แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 26

ท่านพระอุเทน ก็กล่าวว่า การรับเงินและทอง ไม่สมควรแก่อาตมาทั้งหลาย โฆฏมุขพราหมณ์ ก็กล่าวตอบว่า ถ้าทองและเงินนั้นไม่สมควร ข้าพเจ้าจะให้สร้างวิหารถวายท่านอุเทน ท่านพระอุเทน กล่าวว่า ถ้าแลท่านปรารถนาจะให้สร้างวิหารถวายอาตมา ก็ขอให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรเถิด

ไม่จำกัดเจาะจงว่าต้องถวายท่าน แต่ว่าพึงกระทำประโยชน์แก่พระศาสนาแก่พระธรรมวินัย โดยการที่แทนการที่จะสร้างวิหารถวายตัวท่านเองโดยเฉพาะ ก็ขอให้โฆฏมุขพราหมณ์สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร ซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็เกิดความปิติยินดีมากทีเดียว ก็ได้กล่าวว่า ด้วยข้อที่ท่านอุเทนชักชวนข้าพเจ้าในสังฆทานนี้ ข้าพเจ้ามีใจชื่นชมยินดีเหลือประมาณข้าแต่ท่านอุเทน ข้าพเจ้าจะให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้ด้วย ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนอื่นด้วย นี่เป็นสัทธาหรือความปิติชื่นชมยินดี ที่ไม่เห็นว่าท่านพระอุเทนนั้น จะเป็นผู้เห็นแก่ตน แต่เป็นผู้ที่เห็นแก่พระรัตนตรัย เป็นผู้ที่เห็นแก่พระธรรมวินัย แทนที่จะชักชวนให้เลื่อมใสในการให้สังฆทาน ฉะนั้น แทนที่จะให้สร้างโรงเลี้ยงด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำสำหรับตนดังที่กล่าวไว้ ก็ยังให้เพิ่มด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนอื่นด้วย ครั้งนั้นแล โฆฏมุขพราหมณ์ให้จัดสร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้และส่วนอื่น โรงเลี้ยงนั้นเรียกว่าโฆฏมุกขี ฉะนี้แล

นี่เป็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การสนทนาธรรมเริ่มจากการที่ไม่เห็นประโยชน์ของการบวชเลย จนกระทั่งได้เห็นประโยชน์ของการบวช แล้วได้เกิดจิตศรัทธาเลื่อมใส ในตอนต้นก็เลื่อมใสในผู้แสดงคือท่านพระอุเทน แต่ภายหลังก็เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ถ้าท่านมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ในพระพุทธ ในพระธรรม ใน พระสงฆ์แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าท่านจะไม่ได้เลื่อมใสในครูอาจารย์ของท่าน เพราะเหตุว่าถ้าครูอาจารย์เป็นพระอริยสาวก ถึงแม้ว่าท่านจะไม่เจาะจงความเลื่อมใส เป็นรายบุคคล แต่การที่ท่านแสดงความเป็นอุบาสกอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ นั่นก็แสดงความเคารพเลื่อมใสตั้งแต่ในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธรัตนะและในพระธรรมและในพระสงฆ์ เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นเครื่องที่จะให้ท่านเห็นว่า ความเลื่อมใสใดๆ นั้น ไม่ควรจะให้เกินกว่าความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

สำหรับความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้วก็ควรจะแสดงความนอบน้อม ซึ่งมีปรากฏในพระไตรปิฏก ใน สังยุตตรนิกาย สคาถวรรค ภาค ๑ นสันติสูตร ที่ ๔ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทำให้พระวิหารเชตวันนั้นสว่างไสว เมื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายอภิวาทแล้ว ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวคาถาในสำนักของพระผู้มีพระภาค สรรเสริญพระอรหันต์ผู้พ้นจากเครื่องข้องทั้งปวงได้ เมื่อเทวดากล่าวสรรเสริญแล้ว ท่านพระโมฆราช ก็กล่าวว่า ก็หากว่าพวกเทวดา พวกมนุษย์ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี ไม่ได้เห็นพระขีณาสพนั้น ผู้อุดมกว่านรชน ผู้ประพฤติประโยชน์เพื่อพวกนรชน ผู้พ้นแล้วอย่างนั้น เทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระขีณาสพนั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญ

แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ แม้พวกเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญ พวกเทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้ขีณาสวภิกษุนั้น ผู้พ้นแล้วอย่างนั้น ดูกรภิกษุ แม้เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นรู้ธรรมแล้ว ละวิจิกิจฉาแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ล่วงแล้วซึ่งธรรมเป็นเครื่องข้อง เมื่อมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว ข้อปฏิบัติก็ถูกได้ เพราะเหตุว่าไม่มีการคลาดเคลื่อนไปตามความคิดเห็นของบุคคล ซึ่งอาจจะมีการบกพร่องหรือว่าการคลาดเคลื่อน การไขว้เขวได้ ถ้าไม่สอบทานเทียบเคียงพิจารณาเหตุผลให้ตรงกับพระธรรมวินัย แต่ถ้าผู้ใดมีพระธรรมวินัย มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่แท้จริง พิจารณาสอบทานเทียบเคียงอยู่เสมอ ก็ย่อมจะทำให้ข้อประพฤติปฏิบัติของผู้นั้นสมบูรณ์ไม่คลาดเคลื่อน

วันนี้ก็เป็นเรื่องของพระสูตรหลายๆ สูตร ซึ่งก็เป็นความประสงค์ที่อยากจะให้ท่านเพิ่มความสนใจ ศึกษา สอบทาน เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยให้ยิ่งขึ้น ไม่ว่าท่านจะมีความข้องใจสงสัยในธรรมประการหนึ่งประการใด แม้แต่ในเรื่องข้อสนทนาที่ว่า การบวชเป็นบรรพชิตจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์อย่างไร ท่านก็จะได้ฟังความคิดเห็นของบุคคลในครั้งอดีต พร้อมทั้งเหตุผล แล้วก็ยังมีเรื่องที่จะทำให้ท่านหายข้องใจได้นานาประการทีเดียว

สำหรับในวันนี้ก็จะขอกล่าวถึงอีกสูตรหนึ่ง คือ ใน สังยุตตรนิกาย มหาวารวรรคภาค ๑ สูกรขาตาสูตร ซึ่งก็เป็นเรื่องของการนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ถ้ำสูกรขาตา เขาคิชกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตร แล้วตรัสถามว่า ดูกรสารีบุตร ภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นอำนาจประโยชน์อะไรหนอ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต ท่านพระสารีบุตรเป็นอัครสาวก เป็นผู้ที่มีปัญญาเฉียบแหลมมาก แต่แม้กระนั้น ปัญญาของท่านพระสารีบุตรก็ไม่เสมอกับพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสใดที่พระผู้มีพระภาคต้องการที่จะให้มีการสนทนาให้ได้เหตุผล ให้ได้ความแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งขึ้น พระองค์ก็ทรงพระมหากรุณาตรัสเรียก แม้ท่านพระสารีบุตรไปเฝ้าแล้วก็ตรัสถาม เพื่อให้ท่านพระสารีบุตรได้แสดงเหตุผลที่ชัดเจน สำหรับในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระสารีบุตรว่า ภิกษุผู้ขีณาสพ (คือภิกษุผู้เป็นอรหันต์) เห็นอำนาจประโยชน์อะไรหนอ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม จึงประพฤติ นอบน้อมอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาค หรือในศาสนาของพระผู้มีพระภาค

ไม่ใช่ว่าจะนอบน้อมโดยไม่มีเหตุผลเลย เพราะเหตุว่า การนอบน้อมจะเพิ่มขึ้นในบุคคลใด ก็เนื่องมาจากธรรมที่ได้รับมาจากบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนที่จะนอบน้อมในพระรัตนตรัยมากเท่ากับผู้ที่เป็นอริยบุคคลนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นปุถุชนที่ได้ฟังธรรมน้อย ความนอบน้อมในพระรัตนตรัยก็น้อยกว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมมาก ถ้าเป็นปุถุชนผู้ที่ได้ประพฤติปฏิบัติเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้ธรรมเพิ่มขึ้นมากขึ้น ความนอบน้อมในพระรัตนตรัยก็เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นความนอบน้อมของปุถุชน ความนอบน้อมของพระอริยะขั้นพระโสดาบัน ความนอบน้อมของพระอริยะขั้นพระสกทาคามี ความนอบน้อมของพระอริยะขั้นพระอนาคามี ความนอบน้อมของพระอริยะขั้นพระอรหันต์ จึงต่างกัน แล้วท่านก็คงจะทราบได้ว่า ผู้ใดมีความนอบน้อมในพระรัตนตรัยมากกว่ากัน ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ ซึ่งได้เห็นธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม

พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถามต่อไปอีกว่า ก็ธรรมะเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ที่ภิกษุขีณาสพเห็นอยู่ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคตเป็นไฉน ท่านพระสารีบุตรก็กราบทูลว่า ภิกษุผู้ขีณาสพ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัทธินทรีย์ อันให้ถึงความสงบให้ถึงความตรัสรู้ ย่อมเจริญวิริยินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ย่อมเจริญสตินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ ย่อมเจริญสมาธินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ ย่อมเจริญปัญญินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้นั่นเป็นธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ

คงจะสงสัยว่าทำไมท่านพระสารีบุตรท่านกล่าวถึงอินทรีย์ ๕ ซ้ำถึง ๒ ครั้ง คือกล่าวว่าย่อมเจริญสัทธินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ ไม่ใช่ให้หยุดเพียงแค่ว่าให้ถึงความสงบ แต่ว่าอันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ นั่นจึงจะเป็นความสมบูรณ์ของพระธรรมของพระผู้มีพระภาค ไม่ใช่เพียงแค่สมาธิซึ่งเป็นความสงบ แต่ต้องให้ถึงความตรัสรู้ด้วย เพราะฉะนั้น การเจริญสัทธาเป็นอินทรีย์ทำให้จิตใจสงบผ่องใสนั้น ไม่ใช่เพียงแค่นั้น แต่จะต้องมีปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อให้ถึงความตรัสรู้ด้วย ฉะนั้นเวลาที่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว มีสติเกิดขึ้นขณะใด แสดงถึงสัทธาที่จะพิจารณาลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงให้ถึงความสงบ แต่ให้ถึงความตรัสรู้ด้วย

เพราะฉะนั้น พยัญชนะจึงแสดงไว้โดยละเอียดในการเจริญอินทรีย์ ๕ นั้น ทั้ง สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ อันให้ถึงความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกละ ถูกละ สารีบุตร ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยมนี้แล ที่ภิกษุผู้ขีณาสพเห็นอยู่ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต ดูกรสารีบุตร การนอบน้อมอย่างยิ่งที่ภิกษุผู้ขีณาสพประพฤติในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต เป็นไฉน คือต้องการความสมบูรณ์ของข้อความที่ท่านพระสารีบุตรกราบทูลต่อ ท่านพระสารีบุตรก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ขีณาสพในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ในสมาธิ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การนอบน้อมอย่างยิ่งนี้แล ที่ภิกษุขีณาสพประพฤติในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกละ ถูกละ สารีบุตร การนอบน้อมอย่างยิ่งนี้แล ที่ภิกษุผู้ขีณาสพประพฤติในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต

ขอให้พิจารณาพยัญชนะอีกครั้งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ภิกษุผู้ขีณาสพในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ในสมาธิ ท่านเป็นพระขีณาสพ เป็นผู้ที่มีกาย วาจา ใจ สงบ ไม่ได้เว้นในการศึกษาเลย ท่านต้องศึกษาพระวินัย เพราะเหตุว่าถ้าท่านไม่ได้ศึกษาพระวินัย ท่านก็อาจจะทำผิดพลาดได้ ในเรื่องระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติไว้ แต่เมื่อท่านเป็นผู้ที่ศึกษาเช่นนี้ ท่านก็ย่อมจะอุปการะทั้งแก่พระวินัยและแก่บุคคลอื่นภายหลังด้วย

สำหรับในวันนี้ก็ใคร่ที่จะกล่าวถึง อนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้สร้างพระวิหารเชตวันถวายพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ ทุกท่านก็คงจะได้ยินชื่อท่านบ่อยๆ แต่เวลาที่ได้ยินชื่อของท่านนั้น ก็ มักจะนึกถึงท่านในฐานะที่ท่านเป็นอุบาสกสาวกผู้เลิศในการถวายทาน แต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น ท่านเป็นพระอริยสาวกด้วย คือท่านบรรลุธรรมในขณะที่ได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาค และเวลาที่เราระลึกถึงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น เราคิดถึงในฐานะที่เป็นอุบาสกธรรมดาท่านหนึ่ง แต่ถ้าท่านได้ทราบว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น เป็นพระอริยบุคคล เป็นอริยสงฆ์ เป็นสังฆรัตนะบุคคลหนึ่ง ซึ่งท่านเองก็ได้กล่าวขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ในการขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะนั้น ก็ย่อมแสดงอยู่แล้วว่า ท่านขอถึงข้อประพฤติปฏิบัติ ขอถึงธรรม ขอถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อให้ท่านได้ประพฤติปฏิบัติจนกระทั่งถึงความเป็นสังฆรัตนะด้วยบุคคลหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เวลาระลึกถึงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ขอให้ระลึกถึงคุณ ธรรมของความเป็นพระอริยสาวกของท่านด้วย เพราะเหตุว่าท่านไม่ได้เป็นแต่เพียงอุบาสกผู้เลิศในการถวายทานเท่านั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นน้องเขยของราชคหเศรษฐี ราชคหเศรษฐีก็เป็นเศรษฐีที่เมืองราชคฤห์ ท่านราชคหเศรษฐีก็เป็นผู้ที่ให้สร้างวิหารถวายสงฆ์ ๖๐ หลังในวันเดียวที่เวฬุวัน ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายแก่พระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ เพราะได้เห็นปฏิปทาอาจาระที่น่าเลื่อมใสของพระภิกษุเหล่านั้น แล้วก็เห็นว่าการที่ท่านต้องอยู่ป่าบ้าง โคนไม้บ้าง ภูเขาบ้าง ซอกเขาบ้าง ถ้ำเขาบ้างนั้น ก็ไม่เป็นที่สะดวกสบายแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้กล่าวอนุโมทนาว่า การถวายวิหารแก่สงฆ์ เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณา เพื่อเห็นแจ้ง เป็นทานอันเลิศ

ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกได้ไปที่เมืองราชคฤห์ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ราชคหเศรษฐีได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุขเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น ท่านราชคหเศรษฐีก็ได้สั่งให้ทาสกรรมกรทั้งหลาย ให้ลุกขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ ต้มข้าว หุงข้าว ต้มแกง ช่วยกันจัดหาอาหารที่มีรสอร่อย ทำให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแปลกใจและคิดว่า เมื่อท่านมาที่เมืองราชคฤห์ในคราวก่อนๆ นั้น ราชคหเศรษฐี ผู้นี้เมื่อจัดทำธุระทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จแล้ว ก็สนทนาปราศัยกับท่านแต่เพียงผู้เดียว แต่ว่าวันนี้ราชคหเศรษฐีสั่งทาสกรรมกรทั้งหลายให้ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ต้มข้าว หุงข้าว ต้มแกง ช่วยกันจัดอาหารที่มีรสอร่อย

ฉะนั้น อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็คิดว่า ท่านราชคหเศรษฐีคงจะมีงานอาวาห มงคล วิวาหมงคล หรือมหายัญ หรือว่าจะทูลเชิญเสด็จพระเจ้าพิมพิสารพร้อมทั้งกองพลมาเลี้ยงในวันรุ่งขึ้น เมื่อท่านราชคหเศรษฐีสั่งข้าทาสกรรมกรเหล่านั้นเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ไป หาท่านอนาถบิณฑิกแล้วก็ได้สนทนากัน ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกก็ได้ปรารภถึงความสงสัยของท่าน ว่าคงจะมีงานวิวาหมงคล อาวาหมงคล หรือว่าบูชายัญ ท่านราชคหเศรษฐีก็ตอบว่า ท่านไม่ได้มีงานต่างๆ เหล่านั้นเลย แต่ว่าท่าน นิมนต์สงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข เพื่อเลี้ยงในวันรุ่งขึ้น อนาถบิณฑิกเศรษฐีพอได้ยินก็กล่าว่า ท่านคหบดี ท่านกล่าวว่า "พระพุทธเจ้าหรือ"ราชคหเศรษฐีก็ตอบว่า "ท่านคหบดี ฉันกล่าวว่า พระพุทธเจ้า ดังนี้" ท่านอนาถบิณฑิกก็ถามซ้ำถึง ๓ ครั้ง ซึ่งท่านราชคหเศรษฐีก็รับอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง

อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็กล่าวว่า "ท่านคหบดี แม้เสียงพุทธะนี้ ก็ยากที่จะหาได้ในโลก" แล้วก็ถามท่านราชคหเศรษฐีต่อไปว่า "ท่านสามารถที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคในเวลานี้ได้ไหม" คือเมื่อได้ทราบว่ามีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก ท่านก็ใคร่ที่จะได้เฝ้า ซึ่งท่านราชคหเศรษฐีก็กล่าวตอบว่า "เวลานั้นยังไม่ใช่เวลาที่สมควร พรุ่งนี้จึงจะได้เข้าเฝ้า" หลังจากนั้นท่านอนาถบิณฑิกก็ได้แต่นอนนึกถึงพระผู้มีพระภาคเป็นอารมณ์คือคิดว่า "พรุ่งนี้จะได้เฝ้า พรุ่งนี้จะได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค" ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านลุกขึ้นแล้วในกลางดึกถึง ๓ ครั้งเพราะเข้าใจว่าสว่างแล้ว ท่านเดินไปทางประตูป่าสีตวัน พวกอมนุษย์ก็เปิดประตูให้ เมื่อออกจากเมืองไปแล้วแสงสว่างได้หายไป ความมืดปรากฏ ความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้าเกิดขึ้น ท่านก็คิดจะกลับ

ครั้งนั้น สีวกยักษ์ไม่ปรากฏร่าง ได้ยินแต่เสียงกล่าวคาถาว่า ช้างแสนหนึ่งม้าแสนหนึ่ง รถเทียมด้วยม้าอัสดรแสนหนึ่ง หญิงสาวประดับด้วยแก้วมณี ต่าง หูเพชรแสนหนึ่ง ก็ยังไม่เท่าเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งการย่างเท้าไปก้าวหนึ่ง จงก้าวไปข้างหน้าเถิดท่านคหบดี จงก้าวไปข้างหน้าเถิดท่านคหบดี การก้าวไปข้างหน้าของท่านประเสริฐ การถอยหลังไม่ประเสริฐเลย เพราะว่าแต่ละก้าวที่ก้าวไป เพื่อจะได้ฟังธรรม เพื่อจะได้พบพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นโอกาสที่หาได้ยากที่สุดในโลกทีเดียว ฉะนั้น เมื่อผู้ใดทราบถึงเจตนาของผู้ที่มีความตั้งใจที่จะได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วเกิดความวิตกหรือว่าเกิดความกลัวขึ้น ก็ได้กล่าวคาถาเตือนถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ครั้งนั้น ความมืดหายไป แสงสว่างปรากฏแก่ท่านอนาถบิณฑิก ความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้าที่เกิดขึ้นนั้น ก็ระงับไป เป็นอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงได้เดินเข้าไปถึงสีตวัน

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจงกรมในที่แจ้งในเวลาใกล้รุ่ง เห็นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระองค์ก็เสด็จลงจากที่จงกรม ประทับบนอาสนะที่ปูลาดไว้

เปิด  314
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565