แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 39

สำหรับเรื่องของอุโบสถก็ยังมีประการอื่นอีกที่แสดงให้เห็นว่า ความดีนั้นไม่ควรจำกัด เจริญมากเท่าไรก็เป็นประโยชน์มากเท่านั้น และไม่ใช่จำกัดแต่เฉพาะอุโบสถเพียง ๘ ประการเท่านั้น

อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สัตตสูตรมีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมตระหนักชัดดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ละปาณาติบาต อทินนาทาน อพรหมจรรย์ มุสาวาท ... แม้เราก็ละการนั่ง การนอน บนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ งดเว้นจากการนั่ง การนอน สูงใหญ่ สำเร็จการนั่งการนอน บนที่นั่งที่นอนต่ำ ตลอดคืนและวันนี้

เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์ แม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๘ นี้ บุคคลมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ และที่ ๔ เหมือนกันโดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

อุโบสถ ชื่อว่าประกอบด้วยองค์ที่ ๙ นี้ ด้วยประการดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้ว อย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก

พระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า อย่าจำกัดความดี ถึงอุโบสถมีองค์ ๘ แล้ว ก็ยังมีอุโบสถมีองค์ ๙ คือ เจริญความดีได้ทุกประการเท่าที่สามารถจะเป็นไปได้ ท่านที่รักษาอุโบสถไม่เฉพาะในวันอุโบสถ แต่รักษาตลอดไป อย่างอุบาสิกาในปัจจุบันนี้ที่ไม่ครองเรือน บวชเป็นชี ก็ควรที่จะได้ทราบว่า การรักษาศีลอุโบสถของท่านนั้นเพื่อจุดประสงค์อะไรที่สำคัญที่สุด คือ เพี่อการขัดเกลายิ่งขึ้น ศีล ๕ ก็ขัดเกลามากแล้ว แต่ว่าผู้ใดที่มีศรัทธาที่จะรักษาศีล ๘ ก็ยิ่งขัดเกลาจิตใจยิ่งขึ้นอีก

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพื่อหวังอย่างอื่น แต่เพื่อละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากขึ้น ถ้าอ่านในพระสูตรอื่นๆ อีก จะมีเรื่องของอุบาสกอุบาสิกาละเอียดยิ่งขึ้น ให้ทราบว่าชีวิตของอุบาสก อุบาสิกานั้นมีหลายแบบ มีทั้งที่ครองเรือน มีทั้งที่ไม่ครองเรือน มีทั้งที่รักษาเฉพาะศีล ๕ มีทั้งที่รักษาศีล ๘ ด้วย เป็นบางครั้ง และมีทั้งรักษาศีล ๘ เป็นประจำ ซึ่งแล้วแต่การสะสม บางท่านสะสมมาในเรื่องของเนกขัมมะ บางท่านก็สะสมมาในเรื่องของปัญญา และบางท่านก็สะสมมาในเรื่องของจาคะเพื่อเป็นบารมีต่อไป

แต่ถึงแม้ว่า จะเป็นบารมีประการหนึ่งประการใดก็ตาม ถ้าตราบใดยังมีกิเลส ก็ยังไม่แน่นอน ถ้ามีศรัทธาที่จะออกจากเรือนแล้วประพฤติปฏิบัติธรรมประกอบกันด้วย ก็ย่อมเป็นเครื่องประกันที่มั่นคง เพราะถึงแม้ในอดีตชาติของ พระโพธิสัตว์ได้สะสมเนกขัมมบารมีและบารมีอื่นๆ อย่างเพียบพร้อมแล้วก็ตาม แต่ขณะที่ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสทั้งหลายก็ยังมีโอกาสเกิดได้ เพราะในขณะนั้นยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพียงแต่ว่าเจริญบารมีประการ ต่างๆ เพื่อการตรัสรู้

เพราะฉะนั้น อุบาสก อุบาสิกามีฉันทะต่างๆ กัน บางท่านมีฉันทะในจาคะ บางท่านมีฉันทะในเนกขัมมะ บางท่านมีฉันทะในการเจริญปัญญา ก็พึงเป็นผู้ไม่ประมาทเลย ถึงแม้จะละอาคารบ้านเรือนไปแล้ว มีศีลเป็นเครื่องรักษา แต่ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องประกอบด้วย ศรัทธาอันนั้นก็ยังคลอนแคลน ยังไม่มั่นคง

เพราะฉะนั้น ผู้ถามที่เป็นนักศึกษาและต้องการบวชชี ก็คงจะไม่มีผู้ใดขัดขวาง แต่อยากให้เข้าใจชีวิตของอุบาสิกาอย่างถูกต้องแท้จริง จะได้ตัดสินได้ด้วยตนเองว่า จะเป็นอุบาสิกาแบบไหน เพราะเหตุว่าความล้ำลึกของจิตที่ได้สะสมมา มีทั้งฝ่ายกุศลและมีทั้งฝ่ายอกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ขัดเกลาจิตใจของตัวเองแต่ละท่านไม่เหมือนกันว่า อะไรเป็นเหตุให้ขัดเกลาได้

ตัวอย่างในพระสูตรเป็นแต่ละชีวิตจริงๆ ซึ่งมีเหตุทำให้ขัดเกลากิเลส หรือเจริญกุศลตามวิถีชีวิตของแต่ละบุคคลต่างๆ กัน

ขุททกนิกาย ปกิณณกนิบาตชาดก (ขุททกนิกายชาดกเล่ม ๓ ภาคี) ปัญจุโปสถิกชาดก

พระโพธิสัตว์ถามนกพิราบว่า

ดูกร นกพิราบ เพราะเหตุไร บัดนี้เจ้าจึงมีความขวนขวายน้อย ไม่ต้องการอาหาร อดกลั้นความหิวกระหาย มารักษาอุโบสถ

นกพิราบก็ตอบว่า แต่ก่อนนี้ข้าพเจ้าบินไปกับนางนกพิราบ เราทั้งสองชื่นชมยินดีกันอยู่ในป่าประเทศนั้น ทันใดนั้น เหยี่ยวได้โฉบเอานางนกพิราบไปเสีย ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะพลัดพรากจากนางไป แต่จำต้องพลัดพรากจากนาง เพราะพลัดพรากจากนาง ข้าพเจ้าได้เสวยเวทนาทางใจ เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่า ความรักอย่าได้กลับมาหาเราอีกเลย

นี่ก็เป็นมูลเหตุที่นกพิราบรักษาอุโบสถ ต่อจากนั้นพระโพธิสัตว์ก็ได้ถามงู ถามสุนัขจิ้งจอก ถามหมี ซึ่งต่างก็รักษาอุโบสถด้วยเหตุต่างๆ กัน แล้วสัตว์เหล่านั้นก็ย้อนถามพระโพธิสัตว์บ้างว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อความอันใดท่านก็ได้ถามพวกข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าทั้งหมดก็ได้พยากรณ์ข้อความอันนั้นตามที่ได้รู้เห็นมา ข้าแต่ท่านผู้เป็นวงศ์พรหม ผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าจะขอถามท่านบ้างละ เพราะเหตุไร ท่านจึงรักษาอุโบสถเล่า

ตอนนี้คนอื่นตอบไม่ได้แน่นอน เพราะว่าแต่ละคนก็มีเหตุเฉพาะของตนๆ พระโพธิสัตว์ตอบว่า

พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่ง ผู้ไม่แปดเปื้อนด้วยกิเลส นั่งอยู่ในอาศรมของฉันครู่หนึ่ง ท่านได้บอกให้ฉันทราบถึงที่ไป ที่มา นาม โคตร และจรณะทุกอย่าง แต่ถึงอย่างนั้น ฉันก็ไม่ได้ถามถึงนามและโคตรของท่านเลย เพราะเหตุนั้นฉันจึงรักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่า มานะอย่าได้มาถึงฉันอีกเลย

ในที่นี้ไม่มีใครหมดกิเลสแล้ว กิเลสก็มากจริงๆ มีทั้งความเห็นผิด ทั้งความสงสัยในลักษณะของอริยสัจจะ ทั้งโลภะ ทั้งโทสะ บางคนมีทั้งริษยา ทั้งมานะ ทั้งมัจฉริยะ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้จักตัวเอง แม้พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ยังละมานะไม่ได้ แต่มานะก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรเจริญ ถ้าผู้ใดรู้สึกตัวว่า มีความสำคัญตน แล้วรู้ว่าเป็นกิเลส เป็นอกุศล ท่านคงต้องการที่จะละ เพราะฉะนั้น สติมีประโยชน์มากที่ทำให้รู้ว่า มีกิเลสมากน้อยเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นไปในทางกาย หรือว่าทางวาจา หรือว่าเพียงเกิดกับใจเท่านั้น คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลย และท่านที่ขัดเกลากิเลสอยู่เรื่อยๆ โลภะอาจจะน้อยลง โทสะอาจจะเบาบาง ริษยาก็น้อย มัจฉริยะก็คงจะเบาบาง แต่แม้มานะ เพียงความสำคัญตน ท่านที่ประสงค์จะละกิเลสให้หมดเป็นสมุจเฉท ไม่ต้องการจะเก็บสิ่งที่เป็นอกุศล หรือเป็นกิเลสทั้งหลายไว้ เมื่อมีทางใดที่ละ ขัดเกลากิเลสได้ ท่านไม่เว้น เพราะฉะนั้น ในชาตินั้นพระโพธิสัตว์จึงรักษาอุโบสถ เพราะมีสติรู้ว่า ท่านมีมานะ ดังข้อความที่ว่า

ถึงแม้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า จะได้นั่งอยู่ในอาศรมของท่าน และได้บอกถึงนาม ถึงโคตร ถึงจรณะ ถึงที่มา ถึงที่ไป แต่ถึงอย่างนั้น ฉันก็ไม่ได้ถามถึงนามและโคตรของท่านเลย

พระโพธิสัตว์รู้ตัวว่า มีมานะที่ไม่ถาม แต่คนอื่นอาจไม่ได้สังเกตจิตใจของตนเอง ถ้าสังเกต ก็อาจจะเจริญกุศลทุกๆ ประการเพิ่มขึ้น

และสำหรับอุบาสก อุบาสิกาที่มีการสะสมทำให้เป็นบุคคลที่มีชีวิตต่างๆ กันนั้น

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มหานามสูตร มีข้อความว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารนิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นพระเจ้ามหานามศากยราชเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่าอุบาสก

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร มหาบพิตร บุคคลผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล บุคคลจึงชื่อว่าเป็นอุบาสก

พระเจ้ามหานามศากยราช ก็ได้ทูลถามต่อไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

นี่ก็เป็นอีกแบบหนึ่งของอุบาสก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร มหาบพิตร อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท เป็นผู้งดเว้นจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

อุบาสกที่ไม่ถึงพร้อมด้วยศีลก็มี แต่ว่าอุบาสกเช่นไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล คือ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลของอุบาสก ได้แก่ศีล ๕

พระเจ้ามหานามศากยราช ก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

นี่เป็นการตรวจตัวของท่านเองว่า เป็นอุบาสกแบบไหน เป็นอุบาสกผู้ถึงพร้อมด้วยศีล หรือว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า

ดูกร มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้จำแนกธรรม และพระคุณธรรมอื่นๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

ฟังพยัญชนะเพียงเผินๆ ก็อาจจะคิดว่า ท่านเชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคแล้ว แต่ผู้ใดเชื่อจริงๆ คือเชื่อว่า กำลังเห็นนี้เกิดดับ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นนามเป็นรูปชนิดหนึ่งชนิดใดก็ตาม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ยังไม่มีความสมบูรณ์ของญาณเป็นขั้นๆ ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจ ท่านมีศรัทธาโดยการฟัง โดยการพิจารณา แต่ว่ายังไม่ได้ประจักษ์แจ้งว่า พระผู้มีพระภาคก็ดี พระอรหันต์ พระอริยสาวกท่านได้ประจักษ์อริยสัจข้อนี้แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด การเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอย่างที่พระผู้มีพระภาคก็ดี หรือว่าพระสาวกของพระผู้มีพระภาคก็ดี ได้รู้แล้ว ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่ศึกษาและไม่พิจารณาโดยละเอียด แล้วก็ปฏิบัติตามให้ตรงตามเหตุผลนั้นด้วย

พระเจ้ามหานามศากยราช ทูลถามต่อไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากความตระหนี่ อันเป็นมลทิน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครอบครองเรือน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ

พระเจ้ามหานามศากยราช ทูลถามต่อไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยปัญญา

พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า

ดูกร มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา เป็นเหตุให้ถึง ให้เห็นความเกิด ความดับ เป็นอริยะ เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา

เดี๋ยวนี้เป็นอุบาสกประเภทไหน ควรให้ถึงพร้อมหรือสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้ เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการละอาคารบ้านเรือน ก็ควรจะทราบว่า การมีชีวิตที่ขัดเกลายิ่งขึ้นนั้นจะต้องขัดเกลาทั้งในเรื่องของศีล และก็ในเรื่องของธรรมด้วย

. เรื่องของธรรมหมายความว่าอย่างไร เพราะเรื่องของศีลก็ทราบ แต่เรื่องของธรรม คือ เรื่องจะเป็นอุบาสก อุบาสิกา ซึ่งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา และผู้ที่ถึงพร้อมด้วยปัญญานั้นก็คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเหตุให้ถึง หรือให้เห็นความเกิด ความดับ เป็นอริยะ เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ไม่ใช่ปัญญาเพียงขั้นการฟัง หรือไม่ใช่ปัญญาเพียงขั้นพิจารณาเท่านั้น

สุ. แต่ความจริงคำว่าธรรมนั้น มีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น เพราะเหตุว่าเรื่องศีลเป็นการขัดเกลาขั้นกาย วาจา แต่ถ้าผู้ใดก็ตามไม่เจริญปัญญาด้วย ก็ยากเหลือเกินที่จะรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีล ๒๒๗ ให้บริสุทธิ์ได้ เพราะเหตุว่าการล่วงศีลนั้น เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส

เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมจะล่วงศีลนั้นได้ แต่ผู้ใดก็ตามที่นอกจากมีศีลแล้ว ก็ยังเจริญธรรม ประกอบกันไปด้วย ผู้นั้นก็ย่อมจะมั่นคงในเพศของตน ถ้าเป็นอุบาสิกาที่สละอาคารบ้านเรือน มีศรัทธามากกว่าอุบาสิกาที่รักษาเพียงศีล ๕ แต่ว่าถ้าจะให้มั่นคงแล้ว ก็จะต้องมีการเจริญธรรมคู่กันไปด้วย มิฉะนั้นก็ไม่แน่นอน

. เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์บอกว่า การเจริญสติปัฏฐาน คือ เป็นเรื่องของความจริง ผมไปปฏิบัติเข้า คล้ายๆ กับว่า ความจริงกลับตาลปัตรกัน ธรรมดาเราดูรูป เราต้องใช้ตามองเห็น เวลาเราได้ยินเสียง เราต้องใช้หูฟัง แต่เวลาเราเจริญสติปัฏฐานคล้ายๆ กับว่าเรากลับกัน เวลาได้ยินเสียงกับรูป เวลาเราจะรู้ซึ้งเข้าไปอีกว่า จะให้รู้ว่าเป็นใคร คนไหน เสียงนั้นเป็นของใคร ทำไมกลับเป็นนาม คล้ายๆ ตามปกติเราไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ดูรูปเราก็ต้องใช้ตามองรูปเป็นเช่นนั้น รูปเป็นเช่นนี้ เวลาใช้เสียง จึงรู้ว่าเป็นนามไป ผมสงสัยเท่านี้แหละครับ

สุ. เรื่องนี้เข้าใจว่ายังสบสนอยู่ระหว่างนามกับรูป คือ มีนามมีรูปตลอดเวลาจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ผู้เจริญสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วมีอสัมโมหสัมปชัญญะ คือ ไม่หลงเข้าใจผิดในสภาพลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ คือ ไม่คิดว่านามเป็นรูป และรูปเป็นนาม

เปิด  347
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566