แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 35

ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ดูกร ผู้มีอายุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกาย ในภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมไปในกาย ในภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นและเสื่อมไปในกาย ในภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ข้อความต่อไปมีว่า ภิกษุนั้น ถ้าหวังอยู่ว่า ขอเราพึงเป็นผู้มีความสำคัญว่า ปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่เถิด ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญว่า ปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า ขอเราพึงเป็นผู้มีความสำคัญว่า ไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่เถิด ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญว่า ไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า ขอเราพึงเป็นผู้เว้นขาดสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลทั้งสองนั้น แล้วมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด ก็ย่อมเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ ในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ แล้วต่อจากนั้นท่านกล่าวถึง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในเวทนา ในภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมไปในเวทนา ในภายในอยู่พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในเวทนา ในภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในเวทนา ในภายนอกอยู่ฯลฯ ต่อไปเรื่อยๆ รวมทั้ง เป็นผู้มีความสำคัญว่า ปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูล และไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลด้วย

และต่อจากนั้น ก็เป็นข้อความที่ว่า ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในจิต ในภายในฯลฯ ต่อไปเรื่อยๆ ในภายนอก รวมทั้งสิ่งปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูล และสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าปฏิกูล แล้วต่อจากนั้นก็เป็นข้อความว่า ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในธรรมทั้งหลาย ในภายใน ต่อไปถึงในภายนอก พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในธรรมทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอกอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

และต่อจากนั้นก็เป็นข้อความเรื่อง สำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูล และสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นปฏิกูล ก็ย่อมเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ ดูกร ท่านผู้มีอายุ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงชื่อว่า ปรารภสติปัฏฐาน ๔ ให้เว้นอะไรหรือไม่ แล้วท่านจะเว้นเองได้ไหม ไม่พิจารณาสิ่งโน้นสิ่งนี้ พิจารณาแต่เฉพาะสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วจะละได้ไหม ในเมื่อผู้ที่ปรารภสติปัฏฐานนั้น พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เจริญความรู้ เพื่อละความไม่รู้ และไม่ได้มีข้อความเรื่องสถานที่เลย ผู้ที่ชื่อว่าปรารภสติปัฏฐาน คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ไม่ได้มีข้อความที่ท่านพระอนุรุทธะกล่าวเรื่องของสถานที่

แต่ผู้ใดก็ตามเป็นผู้ปรารภสติปัฏฐาน เมื่อพิจารณากายในกาย พิจารณาเวทนาในเวทนา พิจารณาจิตในจิต พิจารณาธรรมในธรรมขณะไหนก็ได้ ถ้าท่านเป็นบรรพชิตอยู่ ณ สถานที่ใด มีเห็น มีได้ยิน มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ มีธัมมารมณ์ ท่านก็พิจารณาในขณะนั้น ถ้าท่านเป็นฆราวาส ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ใช่หลอกตัวเอง ไม่ใช่ไปสร้างอะไรขึ้นมารู้ แต่เวลาที่ท่านมีชีวิตปกติธรรมดาแล้วไม่มีปัญญา ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่เป็นตัวท่านจริงๆ ก็ไม่มีทางที่จะละได้ เพราะเหตุว่าท่านยังผูกพันในบ้านเรือน ในวงศาคณาญาติ ท่านไม่ใช่บรรพชิตผู้ละโภคสมบัติน้อยบ้างมากบ้าง ละวงศ์ญาติเล็กบ้างใหญ่บ้าง ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แต่ท่านไม่ใช่อย่างนั้น

ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่จะทำให้ได้ฟังพระดำริของพระโพธิสัตว์ ในชาติที่เป็นพระมหาชนก จะเห็นความคิดของพระโพธิสัตว์ที่มีความหน่ายในชีวิตของฆราวาส

ขุททกนิกาย ชาดก มหาชนกชาดก (มหานิบาตชาดก) มีข้อความว่า

เมื่อไรเราจึงจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ ซึ่งนายช่างผู้ฉลาดจัดการสร้างแบ่งไว้เป็นส่วนๆ ออกบวชได้ ทั้งที่เป็นพระนครอันบริบูรณ์ จัดสร้างไว้เป็นส่วนๆ มีความเพียบพร้อม สมบูรณ์ มีปราสาทราชมณเฑียรต่างๆ แต่พระโพธิสัตว์ก็ยังมีพระดำริว่า

เมื่อไรเราจึงจักละพระนครมิถิลาอันบริบูรณ์ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละวิเทหรัฐอันบริบูรณ์ มีการสะสมธัญญาหาร เป็นต้น ไว้พร้อมมูล อันพระเจ้าวิเทหราชทรงปกครองโดยธรรมออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละพระราชมณเฑียรอันรื่นรมย์ มีกลิ่นหอมจรุงใจ ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละบัลลังก์ทอง อันลาดด้วยผ้าโกเชาว์อย่างวิจิตร ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าโขมพัสตร์ ผ้าโกทุมพรพัสตร์ ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละสระโบกขรณี อันน่ารื่นรมย์ มีนกจากพรากมาส่งเสียงพร่ำเพรียกอยู่ ดารดาษด้วยดอกมณฑา ดอกปทุม และดอกอุบล ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละรถทอง มีเครื่องครบครัน ติดธงประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันนายสารถีสวมเกราะ ถือธนู ขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละพวกราชบุตร ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวมเกราะอันวิจิตร กล้าหาญ ถือกฤชทอง ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละหมู่พราหมณ์ผู้ครองผ้า ประดับประดาลูบไล้ตัว ด้วยจุรณจันทน์เหลือง ทรงผ้าเนื้อดี อันมาแต่แคว้นกาสี ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละหมู่อำมาตย์ ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวมเกราะเหลือง กล้าหาญ เดินไปข้างหน้า เป็นระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละนางสนมกำนัล ประมาณ ๗๐๐ คน ผู้ละมุนละไม สะโอด สะอง ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละนางสนมกำนัล ประมาณ ๗๐๐ คน ผู้ว่านอนสอนง่าย เจรจาไพเราะน่ารัก ออกบวชได้

เมื่อไรเราจึงจักละถาดทองคำหนัก ๑๐๐ ปัลละ จำหลักลวดลายตั้ง ๑๐๐ ออกบวชได้

เมื่อไรผู้ซึ่งเคยติดตามเรา จึงจะไม่ติดตามเรา

เมื่อไรเราจึงจักได้ปลงผม ห่มผ้าสังฆาฏิ อุ้มบาตร เที่ยวบิณฑบาตไป

เมื่อไรเราจึงจักทรงผ้าสังฆาฏิ อันทำด้วยผ้าบังสุกุลซึ่งเขาทิ้งไว้ที่หนทางใหญ่

เมื่อไรเมื่อฝนตกตลอด ๗ วัน เราจึงจักมีจีวรเปียกชุ่ม เที่ยวบิณฑบาต

เมื่อไรเราจึงจักได้จาริกไปตามต้นไม้ ตามราวป่า ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน เที่ยวไปโดยไม่ต้องห่วงหลัง

เมื่อไรเราจึงจักละความกลัวและความขลาดได้เด็ดขาด เที่ยวไปผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง ตามซอกเขาและลำธาร

เมื่อไรเราจึงจักได้ทำจิตให้ตรง ดังคนดีดพิณ ดีดสายพิณทั้ง ๗ สาย ให้เป็นเสียงรื่นรมย์ใจ ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

เมื่อไรเราจึงจักตัดเสียได้ซึ่งกามสังโยชน์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เหมือนช่างหนังตัดรองเท้าโดยรอบ ฉะนั้นเคยคิดอย่างนี้ไหม ไม่ใช่ว่าปกติก็ผูกพัน ชอบไว้เต็มเลย แต่แล้วก็จะไปละชั่วคราวด้วยความต้องการ แต่ใจจริงๆ นั้นไม่เคยหน่ายเลย ผูกไว้แน่นทีเดียว แต่จะไปทำ ได้แล้วจะกลับมา นี่ไม่ตรง ไม่ถูกตามเหตุผลเลย

ต่อไปเป็นคำถามของท่านผู้ฟังที่เขียนจดหมายมา มีข้อความว่า

ถ. กระผมมีความเห็นในการเจริญสติปัฏฐาน ในอิริยาบถนั่ง มีรูปนามดังนี้ คือ ขณะที่ยืนอยู่นั้นสภาพธรรมเคร่งตึงของกายก็มี ขณะที่หย่อนกายลงนั่ง สภาพธรรมที่ไหวของกายก็มี ขณะผัสสะกับที่นั่งนั้น สภาพธรรมที่แข็งก็มี ที่อ่อนก็มี ขณะที่นั่งอยู่นั้น สภาพธรรมที่เย็นและร้อนมาผัสสะกายก็มี ขณะนั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่เห็นก็มี ขณะที่นั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่ได้ยินก็มี ขณะนั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่รู้กลิ่นก็มี ขณะนั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่คิดนึกก็มี ขณะที่นั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่คันก็มี ขณะที่นั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่ปวดเมื่อยก็มี

ฉะนั้น สภาพธรรมที่กระผมกล่าวมานี้ เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานใช่ไหม ส่วนอิริยาบถต่างๆ เหล่านี้ เช่น นั่งขัดสมาธิบ้าง นั่งพับเพียบบ้าง นั่งยองๆ บ้าง นั่งชันเข่าบ้าง นั่งไขว่ห้างบ้าง นั่งห้อยเท้าบ้าง นั่งเหยียดเท้าบ้าง นั่งคุกเข่าบ้าง เหล่านี้เป็นต้น กระผมมีความเห็น เรียกว่าอิริยาบถใช่ไหม ฉะนั้น มีบางอาจารย์กล่าวว่ารูปนั่ง กระผมไม่ทราบว่า ดูรูปนั่งนั้นมีอยู่ตรงไหน ขอท่านอาจารย์ช่วยให้ความสว่างแก่กระผมด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ

สุ. นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นบัญญัติให้รู้อาการลักษณะของรูปว่า ทรงอยู่ในลักษณะอย่างไร แต่ถ้าเป็นสภาพปรมัตถธรรม ต้องเป็นรูปใน ๒๘ รูป แล้วการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ กำลังเห็น อะไรปรากฏ กำลังได้ยิน อะไรปรากฏ ขณะนี้นั่ง อะไรกำลังปรากฏ ตามปกติธรรมดา ต้องรู้ลักษณะทางหนึ่งทางใด อย่าไปสร้างสิ่งที่ไม่ปรากฏในขณะนั้นขึ้น อย่าไปจงใจจดจ้องจะรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏในขณะนั้น ถ้ากำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ มีอะไรปรากฏ มีอาตาปี เพียรใส่ใจรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพียรรู้อย่างอื่น ไม่ใช่ไปเพียรทำอย่างอื่นขึ้นด้วย แต่หมายความว่าสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ก็มีอาตาปี เพียรใส่ใจรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏจะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกภูมิ ทุกภพ เหมือนกันหมด บนสวรรค์ รูปพรหม ก็ยังคงเห็น ได้ยิน การที่จะรู้แจ้ง ละความเห็นผิด ละความไม่รู้ ละความสงสัย ก็ด้วยการเจริญความรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่าข้ามสิ่งที่กำลังปรากฏไปหาสิ่งอื่น ได้ยินก็มี ทำไมไม่มีสติระลึก รู้ลักษณะของได้ยินหรือเสียง ทำไมไปจดจ้องต้องการรู้สิ่งอื่น ถ้าท่านไม่เคยรู้รูปนั่ง ก็ไม่ต้องไปรู้ ในเมื่อเห็นกำลังเห็น ได้ยินกำลังได้ยิน ถ้ามีกลิ่นปรากฏ กลิ่นนั้นเป็นสิ่งที่ควรรู้ ทำไมจะต้องไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏให้รู้

ทางตาเห็นสี สีเป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ แล้วรูปนั่งอยู่ที่ไหน จิตที่รู้สีทางตาดับไปแล้ว จิตที่รู้สีทางใจก็รู้สีนั้นต่อ เมื่อจิตรู้เสียงทางหูดับไปแล้ว จิตก็รู้เสียงนั้นทางใจต่อ เพราะฉะนั้น รูปที่รู้ได้ทางใจ ก็เป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหว ที่รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายนั่นเอง ตรงตามปริยัติหรือไม่ตรง

ดิฉันขอให้ท่านพิจารณา เพราะว่าการพิจารณาเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ขณะที่กำลังนั่งอยู่นี้ ท่านจะพิจารณาหรือว่าจะรู้อะไร สิ่งที่กำลังปรากฏหรือไม่ปรากฏ ปกติไหม แล้วท่านจะเจริญสติปัฏฐานเพื่อละความไม่รู้ หรือยังต้องการเก็บความไม่รู้นั้นไว้มากๆ ถ้าไม่เก็บก็ต้องเจริญสติ เพื่อให้ปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ที่บางท่านกล่าวว่า ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานมาก็นานแล้วแต่ไม่เข้าใจลักษณะของนามและรูป จนกระทั่งท่านต้องไปสู่สถานที่เงียบสงบ แล้วก็ได้เข้าใจลักษณะว่า อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป

ใคร่ที่จะถามท่านผู้นั้นว่า สติ คือการรู้ลักษณะของนามและรูป ในขณะที่ท่านอยู่ในสถานที่ๆ สงบเงียบนั้น ต่างกับสติ การระลึกได้ตามปกติอย่างไร เพราะว่าลักษณะของสติแล้ว ต้องเป็นสภาพที่ระลึกได้ จะระลึกได้ในเรื่องของทาน หรือว่าจะระลึกได้ในเรื่องของศีล จะระลึกได้ในเรื่องของการทำให้จิตสงบจากโลภะ จากโทสะ จากโมหะ หรือว่าจะระลึกได้ในเรื่องปัญญาที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อละความไม่รู้ นี่เป็นสิ่งที่ท่านจะต้องทราบว่า ลักษณะของสติเป็นสภาพที่ระลึกได้ แต่ว่าจะระลึกได้ขณะใด ขั้นใดนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ทราบลักษณะของสติ

สมมติว่า ท่านไปสู่สถานที่ๆ สงบและบอกว่า รู้ลักษณะของนามและรูป ในขณะที่ท่านอยู่ในสถานที่นั้น สติในขณะที่กำลังรู้ลักษณะของนามและรูปในสถานที่ที่สงบ กับสติขณะที่ท่านกำลังรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะนี้ ไม่ใช่อยู่ในสถานที่ๆ จำกัดอย่างนั้น ลักษณะของสติต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร ท่านจะตอบได้ไหม ต้องไตร่ตรองและต้องคิดให้ถูกต้องด้วยเพื่อจะได้เข้าใจเรื่องของสติปัฏฐานที่ตั้งของการระลึกรู้ ท่านก็ทราบว่า นามรูปทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล สำหรับผู้ที่รู้แจ้งลักษณะของนามและรูปแล้ว เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันก็คือ นามและรูปเท่านั้นเอง กำลังเห็นในขณะนี้เป็นของจริง ถ้าไม่ระลึกได้ ก็เป็นเราเห็น ซึ่งเป็นความเห็นผิด

เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกได้ จะระลึกได้เมื่อไร ก็ควรจะระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยินเช่นเดียวกัน ถ้าระลึกไม่ได้ ก็เป็นเราได้ยิน ก็เป็นเสียงเรา หรือเสียงคนนั้นคนนี้ แต่ว่าถ้าระลึกได้ ก็รู้ลักษณะของได้ยิน หรือว่ารู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู ตามปกติธรรมดา

เพราะฉะนั้น อะไรที่เป็นสติปัฏฐาน นี่เป็นสิ่งที่ต้องคิด กำลังกระทบสัมผัสเย็นบ้าง ร้อนบ้าง หรือว่าอ่อนบ้าง แข็งบ้าง ท่านอาจจะคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะระลึกรู้ลักษณะที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน บางท่านอาจจะคิดอย่างนี้ แต่ขอให้ท่านทราบว่า ที่ท่านยึดถือว่า เป็นตัวตน อ่อนไหม แข็งไหม ถ้าไม่รู้ขณะใด อ่อนนั้นเป็นตัวท่าน แข็งนั้นก็เป็นตัวท่าน หรือว่าเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่มาประชุมรวมกัน ทำให้ยึดถือว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้

นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ว่า เพราะเหตุใดจึงต้องรู้ตามปกติ เป็นหนทางที่จะประจักษ์สภาพความจริงที่ปรากฏ และรู้ว่าสภาพนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะหนึ่ง ถ้าเป็นอ่อนหรือแข็งก็ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นเพียงลักษณะของอ่อนหรือแข็งเท่านั้นเอง แต่ถ้าไม่พิจารณาเนืองๆ จะรู้ได้อย่างไรว่า อ่อนหรือแข็งนั้นไม่ใช่ตัวตน จะรู้ได้อย่างไรว่า อ่อนหรือแข็งนั้นเกิดดับ ถ้าท่านไม่ได้ศึกษาเรื่องของที่ตั้งของการระลึกรู้คือ สติ โดยถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ท่านข้ามสิ่งที่ปรากฏเป็นปกติธรรมดา จริงหรือไม่ ท่านข้ามปกติธรรมดาทุกๆ ครั้งที่เห็น ทุกๆ ครั้งที่ได้ยิน ที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง แล้วก็ต้องการจะไปดูสิ่งอื่น นั่นเป็นความต้องการที่จะดู ไม่รู้สิ่งที่มีปรากฏเลย เรื่องของตาไม่รู้เลย เรื่องของหูก็ไม่รู้ เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจก็ไม่รู้ แต่จะไปดูสิ่งซึ่งท่านไม่เคยเห็น โดยทุกสิ่งที่มีตามปกติมีอยู่แล้ว แต่ท่านไม่รู้เลย เมื่อไม่รู้จะชื่อว่า เจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร

จิตก็มีทั้งโลภะ มีทั้งโทสะ มีทั้งโมหะ ถ้าไม่ระลึกรู้จิตที่เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง แล้วปัญญาจะรู้อะไร จิตมีตลอดเวลา ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ มีอยู่ตลอดเวลา เห็นมี ได้ยินมี เสียงมี สีมี กลิ่นมี รสมีตลอดเวลา แต่ไม่เคยรู้เลย และก็ไม่เจริญสติ ไม่ระลึก ไม่ใส่ใจรู้ลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วท่านจะรู้อะไร ในเมื่อที่ท่านคิดว่าท่านรู้นี้ ท่านไม่ได้รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ จะชื่อว่าเจริญสติปัฏฐานได้ไหม ละคลายอะไรบ้าง ถ้าเจริญโดยไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ แต่พอใจ ต้องการที่จะไปดูสิ่งซึ่งไม่ใช่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ

ถ้าท่านระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทุกขณะจะตรงกับมหาสติปัฏฐานไหม ในมหาสติปัฏฐานมีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ว่าสิ่งใดกระทบปรากฏที่กาย ก็รู้ลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริงปกติธรรมดาทุกๆ ขณะ เพื่อจะละความไม่รู้ ความรู้สึกใดๆ จะเป็นความแช่มชื่น ไม่แช่มชื่นเกิดขึ้นขณะใด เป็นของจริงที่สติควรระลึกรู้ เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้ารู้แล้วก็ละความไม่รู้ ละความเห็นผิดในความรู้สึกที่กำลังปรากฏ หรือว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ที่กำลังปรากฏก็เป็นของจริง ผู้ที่ระลึกได้ ย่อมพิจารณาแล้วก็ละ

เปิด  395
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565