แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 111
ข้อความต่อไปมีว่า
การปฏิบัติข่มใจ ได้แก่ การสำรวมอินทรีย์ ไม่ถือนิมิตอนุพยัญชนะ
ส่วนการปฏิบัติระงับนั้นเป็นการละบรรเทากามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ทำให้อกุศลบรรเทา ถึงความไม่มี
นี่เป็นบุคคลแต่ละประเภทอีกนัยหนึ่ง
การปฏิบัติไม่อดทน หมายถึงไม่อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย สัมผัส เหลือบ ยุง ลม แดด ถ้อยคำหยาบคาย ทุกขเวทนา และอื่นๆ ที่ไม่น่าชื่นใจ ไม่น่าพอใจ
ไม่จำเป็นต้องไปทรมานเลย ถ้าไม่มีอกุศลกรรมที่ต้องได้รับอกุศลวิบาก ก็อย่าไปทนต่อความร้อน หิว ระหาย สัมผัส เหลือบ ยุง ลม แดดเลย แต่ผู้ใดปฏิบัติไม่อดทน สังเกตได้ไหมว่า กำลังยืนตากแดด หรือเดินตากแดดด้วยกัน เคยบ่นไหม อดทนหรือไม่ แสดงให้เห็นว่า ไม่อดทนต่อสิ่งเหล่านี้บ้างไหม หิวหน่อยหนึ่งก็ทนไม่ไหว แต่บางท่านมีความอดทน ตามปกติอาจจะหิวแต่ก็ทำงานให้เสร็จเสียก่อน เป็นผู้ที่มีปกติอดทนต่อความลำบากต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่หมายความว่า ต้องไปทรมานเพื่อให้เกิดขึ้น
การปฏิบัติที่อดทนก็โดยนัยตรงกันข้าม คือ เป็นผู้ที่อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย สัมผัส เหลือบ ยุง ลม แดด ถ้อยคำหยาบคาย ทุกขเวทนา และอารมณ์ ต่างๆ ที่ไม่น่าชื่นใจ ไม่น่าพอใจ
ส่วนการปฏิบัติข่มใจนั้นก็โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นผู้ที่สำรวมอินทรีย์ ไม่ถือใน นิมิตอนุพยัญชนะ
การปฏิบัติระงับก็โดยนัยเดียวกัน คือ บรรเทากามวิตกให้ระงับไป ให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี
ข้อความต่อไปกล่าวไว้ว่า
ในทั้ง ๔ ประการนี้ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา บัณฑิตกล่าวว่า เลวโดยส่วน ๒ คือ ทั้งการปฏิบัติลำบาก และการรู้ช้า
ส่วนทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา เลวเพราะปฏิบัติลำบาก
สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา เลวเพราะรู้ได้ช้า
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ประณีตโดยส่วน ๒ ทั้งการปฏิบัติก็สะดวก แม้การรู้ก็รู้ได้เร็ว
ทราบไหมว่า ท่านเองเป็นบุคคลประเภทไหน คนอื่นคงจะไม่รู้ดีกว่าเป็นแน่
ถ้าท่านผู้ฟังเข้าใจกายานุปัสสนาสติปัฏฐานถูกต้อง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะไม่มีข้อข้องใจใดๆ
คำว่า เวทนา หมายความถึงความรู้สึก ความรู้สึกเป็นสิ่งที่มีจริง สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา
สุขเวทนา เป็นความรู้สึกที่เป็นสุขแช่มชื่น
ทุกขเวทนา เป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เดือดร้อน
อุเบกขาเวทนา ได้แก่ความรู้สึกเฉยๆ
ขณะที่จิตเกิดขึ้นต้องมีเวทนา คือ ความรู้สึกเกิดร่วมกับจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม แม้ขณะที่นอนหลับสนิท เมื่อมีจิตก็จะต้องมีเวทนา ความรู้สึกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ขณะที่เห็น มีจิตเห็นก็จะต้องมีเวทนาความรู้สึกเกิดกับจิตที่เห็นทุกครั้ง แต่ละท่านแสวงหาความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ อยากเห็นสิ่งที่ชอบที่พอใจ เห็นแล้วก็ทำให้เกิดความสุข ทางหูก็เหมือนกัน แสวงหาอะไร ก็ต้องแสวงหาสิ่งที่เมื่อได้ยินแล้วให้เกิดความเพลิดเพลิน ความพอใจ ความสุขทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เช่นเดียวกัน
เมื่อทุกขณะจิตมีเวทนาตลอดเวลา ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ความรู้สึกนั้น ก็ย่อมหลงยึดถือความรู้สึกนั้นว่าเป็นตัวตน การไม่ยึดถือความรู้สึกว่าเป็นตัวตนได้ ต้องอาศัยสติระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ซึ่งบางท่านอาจคิดว่าไม่สำคัญ แต่เป็นการขัดเกลากิเลสที่เหนียวแน่นหนาแน่น ถ้าปัญญาไม่รู้ชัดจริงๆ ก็ละไม่ได้
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปฐมสคาทวรรคที่ ๑ สมาธิสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้แล สาวกของพระพุทธเจ้ามีจิตมั่นคงดีแล้ว มีสัมปชัญญะ มีสติ ย่อมรู้ชัดซึ่งเวทนา และเหตุเกิดแห่งเวทนาทั้งหลาย อนึ่งเวทนาเหล่านี้จะดับไปในที่ใด ย่อมรู้ชัดซึ่งที่นั้น
ซึ่งข้อความนี้หมายถึงพระนิพพาน ข้อความต่อไปมีว่า
และทางดำเนินให้ถึงความสิ้นไปแห่งเวทนาเหล่านั้น เพราะสิ้นเวทนา ภิกษุเป็นผู้หายหิว ปรินิพพานแล้ว
ไม่มีใครไม่สุข ไม่ทุกข์ หรือไม่รู้สึกเฉยๆ ถ้าไม่เจริญสติในขณะนั้นก็เป็นตัวเป็นตน ไม่รู้ลักษณะของนามชนิดหนึ่ง คือ สภาพความรู้สึกที่มีจริงในขณะนั้น แล้วไม่รู้ด้วยว่า นามนั้นเกิดเพราะเหตุใด ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ที่เจริญสติ ถ้าเห็นแล้วเกิดโสมนัส จะตื่นเต้นดีใจ ยิ้มแย้ม หัวเราะ ในขณะนั้นรู้ได้ไหม ถ้าสติระลึกก็รู้ว่าเวทนานี้เกิดขึ้นเพราะเห็น หรือเวลาได้ยินเสียงแล้วเกิดขบขันสนุกสนานรื่นเริงขึ้น เป็นโสมนัสเวทนา รู้ได้ไหมว่าที่กำลังพอใจรื่นเริงเบิกบานนี้เกิดขึ้นเพราะได้ยิน ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติก็รู้ได้ แล้วควรระลึกรู้ด้วย
เพราะฉะนั้น จะคิดว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นง่าย ข้ามไป ไม่รู้โน่นไม่รู้นี่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งทุกท่านคงพิสูจน์ด้วยตัวของท่านเองได้ว่า ท่านรู้อะไรมากขึ้นหรือยัง หรือว่ายังคงไม่รู้อยู่ ถ้ายังคงไม่รู้อยู่ ก็อย่าไปคิดว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องมีสติเพิ่มขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปมากขึ้น
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สุขสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้แล ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอกมีอยู่ ภิกษุรู้ว่า เวทนานี้เป็นทุกข์ มีความพินาศเป็นธรรมดา มีความทำลายเป็นธรรมดา ถูกต้องความสิ้นไปอยู่ ย่อมคลายความยินดีในเวทนาเหล่านั้น ด้วยประการอย่างนี้
อีกสูตรหนึ่ง คือ ปหานสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงละราคานุสัยในสุขเวทนา พึงละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา พึงละอวิชชานุสัยในอทุกขมสุขเวทนา เพราะเหตุที่ภิกษุละราคานุสัยในสุขเวทนา ละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา ละอวิชชานุสัยในอทุกขมสุขเวทนาภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่มีราคานุสัย มีความเห็นชอบ ตัดตัณหาได้เด็ดขาด เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ
ราคานุสัยนั้นย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยสุขเวทนา ไม่รู้สึกตัวอยู่ มีปกติไม่เห็นธรรมเป็นเครื่องสลัดออก ปฏิฆานุสัยย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยทุกขเวทนา ไม่รู้สึกตัวอยู่ บุคคลเพลิดเพลินอทุกขมสุขเวทนาซึ่งมีอยู่ อันพระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาประดุจปฐพีทรงแสดงแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์เลย
เพราะเหตุที่ภิกษุผู้มีความเพียร ละทิ้งเสียได้ด้วยสัมปชัญญะ เธอชื่อว่า เป็นบัณฑิต ย่อมกำหนดรู้เวทนาทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในธรรม ถึงที่สุดเวทย์ เมื่อตายไป ย่อมไม่เข้าถึงความนับว่า เป็นผู้กำหนัดขัดเคือง เป็นผู้หลง ดังนี้
ไม่ว่าจะเป็นขณะที่ยินดี พอใจ เพลิดเพลิน เป็นสุขเวทนา ถ้าไม่รู้สึกตัว ไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา หรือนามรูปในขณะนั้น ก็เป็นราคานุสัย เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่แสวงหาความสุขเพลิดเพลิน สุขเวทนา แล้วไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปในขณะนั้น เป็นผู้ไม่รู้สึกตัว เท่ากับผู้นั้นสะสมเพิ่มพูนราคานุสัยหนาแน่นมากขึ้นๆ เรื่อยๆ วันหนึ่งๆ มีความไม่พอใจ มีความขัดเคือง มีความไม่แช่มชื่น แต่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปในขณะนั้น เป็นผู้ที่ไม่รู้สึกตัว สะสมปฏิฆานุสัย แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติย่อมเป็นผู้ที่ละราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัยได้
ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เสวยสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา หรือเสวยทุกขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา หรือเสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนามีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่
จบ เวทนานุปัสสนา
มีลักษณะของเวทนาที่ได้แสดงไว้ ๙ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เสวยสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา มีสติ ไม่หลงลืมสติ ระลึกรู้ลักษณะสภาพความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง คือ เห็นเวทนาในเวทนา ไม่ใช่เห็นตัวตน เห็นสัตว์ บุคคลในเวทนา
ประการที่ ๒ หรือเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา
ประการที่ ๓ หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา
ประการที่ ๔ หรือเสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส
คำว่า “มีอามิส” หมายความว่าเวทนานั้นอาศัยกามคุณ คือ อาศัยตาเห็นรูปเกิดความรู้สึกเป็นสุข หูได้ยินเสียงที่พอใจเกิดความรู้สึกที่เป็นสุข จมูกรู้กลิ่นที่พอใจในขณะใดเกิดความรู้สึกที่เป็นสุข ลิ้นกระทบมีการรู้รสที่พอใจ เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข กายได้กระทบสัมผัสโผฏฐัพพารมณ์ที่พอใจ เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข เหล่านี้ คือ เสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส นี่เป็นประการที่ ๔
ประการที่ ๕ หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส
สำหรับสุขเวทนาที่ไม่มีอามิสนั้น หมายความถึงสุขเวทนาที่ไม่ได้อิงอาศัย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์
ประการที่ ๖ หรือเสวยทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนามีอามิส โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์
ประการที่ ๗ หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส คือ ทุกขเวทนาในขณะนั้นไม่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์
ประการที่ ๘ หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส
ประการที่ ๙ หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส
ท่านที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ความรู้สึกด้วย เพราะการละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้จะต้องรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ จึงจะละการหลงผิดยึดถือสภาพธรรมนั้นได้ ตราบใดที่ไม่รู้ชัด ยังสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏ ย่อมไม่หมดการยึดถือในสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์บ้าง เป็นบุคคลบ้าง เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ บ้าง
สำหรับความรู้สึก บางครั้งเป็นสุข บางครั้งเป็นทุกข์ บางครั้งไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ คือ ความรู้สึกเฉยๆ วันหนึ่งเปลี่ยนไปเรื่อย เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ ลักษณะที่ไม่เที่ยงปรากฏ คือ มีแล้วไม่มี เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ที่ลึกซึ้งก็เพราะลักษณะนั้นยากที่จะรู้ได้ ถึงแม้ว่ามีแล้วก็เกิดปรากฏกับตนเอง เพราะฉะนั้น สภาพของทุกขลักษณะจึงเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งและรู้ยาก
ขอให้พิจารณาดูว่า เมื่อเวทนาเป็นของจริง มีจริง เกิดปรากฏตลอดเวลา อาศัยตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง เป็นที่ยึดถืออย่างยิ่งประการหนึ่ง มีใครไม่ต้องการสุขเวทนาบ้าง ถ้าไม่ได้สุขก็ขอให้เพียงเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข แต่อย่าให้ถึงกับต้องเป็นทุกข์หรือโทมนัส นี่เป็นสิ่งที่ปรารถนากันอยู่ แม้แต่เพียงความรู้สึกแต่ละขณะ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพความรู้สึกประ เภทนั้นๆ เป็นปัจจัยทำให้ความรู้สึกนั้นๆ เกิดขึ้น
กำลังเป็นสุข จะให้เป็นทุกข์แทนสุขก็ไม่ได้ หรือเวลาที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ จะบังคับให้ไม่โทมนัส ไม่เป็นทุกข์ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน โดยปรมัตถธรรม เวทนาเป็นเจตสิกธรรม เป็นธรรมชาติที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต แต่ไม่ใช่จิต จิตเป็นสภาพรู้ เป็นประธานในการรู้ ขณะที่เห็นต้องมีความรู้สึกเกิดขึ้นด้วย
สัมโมหวิโนทนี ซึ่งเป็น อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์ มีข้อความเรื่องลักษณะของเวทนาว่า
อนุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ
วิสยรสสมฺโภครสา มีการบริโภคร่วมกันซึ่งรสแห่งอารมณ์เป็นรสะ หรือเป็นกิจ
สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีสุขและทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือเป็นอาการที่ปรากฏ
ผสฺสปทฏฺฐานา มีผัสสะเป็นปทัฏฐาน หรือเป็นเหตุใกล้ให้เกิด
เพราะฉะนั้น เวทนาเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่ใช่จิต