แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 100

ขอทบทวนอีกครั้ง จากพระไตรปิฎก ที่ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววัน ๑ บ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

ระลึกที่กายของตนเป็นภายในก็ได้ เวลาเห็นคนอื่นก็ระลึกได้ โครงกระดูกทั้ง นั้นที่นั่งอยู่ที่นี่แน่นอนที่สุด กายก็เป็นเครื่องให้ระลึกได้ถึงความเป็นจริง คือ ความเป็น อสุภะ เวลานี้ยังไม่ขึ้นพอง ยังไม่เขียวน่าเกลียด น้ำเหลืองยังไม่ไหล แต่ทุกคนจะไม่พ้นสภาพอันนี้เลย ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ถ้าเกิดความรู้สึกว่าจะพอใจ จะยินดีในบุคคลที่เห็น ถ้าเพียงระลึกอย่างนี้ก็สังเวช แล้วก็สลด ละความยินดีพอใจในบุคคลที่เห็นได้ชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดี เพียงให้สติระลึกได้ แล้วก็รู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏ

อีกประการหนึ่ง ท่านที่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ในหมวดของกายานุปัสสนา อาจจะเคยได้ยินได้ฟังว่า ในหมวดของอานาปานบรรพก็ดี ในหมวดของปฏิกูลมนสิการบรรพก็ดี ธาตุมนสิการบรรพก็ดี หรือว่า อสุภบรรพก็ดี ถ้าท่านเคยได้ ยินได้ฟังมาว่า จะต้องเจริญฌานเสียก่อนแล้วจึงจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา ก็ขอให้เข้าใจ ด้วยว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่ใช่สมาธิ ซึ่งสมถภาวนา หรือสมาธินั้น ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่มีในขณะนี้ ไม่ใช่การรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย นี่เป็นความต่างกันของสมาธิกับวิปัสสนา

ถ้าเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะโดยกัมมัฏฐานหนึ่งกัมมัฏฐานใดที่เป็นสมถภาวนาแล้ว เป็นการทำให้เกิดความสงบ ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่มีในขณะนี้ แต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึก เพื่อรู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏทุกๆ ขณะ ไม่ต้องไปทำให้เกิดขึ้น

การได้ยิน ในขณะนี้ก็มีแล้ว เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้ได้ยิน การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการระลึก แล้วรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น การเจริญสติต้องรู้ลักษณะของสติว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ หรือว่าปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ อสุภบรรพในมหาสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไปทำให้เกิดความสงบ หรือว่าไปทำให้ฌานจิตเกิดขึ้น แต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเพื่อรู้ชัด ดังพยัญชนะที่ท่านทรงแสดงไว้ว่า

กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น

กายนี้หมายความถึงนามกายด้วย สติเป็นนามกาย ผู้ที่มีกายแต่ไม่รู้ลักษณะของสติ เจริญสติไม่ถูก เจริญสติไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่า ขณะใดเป็นขณะที่หลงลืมสติ และขณะใดเป็นขณะที่มีสติ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสติจะต้องว่า ลักษณะของสติ คือ ในขณะไหน ขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ มีเห็น มีได้ยิน มีกลิ่น มีรส มีเย็น มีร้อน อ่อน แข็ง มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกที่ลักษณะใด ตรงไหนก็ตรงนั้น นิดเดียวก็นิดเดียว แต่เมื่อระลึกแล้ว รู้ว่ากำลังพิจารณา หรือรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ หรือว่ารู้ลักษณะของสภาพรู้ ทางหู หรือทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ถ้าผู้ใดจะเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่รู้ลักษณะของสติ ไม่มีทางเจริญสติได้เลย

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเป็นการระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปทำให้เกิดขึ้น

ถ้าเป็น มหาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวถิกาบรรพ ไม่ใช่เป็นการทำให้เกิด แต่เป็นการระลึกรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ต้องไปทำให้สงบถึงฌานจิต แล้วก็ยกขึ้นสู่วิปัสสนา

นี่เป็นการไม่เข้าใจอรรถของพยัญชนะ ซึ่งตามธรรมดาแล้ว ปุถุชนนั้นเป็นผู้ที่หลงลืมสติ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มากด้วยกิเลส กิเลสทำให้หลงลืมสติ พระอรหันต์ไม่หลงลืมสติเพราะว่าหมดกิเลสแล้ว เมื่อยังมีกิเลสเป็นปัจจัยอยู่ ก็เป็นผู้ที่หลงลืมสติเรื่อยๆ บ่อยๆ แต่ผู้ที่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็เข้าใจลักษณะของสติ เวลาสติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏก็รู้ เวลาที่หลงลืมสติไปก็รู้ว่า ในขณะนั้นขาดสติ

ถ้าเป็นการรู้อย่างนี้ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ว่าจะเคยเจริญสมาธิมาก่อน จิตน้อมไปสู่ความสงบ สติที่อบรมจนมีกำลังก็สามารถที่จะระลึกได้ว่า ลักษณะของจิตที่สงบนั้น เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานมาก่อนเลย แล้วเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งจิตเป็นฌาน แล้วก็มีอัตตาตัวตนไปยกฌานขึ้นมาพิจารณาเป็นวิปัสสนา อย่างนั้นไม่ใช่ บางท่านกล่าวว่าเจริญได้ สติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ใช่วิปัสสนาจริงๆ

ท่านผู้ฟังพิจารณาแล้วคิดว่าอย่างไร เพราะเหตุว่าคำว่าวิปัสสนานั้น หมายความถึงปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทุกคนเข้าใจคำว่า ต้องรู้อารมณ์ปัจจุบัน อารมณ์ปัจจุบัน คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ ไม่ใช่เมื่อสักครู่นี้ เมื่อวานนี้ หรือว่าพรุ่งนี้ แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัจจุบันก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดยังไม่เคยเจริญสติ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติเพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ท่านคิดว่า จะต้องไปแสวงหา ไปดูอารมณ์ปัจจุบันที่อื่น แต่ทันทีที่คิดอย่างนั้น สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ นามรูปที่กำลังปรากฏทางหูในขณะนี้ นามรูปที่กำลังปรากฏทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่เป็นปกติทุกๆ วันนี้ แล้วเมื่อไรท่านจะรู้ความจริงว่า สภาพธรรมทั้งหลายนี้ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าวิปัสสนาเป็นการรู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นปรากฏ ไม่ใช่ว่าต้องไปทำขึ้นมาให้รู้ ความเข้าใจผิดในการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นสิ่งที่มีได้ รู้อะไรสักเท่าไรก็ตาม แต่ไม่เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ความเข้าใจผิดมีมาก ความเห็นผิด หรือว่าการพ้นผิดก็มี

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อสัปปุริสสูตร ที่ ๒ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษ และอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย จักแสดงสัตบุรุษ และสัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด ทำการงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งมั่นผิด บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ คือ มิจฉามรรคทั้ง ๘ นั่นเอง

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าอสัตบุรุษเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด ทำการงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งมั่นผิด รู้ผิด พ้นผิด บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าสัตบุรุษเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ รู้ชอบ พ้นชอบ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าสัตบุรุษ

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานสำคัญที่สุด ถ้าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกในข้อประพฤติปฏิบัติไม่มีแล้ว สัมมาสติก็เกิดไม่ได้เลย ที่สัมมาสติจะเกิดได้ ทุกอย่างจะถูกได้ ก็เพราะสัมมาทิฏฐิ มีความเข้าใจถูกในข้อประพฤติปฏิบัติในอริยมรรค ในสิ่งที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะกำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังพูด กำลังนิ่ง กำลังคิด กำลังประกอบกิจการงานต่างๆ สัมมาสติจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกในข้อประพฤติปฏิบัติ เมื่อมีความเห็นถูกในข้อประพฤติปฏิบัติ สัมมาสติก็ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏได้ ไม่ต้องไปทำอะไรอีก สติเริ่มระลึกเพื่อรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

สัมโมหวิโนทนี สัจจวิภังค์นิทเทส มัคคสัจจ์ มีข้อความว่า

สติแทรกไปถึงธรรมทั้งปวง ทั้งที่อุปการะและไม่อุปการะแก่สมาธิ

เพราะฉะนั้น เป็นเครื่องยืนยันว่า ถ้าท่านผู้ใดทราบลักษณะของสติ ขณะที่โลภะเกิด ขณะที่โทสะเกิด ขณะที่กำลังเห็น สติแทรกไปถึงธรรมทั้งปวง ทั้งที่อุปการะและไม่อุปการะแก่สมาธิ

ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อุทุมพริกสูตร (ข้อ ๑๘) มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เขาคิชกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น นิโครธปริพาชกอาศัยอยู่ในปริพาชิการามของพระนางอุทุมพริกา พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณ ๓,๐๐๐ สันธานคฤหบดีออกจากพระนครราชคฤห์ในเวลาบ่ายวันหนึ่ง เพื่อจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค สันธานคฤหบดีดำริว่า

เวลานี้ยังไม่เป็นเวลาอันสมควร เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระภาคกำลังทรงหลีกเร้นอยู่ แม้ภิกษุทั้งหลายก็อบรมใจ ก็ไม่ใช่สมัยที่จะพบภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจยังหลีกเร้นอยู่

น่าสงสัยพยัญชนะนี้ไหม คนธรรมดายังต้องมีเวลาพัก เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะไปหาก็ต้องรู้กาลว่า ควรจะไปในขณะไหน ในขณะที่พักผ่อน หรือว่า ในขณะที่เป็นเวลาสมควรที่จะพบปะกับผู้อื่น ข้อความในพระสูตรมีว่า

สันธานคฤหบดี เมื่อดำริอย่างนั้นแล้ว จึงคิดว่า ควรจะไปหานิโครธปริพาชก ยังปริพาชิการามของพระนางอุทุมพริกา แล้วสันธานคฤหบดีก็เข้าไป ณ ที่นั้น เมื่อเข้าไปแล้ว ได้ปราศรัยสนทนากันแล้ว นิโครธปริพาชกก็ได้กล่าวกะสันธานคฤหบดีว่า พระผู้มีพระภาคไม่กล้าเสด็จเที่ยวไปในบริษัท ไม่สามารถเพื่อจะทรงเจรจา พระองค์ท่านทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายในอย่างเดียว อุปมาเหมือนแม่โคบอด เที่ยววนเวียนเสพที่อันสงัด ณ ภายในฉะนั้น เอาเถิดคฤหบดี พระสมณโคดมพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ พวกข้าพเจ้าพึงสนทนากับพระองค์ท่านด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เห็นจะพึงบีบรัดพระองค์ท่าน เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่าฉะนั้น

คิดว่าพระผู้มีพระภาคนั้น เสพแต่เฉพาะที่สงัด ไม่กล้าเสด็จเที่ยวเข้าไปในบริษัท ไม่สามารถเพื่อจะทรงเจรจา

ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับการเจรจาของสันธานถฤหบดีกับนิโครธปริพาชกนี้ด้วยพระทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ เสด็จลงจากภูเขาคิชกูฏ เสด็จเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ นิโครธปริพาชกก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์แล กล่าวการหน่ายบาปด้วยตบะ ติดการหน่ายบาปด้วยตบะอยู่ การหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์มีอย่างไรหนอแล

นี่เป็นคำถามของนิโครธปริพาชกที่คิดว่า เพียงคำถามข้อเดียวก็จะบีบรัดพระผู้มีพระภาคได้ เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่าฉะนั้น ซึ่งพวกนิโครธปริพาชกก็พยายามที่จะละกิเลสด้วยตบะ แต่ว่าตนเองก็ติดในตบะนั้น

เพราะเหตุว่าไม่ใช่หนทางที่จะรู้แจ้งแล้วละ แต่เป็นการทรมานตัวด้วยประการต่างๆ ทั้งในภัตตาหาร จีวร ทุกอย่าง ทุกประการ แล้วก็คิดว่า วิธีนั้นเป็นวิธีละกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ก็ติดอยู่ในวิธีนั้นเอง แต่ก็ได้กราบทูลถามว่า การหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์มีอย่างไรหนอแล ที่ไม่บริบูรณ์มีอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ มีใจความว่า ตบะที่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น จะต้องบริโภคอาหารที่หยาบ แล้วก็ใช้ผ้าห่อศพ ทรมานตัวด้วยประการต่างๆ เหล่านั้นไม่ใช่การหน่ายที่บริบูรณ์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร นิโครธ เรากล่าวอุปกิเลสมากอย่างในการหน่ายบาปด้วยตบะ แม้ที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้แล เพราะว่าบุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ ย่อมถือมั่นตบะ ย่อมเมา ย่อมลืมสติ ย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภ สักการะ สรรเสริญ มุ่งละสิ่งไม่ควร แต่ส่วนสิ่งใดควรก็ลืมสติ ติดสิ่งนั้น ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก ติผู้ไม่มีตบะอย่างตน (คือ บุคคลที่เสพอาหารที่ประณีต พวกที่บำเพ็ญตบะก็ติบุคคลเหล่านั้นว่า ไม่เหมือนกับตน ไม่มีตบะอย่างตน)

บุคคลผู้มีตบะ เมื่อพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตแสดงธรรมอยู่ ย่อมไม่ผ่อนตามปริยายซึ่งควรจะผ่อนตาม อันมีอยู่ ประกอบด้วยทิฏฐิอันดิ่งถึงที่สุด เป็นผู้ลูบคลำทิฏฐิเอง เป็นผู้ถือมั่น สละคืนได้ยาก

เปิด  305
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566