมีความประพฤติทางกาย ทางวาจา สำหรับบางท่านที่อาจจะไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส หรือไม่อุปการะแก่การกำจัดอาสวะ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสมณเพศ แต่ข้อสำคัญที่ควรจะต้องพิจารณาก็คือว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบังคับ ไม่ว่าพระภิกษุท่านจะไปที่ไหนก็มิได้ทรงบังคับ ไม่ว่าพระภิกษุท่านจะสนทนาธรรม หรือว่าจะทำกิจประการหนึ่งประการใด ในเรื่องของปัจจัย ๔ ในเรื่องของการดำเนินชีวิตไป พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงบังคับ แต่ทรงบัญญัติสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่สมณเพศ
สำหรับวันนี้ก็จะได้กล่าวถึงใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสถ์ ภิกขุวรรค จูฬราหุโลวาทสูตร เพื่อจะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเห็นว่า ชีวิตของบรรพชิตนั้นก็เป็นชีวิตปกติ ณ พระวิหารเวฬุวัน ในเขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาท ชื่อว่า ปราสาทอัมพลัฏฐิกา พระผู้มีพระภาคได้ให้ท่านพระราหุลพิจารณาชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม โดยที่พระองค์ตรัสสอนท่านพระราหุลว่า
บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสา ทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่ง ไม่มี เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น
ดูกร ราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกร ราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แว่นมีประโยชน์อย่างไร
ท่านพระราหุลก็กราบทูลว่า มีประโยชน์สำหรับส่องดูพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ฉันนั้นก็เหมือนกันแล ราหุล บุคคลควรพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
เป็นเรื่องธรรมดา ทำไมพระผู้มีพระภาคจะต้องทรงโอวาทท่านพระราหุลอย่างนี้ ก็เพราะเหตุว่ามิได้ทรงบังคับ มิได้ทรงจำกัดว่าจะต้องเจริญสติปัฏฐานอยู่ในสถานที่นั้นสถานที่นี้ ไม่ว่าชีวิตปกติของท่านพระภิกษุแต่ละท่าน ท่านจะดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไร ถ้าสิ่งนั้นไม่อุปการะแก่สติ พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุเคราะห์โดยการทรงแสดงธรรม เพื่อที่จะให้ผู้นั้นได้เจริญสติมากขึ้น ชีวิตของบรรพชิต ก็เป็นชีวิตที่มีสัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย แต่ว่าก็เป็นชีวิตจิตใจของปุถุชนนี่เอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นปุถุชนไม่ว่าจะเป็นฆราวาส หรือไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต เคยรู้ตัวบ้างไหมคะ ว่ามีกิเลสมากน้อยสักเท่าไร ถ้าดูคนอื่นอาจจะเห็นชัดว่า คนอื่นนั้นกิเลสมากเหลือเกิน แต่ว่าตัวเองความสลับซับซ้อน ความซ่อนอย่างลึกของกิเลส ซึ่งอาจจะยังไม่ทันเอ่ยออกมาทางวาจา หรือว่ายังไม่ประพฤติเป็นไปทางกายก็ตาม แต่ใครจะรู้ถ้าไม่มีการเจริญสติปัฏฐาน ไม่รู้แน่นอนที่สุด เพราะเหตุว่าไม่ได้พิจารณาตัวเอง แต่ว่าผู้ที่พิจารณาตัวเอง และมีการเจริญสติปัฏฐานนั้น ผู้นั้นไม่ใช่เพียงแต่จะเห็นกิเลสของตัวเอง แต่ยังรู้ว่าสภาพธรรมนั้น ว่าก็เป็นแต่เพียงนามหรือรูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่ใช่เพียงแต่จะให้รู้จักตัวเองเท่านั้น แต่ว่ายังทำให้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่ชีวิตที่แสร้งขึ้น สร้างขึ้น แต่ว่าเป็นชีวิตธรรมดาของแต่ละคน ผู้เจริญสติที่จะต้องพิจารณานามและรูปละเอียดขึ้น มากขึ้น เพิ่มขึ้น แล้วก็ละคลายการที่ยึดถือ หรือการที่จะเป็นไปกับนามและรูป ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นให้ลดน้อยลงด้วย
เพราะฉะนั้น ขอให้คิดว่าในพระไตรปิฎก ก็เป็นชีวิตของบุคคลในครั้งอดีต ซึ่งก็ต้องเหมือนกับชีวิตของบุคคลในปัจจุบันนี้ กิเลสของบุคคลในครั้งโน้น ก็อาจจะมากทีเดียว ถ้าอ่านดูในพระสูตร ก็จะเห็นได้ว่าไม่น้อยเลย แต่ว่าด้วยพระมหากรุณา หรือด้วยความกรุณาของท่านพระเถระเหล่านั้น ท่านก็ยังแสดงชีวิตจริงๆ ของท่าน ทั้งๆ ที่มีกิเลสมากๆ อย่างนี้ ให้เป็นตัวอย่าง เพื่อว่าคนในสมัยไหนก็เป็นคนมีกิเลสทั้งนั้น แต่คนที่มีกิเลสในครั้งโน้น สามารถที่จะละคลายกิเลสให้หมดสิ้นได้ ความหนาแน่นของกิเลสของคนในสมัยโน้น ไม่ได้น้อยกว่าคนในสมัยนี้ แต่ว่าความสามารถ หรืออินทรีย์ของคนสมัยโน้นที่เจริญอินทรีย์มาแล้ว สามารถที่จะละความเห็นผิด ความยึดมั่นนามรูปได้ ด้วยข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ก็เป็นประโยชน์สำหรับคนสมัยนี้ที่ว่า ถ้าคิดถึงว่าทุกคนก็มีกิเลส ถ้ายังเป็นปุถุชน แล้วกิเลสก็ยังหนาแน่นมากทีเดียว การสะสมของกิเลส ก็วิจิตรต่างกันไปมากน้อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรละเลยโอกาสที่จะพิจารณาสภาพของนามและรูปที่เป็นจริงๆ เกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ เพื่อที่จะละความที่เคยยึดถือนามรูปเหล่านั้นว่า เป็นตัวตน ถ้ามิฉะนั้นแล้ว ก็อาจจะคิดท้อถอยว่า คนในสมัยนี้คงจะละกิเลสไม่ได้แล้ว คงจะละได้เฉพาะคนในอดีต เพราะเหตุว่า มีพระผู้มีพระภาค และได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์บ้าง แต่ว่าคนในสมัยนี้กับคนในสมัยก่อน ก็มีตาเหมือนกัน มีโลกทางตาเหมือนกัน มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีกิเลสเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรจะคิดว่า สมัยนี้จะหมดโอกาส หรือว่าสุดวิสัยที่จะเจริญสติที่จะละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน สำหรับเรื่องกิเลสของแต่ละคน แต่ละคนก็ทราบ คนอื่นไม่มีโอกาสทราบได้เลย เพราะฉะนั้น ก็จะขอกล่าวถึงแต่เฉพาะชีวิตของบุคคลที่ปรากฏในพระสูตร
ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต กุสินาราสูตร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ไพสณฑ์ ชื่อว่าหลิหรณะ ใกล้พระนครกุสินารา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ แล้วรับสั่งว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีเข้าไปหาแล้วนิมนต์ เพื่อฉันอาหารในวันรุ่งขึ้น ภิกษุรับนิมนต์ รุ่งเช้าก็ไปฉัน คฤหบดีก็ถวายอาหารที่มีรสประณีต ภิกษุก็คิดว่า ขอให้เขาถวายอาหารที่มีรสที่ประณีตอย่างนี้ต่อไป แล้วบริโภคอาหารเหล่านั้นด้วยความหมกมุ่นพัวพัน ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสละออก ขณะที่บริโภคบิณฑบาตนั้น ก็ตรึกเป็นกามวิตก คือพอใจในเรื่องต่างๆ หรือว่าพยาปาทวิตก มีความไม่พอใจ อาจจะเป็นในเรื่องรสอาหาร หรือว่าในเรื่องต่างๆ ในเรื่องที่เห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้าง แล้วก็อาจจะมีวิหิงสาวิตกบ้าง ในเพราะบิณฑบาต
เป็นไปได้ไหมคะ กำลังรับประทานอาหาร ที่จะมีกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ถ้าไม่คิดถึงท่านพระภิกษุที่กำลังฉันบิณฑบาต คิดถึงชีวิตของเราจริงๆ เป็นไปได้ไหมกำลังรับประทาน มีกิเลสไหมคะ กิเลสยังมีเกิดแน่ทีเดียว ถ้าในขณะนั้นไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในภาวนา ขณะนั้นก็เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง ถ้าอาหารอร่อยก็ชอบ บางทีสีก็สวย กลิ่นก็น่ารับประทาน โลภะก็เป็นไปทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง หรือถ้าตรงกันข้าม พยาปาท ความไม่พอใจก็ต้องเกิด อาหารนี้ไม่อร่อย รสไม่ดี จัดก็ไม่เป็น และสมมติว่ามีมาก วิหิงสาวิตก คิดไหมคะ คิดจะว่า ใครนะช่างทำไม่อร่อย หรือว่าทำไม่เป็น รสชาติก็ไม่กลมกล่อม
เพราะฉะนั้น ความคิดที่จะเบียดเบียนทางกาย ก็อาจจะมีบ้าง บางคนก็อาจจะระงับไม่อยู่ โกรธมาก อาจจะปาทิ้งไป หรือทางวาจา วิหิงสาวิตกคิดที่จะเบียดเบียนด้วยคำพูดก็มี ปุถุชนฆราวาสรับประทานอาหารแล้ว ก็มีโลภะ โทสะ โมหะ ฉันใด ภิกษุที่เป็นปุถุชนจะต่างกันไหมคะ ยังเป็นปุถุชนอยู่ ไม่ต่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะเป็นเพศบรรพชิต พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติพระวินัยแล้ว ก็ยังทรงอนุเคราะห์ด้วยการแสดงธรรม เพื่อขัดเกลา เพื่อที่จะได้ให้เจริญกุศลสมกับที่มีสัทธาที่จะบวช ฉะนั้น ในข้อความต่อไปนี้ก็มีว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บิณฑบาตที่ถวายแก่ภิกษุผู้เห็นปานดังนี้ เรากล่าวว่าไม่มีผลมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุเป็นผู้ประมาทอยู่ ส่วนภิกษุที่ไม่ได้คิดเช่นนั้น แม้คฤหบดีจะถวายอาหารที่ประณีต ก็ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพัน มีปัญญาคิดสลัดออก เมื่อบริโภคบิณฑบาตนั้น ก็ตรึกเป็นเนกขัมมาวิตกบ้าง ตรึกเป็นอัพยาปาทวิตกบ้าง ตรึกเป็นอวิหิงสาวิตกบ้าง ในเพราะบิณฑบาตนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บิณฑบาตที่ถวายแก่ภิกษุผู้เห็นปานดังนี้ เรากล่าวว่ามีผลมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ ที่ยกพระสูตรนี้ ก็เพื่อที่จะให้ท่านได้สังเกตคำว่า “เนกขัมมะ” อีกครั้งหนึ่ง ในข้อความตอนที่ว่า เมื่อบริโภคบิณฑบาตนั้น ก็ตรึกเป็นเนกขัมมวิตกบ้าง ตรึกเป็นอัพยาปาทวิตกบ้าง ตรึกเป็นอวิหิงสาวิตกบ้าง
เป็นบรรพชิตแล้ว ทำไมรูปหนึ่ง ขณะที่กำลังฉันบิณฑบาต ตรึกเป็นกามวิตก แต่อีกรูปหนึ่ง ตรึกเป็นเนกขัมมวิตก ถ้าเนกขัมมะหมายถึงออกจากบ้านเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านก็เป็นบรรพชิตแล้ว เนกขัมมะแล้ว แต่ในที่นี้ทรงมุ่งหมายถึงอะไร ในขณะที่ฉันบิณฑบาต ก็ตรึกเป็นเนกขัมมวิตก ออกจากความพัวพันในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่กำลังปรากฏ ไม่หมกมุ่นไม่พัวพัน เพราะว่าถ้าหมกมุ่นพัวพันเพลิดเพลินไป หลงลืมสติ ฉะนั้น ถ้าขาดสติไม่เป็นเนกขัมมวิตก เพราะว่าเป็นกามวิตกบ้าง พยาปาทวิตกบ้าง แต่ไม่ได้หมายความให้บังคับว่า ไม่ให้ไปฉันนิมนต์ เวลาที่มีคนนิมนต์ ไม่ให้ไป ไม่ใช่อย่างนั้น ไป เวลาที่มีผู้นิมนต์ก็ไป และฉันภัตตาหารที่ประณีต แต่ว่าขณะที่กำลังฉันนั้นเป็นเนกขัมมวิตก มีสติพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะนั้น ถ้าอาหารมีรสประณีต ความยินดีชอบใจเกิดขึ้น ถ้าหลงลืมสติ ขณะนั้นก็เป็นไปกับกามวิตก แต่ถ้าในขณะที่กำลังฉันภัตตาหารที่ประณีต ความยินดีพอใจเกิดขึ้น สติรู้ลักษณะของความยินดีพอใจนั้น ว่าเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือเวลาที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้างก็พิจารณารู้นามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะใด ขณะนั้นก็เป็นเนกขัมมวิตก คือไม่พัวพันในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต เป็นฆราวาส จิตใจของปุถุชนแล้ว ก็เหมือนกันทั้งนั้น คือมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ ถึงแม้จะบวชแล้วเป็นบรรพชิตแล้ว ขณะที่กำลังฉันบิณฑบาต ก็ยังจะต้องมีเนกขัมมวิตก คือการเจริญสติด้วย ไม่ใช่เนกขัมมะนั้น จะหมายเฉพาะการออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แต่หมายความว่าขณะใดก็ตามที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ถ้าเป็นเนกขัมมวิตกแล้ว สติต้องเกิดขึ้นพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นตามความเป็นจริง นี่ถึงจะเป็นเนกขัมมวิตก ไม่ตรึกไปในกาม ไม่ตรึกไปในพยาปาท ไม่ตรึกไปในวิหิงสา ที่จะเบียดเบียนคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ที่จะล่วงศีลเป็นทุจริตไปนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า สติรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็มีอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เมื่อพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ก็เป็นเครื่องที่จะทำให้ไม่ล่วงทุจริต หรือว่าไม่ล่วงศีล
ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสถ์ ก็มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญความปฏิบัติผิดของคน ๒ จำพวก คือ คฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ยังกุศลธรรม ที่นำออก ให้สำเร็จได้ เพราะเหตุแห่งการทำความปฏิบัติผิด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญความปฏิบัติชอบของคน ๒ จำพวก คือ คฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมยังกุศลธรรม ที่นำออก ให้สำเร็จได้ เพราะเหตุแห่งการทำความปฏิบัติชอบ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นว่า ถ้าท่านเป็นฆราวาส แล้วท่านก็มีการรับประทานอาหารอยู่ มีการเห็น มีการได้ยิน ควรที่จะเจริญสติปัฏฐาน ถ้าชีวิตของปุถุชนไม่ยาก ไม่ลำบากในการที่จะเจริญสติปัฏฐานแล้ว ท่านพระเถระท่านก็คงจะไม่ภาษิตคำที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตเป็นของยากอย่างไร โดยเฉพาะชีวิตของผู้ที่จะเจริญปัญญา
ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา เชนตเถรคาถา มีข้อความว่า การบวชกระทำได้ยากแท้ การอยู่ครองเรือนก็ยากแท้ ธรรมเป็นของลึก การหาทรัพย์เป็นของยาก การเลี้ยงชีพของเราด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ก็เป็นของยาก ควรคิดถึงอนิจจตาเนืองๆ นี่ค่ะ คือผู้ที่เห็นชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตแบบไหน ไม่ใช่ของง่ายเลย การบวชเป็นบรรพชิตเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ที่ว่ามีโอกาสที่จะประพฤติข้อปฏิบัติ ที่จะขัดเกลากิเลสเพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจ์ได้สดวก เพราะเหตุว่า ไม่พัวพันกับเรื่องของกิเลสต่างๆ แต่ว่าจิตของปุถุชนยากไหมคะ ในเพศของบรรพชิต