แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 109
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตติยปัณณาสก์ กุสินารวรรคที่ ๓ หัตถกสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นเมื่อปฐมยามล่วงไป หัตถกเทพบุตรมีรัศมีงามยิ่งนัก ทำพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ คิดว่าจะยืนตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาค แล้วทรุดลงนั่ง ไม่สามารถที่จะยืนอยู่ได้ เปรียบเหมือนเนยใสหรือน้ำนมที่เขาเทลงบนทราย ย่อมจมลง ตั้งอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด หัตถกเทวบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน
คิดว่าจะยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาค แล้วทรุดลงนั่ง ไม่สามารถที่จะยืนอยู่ได้
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับหัตถกเทพบุตรว่า
ดูกร หัตถกะ ท่านจงนิรมิตอัตภาพอย่างหยาบๆ
หัตถกเทพบุตรทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว นิรมิตอัตภาพอย่างหยาบ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า
ดูกร หัตถกะ ธรรมที่เป็นไปแก่ท่านผู้เป็นมนุษย์ แต่ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ยัง เป็นไปแก่ท่านอยู่บ้างหรือ
หัตถกเทพบุตรกราบทูลว่า
พระเจ้าข้า ธรรมที่เป็นไปแก่ข้าพระองค์เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ก็ยังเป็นไปแก่ข้าพระองค์อยู่ และธรรมที่มิได้เป็นไปแก่ข้าพระองค์เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ก็เป็นไปอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาคเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์อยู่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นพระเจ้าข้า เกลื่อนกล่นไปด้วยพวกเทพบุตรอยู่ พวกเทพบุตรต่างมากันแม้จากที่ไกล ก็ด้วยตั้งใจว่า จะฟังธรรมในสำนักของหัตถกเทพบุตร ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อธรรม ๓ อย่าง ก็ได้ทำกาละเสียแล้ว ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน คือ
ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค ๑ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อการฟังพระสัทธรรม ๑ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อ การอุปัฏฐากพระสงฆ์ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อธรรม ๓ ประการนี้แล ได้ทำกาละเสียแล้ว
ครั้นหัตถกเทพบุตรได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้กล่าวคาถาประ พันธ์นี้ต่อไปอีกว่า
แน่ล่ะ ในกาลไหนๆ จึงจักอิ่มต่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค การอุปัฏฐากพระสงฆ์ และการฟังพระสัทธรรม หัตถกอุบาสกยังศึกษาอธิศีลอยู่ ยินดีแล้วในการฟังพระสัทธรรม ยังไม่ทันอิ่มต่อธรรม ๓ อย่าง ก็ไปพรหมโลกชั้นอวิหาเสียแล้ว
พรหมโลกชั้นอวิหาเป็นชั้นสุทธาวาสภูมิ ซึ่งเป็นภูมิของผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล และได้บรรลุฌานถึงขั้นปัญจมฌานด้วย มีอยู่ ๕ ภูมิด้วยกัน คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อกนิฏฐาภูมิ
นี่เป็นพรหมโลก ซึ่งหัตถกเทพบุตรยังไม่ทันเบื่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังไม่ทันเบื่อการฟังพระสัทธรรม ยังไม่ทันเบื่อการอุปัฏฐากพระสงฆ์ แต่ก็ต้องจากโลกนี้ไปสู่พรหมโลกชั้นอวิหา แต่แม้กระนั้นก็จะเห็นได้จากชีวิตในพรหมโลกนั้นว่า เป็นชีวิตปกติธรรมดา มีการฟังธรรม เทพบุตรทั้งหลายก็ไปสู่สำนักของหัตถกเทพบุตร แล้วหัตถกเทพบุตรก็เจริญธรรม คือ ศึกษาอธิศีลต่อในพรหมโลก การเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง ต้องสาธารณะทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นภูมิไหนทั้งสิ้น การเจริญสติปัฏฐานก็ต้องเป็นการเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปตามปกติ
ท่านผู้ฟังเบื่อการฟังพระสัทธรรมไหม เบื่อการเจริญสติปัฏฐานไหม การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติธรรมดาไม่ต้องฝืน ไม่ต้องทำอะไรให้เกิดทุกขเวทนาเลย แล้วแต่จะระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป เป็นชีวิตจริงของแต่ละคน แต่ถ้าไปทำอะไรผิดปกติจนทรมาน เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็จะเบื่อ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่แต่ละบุคคลที่จะเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในการฟังพระสัทธรรม เป็นผู้ที่ไม่เบื่อในการเจริญสติปัฏฐานแล้วจากโลกนี้ไป หรือจะจากโลกนี้ไปโดยที่ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานตามความเป็นจริง ไม่ระลึกรู้ลักษณะ ที่กำลังเห็น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของได้ยินกับเสียง ไม่ระลึกรู้ลักษณะของกลิ่นกับการรู้กลิ่น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของรสที่ปรากฏกับสภาพที่รู้รส ไม่ระลึกรู้ความคิดนึกการรู้เรื่อง รู้ความหมาย สุข ทุกข์ต่างๆ ที่เกิดปรากฏเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะจากโลกนี้ไปโดยไม่เจริญสติ
แต่ถ้าเริ่มเจริญสติ แล้วไม่ว่าจะอยู่ในภพภูมิไหนก็สามารถจะเจริญต่อไปได้อย่างในพรหมโลก ก็มีทางตา ทางหู ทางใจ ผู้ที่ไปเกิดเป็นรูปพรหมสามารถระลึกรู้ลักษณะของเห็นกับสี ระลึกรู้ลักษณะของเสียงกับได้ยิน แล้วแต่จะมีรูปใดนามใดที่สติจะระลึกรู้ได้ เป็นผู้ที่เจริญสติ ไม่หลงลืมสติ
ถ. ผมอยากทราบว่า ในอบายภูมิสามารถจะเจริญสติปัฏฐานได้หรือเปล่า ถ้าเจริญไม่ได้ คนไข้ที่มีเวทนามากๆ ก็คงเจริญไม่ได้เหมือนกัน
สุ. คนไข้อยู่มนุษย์ภูมิ ไม่ใช่อบายภูมิ ปฏิสนธิจิตต่างกัน ถ้าเจริญสติเป็นปกติ สติย่อมสามารถระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่ปรากฏในขณะนั้น ถ้าเจ็บหนัก แล้วสติระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปก็ได้ ทางหนึ่งทางใดก็ได้ แต่ปัญญาที่เคยอบรมมามากอาจทำให้รู้ชัด ละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ แม้เพียงชั่วขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปในขณะนั้นนั่นเอง ใครจะรู้ความแก่กล้าของอินทรีย์ว่า จะเกิดในขณะนั้นก็ได้
ถ. ที่เขากล่าวอ้างกันบ่อยๆ ว่า พระพุทธองค์ประทานผ้าขาวให้พระภิกษุรูปหนึ่ง พระภิกษุรูปนั้นก็ลูบผ้านั้นจนนั้นเกิดมัวหมองขึ้น และปัญญาภิกษุนั้นก็ได้เกิดรู้ขึ้นมาว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เท่านั้น เช่นนี้จะเป็นบาทให้พระภิกษุรูปนั้นรู้รูปรู้นามอื่นๆ เช่นเดียวกันได้หรือไม่
สุ. ขณะนั้นมีเวทนาไหม ความรู้สึกมีไหม มี ถ้าสติไม่ระลึกรู้จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ไหม ขณะนั้นมีธรรม เมื่อมีสติก็ต้องระลึกรู้ แล้วปัญญาจะแก่กล้า รู้ชัด ละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน เมื่อถึงความแก่กล้าแล้ว ซึ่งผู้อื่นก็ห้ามหรือยับยั้งไม่ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่รู้ ไม่ใช่หมายความว่าไม่เจริญสติ ไม่ใช่หมายความว่าพ้นจากกาย เวทนา จิต ธรรม
ถ. สำหรับคำว่า พิจารณาเห็นกายในกายนี้ เท่าที่ผมศึกษามาก็มีอยู่หลายแบบ คือ แบบหนึ่งในปริจเฉทที่ ๗ ท่านอธิบายไว้ว่า กายนี้ คือ มีนามกายและรูปกาย ให้พิจารณาเพียงรูปกายเท่านั้น นี่ก็เป็นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งท่านบอกว่า กายนี้มีรูปต่างๆ มาประชุมรวมกัน ๒๘ รูป หรือถ้าคิดเป็นอาการก็มีอาการ ๓๒ แล้วเอาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาพิจารณา อย่างนี้ก็เรียกว่าพิจารณาเห็นกายในกาย ๑ ในอาการ ๓๒ หรือว่าในรูป ๒๘
สุ. บางท่านคิดว่า เรื่องการพิจารณาธรรมเป็นเรื่องของปริยัติ เป็นต้นว่า ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานมี ๑๔ บรรพ เพราะฉะนั้น แต่ละบรรพ คือ หมวดของกายหนึ่งในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๔ บรรพ แต่ว่าการเจริญสติเป็นการรู้ลักษณะส่วนของกายที่ปรากฏที่กายทั้งหมด
ความหมายของกายานุปัสสี คือ การพิจารณาเห็นกายที่กายว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
คัมภีร์ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็น อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร มีความหมายของคำว่า กาย
ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คำว่า กาย หมายถึง รูปกาย โดยความหมายว่า เป็นที่ประชุมแห่งอวัยวะทั้งหลายด้วย แห่งอาการทั้งหลาย มีผมเป็นต้นด้วย รูปกายนั้นเป็นที่มาแห่งสิ่งที่น่าเกลียดอย่างยิ่งด้วย เป็นที่ประชุมแห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย เป็นที่มาแห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า กาย
ที่กายนี้ ทุกส่วนเป็นที่ประชุมของปฏิกูลทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นตา ไม่ว่าจะเป็นหู ไม่ว่าจะเป็นปาก ไม่ว่าจะเป็นกาย ตลอดทั้งกายก็เป็นที่ประชุมแห่งสิ่งที่น่าเกลียด
ข้อความต่อไปมีว่า
คำว่า เป็นที่มา คือ เป็นที่เกิด ในคำนี้มีเนื้อความว่า
สิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลายย่อมมาจากสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นจึงชื่อว่า เป็นที่มา
สิ่งที่น่าเกลียดทั้งหมดหาได้ที่กาย กายของสัตว์ ของมนุษย์เป็นสิ่งที่เป็นปฏิกูล มากกว่ารูปภายนอก
ข้อความต่อไปมีว่า
อะไรมา สิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย มีผมเป็นต้นมา
ถ้าจะไปพบผมข้างนอกตกอยู่แถวไหนก็ตาม ผมมาจากไหน ก็ต้องมาจากกาย
โดยเหตุที่การมาแห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย จึงเรียกว่า กาย
คำว่า กายานุปัสสี แปลว่า ผู้มีปกติเล็งเห็นซึ่งกาย หรือผู้เล็งเห็นอยู่ซึ่งกาย
ถึงพระผู้มีพระภาคตรัสว่า กายอันมีแล้ว ก็ควรทราบว่า ทรงพูดถึงกายเป็นคำที่สองอีกว่า กายานุปัสสี ดังนี้
ในมหาสติปัฏฐาน กาเยกายานุปัสสี
กาเย คำแรก ได้แก่ สรรพกาย กายทั้งหมด
ส่วนกายา คำหลังนั้น ได้แก่ กายเฉพาะส่วน เช่น ผม เป็นต้น
เพื่อทรงแสดงซึ่งการกำหนด และการแยกกันซึ่งความเป็นก้อนเป็นแท่ง เป็นต้น โดยไม่เจือกัน คือ ไม่เล็งเห็นเวทนาในกาย ไม่เล็งเห็นจิตหรือธรรมในกาย เป็นอันทรงแสดงซึ่งการกำหนดในวัตถุคือกายว่า ผู้เล็งเห็นกายดังนี้ ด้วยการแสดงซึ่งอาการแห่งการเล็งเห็นกายโดยไม่เจือกัน
อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เล็งเห็นธรรมอันใดอันหนึ่ง นอกจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย ไม่ใช่เล็งเห็นหญิงและบุรุษ พ้นจากผมและขน เป็นต้น
คือในข้อนี้ กายแม้อันใด อันได้แก่ประชุมแห่งภูตรูป และอุปาทายรูป มีผมและขน เป็นต้น ไม่ใช่เล็งเห็นธรรมอย่างเดียว อันนอกไปจากภูตรูป และอุปาทายรูป แม้ในกายนั้น
และมหาภูตรูปก็ได้ทรงแสดงไว้แล้ว อุปาทายรูปก็ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาแยกส่วนของรูป ก็จะมีแต่ลักษณะของมหาภูตรูป และอุปาทายรูปตามที่ได้ทรงแสดงไว้ และตามสภาพของความเป็นจริง แต่ไม่ใช่จะเล็งเห็นธรรมอื่นอันนอกไปจากมหาภูตรูป และอุปาทายรูปที่กายนั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ตามที่ถูก ได้แก่ ผู้เล็งเห็นซึ่งการประชุมแห่งอวัยวะ เหมือนผู้เล็งเห็นซึ่งเครื่องรถ คือ ผู้เล็งเห็นการประชุมแห่งผมและขน เป็นต้น เหมือนผู้เล็งเห็นซึ่งอวัยวะแห่งบ้านเมือง คือ ผู้เล็งเห็นซึ่งความประชุมแห่งภูตรูปและอุปาทายรูป อันเป็นเหมือนการแยกกันแห่งต้นกล้วยและใบกล้วย และเป็นเหมือนแบกำมือเปล่า
เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าได้ทรงแสดงซึ่งการแยก ซึ่งความเป็นก้อนเป็นแท่งออก ด้วยการทรงแสดงวัตถุ คือ กาย อันหมายความว่า ประชุมโดยประการต่างๆ
คือในข้อนี้ คำว่า กาย หรือ สตรี บุรุษ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นอกจากประชุมตามที่กล่าวแล้วไม่มีเลย สัตว์ทั้งหลายย่อมกระทำซึ่งความถือผิดด้วยอาการนั้นๆ ในวัตถุอันสักว่าประชุมแห่งของธรรมดาตามที่กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
บุคคลพบสิ่งใด ชื่อว่า ไม่เห็นสิ่งนั้น เห็นสิ่งใด ชื่อว่า ไม่พบสิ่งนั้น เมื่อไม่พบก็หลงติด เมื่อติดก็ไม่พ้น ดังนี้
ได้กล่าวคำนี้ไว้ เพื่อแสดงซึ่งการแยกความเป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นต้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ก็ในข้อนี้ ควรทราบเนื้อความแม้อันนี้ ด้วยคำว่า เป็นต้น คือ ผู้นี้เป็นผู้เล็งเห็นกายในกายอันหนึ่งเท่านั้น ไม่ชื่อว่าเล็งเห็นสิ่งอื่นๆ อธิบายอย่างไร อธิบายว่า
บุคคลทั้งหลายย่อมแลเห็นพยับแดด แม้ในที่ไม่มีน้ำว่าเป็นน้ำ ฉันใด ก็แลเห็นซึ่งความเที่ยง ความสุข ความเป็นตัวตน ความสวยงามในกายนี้ อันไม่เที่ยง อันเป็นทุกข์ อันไม่ใช่ตัวตน อันไม่สวยงาม ฉันนั้น
ตามที่ถูก ผู้เล็งเห็นซึ่งความประชุมแห่งกาย คือ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความไม่เป็นตัวตน ความไม่สวยงามเท่านั้นชื่อว่า กายานุปัสสี อันแปลว่า ผู้เล็งเห็นซึ่งกาย
อีกนัยหนึ่ง เบื้องหน้าแต่นี้ กายใดที่มีลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเป็นเบื้องต้น มีกระดูกอันเน่าผุเป็นที่สุด ที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปอยู่ในป่าแล้ว ฯลฯ คำว่า ภิกษุนั้น เวลาหายใจออกก็มีสติ ดังนี้ก็ดี
กายใดที่กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า บางคนในโลกนี้ย่อมเล็งเห็นปฐวีกาย อาโป กาย เตโชกาย วาโยกาย เกสากาย โลมกาย ฉวิกาย จัมกาย มังสกาย รูหิรกาย นหารูกาย อัฏฐิกาย อัฏฐิมิญชกาย ตามความเป็นของไม่เที่ยง ผู้นั้นชื่อว่า กาเยกายานุปัสสี อันแปลว่า ผู้เล็งเห็นกายในจำพวกกาย เพราะเล็งเห็นในกายนี้ โดยประการทั้งปวง ดังนี้
อีกนัยหนึ่ง ควรเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ชื่อว่าผู้เล็งเห็นซึ่งกาย คือ ประชุมแห่งของธรรมดา มีผมเป็นต้น อันมีในกายต่างๆ ด้วยการเล็งเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ควรถือเอาอย่างนี้ว่า เรามีอยู่ในกายบ้าง กายเป็นของเราบ้าง และเล็งเห็นซึ่งประชุมแห่งอาการต่างๆ มีผมเป็นต้นนั้น
อีกอย่างหนึ่ง ควรเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ชื่อว่าผู้เล็งเห็นซึ่งกายในจำพวกกาย เพราะเล็งเห็นซึ่งกาย อันได้แก่ประชุมแห่งอาการ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น ทั้งสิ้น อันมีนัยมาในคัมภีร์ปฏิสัมภิทา โดยนัยเป็นต้นว่า เล็งเห็นตามความไม่เที่ยงในกายนี้ ไม่ใช่เล็งเห็นว่าเที่ยง ดังนี้
จริงอย่างนั้น ภิกษุผู้ปฏิบัติตามกายานุปัสสนานี้ ย่อมเล็งเห็นกายนี้ว่า เป็นของไม่เที่ยง ด้วยอำนาจแห่งอนุปัสสนา ๗ มีอนิจจานุปัสสนา เป็นต้น ไม่ใช่เล็งเห็นว่าเที่ยง เล็งเห็นว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่เล็งเห็นว่าเป็นสุข เล็งเห็นว่าไม่เป็นตัวตน ไม่ใช่เล็งเห็นว่าเป็นตัวตน ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ใช่เพลิดเพลิน ย่อมปราศจากความยินดี ไม่ใช่ยินดี ย่อมทำให้ดับ ไม่ใช่ทำให้เกิด ย่อมสละ ไม่ใช่ถือไว้ ผู้นั้นเมื่อเล็งเห็นสิ่งนั้นว่าไม่เที่ยงก็ละความเข้าใจว่าเที่ยงได้ เมื่อเล็งเห็นว่าเป็นทุกข์ก็ละความเข้าใจว่าเป็นสุขได้ เมื่อเล็งเห็นว่าไม่ใช่ตัวตนก็ละความเข้าใจว่าเป็นตัวตนได้ เมื่อหน่ายก็ละความเพลิดเพลินได้ เมื่อคลายก็ละความยินดีได้ เมื่อดับก็ละความเกิดขึ้นได้ เมื่อสละก็ละความยึดถือได้ ควรทราบอย่างนี้