แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 101

พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมต่อไป แล้วตรัสว่า

ดูกร นิโครธ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ เพราะใคร่ได้อันเตวาสิก ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ ผู้ใดเป็นอาจารย์ของท่านได้อย่างนี้ ผู้นั้นแหละจงเป็นอาจารย์ของท่าน

ดูกร นิโครธ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอุทเทส คือ เสื่อมจากการเล่าเรียน จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อุทเทสใดของท่านได้อย่างนี้ อุทเทสนั้นแหละจงเป็นอุทเทสของท่าน

ดูกร นิโครธ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอาชีวะ จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็อาชีวะของท่านนั่นแหละจงเป็นอาชีวะของท่าน

ดูกร นิโครธ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์ตั้งอยู่ในอกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนอกุศล จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อกุศลธรรมเหล่านั้นแหละจงเป็นส่วนอกุศลของท่านกับอาจารย์

ดูกร นิโครธ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์ห่างจากกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนกุศล จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น กุศลธรรมเหล่านั้นแหละจงเป็นกุศลของท่านกับอาจารย์

ดูกร นิโครธ ด้วยประการดังนี้แล เรากล่าวอย่างนี้ เพราะใคร่ได้อันเตวาสิก หามิได้ เราปรารถนาจะให้ท่านเคลื่อนจากอุทเทส จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ตั้งอยู่ในอกุศลธรรมซึ่งเป็นส่วนอกุศล จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ห่างจากกุศลธรรมซึ่งเป็นส่วนกุศล จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่

ดูกร นิโครธ ก็อกุศลธรรมอันเป็นเครื่องเศร้าหมอง มีปกติทำภพใหม่ มีความ กระวนกระวาย มีทุกข์เป็นผล เป็นปัจจัยแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ซึ่งท่านยังละไม่ได้มีอยู่ ที่เราจะแสดงธรรมเพื่อละเสีย ธรรมเป็นเครื่องเศร้าหมอง อันท่านปฏิบัติแล้วอย่างไรจักละได้ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความผ่องแผ้วจักเจริญยิ่ง ท่านจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์แห่งมรรคปัญญา และความไพบูลย์แห่งพละปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นเป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่มีปฏิภาณ เหมือนถูกมารดลใจ ฉะนั้น

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า พวกโมฆบุรุษเหล่านี้แม้ทั้งหมดถูกมารดลใจแล้ว ในพวกเขาแม้สักคนหนึ่งไม่มีใครคิดอย่างนี้ว่า เอาเถิดพวกเราจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อความรู้ทั่วถึงบ้าง ๗ วันจักทำอะไร

ที่กล่าวว่า ๗ วันจักทำอะไร คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่า พระองค์จักทรงแสดงธรรมซึ่งเขาประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนแล้ว ก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ตลอด ๖ เดือนบ้าง ๕ เดือนบ้าง ๔ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๑ เดือนบ้าง กึ่งเดือนบ้าง จงยกไว้

บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจักสั่งสอน เราจักแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่ตามคำสั่งสอน จักทำให้แจ้งประโยชน์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ตลอด ๗ วัน

นี่เป็นพระมหากรุณาที่ได้ทรงแสดงธรรมกับพวกปริพาชกว่า พระองค์จะทรงแสดงธรรมตลอด ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน กึ่งเดือน หรือแม้ ๗ วัน ซึ่งถ้าเขาปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น ก็จะทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์

แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า พวกโมฆะบุรุษเหล่านี้ แม้ทั้งหมดถูกมารดลใจแล้ว ในพวกเขาแม้สักคนหนึ่งไม่มีใครคิดอย่างนี้ว่า เอาเถิด พวกเราจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อความรู้ทั่วถึงบ้าง ๗ วันจักทำอะไร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบรรลือสีหนาท ในปริพาชิการามของพระนาง อุทุมพริกาแล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส ปรากฏอยู่บนเขาคิฌกูฏ สันธานคฤหบดีเข้าไปสู่พระนครราชคฤห์ในขณะนั้นเอง ดังนี้แล

เมื่อจบพระธรรมเทศนาที่ได้ทรงแสดงกับนิโครธปริพาชกแล้ว ผลคือปริพาชกไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลยสักคนเดียว ไม่ใช่คนที่ได้ฟังธรรมแล้วจะเชื่อ หรือเห็นถูก ประพฤติปฏิบัติตามทุกคน ไม่ว่าในสมัยไหน บางท่านอาจจะตรึกนึกคิดถึงธรรมที่ได้ฟังในภายหลัง เมื่อไตร่ตรองให้ได้เหตุผลก็คงอุปการะเกื้อกูลได้ แล้วเห็นว่าจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงถูกต้อง สำหรับท่านที่ไม่ยึดติดในความเห็นผิด ท่านฟังเหตุผล พิจารณาไตร่ตรองก็ทิ้งความเห็นผิดได้ทันที แต่สำหรับบางท่านที่ยึดไว้มาก ติดมาก ถึงแม้ว่าจะได้ฟังธรรมก็ยากที่จะละได้

สำหรับข้อความในพระไตรปิฎกที่จะช่วยให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจความหมายของคำว่า อารมณ์ปัจจุบัน คือ ในขณะนี้

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เสทกสูตรที่ ๒ (ข้อ ๗๖๓ ทุติยเสทกสูตร) มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสุมภะ ชื่อเสทกะ ในสุมภชนบท ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า มีนางงามในชนบท นางงามในชนบทพึงประชุมกัน ก็นางงามในชนบทนั้นน่าดูอย่างยิ่งในการฟ้อนรำ น่าดูอย่างยิ่งในการขับร้อง หมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า นางงามในชนบทจะฟ้อนรำขับร้อง พึงประชุมกันยิ่งขึ้นกว่าประมาณ

ครั้งนั้นบุรุษผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย ปรารถนาความสุข เกลียดทุกข์ พึงมากล่าวกะหมู่มหาชนนั้นอย่างนี้ว่า

ดูกร บุรุษผู้เจริญ ท่านพึงนำภาชนะน้ำมันอันเต็มเปี่ยมนี้ไปในระหว่างที่ประชุมใหญ่กับนางงามในชนบท แล้วจักมีบุรุษเงื้อดาบตามบุรุษผู้นำหม้อน้ำมันนั้นไปข้างหลังๆ บอกว่า

ท่านจักทำน้ำมันนั้นหกแม้หน่อยหนึ่งในที่ใด ศีรษะของท่านจักขาด ตกลงไปในที่นั้นทีเดียว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษผู้นั้นจักไม่ใส่ใจภาชนะน้ำมันโน้น แล้วพึงประมาทในภายนอกเทียวหรือ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

ไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราทำอุปมานี้ เพื่อให้เข้าใจเนื้อความนี้ชัดขึ้น เนื้อความในข้อนี้ มีอย่างนี้แล

คำว่า ภาชนะน้ำมันอันเต็มเปี่ยมเป็นชื่อของกายคตาสติ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติจะเป็นของอันเราเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

พระธรรมเทศนาทั้งหมดที่ทรงแสดงกับพระภิกษุเป็นเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งธรรม เพื่อบรรลุอริยสัจธรรม แม้แต่ในคำอุปมานี้ จะต้องเดินถือภาชนะน้ำมันไปโดยที่ว่า ถ้าประมาท ไม่ใส่ใจในภาชนะน้ำมันที่ถือไป ก็จะต้องถึงแก่ความตาย ฉันใด ถ้าประมาทไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็จะต้องถึงแก่ความตายเหมือนกัน เพราะเหตุว่าไม่มีโอกาสที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติจักเป็นของอันเราเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

กายคตาสติ เป็นอีกชื่อหนึ่งของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่หมายเฉพาะปฏิกูลมนสิการบรรพ หรือธาตุมนสิการบรรพ เพราะเหตุว่าชื่อกายคตาสติ สติที่ระลึกเป็นไปในกาย ก็ทุกบรรพ และสำหรับการระลึกที่เป็นไปในกายก็ไม่ใช่ว่าจะรู้แต่เฉพาะกาย แม้เวทนาก็รู้ แม้จิตก็รู้ แม้ธรรมก็รู้

มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ กายคตาสติสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไรๆ ก็ตาม เจริญกายคตาสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ชื่อว่า เจริญแล้ว ทำให้มากซึ่งกุศลธรรม ส่วนวิชชาอย่างใดอย่างหนึ่ง อันรวมอยู่ในภายในด้วย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลไรๆ ก็ตาม นึกถึงมหาสมุทรด้วยใจแล้ว ชื่อว่านึกถึงแม่น้ำน้อยที่ไหลมาสู่สมุทรสายใดสายหนึ่ง อันรวมอยู่ในภายในด้วยฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไรๆ ก็ตามเจริญกายคตาสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ชื่อว่าเจริญ และทำให้มากซึ่งกุศลธรรม ส่วนวิชชาอย่างใดอย่างหนึ่ง อันรวมอยู่ในภายในด้วย

จะต้องพิจารณารู้ลักษณะของรูปว่าเป็นรูป รู้ลักษณะของนามว่าเป็นนาม และสภาพของสิ่งที่ปรากฏที่สติระลึกนั้นก็ชั่วขณะเล็กน้อยเท่านั้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะก็ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏต่อไป เวทนาที่เกิดที่กายก็รู้ว่าเป็นเวทนา ถ้าเป็นผู้ที่ชื่อว่ามีสติแล้ว สติระลึกสิ่งใด สิ่งนั้นดับแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีสติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏต่อไปตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้แต่เฉพาะรูป นามก็รู้ด้วย ในอานาปานบรรพ คงจะเห็นได้ว่า แม้ปีติที่เกิดก็รู้ สุขที่เกิดก็รู้

มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ปุณโณวาทสูตร มีข้อความว่า

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารเชตวัน ครั้งนั้นท่านพระปุณณะออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดสั่งสอนข้าพระองค์ด้วยพระโอวาทย่อๆ พอที่ข้าพระองค์ได้สดับธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว จะเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออก ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่

ซึ่งพระผู้มีพระภาค ก็ได้ตรัสให้ท่านพระปุณณะใส่ใจให้ดี แล้วพระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทว่า ไม่ให้ติด ไม่ให้เพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์

แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ปุณณะ ก็เธออันเรากล่าวสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว จักอยู่ในชนบทไหน

ซึ่งพระปุณณะก็ไปที่ชนบทชื่อ สุนาปรันตะ ซึ่งเป็นที่ๆ ผู้คนดุร้าย หยาบช้า แล้วท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่นั้น แสดงธรรมในพรรษา มีคนกลับใจเป็นอุบาสก ๕๐๐ เป็นอุบาสิกา ๕๐๐ แล้วท่านเองก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเหมือนกัน

พยัญชนะที่ว่า เป็นผู้เดียวหลีกออก

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ราหุลสังยุต จักขุสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ครั้งนั้นท่านพระ ราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่

ถ้าท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านพระราหุลขอกัมมัฏฐานพระผู้มีพระภาค ก็จะได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคจะทรงโอวาทว่าอย่างไร จะเป็นกัมมัฏฐาน เป็นกฎเป็นเกณฑ์อย่างที่ท่านคิดหรือไม่

พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระราหุลว่า ตาเที่ยงไหม หูเที่ยงไหม จมูกเที่ยงไหม ลิ้นเที่ยงไหม กายเที่ยงไหม ใจเที่ยงไหม ทั้ง ๖ ทวารเที่ยงไหม

ท่านพระราหุลกราบทูลว่า

ไม่เที่ยง

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา

ท่านพระราหุลกราบทูลว่า

ไม่ควรตามเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ราหุลอริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในโสตะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในกายะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในใจ

ถ้าไม่เห็นอย่างนี้ไม่เบื่อ และต้องตามปกติด้วย ย่อมเห็นอยู่อย่างนี้จึงจะเบื่อ จึงจะหน่าย จึงจะคลายได้ เวลานี้มีท่านผู้ใดคลายความพอใจในภพชาติ ในนาม ในรูปบ้างไหม หรือไปจ้องจะดูนามนั้น ดูนามนี้ด้วยความต้องการ นั่นไม่ใช่ลักษณะของการคลาย แต่ลักษณะของการคลาย เป็นเพราะรู้ชัดตามปกติจึงคลายได้ ไม่ใช่ด้วยความไม่รู้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า จิตหลุดพ้นแล้ว ดังนี้ อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

พระผู้มีพระภาคทรงให้ทำอะไรที่ผิดปกติบ้างหรือไม่ พิจารณาจากพยัญชนะ จากพระโอวาทที่ทรงประทานแก่ท่านพระราหุล ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็รู้ชัดยิ่งขั้น มิฉะนั้นแล้วท่านจะไม่รู้ชัดสภาพของธรรมตามความเป็นจริง คือ ตามปกติได้

สำหรับพยัญชนะที่ว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว หรือว่า เป็นผู้เดียวหลีกออก

ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ภิกขุสังยุต เถรนามสูตร อีกครั้งหนึ่ง ข้อความในเถรนามสูตร มีว่า

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นภิกษุรูปหนึ่งมีชื่อว่าเถระ มีปกติอยู่ผู้เดียว และสรรเสริญการอยู่ผู้เดียว เธอเป็นผู้เดียวเข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เป็นผู้เดียวเดินกลับ ย่อมนั่งอยู่ในที่ลับผู้เดียว และย่อมเป็นผู้เดียวอธิฐานจงกรม ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้ มีชื่อว่าเถระ มีปกติอยู่คนเดียว มีปกติกล่าวสรรเสริญการอยู่คนเดียว

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมา แล้วรับสั่งให้ไปบอกภิกษุชื่อเถระว่าพระศาสดารับสั่งให้หา เมื่อท่านพระเถระเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระเถระว่า เป็นจริงดังที่ภิกษุทั้งหลายกล่าวหรือ

ซึ่งพระเถระก็กราบทูลว่า

จริง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร เถระ การอยู่คนเดียวนี้มีอยู่ เราจะกล่าวว่า ไม่มีก็หาไม่ เถระ อนึ่งการอยู่คนเดียวของเธอย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่าด้วยประการใด เธอจงฟังประการนั้น จงทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว

ท่านพระเถระทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังต่อไปนี้

ดูกร เถระ ก็การอยู่คนเดียว ย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่าอย่างไร ในข้อนี้ สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละได้แล้ว สิ่งใดยังมาไม่ถึง สิ่งนั้นก็สละคืนได้แล้ว ฉันทราคะในการได้อัตตภาพที่เป็นปัจจุบันถูกกำจัดแล้วด้วยดี การอยู่คนเดียวย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่า อย่างนี้แล

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

เราย่อมเรียกนรชนผู้ครอบงำขันธ์ อายตนะ ธาตุ และไตรภพทั้งหมดได้ ผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง ผู้มีปัญญาดี ผู้ไม่แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ผู้ละสิ่งทั้งปวงเสียได้ ผู้หลุดพ้นในพระนิพพาน เป็นที่สิ้นตัณหาว่า เป็นผู้มีปกติอยู่คนเดียว ดังนี้

เปิด  284
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565