แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 77

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรควาลสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์เข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี ท่านพระอานนท์ได้เห็นลิจฉวีกุมารมากด้วยกัน กำลังทำการยิงศรอยู่ในศาลาสำหรับเรียนศิลปะ ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กัน โดยช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด ครั้นแล้ว ได้มีความคิดว่า พวกลิจฉวีกุมารเหล่านี้ที่จักยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กัน โดยช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด เป็นผู้ศึกษาแล้ว ศึกษาดีแล้ว

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลเรื่องที่ได้ไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี แล้วได้เห็นพวกลิจฉวีกุมาร ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กัน โดยช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด เป็นผู้ศึกษาแล้ว ศึกษาดีแล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากัน หรือจะให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน คือ การที่จะยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กัน โดยช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด กับการแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทราย ที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทราย ที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน กระทำได้ยากกว่า และให้เกิดขึ้นได้ยากกว่า พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ชนเหล่าใดย่อมแทงตลอดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ชนเหล่านั้นย่อมแทงตลอดได้ยากกว่าโดยแท้ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เธอพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ถ้าเทียบกับข้อความในสูตรก่อน จะเห็นได้ว่า อายุของสังขารรวดเร็วยิ่งกว่าอย่างอื่น นามชนิดหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับทันที ทางตาก็เหมือนกัน ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นและดับไปนั้นเป็นทุกขอริยสัจ สำหรับผู้ที่รู้การเกิดขึ้นและดับไปของนามของรูปตามความเป็นจริง จะยากกว่าการยิงลูกศร หรือว่าการที่จะแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งแล้วเป็น ๗ ส่วน

นั่นเป็นการฝึกหัด นั่นเป็นทางโลก นั่นเป็นรูป แต่การประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรม ของนามของรูปแต่ละชนิดได้นั้น ต้องอาศัยความเข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้อง เมื่อมีความเข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว ยังต้องอาศัยอะไรอีก

เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เธอพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ถ้าไม่มีความเพียร จะระลึกลักษณะของนามที่กำลังปรากฏ รูปที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ไหม

ถ้าไม่มีความเพียร จะระลึกรู้ลักษณะของนามที่กำลังปรากฏ รูปที่กำลังปรากฏทางหูในขณะนี้ไหม

ถ้าไม่มีความเพียร ที่จะระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ปัญญาจะรู้ชัดได้ไหมว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

เพราะฉะนั้น การรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว จะเพียงทีละเล็กทีละน้อยในวันหนึ่ง ก็จะต้องช้ามากทีเดียวจนกว่าจะสมบูรณ์เป็นญาณแต่ละขั้น เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยพระธรรมเทศนาให้เกิดความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปจึงจะรู้ชัดได้ ถ้าขาดความเพียรแล้ว ไม่มีหนทางเลย และต้องเป็นนามรูปตามปกติธรรมดา ถ้าต้องไปสร้าง ไปทำขึ้น เพิ่มความลำบากขึ้นอีกเท่าหนึ่ง เพราะต้องไปสร้าง ต้องไปทำความลำบากขึ้น แต่นี่ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องทำความลำบากอะไรเลย ในขณะนี้มีนามรูปเกิดปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย

สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คือ เพียรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นเห็น เป็นสี เป็นเสียง เป็นได้ยิน ทุกอย่างเป็นของจริงที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด ข้ามไม่ได้ ถ้าข้าม ปัญญาก็ไม่สมบูรณ์ ไม่ละ ไม่คลาย ไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของแต่ละรูปแต่ละนาม

ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วาลสูตร ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี แล้วได้เห็นลิจฉวีกุมารมากด้วยกัน ยิงศรได้อย่างแม่นยำทีเดียว แล้วได้มากราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า การที่จะยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กัน ในช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด กับการแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน อย่างไหนจะกระทำได้ยากกว่ากัน

ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เป็นการแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน แต่ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ เป็นการแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๑๐๐ ส่วน เพราะเหตุว่าฉบับภาษาไทย ทั้งที่แปลเป็นภาษาไทยและเป็นฉบับภาษาบาลี ใช้คำว่า สตฺต ที่แปลว่า ๗ แต่สำหรับฉบับภาษาอังกฤษนั้นเป็น สต ที่แปลว่า ๑๐๐

นี่เป็นความต่างกัน ภาษาบาลีของไทยทั้งฉบับรัชกาลที่ ๗ ฉบับรัชกาลที่ ๕ เป็น สตฺต เพราะฉะนั้น การแปล ไม่ใช่ว่าแปลผิดจากบาลี บาลีเป็น สตฺต ก็แปลเป็น ๗ แปลตรง แต่เรื่องของภาษา เวลาที่ภาษาหนึ่งออกเสียงอย่างหนึ่ง แล้วภาษาไทยเราออกเสียงอีกอย่างหนึ่ง คล้ายคลึงกันมาก บางทีอาจจะเน้นเสียง แทนที่จะพูด สัตตะ เป็นสะตะ เพราะความใกล้ชิด แต่โดยสำนวน ท่านพระเถระผู้รู้ให้ความเห็นว่า ควรจะเป็น ๑๐๐ ส่วน เพราะเป็นการแสดงความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งของการที่จะแทงตลอดอริยสัจ ซึ่งยากกว่าการที่จะแบ่งขนทรายออกเป็น ๑๐๐ ส่วน

นี่เป็นเรื่องที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะแก้ไขไม่ได้ ที่จะมีผู้หนึ่งผู้ใดไปเปลี่ยนพระไตรปิฎก แก้จากสัตตะให้เป็นสะตะ ทำไม่ได้ เพราะจะต้องเป็นหมายเหตุของความต่างกันว่าในฉบับไหนอะไรเป็นพื้นฐานหรือมูลฐาน และได้รับมาจากทางไหน สายไหน เพราะเหตุว่าภาษาอังกฤษก็ต้องมาจากลังกา และครั้งหนึ่งลังกาก็มาจากไทย แต่ด้วยการออกเสียง อาจจะทำให้สะตะ เป็น สัตตะ หรือว่า สัตตะ เป็น สะตะได้

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ สติของใครจะระลึกทางตานานๆ มากๆ บ่อยๆ จนกว่าจะชัด สติของใครจะระลึกบ่อยๆ ที่กายก็เป็นสติ ไม่ใช่เป็นกฎเกณฑ์ที่จะให้ระลึกที่รูปนั้นก่อน หรือที่นามนั้นก่อน แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ข้อสำคัญต้องทราบว่า จะต้องรู้ชีวิตจริงๆ ตามปกติของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน

ถ้าคนอื่นสติเกิดขึ้นระลึกรู้เสียงบ่อยๆ เนืองๆ เอาอย่างได้ไหม ถ้าเอาอย่าง เป็นอะไร ก็เป็นอัตตา เป็นความจงใจ เป็นความตั้งใจที่จะทำอย่างนั้น แต่เมื่อฟังแล้วทราบว่า จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจข้ามไม่ได้เลย ก็เป็นสติ แล้วแต่สติของแต่ละคนจะระลึกรู้นามอะไรรูปอะไร เป็นฆราวาสจะต้องไประลึกรู้ลักษณะของนามและรูปอย่างของบรรพชิตได้ไหม ฆราวาสแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บรรพชิตแต่ละรูปก็ไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าฆราวาสพยายามมีชีวิตอย่างบรรพชิต จะไม่มีโอกาสรู้จักชีวิตจริงๆ ของตนเองเลย สำหรับบรรพชิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีศรัทธาบวชเป็นบรรพชิต มีข้อประพฤติปฏิบัติที่ประเสริฐ คือ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นพรหมจรรย์ แล้วรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดปรากฏตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา แต่โดยมากเข้าใจผิด ทำให้ท่านต้องการมีชีวิตอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่ชีวิตตามปกติของท่าน แล้วไปประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ตลอดไป เพราะไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ที่จะไปได้ โดยมากก็ ๗ วัน ๒ อาทิตย์ เดือนหนึ่ง หรือท่านที่ว่างมากๆ ก็ไปได้หลายเดือน แล้วก็ต้องกลับมาเป็นชีวิตจริงๆ ของตัวเอง เพราะไม่ได้สะสมเหตุปัจจัยที่จะมีชีวิตอย่างนั้น

ท่านที่เป็นอุบาสก ถ้าอยากบำเพ็ญชีวิตแบบบรรพชิต ก็บรรพชาอุปสมบท แล้วเจริญสติปัฏฐานในเพศนั้นมากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่อัธยาศัยที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือ มีชีวิตที่สละละบ้านเรือน ส่วนท่านที่เป็นอุบาสิกา อยากมีชีวิตที่ละอาคารบ้านเรือน เป็นอุบาสิกาที่รักษาศีล ๘ นั่นก็เป็นชีวิตจริงๆ ของท่าน ขอให้เป็นชีวิตตามปกติจริงๆ ไม่ใช่เป็นอย่างหนึ่ง แล้วก็ไปทำอีกอย่างหนึ่งชั่วคราว แล้วก็กลับมาเป็นอย่างเดิม แต่ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริงในชีวิตจริงๆ

ในครั้งพุทธกาล ท่านแสดงให้เห็นว่า การบรรพชานั้นยาก เพราะเหตุว่าไม่ใช่ประพฤติปฏิบัติเพียงชั่วคราวเพื่อหวังผลแล้วกลับมา แต่เป็นอัธยาศัยจริงๆ ของผู้นั้นที่จะละอาคารบ้านเรือน ละวงศาคณาญาติ ละรูป เสียง กลิ่น รสที่ประณีตต่างๆ ละความสะดวกสบายต่างๆ เป็นอัธยาศัยจริงๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ยาก ถ้าไปเพียงชั่วคราวเพื่อเจริญสติปัฏฐานให้ได้ผล อย่างนั้นไม่ยากเลย เพราะมีผล ทำให้รู้สึกว่าไม่ยาก แต่ทำไมท่านจึงกล่าวว่า การบรรพชานั้นยาก เพราะต้องเป็นชีวิตจริงๆ เป็นอัธยาศัยจริงๆ ที่จะเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต

ที่กล่าวว่าบรรพชายาก เป็นข้อความในพระไตรปิฎกใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สามัณฑกสังยุต มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้อุกกเจลนคร ในแคว้นวัชชี ครั้งนั้น ปริพาชกชื่อสามัณฑกะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า

ดูกร ท่านสารีบุตร ที่เรียกว่า นิพพาน นิพพานดังนี้ นิพพานเป็นไฉนหนอ

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

ดูกร ผู้มีอายุ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่านิพพาน

ถูกถามว่านิพพานเป็นอย่างไร คำตอบคือ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่านิพพาน ปริพาชกสามัณฑกะเมื่อได้ฟังแล้วก็เข้าใจ

ทุกคนมีราคะ โทสะ โมหะ ปริพาชกนั้นก็รู้ว่า มีราคะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ ปริพาชกก็ย่อมต้องเห็นว่าเป็นสิ่งประเสริฐ เพราะไม่ทำให้จิตใจกระวนกระวาย เดือดร้อน เร่าร้อน ต้องเป็นสุขอย่างยิ่ง แต่ปริพาชกสามัณฑกะก็ได้กล่าวถามท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ ก็มรรคามีอยู่หรือ ปฏิปทามีอยู่หรือ เพื่อกระทำนิพพานให้แจ้ง

เมื่อพูดถึงการสิ้นราคะ โทสะ โมหะก็ดี เพียงพูดถึงผลเท่านั้น ไม่พูดถึงเหตุ ไม่พูดถึงข้อประพฤติปฏิบัติที่ให้บรรลุถึงความสิ้นราคะ โทสะ โมหะด้วย ถ้าไม่พูดถึงเหตุก็กลายเป็นผลที่ว่างเปล่า ไม่มีผู้ใดสามารถบรรลุถึงคุณธรรมที่ประเสริฐนั้นได้

เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงนิพพาน ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ก็ควรที่จะได้รู้ด้วยว่า หนทางที่จะปฏิบัติให้ถึงการกระทำนิพพานให้แจ้งนั้น มีอยู่หรือ

ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวตอบว่า

มีอยู่ ผู้มีอายุ

ปริพาชกสามัณฑกะก็ได้กล่าวถามต่อไปว่า

ดูกร ผู้มีอายุ ก็มรรคาเป็นไฉน ปฏิปทาเป็นไฉน เพื่อกระทำนิพพานนั้นให้แจ้ง

ท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบว่า

ดูกร ผู้มีอายุ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ การระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ นี้แล เป็นมรรคา เป็นปฏิปทา เพื่อกระทำนิพพานนั้นให้แจ้ง

ปริพาชกสามัณฑกะ เมื่อได้ฟังอย่างนั้นก็ได้กล่าวว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ มรรคาดีนัก ปฏิปทาดีนัก เพื่อกระทำนิพพานนั้นให้แจ้ง และเพียงพอ เพื่อความไม่ประมาท นะท่านพระสารีบุตร

ดูกร ท่านสารีบุตร อะไรหนอเป็นการยากที่จะกระทำได้ในธรรมวินัยนี้

ท่านสนทนากันด้วยเรื่องที่ละเอียดและลึกซึ้ง อย่างเวลาที่ท่านพระสารีบุตรแสดงมรรคมีองค์ ๘ ให้กับปริพาชกสามัณฑกะฟังว่า

หนทางซึ่งเป็นมรรคา เป็นปฏิปทา เพื่อกระทำนิพพานให้แจ้งนั้น คือ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ

เพียงพยัญชนะสั้นๆ ว่า ความเห็นชอบ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ก็น่าสรรเสริญแล้วว่า ไม่ใช่เห็นผิด เพราะฉะนั้น หนทางนี้จึงประเสริฐนัก ดีนัก ดำริชอบสัมมาสังกัปปะ แทนที่จะตรึกไปในกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ไม่ชอบใครก็จะคิดเบียดเบียนด้วยกาย ด้วยวาจา หรือว่าชอบ ก็ปล่อยให้เพลินไปด้วยการหลงยึดถือว่าเป็นตัวตน หรือเมื่อจิตใจไม่แช่มชื่นก็หมกมุ่นไปในความไม่แช่มชื่น อย่างนั้นไม่ใช่การตรึกที่ถูก

แต่การตรึกที่ถูก สัมมาสังกัปปะ คือ ตรึกถึงลักษณะที่กำลังปรากฏเพื่อความเห็นชอบ ตรงตามลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังเห็น สัมมาสังกัปปะ ตรึกลักษณะที่กำลังเห็น สีที่กำลังปรากฏ สัมมาสังกัปปะตรึกถึงสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้จริง ๆ ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต แต่เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงเป็นสัมมาสังกัปปะ เป็นมรรคาที่ดีนัก เป็นปฏิปทาที่ดีนัก รวมทั้งการดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ การระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐทั้งนั้น

แต่ว่าปริพาชกสามัณฑกะคงได้เห็นความยาก ความลึกซึ้งของความเห็นชอบ ความดำริชอบ ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น ปริพาชกสามัณฑกะจึงได้กล่าวถามท่านพระสารีบุตรว่า

อะไรหนอ เป็นการยากที่จะกระทำได้ในธรรมวินัยนี้

การเจริญมรรคมีองค์ ๘ เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ เป็นธรรมวินัย แต่ปริพาชกสงสัยว่า อะไรเป็นการยากที่จะกระทำได้ในธรรมวินัยนี้

ท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบปริพาชกสามัณฑกะว่า

บรรพชา ผู้มีอายุ

ยากไหมในการเป็นบรรพชิต สละอาคารบ้านเรือน เป็นอัธยาศัยไม่ใช่เพียงชั่วคราว ไม่ใช่ไปด้วยความหวังแล้วกลับมา ไปบังคับ ไปฝืน ไปเอาอย่าง ไปทำตาม นั่นไม่ใช่การเจริญมรรคมีองค์ ๘ เพราะเหตุว่าไม่ใช่อัธยาศัยที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีหนทาง มีข้อประพฤติปฏิบัติ มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นธรรมวินัยแล้ว แต่เมื่อปริพาชกได้ฟังก็ยังสงสัยว่า อะไรหนอเป็นการยากที่จะกระทำได้ในธรรมวินัยนี้ ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็กล่าวตอบว่า บรรพชา ผู้มีอายุ

เพราะฉะนั้น คนที่คิดจะไปชั่วคราว ก็ควรจะระลึกถึงพระสูตรนี้ การไปที่เป็นอัธยาศัยจริงๆ เป็นการยาก เพราะเหตุว่าไม่ใช่ไปชั่วคราว แล้วไม่ใช่ไปโดยที่ไม่ใช่อัธยาศัยอันแท้จริง

เปิด  366
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565