แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 24

สุ. ที่ถามว่าได้มาโดยวิธีการอย่างไร คงจะไม่คิดว่านอกตำราใช่ไหม ตำราคืออะไร? พระไตรปิฏก ท่านผู้ใดสงสัยก็ศึกษาดูได้ ตั้งแต่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วแต่ละท่านนี้สะสมเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดนามและรูปต่างๆ กันไม่เหมือนกัน แต่ละคนจะคิดก็ต้องคิดถึงสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น เคย รู้รส เคยพอใจ เคยไม่พอใจ

เพราะฉะนั้น จะวางกฏเกณฑ์ให้ขณะนี้รู้นามนั้น ขณะนั้นรู้รูปนี้ ได้อย่างไร ในเมื่อเหตุปัจจัยอาจจะทำให้โลภะของคนหนึ่งเกิด สำหรับอีกคนหนึ่งเป็นโทสะ สำหรับอีกคนหนึ่งเป็นกุศล แล้วแต่ว่าขณะนั้นนามชนิดใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วแต่ละคนบังคับสติให้เกิดพร้อมๆ กันได้ไหม? ก็ไม่ได้ บางคนขณะนี้ไม่เกิด ต่อไปอีกประเดี๋ยวหนึ่งสติก็เกิดขึ้น และเมื่อเกิดแล้ว คนนั้นจะรู้ที่เสียงว่าเป็นสภาพที่ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางหูเท่านั้น อีกคนหนึ่งอาจจะรู้ที่ได้ยิน อีกคนหนึ่งอาจจะรู้ที่เย็น อีกคนหนึ่งอาจจะรู้ที่เมื่อย อีกคนหนึ่งอาจจะรู้ที่กำลังคิดนึกก็ได้ ก็เป็นสิ่งที่แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะวางกฏเกณฑ์แบบฉบับได้เลย ปัญหานี้ควรจะเปลี่ยนเป็นว่า การมีแบบฉบับวางกฏเกณฑ์นั้น อยู่ที่ไหนในพระไตรปิฏก มีท่านผู้ใด ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหมคะ

ใน นาวาสูตร ที่ ๘ มีข้อความว่า ก็ บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมจากบุคคลใด พึงบูชาบุคคลนั้น เหมือนเทวดา บูชาพระอินทร์ ฉะนั้นการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด จะมีความนอบน้อมเคารพในครูอาจารย์ หรือว่าผู้ที่ให้ความเข้าใจเรื่องธรรมนั้น ก็จะต้องกระทำในฐานะที่สมควรด้วย เพราะเหตุว่าบางท่านนั้นเคารพในครูอาจารย์เกินพระรัตนตรัย ต้องขอประทานโทษ ที่จะใช้คำนี้ เพราะเหตุว่า บางท่านไม่สนใจที่จะสอบทานเทียบเคียงกับพระธรรมวินัย แล้วแต่ว่าผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้นจะกล่าวว่าอย่างไร ก็พึงพอใจในเหตุผลของผู้นั้นโดยที่ไม่เทียบเคียงเหตุผล ไม่สอบทานกับพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุการที่จะเคารพบุคคลที่เป็นครูอาจารย์นั้น ก็ต้องเคารพในส่วนที่เป็นครูอาจารย์ ไม่เหนือกว่าการเคารพในพระรัตนตรัย คือในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระธรรมและในพระสงฆ์

เพราะฉะนั้น ก็เคารพครูอาจารย์ในความเมตตาที่ท่านอนุเคราะห์แสดงธรรม อุปการะเกื้อกูลให้ได้เข้าใจธรรม แต่ว่าจะต้องสอบทานธรรมนั้นกับพระธรรมวินัย จนกระทั่งให้ได้เหตุผล แต่ไม่ใช่จะไปลบหลู่ครูบาอาจารย์ ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนกับพระธรรมวินัยที่ได้สอบทานแล้ว ในที่นี้จึงกล่าวว่า ก็บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมจากบุคคลใด พึงบูชาบุคคลนั้นเหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์ ฉะนั้น บุคคลผู้ที่เคารพนอบน้อมบุคคลที่เป็นครูอาจารย์ก็เป็นผู้ที่มีคุณความดี ก็เปรียบได้กับเทวดา ส่วนครูอาจารย์ที่ให้ความรู้ในทางธรรมนั้น ก็เปรียบได้กับพระอินทร์ซึ่งเป็นหัวหน้าของเทวดา ไม่ใช่ให้สูงกว่าพระรัตนตรัย ไม่ใช่ให้สูงกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ให้พึงบูชาเหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์และมีข้อความต่อไปว่า

ผู้อันเตวาสิกบูชาแล้ว มีจิตเลื่อมใสในอันเตวาสิกนั้น ย่อมชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้ง นี่ก็ต้องทั้บุคคลซึ่งจะพึงเป็นที่เคารพบูชานั้น บุคคลนั้นเป็นพหูสูต งสองฝ่าย คือทั้งผู้ที่ชี้แจงธรรมและผู้ที่รับฟังธรรมด้วย ซึ่งผู้ที่ได้รับการนอบน้อมก็ต้องมีจิตเลื่อมใสในผู้รับฟังธรรม แล้วก็ชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้งเป็นการอุปการะด้วย บุรุษผู้มีปัญญา ไม่ประมาทคบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น กระทำธรรม นั้นให้มีประโยชน์ ใคร่ครวญแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้รู้แจ่มแจ้งแสดงธรรม และเป็นผู้ละเอียด

พยัญชนะในพระไตรปิฏกละเอียดมาก เวลาที่จะแสดงธรรมในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็มีอรรถพยัญชนะสมบูรณ์ในข้อความนั้น แม้แต่ผู้ที่เป็นผู้ที่มีปัญญา ไม่ประมาทคบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น ก็ต้องกระทำธรรมนั้นให้มีประโยชน์ การที่จะกระทำธรรมให้มีประโยชน์ ก็คือใคร่ครวญแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมย่อมเป็นผู้รู้แจ่มแจ้ง แสดงธรรมแก่บุคคลอื่น และเป็นผู้ละเอียด เมื่อรู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว ก็ไม่พึงเป็นผู้ที่ไม่แสดงธรรมนั้นแก่ผู้อื่น ควรที่จะแสดงธรรมที่ได้ศึกษา ได้ใคร่ครวญ ได้พิจารณา ได้เข้าใจแล้วนั้นต่อๆ ไป ด้วยความเป็นผู้ละเอียด อย่าเป็นผู้ที่ฟังเผินๆ หรือว่าจับข้อความจากธรรมเพียงเผินๆ ไม่ใคร่ครวญพิจารณาให้รอบคอบก่อน แล้วแสดงแก่ผู้อื่น เพราะเหตุว่าอันนี้ก็จะเป็นอันตรายมากทีเดียว ถ้าผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิด เห็นผิด ปฏิบัติผิดตามไปด้วย ข้อความต่อไปมีว่า

อันเตวาสิก ส้องเสพอาจารย์ผู้ประกอบด้วยธรรมน้อย เป็นคนเขลา ผู้ยังไม่บรรลุประโยชน์และริษยา ไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งในศาสนานี้เทียว ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ ย่อมเข้าถึงความตาย นี่ก็เป็นอันตรายอีกเหมือนกัน ที่ว่าอันเตวาสิกส้องเสพอาจารย์ผู้ประกอบด้วยธรรมน้อย ผู้เป็นคนเขลา ผู้ยังไม่บรรลุประโยชน์และริษยา ไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งในศาสนานี้เทียว ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ ย่อมเข้าถึงความตาย เพราะว่าธรรมนั้นไม่สามารถจะอุปการะให้พ้นจากความตาย ให้พ้นจากการที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าผู้นั้นไม่เป็นผู้เขลา ไม่เป็นผู้ที่มีธรรมน้อย ก็ย่อมจะอุปการะสามารถที่จะทำให้อันเตวาสิกผู้ที่เป็นศิษย์นั้นบรรลุประโยชน์ และพ้นจากความตายได้ ข้อความต่อไปมีว่า

บุคคลไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งแล้ว ไม่ใคร่ครวญเนื้อความในสำนักแห่ง บุคคลผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ไม่รู้ด้วยตนเอง ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ จะสามารถให้ผู้อื่นเพ่งพินิจได้อย่างไร เหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสไหลเชื่ยว ถูกน้ำพัดลอยไปตามกระแสน้ำ จะสามารถช่วยให้ผู้อื่นข้ามได้อย่างไร ฉะนั้น ผู้ใดขึ้นสู่เรือที่มั่นคง มีพายและถ่อพร้อมมูล ผู้นั้นรู้อุบายในเรือนั้น เป็น ผู้ฉลาดมีสติ พึงช่วยผู้อื่นแม้มีจำนวนมากในเรือนั้น ให้ข้ามได้แม้ฉันใด ผู้ใดไปด้วยมัคคญาณทั้ง ๔ อบรมตนเป็นพหูสูตร ไม่มีความหวั่นไหวเป็นธรรมดา ผู้นั้นแลรู้ชัดอยู่ พึงยังผู้อื่นผู้ตั้งใจสดับและสมบูรณ์ด้วยธรรมอันเป็นอุปนิสสัย ให้เพ่งพินิจได้ ก็ฉันนั้น

เพราะเหตุนั้นแล บุคคลควรคบสัปบุรุษผู้มีปัญญา เป็นพหูสูตร บุคคลผู้คบบุคคลเช่นนั้น รู้ชัดเนื้อความนั้นแล้ว ปฏิบัติอยู่รู้แจ้งธรรมแล้ว พึงได้ความสุข เป็นข้อความในพระไตรปิฏก ซึ่งได้กล่าวเตือนถึงในเรื่องการใคร่ครวญธรรม เพราะเหตุว่าอุปมาเหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสไหลเชื่ยว ถูกน้ำพัดลอยไปตามกระแสน้ำ ย่อมไม่สามารถจะช่วยให้ผู้อื่นข้ามได้ แต่ผู้ใดขึ้นสู่เรือที่มั่นคง มีพายและถ่อพร้อมมูล ผู้นั้นรู้อุบายในเรือนั้น ถึงแม้เราจะได้ฟังเรื่องของมรรค์มีองค์ ๘ ว่าในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้นั้น จะต้องเจริญสติ จะต้องเป็นผู้เจริญมรรค์มีองค์ ๘ แต่ถ้าไม่พิจารณาไม่ใคร่ครวญในมรรค์ทั้ง ๘ นั้นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ด้วยความแยบคายคือด้วยความสมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุผล ก็เท่ากับผู้ที่ไม่รู้อุบายในเรือ มีเรือจริงมีของหลายอย่างในเรือนั้น แต่ไม่ทราบว่าของนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ก็ไม่สามารถจะใช้เรือนั้นให้เป็นประโยชน์ได้ ฉันใด ในเรื่องของ มรรค์มีองค์ ๘ ก็เช่นเดียวกัน คือจะต้องมีการศึกษาให้เข้าใจเรื่องของมรรค์มีองค์ ๘ ไม่ให้คลาดเคลื่อนไข้วเขวแล้วจึงจะเป็นผู้ที่รู้อุบายในเรือนั้น สามารถที่จะใช้ประโยชน์ให้เรือนั้นถึงฝั่งได้

นี่ก็เป็นเรื่องที่ถ้าท่านผู้ใด มีพระธรรมวินัยเป็นศาสดา แล้วก็มีคูรบาอาจารย์ที่อุปการะให้ความรู้ความเข้าใจ แต่ว่าผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งธรรมนั้น ถ้ามีความมั่นใจในบุคคลโดยที่ไม่สอบทานธรรม ซึ่งได้ฟังจากบุคคลนั้น กับพระธรรมวินัยก็ย่อมเป็นอันตรายได้ เพราะเหตุว่ายังไม่ทราบถึงความลึกซึ้งของธรรม แล้วก็อาจจะเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนไป

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะฟังธรรมจากใคร ก็ควรที่จะได้พิจารณาใคร่ครวญสอบทานอยู่เสมอ จนกระทั่งได้เหตุผลที่สมบูรณ์ ถ้าท่านศึกษาหรือว่าอ่านในพระไตรปิฏกจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่ท่านข้องใจ จะมีคำอธิบายอย่างละเอียด และอีกประการหนึ่งบางทีท่านอาจจะไม่ทราบว่า บุคคลในครั้งโน้นท่านมีความสงสัยกันเรื่องอะไร ท่านสนทนากันเรื่องอะไร เพราะว่าการสนทนาธรรมมีเรื่องที่จะสนทนามากมายหลายประการ จะสนทนาเรื่องอริยสัจจ์ ๔ จะสนทนาเรื่องปฏิจจสมุปปาทะ จะสนทนาเรื่องมรรคมีองค์ ๘ จะสนทนาเรื่องญาณ จะสนทนาเรื่องอะไรก็มีมากมายหลายเรื่อง และบุคคลในครั้งโน้นท่านคิดอย่างไร ท่านถามอย่างไร ก็เป็นการที่ว่าถ้าท่านศึกษาพระไตรปิฎกมากขึ้น ท่านก็จะได้ความรู้ความแจ่มแจ้งมากขึ้นด้วย แต่ว่าจะเห็นได้ว่า บุคคลซึ่งศึกษาธรรมมีความเข้าใจธรรม จะไม่เห็นว่าตนเองนั้นสำคัญ แต่ว่าสิ่งสำคัญคือพระธรรมวินัย สิ่งสำคัญคือพระรัตนตรัย ท่านเหล่านั้นจะไม่คิดว่าท่านเป็นใหญ่ ไม่คิดถึงว่าให้ใครๆ มาเคารพกราบไหว้นับถือเป็นครูบาอาจารย์ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีศิษย์ หรือมีผู้ฟังธรรมมากๆ ท่านเหล่านั้นจะไม่คิดถึงตัวท่านเลย แต่จะคิดถึงพระธรรมวินัยและคิดถึงพระรัตนตรัยเป็นใหญ่ ที่จะยกตัวอย่างอีกสูตรหนึ่ง เพื่อที่จะให้ท่านเห็นถึงความคิด หรือความข้องใจของบุคคลในครั้งนั้น หรือหัวข้อที่บุคคลในครั้งนั้นสนทนาธรรมกัน แล้วธรรมที่ได้ฟังจะอุปการะแก่ผู้ฟังอย่างไร

ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสถ์ พรามณวรรค โฆฏมุขสูตร ข้อ ๖๓๐ ซึ่งเป็นสมัยที่พระผู้มีพระภาคดับเสด็จขันธปรินิพพานแล้ว สมัยหนึ่ง ท่านพระอุเทนอยู่ ณ เขมิยอัมพวัน ใกล้เมืองพาราณสี สมัยนั้นมีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า โฆฏมุขะ ได้ไปถึงเมืองพาราณสีด้วยกรณียกิจบางอย่าง แล้วได้เดินเที่ยวเล่นไปมาเป็นการพักผ่อน แล้วได้เข้าไปยังเขมิยอัมพวันครั้งนั้น ท่านพระอุเทนเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง โฆฏมุขพราหมณ์ก็เข้าไปหาปราศัย เดินตามท่านพระอุเทนซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ แล้วได้กล่าวกับท่าน พระอุเทนว่า ดูกร สมณะผู้เจริญ การบวชอันชอบธรรมย่อมไม่มี ในเรื่องนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านไม่เห็นข้อนั้น หรือไม่เห็นธรรมในเรื่องนี้

คือว่า โฆฏมุขพราหมณ์ไม่เห็นประโยชน์ของการบรรพชาอุปสมบทเป็นบรรพชิตเลย จึงได้กล่าวว่าการบวชอันชอบธรรมย่อมไม่มี พราหมณ์เองมีความเห็นว่า การบวชเป็นบรรพชิตไม่มีประโยชน์ แต่ท่านพระอุเทนเป็นบรรพชิต ฉะนั้นความเห็นของท่านพระอุเทนกับความเห็นของโฆฏมุขพราหมณ์นั้น ก็ย่อมจะต่างกัน ซึ่งเมื่อโฆฏมุขพราหมณ์ได้กล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระอุเทนลงจากที่เดินจงกรมเข้าไปยังวิหาร แล้วนั่งลงบนอาสนะที่จัดไว้ แม้โฆฏมุขพราหมณ์ก็ลงจากที่จงกรมเข้าไปยังวิหารแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระอุเทน ได้กล่าวกับโฆฏมุขพราหมณ์ว่า ดูกร พราหมณ์ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านปรารถนาก็เชิญนั่งเถิด นี่เป็นคำเชิญของพระภิกษุในครั้งอดีต สำนวนก็ไพเราะ คือแล้วแต่ว่าผู้ฟังปรารถนาจะนั่งก็นั่งได้ ไม่ปรารถนาจะนั่งก็แล้วแต่อัธยาศัย

โฆฏมุขพราหมณ์ก็กล่าวว่า ก็ข้าพเจ้ารอการเชื้อเชิญของท่านพระอุเทนนี้แล จึงยังไม่นั่ง เพราะว่าคนเช่นข้าพเจ้าอันใครไม่เชื้อเชิญก่อนแล้ว จะพึงสำคัญการที่จะพึงนั่งบนอาสนะ อย่างไร นี่ก็เป็นธรรมเนียมของพราหมณ์ ถ้าไม่มีคนเชื้อเชิญแล้วก็ย่อมจะไม่นั่งหรือผู้ที่เป็นแขกก็เหมือนกัน ถ้าเจ้าของสถานที่ยังไม่เชื้อเชิญก็ย่อมไม่นั่ง แล้วโฆฏมุขพราหมณ์ก็ถือเอาอาสนะที่ต่ำแห่งหนึ่ง เพราะท่านก็ทราบว่าท่านไม่ได้เป็นบรรพชิต ฉะนั้นก็นั่งที่อาสนะที่ต่ำกว่า ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอุเทน มีข้อความเหมือนกับที่ได้กล่าวกับท่านพระอุเทนตอนที่ท่านพระอุเทน ยังเดินจงกรมอยู่ที่เขมิยอัมพวัน คือ

ดูกร สมณะ การบวชอันชอบธรรมย่อมไม่มี ในเรื่องนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านไม่เห็นข้อนั้น หรือไม่เห็นธรรมใน เรื่องนั้น ฟังในตอนต้นๆ เผินๆ เหมือนกับจะไม่มีอะไรเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานเลย แต่ขอให้ทราบว่าผู้ที่เป็นบัณฑิต ไม่ว่าหัวข้อธรรมที่นำมาสนทนากับท่านนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ท่านน้อมไปสู่เหตุและผลของการปฏิบัติในตอนสุดท้ายเสมอ ซึ่งก็จะทำให้ผู้ที่ได้ฟังนั้นเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น แต่ขอให้ฟังคำสนทนาระหว่างท่านพระอุเทนกับโฆฏมุขพราหมณ์ต่อไป ท่านพระอุเทนกล่าวว่า ดูกร พราหมณ์ ถ้าท่านพึงยอมคำที่ควรยอม และพึงคัดค้านคำที่ควรคัดค้านของเรา อนึ่งท่านไม่พึงรู้เนื้อความแห่งภาษิตใด พึงซักถามเราในภาษิตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกร ท่านอุเทน ภาษิตนี้อย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นไฉน เพราะ ทำได้อย่างนี้ เราทั้งสองพึงมีการเจรจาปราศัยในเรื่องนี้กันได้

คือก่อนที่จะสนทนากัน ก็จะต้องตกลงกันเสียก่อนว่า ถ้ามีข้อความใดที่เป็นเหตุผล ก็จะต้องยอมรับตามเหตุผลนั้น ถ้ามีสิ่งใดที่พึงคัดค้านไม่เห็นด้วย ก็ขอให้แสดงความคิดเห็นคัดค้านที่ไม่เห็นด้วยนั้น และถ้ามีภาษิตคำใดที่ไม่เข้าใจชัดก็ขอให้ถามเพื่อให้เข้าใจภาษิตนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น จึงจะสนทนากันในเรื่องของธรรมซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็รับว่าจะกระทำเช่นนั้น ท่านพระอุเทนก็กล่าวว่า ดูกร พราหมณ์ บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน

จำพวกที่ ๑ เป็นผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการ ทำตนให้เดือดร้อน

จำพวกที่ ๒ เป็นผู้ที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

จำพวกที่ ๓ เป็นผู้ที่ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน

จำพวกที่ ๔ ไม่เป็นผู้ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความ ขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่มีความหิว เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน

แล้วท่านพระอุเทนก็ถามโฆฏมุขพราหมณ์ ต่อไปว่า ดูกรพราหมณ์ บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลไหนย่อมยังจิตของท่านให้ยินดี มีบุคคล ๔ จำพวก แต่ต่อไปพราหมณ์นี้ก็จะขอให้ท่านพระอุเทนบรรยายขยายความชี้แจงบุคคล ๔ จำพวกนี้โดยละเอียดอีก แต่ว่าก่อนอื่นท่านพระอุเทน ก็ได้ถามโฆฏมุขพราหมณ์ก่อนว่า ในบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลใดย่อมยังจิตใจของโฆฏมุขพราหมณ์ให้ยินดีได้ ซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวตอบว่า บุคคลจำพวกที่ ๔ คือพวกที่ไม่ยังทั้งตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายในการประกอบความเดือดร้อนทั้งกับตนเองและผู้อื่น ย่อมยังจิตของโฆฏมุขพราหมณ์ให้ยินดีได้

ซึ่งท่านพระอุเทนเมื่อได้ฟังแล้วก็ถามเหตุผลจริงๆ ท่านสนทนาธรรมกันจริงๆ ต้องการเหตุผลจริงๆ ไม่ใช่ว่าตอบแล้วพอใจในเหตุผลนั้นโดยง่าย เพราะฉะนั้นโฆฏมุขพราหมณ์จะได้ตอบอย่างนั้นแล้ว ท่านพระอุเทนก็ยังต้องการเหตุผลว่า เพราะเหตุใด บุคคลที่ไม่เป็นผู้ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น จึงเป็นผู้ที่ทำให้จิตของโฆฏมุขพราหมณ์ยินดีได้ ซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้ชี้แจงให้ฟังว่า สำหรับผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อนนั้น ย่อมกระทำตนผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อน

เป็นความจริงใช่ไหมคะ ที่ว่า ทุกคนต้องการความสุข ไม่มีใครต้องการความทุกข์เลย แล้วไปทรมานตัวทำไมไปทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทำไม เพื่ออะไรเพราะฉะนั้น เมื่อข้อปฏิบัตินั้นเป็นเช่นนั้น คือเป็นผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อน แล้วก็ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ก็ย่อมทำตนผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อนโดยเปล่าประโยชน์ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๒ เป็นบุคคลที่กระทำให้บุคคลอื่นให้เดือดร้อน ขวนขวายในการกระทำบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ก็ย่อมทำบุคคลอื่นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อนด้วย ไม่ใช่แต่ตนเองเท่านั้นรักสุขเกลียดทุกข์ แม้บุคคลอื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน ฉะนั้น ถ้าใครเป็นผู้ที่ทำให้บุคคลอื่นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อน ก็ย่อมไม่ทำให้จิตของโฆฏมุขพราหมณ์ยินดีได้

ส่วนบุคคลที่ ๓ คือบุคคลที่กระทำตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ขวนขวายในการกระทำให้ตนและบุคคลอื่นเดือดร้อนนั้น ก็ย่อมทำตนและบุคคลอื่นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อนด้วย ซึ่งก็เป็นบุคคลซึ่งไม่ทำให้จิตของโฆฏมุขพราหมณ์ยินดีได้

ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๔ เป็นผู้ที่ไม่กระทำตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายในการกระทำตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อนนั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่ไม่กระทำ ตนและบุคคลอื่นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อน เพราะฉะนั้น บุคคลจำพวกที่ ๔ นี้ ย่อมยังจิตของโฆฏมุขพราหมณ์ให้ยินดีได้

ท่านผู้ฟังก็คงจะยินดีในจิตใจ หรือในบุคคลประเภทที่ ๔ นี้ เช่นเดียวกันเพราะว่าไม่ทำทั้งตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน

เปิด  338
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565