แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 23
แต่ข้อสำคัญก็คือว่า ขอให้รู้ลักษณะของนามและรูปก่อน เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของการที่จะรู้ว่าเป็นผลของกรรมอะไร ไม่ใช่เพราะการศึกษา แต่เป็นเพราะการเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ชัดขึ้น ละคลายมากขึ้น รู้ทั่วขึ้น บรรลุมรรคผลถึงขั้นพระอรหันต์เมื่อไร ประกอบด้วยปฏิสัมภิทาก็ได้ ประกอบด้วยอภิญญาก็ได้ ประกอบด้วยวิชชา ๓ ก็ได้ แต่ว่าข้อสำคัญที่สุดก็คือ ถ้าท่านมีแต่เพียงการศึกษา ไม่มีการเจริญสติปัฏฐาน อย่าหวังที่จะได้รู้อะไรมาก ไม่มีหนทางเลย เพราะเหตุว่า เพียงแค่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่กำลังปรากฏใกล้ๆ เป็นปัจจุบันก็ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้ถึงอดีตชาติ หรือกรรมที่ทำสำเร็จไปแล้ว ว่ากรรมใดเป็นปัจจัยให้วิบากจิตได้รับผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายในขณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
คงจะทราบแล้วว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสรู้ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงปรารถว่า พระองค์จะทรงแสดงธรรมกับผู้ ใดแล้วก็เห็นว่า ขณะนั้น ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่สมควรจะได้รับการฟังพระธรรมเทศนาก็คือ พระปัญจวัคคีย์ ซึ่งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่เมืองพาราณสี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคก็เสด็จจาริกจากที่ตรัสรู้ไปยังพระนครพาราณสี ที่ป่า อิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น พระปัญจวัคคีย์คิดว่าจะไม่ฟังธรรมจะไม่ต้อนรับ เพราะเหตุว่าเคยเห็นพระผู้มีพระภาคทรงทรมานพระองค์ด้วยความเพียรอย่างมาก แล้วก็เลิกล้มการทรมานพระองค์ด้วยความเพียรนั้น ก็เข้าใจว่าไม่ใช่หนทางที่จะทำให้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แต่พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ซึ่งไม่เต็มใจจะฟังธรรมว่า
ณ บัดนี้พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ให้พระปัญจวัคคีย์ได้ฟังธรรมที่พระองค์จักแสดง ซึ่งพระปัญจวัคคีย์ก็ฟัง เมื่อฟังจบเทศนาแล้ว ท่านพระอัญญาโกณทัญญะ ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล นั่นเป็นเรื่องของการฟังธรรม แล้วก็บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล สำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิต เพราะเหตุว่าในขณะนั้นท่านพระปัญจวัคคีย์ก็ได้ละอาคารบ้านเรือนแล้ว เพราะฉะนั้นต่อไปก็จะเป็นตัวอย่างของ อุบาสก อุบาสิกา ที่ยังครองเรือน
ในพระวินัย มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ เรื่อง ยสกุลบุตร
ยสกุลบุตรเป็นบุตรเศรษฐีในพระนครพาราณสี เป็นผู้ที่เพียบพร้อมสมบรูณ์ ด้วยกามคุณ ๕ มารดาบิดาก็สร้างปราสาทให้อยู่ถึง ๓ หลัง สำหรับหน้าหนาวหน้าร้อน หน้าฝน และท่านเป็นผู้ที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ด้วยกามคุณ แต่ถึงกระนั้นก็ตามจิตของผู้ที่ได้สะสมเจริญอินทรีย์มาในอดีตนั้น ก็ทำให้ท่านสามารถที่จะเห็นโทษหรือว่าเกิดจิตที่เบื่อหน่ายในสิ่งที่ท่านมองเห็น ซึ่งคนอื่นเห็นว่าเป็นความเพลิดเพลินเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ถึงกับเปล่งอุทานว่า "ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" (ก็คงจะเป็นการบ่น เวลาที่เห็นสิ่งที่รู้สึกว่า ไม่ใช่ความสงบ) แล้วยสกุลบุตรท่านก็สวมรองเท้าทองเดินตรงไปที่ประตูบ้าน พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่าใครๆ อย่าได้ทำอันตราย แก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตรเลย ลำดับนั้น ยสกุลบุตรเดินตรงไปทางประตูพระนคร ยสกุลบุตรก็ได้เดินตรงไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ขณะนั้นก็เป็นเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคตื่นบรรทมแล้วเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ก็เสด็จลงมาจากที่จงกรมประทับ นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ขณะนั้น ยสกุลบุตรก็เปล่งอุทานในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคอีกว่า "ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับ ยสกุลบุตรว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง" มาเถิด ยสะ นั่งลงเราจักแสดงธรรมแก่เธอ ยสกุลบุตรพอได้ยินว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง" ก็รู้สึกร่าเริงบันเทิงใจ ก็ถอดรองเท้าทอง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
เมื่อยสกุลบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดง อนุปุพพิกถา ซึ่งเป็นการแสดงธรรมตามลำดับ คือทรงแสดงเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของสวรรค์ เรื่องโทษของกาม เรื่องอานิสงส์ในการออกจากกาม และตอนสุดท้ายก็ทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งก็มีเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นมรรค ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล รุ่งเช้ามารดาของยสกุลบุตรไม่เห็นบุตร ก็ได้ไปบอกท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดาท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดาก็ได้ให้คนขี่ม้าไปตามหายสกุลบุตรทั้ง ๔ ทิศ ส่วนตัวเองนั้นไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อไปถึงก็เห็นรองเท้าทองวางอยู่ ก็ตามไปสู่ ณ ที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลด้วยอิทธิฤทธิไม่ให้เศรษฐีเห็นบุตร เศรษฐีก็ทูลถามถึงยสกุลบุตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร คหบดี ถ้าอย่างนั้นเชิญนั่ง บางทีท่านนั่งอยู่ ณ ที่นี้ จะพึงได้เห็น ยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่ ณ ที่นี้ เศรษฐีพอได้ฟังก็ดีใจว่า ถ้าท่านเศรษฐีนั่งอยู่ที่นั่นก็จะได้เห็นบุตรชาย เพราะฉะนั้น เศรษฐีก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรม เช่นเดียวกับยสกุลบุตร คือทรงแสดง อนุปุพพิกถา เศรษฐีก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา เศรษฐีก็ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่าคนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้
ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำที่ข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป พระผู้มีพระภาคก็ได้คลายฤทธิ์ ให้ท่านเศรษฐีได้เห็นยสกุลบุตร ซึ่งขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับเศรษฐีซึ่งเป็นบิดานั้น ยสกุลบุตรก็ได้ฟังธรรมนั้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เพราะฉะนั้น เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงคลายฤทธิ์ ให้เศรษฐีได้เห็น ยสกุลบุตร เศรษฐีก็ได้บอกแก่ยสกุลบุตรให้ทราบถึงความทุกข์ความเศร้าโศกของ มารดา เพื่อให้ยสกุลบุตรกลับไปครองเรือนอย่างเก่า ซึ่งยสกุลบุตรก็ได้ชำเลืองดูพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านเศรษฐีว่า ยสกุลบุตรหมดกิเลสแล้ว ควรหรือที่จะกลับเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน ซึ่งท่านเศรษฐีก็ได้กราบทูลว่า "ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า" แล้วพร้อมกันนั้นก็ได้กราบทูลว่า "เป็นลาภของยสกุลบุตร ที่ได้บรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์" แล้วได้ทูลเชิญพระผู้มีพระภาค มียสกุลบุตรเป็นปัจฉาสมณะให้รับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น
ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงรับโดยดุษณีภาพ เมื่อเศรษฐีกลับไปแล้ว ยสกุลบุตรก็ขออุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์ ที่ ๗ นับพระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต์องค์ ที่ ๑ ปัญจวัคคีย์อีก ๕ ท่านพระยสกุลบุตรก็เป็นองค์ที่ ๗ ซึ่งท่านเศรษฐีนั้นเมื่อได้เห็นธรรม ได้ประกาศตนถึงพระรัตนตรัยแล้ว เศรษฐีผู้เป็นบิดาของยสกุลบุตร ก็เป็นอุบาสกที่กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นคนแรกในโลก เวลานี้ทุกท่านที่เป็นอุบาสกนับถือพระพุทธศาสนา ท่านก็ได้กล่าวคำนี้กันอยู่เสมอ คือถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ แต่ท่านอาจจะไม่ทราบว่าใครเป็นอุบาสกคนแรกที่ได้กล่าวคำนี้ ก็ให้ทราบด้วยว่าเป็นบิดาของยสกุลบุตร
ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคก็ได้เสด็จไปที่บ้านเศรษฐีพร้อมด้วยท่านพระยสะมารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะก็มาเฝ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา ซึ่งเมื่อมารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะได้ฟังธรรมก็ได้บรรลุธรรม ประกาศตนเป็นอุบาสิกาผู้มอบชีวิตถึงสรณะจำเดิมแต่วันนั้นเป็นต้นไป มารดาและภรรยาเก่าของท่าน พระยสะก็เป็นอุบาสิกา ที่กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นคู่แรก
ท่านพระยสะท่านเป็นบุตรเศรษฐี เพราะฉะนั้น ท่านก็มีสหายคฤหัสถ์เป็นอันมากทีเดียว สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของท่านพระยสะ คือ วิมะละ ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ ล้วนเป็นบุตรเศรษฐีสืบๆ มาในพระนครพาราณสี เมื่อสหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะได้ทราบข่าวว่าท่านพระยสะได้บวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็คิดว่าการกระทำของท่านพระยสะนั้น ต้องเป็นทางที่ไม่ต่ำทรามเป็นแน่นอน เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ ท่านก็พากันไปหาท่านพระยสะ ท่านพระยสะก็พาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายทั้ง ๔ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา แล้วสหายทั้ง ๔ นั้น ก็บรรลุเป็นพระอริยบุคคล เมื่อบรรลุเป็นพระอริยบุคคลบวชแล้วได้ฟังธรรม ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อีก ๔ ท่าน ก็รวมเป็นพระอรหันต์ ๑๑ องค์
มีข้อปฏิบัติเป็นแบบฉบับที่ต้องให้ทำอย่างนั้น ต้องให้ทำอย่างนี้ ให้นั่งอย่างนั้น ให้เดินอย่างนี้ หรือให้เริ่มที่โน่น ให้ตั้งต้นที่นี่ ในพระไตรปิฏกไม่ได้กล่าวไว้เลย ต่อจากสหายคฤหัสถ์ ๔ คน ก็ถึงสหายคฤหัสถ์ ๕๐ คนเป็นชาวชนบทเป็นบุตรของสกุลเก่าๆ สืบๆ กันมาในพระนครพาราณสี ซึ่งก็ได้ไปหาท่านพระยสะ พระยสะก็ได้พาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเช่นเคย กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหาย ก็เหมือนกันอีก คือ ทรงแสดงอนุปุพพิกถากับอริยสัจจ์ ๔ แล้วสหาย คฤหัสถ์นั้นก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน และเมื่อได้ฟังธรรมต่อไปก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ นี่ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะคิดได้ ว่าเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานนั้น ท่านจะต้องติดอยู่ในเรื่องของระเบียบ เรื่องของกฏเกณฑ์ต่างๆ ไหม สำหรับตอนนี้ มีผู้ใดสงสัยบ้างไหมคะ
อีกสูตร ๑ ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสน์ ปุณโณวาทสูตร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ท่านพระปุณณะออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้วก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดสั่งสอนข้าพระองค์ ด้วยพระโอวาทย่อๆ พอที่ข้าพระองค์ได้สดับธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว จะเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออก ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ปุณณะถ้าอย่างนั้นเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ซึ่งข้อความก็มีว่า พระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทไม่ให้ท่านพระปุณณะติดใจเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์นั่นเอง แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกร ปุณณะ ก็เธออันเรากล่าวสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว จะอยู่ในชนบทไหน
ซึ่งท่านพระปุณณะก็ได้กราบทูลว่า ท่านไปอยู่ชนบทชื่อว่า สุนาปรันตะซึ่งเป็นเมืองที่ผู้คนดุร้าย และภายในพรรษานั้นเองท่านแสดงธรรม มีคนกลับใจเป็นอุบาสก ๕๐๐ อุบาสิกา ๕๐๐ และท่านเอง ก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ในพรรษานั้นเหมือนกัน ครั้นสมัยต่อมา ท่านได้ปรินิพพานแล้ว ครั้งนั้น ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อ ปุณณะ ที่พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ นั้น ทำกาละเสียแล้ว เธอมีคติเป็นอย่างไร มีสัมปรายภพเป็นอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุณณะกุลบุตรเป็นบัณฑิตได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุณณะกุลบุตรปรินิพพานแล้ว
ถึงแม้ว่าจะเป็นสูตรสั้นเพียงโอวาทย่อๆ ที่ว่าไม่ให้เพลินไป ไม่ให้ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็จะต้องมีว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เพลิน ถ้าไม่มีสติเกิดขึ้น ไม่พิจารณาใส่ใจที่ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ก็เพลินไปโดยง่ายและนานๆ ด้วย ถ้าเป็นโทสะ ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ ไม่มีสติเกิดขึ้น ไม่พิจารณา รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็เพลินไปในเรื่องของโทสะ ในเรื่องของโมหะ เพราะฉะนั้น ถ้าขาดการเจริญสติ ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องกั้นความติดความเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธันมารมณ์ได้เลย
ถ. อาจารย์เคยกล่าวเสมอว่า ธรรมทั้งหลายอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ๆ จะมีวิธีทางอะไรที่จะช่วยให้ได้ประจักษ์ความจริงข้อนี้ไหม
สุ. เป็นอนัตตา แล้วอะไรประจักษ์? ปัญญาประจักษ์ ถ้าปัญญายังไม่เจริญ ถึงขั้นที่ประจักษ์ ก็ประจักษ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ควรจะทราบถึงเหตุของการเจริญปัญญาให้เพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ จนถึงขั้นที่ประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปด้วย ฉะนั้น จะต้องศึกษาตั้งแต่ขั้นต้น ซึ่งเป็นขั้นที่สำคัญที่สุด ถ้าความเข้าใจขั้นต้นผิดแล้วก็หมดหวัง ถ้าไม่มีความรู้ไม่มีปัญญา ก็ละอะไรไม่ได้ ประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปไม่ได้ เพราะว่าการเกิดดับนั้น ต้องประจักษ์ด้วยปัญญาที่สมบรูณ์เป็นขั้นๆ
ผู้ฟัง. ขอทราบข้อสงสัยดังนี้ วิชาให้มีสติ เป็นวิชาพิเศษขนาดยาวพิสดารชอบกล นับว่าประหลาดที่สุดของอาจารย์ ใครก็ตามฟังเข้าใจแล้ว เป็นได้ทั้งหลักวิชาและหลักปฏิบัติในชีวิตประจำของแต่ละคนได้ดีมาก หากรู้จักใช้ ประโยชน์อย่างยิ่ง และสำคัญที่สุดถ้ามีสติเฉพาะจวนจะตาย ดีแน่
คำว่า สติ คงเป็นชื่อจำง่ายไม่ต้องท่อง มีการงานรู้สึกตัวเป็นลักษณะรู้ เพียงเท่านี้ยังไม่พอ อาจารย์ผู้ให้วิทยาทานนี้ เตือนให้เจริญสติเนืองๆ ยังจำกัดความหมายไว้อีกว่า การเจริญสติไม่มีแบบฉบับ ทำให้กันดูไม่ได้ ถ้ามีแบบฉบับก็ไม่เรียกว่าเจริญสติ ทั้งเน้นชัดอีกว่าสติจะเกิดขึ้นเองก็ไม่ได้ ต้องอาศัยทวารทั้ง ๖ เป็นเหตุเป็นปัจจัย จะสร้างหรือบังคับให้สติเกิดก็ไม่ได้ ยังห้ามไม่ให้เจาะจงจดจ้อง นึกคิดเอาตามใจชอบให้ผิดปกติ
พอมาถึงตรงนี้ก็กล่าวว่า สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอย่างรวดเร็ว คงมีความหมายว่า สติของคนทุกคนเกิดดับอยู่แล้ว เจ้าของสติไม่รู้ ผู้มีความสังเกตจะทราบได้เมื่อสติเกิดขึ้นขณะใด ลักษณะของนามรูปก็ปรากฏแล้วพิจารณาให้รู้ นามใดรูปใดเกิดจากทวารไหนให้ชัดว่า นามนั้นรูปนั้นมีลักษณะอย่างไร ถ้ารู้อย่างนี้ปัญญาก็จะเกิดทีละขั้นๆ เมื่อสติเจริญมากเข้าๆ ปัญญาก็สมบูรณ์ การละคลายตัวตนที่ยึดมั่นถือมั่นก็จะหมดไป จำได้เพียงเท่านี้จะผิดหรือจะถูกยังไม่แน่เหมือนกัน ใคร่ทราบว่าการเจริญสติที่ว่าไม่มีแบบฉบับนั้น ขอคำอธิบายให้ชัดเจนว่า อาจารย์ได้มาโดยวิธีการอย่างไร หากบอกให้ส่วนรวมเข้าใจ จะดีมาก