แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 37

มีท่านผู้ใดยังต้องการที่จะดูอะไรไหม แน่ใจหรือยังว่า ไม่ได้ต้องการดูอะไร แต่เจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

. ความสงบกับปัญญาที่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้น อะไรจะมีประโยชน์มากกว่ากัน

สุ. ถ้ามีความสงบแล้วสามารถระงับโลภะ โทสะ โมหะได้ชั่วคราว แต่ถ้ามีปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงแล้ว ละความเห็นผิด ความไม่รู้ ความสงสัยในสิ่งที่ปรากฏตลอดเวลาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้หมดความยึดถือความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน

. ชั่วคราว

สุ. ชั่วขณะที่สงบนั้นไม่มีอกุศล แต่อกุศลก็เป็นอนัตตาไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ถ้าตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้ที่ลักษณะของนามและรูป ยังไม่ได้หมดกิเลส เป็นสมุจเฉทตามลำดับแล้ว อกุศลก็ต้องเกิด อยากจะระงับกิเลสหรืออยากจะดับกิเลส ถ้าอยากจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทด้วยการเจริญปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ก็ต้องเจริญสติ แต่ความสงสัยนี้มีมากก็เลยทำให้มีความจงใจ และก็ทำให้ลักษณะของธรรมไม่ปรากฏตามปกติ แต่ถ้าเจริญสติปัฏฐานตามปกติและระลึกได้ คือ ไม่ว่าลักษณะใดทั้งสิ้นที่กำลังปรากฏ เช่น ความสงสัย ปัญญาก็จะต้องรู้ในลักษณะที่สงสัย เพราะเหตุว่าในขณะนั้นลักษณะที่สงสัยกำลังปรากฏ ไม่จงใจ ไม่มีการเตรียม ไม่มีการจัดไว้ก่อน แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นปรากฏ สติก็รู้ลักษณะนั้นตามความเป็นจริง การเจริญสติปัฏฐานอย่าหวังจะไปดูไปเห็นอะไร เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความรู้แล้ว รู้ตามความเป็นจริง

ที่ท่านใช้ความว่า เห็น หมายความว่ารู้ตามความเป็นจริง นามเกิดนามดับเป็นของธรรมดา แต่ว่าปัญญาจะรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ไม่ต้องจงใจที่จะไปดูนามดับ ไม่ต้องจงใจที่จะไปดูรูปดับ เพราะว่าการที่จะรู้ว่านามดับรูปดับ ไม่ใช่ด้วยการจงใจ ไม่ใช่ด้วยการจดจ้อง แต่ด้วยปัญญาที่รู้เพิ่มขึ้นแล้วละคลายมากขึ้น จึงจะประจักษ์สภาพที่เป็นปกติของนามและรูปที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

ในเรื่องอาวาสปลิโพธ ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง จาก บ้านเลขที่ ๖๔/๓ ตำบล ๔๐๐ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

ท่านผู้ฟังท่านนี้เป็นนักศึกษา ต้องการจะบวชชี เขียนมาว่า ใจเต็มไปด้วย ศรัทธา ต้องการบวชเหลือเกิน ต้องการที่จะบวชมาตั้งแต่ที่กำลังศึกษาอยู่ และในตอนนี้ก็สำเร็จการศึกษาในทางโลกมาพอสมควรแล้ว คือ จบ ม.ศ. ๓ คุณแม่ซึ่งเป็นผู้ปกครอง ก็อยากจะให้เรียนต่อ ๗ - ๘ แต่ท่านผู้ฟังท่านนี้ก็ค้านทันทีว่า อยากจะบวช เมื่อคุณแม่เห็นว่า ไม่ชอบทางโลกแน่ จึงให้โอกาสบวช แล้วคุณแม่ก็ว่าการบวชต้องมีเงินติดตัวเป็นประจำ และถามว่าจะเป็นไปได้ไหม ถ้ามีศรัทธาแต่ขาดปัจจัย จะบวชฝากตัวในพระพุทธศาสนาได้ไหม

สำหรับคำตอบเรื่องในการบวชและปัจจัยที่ต้องใช้ คิดว่าคงจะต้องปรึกษาหารืออุบาสิกาหลายๆ ท่าน ซึ่งได้ผ่านชีวิตอย่างนี้และก็เป็นผู้ที่ทราบรายละเอียดว่า ชีวิตของการเป็นอุบาสิกานั้น จำเป็นที่จะต้องมีเงินติดตัวหรือไม่

ก็ใคร่ที่จะตอบจดหมายท่านผู้ฟังท่านนี้ ด้วยการย้อนกล่าวถึงชีวิตของอุบาสก อุบาสิกาในครั้งพุทธกาล เพราะเหตุว่าอุบาสิกาก็มีหลายแบบ แต่ข้อสำคัญของการเป็นอุบาสิกานั้นคืออะไร เพราะว่าทุกคนก็มีหลักพระธรรมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ก็ต้องมีหน้าที่ หรือว่ามีกิจที่จะต้องกระทำ ในฐานะของการเป็นอุบาสิกาด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าทราบถึงเรื่องชีวิตของอุบาสก อุบาสิกาว่าควรเป็นอย่างไร ก็อาจจะช่วยทำให้ท่านตัดสินใจได้ในเรื่องของการบวช เพราะเหตุว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตามที่จะเจริญในทางฝ่ายกุศล ย่อมจะเป็นที่อนุโมทนา แต่การที่ผู้ปกครองยังไม่อยากจะให้บวชนั้น ก็คงเป็นเพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านวัยมามากกว่า ก็อาจจะเป็นห่วงถึงเรื่องจิตใจที่อาจจะยังไม่มั่นคงของผู้ที่ต้องการจะบวช แต่ถ้าได้เรียนจนกระทั่งจบแล้ว คงจะไม่มีอุปสรรคอะไร คุณพ่อคุณแม่ก็จะไม่ต้องห่วงในเรื่องของการดำเนินชีวิต กรณีที่บวชแล้วอาจมีศรัทธาที่ไม่มั่นคงในภายหลัง

เพราะฉะนั้น ปัญหานี้เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงเรื่องการศึกษาว่า ท่านผู้ใหญ่อยากจะให้ศึกษาสำเร็จเสียก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าได้ทราบชีวิตของอุบาสก อุบาสิกาในครั้งพุทธกาลก็ย่อมจะทำให้ทุกท่านพิจารณาตัวเองแล้วตัดสินใจได้ว่าควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร เพราะเหตุว่าเรื่องของความสงบ เรื่องของความเจริญในธรรม เรื่องของการสมบูรณ์ด้วยศีลยิ่งๆ ขึ้นนั้น เป็นที่น่าอนุโมทนา ไม่ว่าจะมีศีลในขั้นของบรรพชิตที่เป็นภิกษุ ภิกษุณี หรือว่าอุบาสิกาที่ไม่ครองเรือน ที่รักษาศีลอุโบสถมากกว่านิจศีลซึ่งเป็นศีล ๕

ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ธรรมิกสูตรที่ ๑๔

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ธรรมิกอุบาสกพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ ไปเฝ้า กราบทูลถามถึงอุบาสกผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตก็ดี อุบาสกผู้ยังครองเรือนอีกก็ดี บรรดาสาวกทั้งสองพวกนี้ สาวกกระทำอย่างไร จึงจะเป็นผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ

ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงปฏิปทาของบรรพชิตก่อน แล้วก็ได้ทรงแสดงวัตรแห่งคฤหัสถ์ คือ ศีล ๕ และศีล ๘

สำหรับเรื่องของศีล ๕ ก็ได้แก่ ไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดมุสา ไม่พึงดื่มน้ำเมา

สำหรับศีล ๘ เปลี่ยนจากศีลข้อที่ ๓ คือ แทนที่จะเป็นไม่ประพฤติผิดในกาม ก็เป็น พึงเว้นอพรหมจรรย์ อันเป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ นอกจากศีล ๕ ข้อนั้นแล้ว ก็ ไม่พึงบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรี เป็นข้อไม่พึงฟ้อนรำ ขับร้องประโคมดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลไม่พึงทัดทรงประดับตกแต่งกายด้วยดอกไม้ ของหอมและอีกข้อหนึ่ง ไม่พึงนอนบนเตียง หรือบนพื้นดินที่เขาลาดแล้ว เป็นสิกขาบทที่ ๘

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

บัณฑิตทั้งหลายกล่าวอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ว่า อันพระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทรงประกาศไว้แล้ว แต่นั้นสาวกผู้มีใจเลื่อมใสพึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ให้บริบูรณ์ดี ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริกปักษ์

แต่นั้นสาวกผู้รู้แจ้งเข้าจำอุโบสถอยู่แต่เช้าแล้ว มีจิตเลื่อมใส ชื่นชมอยู่เนืองๆ พึงแจกจ่ายภิกษุสงฆ์ ด้วยข้าวและน้ำตามควร พึงเลี้ยงมารดาและบิดา ด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรม พึงประกอบการค้าขายอันชอบธรรม ไม่ประมาท ประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่ ย่อมเข้าถึงเหล่าเทวดา ชื่อว่า สยัมปภา ผู้มีรัศมีในตน

คงจะทราบถึงกิจของอุบาสกว่า แม้อุบาสก อุบาสิกาจะไม่ใช่บรรพชิต แต่ย่อมขัดเกลามากขึ้นได้ คือ นอกจากจะมีศีล ๕ แล้ว ในวันอุโบสถก็ยังมีการรักษาศีลอุโบสถ ด้วยจิตที่เลื่อมใสได้ แต่การรักษาศีลอุโบสถของอุบาสก อุบาสิกานั้น ก็ไม่ใช่ว่ามีชีวิตที่ผิดปกติ แต่ว่ากิจวัตรอย่างใดที่เป็นกุศล ก็พึงกระทำ เช่น เข้าจำอุโบสถอยู่แต่เช้าแล้ว มีจิตใจเลื่อมใส ชื่นชมเนืองๆ พึงแจกจ่ายภิกษุสงฆ์ ด้วยข้าวและน้ำตามควร พึงเลี้ยงมารดาและบิดาด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรม พึงประกอบการค้าขายอันชอบธรรม ไม่ประมาท ประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่

เมื่ออุบาสก อุบาสิกาเหล่านั้นไม่สามารถละอาคารบ้านเรือน แต่ต้องการขัดเกลากิเลส และเจริญธรรมฝ่ายกุศลให้มากขึ้น นอกจากจะรักษาศีล ๕ ก็ยังรักษาศีล ๘ แล้วก็ประพฤติวัตรของคฤหัสถ์ที่เป็นกุศล มีการเลี้ยงดูมารดาบิดาด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบ หรือว่าแจกจ่ายภิกษุสงฆ์ด้วยข้าวและน้ำตามควร เป็นผู้ที่ไม่ประมาท

แต่ถ้าอุบาสก อุบาสิกา ที่รักษาศีลอุโบสถ และสามารถละกิจทางโลก มีการฟังธรรม ใคร่ครวญธรรม เจริญสติพิจารณาธรรม นั่นก็ยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น

เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละคนไม่ได้จำกัดการเจริญกุศล ไม่ว่าท่านจะเป็นบุคคลใด มีกิจที่จะต้องกระทำ แต่ให้เป็นไปในกุศลได้ ถ้าท่านยังมีมารดาบิดาที่จะต้องอุปการะ ท่านก็เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ขัดเกลาจิตใจของท่านด้วย แล้วก็เจริญกุศลด้วยการอุปการะตอบแทนพระคุณของมารดาบิดาด้วย แต่ต้องทราบด้วยว่า เมื่อท่านเป็นอุบาสก อุบาสิกาแล้ว มีศีลแล้ว หรือรักษาศีลอุโบสถแล้ว ท่านควรทำอย่างไร เพราะเหตุว่าชีวิตวันหนึ่งๆ ก็ผ่านไปเรื่อยๆ แล้วแต่ใครจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากเวลาที่ผ่านไป

เพราะฉะนั้น ถึงแม้เป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่มีจิตศรัทธารักษาศีล ๘ ในวันอุโบสถ ก็ควรทราบข้อประพฤติที่จะขัดเกลาให้ยิ่งขึ้นว่า เมื่อรักษาศีลอุโบสถนั้น ไม่ใช่เพียงแต่รับอุโบสถ แล้วจิตใจเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ แต่ควรทราบว่า ควรรักษาศีลอุโบสถอย่างไร

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อุโปสถสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของอุบาสิกา วิสาขามิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี วิสาขาอุบาสิกาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ท่านมาแต่ไหน ยังวันอยู่ วิสาขาอุบาสิกาก็ได้กราบทูลว่า วันนี้เข้าจำอุโบสถ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอุโบสถ มี ๓ อย่าง ให้วิสาขาอุบาสิกาฟัง อุโบสถ ๓ ประการนั้นคือ

โคปาลกอุโบสถ ๑ นิคัณฐอุโบสถ ๑ อริยอุโบสถ ๑

ท่านที่รักษาอุโบสถควรทราบว่าอุโบสถของท่านเป็นอุโบสถประเภทไหน และอุโบสถประเภทไหนเป็นอุโบสถที่มีประโยชน์มาก

โคปาลกอุโบสถ เปรียบเหมือนนายโคบาล เวลาเย็นมอบโคให้เจ้าของแล้ว ก็พิจารณาว่า วันนี้โคไปไหน กินน้ำที่ไหน พรุ่งนี้โคจะไปไหน โคจะกินน้ำที่ไหน แม้ฉันใด คนรักษาอุโบสถบางคนในโลกนี้ พิจารณาดังนี้ว่า วันนี้เราเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ ชนิดนี้ กินของชนิดนี้ ชนิดนี้ พรุ่งนี้เราจะเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ ชนิดนี้ กินของชนิดนี้ ชนิดนี้ ทำวันให้ล่วงไปด้วยความโลภนั้น

อุโบสถนี้ไม่มีผลมาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก

เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่อุบาสิกาที่ละอาคารบ้านเรือน แต่เป็นอุบาสิกา ที่รักษาอุโบสถ ก็ควรที่จะพิจารณาว่า จิตตกไป เป็นไปเหมือนอย่างโคปาลกอุโบสถนี้หรือไม่

อุโบสถประการที่ ๒ คือ นิคันฐอุโบสถ เป็นการปฏิบัติอย่างสมณะนิกายหนึ่ง ซึ่งมีนามว่านิครนถ์ สมณะนิกายนี้มีกฎเกณฑ์ ให้มีกรุณาในขอบเขตของทิศเลย ๑๐๐ โยชน์ไป ไม่ครองผ้า แล้วพูดอย่างนี้ว่า

เราไม่เป็นที่กังวลของใครๆ ในที่ไหนๆ และตัวเราก็ไม่มีความกังวลใน บุคคลและสิ่งของใดๆ ในที่ไหนๆ

พอล่วงราตรีนั้นไป ก็บริโภคโภคะเหล่านั้น ที่เจ้าของไม่ได้ให้ อุโบสถนี้ไม่มีผลมาก

ถ้าเป็นอุโบสถของสมณะนิกายหนึ่งที่ชื่อว่า นิครนถ์ มีกฎเกณฑ์แม้แต่ความกรุณาก็ต้องอยู่ในขอบเขตของทิศที่เลย ๑๐๐ โยชน์ไป เป็นผู้ที่ไม่ครองผ้า แล้วก็กล่าวว่า ไม่เป็นที่กังวลของใครๆ และตัวเขาก็ไม่มีความกังวลในบุคคล และในสิ่งของใดๆ แต่พอหมดราตรีนั้นแล้ว ก็กลับบริโภคโภคะที่เจ้าของไม่ได้ให้

นี่ไม่ใช่ลักษณะของผู้ที่มีศีล เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ถ้าศาสดาไม่ใช่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ธรรมนั้นควรติ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อขัดเกลาอย่างแท้จริง

สำหรับอุโบสถประการที่ ๓ คือ

อริยอุโบสถ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตที่เศร้าหมอง ย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ ด้วยความเพียรอย่างไร

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคต ว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ระลึกถึงพระคุณประการอื่นๆ เมื่อระลึกแล้วก็เกิดปราโมทย์ เปรียบเหมือนศีรษะที่เปื้อน ทำให้สะอาดได้ ด้วยความเพียร เพราะอาศัยขี้ตะกรัน ดินเหนียว น้ำ และความเพียรอันควรแก่เหตุ

อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำพรหมอุโบสถ อยู่ร่วมกับพรหม เพราะเหตุว่าลักษณะของพรหมนั้น ก็เป็นผู้ที่ประเสริฐ

พยัญชนะนี้ไม่ใช่คำว่า เข้าจำพุทธอุโบสถอยู่ร่วมกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่กล่าวว่า เข้าจำพรหมอุโบสถอยู่ร่วมกับพรหม ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐ

ประการที่ ๒ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงพระธรรมด้วยประการ ต่างๆ ซึ่งก็เปรียบเหมือนกายที่เปื้อน จะทำให้สะอาดได้ ด้วยความเพียร เพราะอาศัยเชือก จุณสำหรับอาบน้ำ น้ำ และความเพียรอันควรแก่เหตุ

อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำธรรมอุโบสถ อยู่ร่วมกับธรรม

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ารักษาอุโบสถเฉยๆ แล้วคิดเรื่องต่างๆ แต่เป็นผู้รักษาอุโบสถ ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์ด้วยการระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ระลึกถึงพระธรรม ถ้าบางท่านไม่ได้ระลึกถึงพระผู้มีพระภาค พระคุณต่างๆ ของพระองค์ และก็ไม่ได้ระลึกถึงพระธรรมอยู่เนืองนิจ ก็จะระลึกถึงสิ่งอื่นประการอื่นได้อีก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์สาวก เปรียบเหมือนผ้าที่เปื้อน จะทำให้สะอาดได้ ด้วยความเพียร เพราะอาศัยเกลือ น้ำด่าง โคมัย น้ำ กับความเพียรอันควรแก่เหตุ อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำสังฆอุโบสถ อยู่ร่วมกับสงฆ์

สงฆ์ที่กล่าวนี้ ก็หมายถึงพระอริยสาวก ซึ่งเป็นผู้สะอาดเป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ ประพฤติตรง เพราะฉะนั้น ถ้าระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ก็เป็นการเข้าจำสังฆอุโบสถ อยู่ร่วมกับสงฆ์

อริยอุโบสถประการที่ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทแก่ตัว ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาทิฏฐิลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ เปรียบเหมือนกระจกเงาที่มัว กระทำให้ใสได้ ด้วยความเพียร เพราะอาศัยน้ำมัน ข้าว แปรง กับความพยายามอันควรแก่เหตุ

อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำศีลอุโบสถ อยู่ร่วมกับศีล

คุณธรรมทุกอย่างที่เป็นความดี เมื่อระลึกถึงย่อมทำให้จิตผ่องใส ไม่เหมือน ขณะที่ระลึกถึงอกุศลแล้ว จิตไม่ผ่องใส ระลึกถึงการกระทำที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา หรือว่าทางใจที่เคยเกิดขึ้น ขณะนั้นทำให้จิตใจเศร้าหมอง หรือว่าเดือดร้อนใจ แต่ตรงกันข้าม ไม่ว่าท่านจะเคยวิรัติทุจริต เว้นการฆ่า มีการช่วยชีวิตสัตว์เล็ก สัตว์น้อย เว้นการพูดวจีทุจริต เว้นการกระทำทุจริตใดๆ ทั้งปวง เวลาที่ท่านระลึกขึ้นได้ครั้งใด ก็ย่อมจะทำให้จิตใจสงบ ขณะนั้นก็ชื่อว่า เข้าจำศีลอุโบสถ อยู่ร่วมกับศีล

อริยอุโบสถประการที่ ๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงเทวดาว่า ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญาเช่นใด ตนก็มีเช่นนั้น เปรียบเหมือนทองที่หมอง จะทำให้สุกได้ เพราะอาศัยเบ้าหลอมทอง เกลือ ยางไม้ คีม กับความพยายามอันควรแก่เหตุ

อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำเทวดาอุโบสถ อยู่ร่วมกับเทวดา

เปิด  326
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566