แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 43
ถ. ถ้าเวลานี้จะเจริญสติปัฏฐาน ควรพิจารณาอะไร
สุ. ไม่มีกฎเกณฑ์ แล้วแต่สติของแต่ละคน
ถ. ปกติกับผิดปกติ ลักษณะต่างกันอย่างไร ให้ยกตัวอย่าง
สุ. เวลานี้กำลังนั่ง ปกติไหม ถ้าท่านใดจะขัดสมาธิ เพราะเข้าใจว่า ต้องเจริญสติปัฏฐานด้วยอิริยาบถนั้น เป็นปกติไหม ทำขึ้นหรือเปล่า ทำขึ้นด้วยความต้องการแล้ว ปิดบังแล้ว ข้ามนามที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน สีที่กำลังปรากฏ เสียงที่กำลังปรากฏ หรือเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่กำลังปรากฏ แต่ไปทำขึ้นแล้ว นิดเดียวเท่านี้ บังไว้แล้ว นี่ผิดปกติ แต่เมื่อเจริญสติแล้ว สติระลึกรู้ลักษณะของเห็น ของสี ของได้ยินหรือเสียง ของเย็นหรือร้อนที่กำลังปรากฏ แทนโลภะ โทสะ โมหะ เพราะคนหนึ่งนั่ง เห็น ได้ยิน คิดนึก โลภะ โทสะ โมหะ อีกคนหนึ่งนั่ง เห็น ได้ยิน สติรู้ลักษณะของเห็น ของได้ยิน หรือของคิดนึกที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ผู้อื่นจึงรู้ไม่ได้ว่า ใครบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยเจ้า นอกจากผู้มีปัญญาได้อภิญญา สามารถรู้วาระจิตของผู้อื่น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้เจริญสติ ก็นั่ง นอน ยืน เดิน มาตั้งแต่เกิด รับประทานอาหาร เห็น ได้ยิน ขับรถยนต์ คิดนึก ทุกอย่าง ด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ ในขณะที่จิตไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในภาวนา แต่ผู้เจริญสติปัฏฐานก็ทำทุกอย่าง เดิน ยืน นั่ง นอน คิดนึก ทำกิจการงาน ขับรถยนต์ ตามปกติ แทนที่จะเป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ ก็เป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ที่ผู้อื่นไม่สามารถจะรู้ได้ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดเมื่อไร มีความชำนาญ มีความแคล่วคล่อง เป็นพละ มีกำลัง ไม่ว่านามหรือรูปใดๆ สติปัญญาก็มั่นคง ไม่หวั่นไหว เป็นปัญญาพละ พิจารณานามและรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด ไม่ว่าจะทำกิจการงานใด ถ้าเกิดปัญญาแล้ว ไม่ต้องกลัวว่า น่ารังเกียจหรือ เป็นโทษ นั่นไม่ใช่ปัญญา ซึ่งรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้นไม่เป็นโลภะ ไม่เป็นโทสะ ไม่เป็นโมหะ
ท่านที่เคยขับรถยนต์และยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่กำลังขับรถยนต์ มีโลภะไหม มีโทสะไหม มีโมหะ เมื่อเจริญสติ แทนที่จะเป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ไม่เป็นโลภะ ไม่เป็นโทสะ ไม่เป็นโมหะ ท่านจะคิดนึกเรื่องอะไร ท่านจะป้องกันอันตรายใดๆ ท่านจะเหยียด จะคู้ จะไหวอย่างไร แทนที่จะกระทำไปด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ ก็เป็นสติที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ สามารถที่จะเป็นไปได้ไหมในวันหนึ่งๆ ด้วยความรวดเร็วของจิต ไม่ใช่ว่าจะต้องไปทำช้าๆ จดจ้อง วันหนึ่งไม่ให้รู้อะไร ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นปกติธรรมดา แต่แทนที่จะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ก็เป็นสติ
เดินข้ามถนนด้วยกัน คนหนึ่งเดินด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ แต่สำหรับคนที่เจริญสติปัฏฐาน เห็น ได้ยิน เหมือนกันทุกอย่าง แต่แทนที่จะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ก็เป็นสติที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ตรงกับสภาพธรรมและพระธรรมที่ได้แสดงไว้ ในเรื่องการสังวรทางตา จักขุนทรีย์สังวร โสตินทรีย์สังวร ฆานินทรีย์สังวร ชิวหินทรีย์สังวร กายินทรีย์สังวร มนินทรีย์สังวร สังวรได้ทั้ง ๖ ทาง ไม่ใช่ได้แต่เฉพาะ ๕ ทาง ใจจะคิดนึก จะรู้เรื่อง จะรู้ความหมาย สติก็รู้ว่า สภาพนั้นก็เป็นนามธรรม รวดเร็วมาก ไม่ทำให้เกิดอันตรายได้เลย แทนที่จะเป็นโมหะ โลภะ โทสะ ก็เป็นสติ เป็นกุศล ควรเจริญ ไม่ใช่ควรเว้น
คนที่คิดว่า เจริญสติแล้วจะมีอันตราย ก็คงจะพอใจให้เป็นโลภะ โทสะ โมหะ เพราะว่าที่ขับรถยนต์นั้นขับด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในการเจริญภาวนา ก็ต้องเป็นโลภะ โทสะ โมหะ
ถ. ที่อาจารย์บอกว่า การนั่งขัดสมาธิ เป็นการนั่งผิดปกติใช่ไหม ตอนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ต้องนั่งขัดสมาธิบัลลังก์ ถึงจะตรัสรู้ได้ เจริญปัญญาโดยการนั่งขัดสมาธิ ไม่เจริญอิริยาบถอื่นเลย เพราะเหตุใดจึงว่า การเจริญปัญญาโดยนั่งขัดสมาธิ ผิดปกติ
สุ. ที่ดิฉันกล่าวเมื่อกี้นี้ ดิฉันหมายถึง เดี๋ยวนี้ที่ท่านกำลังนั่งอยู่ เวลานี้ถ้าท่านผู้ใดจะขัดสมาธิ ก็เป็นปกติของท่านผู้นั้น แต่ดิฉันพูดถึงทุกท่านที่เวลานี้ไม่ได้ขัดสมาธิ แล้วก็เข้าใจคิดว่าจะต้องขัดสมาธิ จึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะยืนก็ยังเจริญสติปัฏฐานได้ เดินก็เจริญสติได้ นั่ง นอน เคลื่อนไหว เหยียด คู้ เจริญสติได้ทั้งนั้น ไม่ใช่จำเพาะเจาะจงว่า เวลาจะเจริญสติก็มานั่งขัดสมาธิ
และที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้นั้น แบ่งเป็น ๓ ยาม ในปฐมยาม เจริญสมาธิ ระลึกชาติได้มากมาย แต่ระลึกเท่าไรก็ไม่สามารถละกิเลสให้หมดสิ้นด้วยการเพียงระลึกชาติได้
ในยามที่ ๒ มัชฌิมยาม รู้จุติปฏิสนธิ ถึงแม้ว่าจะมีอภิญญา ซึ่งเกิดจากสมาธิ รู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ในขณะนั้นสักเท่าไร ก็ไม่ใช่ปัญญาที่จะละกิเลสให้หมดสิ้นได้ นั่นเป็นการเจริญสมาธิ แต่ที่ดิฉันกล่าวนี้ หมายความว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นท่านผู้ใดนั่งขัดสมาธิ แต่ถ้าท่านผู้ใดกำลังขัดสมาธิ กำลังเป็นปกติ ไม่ต้องเปลี่ยนอีกเหมือนกัน ไม่ต้องทำขึ้นด้วยความเข้าใจผิดที่คิดว่า จะต้องใช้อิริยาบถนั้นเท่านั้น เพราะเหตุว่าในขณะนั้นอิริยาบถนั้นยังไม่เกิด แต่ว่ามีเห็นไหม เคยไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเจริญปัญญารู้ เพื่อละความไม่รู้ กำลังได้ยินมีไหม เมื่อมี เจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้ในขณะที่ได้ยิน ซึ่งไม่เคยรู้
ท่านผู้ฟังถามว่า ถ้าปกติเราสามารถนั่งขัดสมาธิได้ ก็ควรจะขัดสมาธิไหม เป็นตัวของท่านเองจริงๆ ไม่ใช่ห้าม การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ห้ามนั่งขัดสมาธิ และไม่ใช่ว่าต้องนั่งขัดสมาธิ แต่หมายความว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้มีปกตินั่งขัดสมาธิ สติระลึกได้ในขณะนั้น รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ เพราะขณะนั้นกำลังเป็นปกติ แต่ผู้ที่ขณะที่ระลึกได้ไม่ได้นั่งขัดสมาธิ ก็ไม่ใช่ต้องนั่งขัดสมาธิจึงจะระลึกได้ แต่สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ เพราะว่า ถึงไม่นั่งขัดสมาธิ เห็นก็มี ได้ยินก็มี ที่สติจะต้องรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น เพราะว่า เป็นเรื่องของเหตุผล เป็นเรื่องของความจริง เป็นเรื่องที่จะสอบทานกับพระธรรมวินัย
ถ. ปกติก็ทำไม่ค่อยได้ ต้องอยู่ในที่สงบถึงทำได้ เพราะฉะนั้น อิริยาบถที่ดีที่สุด คือ นั่งขัดสมาธิ หรือเดินจงกรม หรืออะไรก็ได้ แต่อยู่ที่ทำงานหรือที่บ้าน ทำไม่ค่อยได้
สุ. ถ้าท่านศึกษาในพระไตรปิฎกโดยละเอียด ก็ย่อมจะได้เหตุผล เป็นต้นว่า ธุดงค์ ๑๓ ประการ สำหรับธุดงค์ ๑๓ นั้น เป็นองค์เครื่องกำจัดธรรมอันเป็นข้าศึก ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นจากสิกขาบท ในธุดงค์ ๑๓ ก็คงจะทราบว่า เป็นเรื่องของเสนาสนะ ๕ ประการ คือ
เสนาสนะประการที่ ๑ อารัญญิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ
ท่านใช้คำว่า เป็นปกติ เพราะเหตุว่าเป็นอัธยาศัยของภิกษุนั้น ไม่ใช่อยู่ในสิกขาบท แต่ผู้ใดมีอัธยาศัยที่จะขัดเกลา มีองค์ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดธรรมอันเป็นข้าศึก โดยการอยู่ในป่าเป็นปกติ สมาทานที่จะอยู่ในป่าเป็นวัตร อันนั้นก็เป็นอารัญญิกังคะ
เสนาสนะประการที่ ๒ คือ รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการอยู่โคนไม้เป็นปกติ
ท่านใช้คำว่า เป็นปกติ ให้เห็นว่า เป็นอัธยาศัย ไม่ใช่เรื่องที่ภิกษุแต่ละท่านจะเอาอย่างกัน โดยที่ไม่ใช่อัธยาศัยของท่านจริงๆ หรือไม่ใช่อุบาสกอุบาสิกาที่ไม่มีอัธยาศัยอย่างนั้น แล้วจะทำอย่างนั้น เพื่อหวังจะบรรลุมรรคผล แต่เป็นการฝืนอัธยาศัย ซึ่งไม่สามารถทำให้รู้แจ้งธรรมได้เลย
เสนาสนะประการที่ ๓ คือ อัพโภกาสิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ
นี่ก็เป็นอัธยาศัยซึ่งอุบาสกอุบาสิกาควรจะคิดว่า ถ้าท่านจะทำอย่างนี้ เป็นอัธยาศัยจริงๆ ของท่านหรือไม่ สำรวจตรวจจิตใจของท่านเองว่า ท่านมีอัธยาศัยจะกระทำอย่างนี้ไหม คือ เป็นผู้มีปกติอยู่ในที่แจ้ง ไม่ใช่ครั้งคราว แต่ว่าเป็นปกติ
เสนาสนะประการที่ ๔ คือ โสสานิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ
อันนี้ก็คงจะเข้าใจได้ว่า สำหรับท่านที่ต้องการกำจัดธรรมอันเป็นข้าศึกนั้น ท่านก็รักษาองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ
เสนาสนะประการที่ ๕ ก็คือ ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้เป็นปกติ
การที่พระภิกษุจะอยู่ในที่ใดนั้น ก็ต้องมีภิกษุที่กำหนดให้เป็นผู้ดูแลว่า ควรจะอยู่ในเสนาสนะใด เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดมีฉันทะ มีความสันโดษ พอใจที่จะอยู่ในเสนาสนะที่ตนได้ อันนั้นก็เป็นเรื่องธุดงค์ประการที่เกี่ยวกับเสนาสนะ
ที่กล่าวถึงเรื่องธุดงค์ ก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ธุดงค์ประการใดเหมาะควรสำหรับเพศใด เพราะตอนท้ายท่านจะแสดงไว้ให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดไม่สามารถหรือว่าไม่ควรที่จะรักษาธุดงค์ประเภทใดแล้ว ย่อมจะไม่อุปการะแก่การที่จะให้รู้แจ้งธรรม
ในธุดงค์ ๑๓ ประการ ที่เกี่ยวกับบิณฑบาตก็มี ๕ ประการ คือ
ประการที่ ๑ บิณฑปาติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวไปบิณฑบาตเป็นปกติ
ประการที่ ๒ สปทานจาริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับเรือนเป็นปกติ
ประการที่ ๓ เอกาสนิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการฉัน ณ อาสนะเดียว เป็นปกติ
ประการที่ ๔ ปัตตปิณฑิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการถือเอาก้อนข้าวในบาตร เป็นปกติ หมายความว่า ฉันภาชนะเดียว คือเฉพาะในบาตรเท่านั้น
ประการที่ ๕ ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันไม่ฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ เมื่อท่านฉันเสร็จแล้ว ท่านก็ไม่มีการฉันภัตหลังจากที่ท่านฉันเสร็จแล้วอีกเลย
ในธุดงค์ ๑๓ ประการ ที่เกี่ยวกับจีวรก็มี ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ปังสุกูลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ
ประการที่ ๒ เตจีวริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่งไตรจีวรเป็นปกติ
นี่ก็เป็นธุดงค์ ๑๒ ประการ
สำหรับธุดงค์ประการสุดท้ายนั้น ไม่เนื่องกับเสนาสนะ ไม่เนื่องกับบิณฑบาต แต่เนื่องกับความเพียร มี ๑ ประการ คือ เนสัชชิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยการนั่ง เป็นปกติ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ลองคิดดูว่า ท่านเคยทำอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๑๓ ประการนี้บ้างไหม ทำด้วยความเข้าใจผิด คิดว่าจะต้องทำ หรือท่านเห็นพระภิกษุ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ที่บางท่านก็อยู่ในป่าเป็นปกติ บางท่านก็ฉันภัตตาหารเพียงครั้งเดียว หรือบางท่านก็ฉันในภาชนะเดียว คือในบาตรเป็นปกติ
สำหรับธุดงค์ ๑๓ ประการ ภิกษุย่อมจะสมาทานรักษาได้ทั้ง ๑๓ ข้อ สำหรับสามเณรนั้นได้เพียง ๑๒ ประการ คือ เว้นเต่เตจีวริกังคะ อันนี้ก็ตามสิกขาบท สำหรับภิกษุณี ธุดงค์ที่สมควรก็มี ๙ ประการ คือ เว้นเสนาสนะที่ไม่สมควร ๔ ประการ คือ เว้นการอยู่ป่าเป็นปกติ เว้นการอยู่โคนไม้เป็นปกติ เว้นการอยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ เว้นการอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ เพราะเหตุว่าไม่เหมาะสมกับเพศภิกษุณี
และสำหรับอุบาสกอุบาสิกานั้น จะรักษาธุดงค์อะไรได้บ้างใน ๑๓ ประการ สำหรับท่านที่ต้องการมีองค์ของธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดธรรมอันเป็นข้าศึกควรทราบ เพราะ ท่านไม่ใช่เพศบรรพชิต ท่านจะอยู่ป่าเป็นปกติได้ไหม อยู่โคนไม้เป็นปกติได้ไหม อยู่ในที่แจ้งเป็นปกติได้ไหม อยู่ในป่าช้าได้ไหม ถ้าอยู่แล้วจะเป็นเพศไหน และถ้าอยู่แล้วจะสำเร็จประโยชน์ไหม เพราะเหตุว่า เป็นตัวจริงๆ ของท่านหรือไม่ ถ้าไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของท่านแล้ว การอยู่นั้นอยู่อย่างไร อยู่เพราะอะไร นั่นก็เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องคิด แต่ที่ท่านแสดงไว้ว่า ในธุดงค์ ๑๓ ประการนั้น มีธุดงค์ที่อุบาสกอุบาสิกาอาจจะรักษาได้ ๒ ประการ คือ ในเรื่องของอาหาร ได้แก่ เอกาสนิกังคะ การเป็นผู้รับประทานอาหาร ณ อาสนะเดียวเป็นปกติ ประการหนึ่ง และปัตตปิณฑิกังคะ คือ การรับประทานอาหารในภาชนะเดียวเป็นปกติ นี่เป็นสิ่งที่อุบาสกอุบาสิกาสามารถที่จะรักษาได้ในธุดงค์ ๑๓ ประการ ไม่จำกัดสถานที่อยู่ของอุบาสกอุบาสิกา ไม่จำกัดเครื่องนุ่งห่มของอุบาสกอุบาสิกา เพราะเหตุว่าอัธยาศัยของอุบาสกอุบาสิกาเป็นผู้หนักในกามอยู่แล้ว ไม่ใช่หนักในเนกขัมมะ ในที่อยู่ที่อาศัย ในเครื่องนุ่งห่ม แต่ผู้ที่ต้องการขัดเกลาที่จะรักษาธุดงค์ได้ในเพศของอุบาสกอุบาสิกานั้น ก็อาจที่จะประพฤติเป็นไปได้ในเรื่องของอาหาร คือ เป็นผู้รับประทานอาหาร ณ ที่นั่งแห่งเดียว ไม่ย้ายที่ รับประทานยังไม่พอที่นี่ ลุกไปรับประทานที่โน่นอีก เมื่อจะนั่งรับประทานที่ไหน ก็รับประทานอิ่มในที่นั้นแล้วก็พอแล้ว สำหรับการดำเนินชีวิตให้เป็นไป ให้ไม่ติดในรส เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้รับประทานอาหารเพื่อบริหารร่างกายให้เป็นไป และอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นผู้ที่รับประทานอาหารในภาชนะเดียว ข้อนี้ก็สามารถรักษาได้
ในพระธรรมวินัยนั้นแสดงให้เห็นว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สำหรับเพศใด สำหรับเพศภิกษุนั้นย่อมขัดเกลาได้ยิ่งขึ้น ไม่ว่าในเรื่องของเสนาสนะ สำหรับภิกษุณีนั้นไม่เหมาะสม ไม่ใช่สิ่งที่จะรักษาได้โดยง่าย ในเรื่องของเสนาสนะก็เว้นที่ไม่สมควร และสำหรับอุบาสกอุบาสิกา อัธยาศัยจริงๆ นั้นไม่ใช่ผู้อยู่ป่าเป็นปกติ ไม่ใช่ผู้อยู่โคนไม้เป็นปกติ ไม่ใช่ผู้อยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในป่าช้าเป็นปกติ การที่อุบาสกอุบาสิกาจะเข้าไปอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่หนักในเนกขัมมะ ไม่ใช่เป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน ไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของผู้ที่ยังเป็นอุบาสกอุบาสิกา
เพราะฉะนั้น ในเรื่องของธุดงค์ที่ได้แสดงไว้ว่า เพศใดสามารถจะรักษาธุดงค์ได้ประการใดนั้น ก็จะช่วยให้ท่านพิจารณาการประพฤติปฏิบัติของท่านว่า ที่ท่านประพฤติปฏิบัตินั้นมีเหตุผลถูกต้องไหม เป็นไปด้วยความเข้าใจถูก หรือว่าเป็นไปด้วยความเข้าใจผิด
ถ้าท่านต้องการขัดเกลากิเลส แล้วศึกษาพระธรรมวินัย สิ่งใดที่จะประพฤติปฏิบัติขัดเกลาทำตามได้ ก็พยายามประพฤติปฏิบัติขัดเกลาได้ เป็นสิ่งที่ควร แต่ว่าไม่ใช่ทำด้วยความเข้าใจผิดคิดว่า ต้องทำอย่างนั้น เพราะเหตุว่าท่านทำด้วยความเข้าใจผิด ฝืนอัธยาศัยของท่าน จะไม่ทำให้สำเร็จประโยชน์ในการกระทำอย่างนั้นเลย
พระธรรมนั้นสมบูรณ์ทั้งอรรถและพยัญชนะ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะข้ามข้อความในพระสูตร เพื่อที่จะให้ท่านได้เข้าใจเรื่องของการเจริญสติ เพราะเหตุว่า ถ้ามีข้อความจากพระไตรปิฎกโดยตรงให้ท่านได้พิจารณา สอบทาน ก็จะทำให้เข้าใจกว้างขวาง พิจารณาได้มากขึ้น
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ภิกขุสังยุต เถรนามสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พรวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีชื่อว่าเถระ ท่านเป็นผู้ที่มีปกติอยู่ผู้เดียว และสรรเสริญการอยู่ผู้เดียว
ใช้คำว่า “เป็นปกติ” แสดงว่า เป็นอัธยาศัยของท่านจริงๆ ไม่ใช่ท่านไม่มีอัธยาศัยอย่างนั้น แล้วก็ไปทำสิ่งที่ไม่ใช่อัธยาศัยของท่าน
ข้อความมีว่า
เธอเป็นผู้เดียว เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เป็นผู้เดียวเดินกลับ ย่อมนั่งยู่ในที่ลับผู้เดียว และย่อมเป็นผู้เดียวอธิษฐานจงกรม
คือ เป็นผู้เดียวตลอดเวลา ถ้าจะพูดก็เหมือนกับว่า ไม่คบหาสมาคมกับใครเลย เป็นผู้ที่มีปกติอยู่ผู้เดียวจริงๆ