แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 22

อย่างใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ปฏิปทาวรรค

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ อยู่ ณ โฆษิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ท่านเรียกพระภิกษุทั้งหลาย แล้วกล่าวว่า ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตต์ ในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดามรรค ๔ ประการนี้ มรรค ๔ ประการเป็นไฉน ประการที่ ๑ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถเป็นเบื้องหน้า เมื่อเจริญวิปัสสนามีสมถเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด

อีกประการหนึ่ง คืประการที่ ๒ ภิกษุย่อมเจริญสมถมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า เมื่อเจริญสมถมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อม สิ้นสุด

อีกประการหนึ่ง คือ ประการที่ ๓ ภิกษุย่อมเจริญสมถและวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเจริญสมถและวิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด

อีกประการหนึ่ง คือ ประการที่ ๔ ใจของภิกษุปราศจาก อุทธัจจะในธรรม สมัยนั้นจิตนั้นย่อมตั้งมั่น สงบในภายใน (คือเป็นสมาธิ) เมื่อใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม จิตตั้งมั่นแล้ว มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ท่านพระอานนท์กล่าวว่า บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตามย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตต์ ในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวงหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาประการที่ ๑ คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถเป็นเบื้องหน้า โดยมากมักจะเข้าใจกันว่า สมถนั้นจะต้องถึงขั้นฌานจิต แต่ความหมายของสมถธรรมดาตามปกตินั้น ก็คือ ความสงบ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสติความสงบก็มีได้ ฉะนั้น ผู้ที่เจริญวิปัสสนารู้ลักษณะของนามรูป ก็จะรู้ได้ว่าในขณะนั้นมีความสงบ ฉะนั้น ท่านผู้นั้นมีสมถเป็นเบื้องหน้า ถึงแม้ว่าท่านเจริญวิปัสสนามีสติรู้ลักษณะของนามและรูป แต่ในขณะที่มีสติบ่อยๆ เนืองๆ นั้น ความสงบอาจจะเกิดขึ้นมากก็ได้ โดยสภาพของความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เพราะความจงใจ หรือความต้องการที่จะให้มีความสงบ นี่ก็เป็น ประการที่ ๑

อีกประการหนึ่ง คือ ประการที่ ๒ ย่อมเจริญสมถมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า บางท่านกำลังโกรธสติไม่เกิดเลย เพราะว่าเป็นปกติ กิเลสมีกำลังในขณะนั้น ถ้ามีกำลังมาก ก็อาจจะทำให้กายวาจาไหวไปในทางที่ไม่สมควรเพราะโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ในขณะนั้นสติไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามและรูปได้ ท่านอาจจะเจริญกุศลวิธีอื่น อ่านพระธรรมจิตสงบ หรือระลึกถึงความเมตตา ท่านทำเองไม่ได้มีใครสั่ง ถึงบอกยังไงก็ทำไม่ได้ ถ้าในขณะนั้นสภาพธรรมเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้น แต่การที่ท่านได้เคยฟังธรรม ก็มีอุบายมีวิธีที่จะทำให้ความรู้สึกหรือว่าลักษณะสภาพธรรมนั้นเบาบางหรือว่าระงับไป ทำให้จิตใจสงบขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตใจของท่านสงบ ท่านก็พิจารณาลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏได้ เพราะฉะนั้น สำหรับท่านเหล่านั้นย่อมเจริญสมถมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า

ท่านที่ไม่สามารถที่จะมีสติรู้ลักษณะของอกุศลธรรมที่กำลังปรากฏ แล้ว ท่านก็มีวิธีระงับยับยั้ง ทำให้เกิดความสงบขึ้น เมื่อจิตใจของท่านสงบแล้ว สติก็พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูป ท่านเหล่านั้นก็อยู่ในข้อที่ว่า ภิกษุย่อมเจริญสมถมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า หมายความว่าจิตใจสงบ เสียก่อนแล้วจึงจะรู้ลักษณะของนามและรูป แต่อย่าไปบังคับหรืออย่าไปตั้งเป็นกฏเกณฑ์ ถ้าขณะนั้นมีอะไรที่ทำให้ท่านไม่เกิดสติ มีอะไรที่ทำให้ท่านหันไปหาการกุศล เป็นการศึกษาเป็นการอ่านพระธรรมที่จะทำให้จิตใจสงบ แล้วก็เมื่อสงบแล้วท่านก็มีสติเกิดขึ้นพิจารณานามและรูปตามปกติในชีวิตประจำวัน ก็เป็นเรื่องของธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้ในขณะที่ท่านกระทำเช่นนั้น ก็เป็นนามเป็นรูปเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ให้ทราบว่าอบรมมาอย่างนั้น

ประการที่ ๓ ที่ว่า ภิกษุเจริญสมถและวิปัสสนาควบคู่กันไป อันนี้ก็หมายความถึงท่านที่เคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านเจริญสมถกัมมัฏฐานแล้ว ท่านก็ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะฉะนั้น อุปนิสัยของความเคยชินของการที่จะทำให้จิตสงบด้วยการเจริญสมถ ก็เป็นปกติในชีวิตของท่าน แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมขณะที่ท่านกำลังเจริญความสงบอยู่ จะเป็นสมถชนิดหนึ่งชนิดใดใน ๔๐ กัมมัฏฐานนั้นก็ตาม สติปัฏฐานคือการรู้ลักษณะของจิต การรู้ลักษณะของนาม การรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏในขณะนั้นก็มีได้ เพราะเหตุว่าท่านเคยฟัง นี่ก็เป็นการเจริญสมถและวิปัสสนาควบคู่กันไป

อีกประการหนึ่ง คือ ประการที่ ๔ ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม คือปราศความฟุ้งซ่าน สมัยนั้นจิตย่อมตั้งมั่นสงบภายใน พิจารณาฌานจิต หรือว่าพิจารณาจิตใจที่สงบถึงขั้นนั้นแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นข้อที่ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม สมัยนั้นจิตย่อมตั้งมั่น เมื่อใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด

แต่จะเห็นได้ว่าผู้เจริญฌานนั้น ไม่ใช่ทุกคนบรรลุมรรคผล ได้ฌานจริงจิตตั้งมั่นจริง แต่ถ้าเจริญสติปัฏฐานไม่พอ ปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปไม่พอที่จะคลายความยึดถือสภาพนามรูปเหล่านั้นว่าเป็นตัวตนแล้ว ถึงแม้ว่าได้ฌานก็ไม่บรรลุมรรคผล นี่จะเห็นความสอดคล้องในพระวินัยปิฏกที่ว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงวางกฏเกณฑ์ในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ทรงบัญญัติวินัย แต่ทรงแสดงธรรมอุปการะให้สติเกิดบ่อยขึ้น เพื่อให้รู้ธรรมทั่วขึ้น ทรงแสดงเรื่องของสมาธิจริง เพราะว่ามีเวลาว่างจิตใจย่อมเป็นไปในเรื่องของความสงบสำหรับผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนแล้ว แต่ก็แสดงเรื่องของสติปัฏฐานว่า แม้ขณะที่จิตสงบนั้นก็เป็นแต่เพียงนามชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่โคนไม้ตลอดเวลา ไม่ใช่เรือนว่างตลอดเวลา ต้องทำกิจอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวันด้วย เพื่อให้เห็นว่าแม้ขณะที่กำลังกระทำกิจอื่น ตามพระวินัยบัญญัตินั้น ก็เป็นเพียงแต่นามรูปเท่านั้น ยังมีในพระสูตรอีกที่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติในชีวิตประจำวัน

ใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ปฏิปทาวรรคที่ ๒ กล่าวถึงข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่บรรลุมรรคผลไว้ ๔ ประการ คือ

ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ๑

ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ๑

สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า ๑

สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว ๑

นี่ก็เป็นเรื่องของแต่ละชีวิต แต่ละบุคคลในชีวิตประจำวัน ท่านแสดงไว้ว่า

ที่ชื่อว่า ทุกฺขาปฏิปทานั้น ก็คือ โดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง หรือว่าโดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดจากโทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง ทุกท่านรู้จักตัวดีกว่าคนอื่น ใช่ไหมคะว่า มีราคะกล้า หรือว่ามีโทสะกล้าหรือว่ามีโมหะกล้า จะต้องให้คนอื่นบอกไหมคะ

สำหรับปฏิปทาข้อที่ ๑ คือ ทุกฺขาปฏิปทา ทนฺธาภิญญา นั้นก็คือว่า ทุกฺขา ปฏิปทา โดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า ก็ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัส อันเกิดแต่ราคะ โทสะ โมหะ เนืองๆ บ่อยๆ และส่วนที่เป็น ทันธาภิญญา นั้นคือว่า อินทรีย์อ่อน จึงสิ้นกิเลสช้า อินทรีย์ ๕ ได้แก่ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เราสิ้นกิเลสเร็วหรือช้าคะ แล้วก็มีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า ไหม เพลินไปเนืองๆ บ่อยๆ หรือว่ามีความโกรธทำให้เกิดทุกขโทมนัสวันหนึ่งๆ ไม่รู้เท่าไร ทางตาก็ไม่พอใจ ทางหูกระทบอะไรก็ไม่พอใจ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นไปในเรื่องราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ที่กล้าขึ้นมาได้อย่างนี้ก็เพราะเหตุว่าสะสมเนืองๆ บ่อยๆ เพราะฉะนั้น เมื่อนิสัยเดิมปกติเป็นคนมีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า ก็จะต้องเจริญนิสัยมีสติรู้ลักษณะของนามและรูป แล้วอินทรีย์จะได้กล้าขึ้น

สำหรับ สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ก็คือผู้ที่ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว สุขาปฏิปทาก็คือ โดยปกติไม่เป็นคนมีราคะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติไม่เป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติไม่เป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง

ใครจะห้ามไม่ให้เห็น ได้ยินสิ่งต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้ทำมาแล้ว แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของกรรมเท่านั้น เรื่องของกิเลสสะสมมามากหรือน้อย เพราะว่าบางทีสิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีน่าเพลิดเพลินที่น่าพอใจ แต่โลภะไม่เกิด โทสะไม่เกิด โมหะไม่เกิดก็ได้ หรือว่าอาจจะแวดล้อมไปด้วยสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดีพอใจทั้งนั้น ก็มีราคะกล้าพอใจมากเพลิดเพลินก็ได้ หรือว่าเป็นคนที่ถึงแม้ว่าอารมณ์จะปราณีต สักเท่าไร แต่ก็เป็นผู้ที่มีโทสะกล้าก็ได้ มีโมหะกล้าก็ได้ สุขาปฏิปทาก็ดี ทุกขาปฏิปทาก็ดีนั้น เป็นเรื่องของความเป็นผู้ที่มีกิเลสคือ มีราคะกล้า มีโทสะกล้า มีโมหะกล้า หรือเป็นผู้ที่ไม่มีราคะกล้า ไม่เป็นคนมีโทสะกล้า ไม่เป็นคนมีโมหะกล้า

ส่วนเรื่องของการบรรลุ ถึงแม้ว่าจะเป็นสุขาปฏิปทา บรรลุช้าก็ได้ เป็น เพราะเหตุใด? เพราะเรื่องของการบรรลุมรรคผลนั้นเป็นเรื่องของอินทรีย์ ถ้าอินทรีย์อ่อนถึงแม้จะเป็นสุขาปฏิปทาก็บรรลุช้า แต่ถ้าเป็นสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา เป็นผู้ที่ปกติไม่เป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะกล้า แล้วก็อินทรีย์กล้าด้วย ได้เจริญสัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญามามาก เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่บรรลุได้เร็วเพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้นะคะว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่ว่าในครั้งพุทธกาลหรือว่าในปัจจุบันนี้ ก็เป็นการเจริญสติปัฏฐานตามปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ใช่ชีวิตประจำวันแล้ว จะมีเรื่องราคะกล้าไหม จะมีเรื่องโทสะกล้าไหม จะมีเรื่องโมหะกล้าไหม แต่เพราะเหตุว่า เป็นเรื่องต้องรู้ชีวิตจริงๆ ตามปกติในชีวิตประจำวัน ฉะนั้น ปฏิปทาของผู้ที่บรรลุมรรคผลสิ้นกิเลส จึงมี ๔ ประการคือ

ทุกฺขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ๑

ทุกฺขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว ๑

ทั้งๆ ที่มีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า แต่อินทรีย์ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็ได้เจริญมามาก เพราะฉะนั้น ท่านก็เป็นผู้ที่บรรลุได้เร็ว และข้อความในพระสูตรก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ เมื่อได้ปราศัยแล้ว ท่านพระสารีบุตรก็ได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ปฏิปทา ๔ นี้ ท่าน พระมหาโมคคัลลานะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฏิปทาข้อไหน ซึ่งท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวตอบว่า ท่านพ้นด้วยทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา

เป็นผู้ที่มีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า แต่บรรลุเร็ว เพราะว่าอดีตชาตินั้นท่านก็สะสมเรื่องของ ราคะ โทสะ โมหะ แล้วท่านก็ได้เจริญอินทรีย์ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญามามาก เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ท่านก็บรรลุเร็ว และข้อความต่อไปก็มีว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เมื่อได้ปราศรัยทักทายกันแล้ว ท่านก็ถามว่า ปฏิปทา ๔ นี้ ท่านพระสารีบุตรพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฏิปทาข้อไหน ท่านพระสารีบุตรก็กล่าวตอบว่าเพราะ สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา นี่คือความต่างกันของท่านอัครสาวกทั้งสอง

ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา อภัยเถรคาถา มีข้อความว่า เราได้ฟังพระวาจาอันเป็นสุภาษิตของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ จึงได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมอันละเอียด เหมือนบุคคลยิงปลายขนทรายด้วยลูกศร ฉะนั้น ผู้เป็นพระอริยะท่านกล่าวไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นพระอริยะก็จะต้องรู้ธรรมละเอียด ชัดเจน ถูกต้อง ไม่ใช่ไม่รู้ ถ้ายังคงไม่รู้แล้วก็แยกโลกทั้ง ๖ ทางนี้ไม่ออก ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ที่จะให้ปัญญาสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ นั้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีชีวิตอยู่วันหนึ่งๆ ก็เพราะเหตุว่า ยังมีกรรมที่ทำให้วิบากดำรงสืบต่อจากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง เช้ามาถึงเย็น เย็นไปถึงพรุ่งนี้ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องของกรรมที่แล้วแต่ว่าจะได้รับผลของกรรมอะไร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จงเป็นผู้ที่พิจารณารู้ลักษณะของโลกที่ปรากฏตาม ความเป็นจริง

ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา อุตติยาภรคาถา มีข้อความว่า เมื่ออาพาธบังเกิดขึ้นแก่เรา สติก็เกิดแก่เราว่า อาพาธเกิดขึ้นแก่เราแล้ว เวลานี้ เป็นเวลาที่เราไม่ควรประมาท การเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นผลของกรรมเหมือนกัน มีผู้ใดจะบังคับได้ วันนี้แข็งแรงดี พรุ่งนี้ก็เจ็บป่วยได้ แต่สำหรับท่านที่เจริญสติ แล้วมีปัญญาที่ได้อบรมมาแล้ว ถึงแม้ว่าในขณะที่ท่านได้รับวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม คือการอาพาธเกิดขึ้น สติก็เกิดขึ้นแก่ท่านด้วยว่า เมื่ออาพาธเกิดขึ้นแก่ท่านอย่างนั้นแล้ว เวลานั้นเป็นเวลาที่ท่านไม่ควรประมาท และการเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายจะมีการจำกัดสถานที่ไหมคะ จะเจ็บไข้ได้ป่วยที่ไหนได้ทั้งนั้น ฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานก็ ย่อมเจริญได้ทุกแห่งไม่มีจำกัดสถานที่ แล้วแต่ท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม มีสติเกิดขึ้นท่านก็เป็นผู้ไม่ประมาท เชิญค่ะ

ถ. ... ..

ส. ผลที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นผลของกรรมในอดีต แต่อดีต ก็มีทั้งปัจจุบันชาตินี้ ที่ได้ทำแล้วก็เป็นอดีต แล้วก็มีชาติก่อนๆ ด้วย เพราะฉะนั้น เราจะมีหนทางทราบได้ไหมว่า ที่เรากำลังได้รับผลของกรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นผลของกรรมในชาตินี้เอง หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติก่อน ถึงรู้ก็ไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจ์ แล้วก็รู้ไม่ได้ นอกจากพระผู้มีพระภาค ถ้ามิฉะนั้นแล้วพระสาวกทั้งหลายก็คงไม่ต้องไปเฝ้ากราบทูลถามว่า แต่ละขณะที่ปรากฏกับแต่ละท่านนั้นเป็นผลของกรรมอะไร เป็นกรรมในอดีตหรือกรรมในปัจจุบันชาติ แต่ข้อสำคัญก็คือว่า ขอให้รู้ลักษณะของนามและรูปก่อน

เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของการที่จะรู้ว่าเป็นผลของกรรมอะไรไม่ใช่เพราะการศึกษา แต่เป็นเพราะการเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของนามและรูป มากขึ้น ชัดขึ้น ละคลายมากขึ้น รู้ทั่วขึ้น บรรลุมรรคผลถึงขั้นพระอรหันต์เมื่อไรประกอบด้วยปฏิสัมภิทาก็ได้ ประกอบด้วยอภิญญาก็ได้ ประกอบด้วยวิชชา ๓ ก็ได้ แต่ว่าข้อสำคัญที่สุดก็คือ ถ้าท่านมีแต่เพียงการศึกษา ไม่มีการเจริญสติปัฏฐาน อย่าหวังที่จะได้รู้อะไรมาก ไม่มีหนทางเลย เพราะว่าเพียงแต่ทางตา หู จมูก ลิ้น ทางกาย ทางใจที่กำลังปรากฏใกล้ๆ เป็นปัจจุบันก็ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้ถึงอดีตชาติหรือกรรมที่ทำสำเร็จไปแล้วว่า กรรมใดเป็นปัจจัยให้วิบากจิตได้รับผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ในขณะนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เปิด  317
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566