แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 89

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้น ความบันเทิง ความเบาใจ ความโล่งใจก็เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่ายิ่งเจริญหน้าตายิ่งเหี่ยวแห้ง ทุกข์โศก ตรอมตรม ผอมดำ เพราะเหตุว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้น อะไรๆ ก็เป็นทุกข์ ปัญญารู้ทุกข์ แต่ไม่ใช่เป็นทุกข์เพราะปัญญา

เพราะฉะนั้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ที่เห็นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในความผ่องใสเอิบอิ่มในธรรมของท่าน ไม่ใช่ว่าจะไปเคี่ยวเข็ญให้เป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ แล้วก็บันเทิง โล่งใจ ไม่ยึดไม่ถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

สำหรับพยัญชนะที่ว่า ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก หายใจเข้า มีข้อความอธิบายว่า

ตั้งจิตไว้เสมอในอารมณ์ด้วยสามารถแห่งปฐมฌาน เป็นต้น

อีกนัยหนึ่ง เมื่อออกจากฌาน พิจารณาจิตอันสัมปยุตต์ด้วยฌาน ด้วยองค์ฌานโดยความสิ้นไป เสื่อมไป เอกัคคตาแห่งจิตชั่วขณะย่อมบังเกิดขึ้นด้วยการแทงตลอดลักษณะในขณะแห่งวิปัสสนา

ภิกษุตั้งจิตไว้เสมอ (คือวางไว้เสมอในอารมณ์) แม้ด้วยสามารถเอกัคคตาแห่งจิตชั่วขณะอันบังเกิดขึ้นอย่างนี้ เรียกว่า ย่อมศึกษาว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่น หายใจออก หายใจเข้า

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ได้หมายความว่า ให้ไปมีตัวตนที่พากเพียรที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่เฉพาะอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ซึ่งเป็นการจำกัดอารมณ์

ปัญญาที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใด ความรู้ชัดในนามนั้นรูปนั้นก็มากขึ้น เพิ่มขึ้น จนกระทั่งอินทรีย์แก่กล้า ก็แทงตลอดลักษณะที่ไม่เที่ยง นั่นคือ การตั้งจิตไว้มั่นโดยนัยของวิปัสสนา

ส่วนพยัญชนะที่ว่า ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจออก จักเปลื้องจิต หายใจเข้า

มีข้อความอธิบาย ๒ นัย เช่นเดียวกันคือ

นัยที่ ๑ ความว่า

ภิกษุปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากนิวรณ์ทั้งหลายด้วยปฐมฌาน

ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากวิตก วิจารด้วยทุติยฌาน ปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากปีติด้วยตติยฌาน ปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากสุขด้วยจตุตถฌาน

นั่นโดยนัยของสมถภาวนา

ส่วนนัยของวิปัสสนานั้นมีว่า

ก็หรือภิกษุเข้าฌานเหล่านั้น ออกแล้ว พิจารณาจิตอันสัมปยุตต์ด้วยฌาน โดยความสิ้นไป เสื่อมไป ในขณะแห่งวิปัสสนา

ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากนิจจสัญญา คือ ความสำคัญว่าเที่ยง ด้วยอนิจจานุปัสสนา

ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากสุขสัญญา คือ ความสำคัญว่าเป็นสุข ด้วยทุกขานุปัสสนา

ภิกษุนั้นปล่อย ชื่อว่า เปลื้องจิตจากอัตตสัญญา คือ ความสำคัญผิดว่าเป็นตัวตน ด้วยอนัตตานุปัสสนา

ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า

สมัยนั้น ภิกษุย่อมเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุใด

เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติ สำหรับผู้มีสติหลง ไม่มีสัมปชัญญะ

ถ้าหลง ไม่มีสัมปชัญญะ เวทนาเกิดก็ไม่รู้ หรือว่าธรรมชาติใดปรากฏก็ไม่รู้

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ดูกร อานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจะพิจารณาเห็นความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก หายใจเข้า

ภิกษุย่อมคลายกำหนัด หายใจออก หายใจเข้า

ภิกษุจักพิจารณาความดับ หายใจออก หายใจเข้า

ภิกษุจักพิจารณาความสลัดคืน หายใจออก หายใจเข้า

สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสนั้นด้วยปัญญา จึงวางเฉยเสียได้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ดูกร อานนท์ เปรียบเหมือนมีกองดินใหญ่อยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ถ้าเกวียนหรือรถผ่านมาในทิศบูรพา ก็ย่อมกระทบกองดินนั้น ถ้าผ่านมาในทิศประจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ย่อมกระทบกองดินนั้นเหมือนกัน ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ ย่อมจะกำจัดอกุศลธรรมอันลามกนั้นเสียได้

ไม่ใช่ให้จำกัด คือ รู้เฉพาะกายานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนาตามใจชอบ แต่จะต้องรู้จริง รู้ชัด รู้แจ้ง รู้ทั่ว จึงจะละได้

ถ้าใครยังไม่พิจารณาเวทนา อย่าคิดที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามรูป ไม่ใช่ว่าจะรู้กายอย่างเดียวโดยไม่รู้อย่างอื่น ถ้าโดยลักษณะนั้นแล้ว ปัญญาไม่เจริญ ถ้าหลงลืมสติก็ไม่ได้พิจารณารู้เวทนาที่กำลังปรากฏ ถ้าหลงลืมสติก็ไม่ได้พิจารณารู้จิตที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่หลงลืมสติ มีสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงชื่อว่า เป็นผู้มีสติ

ในหมวดของอานาปานสติที่ว่า มีอานิสงส์มาก มีผลมาก ย่อมสำเหนียกรู้เวทนา คือ ปีติ สุข จิตสังขาร ย่อมสำเหนียกรู้จิต หายใจออก หายใจเข้า เวลาที่จิตบันเทิงตั้งมั่น หรือว่าเปลื้องจิต นั่นเป็นเรื่องของการพิจารณาจิต

สมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง (โดยความเป็นของไม่เที่ยงของขันธ์ทั้ง ๕ ไม่จำกัดขันธ์หนึ่งขันธ์ใดเลย) โดยสภาพของธรรม (เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน) หายใจออก หายใจเข้า

สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม ปรากฏได้ในขณะที่หายใจออก หายใจเข้า ขณะนี้สติเกิดบ้างไหม เกิดได้ และคงจะเกิดบ้าง อย่าไปคิดว่าจะต้องเป็นสติที่เกิดติดต่อกันตลอดเวลา เพราะเหตุว่าสติเป็นสังขารธรรม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับไปอีก แล้วแต่ว่าจะระลึกได้ในขณะใดก็เป็นสติที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วก็ดับ แล้วก็หลงลืมสติ จึงต้องเจริญอบรมให้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปโดยไม่จำกัดสถานที่ โดยไม่จำกัดเวลาจึงจะเป็นการรู้ว่า สติเป็นอนัตตา

ถ. สงสัยคำว่า จดจ้อง อาจารย์กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น เราจะต้องเจริญไปตามธรรมชาติ ไม่ให้จดจ้องในนามหรือรูปอันใดอันหนึ่ง สมมติว่าเราฟังธรรม ถ้าสติเราไม่จดจ้องในเสียงที่พระท่านแสดง หรือตามที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดบรรยายก็ดี เราจะไม่รู้ทั่วถึงธรรมนั้น หมายความว่าเดี๋ยวเราก็เอาสติไปกำหนดรูปอื่นนามอื่น ไม่กำหนดเสียงพระที่ท่านบรรยายนี้ คำว่าจดจ้องในที่นี้มีความหมายแค่ไหน ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

สุ. เวลาที่กำลังฟัง ก็รู้เรื่องด้วยเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งบัดนี้ แต่สติที่เป็นสติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดระลึกขึ้นได้บางขณะ อาจจะระลึกว่า ที่กำลังได้ยินนี้ก็เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่งทางหู หรือระลึกว่า ที่กำลังรู้เรื่องนี้ก็เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วก็ได้ยินต่อไป รู้เรื่องต่อไปตามปกติ ไม่ใช่ผิดปกติ และไม่ใช่บังคับไม่ให้สติปัฏฐานเกิด มิฉะนั้นแล้วจะฟังไม่รู้เรื่อง หรือไม่ใช่จดจ้องว่า ต้องให้มีสติทุกๆ คำพูด ทุกๆ ขณะที่ได้ยิน ทุกๆ ขณะที่รู้เรื่อง

ไม่ใช่มีตัวตนที่ไปบังคับอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐานก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ แต่ไม่ใช่มีตัวตนต้องการที่จะจดจ้อง ที่จะให้สติเกิดเรื่อยๆ ติดต่อกัน หรือว่าจะยับยั้งไม่ให้สติเกิด

ข้อสำคัญคือว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่างไม่เว้น ขณะที่รู้เรื่องก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ไม่ควรรู้

ที่ว่าจดจ้อง หรือจงใจนั้น เป็นเพราะเข้าใจผิดคิดว่า เฉพาะนามนั้นเท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน รูปนี้เท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน ถ้ามีความเข้าใจผิดอย่างนี้จะหวั่นไหว จะมีตัวตนที่รีบหันกลับมาพิจารณาเฉพาะนามนั้นรูปนั้นที่คิดว่าเป็นสติปัฏฐานเท่านั้น เป็นการจำกัดปัญญา ไม่ใช่เป็นการละคลายเพราะว่ารู้มากขึ้น ข้อสำคัญที่สุด คือ การฟังธรรมแล้วสงเคราะห์ธรรมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

โดยการฟังทราบว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรเลยที่เป็นอัตตา นามที่รู้เรื่องก็เป็นของจริง ขณะใดที่รู้เรื่องก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน โดยการปฏิบัติ ธรรมทั้งหลายก็ต้องเป็นอนัตตาเช่นกัน แต่สติระลึกรู้ลักษณะของธรรมนั้นๆ ด้วย ที่ยังไม่เคยระลึกก็จะต้องระลึกแล้วก็รู้มากขึ้น เพิ่มขึ้น ทั่วขึ้น ชัดขึ้น

ขณะที่กำลังฟังรู้เรื่องก็ระลึกได้ว่า เป็นเพียงนามชนิดหนึ่งเท่านั้นที่รู้ สภาพรู้เรื่องก็เหมือนกับสภาพที่คิดนึก เป็นนามธรรม เกิดขึ้นทางมโนทวารหรือว่าทางใจ ไม่ใช่เห็นสี ไม่ใช่ได้ยินเสียง ไม่ใช่รู้กลิ่น

เรื่องของลมหายใจซึ่งทุกท่านมี แต่เป็นสิ่งที่ละเอียดประณีตมาก ซึ่งตามธรรมดาจิตย่อมจะน้อมไปสู่อารมณ์ที่ปรากฏทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ทั้งๆ ที่มีลมหายใจอยู่ แต่การที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ ก็เป็นสิ่งที่ยาก

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่สามารถจะเจริญอานาปานสติสมาธิ ย่อมจะได้อานิสงส์ซึ่งเกิดจากการระลึกรู้ลักษณะของลมที่ประณีต เพราะเหตุว่าในการเจริญอานาปานสติสมาธิ ไม่ใช่ว่าจะมีสมาธิหรือสติเพียงเล็กน้อย แต่จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ และที่จะรู้ว่าเป็นลมหายใจยาวหรือสั้นนั้น จะต้องระลึกรู้ลักษณะที่กระทบที่ปรากฏในโพรงจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปาก

เวลาที่ลมหายใจปรากฏ ที่จะรู้ว่าลมหายใจออกยาวจะรู้ได้จากการกระทบ ถ้ากระทบนิดหน่อยก็เป็นลมหายใจออกสั้น หรือหายใจเข้าสั้น ถ้ากระทบนานก็เป็นลมหายใจออกยาว หรือหายใจเข้ายาว

การที่สติระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจนั้น ต้องระลึกแม้อาการของลมที่ปรากฏในเบื้องต้น คือ ส่วนที่ยาวนี้จะต้องมีการปรากฏเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของลมหายใจด้วย

เวลาที่ลมหายใจออกสั้น ก็จะต้องมีการปรากฏเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดที่กระทบสั้นด้วย เพราะเหตุว่ารูปใดๆ ก็ตามถ้าเป็นแต่เพียงรูปที่เล็กที่สุดเพียงรูปเดียว ย่อมไม่สามารถปรากฏลักษณะได้ แต่เพราะเวลาที่ลมปรากฏครั้งหนึ่งๆ นั้นหลายรูป มีทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดด้วย ซึ่งผู้เจริญสติจะต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ รู้แม้ลมที่ปรากฏเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด

ลมเป็นสิ่งที่ละเอียด ประณีต สติสัมปชัญญะก็ต้องสมบูรณ์ละเอียดประณีต จึงจะสามารถพิจารณารู้ลักษณะของลมที่กระทบได้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครสามารถให้สติระลึกรู้ลักษณะของลมจนกระทั่งเป็นสมาธิ ก็จะได้รับประโยชน์ของการเจริญสมาธิที่เนื่องกับลมหายใจมาก

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ทีปสูตร มีข้อความว่า

อานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของสติที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า มีข้อความต่อไปว่า

ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า จะบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นอรูปฌาน

ผู้ที่สามารถเจริญรูปฌานจนกระทั่งถึงจตุตถฌานแล้วทิ้งนิมิต คือ รูป ไม่ใส่ใจในรูปนิมิต แต่ใส่ใจในอากาศ จนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นอากาสานัญจายตนฌานได้ จะต้องเป็นผู้มีวสี มีความชำนาญ มีความแคล่วคล่อง รู้เรื่องของการที่จะเจริญสมาธิในขั้นสงบประณีตยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ไม่สามารถในการเจริญสติ ในการเจริญสมาธิแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถถึงขั้นที่จะบรรลุอรูปฌานได้

ผู้ที่จะเจริญอรูปฌานได้นั้นจะต้องบรรลุจตุตถฌานเสียก่อน ซึ่งเป็นฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์ แล้วทิ้งรูปนิมิต ไม่ใส่ใจในรูปนิมิต จึงจะสามารถทำให้จิตตั้งมั่นคงในอรูปกัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์สามารถที่จะพิจารณาลักษณะของลมหายใจได้จนกระทั่งถึงจตุตถฌานย่อมพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยการที่มนสิการอานาปานสติเป็นเบื้องต้น

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละ ถ้าแม้ภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

สำหรับสัญญาเวทยิตนิโรธ ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล และพระอรหันตบุคคลที่ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว สามารถที่จะระงับดับจิตและเจตสิกได้ในระหว่างที่เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ จิต เจตสิกไม่เกิดเลย และรูปซึ่งเกิดจากจิตก็ไม่เกิดด้วย เพราะเป็นผู้ที่เห็นว่า การที่จิต เจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ไม่สาระอะไรเลย เพียงเห็นแล้วก็หมดไป ได้ยินเสียงแล้วก็หมดไป ได้กลิ่นแล้วก็หมดไป ได้รสแล้วก็หมดไป คิดนึกสิ่งต่างๆ แล้วก็หมดไป ถึงแม้ว่าจะเป็นความสงบของสมาธิก็ไม่เที่ยง ความสงบที่เป็นสมาธิเกิด แล้วก็ดับไปๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิกเกิดเลย ย่อมจะเป็นการสงบระงับอย่างยิ่ง แม้ในขณะที่ยังไม่สิ้นชีวิตไปจากโลกนี้ก็ตาม

เพราะฉะนั้น ผู้ที่สามารถจะดับจิต เจตสิกได้ด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น ก็มีแต่เฉพาะบุคคลที่เป็นพระอนาคามีบุคคล และพระอรหันต์ ผู้ที่ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้วเท่านั้น

เปิด  301
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566