แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 48

อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ บริษัทที่ดื้อด้าน ไม่ได้รับการสอบถามแนะนำ ๑ บริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำ ไม่ดื้อด้าน ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่ดื้อด้านไม่ได้รับการสอบถามแนะนำ เป็นไฉน ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ เมื่อผู้อื่นกล่าวพระสูตรที่ตถาคตภาษิตไว้ ซึ่งลึกล้ำ มีอรรถอันลึกล้ำ เป็นโลกุตตระ ปฏิสังยุตด้วยสุญญตธรรม ไม่ตั้งใจฟังให้ดี ไม่เงี่ยหูลงสดับ ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อจะรู้ทั่วถึง

อนึ่ง ภิกษุเหล่านั้น ไม่เข้าใจธรรมที่ตนควรเล่าเรียน ท่องขึ้นใจ แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวพระสูตรที่กวีได้รจนาไว้ เป็นคำกวีมีอักษรวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร มีในภายนอกซึ่งสาวกได้ภาษิตไว้ ย่อมตั้งใจฟังเป็นอย่างดี เงี่ยหูลงสดับ เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อจะรู้ทั่วถึง

ภิกษุเหล่านั้นเรียนธรรมนั้นแล้ว ไม่สอบสวน ไม่เที่ยวไต่ถามกันและกันว่า พยัญชนะนี้อย่างไร อรรถแห่งภาษิตนี้เป็นไฉน ภิกษุเหล่านั้นไม่เปิดเผยอรรถที่ลี้ลับ ไม่ทำอรรถที่ลึกซึ้งให้ตื้น และไม่บรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายอย่างเสีย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่าบริษัทดื้อด้าน ไม่ได้รับการสอบถามแนะนำ

ส่วนบริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำ ไม่ดื้อด้านนั้น ก็โดยนัยตรงกันข้ามเพราะฉะนั้น ก็ควรพิจารณาเพื่อเป็นบริษัทที่ไม่ดื้อด้าน

ถ. ถ้าไม่เชื่อว่ามีนรก อย่างนี้ดื้อด้านไหม

สุ. ไม่เชื่อนั้นคิดเอาเองใช่ไหม ไม่ใช่ว่าเมื่อใครบอกว่าอะไรก็ให้เชื่อ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ว่าต้องตามๆ กันไป แต่หมายความว่า ต้องศึกษาธรรม พิจารณาเหตุผล ไม่ใช่ฟังโดยผิวเผิน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้โดยชอบ ทรงพระปัญญาคุณเหนือผู้อื่นใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เชื่อคนอื่นหรือว่าเชื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ. ในขณะที่ยุงกัด แต่ท่านไม่เบียดเบียนไม่ประทุษร้าย ไล่ไปในขณะนั้นชื่อว่ามีสติไหม

สุ. ในขณะนั้นเป็นสติขั้นศีล วิรัติทุจริต เพราะเหตุว่าถึงแม้ในขณะที่วิรัตินั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อัตตา เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งระลึกได้ที่จะไม่เบียดเบียนสัตว์นั้น เป็นไปในศีล แต่ว่าถ้าไม่เจริญสติ ในขณะนั้นก็เป็นตัวตน ที่กำลังวิรัติทุจริต

ในปลิโพธ ก็มีข้อความในพระสูตรสั้น ๆ ที่จะขอกล่าวถึง

สังยุตตนิกาย สคาถวรรคนาคทัตตสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ท่านพระนาคทัตตะ พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล สมัยนั้นท่านพระนาคทัตตะเข้าไปสู่บ้านแต่เช้าตรู่ และกลับมาหลังเที่ยง ครั้งนั้น เทวดาผู้ที่สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่ท่านพระนาคทัตตะ ใคร่จะให้ท่านสังเวช จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวแก่ท่านด้วยคาถาว่า

ท่านนาคทัตตะ ท่านเข้าไปแล้วในกาล และกลับมาในกลางวัน ท่านมีปกติเที่ยวไปเกินเวลา คลุกคลีกับคฤหัสถ์ พลอยร่วมสุขร่วมทุกข์กับเขา เราย่อมกลัวพระนาคทัตตะ ผู้คะนองสิ้นดี และพัวพันในสกุลทั้งหลาย ท่านอย่าไปสู่อำนาจของมัจจุราชผู้มีกำลัง กระทำซึ่งที่สุดเลย

ลำดับนั้น ท่านพระนาคทัตตะ เป็นผู้อันเทวดานั้นให้สังเวช ถึงซึ่งความสลดใจแล้ว

ที่กล่าวถึงท่านพระนาคทัตตะ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้เป็นภิกษุ พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง กิเลสความกังวลที่เป็นกุลปลิโพธก็ยังมี เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าท่านจะละกุลปลิโพธ หรือปลิโพธอื่นๆ ให้หมดแล้ว จึงจะเจริญสติปัฏฐาน เพราะไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ในป่า เป็นภิกษุมีกิเลส ก็ยังมีปลิโพธ

อีกสูตรหนึ่ง ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค วัชชีปุตตสูตรที่ ๙ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ใกล้เมืองเวสาลี สมัยนั้น วาระแห่งมหรสพตลอดราตรีทั้งปวง ย่อมมีในเมืองเวสาลี ครั้งนั้น ภิกษุนั้นได้ฟังเสียงกึกก้องแห่งดนตรี อันบุคคลตีและบรรเลงแล้วในเมืองเวสาลี คร่ำครวญอยู่ ได้ภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า

เราเป็นคนๆ เดียว อยู่ในป่า ประดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งแล้วในป่าฉะนั้น ใครจะเป็นผู้ลามกกว่าเราในราตรีเช่นนี้หนอ

ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่เธอ ใคร่จะยังเธอให้สลด จึงเข้าไปหาจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะเธอด้วยคาถาว่า

ท่านเป็นคน ๆ เดียวเท่านั้นอยู่ในป่า ประดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งแล้วในป่าฉะนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมากย่อมรักท่าน ประดุจสัตว์นรก รักผู้ที่จะไปสวรรค์ ฉะนั้น

ลำดับนั้นแล ภิกษุนั้นเป็นผู้อันเทวดาให้สังเวช ถึงซึ่งความสลดแล้วแล

นี่เป็นผู้ที่ยังมีกิเลส เวลาที่ได้ฟังเสียงดนตรีที่บรรเลงในเมืองเวสาลี ก็คร่ำครวญด้วยความคิดว่า ตนเป็นผู้ที่น่าอนาถ น่าสังเวชยิ่งกว่าใครๆ เพราะว่าอยู่คนเดียวในป่า เหมือนกับท่อนไม้ที่เขาทิ้งแล้ว รู้สึกว้าเหว่ เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้นมีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่ท่าน จึงได้กล่าวกะท่านด้วยคาถา

ไม่ทราบท่านผู้ฟังเห็นประโยชน์ที่เทวดาท่านกล่าวภาษิตว่า

ท่านเป็นคนๆ เดียวเท่านั้นที่อยู่ในป่า ประดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งแล้วในป่าฉะนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ย่อมรักท่าน ประดุจสัตว์นรกรักผู้ที่จะไปสวรรค์ฉะนั้น

ใครกำลังเป็นสัตว์นรก ใครกำลังเป็นผู้ที่จะไปสวรรค์ คนที่แวดล้อมพัวพันอยู่ในเมืองเวสาลี กำลังเพลิดเพลินฟังดนตรีที่กำลังบรรเลง อาจจะรู้สึกว่าเป็นผู้ที่ไม่ว้าเหว่ สนุก มีมิตรสหายมาก มีตัณหา มีความเพลิดเพลิน มีความเกี่ยวข้องกับตา กับหู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่าท่านไม่ทราบว่า ความยินดีพอใจ ที่เกี่ยวข้องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ โลภะ โทสะ โมหะจะพาท่านไปไหน ไปสวรรค์หรือเปล่า พาไปไหน พาไปนรก พาไปอบายภูมิ

เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่ไม่ได้ฟังพระธรรมด้วยการพิจารณาไตร่ตรอง ท่านจะไม่ทราบเลยว่า พระธรรมนั้นมีอุปการะมาก แท้ที่จริงที่ท่านกำลังเพลินอยู่ เหมือนคนที่ไม่ว้าเหว่ แท้จริงแล้ว ทุก ๆ ขณะที่เกี่ยวข้อง ผูกพันเพลิดเพลินไป ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างนั้น ท่านมีเชื้อที่จะพาไปอบายภูมิ แต่ว่าผู้ใดก็ตามที่พรากตนจากการเพลิดเพลินไป ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กาย ใจบ้างนั้น ย่อมปรากฏแก่เทวดา และเทวดาเป็นอันมากนั้นย่อมรักท่านผู้นั้น ประดุจสัตว์นรกรักผู้ที่จะไปสวรรค์

ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่จะไปสวรรค์ เพราะท่านกำลังตัดเชื้อที่ทำให้ท่านไปสู่อบายภูมิ

ท่านอาจจะไม่รู้สึกตัว กุลปลิโพธ ผูกพันกับบุคคลในตระกูล กับวงศาคณาญาติกับมิตรสหาย ถ้าเป็นไปในกุศล เป็นเมตตา อุปการะแก่กันและกัน เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ในขณะที่สำรวจจิตใจของท่าน แล้วก็รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ใจของท่านเป็นโลภะผูกพันไว้ หรือว่าเป็นการอุปการะด้วยกุศลจิต ท่านย่อมรู้ คนอื่นไม่รู้ได้ว่า ความผูกพันความกังวล ที่เป็นกุลปลิโพธของท่านนั้นมากน้อยแค่ไหน แต่ผู้ที่เข้าใจกุศลธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ความที่เข้าใจถูกนั้นย่อมบรรเทาฝ่ายที่เป็นอกุศลให้ลดน้อยลง แล้วก็เพิ่มฝ่ายที่เป็นกุศลให้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วก็พิจารณารู้ชัด ก็น้อมนำธรรมนั้น มาเป็นประโยชน์ขัดเกลาฝ่ายอกุศลให้เบาบาง แล้วก็เพิ่มพูนทางฝ่ายกุศลให้มากขึ้น หลงลืมสติขณะใด ขณะนั้นก็ไม่ได้ทำลายเชื้อที่จะพาไปสู่อบายภูมิ ผูกพันไว้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากสักเท่าไร กับบุคคลในตระกูล กับมิตรสหาย วงศาคณาญาติ ผู้อุปัฏฐากหรืออะไรก็ตามแต่ นั่นก็ให้ทราบว่า ถ้าเป็นอกุศลแล้ว เป็นเชื้อที่จะพาไปสู่อบายภูมิทั้งสิ้น

มีพระสูตรๆ หนึ่ง ซึ่งอุปการะมากที่จะให้เห็นว่า อกุศลนั้นเป็นโทษมากเพียงไร

อังคุตตรนิกาย อัคคิขันธูปมสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จดำเนินไปสู่ทางไกล ได้ทอดพระเนตรเห็นไฟกองใหญ่ กำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่ในที่แห่งหนึ่ง จึงเสด็จแวะจากทาง ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ใกล้โคนไม้แห่งหนึ่ง

ครั้นแล้วก็ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า เห็นไฟกองใหญ่ที่กำลังลุกโชติช่วงหรือไม่ ซึ่งภิกษุเหล่านั้นก็กราบทูลว่า เห็น

นี่ทรงอนุเคราะห์สาวก ถึงแม้ว่าจะได้ผ่านสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การแสดงธรรม ก็ไม่ละโอกาสที่จะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลาย มีข้อความว่า

การเข้าไปนั่งนอนติดชิดสัมผัสกองไฟที่กำลังลุกโชติช่วงนั้น กับการเข้าไปนั่งนอนติดชิดสัมผัสพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์ หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน

ท่านคิดว่าพระภิกษุทั้งหลายในครั้งพุทธกาล ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคได้ฟังธรรมอยู่เนืองนิจจะตอบว่าอย่างไร

ท่านพระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

การเข้าไปนั่ง นอนติดชิดสัมผัสพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์ หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม ประเสริฐกว่า การเข้าไปนั่ง นอนติดชิดสัมผัสกองไฟที่กำลังลุกโชติช่วงอยู่ เพราะเหตุว่าการเข้าไปนั่ง นอนติดชิดสัมผัสกองไฟที่กำลังลุกโชติช่วงอยู่นั้น เป็นทุกข์

คนธรรมดาเห็นแน่ชัดเจนใช่ไหม เข้าไปในกองไฟจะทุกข์หรือจะสุข ต้องทุกข์แน่นอน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

พระองค์ขอบอก ขอเตือนภิกษุทั้งหลายว่า การที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติสกปรก น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่า เป็นสมณะไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่า ประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน มีความกำหนัดแรงกล้า เป็นดังหยากเยื่อ เข้าไปนั่งนอนติดชิดสัมผัสพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์ หรือบุตรสาวคฤหบดี จะประเสริฐอย่างไร การเข้าไปนั่งนอนติดชิดสัมผัสกองไฟที่กำลังลุกโชติช่วงอยู่นี้ ดีกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะถึงแม้ว่าอาจจะตาย หรือเกือบจะตายเพราะกองไฟนั้นเป็นเหตุ ก็จะไม่เกิดในอบายภูมิ เพราะกองไฟนั้นเป็นเหตุ

ส่วนการที่บุคคลเข้าไปนั่งนอนติดชิดสัมผัสพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์ หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอันอ่อนนุ่มนั้น เมื่อตายไปย่อมเกิดในนรก

มีเชื้อของโลภะ โทสะ โมหะที่จะให้ไปสู่อบายภูมิ ขณะใดก็ตามที่เห็น ที่ได้ยิน แล้วพอใจบ้าง มีโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างนั้น ถ้าไม่เจริญสติ ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปในวันหนึ่งให้บ่อยขึ้น เนืองขึ้น ชัดเจนขึ้นแล้ว เชื้อที่จะให้ไปสู่อบายภูมินี้ ไม่มีทางที่จะหมดไปได้เลย ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน

เพื่อทรงอนุเคราะห์ พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษมีกำลังเอาเชือกหนังอันเหนียวแน่นพันแข้งทั้ง ๒ ข้าง แล้วชักไปมา เชือกหนังพึงบาดผิว บาดผิวแล้ว พึงบาดหนัง บาดหนังแล้ว พึงบาดเนื้อ บาดเนื้อแล้ว พึงตัดเส้นเอ็น ตัดเส้นเอ็นแล้ว พึงตัดกระดูก ตัดกระดูกแล้วหยุดอยู่ จรดเยื่อในกระดูก กับการยินดีการกราบไหว้แห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

เพียงยินดีการกราบไหว้ของกษัตริย์มหาศาล เป็นเชื้อที่จะให้ไปอบายภูมิหรือเปล่า เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามเปรียบเทียบให้เห็นว่า การที่บุรุษมีกำลังเอาเชือกหนังอันเหนียวแน่นพันแข้งทั้ง ๒ ข้าง แล้วชักไปมา เชือกหนังพึงบาดผิว บาดผิวแล้วพึงบาดหนัง บาดหนังแล้วพึงบาดเนื้อ บาดเนื้อแล้วพึงตัดเส้นเอ็น ตัดเส้นเอ็นแล้วพึงตัดกระดูก ตัดกระดูกแล้วหยุดอยู่จรดเยื่อในกระดูก จะเป็นความทุกข์สักแค่ไหน เวลาในนรกไม่ใช่วันเดียว นานแสนนานทีเดียว แล้วเชื้อยังมีอยู่ก็น่ากลัวจริงๆ ซึ่งพระภิกษุจะกราบทูลตอบว่าอย่างไร

อย่างเดิม คือว่าการยินดีการกราบไหว้แห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ดีกว่าการที่จะถูกบุรุษผู้มีกำลัง เอาเชือกหนังอันเหนียวแน่น พันแข้งทั้ง ๒ ข้างแล้วชักไปมา ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเช่นเดียวกันว่า

พระองค์ขอบอกขอเตือนภิกษุทั้งหลายว่า การที่บุรุษมีกำลังเอาเชือกหนังอันเหนียวแน่นกระทำเช่นนั้น ก็ยังดีกว่าการยินดีการกราบไหว้ แห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล เพราะเหตุว่าการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติสกปรก ยินดีการกราบไหว้ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาลนั้นจะดีอย่างไร เพราะเหตุว่า เมื่อตายไปย่อมเกิดในนรก

แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษมีกำลัง เอาหอกอันคมชะโลมน้ำมัน พุ่งใส่กลางอก กับการยินดีอัญชลีกรรมของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

ภิกษุจะเปลี่ยนคำตอบไหม ในอัคคิขันธูปมสูตร มีภิกษุจำนวนมากที่ตามเสด็จ

แล้วก็ภิกษุเหล่านั้นก็กราบทูลเช่นเดิมว่า การยินดีอัญชลีกรรม ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาลนั้นดีกว่า

ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า พระองค์ขอบอกขอเตือน ว่าการที่บุคคลผู้ทุศีลมีธรรมลามก ไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์นั้น ยินดีในอัญชลีกรรมของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาลนั้น ก็ไม่มีประโยชน์เลย เพราะเหตุว่า เมื่อตายไปย่อมเกิดในนรก

แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษมีกำลัง เอาแผ่นเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง นาบกายตัว กับการบริโภคจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

ภิกษุก็ตอบเช่นเดิม แล้วพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า พระองค์ขอบอก ขอเตือนเช่นเดิม พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษมีกำลัง เอาขอเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง เกี่ยวปากอ้าไว้ แล้วกรอกก้อนเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง เข้าไปในปาก ก้อนเหล็กแดงนั้น จะพึงไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก ไหม้ลิ้น ไหม้คอ ไหม้อก ไหม้เรื่อยไปถึงไส้ใหญ่ ไส้น้อย แล้วออกทางทวารเบื้องต่ำ กับการบริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธาของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

ซึ่งพระภิกษุก็ทูลตอบอย่างเดิม แล้วพระผู้มีพระภาคก็ประทานโอวาทอย่างเดิม แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษผู้มีกำลัง จับที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วให้นั่งทับนอนทับ บนเตียงเหล็ก หรือตั่งเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง กับการบริโภคเตียงตั่ง ที่เขาถวายด้วยศรัทธาของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

นี่ก็เป็นเรื่องของเตียงตั่งที่บุคคลถวาย ซึ่งภิกษุก็กราบทูลเช่นเดิม พระผู้มีพระภาคก็ประทานโอวาทเช่นเดิม แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษมีกำลัง จับมัด เอาเท้าขึ้น เอาหัวลง โยนลงในหม้อเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง ผู้นั้นถูกไฟเผาเดือดดุจฟองน้ำ ในหม้อเหล็กแดงนั้น บางครั้งลอยขึ้นข้างบน บางครั้งจมลงข้างล่าง บางครั้งลอยไปขวางๆ กับการบริโภควิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

ภิกษุก็กราบทูลอย่างเดิม พระผู้มีพระภาคก็ประทานโอวาทอย่างเดิม

เปิด  330
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565