แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 63

พระผู้มีพระภาคตรัสกับมาคัณฑิยปริพาชกต่อไปว่า

แต่ถ้าหมอผู้ชำนาญการผ่าตัดนั้น ทำยาถอนให้อาเจียน ยาถ่ายให้ลง ยาหยอด ยาหยอดซ้ำ ยานัตถ์ เขาอาศัยยานั้นแล้ว มองเห็น เขาย่อมละความรักในผ้าเทียมเปื้อนเขม่านั้นได้ พร้อมกับตาเห็นฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าทรงแสดงธรรมแก่มาคัณฑิยแล้ว มาคัณฑิยปริพาชกพึงรู้ความไม่มีโรค พึงเห็นนิพพานได้ ก็จะละความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้

อนึ่ง พึงมีความดำริอย่างนี้ว่า เราถูกจิตนี้ล่อลวงให้หลงมานานแล้วหนอ เราเมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่รูปเท่านั้น เราเมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่เวทนาเท่านั้น เราเมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่สัญญาเท่านั้น เราเมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่สังขารเท่านั้น เราเมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่วิญญาณเท่านั้น

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมีแก่เรา เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้

เพียงแต่การแสดงธรรมกับมาคัณฑิยปริพาชกในขณะนั้นไม่พอ เหมือนกับหมอ ถึงแม้ว่าจะมีความชำนาญ แต่ว่าผู้นั้นไม่หาย ก็เป็นความลำบากแก่หมอ แต่ถ้าหมอนั้น ทำยาถอนให้อาเจียน ยาถ่ายให้ลง ยาหยอด ยาหยอดซ้ำ ยานัตถ์ เขาอาศัยยานั้นแล้ว มองเห็น

เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น อุปการะมากแก่ผู้ที่ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญู มิใช่วิปัญจิตัญญู ซึ่งตอนสุดท้ายมาคัณฑิยปริพาชกก็ได้ประกาศความเลื่อมใสที่ตนไม่เป็นคนบอดลุกขึ้นจากอาสนะนี้ได้ คือ จากความเห็นผิดในสูตรของตน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร มาคัณฑิยะ ถ้าเช่นนั้นท่านควรคบสัตบุรุษ เพราะเมื่อใดท่านคบสัตบุรุษ เมื่อนั้นท่านจักได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ เมื่อท่านได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ ท่านจักปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อท่านปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ท่านจะรู้เอง เห็นเองว่าโรค ฝี ลูกศร คืออันนี้ โรค ฝี ลูกศรจะดับไปโดยไม่เหลือในที่นี้ เพราะอุปาทานของเรานั้นดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสก็ดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ย่อมมี ด้วยประการฉะนี้

ภายหลังมาคัณฑิยปริพาชกก็ได้บรรพชาอุปสมบท แล้วได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายที่ละความเห็นผิดโดยอาศัยพระธรรมเทศนาและการที่พระองค์ทรงอนุเคราะห์ด้วยคำอุปมาอย่างละเอียด

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ทุกข์ไม่ใช่มีแต่เฉพาะโรค หรือ อาพาธ โทมนัสทนไหวไหม เศร้าโศกเสียใจเหลือเกิน ซึ่งบางคนทุกข์กายทนได้ แต่ทุกข์ใจทนไม่ได้

ความทุกข์ไม่ใช่มีแต่เฉพาะอาพาธ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะโรคภัย ทุกอย่างจะเป็นความโศกหรือว่าความคับแค้นใจต่าง ๆ ก็เป็นโรคทั้งสิ้น ซึ่งจะต้องละได้ด้วยปัญญาที่เห็นสภาพธรรมต่าง ๆ ตามความเป็นจริง

ข้อความที่ว่า กายนี้แลเป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ ไม่ได้หมายเฉพาะแต่ว่า ร่างกายนี้เป็นที่เกิดโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งอีกหลายประการ เพราะถ้าจะพูดถึงความทุกข์ ไม่ใช่แต่เฉพาะโรคภัยเท่านั้นที่เป็นทุกข์ ความโศกความโทมนัสก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีกาย จะมีความโศกมีความโทมนัสได้ไหม ไม่มีบ่อเกิด ไม่มีที่เกิดของความทุกข์ ไม่มีที่เกิดของความโทมนัส แต่เพราะมีกายซึ่งนอกจากกายจะเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ เป็นที่เกิดของโรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น แล้วก็โรคนานาประการ แล้วยังเป็นที่เกิดของความทุกข์ ความโทมนัส นานาประการด้วย

ถ้าไม่มีกาย ก็ไม่มีความเสียใจ ไม่มีความทุกข์แน่ แต่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น ถ้าไม่มีกาย การเห็นมีไหม การได้ยินมีไหม การได้กลิ่นมีไหม การรู้รสต่างๆ มีไหม การที่จะรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งต่างๆ มีไหม ก็ไม่มี แต่เมื่อมีการเห็น สีก็ปรากฏ ทั้งเห็นและสี ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น กายเป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี นำความทุกข์มาให้ เพราะการเห็น ถ้าเห็นสิ่งที่ชอบที่พอใจ ก็เพลิดเพลินไประยะหนึ่ง ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ว่ายิ่งเพลินยิ่งชอบมากเท่าไร ก็ย่อมนำความทุกข์มาให้เท่านั้น เพราะฉะนั้น กายไม่ใช่ที่เกิดเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บ แต่เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี นำมาซึ่งความทุกข์ ความโทมนัส เป็นที่เกิดของนามและรูป การเห็น ทุกคนก็คงจะพอใจที่ได้เห็น แต่ถ้ารู้ความจริงว่า การเห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีจักขุปสาท การเห็นก็เกิดไม่ได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนเลย หู ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดการได้ยิน ถ้าไม่มีหูก็ไม่ได้ยิน และเมื่อได้ยินแล้วถึงจะชอบ อยากจะได้ยินสักเท่าไร การได้ยินนั้นก็ไม่เที่ยง

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็เป็นดังโรค ซึ่งผู้ที่ไม่รู้ความจริงก็จะคิดว่า กายนั้นก็เป็นแต่เพียงที่เกิดของโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าขณะใดที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ขณะนั้นก็เป็นสุข เป็นนิพพาน แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกับมาคัณฑิยปริพาชกว่า

ที่มาคัณฑิยกล่าวว่า ความไม่มีโรคคืออันนี้ นิพพานคืออันนี้ ก็เพราะไม่มีจักษุของพระอริยะอันเป็นเครื่องรู้ความไม่มีโรค อันเป็นเครื่องเห็นนิพพาน

ถ้ายังมีกิเลสอยู่ตราบใด กิเลสนั้นเป็นโรค ซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายมาก เพราะเหตุว่าถ้ายังมีกิเลสเป็นเชื้ออยู่ตราบใด ก็จะไม่มีการสิ้นสุดโรค

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต คิลานสูตร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ

ประเภทที่ ๑ คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบาย หรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบาย หรือไม่ได้ก็ตาม ได้อุปัฏฐากที่สมควร หรือไม่ได้ก็ตาม ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้นได้เลย

ประเภทที่ ๒ คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบาย หรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบาย หรือไม่ได้ก็ตาม ได้อุปัฏฐากที่สมควร หรือไม่ได้ก็ตาม ย่อมหายจากอาพาธนั้นได้

ประเภทที่ ๓ คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบาย จึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ได้เภสัชที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ ย่อมไม่หาย ได้อุปัฏฐากที่สมควร จึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนไข้ ๓ จำพวกนี้ เพราะอาศัยคนไข้ผู้ที่ได้โภชนะที่สบาย ได้เภสัชที่สบาย ได้อุปัฏฐากที่สมควร จึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ ย่อมไม่หาย นี้เราจึงอนุญาตคิลานภัตร อนุญาตคิลานเภสัช อนุญาตคิลานุปัฏฐากไว้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย และก็เพราะอาศัยคนไข้เช่นนี้ ถึงคนไข้อื่นก็ควรได้รับการบำรุง ดูกร ภิกษุทั้งหลายคนไข้ ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก

นี่เป็นเหตุที่ทรงอนุญาตคิลานภัตร คิลานเภสัช คิลานุปัฏฐาก เพราะเหตุว่าถ้าไม่ทรงอนุญาตไว้ ก็จะไม่หายจากอาพาธ ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลซึ่งเปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวกนั้นมีปรากฏอยู่ในโลก บุคคลผู้เปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวกนั้น เป็นไฉน

ประเภทที่ ๑ บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต หรือไม่ได้เห็นก็ตาม ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว หรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความ เห็นชอบในกุศลธรรม คือ จตุรมรรคได้เลย

ประเภทที่ ๒ บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต หรือไม่ได้เห็นก็ตาม ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว หรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมหยั่งลงสู่ความเห็นชอบในกุศลธรรม คือ จตุรมรรค

ประเภทที่ ๓ บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต จึงหยั่งลงสู่ความเห็นชอบในกุศลธรรม คือ จตุรมรรคได้ เมื่อไม่ได้เห็น ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความเห็นชอบ ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความเห็นชอบในกุศลธรรม คือ จตุรมรรคได้ เมื่อไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความเห็นชอบ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น เพราะอาศัยบุคคลที่ได้เห็นพระตถาคต จึงหยั่งลงสู่ความเห็นชอบในกุศลธรรม คือ จตุรมรรค เมื่อไม่ได้เห็น ย่อมไม่ได้หยั่งลงสู่ความเห็นชอบ ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความเห็นชอบในกุศลธรรม คือ จตุรมรรค เมื่อไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความเห็นชอบ นี้แล เราจึงอนุญาตการแสดงธรรมไว้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย และก็เพราะอาศัยบุคคลนี้ จึงควรแสดงธรรม แม้แก่บุคคลอื่นๆ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลซึ่งเปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในอยู่โลก

พอจะทราบได้ไหมว่า สำหรับท่านเองเป็นคนไข้ประเภทไหน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมวินัยเลย จะหยั่งลงสู่ความเห็นชอบได้ไหม หรือเพราะอาศัยการได้ฟังพระธรรมวินัยจึงได้หยั่งลงสู่ความเห็นชอบ เพราะมีบุคคลประเภทนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตการแสดงธรรม และถึงแม้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่บุคคลนี้ ก็ควรที่จะได้รับฟังการแสดงธรรมด้วย เพราะเหตุว่าเป็นประโยชน์แม้กับบุคคลอื่น เช่นเดียวกับคนไข้ที่บางคน ถึงจะไม่ได้ยาที่สมควร ไม่ได้ผู้อุปัฏฐากที่สมควรก็หาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรที่จะได้ยาที่สมควรด้วย ได้ผู้อุปัฏฐากที่สมควรด้วย ไม่ใช่ว่าได้หรือไม่ได้ก็หาย ก็เลยไม่ต้องอุปัฏฐาก ก็เลยไม่ต้องอนุเคราะห์

ขอกล่าวถึงเรื่องโรคอีก คือ โรคกายและโรคใจ ท่านที่มีโรคทางกายอาจจะไม่ประมาทแล้ว เพราะเหตุว่าเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ทราบแน่ว่า จะมีอันเป็นไปต้องพลัดพรากจากโลกนี้แล้วหรือยัง ก็เกิดความไม่ประมาท เจริญสติพิจารณาธรรมได้ เพราะเหตุว่าเห็นภัยคือ โรค แต่ท่านที่ยังแข็งแรงดีก็ไม่ควรจะประมาทเหมือนกัน เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าท่านจะไม่มีโรคกาย แต่มีโรคใจมาก กิเลสนี้มีมากทีเดียว ในวัฏฏะที่เนิ่นนาน ยาวนานมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ถ้าตราบใดยังไม่เจริญปัญญาเพื่อจะละคลายกิเลส ดับกิเลสให้หมดแล้ว กิเลสซึ่งเป็นโรคใจนี้ก็จะพอกพูนมากขึ้นๆ ยากแก่การละยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจถูกก็จะเป็นผู้ไม่ประมาท

อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ อินทริยวรรคที่ ๑ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ โรคทางกาย ๑ โรคทางใจ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคด้วยโรคทางกาย ตลอดปี ๑ บ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง ผู้ปฏิญาณความไม่มีโรค แม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง มีปรากฏ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดปฏิญาณความไม่มีโรคทางใจแม้ครู่หนึ่ง สัตว์เหล่านั้นหาได้ยากในโลก เว้นจากพระขีณาสพ

จริงหรือไม่ วันหนึ่งๆ ได้ยิน ได้กลิ่น ใครทราบบ้างว่ามีโรคอะไร โลภะ เป็นโรคไหม โทสะ เป็นโรคไหม ที่เรากำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ความจริงจักขุวิญญาณซึ่งเกิดขึ้นเห็นสี เกิดขึ้นขณะเดียวแล้วก็ดับ แล้วจิตอื่นก็เกิดต่อ แต่ปรากฏเหมือนกับว่า เห็นอยู่ตลอดเวลา จักขุวิญญาณเกิดขณะเดียว ดับไป จิตอื่นเกิดขณะเดียว ดับไป โลภมูลจิตเกิด ๗ ขณะ หรือถ้าเป็นโทสมูลจิตก็เกิด ๗ ขณะ หรือถ้าเป็นโมหมูลจิตก็เกิด ๗ ขณะ เพราะฉะนั้น กำลังเห็นวันหนึ่งๆ ได้ยินวันหนึ่งๆ ได้กลิ่นวันหนึ่งๆ แล้วสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป โรคทางใจจะทับถมทวีคูณมากสักเท่าไรในภพหนึ่ง ชาติหนึ่ง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดปฏิญาณความไม่มีโรคทางใจแม้ครู่หนึ่ง สัตว์เหล่านั้นหาได้ยากในโลก เว้นจากพระขีณาสพ

พระขีณาสพ คือ พระอรหันต์ ซึ่งไม่มีโมหมูลจิต ไม่มีอกุศลจิตใดๆ เกิด เพราะเหตุว่าท่านดับเชื้อของอกุศลแล้ว

โรคทางใจน่ากลัวไหม โดยมากกลัวโรคทางกาย แต่ที่โรคทางกายจะมีได้ ก็เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสคือโรคทางใจ ถ้าดับกิเลสหมดแล้ว ไม่มีการเกิด ไม่มีนามไม่มีรูป จะมีโรคทางกายได้อย่างไร แต่โรคทางกายที่หวาดกลัวกันมาก เป็นห่วงวิตกกังวลทุกข์ร้อน มูลเหตุมาจากโรคทางใจ ถ้าโรคทางใจ คือ กิเลสยังมีแล้ว โรคทางกายนั้นไม่หมด ก็จะยังมีภพมีชาติ มีการที่จะได้ประสบกับความทุกข์กายอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะเห็นโทษเห็นภัยของโรคทางใจ

อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ อินทริยวรรคที่ ๑ นี้ มีข้อความต่อไปว่า ท่านพระสารีบุตรกล่าวธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการในตน ผู้นั้นพึงถึงความตกลงใจในข้อความนี้ว่า เราย่อมเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย การมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นความเสื่อม ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้มีราคะไพบูลย์ ๑ ความเป็นผู้มีโทสะไพบูลย์ ๑ ความเป็นผู้มีโมหะไพบูลย์ ๑ และไม่มีปัญญาจักษุก้าวไปในฐานะและอฐานะอันลึกซึ้ง ๑

พิจารณาได้ใช่ไหมว่า ท่านเป็นผู้ที่มีธรรม ๔ ประการในตนหรือไม่ ถ้ามีธรรม ๔ ประการในตนก็เป็นความเสื่อม ความเป็นผู้มีราคะ คือ โลภะ ความต้องการ ความปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างไพบูลย์ อย่างมากทีเดียว ไม่เคยมีสติระลึกรู้สภาพของธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะเพลิดเพลินไป หรือเป็นผู้ที่มีโทสะความไม่แช่มชื่นความขัดเคืองไพบูลย์ หรือเป็นผู้ที่มีโมหะ ความไม่รู้เหตุผล ไม่รู้วิธีหนทางที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อละ ราคะ โทสะ โมหะ

ไม่มีปัญญาจักษุก้าวไปในฐานะและอฐานะอันลึกซึ้ง ๑ ฐานะและอฐานะเป็น ของที่ลึกซึ้ง สิ่งใดที่ควรแก่การพิจารณา หรือว่าไม่ควรที่จะพิจารณา เพราะเหตุว่าไม่ทำให้ปัญญารู้สภาพนั้นตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไปท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการในตน ผู้นั้นพึงถึงความตกลงใจในข้อนี้ว่า เราไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย การมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่เป็นความเสื่อม ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้มีราคะเบาบาง ๑ ความเป็นผู้มีโทสะเบาบาง ๑ ความเป็นผู้มีโมหะเบาบาง ๑ และมีปัญญาจักษุก้าวไปในฐานะและอฐานะอันลึกซึ้ง ๑

สำหรับท่านผู้ฟังที่สนใจในธรรมก็คงจะเป็นข้อปลอบใจได้ว่า ท่านเริ่มเป็นผู้มีราคะเบาบาง มีโทสะเบาบาง มีโมหะเบาบาง และถ้าพิจารณาธรรมด้วยความแยบคาย ก็เป็นผู้ที่มีปัญญาจักษุก้าวไปในฐานะและอฐานะอันลึกซึ้ง ซึ่งถ้ามีธรรม ๔ ประการนี้แล้ว ไม่เป็นความเสื่อม

ถ้าไม่สนใจในธรรมเลย ไม่พิจารณาธรรมเลย ย่อมจะเป็นผู้ที่มีราคะไพบูลย์ โทสะไพบูลย์ โมหะไพบูลย์ และไม่มีปัญญาในการที่จะรู้ฐานะและอฐานะ

เปิด  438
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565