แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 27

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจงกรมในที่แจ้งในเวลาใกล้รุ่ง เห็นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระองค์ก็เสด็จลงจากที่จงกรม ประทับบนอาสนะที่ปูลาดไว้ครั้นแล้วได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า "มาเถิด สุทัตตะ" อนาถบิณฑิกเศรษฐีเบิกบานใจที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกชื่อ จึงเข้าไปซบศรีษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระองค์ประทับสำราญหรือ พระพุทธเจ้าข้า" เวลาที่ผู้หนึ่งผู้ใดได้พบพระผู้มีพระภาค และถ้าท่านศึกษาพระสูตร ท่าน จะเห็นว่า คำปราศรัยของแต่ละท่านนั้นต่างกัน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบโดยคาถาว่า "พราหมณ์ ผู้ดับทุกข์ได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุขแท้ ทุกเวลา ผู้ใดไม่ติดในกาม มีใจเย็น ไม่มีอุปธิ ตัดความเกี่ยวข้องทุกอย่างได้แล้ว บรรเทาความกระวนกระวายในใจ ถึงความสงบแห่งจิต เป็นผู้สงบระงับแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข"

ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัส อนุปุพพิกถา ได้แก่กถาเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของสวรรค์ เรื่องโทษของกาม เรื่องการออกจากกาม แล้วก็เรื่องอริยสัจจ์ ๔ อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรม ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้พูดคำนี้แต่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมะโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจะเห็นรูปดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้า ว่าเป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จงทรงรับ ภัตตาหาร เพื่อเจริญบุญกุศลปิติและปราโมทย์ ในวันพรุ่งนี้ของข้าพระพุทธเจ้า

พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ซึ่งเมื่อผู้อื่นได้ฟังว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ไปรับภัตตาหารที่บ้าน ท่านราชคหเศรษฐีก็ปรารภที่จะให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีขอยืมเงิน เพราะเหตุว่าเมืองราชคฤห์ไม่ใช่เมืองของท่านอนาถบิณฑิก ท่านเป็นชาวเมืองสาวัตถี แต่ว่าท่านไปธุระที่เมืองราชคฤห์ ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกก็ตอบว่า เงินที่จะจัดภัตตาหารของท่านนั้นท่านมีพอแล้ว เมื่อชาวเมืองได้ทราบว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะนิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระภิกษุสงฆ์ไปรับภัตตาหารที่บ้าน ชาวเมืองก็ให้ขอยืมอีกเหมือนกัน เพราะคิดว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคงจะมีเงินไม่พอ ถึงแม้พระเจ้าพิมพิสารก็ปรารภจะให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีขอยืม ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้กราบทูลว่าท่านมีพอ และเมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ถวายภัตตาหารแก่พระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ได้กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคและภิกษุอยู่จำพรรษาอยู่ที่ เมืองสาวัตถี ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ดูกร คหบดี พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมยินดีในสูญญาคาร

ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกก็จะต้องจัดเตรียมสถานที่ หรือพระวิหารให้แก่ พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ท่านเห็นว่าอุทยานของเจ้าเชตราชกุมาร เป็นสถานที่ไม่ไกลนักไม่ใกล้นักจากหมู่บ้าน มีการคมนาคมสะดวก กลางวันก็มีคนน้อย กลางคืนก็เงียบ สมควรเป็นที่หลีกเร้น ท่านก็ได้ไปขอเฝ้าเจ้าเชตขอประทานเชตวัน ซึ่งเจ้าเชตราชกุมารก็รับสั่งว่า "ให้ไม่ได้ ต้องซื้อด้วยการเอาทรัพย์มาปูลาดให้เต็ม" ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีถามว่า ถ้าเช่นนั้นก็เป็นอันว่าเจ้าเชตตกลงขาย เจ้าเชตก็บอกว่ายังไม่ตกลงขาย ท่านอนาถบิณฑิกก็ขอให้มหาอำมาตย์ผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสินความ ซึ่งมหาอำมาตย์ก็ได้ตอบว่า เมื่อพระองค์ตีราคาแล้ว เป็นอันตกลงขาย ท่านอนาถบิณฑิกก็ให้คนเอาเงินมาเรียงลาด จนกระทั่งเหลือที่ซุ้มประตู ซึ่งเจ้าเชตก็ได้เห็นสัทธาของท่านอนาบิณฑิกเศรษฐี ว่ามีสัทธามากในพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ก็ขอมีส่วนในการถวายสวนแก่พระผู้มีพระภาคด้วย ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เห็นว่าเจ้าเชตนั้นก็เป็นคนที่มีชื่อเสียง ฉะนั้นก็ให้ชื่ออารามนั้นว่า "เชตวนาราม" แต่ทุกคนก็เรียกว่า อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้สร้างวิหารหลายหลัง สร้างบริเวณ สร้างซุ้มประตู สร้างศาลาหอฉัน สร้างโรงไฟ สร้างกัปปิยกุฎี สร้างวัจจกุฎี สร้างที่จงกรม สร้างโรงจงกรม สร้างบ่อน้ำ สร้างศาลาบ่อน้ำ สร้างเรือนไฟ สร้างศาลาเรือนไฟ สร้างสระโบกขรณี สร้างมณฑป เพื่อความสะดวกสบายของพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งก็ปรากฏว่าพระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารเชตวัน คือทรงจำพรรษาอยู่ที่นั่นถึง ๑๙ พรรษา และที่บุพพารามที่เมืองสาวัตถีซึ่งเป็นอารามที่มหาอุบาสิกาวิสาขาสร้างถวาย ๖ พรรษา และระหว่างที่พระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ที่พระวิหารเชตวันและบุพพารามนั้น ทั้งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและวิสาขามหาอุบาสิกา ก็ไปสู่ที่อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาควันละ ๒ ครั้งเป็นประจำ คือก่อนฉันครั้งหนึ่ง และหลังจากฉันแล้วอีกครั้งหนึ่ง

และท่านทั้งสองนี้ก็เป็นผู้ที่มีสัทธามาก ในการที่จะอุปัฎฐากพระภิกษุสงฆ์ ฉะนั้น ก่อนฉันท่านก็นำอาหารภัตตาหารต่างๆ ไปถวาย เวลาที่หลังจากฉันแล้ว ก็มีน้ำอัฏฐบาลและพวกดอกไม้เครื่องสักการะ สำหรับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น ท่านไม่เคยทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคสักวันเดียว เพราะท่านคิดว่า พระตถาคตเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าผู้ละเอียดอ่อน เป็นกษัตริย์ผู้ละเอียดอ่อน เมื่อทรงแสดงธรรมแก่เราด้วยเข้าพระหฤทัยว่า คฤหบดีมีอุปการะแก่เรามากดังนี้จะทรงลำบาก แล้วไม่ทูลถามปัญหาด้วยความรักในพระศาสดาเป็นอย่างยิ่ง นี่คืออุปนิสัยของอุบาสกอุบาสิกาแต่ละคน คือบางท่านด้วยความเคารพยำเกรงเลื่อมใสสัทธาในพระผู้มีพระภาค ไม่ถามปัญหาพระผู้มีพระภาคเลยสักครั้งเดียว ถึงแม้ว่าจะไปสู่ที่อุปัฎฐากพระผู้มีพระภาคถึงวันละ ๒ ครั้งก็ตาม

แต่พระศาสดานั้น เมื่อท่านเศรษฐีนั่งแล้ว ทรงพระพุทธดำริว่าเศรษฐีผู้นี้ รักษาเราในที่ไม่ควรรักษา เหตุว่าพระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์นั้น ก็เพื่อแสดงธรรมแก่ผู้อื่นเท่านั้น ฉะนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีรักษาพระผู้มีพระภาคในที่ไม่ควรรักษา ครั้นทรงพระพุทธดำริดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนาให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟัง กัณฑ์ ๑ เสมอ นี่ก็เป็นในครั้งอดีต บุคคลในครั้งอดีตนั้นถ้าจะใด้เห็นพระวิหารเชตวันก็ จะได้เห็น ศาลาโรงไฟต่างๆ ที่จงกรม เห็นพระผู้มีพระภาค เห็นพระภิกษุสงฆ์ เห็นกิจวัตร เห็นข้อประพฤติปฏิบัติของท่านในครั้งโน้น แต่ว่าในสมัยนี้พระเชตวันก็ยังเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ แต่ว่าผู้ที่เข้าไปก็ดี ออกมาก็ดี ผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมามีจักษุวิญญาณ มีโสตวิญญาณที่จะเห็นพระเชตวันในครั้งนี้ ก็อาจจะไม่ได้เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของการเห็น รู้ลักษณะของการได้ยิน รู้ลักษณะของเย็น ร้อน อ่อนแข็งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เหมือนผู้ที่เข้าออก ณ พระเชตวันในครั้งกระโน้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี หรือว่าอุบาสก อุบาสิกา ท่านเหล่านั้นฟังธรรมและเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แล้วแต่ว่าท่านจะเจริญกันมากน้อยนานเท่าไร จึงจะบรรลุมรรคผล นี่ก็เป็นเรื่องที่ท่านก็ควรที่จะได้ทราบถึงอดีตของสถานที่ของบุคคล เพื่อเทียบเคียงกับข้อปฏิบัติ และสำหรับพระวิหารเชตวัน นั้น เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีท่านสร้างแล้ว ก็เป็นสถานที่ที่ทำให้ท่านเกิดความปิติเป็นอันมาก ถึงแม้ว่าท่านจะได้สิ้นชีวิตไปแล้ว และเกิดเป็นเทพบุตรในชั้นดุสิต ท่านก็ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ใน สังยุตตรนิกาย สคาถวรรค อนาถบิณฑิกสูตร ที่ ๑๐ มีข้อความว่า อนาถบิณฑิกเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวคาถา เหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ก็พระเชตวันนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณพำนักอยู่ พระธรรมราชาก็ประทับอยู่แล้ว เป็นที่ให้เกิดปิติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยส่วน ๕ นี้ คือ กรรม วิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละบุรุษผู้เป็นบัณทิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายอย่างนี้ จึงจะบริสุทธิ์ในธรรมนั้น พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา ศีลและธรรมเครื่องสงบระงับ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นอย่างเยี่ยม เมื่ออนาถบิณฑิกเทวบุตรได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง

นี่คือพระอริยบุคคล ซึ่งเป็นอุบาสกผู้เลิศในการถวายทาน แล้วก็เป็นสังฆรัตนะ คือได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล เมื่อท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว ท่านก็ได้ไปเกิดในชั้นดุสิตและได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่าดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้เทวบุตรองค์ ๑ เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณะงามยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็อภิวาท แล้วได้กล่าวคาถามีข้อความ (อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว) เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวบุตรนั้นเห็นจะเป็นอนาถบิณฑิกเทวบุตรแน่ อนาถบิณฑิกคฤหบดีได้เลื่อมใสยิ่งนักในท่านพระสารีบุตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์ ถูกละ ถูกละ ดูกร อานนท์ ข้อที่จะพึงถึงด้วยการนึกคิด มีประมาณเพียงเท่าใดนั้น เธอถึงแล้ว ดูกร อานนท์ก็ เทวบุตรนั้นคืออนาถบิณฑิกเทวบุตร

อันนี้ก็เป็นเครื่องที่จะให้ท่านได้ระลึกถึงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า ณ บัดนี้ท่านอยู่ที่ไหน แต่แม้กระนั้นท่านก็ได้ความปิติจากพระวิหารเชตวันที่ท่านได้สร้างถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ และสำหรับข้อความที่ว่า "สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยส่วน ๕ นี้" คือ กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑ อันนี้ก็ไม่พ้นไป จากเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าไม่พ้นจากเรื่องการ เจริญมรรค ๘ สำหรับบริสุทธิ์ด้วยส่วน ๕ ส่วนที่ ๑ คือ "กรรม" นั้นก็ได้แก่การกระทำที่ถูกต้องด้วยการออกบวชเป็นบรรพชิต มีความตั้งใจที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ นี่เป็นการงานที่ถูกต้องทีเดียว นี่เป็นเจตนาหรือความตั้งใจที่ชอบในการที่จะคิดสละกาม หรือในการที่จะออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม ให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

สำหรับ "วิชชา ๑" นั้น ก็ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ

สำหรับ "ธรรม ๑" นั้น ก็ได้แก่ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

สำหรับ "ศีล ๑" นั้น ก็ได้แก่ สัมมาวาจา และ สัมมากัมมันตะ

สำหรับ "ชีวิตอันอุดม" ก็ได้แก่ สัมมาอาชีวะ

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า พยัญชนะเรื่องของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น บางครั้งบางแห่งก็แสดงไว้ด้วยพยัญชนะอีกพยัญชนะหนึ่ง แทนที่จะแสดงเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ก็แสดงเป็นเรื่องของวิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม สำหรับเรื่องของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในตอนท้ายแม้ว่าท่านจะเป็นเทพ บุตร ท่านก็ได้กล่าวสรรเสริญท่านพระสารีบุตรด้วยข้อความที่เป็นคาถาว่า ท่านพระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา ศีล และธรรมเครื่องสงบระงับ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นอย่างเยี่ยม เวลาที่ท่านผ่านพยัญชนะนี้ท่านรู้สึกยังไงคะ รู้สึกว่าท่านอนาถบิณฑิก เทพบุตรนี่ลำเอียงหรือเปล่าคะ ที่กล่าวสรรเสริญท่านพระสารีบุตร หรือว่าท่านมีความรู้สึกนอบน้อมเป็นพิเศษอย่างไรจึงได้กล่าวสรรเสริญท่านพระสารีบุตร หรือท่านก็อาจจะผ่านไปโดยไม่คิดเลยว่าเพราะเหตุใด แต่ว่าความจริงนั้นผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลนั้น จะมีความเลื่อมใสหรือจะมีความนอบน้อมในบุคคลใดนั้น ท่านมีความนอบน้อมที่ไม่เหมือนกับปุถุชน ปุถุชนเลื่อมใสนอบน้อมผิดได้ตามความคิดตามความคาดคะเน หรือว่าตามความเข้าใจในบุคคลนั้นๆ แต่ผู้เป็นพระอริยบุคคลเป็นผู้ที่ได้รู้แจ้งธรรม การเลื่อมใสหรือความนอบน้อมของท่านนั้น ไม่เป็นไปในทางที่ผิดเลย แต่เพราะเหตุไร ท่านอนาถปิณฑิกเทพบุตรจึงได้กล่าวสรรเสริญท่านพระสารีบุตรด้วยข้อความว่า "พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา ศีล และธรรมเครื่องสงบระงับ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นอย่างเยี่ยม"

ข้อความที่อนาถปิณฑิกเทพบุตรกล่าว เป็นข้อความที่จริงหรือไม่จริง ในพระสาวกทั้งหมดท่านพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เป็นพระสาวกผู้เป็นเอตทัคคะผู้เป็นเลิศด้วยปัญญา ไม่มีผู้ใดในบรรดาสาวกทั้งหมดที่มีปัญญายิ่งกว่าท่านพระสารีบุตร เพราะฉะนั้น ที่อนาถปิณฑิกเทพบุตรมีความเลื่อมใส กล่าวสรรเสริญท่านพระสารีบุตรด้วยคาถานี้จึงเป็นความจริง และอีกประการหนึ่งก่อนที่ท่านอนาถบิณฑิกจะสิ้นชีวิต ท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งทำให้ท่านเกิดปิติเกิดความซาบซึ้งในพระธรรมอย่างยิ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านอนาถปิณฑิกเทพบุตร จะมีความเลื่อมใสในท่านพระสารีบุตรเกินกว่าพระผู้มีพระภาค ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่าพระอริยสาวกทั้งหลายย่อมมีความเคารพนอบน้อมอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาคและในศาสนาของพระผู้มีพระภาค คือในพระรัตนตรัย ฉะนั้น ที่ท่านอนาถปิณฑิกเทพบุตรมีความเลื่อมใสในท่านพระสารีบุตรนั้นก็โดยตำแหน่งของสาวก ซึ่งเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางปัญญา และท่านเองก็ได้รับฟังคำเทศนาของท่านพระสารีบุตรเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง ได้เห็นความเป็นผู้เลิศด้วยปัญญาของท่านพระสารีบุตร เพราะฉะนั้น ท่านก็ได้กล่าวคาถาที่แสดงความเลื่อมใสต่อท่านพระสารีบุตร แล้วเวลาที่ท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้นท่านพระอานนท์ก็ได้ไปด้วย ได้ไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกด้วย ฉะนั้น ก็ได้เห็นความเลื่อมใสที่ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีมีต่อท่านพระสารีบุตร เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสให้พระภิกษุสงฆ์ทราบ เรื่องของเทพบุตรที่กล่าวสรรเสริญพระเชตวันวิหาร ท่านพระอานนท์ทราบได้ทันทีว่าเทพบุตรนั้นก็คงจะเป็นอนาถปิณฑิกเทพบุตรนั่นเอง เพราะว่าเรื่องของความเลื่อมใสในธรรมนั้น

ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พหุการสูตร มีข้อความว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้เป็นผู้มีอุปการะมาก แก่บุคคล ๓ จำพวก เป็นไฉน คือบุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลผู้อาศัย อีก ประการหนึ่ง บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ย่อมรู้ชัดตามความจริงว่านี้ ทุกข์ นี้ ทุกขสมุทัย นี้ ทุกขนิโรธ นี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลผู้อาศัย อีกประการหนึ่ง บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้วทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลผู้อาศัย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า บุคคลอื่นจากบุคคล ๓ จำพวกนี้ จะเป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลนี้ หามิได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้ทำการตอบแทน คือด้วยการกราบไหว้ การลุกรับ การประนมมือไหว้ สามีจิกรรม การให้ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคแก่บุคคล ๓ จำพวกนี้ มิใช่ง่ายแล นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า สมัยนี้ก็มีการฟังธรรม สมัยโน้นก็มีการฟังธรรม ผู้ใดสามารถที่จะทำให้บุคคลใดถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ บุคคลนั้นก็เป็นบุคคลผู้มีอุปการะมาก

เปิด  319
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565