แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 58
ข้อสำคัญก็คือพระปัจฉิมวาจา ที่ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
รวมพุทธดำรัสทั้งหมดในความไม่ประมาท เพราะว่าไม่มีใครทราบจริงๆ ในเรื่องของภพภูมิต่อไป การที่มีโอกาสได้อยู่ในภพภูมินี้ และมีโอกาสได้ศึกษาธรรม ได้ฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ถ้าจะยิ่งประพฤติปฏิบัติตามได้ด้วยความไม่ประมาท
เพราะฉะนั้น ควรจะพิจารณาความหมายของคำว่า ไม่ประมาทในที่นี้ เพราะบางท่านที่ยังเป็นผู้ที่หมกมุ่นในชีวิต ในลาภ ก็จะเข้าใจว่าเป็นความไม่ประมาทในการแสวงหาลาภ การแสวงหาปัจจัย แต่ว่าความไม่ประมาทนั้นควรจะเป็นในการเจริญกุศล ไม่ใช่ในอกุศล
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทสขัคควิสาณสุตตนิทเทส มีข้อความกล่าวถึง ความหมายของความไม่ประมาทไว้ว่า
พึงกล่าวความประมาทในคำ ปมตฺตํ ดังต่อไปนี้ ความปล่อยจิตไป ความตามเพิ่มการปล่อยจิตไปในกายทุจริตก็ดี ในวจีทุจริตก็ดี ในมโนทุจริตก็ดี ในเบญจกามคุณก็ดี หรือทำโดยไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่ทำเนืองๆ ความทำหยุดๆ ความประพฤติย่อหย่อน ความปลงฉันทะ ความทอดธุระ ความไม่เสพ ความไม่เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจ ความไม่ประกอบเนืองๆ ในการบำเพ็ญธรรมทั้งหลายฝ่ายกุศล ความประมาท กิริยาที่ประมาท ความเป็นผู้ประมาท เห็นปานนี้ ท่านกล่าวว่า ความประมาท
เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทก็ตรงกันข้าม คือ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ปล่อยจิตไป หรือไม่ตามเพิ่มการปล่อยจิตไปในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต เหล่านั้นเป็นต้น
ข้อนี้คงจะเป็นเครื่องเตือนท่านที่ยังรีรอในการเจริญสติปัฏฐาน คิดที่จะผัดผ่อน ไม่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
พระอริยสาวกรู้แจ้งธรรมใด มีผู้หวั่นไหว คิดว่าจะรู้ไม่ได้บ้างไหม มีการรู้สึกตัวขณะหนึ่ง พิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เย็นบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น อ่อนบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น เห็นบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น ได้ยินบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น
ในตอนต้นๆ ท่านเกือบจะมองไม่เห็นประโยชน์เลย บางท่านถึงกับถามว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร เป็นความหวั่นไหวไหม เป็นความสงสัยหรือไม่ เป็นความเคลือบแคลงไม่มั่นใจหรือไม่
ที่จริงแล้วที่ท่านจะรู้ความจริง ก็เป็นเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง คิดนึกบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ซึ่งแต่ละลักษณะนี้ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะให้ท่านพิจารณา ให้ท่านเพิ่มความรู้ขึ้นเพื่อละคลายการยึดถือ หรือความเห็นผิดที่เคยมี
นี่ก็ควรพิจารณาเทียบเคียงว่า ท่านหวั่นไหวไหมเวลาที่ท่านคิดว่า รู้นามรู้รูปในขณะนี้ไม่ได้ ซึ่งมิใช่ว่าพระผู้มีพระภาคจะมิได้ทรงตรัสรู้ความจริงข้อนี้ ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ใน อินทขีลสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่ เปรียบเหมือนปุยนุ่น หรือปุยฝ้าย เป็นของเบา คอยจะลอยไปตามลม บุคคลวางไว้ที่ภาคพื้นอันราบเรียบแล้ว ลมทิศบูรพาพึงพัดปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายนั้นไปทางทิศปราจีนได้ ลมทิศปราจีนพึงพัดเอาไปทางทิศบูรพาได้ ลมทิศอุดรพึงพัดเอาไปทางทิศทักษิณได้ ลมทิศทักษิณพึงพัดเอาไปทางทิศอุดรได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายนั้นเป็นของเบา ฉันใด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่
ข้อนี้เพราะเหตุไร เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ฉันนั้นเหมือนกัน
นี่คือความเป็นผู้ที่รวนเรตามวิสัยของปุถุชน ซึ่งไม่รู้แจ้งในสภาพของทุกข์ซึ่งมีอยู่ทุกๆ ขณะ ไม่รู้แจ้งในเหตุของทุกข์ คือ ทุกขสมุทัย ไม่รู้แจ้งในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อความต่อไปมีว่า
ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่ต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่ เปรียบเหมือนเสาเหล็ก เสาหิน มีรากลึก เขาฝังไว้ดีแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง ถึงแม้ลมฝนอย่างแรงจะพัดมาแต่ทิศบูรพา ทิศปราจีน ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ไม่สะเทือนสะท้านหวั่นไหว
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะรากลึก เพราะเสาหินเขาฝังไว้ดีแล้ว ฉันใด สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ไม่ต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเห็นอริยสัจ ๔ ดีแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน
อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจจะ ทุกขสมุทัยอริยสัจจะ ทุกขนิโรธอริยสัจจะ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจะ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ถ้าไม่เจริญสติ ไม่พิจารณาสภาพธรรมที่มีเป็นปกติ จะทำให้รู้แจ้งในความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติได้ไหม
เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้แจ้งในอริยสัจธรรม หรือว่าเป็นผู้ที่เข้าใจถูกต้องในเหตุในผลของอริยสัจธรรม ก็ไม่ต้องมองหน้าสมณะเหล่าอื่นหรือพราหมณ์เหล่าอื่น เพราะเหตุว่า ดูข้อประพฤติปฏิบัติก็รู้ได้ว่า ข้อประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นจะทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม หรือว่าไม่สามารถจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจในเหตุ ในผล ในข้อประพฤติปฏิบัติ และไม่ได้ประพฤติปฏิบัติด้วยตัวของท่านเองแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่หวั่นไหว รวนเร
ถ. ข้อปฏิบัติอย่างนี้ เขามีบารมีอยู่แล้ว
สุ. หมายความว่า ผู้ที่อยู่ในสมัยนี้ยังสะสมบารมีมาไม่พอ ถ้าสะสมบารมีมาไม่พอ ทำไมไม่สะสมเสียเดี๋ยวนี้ให้ถูกต้อง
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. การบรรลุมรรคผล ถ้าไม่ได้สะสมบารมีที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ต้องอาศัยการฟัง และผู้ใดที่จะได้บรรลุมรรคผลในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ก็ได้เคยเจริญสุตตะ หรือความเป็นพหูสูต เจริญข้อปฏิบัติขัดเกลาไว้มากที่สามารถจะบรรลุในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นๆ เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้
ผู้ที่ไม่บรรลุในครั้งโน้นเป็นปทปรมะ แต่อาศัยการที่เคยสะสมมาบ้างแล้ว จึงมีโอกาสได้ฟังธรรม ได้พิจารณาธรรม และถ้าจะเป็นผู้ที่บรรลุมรรคผลในปัจจุบันชาตินี้ ที่เป็นเนยยบุคคล ก็ต้องอาศัยการเจริญอบรม พากเพียร สอบทาน เทียบเคียงอย่างมากทีเดียว ไม่ใช่ว่าเพียงฟังก็สามารถที่จะละคลาย แทงตลอดในสภาพลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้
ถ้าต้องการที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปที่กำลังเกิดกำลังดับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่ทุกๆ ขณะ ก็ต้องเจริญเหตุให้ควรแก่ผล คือ พิจารณานามและรูปที่กำลังปรากฏ เหตุต้องตรงกับผล ถ้าต้องการรู้ผลอย่างนี้ ก็ต้องเจริญเหตุอย่างนี้ด้วย
ประการที่ ๗ ญาติปลิโพธ เป็นความกังวลในเรื่องของญาติ เพราะเหตุว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะเกิดมาในโลกโดยที่ไม่มีญาติเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเมื่อมีญาติพี่น้องแล้ว จำเป็นต้องมีกิจที่พึงกระทำต่อญาติ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของบุตรธิดาหรือบิดามารดาก็ตาม แต่แม้กระนั้นสภาพธรรมทุกประเภทที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ก็เป็นของจริงที่เป็นนามหรือเป็นรูป เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่จะให้ความจริง เป็นอริยสัจจะ ทำให้ผู้พิจารณาสภาพธรรมเหล่านั้นสามารถที่จะรู้แจ้งในสภาพความจริงของสภาพธรรมนั้น และก็ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตนได้
คำว่า ญาติหรือว่าสภาพของความเป็นญาตินั้นมีจริง หรือว่าไม่จริง เพราะเหตุว่า โดยปรมัตถ์มีจิต มีเจตสิก มีรูป เมื่อจำแนกโดยย่อตามลักษณะมีสภาพธรรม ๒ อย่างคือ สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง คือ นามะ หรือ นาม และสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง คือ รูปะ หรือ รูป
เพราะฉะนั้น ญาติ มีจริงหรือไม่ ธรรมต้องสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก ทั้งพระวินัยปิฎก ทั้งพระสุตตันตปิฎก ทั้งพระอภิธรรมปิฎก
สภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลจริง แม้แต่ทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ในขณะนี้ก็เป็นนามเป็นรูป แม้บุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์เป็นญาติก็เป็นนามเป็นรูปเหมือนกัน แต่นามรูปนั้นเป็นญาติมีหน้าที่ที่จะพึงกระทำต่อกัน ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงด้วย
มีนามมีรูปไม่ใช่เฉพาะท่านคนเดียวในโลกนี้ที่เป็นนามเป็นรูป มีนามมีรูปมาก เป็นหลายบุคคล มีความสัมพันธ์ต่างกันไป โดยฐานะของญาติบ้าง มิตรสหายบ้าง หรือบุคคลผู้ไม่คุ้นเคยบ้าง แต่สภาพตามความเป็นจริงแม้แต่ตัวท่านเอง หรือแม้แต่บุคคลอื่นก็ไม่ใช่สภาพที่จะพึงยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความสัมพันธ์ มีความเกี่ยวข้อง มีความสนิทสนมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติทุกอย่าง ถึงแม้ว่าจะมีความกังวล มีธุระ มีกิจการงานที่จะต้องกระทำต่อญาติ ก็กระทำได้
เพื่อที่จะได้ทราบถึงข้อความในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับเรื่องของญาติว่า ไม่ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มาตุโปสกสูตร ที่ ๙ (ข้อ ๗๑๓) มีข้อความว่า
ครั้งนั้น มาตุโปสกพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าแสวงหาภิกษาโดยชอบ แล้วเลี้ยงมารดาและบิดา ข้าพเจ้าทำเช่นนี้ชื่อว่า ทำกิจที่ควรทำหรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชอบยิ่งพราหมณ์ ท่านทำดังนี้ชื่อว่า ได้ทำกิจที่ควรทำแล้ว ด้วยว่าผู้ใดแสวงหาภิกษาโดยชอบ แล้วเลี้ยงมารดาและบิดา ผู้นั้นย่อมได้บุญเป็นอันมาก
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยชอบ เพราะการบำรุงมารดาและบิดานั้นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกทีเดียว บุคคลนั้นละไปจากโลกนี้แล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว มาตุโปสกพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
สังเกตพยัญชนะที่ว่า เพราะการบำรุงมารดาและบิดานั้นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกทีเดียว
ความหมายของบัณฑิต ในพระสูตรมีความหมายที่ลึกซึ้งด้วย คือ หมายความถึงบุคคลที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น บัณฑิตที่นี่รวมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบัณฑิต ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกทีเดียว ไม่ใช่ว่าเวลาที่ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หรือว่าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นมารดาบิดา รู้สภาพตามความเป็นจริง และรู้คุณธรรมที่พึงปฏิบัติ รู้ว่าคุณธรรมเช่นใดที่เมื่อผู้ใดประพฤติปฏิบัติแล้ว ย่อมทำให้ประสบบุญเป็นอันมากทีเดียว
การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะนึกอย่างไร ไม่ว่าจะรู้อย่างไร ไม่ว่าจะคิดอย่างไร ก็เป็นนามธรรม ถ้ารู้ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร ในขณะที่รู้นั้นเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน
นี่เป็นสิ่งที่ผู้เจริญสติจะต้องทราบว่า เป็นไปตามปกติธรรมดาทุกประการ และก็จะรู้แจ้งตามความเป็นจริงด้วยว่า ความรู้ในขณะนั้นก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีนามรูปทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ซึ่งสติจะระลึกต่อไปจนกว่าจะชิน จนกว่าจะหมดความสงสัยว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่ว่าขณะใดทั้งสิ้น ที่จะไม่ใช่นามไม่ใช่รูป ไม่ว่าจะเป็นทางใจ ความคิดนึก การรู้เรื่อง รู้ความหมายต่างๆ ที่จะยังเหลือความสงสัยหรือความคิดว่า ไม่ใช่นามไม่ใช่รูป ไม่มีเลยสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล
ถ้าตรวจสอบกับพระวินัยปิฎก ก็มีเรื่องกิจที่พึงปฏิบัติต่อมารดาบิดาเช่นเดียวกัน
พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ จีวรขันธกะ เรื่องพระให้ผ้าแก่โยมมารดาบิดาได้ มีข้อความว่า
ก็สมัยนั้นแล ผ้าเกิดขึ้นแก่ภิกษุรูปหนึ่งหลายผืน และท่านปรารถนาจะให้ผ้านั้นแก่โยมมารดาบิดา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุให้ด้วยรู้ว่า มารดาบิดา เราจะพึงว่าอะไร เราอนุญาตให้สละแก่มารดาบิดา แต่ภิกษุไม่พึงทำสัทธาไทให้ตกไป รูปใดให้ตกไป ต้องอาบัติทุกกฏ
การที่จะทำให้สัทธาของทายกให้ตกไปนั้นก็คือว่า เป็นการให้ที่เกินแก่เหตุที่ไม่ทำให้ผู้อื่นอนุโมทนา และเป็นการกระทำที่เกินควรแก่สมณะวิสัย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการให้ด้วยรู้ว่า เป็นมารดาบิดา พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้สละให้แก่มารดาบิดาได้ แต่มีข้อแม้ว่า ภิกษุไม่พึงทำสัทธาไทให้ตกไป รูปใดให้ตกไป ต้องอาบัติทุกกฏ
นี่ก็เป็นเรื่องที่สอบทานได้กับพระวินัย โดยเฉพาะพระวินัยนั้นก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า เป็นกิจของบรรพชิตที่ท่านเป็นผู้เจริญสติเป็นปกติ เพราะฉะนั้น กิจใดที่บรรพชิตทำได้ เจริญสติปัฏฐานได้ ก็ไม่มีข้อสงสัยสำหรับฆราวาสว่าจะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ในขณะที่ทำกิจนั้นๆ