แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 57

สุ. มีผู้ถามว่า รูปนามนี้มีอะไรดีบ้างไหม เพราะตั้งแต่เช้ามาก็มีแต่ทุกข์ที่จะต้องบำรุงบริหารรักษาความสะอาด ความหิว ทุกสิ่งทุกอย่าง

นั่นรูปนาม หรือตัวเรา ยังไม่ใช่รูป ไม่ใช่นามแต่ละชนิดที่เกิดดับติดต่อกัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงความคิดโดยการฟังว่า ตัวตนนั้นไม่มีเลย มีแต่นามกับรูปเท่านั้น และสภาพของนามก็มีทั้งสุข มีทั้งทุกข์ มีทั้งดีใจ มีทั้งเสียใจ มีทั้งที่รู้ทางตา มีทั้งที่รู้ทางหู แต่ละชนิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตนเลย

ในคราวก่อนนั้นเป็นเรื่องของอัทธานปลิโพธ ซึ่งไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา และได้ยกตัวอย่างในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระองค์ได้เสด็จดำเนินทางไกลมาก เมื่อประทับ ณ พระนครราชคฤห์แล้ว ก็ได้ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า จะไปยังอัมพลัฏฐิกา และพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ก็ได้ไปสู่อัมพลัฏฐิกา

ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จดำเนินทางไกลไป ณ ที่ใดก็ตาม พระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงส่วนมากนั้นเป็นเรื่องของศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา

จากอัมพลัฏฐิกา พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปยังนาลันทคาม พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ต่อจากนั้นก็เสด็จต่อไปปาฏลิคาม ได้ทรงแสดงธรรมเป็นอันมากทุกๆ แห่งที่เสด็จไป

จากนั้นเสด็จไปโกฏิคาม ได้ทรงแสดงธรรมเรื่องของศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถาเป็นอันมาก

จากนั้นเสด็จไปยังนาทิกคาม จากนั้นก็เสด็จไปยังเมืองเวสาลี ประทับใน อัมพปาลิวัน ซึ่ง ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมเรื่องของการมีสติสัมปชัญญะ ได้ทรงแสดงว่า อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสติ

ทุกท่านเวลาที่เจริญสติปัฏฐาน คงจะต้องการทราบว่า พยัญชนะความหมายของสตินั้นคืออะไร และความหมายของสัมปชัญญะนั้นคืออะไร ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคได้ทรงอธิบายไว้แก่บรรดาภิกษุทั้งหลายว่า

อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสติ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาใน เวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสติ

อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำความรู้ตัวในการก้าว ในกายถอย ในการแลในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว ในการลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุศาสนีของเรา สำหรับเธอ

ก็คงจะหมดความสงสัยว่า มีสติสัมปชัญญะนั้นคืออย่างไร

มีสัมปชัญญะ คือ การรู้สึกตัว ไม่ว่าจะเป็นในขณะไหน เป็นต้นว่า ในขณะยืนหรือเดิน หรือนั่ง นอน พูด หลับ ตื่น นิ่ง ลิ้ม เคี้ยว

คือ ทุกขณะ ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นแล เหลียว คู้เข้า เหยียดออก เป็นผู้มีความรู้สึกตัว

นี่ก็เป็นสัมปชัญญะ ซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะความรู้สึกตัว จะต้องมีสติ คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมด้วย

เพราะฉะนั้น สองพยัญชนะนี้จะเห็นได้ว่า การเจริญสติไม่จำกัดเลย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด ในอิริยาบถใด กระทำการงานใด ขณะใดทั้งสิ้น

ขอกล่าวถึงข้อความต่อไปใน มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

จากนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังบ้านเวฬุวคาม ทรงจำพรรษาในบ้าน เวฬุวคามนั้นแหละ และทรงโปรดให้ภิกษุทั้งหลายจำพรรษารอบเมืองเวสาลี ตามที่เป็นมิตรกัน ตามที่เคยเห็นกัน ตามที่เคยคบกัน

ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาแล้ว ทรงประชวรอย่างหนัก ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้น ไม่พรั่นพรึง ทรงพระดำริว่า การที่เราจะไม่บอกภิกษุผู้อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ ปรินิพพานเสียนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ถ้ากระไรเราพึงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่เถิด

ที่ว่าทรงพระดำริว่า การที่เราจะไม่บอกภิกษุผู้อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานเสียนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ถ้ากระไร เราพึงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่เถิด

ความเจ็บไข้ได้ป่วย มีวิธีอะไรที่จะขับไล่ได้บ้างไหม สำหรับผู้ที่ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลยก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร นอกจากว่าจะรับประทานยารักษาโรค แต่ว่าบางสิ่งบางอย่างนั้นถึงแม้ว่าจะใช้ยารักษาแล้ว ก็ยังไม่หาย แต่ที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ จะกระทำโดยวิธีการใด

ท่านที่เจ็บไข้ได้ป่วย มีวิธีอะไรบ้างไหมที่จะเป็นประโยชน์ เจริญสติเจริญได้ ถ้าเข้าใจ เพราะว่าในขณะนั้นเมื่อพิจารณาสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่หมดกิเลสก็จะละคลายการที่ยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นตัวตน แต่เวลานี้นามรูปที่ปรากฏก็ยังยึดถือว่า เป็นเราสุข เราทุกข์ เราเจ็บ เราปวด เราเมื่อยต่างๆ นั้น ก็เป็นเพราะเหตุว่าปัญญาไม่ได้เจริญขึ้น ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงจนกระทั่งชิน จนกระทั่งหมดสงสัยในนามและรูปนั้น

การเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ห้ามไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภิกษุสงฆ์สาวกที่เป็นพระอริยบุคคล หรือบุคคลใดๆ ก็ตาม แต่ว่าถ้าผู้นั้นได้เจริญสติอยู่เสมอ ไม่เลือกอารมณ์ ไม่เลือกสถานที่ เวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ยังสามารถที่จะมีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นได้ และทำให้เห็นความไม่ใช่สาระของทุกสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็จะทำให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นบรรเทาลง ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ ความโทมนัส ความเดือดร้อนมากเหมือนกับเวลาที่ไม่เคยเจริญสติ

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหายประชวร คือ หายจากความเป็นคนไข้ ไม่นานก็เสด็จออกจากวิหาร ไปประทับนั่งบนอาสนะที่ภิกษุจัดถวายไว้ที่เงาวิหาร

ครั้งนั้นท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นความสำราญของพระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพระองค์เห็นความอดทนของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็แต่ว่าเพราะการประชวรของพระผู้มีพระภาค กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งกับข้าพระองค์

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่าข้าพระองค์มามีความเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคจักยังไม่เสด็จปรินิพพาน จนกว่าจะได้ทรงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นปัจฉิมโอวาท

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังอะไรในเราเล่า ธรรมอันเราได้แสดงแล้ว กระทำไม่ให้มีในภายใน ไม่ให้มีในภายนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลายมิได้มีแก่ตถาคต ผู้ใดจะพึงคิดอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จะเชิดชูเราดังนี้ ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่

ดูกร อานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จะเชิดชูเรา ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งในคราวหนึ่ง

นี่เป็นเรื่องที่ให้เห็นว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมนั้นไม่ใช่เป็นเพราะหวังที่จะบริหารภิกษุสงฆ์ หรือหวังที่จะให้ภิกษุสงฆ์เชิดชูพระองค์ เพราะเหตุว่าบางคนที่คิดอย่างนั้น หวังอย่างนั้น แล้วก็แสดงธรรม แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคนั้นตรัสว่า

ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จะเชิดชูเรา ตถาคตจักปรารภภิกษุ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งในคราวหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร อานนท์ บัดนี้เราแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ เพราะการซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ แม้ฉันใด กายของตถาคตฉันนั้นเหมือนกัน ยังเป็นไปได้ ก็คล้ายกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่

ดูกร อานนท์ สมัยใดที่ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้นกายของตถาคตย่อมผาสุก

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

เพราะฉะนั้น พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่เถิด

ดูกร อานนท์ อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก

อย่างนี้แล อานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

ดูกร อานนท์ ผู้ใดผู้หนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักปรากฏอยู่โดยความเป็นยอดยิ่ง

ถ้าจะพึ่งพระผู้มีพระภาค พึ่งโดยอย่างไร สมัยนี้พึ่งได้ไหม หรือว่าพึ่งไม่ได้แล้ว ยังพึ่งได้ ถ้าศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ แล้วประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ด้วย เพราะเหตุว่าอะไรจะเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงในชีวิต จะพึ่งอะไรได้ พึ่งทรัพย์สมบัติได้ไหม พึ่งบุคคลอื่นได้ไหม อย่าลืมว่า ถ้าคิดจะพึ่งอย่างอื่นแล้ว ขอให้ระลึกถึงพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคที่ว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง

และการที่ตนจะเป็นที่พึ่งได้นั้น ก็ต้องเป็นการเจริญกุศลที่เป็นประโยชน์ที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ เพราะเหตุว่ากุศลก็มีหลายระดับขั้น แต่กุศลที่จะเป็นประโยชน์ เป็นที่พึ่งได้จริงๆ นั้นคือ การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เพื่อจะได้มีปัญญาละความเห็นผิด จนกระทั่งหมดกิเลสในที่สุดได้

ข้อความใน มหาปรินิพพานสูตร มีต่อไปว่า

พระผู้มีพระภาคประทับพักผ่อนที่ปาวาลเจดีย์ มารไปเฝ้ากราบทูลให้ปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขาร ท่านพระอานนท์ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคก็เสด็จไปยังกูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน แล้วรับสั่งให้ภิกษุทุกรูปในเมืองเวสาลีมาประชุมที่อุปัฏฐานศาลา ทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม

ก่อนที่จะปรินิพพาน จะเห็นได้ว่าธรรมที่ทรงแสดงส่วนมากเป็นไปในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จต่อไปยังบ้านภัณฑคาม ทรงแสดงธรรมอันได้แก่ ศีลอันเป็นอริยะ สมาธิอันเป็นอริยะ ปัญญาอันเป็นอริยะ ทรงกระทำธรรมีกถาเป็นอันมากในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา

ต่อจากนั้น เสด็จไปยังบ้านหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม และโภคนคร ในโภคนครนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ ทรงแสดงมหาปเทส ๔

ซึ่งมหาปเทส ๔ ก็ได้แก่ข้อความที่ตรัสเตือนให้พุทธบริษัทสอบสวนบทพยัญชนะในพระสูตรและเทียบเคียงในพระวินัย เพื่อความแจ่มแจ้งไม่คลาดเคลื่อนของธรรม

ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จต่อไปยังเมืองปาวา ประทับ ณ อัมพวันของนายจุณทกัมมารบุตร นายจุนทกัมมารบุตรไปเฝ้าฟังธรรม และกราบทูลนิมนต์ให้ทรงรับภัตตาหาร ซึ่งภัตตาหารนั้นก็ได้แก่ สูกรมัททวะ

ซึ่งมีข้อความอธิบายว่า เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ปรุงด้วยเห็ดชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็ดชนิดนั้นหมูชอบกิน

พระผู้มีพระภาคเสวยแล้ว เกิดอาพาธอย่างร้ายแรงใกล้จะปรินิพพาน ทรงอดกลั้นไม่พรั่นพรึง เสด็จต่อไปยังกุสินารา ระหว่างทาง เสด็จแวะจากหนทางเข้าไปยังโคนไม้เพื่อทรงพักผ่อน เพราะว่าขณะนั้นทรงกระหายน้ำ

ปุกกุสมัลลบุตร โอรสเจ้ามัลละเดินทางจากกุสินาราไปปาวา เห็นพระผู้มีพระภาคจึงได้เข้าไปเฝ้า และมีโอกาสได้ฟังธรรม ได้ถวายผ้าเนื้อละเอียด มีสีดังทองสิงคี ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ให้ถวายท่านพระอานนท์ครองผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งนั้นพระอานนท์ก็น้อมมาถวายพระผู้มีพระภาค

ในขณะที่ท่านพระอานนท์น้อมผ้าเนื้อละเอียดเข้ามาถวายพระผู้มีพระภาคนั้น พระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาคผุดผ่องมาก ทำให้ผ้าที่น้อมไปถวายนั้นปรากฏดังถ่านที่ปราศจากเปลว

ซึ่งการที่พระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาคจะผุดผ่องถึงเช่นนี้นั้น ย่อมเป็นไปในกาล ๒ คือ ในราตรีที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณครั้ง ๑ แล้วก็ในราตรีที่จะปรินิพพานในปัจฉิมยามระหว่างไม้สาระทั้งคู่

ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้เสด็จไปยังแม่น้ำกกุธานที ทรงสรง เสวยแล้วเสด็จขึ้น เสด็จไปยังอัมพวัน ทรงพักผ่อน พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดี เมืองกุสินารา และสาลวัน อันเป็นที่แวะพักแห่งเจ้ามัลละ ตรัสให้ท่านพระอานนท์ตั้งเตียงหันศีรษะไปทางทิศอุดร ระหว่างไม้สาระทั้งคู่ ทรงสำเร็จสีหไสยา ซึ่งขณะนั้นดอกมณฑารพ จุณแห่งจันทร์อันเป็นทิพย์ ดนตรีทิพย์ ก็ได้ประโคมบูชา

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมก่อนปรินิพพาน และแล้วลำดับนั้นพระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

ซึ่งข้อความนี้ย่อมาก จากมหาปรินิพพานสูตรซึ่งได้แสดงไว้อย่างละเอียดทีเดียวว่า มีผู้ใดได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคบ้าง และมีเหตุการณ์โดยละเอียดที่เกิดขึ้นก่อนที่จะปรินิพพาน

เปิด  317
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565