แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 93

ถ. การท่องจำเป็นอย่างไร ในการเจริญสมถะ

สุ. การเจริญสมถภาวนาเพื่อให้จิตสงบ จดจ้องแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ไม่ฟุ้งซ่านไป

เพราะฉะนั้น ถ้าสมมติว่าไม่ท่อง จิตก็ย่อมฟุ้งซ่านไปเป็นอื่น จึงต้องท่องให้จิตระลึกอยู่ที่อาการทั้ง ๓๒ นั้น ไม่ให้จิตแลบหรือฟุ้งซ่านไปที่อื่น การท่องต้องมีเหตุผลด้วยว่า จะต้องท่องไปโดยลำดับ เพื่อให้แม่นยำชัดเจน ถ้าการท่องไม่เป็นไปตามลำดับก็หลงลืมได้ และเวลาที่ท่องก็ไม่ต้องรีบร้อนด้วย เพราะเหตุเดียวกัน คือ ถ้าท่องอย่างรีบร้อนก็ทำให้ไม่สามารถที่จะจดจำ หรือระลึกถึงลักษณะได้อย่างชัดเจน เพียงแต่รีบท่องให้จบ แต่ไม่สามารถพิจารณาเข้าใจถึงความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ได้

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสิ่งที่จะให้สติระลึกรู้ ไม่ว่าจะเป็นโลก ๖ โลก คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ผู้ฟังก็ยังหลงลืมสติอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดงทุกสิ่งทุกประการ ที่จะเป็นเครื่องให้สติระลึกรู้ได้ แม้แต่ผมที่ทุกคนก็ต้องเห็นอยู่ทุกวัน ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งก็มีปรากฏให้ระลึกได้อยู่ทุกวัน ก็ควรระลึกถึงความเป็นปฏิกูล เพื่อรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริงด้วย

ท่านที่เคยศึกษาในเรื่องของธาตุ จะเห็นได้ว่าในอาการ ๓๒ นี้ เป็นอาการของปฐวีธาตุ ๒๐ เป็นอาการของธาตุน้ำ ๑๒ ไม่มีอาการของธาตุไฟกับธาตุลมเลย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะทรงแสดงปฐวีธาตุและอาโปธาตุโดยความเป็นวัตถุภายในกาย วัตถุก็เป็นส่วน เป็นชิ้น แต่ที่ไม่ได้รวมไฟกับลมเพราะลักษณะของไฟกับลมนั้นไม่ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล แต่จะเห็นได้ว่า ธาตุดินกับธาตุน้ำมีลักษณะที่เป็นปฏิกูล แต่ธาตุไฟกับธาตุลมไม่ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล ลักษณะที่เพียงอบอุ่น หรือว่าร้อน ไม่เป็นของปฏิกูล ลักษณะที่ไหวไป เคร่งตึง ก็ไม่ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล

ลักษณะของผมที่คิดว่าสวยงามน่าพอใจนั้น ถ้าพิจารณาโดยสี เวลาที่อยู่กับร่างกายก็สวยดี แต่ถ้าคิดว่าสีอย่างผมนี้สวย เวลาที่พบลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีสีคล้ายผม แม้ในอาหาร จะเป็นพวกเชือกปอหรืออะไรที่มีสีเหมือนผม ก็ยังรังเกียจแล้วหยิบออก

เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าไม่ปฏิกูลไม่ได้ โดยลักษณะ โดยสี ก็ปฏิกูลเหมือนกัน โดยกลิ่น ถ้าไม่ทำความสะอาด ไม่สระผม ไม่ใส่น้ำมัน หรือน้ำหอม โดยเฉพาะเวลาที่ตกลงไปในไฟ หรือเผาไฟ ก็มีกลิ่นที่น่ารังเกียจ และท่านแสดงไว้ว่า ที่เกิดของผมก็เกิดบนหนังชุ่มที่ห่อหุ้มกะโหลกศีรษะไว้ ข้างหน้าถึงหน้าผาก ข้างหลังถึงท้ายทอย ข้างๆ ถึงข้างหูทั้ง ๒ ข้าง เปิดออกมาดูที่เกิดของผม ก็ปฏิกูลยิ่งนัก อุปมาเหมือนกับผักเกิดที่ป่าช้า และที่ทิ้งขยะมูลฝอยเป็นต้น

นี่เป็นลักษณะของแต่ละส่วนของร่างกายที่มีความเป็นปฏิกูล แล้วก็ท่านทรงแสดงไว้อย่างละเอียดถึงลักษณะของส่วนต่างๆ ซึ่งถ้าท่านผู้ใดสนใจสามารถอ่าน หรือฟังได้ในอรรถกถาฎีกาต่างๆ ที่เป็นข้อความเกี่ยวกับอาการส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่จะขอกล่าวถึงเพียงบางส่วนบางประการเท่านั้น

อย่างเล็บเหมือนเกล็ดปลา กระดูกฟันเหมือนเมล็ดน้ำเต้า

สำหรับหนังที่สำคัญมากเพราะหนังนั้นหุ้มห่อสิ่งต่างๆ ที่ปฏิกูล ถ้าเอาหนังออกเสียแล้วความเป็นปฏิกูลของร่างกายหรือว่าส่วนต่างๆ ก็จะปรากฏชัดมาก แต่เพราะเหตุว่าหนังนั้นหุ้มห่อปกปิดไว้มิดชิด ไม่ให้เห็นความเป็นปฏิกูล ก็ควรที่จะได้พิจารณาหนังด้วยว่า ความเป็นปฏิกูลของหนังนั้นเป็นอย่างไร โดยสภาพของหนังเอง ความจริงเป็นสีขาว แต่หุ้มห่อเนื้อปกปิดไว้ ก็ทำให้ดูเป็นสีดำบ้างสีเหลืองบ้าง และสัณฐานรูปร่างลักษณะของหนังที่หุ้มห่อส่วนต่างๆ ของร่างกายไว้นั้นก็มีต่างๆ กัน เช่น หนังนิ้วเท้า ก็มีสัณฐานเหมือนรังตัวไหม หนังหลังเท้ามีสัณฐานเหมือนรองเท้าหุ้มส้น หนังแข้งมีสัณฐานเหมือนใบตาลห่อข้าวสวย หนังขามีสัณฐานเหมือนถุงยาวอันเต็มไปด้วยข้าวสาร หนังสะโพกมีสัณฐานเหมือนผ้ากรองน้ำอันเต็มไปด้วยน้ำ หนังหลังมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มโล่ หนังท้องมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มรางพิณ หนังอกโดยมากมีสัณฐานสี่เหลี่ยม หนังแขนทั้งสองข้างมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มแร่งธนู หนังหน้าก็ปรุเป็นช่องเล็กช่องน้อย มีสัณฐานเหมือนรังตั๊กแตน

นี่เป็นส่วนต่างๆ ถ้าดูอย่างนี้จริงๆ ก็คงจะไม่สวยไม่งามเลย แต่ไม่ได้แยกพิจารณาเป็นส่วนๆ ท่านให้พิจารณาโดยการดึงหรือลอกออกตั้งแต่ริมฝีปากเบื้องบน ไปตลอดทั้งตัว ก็จะเห็นความเป็นปฏิกูลที่มีซ่อนอยู่ใต้ผิวหนังนั้น

สำหรับความเป็นปฏิกูลของร่างกาย จะเป็นการเจริญสมถภาวนาก็ได้ เป็นการเจริญสติปัฏฐานก็ได้ เพราะเหตุว่าการเจริญสมถภาวนานั้นจะต้องท่องด้วยปาก จนกระทั่งแม่นยำ แล้วก็จำลักษณะด้วยใจ จนกว่าจะชัดเจนทั้ง ๓๒ อาการ แล้วลักษณะใดที่เด่นชัด ก็ยึดลักษณะนั้นเป็นกัมมัฏฐานที่ทำให้ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เป็นปฐมฌาน แต่ไม่ได้รู้ลักษณะโดยสภาพความเป็นธาตุที่ไม่ใช่ตัวตน

แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นมักจะหลงลืมสติ ไม่มีใครสามารถเลือกระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใดได้ตามความพอใจ เพราะถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นก็เป็นความจงใจ แล้วปัญญาก็ไม่รู้ทั่ว เมื่อปัญญารู้ไม่ทั่วก็ละการยึดถือว่าเป็นตัวตนไม่ได้ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ไม่ว่าจะมีสิ่งใดที่ทำให้จิตระลึกได้ก็ให้ระลึก ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐาน เมื่อระลึกแล้ว สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยสภาพความไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นการเห็นกายในกายตามความเป็นจริง แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาระลึกรู้ลักษณะของธาตุทั้ง ๔ ทันที โดยที่ไม่ต้องระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของอาการ ๓๒ นี้เลย

เพราะฉะนั้น ต่อจากปฏิกูลมนสิการบรรพ ก็เป็นธาตุนมสิการบรรพ ทรงแสดงไว้ตามลำดับ

สำหรับธาตุมนสิการบรรพนั้นรวมธาตุทั้ง ๔ คือ ทั้งธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เพราะเหตุว่าธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล ในหมวดของปฏิกูลมนสิการบรรพจึงมีแต่เฉพาะอาการของธาตุดินกับธาตุน้ำเท่านั้น เคยมีท่านผู้ใดพิจารณาปฏิกูลมนสิการบรรพในส่วนต่างๆ ของร่างกายบ้างไหม

ท่านแสดงส่วนต่างๆ ของร่างกายว่าเป็นของปฏิกูลทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งปฏิกูลทั้งนั้น

มีอะไรที่น่ารังเกียจยิ่งกว่ายิ่งกว่ากายส่วนต่างๆ ที่ปฏิกูลนี้บ้างไหม มี คือ กิเลส หรืออกุศลธรรมที่น่ารังเกียจกว่าจึงควรระลึกรู้เพื่อให้ปัญญารู้ชัดแล้วละ เพราะเหตุว่าความยินดีพอใจก็เป็นไปในกายบ้าง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์บ้าง ถ้าตราบใดที่ยังมีอวิชชา ไม่รู้ลักษณะของนามของรูป ก็ต้องมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะอยู่เรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรรังเกียจที่ควรจะละที่สุด คือ อกุศลธรรมเป็นลำดับขั้น คือ ละความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตน

ถ. ขณะที่กำลังเห็น กำหนดนามหรือกำหนดรูป

สุ. ทำไมถามว่า จะกำหนดนาม หรือกำหนดรูป ขณะที่เห็นมีของจริง คือเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งปัญญาจะต้องรู้ชัดทั้ง ๒ อย่างไม่ปะปนกัน เห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เป็นสภาพรู้ทางตา สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตาไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่เห็น แล้วทำไมจึงถามว่า เวลาที่เห็นจะให้กำหนดอะไร การบรรลุอริยสัจธรรมนั้นเพื่อละอกุศล ซึ่งไม่ใช่จะละได้ด้วยความเป็นตัวตน แต่เป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

การละนี่ต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็ละไม่ได้ การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญความรู้ เป็นการเจริญปัญญา แต่ไม่ใช่มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องอย่างนั้นจะต้องอย่างนี้ สติจะเกิดระลึกรู้ที่นามใดรูปใดไม่มีใครบังคับได้ ไม่ใช่ว่าทางนั้นไม่รู้อย่างนี้ ทางนี้ไม่รู้อย่างนั้น จะทำให้จดจ้อง และรู้เฉพาะบางนามบางรูป แล้วก็เป็นตัวตนที่ต้องการด้วย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะละสักกายทิฏฐิ การยึดถือนามรูปทั้งหลายว่าเป็นอัตตาได้จริงๆ ผู้นั้นต้องเจริญสติเจริญปัญญารู้ชัดในโลกทั้ง ๖ โลกตามความเป็นจริง แล้วละคลายการยึดถือเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่ยังมีความสงสัยที่นามนั้นบ้างรูปนี้บ้าง มีความไม่รู้ในนามนั้นบ้างในรูปนี้บ้าง แล้วเป็นพระอริยบุคคล

ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ คือ ผู้ที่รู้ชัดตามความเป็นจริงทั้ง ๖ โลก ไม่ใช่ทางตาไม่รู้อย่างนั้นก็ได้ ทางหูไม่รู้อย่างนี้ได้ เวลานี้อวิชชามีอยู่ที่ไหน ยังไม่ทราบใช่ไหม แต่ว่าเต็มไปหมดแล้วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดปรากฏนิดเดียวแล้วก็หมดไป เป็นแต่เพียงรูปธรรมที่เกิดปรากฏนิดเดียวแล้วก็หมดไป แต่ละขณะเป็นลักษณะของนามของรูปแต่ละทาง ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่จะให้เกิดความสลด หรือเห็นความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ของร่างกายนี้มากทีเดียว ซึ่งถ้าท่านได้ฟังคาถาของท่านพระเถระในครั้งอดีตที่ท่านได้กล่าวไว้ก็จะทำให้ระลึกได้ และดูเหมือนกับว่า ท่านพระเถระนั้นได้กล่าวกับท่านโดยตรงทีเดียว เพราะเหตุว่า ไม่ว่าท่านจะกล่าวกับผู้ใดในครั้งโน้นก็เป็นการแสดงถึงความคิด แสดงถึงปัญญาของท่านที่รู้ชัดในลักษณะของนามรูปทั้งปวงตามความเป็นจริง

ขุททกนิกาย เถรคาถา รัฐปาลเถรคาถา มีข้อความว่า

เชิญดูอัตภาพอันธรรมดาตกแต่งให้วิจิตร มีกายเป็นแผล อันกระดูก ๓๐๐ ท่อน ยกขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย

ขอให้พิจารณาอรรถด้วย ที่ท่านกล่าวว่า เชิญดูอัตภาพอันธรรมดาตกแต่งให้วิจิตร มีกายเป็นแผล อันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย

กายที่ประกอบด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง กระสับกระส่ายยิ่งนักทุกขณะเพราะโลภะบ้าง เพราะโทสะบ้าง เพราะโมหะบ้าง

คนพาลพากันดำริหวังมาก อันไม่มีความยั่งยืน ตั้งมั่น

ความหวังนี้มากจริงๆ อยากจะได้อย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้ อยากจะทำอย่างโน้น เมื่อมีกายที่แสนจะปฏิกูล แล้วก็ยังเป็นผู้ที่ไม่เห็นตามความเป็นจริง พวกคนพาลพากันดำริแล้วก็หวังเป็นไปต่างๆ ในกายนี้ ท่านกล่าวต่อไปว่า

เชิญดูรูปอันปัจจัยกระทำให้วิจิตร ด้วยแก้วมณีและกุณฑล

เพราะเหตุว่าถูกแก้วมณีบ้าง กุณฑลบ้าง เครื่องประดับต่างๆ ปกปิดบังไว้ เป็นเครื่องที่จรมาปกปิดความเป็นปฏิกูลของร่างกาย แต่ท่านกล่าวว่า

เชิญดูรูปอันปัจจัยกระทำให้วิจิตร ด้วยแก้วมณีและกุณฑล หุ้มด้วยหนัง มีร่างกระดูกอยู่ภายใน งามพร้อมไปด้วยผ้าต่างๆ มีเท้าทั้งสองอันฉาบทาด้วยครั่งสด

การประดับตกแต่งร่างกายที่ปฏิกูลมีทุกกาลสมัย แต่แม้กระนั้นพระอริยเจ้าทั้งหลายก็ยังสามารถเห็นธรรมตามความเป็นจริง คือ สัจธรรมของร่างกายที่แม้ว่าจะถูกประดับตกแต่งด้วยเครื่องตกแต่งต่างๆ ท่านกล่าวว่า

มีเท้าทั้งสองอันฉาบทาด้วยครั่งสด มีหน้าอันไล้ทาด้วยฝุ่น สามารถจะทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง

พวกที่ยังเพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นผู้ที่ยังอยู่ฝั่งนี้ ยังไม่ข้ามไปถึงฝั่งโน้น คือ ฝั่งที่ละความยินดี เพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ละความเห็นผิด ความยึดมั่นในตัวตน ท่านกล่าวต่อไปว่า

ผมทั้งหลายอันบุคคลตกแต่งเป็นลอน คล้ายกระดานหมากรุก นัยน์ตาทั้งสองอันหยอดด้วยยาตา สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง กายอันเปื่อยเน่าอันบุคคลตกแต่งแล้วเหมือนกล่องยาตาใหม่ๆ วิจิตรด้วยลวดลายต่างๆ สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลงได้

เวลาดูลวดลายต่างๆ ที่กล่องใส่ของนั้นเพลิดเพลินดี ก็เหมือนกับร่างกายนี้เหมือนกัน เป็นกายที่เปื่อยเน่าที่บุคคลตกแต่งแล้ว ก็เหมือนกับกล่องยาตาใหม่ๆ วิจิตรด้วยลวดลายต่างๆ สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง

นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเนื้อคร่ำครวญอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป บ่วงของนายพรานขาดไปแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเศร้าโศกอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป ท่านกล่าวว่า เราเห็นหมู่มนุษย์ที่มีทรัพย์ในโลกนี้ ได้ทรัพย์แล้วไม่ให้ทาน เพราะความลุ่มหลง ได้ทรัพย์แล้วทำการสะสมไว้ และปรารถนาอยากได้ยิ่งขึ้นไป พระราชากดขี่ช่วงชิงเอาแผ่นดิน ครอบครองแผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด ตลอดฝั่งสมุทรข้างนี้แล้ว ไม่รู้จักอิ่ม ยังปรารถนาครอบครองฝั่งสมุทรข้างโน้นอีกต่อไป

พระราชาก็ดี มนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมากก็ดี ผู้ยังไม่ปราศจากตัณหา ย่อมเข้าถึงความตาย ยังไม่เต็มความประสงค์ก็พากันละทิ้งร่างกายไป ความอิ่มด้วยกามทั้งหลายย่อมไม่มีในโลกเลย

ทำไมกล่าวถึงพระราชา เพื่อเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นพระราชาที่ครอบครองแผ่นดิน อันมีสาครเป็นที่สุดตลอดฝั่งสมุทร แล้วก็ยังไม่อิ่ม ไม่ว่าจะเป็นใคร ถึงแม้ว่าจะมีทรัพย์สมบัติมากมายสักเท่าไร แต่ถ้าไม่รู้สัจธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่สามารถละกิเลสได้ ยังเป็นผู้ที่มีความปรารถนาเต็มที่

พระราชาก็ดี มนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมากก็ดี ผู้ยังไม่ปราศจากตัณหาย่อมเข้าถึงความตาย เพราะเหตุว่าจะต้องมีการเกิดอยู่เรื่อยๆ เมื่อยังมีการเกิดอยู่ ก็ต้องมีความตายเป็นของธรรมดา ยังไม่เต็มความประสงค์ก็พากันละทิ้งร่างกายไป

ไม่มีใครทราบใช่ไหมว่า พรุ่งนี้จะอยู่ที่ไหน ยังคงเป็นโลกนี้หรือว่าโลกอื่นก็ไม่ทราบ แต่ทั้งๆ อย่างนั้น ความประสงค์ก็ไม่เคยเต็ม ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอ ทั้งๆ ที่รู้ว่า จะต้องจากโลกนี้ไปเมื่อไรก็ไม่ทราบ

ความอิ่มด้วยกามทั้งหลายย่อมไม่มีในโลก หมู่ญาติพากันสยายผม ร้องไห้คร่ำครวญถึงผู้นั้น และรำพันว่าทำอย่างไรหนอพวกญาติของเราจึงจะไม่ตาย ครั้นพวกญาติตายแล้วก็เอาผ้าห่อ นำไปเผาเสียที่เชิงตะกอน ผู้ที่ตายไปนั้นถูกเขาแทงด้วยหลาวเผาด้วยไฟ ละโภคะทั้งหลาย มีแต่ผ้าผืนเดียวติดตัวไป คือ ผ้าที่ใช้ห่อศพ

เมื่อบุคคลจะตาย ย่อมไม่มีญาติ หรือมิตรสหายช่วยต้านทานได้ พวกที่รับมรดกก็มาขนเอาทรัพย์ของผู้ที่ตายนั้นไป ส่วนสัตว์ที่ตายย่อมไปตามยถากรรม เมื่อตายไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรๆ คือ พวกบุตร ภรรยา ทรัพย์ แว่นแคว้นสิ่งใดๆ จะติดตามไปไม่ได้เลย

เปิด  315
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565