แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 29

และสำหรับคำว่าภัย เพราะข้อความนั้นมีว่า บุคคลนั้นเมื่อเห็นภัยนั้นในความสนิทสนม พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้นคำว่า ภัย ได้แก่ ชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย ภัย คือ การติเตียนตน ภัย คือ การติเตียนของผู้อื่น ภัย คือ อาชญา ภัย คือ ทุคคติ เป็นต้น เวลานี้ที่เราต้องเกิดกันอยู่เรื่อย ก็เพราะเหตุว่า ยังมีกิเลสยังมีอกุศลอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความผูกพัน แม้ในการให้ แม้ในการรับก็เป็นกิเลสเป็นอกุศล ซึ่งย่อมไม่พ้นจากภัย คือการเกิด เมื่อเกิดก็ไม่พ้นจากภัยคือความแก่ ไม่พ้นจากภัยคือโรคภัยไข้เจ็บพยาธิต่างๆ ไม่พ้นจากภัยคือความตาย และบางท่านยังมีชีวิตวนเวียนในวัฏฏะ ก็ไม่มีใครทราบแน่ว่ามีราชภัย โจรภัย อัคคีภัยเกิดกับแต่ละบุคคลเมื่อไร และภัยที่ละเอียดกว่านั้นก็คือการติเตียนตน อกุศลมีมากทีเดียวและเวลาที่ได้กระทำไม่ว่าจะเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา แม้แต่อกุศลที่เกิดกับใจ ผู้ที่มีสติรู้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นสภาพธรรมที่น่ารังเกียจ เกิดหิริความรังเกียจในอกุศลนั้น มีโอตตัปปะความเห็นภัยแม้ในอกุศลที่เล็กน้อยเช่นนั้น ก็ย่อมติเตียนตนที่ได้มีกาย วาจา หรือมีจิตที่เป็นอกุศลเช่นนั้น นอกจากนั้นก็ยังมีการติเตียนของผู้อื่น หรือว่าย่อมได้รับภัยคืออาชญา และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือภัย คือ ทุคติได้แก่อบายภูมิ คงไม่มีใครที่ต้องการจะไปทุคติอบายภูมิเป็นแน่ แต่ถึงจะอยากไปไม่อยากไปอย่างไรก็ตาม ถ้ามีทุจริตกรรมแล้วละก็ ย่อมเป็นเหตุที่จะให้ปฏิสนธิในทุคติ แต่ถ้าเป็นผลของกุศลก็จะไม่ทำให้ปฏิสนธิในทุคติอบายภูมิเลย นี่ก็เป็นเรื่องภัยของกิเลสอกุศล ซึ่งถ้าผู้ใดพิจารณาตนเองมากก็ยิ่งมีโอกาส ที่จะขัดเกลากิเลสละเอียดมากขึ้น

สำหรับในเรื่องของ ความสนิทสนมก็มี ๒ อย่าง คือ ความสนิทสนมด้วย อำนาจตัณหา ๑ ความสนิทสนมด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑ เมื่อเห็นภัยในความสนิทสนม พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น ทุกท่านก็ย่อมจะมีผู้ที่มีความคุ้นเคยสนิทสนม ซึ่งท่านก็พอจะแยกได้ว่าผู้ที่ท่านคุ้นเคยสนิทสนมนั้น ท่านคุ้นเคยสนิทสนมด้วยอำนาจของตัณหาหรือด้วยอำนาจของทิฏฐิ อย่างญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่มีความสนิทสนม อันนี้ก็เห็นได้ชัดว่าด้วยอำนาจตัณหา เพราะเหตุถึงแม้ว่าจะเป็นพระอริยบุคคลไม่มีความเห็นผิดก็ตาม แต่ก็ยังมีโลภะ ยังมีความสนิทสนม อันนี้ท่านผู้ฟังก็คงจะพิจารณาได้เรื่องของจิตใจของท่านเอง แล้วท่านก็จะได้เห็นจริงๆ ว่าความสนิทสนมนั้น บางฐานะบางบุคคลก็เป็นความสนินสนม ด้วยอำนาจของตัณหา แต่ท่านไม่ได้มีแต่ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ท่านยังมีความสนใจในธรรมด้วย แล้วท่านก็จะสังเกตได้จริงๆ ว่าความสนใจในธรรมนั้น ย่อมแล้วแต่ทิฏฐิคือความเห็น ผู้ใดที่พอใจในความเห็นอย่างไร ก็สนิทสนมกับบุคคลที่มีความเห็นอย่างนั้น ไม่สนิทสนมกับบุคคลอื่นซึ่งมีความเห็นคนละอย่าง หรือว่ามีความเห็นตรงกันข้าม ฉะนั้น ความสนิทสนมด้วยอำนาจของทิฏฐิ ถ้าเป็นการทำให้ประโยชน์ตนเสื่อมทั้งชาตินี้ชาติหน้า ก็หมายความถึงความสนิทสนมด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด เพราะว่าถ้าเป็นด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิไม่เป็นโทษไม่เป็นภัย พระภิกษุในสำนักพระผู้มีพระภาค ท่านพระสารีบุตร ท่านพระโมคคัลลานะ ท่านพระอานนท์ ท่านพระมหากัสสป ท่านก็มีความสนิทสนมกลมเกลียวกัน ไม่เป็นโทษไม่เป็นภัย ไม่ใช่ด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิ เพราะเหตุว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นถูกเสมอกัน

สำหรับบุคคลในครั้งนี้ ก็ย่อมจะมองเห็นได้ว่า ท่านมีความสนิทสนมในเรื่องของความเห็นกับบุคคลใด ลองพิจารณาความเห็นของท่านกับบุคคลนั้นว่าคล้ายคลึงกันหรือไม่ สอดคล้องกันหรือไม่ เห็นด้วยหรือไม่จึงได้สนิทสนมกันทำไมท่านไม่สนิทสนมกับบุคคลอื่น อาจจะเป็นเพราะว่าความคิดเห็นไม่ตรงกันฉะนั้น เรื่องของภัยของความเห็นผิดก็เป็นสิ่งซึ่งมีอันตรายมากทีเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเชื่อผิด มีความเห็นผิด ความดำริก็ผิด วาจาก็ต้องผิดตามไปด้วย เพราะฉะนั้นก็ จะเห็นได้ว่าคำพูดใดๆ ก็ตาม ส่องไปถึงความเห็นและความดำริของผู้นั้น ฉะนั้น ในมรรค์มีองค์ ๘ จึงมีทั้งสัมมามรรค์ ๘ และมิจฉามรรค์ก็ ๘ เหมือนกัน สัมมามรรค์ก็เป็นความเห็นถูก เวลาที่มีความเห็นถูกเกิดขึ้น ความดำริก็ถูก คำพูดวาจาก็ถูก ความเพียรก็ถูก การเจริญสติก็ถูก แต่ถ้าเป็นความเห็นผิด ความดำริก็ผิด คำพูดคำแนะนำก็ผิด ซึ่งท่านก็แสดงไว้ว่า อุปมาเหมือนกับการปลูกสะเดาและเถาบอระเพ็ดล้อมรอบต้นมะม่วง รากและกิ่งของมะม่วงเกี่ยวพันกับรากและกิ่งของสะเดาและเถาบอระเพ็ด รสมะม่วงก็เลยกลายเป็นรสขมคล้ายใบสะเดา

เพราะฉะนั้น การอยู่กับคนพาลเห็นผิด ก็เหมือนกับอยู่ร่วมกับศัตรูหรือสัตว์ร้าย ส่วนการคบกับบัณฑิตนั้น ก็เหมือนสมาคมกับหมู่ญาติ ซึ่งมีแต่จะนำความสุขมาให้ แต่คบกับคนพาลนั้นท่านอุปมาว่า เหมือนกับการอยู่ร่วมกับศัตรูหรือสัตว์ร้าย เพราะเหตุว่าถ้ามีความเห็นผิด ก็ย่อมจะทำให้เสื่อมจากประโยชน์ทั้งชาตินี้ ชาติหน้า บุคคลที่ทำความเสื่อมให้ ผู้นั้นจะเป็นมิตรหรือว่าเป็นศัตรู เรื่องโทษของคนพาล ใน ขุททกนิกาย ปราภวสูตร ที่ ๖ มีข้อความว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ครั้งนั้นเมื่อปฐมยามสิ้นไปแล้ว เทวดาท่านหนึ่ง มีรัศมีอันงดงามยิ่ง ทำพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

ข้าพระองค์มาเพื่อจะทูลถามถึงคนผู้เสื่อมและคนผู้เจริญ กับท่านพระโคดม จึงขอทูลถามว่า "อะไรเป็นทางของคนเสื่อม" พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่ว เป็นผู้เสื่อม ผู้ใคร่ธรรมเป็นเจริญ ผู้เกลียดธรรมเป็นผู้เสื่อม เพราะเหตุนั้นแล จงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ ๑" เทวดาก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ขอพระองค์จงตรัสบอกคนเสื่อมที่ ๒ "อะไรเป็นทางของคนเสื่อม" พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "คนมีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่กระทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล จงทราบข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้น เป็นที่ ๒" เทวดากราบทูลถามถึงทางของคนเสื่อม ทางของคนเจริญอีกหลายประการ แต่จะเห็นได้ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่ว เป็นผู้เสื่อม" ไม่ใช่ผู้ไม่รู้ แต่รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม "ผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดธรรมเป็นผู้เสื่อม"

ท่านที่ใคร่ธรรม คือท่านที่ไม่ละเลยการที่จะฟังธรรม พิจารณาธรรมใคร่ครวญศึกษาค้นคว้าเทียบเคียงด้วย อย่าเพียงแต่ฟังแล้วเชื่อ แต่ว่าไม่ว่าท่านผู้ใด จะกล่าวธรรมใดก็ตาม เมื่อฟังแล้วควรพิจารณา แล้วก็สอบทานกับพระวินัยด้วย อย่าให้ต่างคนต่างคิดว่าพระธรรมวินัยนั้นมีมากเหลือเกิน เรียนไม่ไหว ไม่มีเวลาพอที่จะศึกษาค้นคว้า แต่ขอให้เราทุกคนคิดว่า แต่ละคนควรจะช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อจะให้เข้าใจธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าผู้หนึ่งผู้ใดที่จะกล่าวว่าข้อความนั้นผิด ก็ควรที่จะอ้างด้วยว่าผิดจากข้อใด ตอนใด ในพระวินัย ในพระสูตร หรือในพระอภิธรรม ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวเฉยๆ ว่าผิด หรือกล่าวเฉยๆ ว่าถูก แต่ควรจะมีข้อเทียบเคียงพิสูจน์พิจารณาอ้างอิง พร้อมทั้งเหตุผลด้วยว่าผิดกับข้อความใดถูก หรือตรงกับข้อความใดด้วย นอกจากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า คนมีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่กระทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก ชอบใจธรรมของ อสัตบุรุษ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม พระผู้มีพระภาคไม่ใช่อสัตบุรุษ เพราะฉะนั้น ธรรมใดๆ ที่ได้ฟังเทียบเคียงกับพระไตรปิฏก ถ้ามีเหตุผลตรงตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง นั่นก็เป็นธรรมของสัตบุรุษ

ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ฆตวาอวชานาติสูตร มีข้อความว่า บุคคล ๕ จำพวกมีปรากฏในโลก คือ

บุคคลย่อมให้แล้วดูหมิ่น ๑

บุคคลย่อมดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกัน ๑

บุคคลเป็นผู้เชื่อง่าย ๑

บุคคลเป็นผู้โลเล ๑

บุคคลเป็นผู้เขลา หลง งมงาย ๑

มีประโยชน์ไหมคะพระสูตรนี้ มีประโยชน์สำหรับใคร ไม่ใช่ไปแก้ไขคนอื่น แต่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่ฟัง อ่าน ศึกษาพิจารณาตนเองว่า จะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดในบุคคลที่ปรากฏในโลก ๕ จำพวก ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในที่นี้บ้างหรือไม่

บุคคลที่ ๑ บุคคลย่อมให้แล้วดูหมิ่น คือเมื่อให้อะไรใครก็คิดว่า เราเป็นผู้ให้ คนอื่นเป็นผู้รับ ตั้งตนไว้สูงในฐานะที่เป็นผู้ให้ ตั้งผู้อื่นไว้ต่ำในฐานะที่เป็นผู้รับ ขณะใดที่เกิดความรู้สึกอย่างนี้ ขอให้ทราบว่าเป็นอกุศลจิต การให้เป็นการดี แต่ก็ควรจะดีบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยการที่ให้แล้วอย่าดูหมิ่น เพราะว่าในชีวิตของแต่ละคนก็ย่อมจะต้องมีการให้บ้าง การรับบ้างอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าไม่มีพระธรรมที่แสดงไว้ บางครั้งจิตใจอาจจะหลงไปเผลอไป ฉะนั้น ก็ทำให้ไม่ได้สังเกตจิตใจของตนว่าในขณะนั้น ได้มีความรู้สึกดูหมิ่นผู้รับบ้างหรือเปล่า แต่ถ้าได้พิจารณาสูตรนี้แล้วก็จะได้เห็นว่า บุคคล ๕ จำพวกนี้ ไม่ควรที่จะเป็นตัวท่าน ควรที่จะได้ขัดเกลามากๆ ก็จะได้ระลึกได้ทุกครั้งที่ให้สิ่งใดก็อย่าเป็นผู้ให้แล้วดูหมิ่น

บุคคลจำพวกที่ ๒ ย่อมดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกัน เวลาที่คุ้นเคยกันมากขึ้น ก็อาจจะดูหมิ่นกัน อันนี้ก็เป็นสิ่งซึ่งอาจจะมีได้ คือธรรมไม่ใช่นอกโลก แต่ว่าทุกชีวิตจริงๆ ที่มีอยู่ในโลก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างละเอียดทีเดียว ไม่ใช่พระองค์ทรงรู้แจ้งแต่ธรรมขั้นสูงที่เป็นโลกุตตระ แต่ไม่ว่าจิตใจของใคร จะมีความรู้สึก มีกิเลสมากน้อยหนาแน่นเบาบางสักเท่าไร เป็นไปเพราะเหตุใด พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้ง และทรงแสดงธรรมไว้ เพื่อให้มีการขัดเกลากิเลสให้มาก แม้ว่าจะเป็นการดูหมิ่นเพราะว่าคุ้นเคยกัน เพราะสนิทสนมกัน เพราะอยู่ร่วมกัน นั่นก็เป็นธรรมที่เป็นอกุศลที่ไม่ควรจะให้เกิดขึ้น เพราะว่าธรรมที่เป็นกุศลนั้นคือการนอบน้อม การแสดงความเคารพ ไม่ใช่การดูหมิ่น

บุคคลจำพวกที่ ๓ คือ บุคคลเป็นผู้เชื่อง่าย ข้อนี้ก็คือ เวลาที่มีผู้ใดกล่าวคุณหรือโทษของผู้อื่น ผู้นั้นก็ย่อมน้อมใจเชื่อโดยเร็วพลัน อันนี้ก็แสดงลักษณะว่าเป็นบุคคลผู้เชื่อง่าย เพราะเหตุว่าคุณและโทษของผู้อื่น ไม่ใช่ว่าเพียงแต่ฟัง แล้วก็จะเป็นจริงตามคำพูดที่ได้ยินได้ฟัง แต่จะต้องอาศัยการพิจารณา พิจารณาจากกาย พิจารณาจากทางวาจา พิจารณาจากจิตใจ หรือว่าหลักธรรมต่างๆ อันนี้ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า เวลาที่ยังมีผู้หนึ่งผู้ใด กล่าวถึงคุณและโทษของผู้อื่นนั้น เราเป็นผู้ที่น้อมใจเชื่อโดยเร็วพลันหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องของธรรมก็จะเป็นเรื่องที่เห็นได้ว่าบางท่านนั้น เวลาที่ได้ฟังผู้ใดสรรเสริญคุณธรรม อาจเป็นอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็เชื่อทันที น้อมใจเชื่อโดยเร็วพลัน ไม่ได้คำนึงถึงว่าอิทธิปาฏิหารย์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นั้น เป็นผลซึ่งเนื่องมาจากเหตุอย่างไร ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล ผลนั้นก็จะเป็นความจริงไป ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ไตร่ตรอง ไม่ว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะกล่าวคุณหรือโทษของผู้อื่น ก็ต้องพิจารณาก่อน ไม่ใช่ผู้ที่น้อมใจเชื่อโดยเร็วพลัน

บุคคลจำพวกที่ ๔ บุคคลเป็นผู้โลเล ที่ว่าเป็นผู้โลเล คือเป็นผู้ที่มีสัทธาเล็กน้อย มีความภักดีเล็กน้อย มีความเลื่อมใสเล็กน้อย สัทธาหรือความเลื่อม ใสในพระพุทธศาสนา ไม่ได้หมายความถึงสัทธาหรือความเลื่อมใสในบุคคล เพราะว่าสัทธาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา เป็นสัทธาในธรรมในเหตุผล ไม่ใช่ในบุคคล พุทธบริษัทมีสัทธาในพระผู้มีพระภาค เพราะพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ เป็นสัทธาในคุณธรรมที่เลิศยิ่งกว่าบุคคลใด ผู้ที่มีสัทธาน้อยนั้น คือผู้ที่ไม่ได้มีสัทธาพร้อมด้วยปัญญา จึงกล่าวว่าเป็นผู้ที่มีสัทธาเล็กน้อย ถ้ามีสัทธาพร้อมด้วยปัญญา คือสัทธาพิจารณาในเหตุในผลในธรรม สัทธานั้นหนักแน่นเพิ่มขึ้นมากขึ้น เพราะว่าไม่ใช่สัทธาในบุคคล แต่เป็นสัทธาที่พร้อมด้วยเหตุพร้อมด้วยผล ที่ได้พิจารณาไตร่ตรอง สัทธานั้นจึงเป็นสัทธาที่มีกำลัง ไม่ใช่เป็นผู้ที่โลเล

อันนี้ก็จำเป็นที่แต่ละท่านก็จะต้องพิจารณาดู ว่าท่านเป็นผู้ที่โลเลไหม ถ้าท่านเป็นผู้มีสัทธาน้อยเป็นเพราะเหตุใด เพราะว่าท่านไม่ได้พิจารณาธรรม ไม่ได้ฟังมากไม่ได้ศึกษามาก เพราะฉะนั้น บางทีบางครั้งความเชื่อของท่านก็คลอนแคลนและเปลี่ยนแปลงไปได้ เหมือนอย่างบางท่านพุทธศาสนิกชนบางคน ก็ยังเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นได้ เพราะเหตุใด ถ้าได้ศึกษาธรรมโดยละเอียดประพฤติปฏิบัติตาม รู้แจ้งธรรม ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ โดยโลกุตตรสรณคมน์ หมายความว่าเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ผู้นั้นจะไม่มีการเปลี่ยนอีก แต่เพราะเหตุว่าเป็นผู้ขาดการศึกษา ขาดความเข้าใจ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ยังคงเปลี่ยนความคิดเห็นหรือความเชื่อได้

บุคคลจำพวกที่ ๕ คือ บุคคลเป็นผู้เขลา หลงงมงาย บุคคลซึ่งเป็นผู้เขลาหลงงมงายนั้น ย่อมไม่รู้กุศลธรรม และอกุศลธรรม ย่อมไม่รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ ย่อมไม่รู้ธรรมที่เลวและประณีต ย่อมไม่รู้ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว บางท่านก็ยังไม่ได้พิจารณาถึงความละเอียดของธรรมว่า ท่านรู้ลักษณะสภาพของธรรมฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศลถูกต้องหรือยัง หรือว่ารู้ว่าธรรมใดมีโทษ ธรรมใดไม่มีโทษ อย่างสติเป็นธรรมฝ่ายกุศลหรือว่าเป็นธรรมฝ่ายอกุศล เป็นธรรมที่มีโทษหรือว่าเป็นธรรมที่ไม่มีโทษ พอที่จะตัดสินใจได้แน่นอนหรือยัง ว่าควรเจริญหรือไม่ควรเจริญสติ หรือบางครั้งบางขณะควรจะเว้นไม่เจริญสติ ถ้าเป็นในลักษณะนั้นละก็สติไม่ใช่ธรรมที่เป็นกุศลถ้าจะต้องเว้น แต่ในพระไตรปิฏกไม่ได้เคยมีในที่ใดกล่าวไว้เลยถึงโทษของสติ และธรรมของพระผู้มีพระภาคจะเห็นได้ว่าขัดเกลาตลอดหมดทั้ง ๓ ปิฏกแล้วก็ขัดเกลากิเลสละเอียดอย่างยิ่งเพียงใดนั้น ก็จะขอกล่าวถึง

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วนสังยุต ปทุมปุพพสูตร มีข้อความว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล สมัยนั้น ภิกษุนั้นกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาฉันท่านก็ลงสู่สระโบกขรณี แล้วสูดดมดอกปทุม คือ ดมดอกบัว ครั้งนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้นมีความเอ็นดูใคร่ประโยชน์แก่ภิกษุนั้น หวังจะให้เธอสลด จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่

เปิด  353
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565