แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 98

ที่ว่าอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ก็เพราะเหตุว่าอากาศนั้นแทรกซึมไปทั่วหมด อากาศจึงไม่ได้เลือกที่จะอึดอัด ที่จะระอา ที่จะแทรกซึมแต่เฉพาะสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ว่าเมื่อเป็นผู้ที่เจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ จิตก็มั่นคง ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

ส่วนข้อความต่อไปก็เกื้อกูลกับท่านผู้ที่เจริญสติปัฏฐานด้วย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้

เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสาได้

เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จะละอรติได้

เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จะละปฏิฆะได้

เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้

เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้

ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคได้ให้ท่านพระราหุลเจริญอานาปานสติภาวนา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

ตามธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น เพราะได้ฟังธรรม เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ มีข้อความในพระสูตร แสดงให้เห็นความไม่เที่ยงของธาตุทั้ง ๔ เป็นธาตุมนสิการซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาหัตถิปโทปมสูตร ข้อ ๓๔๒ มีข้อความว่า

สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ท่านพระสารีบุตรได้ กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้แล ในสมัยนั้นปฐวีธาตุอันเป็นภายนอกจะเป็นของอันตรธานไป

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่ปฐวีธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยงจักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ก็ไฉนความที่แห่งกายนี้อันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้วว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลพอประมาณนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาจักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ความยึดถือด้วยสามารถ ตัณหา มานะ และทิฏฐิในปฐวีธาตุนั้นจะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่าชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ จะกระทบกระเทียบ จะเบียดเบียนภิกษุนั้นไซร้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสสะนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกขเวทนานี้แลอาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไรจึงมีได้

ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงมีได้ ภิกษุย่อมเห็นว่า ผัสสะแม้นั้นแลเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนานั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าสัญญานั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าสังขารทั้งหลายนั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าวิญญาณนั้นเป็นของไม่เที่ยง จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้นย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อมหลุดพ้น

ต่อจากนั้น ภิกษุนั้นก็จะระลึกถึง กกจูปมสูตร คือ พระโอวาทเปรียบด้วยเลื่อย ที่ไม่ว่าโจรจะมาเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ก็ไม่ควรพยาบาท หรือโกรธเคืองในโจรนั้น เมื่อระลึกถึงพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อย

ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว ส่วนสมัยที่อาโปธาตุซึ่งเป็นของภายนอกกำเริบก็ย่อมจะมีได้ คือ ย่อมพัดบ้าน พัดนิคม พัดเมือง พัดประเทศแห่งชนบทไป บางคราวก็ลึกถึง ๑๐๐ โยชน์บ้าง ๒๐๐ โยชน์บ้าง บางคราวก็เพียงชั่ว ๗ ลำตาลบ้าง ๕ ลำตาลบ้าง ชั่วลำตาล ๑ บ้าง บางคราวก็ชั่ว ๗ บุรุษบ้าง ๖ บุรุษบ้าง ๕ บุรุษบ้าง บางคราวก็ขังอยู่เพียงกึ่งชั่วบุรุษบ้าง บางครั้งก็มีประมาณเพียงเข่าบ้าง ข้อเท้าบ้าง

นี่เป็นเรื่องความไม่เที่ยงของธาตุน้ำ แม้ภายนอกก็ย่อมปรากฏ บางครั้งก็มากมายจนกระทั่งพัดพาบ้าน นิคม ชนบทไป บางครั้งก็เหลือน้อยนิดเดียว เพียงแต่จะทำให้ข้อมือเปียกก็กระทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธาตุน้ำในกายซึ่งน้อยกว่านั้นมาก ก็ย่อมเป็นสภาพที่ไม่เที่ยงเช่นเดียวกัน

สำหรับธาตุไฟภายนอกที่กำเริบก็ย่อมจะเห็นได้ว่า บางคราวก็ไหม้บ้าน เมือง นิคม ชนบท ประเทศ แต่พอไปถึงที่ๆ เป็นหญ้าสด หนทาง ภูเขา น้ำ หรือว่าภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ที่ไม่มีเชื้อ ไฟนั้นก็ย่อมดับ ก็เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ถ้าแม้ว่าจะมากมายใหญ่โตสักเท่าไรก็มีวันสิ้นสุดหมดลงได้ เพราะฉะนั้น ในบางคราวไม่มีธาตุไฟมากๆ อย่างที่จะไปไหม้บ้านไหม้เมือง ก็ต้องแสวงหาไฟด้วยขนไก่บ้าง ด้วยการขุดหนังบ้าง นี่ก็เป็นความไม่เที่ยงของธาตุไฟ แล้วธาตุไฟภายนอกก็ยังปรากฏความไม่เที่ยงถึงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ธาตุไฟในกายซึ่งเล็กน้อยกว่า ก็ย่อมจะเห็นได้ชัดว่า มีสภาพความไม่เที่ยง

สำหรับธาตุลมภายนอกก็เหมือนกัน มีสมัยที่ลมพัดจัด พัดบ้าน พัดเมือง พัดชนบทไป แล้วบางสมัยที่ลมไม่มีเลย ต้องแสวงหาด้วยพัดใบตาลบ้าง พัดสำหรับพัดไฟบ้าง นี่เป็นความไม่เที่ยงของธาตุลมภายนอก เพราะฉะนั้น ธาตุลมภายในก็เช่นเดียวกัน

เป็นพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงอนุเคราะห์เกื้อกูลให้ผู้ที่กำลังเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ได้เกิดการละคลายการยึดถือ

สำหรับบรรพต่อไป ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของอสุภะ ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ต่อจากธาตุมนสิการบรรพ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้าสู่กายนี้แหละว่า ถึงว่ากายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ได้ ดังพรรณนามานี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

เป็นของที่แน่นอนทีเดียวที่ว่า ถ้าตายแล้ววันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ก็ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีกายของใครบ้างที่จะไม่เป็นอย่างนี้ แต่ใครจะรู้ว่า อาจจะเป็นเย็นนี้ พรุ่งนี้ อีกเดือนหนึ่ง หรือว่าอีกปีหนึ่ง ก็ไม่มีใครที่จะพ้นสภาพอันนี้ได้เลย สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ถ. ความเป็นอสุภะนี้จะเป็นการพิจารณาในแง่ไหน คือ จะพิจารณาในแง่ของความเป็นธาตุ หรือพิจารณาในแง่ของความเป็นปฏิกูล

สุ. เวลานี้มีการเห็น ยังไม่เป็นอสุภะ มีการได้ยิน มีกลิ่น มีโผฏฐัพพารมณ์ธัมมารมณ์กำลังปรากฏ ผู้ที่สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ ก็ระลึกรู้

แต่เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ หลงลืมสติกันมากทีเดียว แม้จะเห็นอสุภะก็ไม่ระลึก อาจจะเข้าใจว่า ขณะนั้นเจริญสติปัฏฐานไม่ได้จึงไม่ระลึกรู้ความเป็นอสุภะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จากกายภายนอกก่อนก็ได้ แต่ว่าความรวดเร็วของจิต ความรวดเร็วของอารมณ์ ความรวดเร็วของสติ ไม่ใช่มีผู้หนึ่งผู้ใดไปวางกฎเกณฑ์ว่า ให้ระลึกเป็นขั้นๆ อย่างไร เพราะเหตุว่าในขณะที่ระลึกเช่นนั้นแล้ว สติอาจจะเกิดขึ้นรู้ว่า แม้การระลึกอย่างนั้นก็เป็นนามชนิดหนึ่งเท่านั้น จึงจะตรงกับสติปัฏฐาน แต่อสุภะเป็นเครื่องให้ระลึก ไม่ควรที่จะให้เห็นอสุภะแล้วหลงลืมสติ แต่ทั้งหมดเพื่อให้รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ

ถ. เวลาเห็นอสุภะ จะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร

สุ. เรื่องของการที่ไม่รู้จะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะอสุภะ กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังเห็น กำลังพูด ก็ไม่รู้ว่าจะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นอสุภะ ก็ไม่รู้ว่าจะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร

แต่ผู้ที่เข้าใจถูกว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ แล้วความที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลสนั้น ก็ทำให้เป็นผู้ที่หลงลืมสติอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น จึงสะสมเหตุปัจจัยด้วยการอบรมเจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาลมหายใจก็ได้ หรือว่าธาตุก็ได้ หรือว่าส่วนต่างๆ ของร่างกายก็ได้ หรือแม้อสุภะ ซากศพที่ปรากฏก็ได้

บรรพต่อไป ก็เป็นเรื่องของอสุภะเช่นเดียวกัน สำหรับอสุภะทั้งหมดมีด้วยกัน ๙ บรรพ ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

สติสามารถที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ จึงควรระลึกเนืองๆ ถึงความเป็นอสุภะ ความเป็นซากศพ เพราะเหตุว่าบางทีเวลาที่เห็นอสุภะ ซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า ฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หรือหมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างกัดกินอยู่บ้าง คิดว่าเป็นคนอื่น แต่อย่างไรก็ตามก็อาจจะเป็นท่านวันหนึ่งก็ได้ในลักษณะนั้น ซึ่งถ้าระลึกได้อย่างนี้ ก็ทำให้สติเกิดพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไปตามความเป็นจริงได้

ประการต่อไปมีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

ข้อนี้ก็โดยนัยเดียวกัน เวลาที่เห็นร่างกระดูกยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา เมื่อเห็นแล้วก็ไม่เพียงแต่คิดว่าเป็นอสุภะ เป็นซากศพข้างนอกเท่านั้น แม้ที่กายก็เป็นอย่างนี้

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูกปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

ตามพยัญชนะที่ว่า สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงแต่สักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เพราะเหตุว่าสภาพของนามรูปนั้นเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก เมื่อกายเป็นเพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น ก็แล้วแต่ว่าปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของนามอะไร ของรูปอะไร

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูกปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมมาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่ายกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจาณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

เปิด  336
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566