แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 75

ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งมีจิตตั้งมั่นแล้วในสติปัฏฐาน ๔

คำว่า จิตตั้งมั่นแล้วในสติปัฏฐาน ๔ หมายความว่า ไม่เห็นผิด ไม่ดำริผิด ไม่เข้าใจผิดในการเจริญสติปัฏฐานจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ที่ตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔

ท่านผู้ฟังตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ แล้วหรือยัง ไม่เข้าใจผิด ไม่ดำริผิด ไม่เห็นผิดในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็นที่หวังได้ว่า จักรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน

ท่านผู้ฟังที่สนใจในธรรม อยากจะมีจักษุทิพย์ โสตทิพย์ อยากจะเห็นอะไรๆ ที่คนอื่นไม่เห็น อยากจะได้ยินเสียงอะไรที่คนอื่นไม่ได้ยิน อยากจะระลึกชาติได้ หรืออยากรู้กาลอนาคตข้างหน้า หรืออยากรักษาโรค หรืออยากจะทำอะไรที่เป็นคุณวิเศษบ้างไหม

ตอบ อยากครับ

สุ. ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน คุณวิเศษที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐานก็อาจเป็นไปในความสงบ ในอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่ไม่ใช่คุณวิเศษที่รู้จักตนเองอย่างถูกต้อง เพราะการเจริญสติปัฏฐาน การที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปนั้น ไม่ใช่ที่อื่น แต่ที่ตนเอง

ใครกำลังเห็น ใครกำลังได้ยิน ใครกำลังเป็นสุข ใครกำลังเป็นทุกข์ ใครกำลังริษยา ใครกำลังมีมานะ ใครกำลังมีมัจฉริยะ ทั้งหมดที่เป็นความจริงที่เกิดขึ้น สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปนั้นๆ ตามความเป็นจริงมากขึ้น ชัดขึ้น ถูกต้องขึ้น เป็นคุณวิเศษที่ไม่เคยมีในกาลก่อน คือ คุณวิเศษที่รู้จักตนเองอย่างถูกต้องชัดเจน ไม่หลงเข้าใจผิด ไม่หลงยึดถือว่าเป็นตัวตน นี่ดีกว่าตาทิพย์หูทิพย์ไหม

นี่เป็นความหมายของพยัญชนะนั้น และสำหรับการเจริญสติปัฏฐานก็เป็นปกติจริงๆ เพราะแต่ละคนมีนามมีรูปที่ได้สะสมมาในลักษณะต่างๆ กันที่สติจะต้องระลึกรู้จนกระทั่งละคลาย เพราะเหตุว่าพิจารณามากขึ้น รู้มากขึ้น ละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น จึงจะละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้จริงๆ รู้เล็กน้อยละไม่ได้ คลายไม่ได้ ต้องรู้ชัดเจนถูกต้องทั้ง ๖ โลก แยกออกได้ แทงตลอดจริงๆ จึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ไม่สำคัญว่าจะเป็นเพศบรรพชิต หรือว่าจะเป็นฆราวาส จะอยู่ ณ สถานที่ใด เมื่อเป็นผู้ที่ไม่ประมาท สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น โดยที่คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะนี้สติของผู้ใดกำลังระลึกรู้นามหรือรูปอะไรที่เกิดกับตนในขณะนั้นตามความเป็นจริง เป็นชีวิตปกติจริงๆ

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สิริวัฑฒสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่งท่านพระอานนท์อยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นสิริวัฑฒคฤหบดีอาพาธเป็นไข้หนัก ได้ให้คนไปกราบเท้าท่านพระอานนท์ ขอความอนุเคราะห์ให้ท่านพระอานนท์ไปบ้านของสิริวัฑฒคฤหบดี

ท่านพระอานนท์ก็รับคำด้วยดุษณีภาพ แล้วได้ไปยังบ้านของสิริวัฑฒคฤหบดี ครั้นแล้วก็ได้ถามถึงความไข้ของสิริวัฑฒคฤหบดี

สิริวัฑฒคฤหบดีก็ตอบว่า

ทุกขเวทนากำเริบหนัก ไม่เสื่อมคลาย ไม่ทุเลาเลย

ท่านพระอานนท์ก็ได้กล่าวกับสิริวัฑฒคฤหบดีว่า

ดูกร คฤหบดี เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

จักพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

จักพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

จักพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ดูกร คฤหบดี ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล

เป็นสิ่งที่ควรเตือนบุคคลที่กำลังเป็นไข้หนัก มีทุกขเวทนาเกิดขึ้นมากทีเดียวในขณะนั้นว่า สิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดในขณะนั้น คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏ

สิริวัฑฒคฤหบดีก็ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า

ธรรม คือ สติปัฏฐาน ๔ เหล่าใด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในกระผม และกระผมย่อมเห็นชัดในธรรมเหล่านั้น ก็กระผมย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ .... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ .... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เหล่าใด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ กระผมยังไม่แลเห็นสังโยชน์ข้อใดข้อหนึ่งที่ยังละไม่ได้แล้วในตน

ท่านพระอานนท์ก็ได้กล่าวกับคฤหบดีนั้นว่า

ดูกร คฤหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว อนาคามิผลอันท่านได้กระทำให้แจ้งแล้ว

ขณะนั้นท่านพระอานนท์เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่คฤหบดีท่านนี้เป็นพระอนาคามีบุคคล เวลาที่ท่านเจ็บหนัก ท่านก็ให้คนไปกราบเท้าท่านพระอานนท์ แล้วขอความอนุเคราะห์ให้มาหาท่านที่บ้าน เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องไปวิเวกอยู่คนเดียว ไม่พบไม่เห็นใคร ไม่พูดอะไร เป็นอัธยาศัย เมื่อท่านต้องการพบผู้ทรงศีลเหนือกว่าท่าน คือ โดยธรรมท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่พระอนาคามีบุคคลเป็นผู้ที่ไม่หลงผิดในตน ตนเองเป็นฆราวาส เป็นคฤหัสถ์ มีคุณธรรมขั้นพระอนาคามี แต่ไม่ใช่บรรพชิต ทางด้านธรรมก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ทางด้านศีล ผู้ที่เป็นบรรพชิตก็เป็นบรรพชิตตามความเป็นจริง คือ เป็นผู้ที่ทรงศีลมากกว่าฆราวาส

เพราะฉะนั้น เวลาที่คฤหบดีไม่สบาย ทั้งๆ ที่ท่านเจริญสติเป็นปกติ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ท่านก็ไม่ใช่ว่าวิเวก ไม่ต้องการพบ ไม่ต้องการเห็นใคร แต่ก็ยังให้คนไปกราบเท้าขอความอนุเคราะห์ท่านพระอานนท์ ซึ่งท่านพระอานนท์ก็แสดงธรรมีกถาที่มีประโยชน์ คือ ให้ระลึกในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ไม่ใช่มีแต่สิริวัฑฒคฤหบดี แต่ยังมีคฤหบดีท่านอื่นอีก อย่างเช่น มานทินนสูตร ข้อ ๗๙๓ มานทินนคฤหบดี เป็นพระอนาคามี ก็โดยนัยเดียวกัน

ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานไม่ตรงตามความเป็นจริงแล้ว คฤหบดีท่านนี้ก็จะไม่ไปนิมนต์ท่านพระอานนท์ไปที่บ้าน จะต้องอยู่วิเวกตามลำพัง แล้วพิจารณานามรูป แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เป็นปกติธรรมดาทุกประการ

ถ. มีคนเขาพูดกันว่า ขณะที่มีเวทนากล้าไม่สามารถจะเจริญสติได้

สุ. เขาว่าก็ช่างเขา ท่านพระอานนท์ท่านว่าอย่างนี้ มิฉะนั้น ท่านพระอานนท์ก็ต้องบอกว่า ให้เวทนาลดคลายเสียก่อนแล้วจึงค่อยเจริญสติ เรื่องของเขาก็เรื่องของเขา เรื่องของพระไตรปิฎก เรื่องธรรม เรื่องของเหตุผล ต้องไตร่ตรอง สอบทานเทียบเคียงกับความเป็นจริงด้วย

ถ. มีคำถาม ๒ ข้อ ข้อ ๑ ถามว่า นามรู้รูปได้อย่างเดียว หรือนามรู้นามได้ไหม ถ้ารู้ได้ นามรู้นามได้อย่างไร

สุ. นามเป็นสภาพรู้ และรู้ได้ทุกอย่างที่มีจริง ไม่ว่าสิ่งที่มีจริงนั้นจะเป็นสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ หรือจะเป็นสภาพรู้ก็ตาม ความสุขมีจริงไหม ความทุกข์มีจริงไหม ใครไม่มีบ้าง การเห็นใครไม่มี การได้ยินใครไม่มี มีทั้งนั้นสิ่งที่มีจริง สติเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไประลึกรู้สิ่งที่ไม่มี

ถ. ข้อ ๒ คนเรามีนามรูปหรือ หรือนามรูปนี้ชาวโลกเข้าใจว่าเป็นคน

สุ. สภาพของนามและรูปที่ประชุมรวมกัน หลงยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ว่าลักษณะจริงๆ ก็เป็นแต่เพียงนามและรูป นามก็เป็นสภาพรู้ รู้สึก คิดนึก จำได้ เป็นสุข เป็นทุกข์ ส่วนรูปนั้นก็ไม่ใช่สภาพรู้ การเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้ชัดในลักษณะของนามและรูป เพราะฉะนั้น ปัญญาที่แทงตลอดรู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของแต่ละนามแต่ละรูปนั้น ต้องเจริญให้มีมากจึงจะรู้ชัดได้

ปารสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (เป็นเครื่องให้ถึงฝั่ง) มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่ง จากที่มิใช่ฝั่ง ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ

ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ

ธรรม ๘ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่ง จากที่มิใช่ฝั่ง

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ในพวกมนุษย์ ชนที่ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย แต่หมู่สัตว์นอกนี้ย่อมวิ่งไปตามฝั่งนั้นเอง ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ชนเหล่านั้นข้ามบ่วงมฤตยูซึ่งแสนยากที่จะข้ามไปถึงฝั่งได้ บัณฑิตพึงละธรรมฝ่ายดำเสีย เจริญธรรมฝ่ายขาว ออกจากความอาลัย อาศัยธรรมอันไม่มีความอาลัยแล้ว พึงละกามเสีย เป็นผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ปรารถนาความยินดีในวิเวกที่สัตว์ยินดีได้ยาก

บัณฑิตพึงยังตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองของจิต ชนเหล่าใดอบรมจิตดีแล้วโดยชอบ ในองค์เป็นเหตุให้ตรัสรู้ ไม่ถือมั่น ยินดีแล้วในความสละคืนความถือมั่น ชนเหล่านั้นเป็นผู้สิ้นอาสวะ มีความรุ่งเรือง ปรินิพพานแล้วในโลกนี้

ในพระไตรปิฎกไม่พ้นไปจากเรื่องของวิเวก แต่ต้องเข้าใจความหมายด้วยที่ว่า เป็นผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ปรารถนาในความยินดีในวิเวก

เวลานี้ต้องการวิเวกอย่างไหน วิเวกอยู่คนเดียว หรือวิเวก คือ การละราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกิเลส ถ้ายังมีกิเลสก็ไม่วิเวก ตรึกไปด้วยความยินดี อยู่คนเดียวก็ได้ แต่ว่าคิดเพลินไปไม่วิเวก ถ้าวิเวกจริงๆ สงบจริงๆ ต้องสิ้นราคะ โทสะ โมหะ

ท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานถามว่า

รู้สึกตัวเองอยู่ได้โดยสงบ แต่ก่อนนี้จะต้องแวดล้อมด้วยบริวาร ด้วยเพื่อนฝูงมากหน้าหลายตา แต่เดี๋ยวนี้บ้านใหญ่ๆ อยู่คนเดียวได้ และพอใจที่จะอยู่ด้วย เริ่มเจริญสติรู้ลักษณะของนามและรูป ทางนั้นบ้าง ทางนี้บ้าง บางทีก็รู้ที่เสียง บางทีก็รู้ที่คิดนึก รู้สึกว่าการอยู่คนเดียวเป็นสิ่งที่น่าพอใจที่จะอยู่อย่างนั้น

ตอบ ถ้าบุคคลนั้นจะละคลายการยึดถือนามและรูปว่าเป็นตัวตน ชีวิตจริงๆ ของผู้นั้นอยู่กับบุคคลใดก็เจริญสติ เพื่อละคลายการยึดถือนามและรูปในขณะที่กำลังแวดล้อมหรือว่าใกล้ชิดกับบุคคลอื่น

นี่เป็นปัญญาที่จะต้องละเอียดจริงๆ ไม่รู้ทั่วจะละไม่ได้เลย ก็พอใจไปหาความสงบ หรือได้อยู่ลำพังโดยที่สติไม่ได้พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปจริงๆ ที่เกิดกับตน

ถ. ผมอยากขอคำอธิบายละเอียดที่ว่า โลภะ โทสะ โมหะ นี่เป็นตัวตน หรือไม่เป็นตัวตน

สุ. โลภะเป็นสภาพของความพอใจ ผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ยังละไม่หมด ความพอใจตามปกติของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน มากน้อยต่างกัน บางคนพอใจในรูปมากกว่าเสียง มากกว่ากลิ่น มากกว่ารส บางคนพอใจในเสียงมากกว่ารูป มากกว่ากลิ่น บางคนพอใจมากในรส สภาพของความพอใจเกิดขึ้นขณะใด ก็เพราะมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ขณะใดที่ความพอใจเกิดขึ้น สติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยนั้นๆ เกิดขึ้น

ถ้าไม่รู้ลักษณะของโลภะในขณะนั้นว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ก็จะยึดถือโลภะ ความชอบใจที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นในขณะนั้นว่าเราชอบใจ เราพอใจ แต่ความจริงสภาพของความพอใจก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติกับผู้ที่หลงลืมสติต่างกันที่ว่า ผู้ที่หลงลืมสติ เวลาที่เกิดความพอใจ ก็เป็นเราพอใจ เป็นตัวตน แต่ผู้ที่มีสติ เจริญสติ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของความพอใจที่เกิดปรากฏในขณะนั้นว่า เป็นลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ค่อยๆ คลายการยึดถือไปทีละเล็กทีละน้อย

โทสะ โมหะ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ โทสะเป็นความไม่แช่มชื่น ความหยาบกระด้างของจิตซึ่งเกิดเป็นประจำ ถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ผู้ที่หลงลืมสติ เวลาที่โทสะเกิด ก็เป็นเราโกรธ แต่ผู้เจริญสติรู้ว่า ลักษณะที่ไม่แช่มชื่น หยาบกระด้างของจิตนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะไม่เหมือนโลภะ ไม่เหมือนเห็น ไม่เหมือนคิดนึก เป็นลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมแต่ละชนิด

เวลาที่หลงลืมสติก็เป็นเรา เวลาเห็นแล้วจำได้ทันที ที่จำได้เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เวลาเห็นแล้วรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เป็นสัญญา ความจำทางตา เวลาที่ได้ยินรู้ว่าเสียงอะไร เป็นสัญญาทางหู ความจำทางหูไม่ใช่ความจำทางตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างกัน สภาพของความจำเป็นลักษณะนามธรรมชนิดหนึ่ง เวลาที่กำลังเห็นแล้วรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน เวลาที่ได้ยินเกิดขึ้นแล้วรู้ความหมายของเสียง สัญญาทางหูเกิดขึ้น รู้ทางหู จำทางหู เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งแล้วก็ดับ แม้แต่สัญญาความจำก็ดับ ทางตาก็ดับ ทางหูก็ดับ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ดับทั้งนั้น

ถ้าระลึกได้อย่างนี้ เนืองๆ บ่อยๆ ก็ไม่หลงยึดถือสภาพนามและรูปว่าเป็นตัวตน

ถ. นอกจากมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ยังมีหนทางอื่นอีกไหมที่จะทำให้รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ

สุ. ไม่มีเลย เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎกได้แสดงไว้แล้วว่า การเจริญสติ ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นหนทางเอก เป็นทางเดียว ผู้ที่ศึกษาธรรมต้องพิจารณาใคร่ครวญเพื่อให้เข้าใจชัดด้วยตนเองว่า เป็นจริงเช่นนั้นไหม

มีนามมีรูปทุกขณะ รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รู้ว่าเป็นนามเป็นรูปโดยการฟัง รู้โดยการฟังว่านามรูปเกิดดับ ประจักษ์แล้วหรือยังว่าเป็นนาม ไม่ใช่ตัวตน เป็นรูป ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ จะประจักษ์ได้ไหม โดยเหตุผลก็ไม่ได้

เปิด  302
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565