แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 91

สำหรับอิริยาบถบรรพ กับสัมปชัญญะบรรพนี้ต่อเนื่องกัน ขอกล่าวถึงสัมปชัญญะบรรพ มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวารวรรค มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัว ในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ

ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดังพรรณนามา ฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

จบ สัมปชัญญะบรรพ ใน อิริยาบถบรรพ ก็ดี ใน สัมปชัญญะบรรพ ก็ดี กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ก็เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น แล้วปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริง ไม่ควรจะหลงลืมสติ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่กายในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นอิริยาบถบรรพ ในขณะที่เคลื่อนไหว เหยียด คู้ พูด นิ่ง เป็นสัมปชัญญะบรรพ ไม่ควรหลงลืมสติในขณะที่ก้าว ในขณะที่ถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ไม่ว่ากระทำกิจการงานใดๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ต้องมีนั่ง นอน ยืน เดิน มีแล มีเหลียว มีคู้ มีเหยียด

ถ. เห็นกายในกายนั้นเห็นอย่างไร แล้วเห็นธรรม คือ เกิดขึ้นและเสื่อมในกายนั้นเห็นอย่างไร

สุ. เวลาที่สติระลึกที่กาย จะมีลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กายไม่ใช่ตัวตนจึงชื่อว่าเห็นกายในกาย ไม่ใช่เห็นตัวตนในกาย รูปที่ปรากฏนั้นเป็นกาย เห็นที่ไหน ก็เห็นที่รูปนั้น คือ ที่กายนั้นลักษณะนั้นว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ที่ว่าเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ถ้ามีสติระลึกที่รูปนั้น รูปนั้นเกิดแล้วก็เสื่อมไป ทุกรูป ไม่มีรูปไหนที่ตั้งอยู่ได้เลย

วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ แสดงความหมายของสัมปชัญญะ คือ การรู้ชัด มีข้อความว่า

ก็ภิกษุเป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติ ในการก้าวไปข้างหน้า แล้วถอยกลับมาข้างหลัง เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการแลดูข้างหน้า และเหลียวดูข้างซ้าย ข้างขวา เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการคู้อวัยวะเข้า และเหยียดอวัยวะออก เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง เป็นอย่างไร

ภิกษุในศาสนานี้ มีสติสัมปชัญญะก้าวไปข้างหน้า มีสติสัมปชัญญะถอยกลับมาข้างหลัง มีสติสัมปชัญญะแลดูข้างหน้า มีสติสัมปชัญญะเหลียวดูข้างซ้าย ข้างขวา มีสติสัมปชัญญะคู้อวัยวะเข้า มีสติสัมปชัญญะเหยียดอวัยวะออก มีสติสัมปชัญญะในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร มีสติสัมปชัญญะในการกิน ดื่มเคี้ยว และลิ้มรส มีสติสัมปชัญญะในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ มีสติสัมปชัญญะในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง

ในบทเหล่านั้น บทว่ามีสติ มีอธิบายว่าสติเป็นไฉน

เวลาที่เจริญสติ ถ้าไม่รู้ว่าสติมีลักษณะอย่างไร อาจจะจดจ้องต้องการ แต่ไม่ใช่เป็นสภาพของสติ เพราะฉะนั้น ข้อความใน วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ มีว่า

ในบทเหล่านั้น บทว่ามีสติ มีอธิบายว่าสติเป็นไฉน

เพื่อจะให้แยกถึงความต่างกันของสติและสมาธิ

สติ คือ ความตามระลึก ความหวนระลึก

สติ คือ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม

สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ

บทว่า มีสัมปชัญญะ มีอธิบายว่า สัมปชัญญะเป็นไฉน

ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียดความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด

ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่าง คือ ปัญญา แสงสว่าง คือ ปัญญาปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิอันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ

ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะนี้ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ ภิกษุชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง แลดูข้างหน้า เหลียวดูข้างซ้ายข้างขวา

ข้อความต่อไปก็เหมือนกับที่กล่าวแล้ว

ข้อความที่ว่า สติเป็นไฉน พยัญชนะมีว่า สติ ความตามระลึก

ถ้าใช้คำว่า ความตามระลึก หมายความถึงตามระลึกสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ ไม่ใช่หวังสิ่งข้างหน้าที่ยังไม่เกิดแล้วจะทำขึ้น ถ้าเป็นสิ่งข้างหน้าที่ยังไม่เกิดแต่จะทำให้เกิดเพื่อจะให้รู้ อย่างนั้นจะชื่อว่าตามระลึกได้ไหม อย่างนั้นจะไม่ตรงกับบทพยัญชนะที่ว่าสติ คือ ความตามระลึก

ตามระลึก ต้องหมายความว่าสิ่งนั้นต้องเกิดแล้วปรากฏ สติตามระลึกถึงสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนั้นจึงชื่อว่า ตามระลึก ถ้าจะไปทำให้เกิดเพื่อจะรู้ นั่นไม่ใช่การตามระลึก แต่การตามระลึก คือ ขณะนี้มีเห็นไหม มี เกิดแล้ว มีได้ยินไหม มี กำลังได้ยินปรากฏ ตามระลึก สติ คือ ความตามระลึก ความหวนระลึก

นี่ก็โดยอรรถเดียวกัน เวลานี้กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก หวนระลึกถึงสภาพเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ หรือกำลังคิดนึก หวนระลึกถึงลักษณะที่กำลังคิดกำลังนึกในขณะนี้

สติ กิริยาที่ระลึก ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าสติ คือ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม

นี่เป็นลักษณะของสติ หรือว่า สติก็ดี สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ อันใดนี้เรียกว่า สติ

สำหรับปัญญานั้น คือ กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ถ้าไม่วิจัย คือ ไม่พิจารณาธรรม จะรู้ได้ไหมว่าขณะนั้นเป็นสภาพของนาม หรือเป็นสภาพของรูป ซึ่งปัญญาจะต้องวิจัย คือ พิจารณารู้ความต่างกันของนามของรูป เพราะฉะนั้น สัมปชัญญะมีความหมาย ๒ อย่าง

สัมปชัญญะบรรพ คือ การรู้สึกตัวในขณะที่เคลื่อนไหว เหยียดคู้ กิน ดื่ม เคี้ยว กับสัมปชัญญะที่เป็นปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมายลักษณะของนามและรูป ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด

คือ ทางตาก็มีนามกับรูป ปัญญารู้ เป็นภาวะที่รู้ละเอียด คือ รู้ความต่างกันของนามและรูปทางตา รู้ความต่างกันของนามและรูปทางหู รู้ความต่างกันของนามและรูปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความรู้แจ่มแจ้ง นั่นเป็นลักษณะของปัญญา

ความค้นคิด จนกว่าจะรู้ชัด เวลานี้ได้ยิน สติระลึกได้ ตามระลึกในขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าไม่ค้นคิดจะรู้ชัดไหมว่า ลักษณะนี้นาม หรือว่าลักษณะนั้นรูป ไม่มีทางที่จะรู้ชัดได้เลย แต่ที่จะรู้ชัดได้นั้นเป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องเป็นลักษณะที่ค้นคิด

เป็นความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน หนักแน่นไม่เปลี่ยน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน เพราะเหตุว่ารู้ชัด

ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง เป็นความเห็นแจ้ง

เมื่อรู้ลักษณะของนามได้ยิน รู้ลักษณะของเสียง เห็นแจ้งแล้วก็ไม่สงสัยว่า นี่เป็นนาม หรือว่านั่นเป็นรูป เพราะว่ามีความรู้แจ้งเป็นความรู้ชัด

ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่าง คือ ปัญญา แสงสว่าง คือ ปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรมสัมมาทิฏฐิอันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ

ขอตอบปัญหาจากท่านผู้ฟัง จากบ้านเลขที่ ๘๑/๑ ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์

ที่ว่า ขณะที่มีสติระลึกรู้ทันลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแต่ละทาง เช่น ระลึกรู้ลักษณะของเสียง ถ้าเสียงสิ้นลง นามที่ได้ยินก็ดับพร้อมกัน เช่นนี้จะใช่เห็นรูปนามดับหรือไม่

ตอบ จะสังเกตได้ว่า คำถามนี้มุ่งที่การเกิดดับมากกว่าการรู้ลักษณะของนามและรูป คงจะต้องการประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ควรจะคำนึงถึงเลย รู้นามและรูปอะไรบ้างแล้ว กำลังมีความริษยาสักนิดหนึ่งเกิดขึ้น มีความมานะ ทะนงตนเกิดขึ้นในลาภบ้าง ในยศบ้าง ในวิชาความรู้บ้าง เป็นแต่เพียงลักษณะของนามและรูปจริงๆ ทุกขณะที่สติระลึกได้ อย่าเพิ่งไปไกลถึงกับจะประจักษ์การเกิดดับของนามและรูป เพราะนั่นเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ถึงขั้นอุทยัพพยญาณซึ่งปัญญาต้องเจริญเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้น

ขณะนี้นามรูปเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครบังคับบัญชาได้เลย แต่ว่าปัญญาจะต้องรู้ชัดขึ้น รู้มากขึ้น ละคลายมากขึ้น ถึงจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปได้

ถ. ขณะที่มีสติระลึกรู้อยู่ที่รูปนาม คือ ลักษณะที่กำลังปรากฏนั้นเป็นการประชุมกัน คือ เกิดแต่ผัสสะระหว่างอายตนะภายนอก และภายในเท่านั้น ใช่หรือไม่

สุ. รู้อายตนะ รู้อย่างไร รู้โดยการศึกษา โดยการฟัง หรือว่ารู้ในขณะที่สภาพนั้นปรากฏเป็นลักษณะของอายตนะ และที่ว่า ขณะที่มีสติระลึกรู้อยู่ที่รูปนามคือ ลักษณะที่ปรากฏนั้นเป็นการประชุม คือ เกิดแต่ผัสสะระหว่างอายตนะภายนอกและภายในเท่านั้น ผัสสะรู้ได้ไหม ขณะนี้ถ้าไม่มีผัสสเจตสิกกระทบกับรูป คือ สี ทางตา จักขุวิญญาณก็ไม่เกิด ถ้าไม่มีผัสสเจตสิกกระทบกับเสียง ทางหู จิตได้ยินก็ไม่เกิด แต่ถ้ายังไม่ได้เจริญสติรู้ลักษณะของได้ยินที่ต่างกับเสียง รู้ลักษณะของเห็นที่ต่างกับสี จะรู้ตรงผัสสะได้อย่างไร

การเจริญสติต้องเป็นลำดับขั้น จะไปรู้ผัสสะ คือ การกระทบไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องรู้ก่อนว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาลักษณะใดเป็นนาม ลักษณะใดเป็นรูป สิ่งที่ปรากฏทางหู ลักษณะใดเป็นนาม ลักษณะใดเป็นรูป ให้รู้ชัดจริงๆ ส่วนปัญญาที่จะรู้ละเอียดถึงกับเป็นอายตนะภายในภายนอก หรือว่าเป็นผัสสะที่กระทบ นั่นเป็นเรื่องทีหลัง เรื่องแรกจะต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของนาม และรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้ชัดเจนเสียก่อน

ถ. การที่มีสติระลึกรู้อยู่ที่ “รูปนาม” ที่กำลังปรากฏ จะต้องปฏิบัติไปนานหรือไม่

สุ. นานมากทีเดียว จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด แล้วละคลายกิเลสได้หมดสิ้นเป็นพระโสดาบัน แล้วก็ยังระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏต่อไปอีก ไม่มีอะไรนอกจากนามรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติธรรมดาเพราะเหตุว่าอวิชชานั้นหนาแน่น ทั้งๆ ที่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ในอดีตกาลท่านมีมนสิการแยบคายเกิดขึ้น ละการเห็นผิด และกิเลสทั้งปวงได้ในขณะที่ได้ฟังธรรม แต่ผู้ที่มีการเห็นทุกวันๆ มีการได้ยินทุกวันๆ เมื่อไรจะมนสิการแยบคายอย่างท่านที่ละกิเลสได้หมดเป็นพระอรหันต์ทันทีที่ได้ฟังธรรม

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัตินาน หรือไม่นาน ก็แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะเป็นอุคฆฏิตัญญู หรือไม่ ซึ่งถ้าจะบรรลุเร็วก็ไม่นาน แต่คำว่าไม่นานนี้ หมายความว่าในอดีตกาลท่านต้องเคยสะสมอบรมมามากแล้ว ไม่ใช่ไม่เคยสะสมเหตุปัจจัย หรืออินทรีย์ แต่ต้องสะสมจนกระทั่งอินทรีย์แก่กล้าที่จะรู้ได้

ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปริญญาสูตร ซึ่งมีข้อความว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ย่อมกำหนดรู้กายได้ เพราะกำหนดรู้กายได้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ (คือ พระนิพพาน)

กายก็มีตลอดเวลา ผู้ที่จะรู้ชัดในกายได้ คือ ผู้ที่มีความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของกาย สำหรับข้อความต่อไปก็โดยนัยเดียวกัน คือ

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ย่อมกำหนดรู้ได้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

ใครอยากจะรู้แจ้งนิพพานบ้าง เจริญสติกันทำไม ถ้าไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งก็อาจจะไม่เข้าใจแม้แต่ตัวท่านเอง หรือคนอื่นก็อาจจะพลอยไม่เข้าใจท่านไปด้วย อย่างบางคนอาจจะคิดว่า ผู้ที่เจริญสติไม่ได้อยากไปนิพพาน แต่ขอให้คิดดูว่า ท่านที่ยังไม่ได้เจริญสติมาก่อน มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาเริ่มรู้ลักษณะของนาม และรูปบ้างทีละเล็กทีละน้อย ในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เพลินไปด้วยความรู้สึกเป็นตัวตน เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างก่อนๆ ซึ่งความจริงในขณะนั้นท่านน้อมไปแล้วสู่นิพพานทีละเล็กทีละน้อย

พิจารณารู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรมซึ่งมีปรากฏอยู่ตลอดเวลา แล้วสติเริ่มเกิดเริ่มระลึก เริ่มรู้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรคฉันทสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ย่อมละความพอใจในกายนั้นได้ เพราะละความพอใจได้จึงเป็นอันชื่อว่า ทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

ส่วนข้อความต่อไปก็โดยนัยเดียวกัน คือ พิจารณาเวทนา จิต ธรรม เมื่อเธอพิจารณาเห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ย่อมละความพอใจในเวทนา ในจิต ในธรรมเพราะละความพอใจได้ จึงเป็นอันชื่อว่า ทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

ถึงแม้เวลานี้ยังไม่รู้สึกว่าหน่าย คลายความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในนาม ในรูป ที่สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะทีละเล็กทีละน้อย แต่วันหนึ่ง เมื่อรู้มากขึ้นก็ต้องละความยินดีความพอใจ ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ซึ่งเมื่อละก็เป็นการกระทำอมตะให้แจ้ง หมายความว่าย่อมสามารถรู้แจ้งนิพพานได้

เปิด  366
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565