แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 112
สำหรับอาการที่ปรากฏให้รู้ได้ว่าเป็นเวทนา คือ สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีสุข และทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏให้รู้ได้
มีท่านผู้ฟังสงสัยว่า สุขเวทนาและทุกขเวทนามีปรากฏให้รู้ได้ แต่อุเบกขาเวทนาจะมีหรือ เพราะไม่รู้สึกว่าปรากฏเลย มีแต่เพียงสุขเวทนา ทุกขเวทนา แต่โดยสภาพของปรมัตถธรรมแล้ว เวลาที่มีการกระทบ คือ ผัสสะรู้อารมณ์ใดก็เป็นปัจจัยให้ความรู้สึกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ผัสสมูลกสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม้สองอันเสียดสีกัน เพราะการเสียดสีกันจึงเกิดไออุ่น จึงเกิดไฟ เพราะแยกไม้สองอันนั้นแหละออกจากกัน ไออุ่นที่เกิดเพราะการเสียดสีนั้นย่อมดับไป สงบไป ฉันใด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ นี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เกิดแต่ผัสสะ มีผัสสะเป็นมูล มีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาอันเกิดแต่ผัสสะ เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะที่เกิดจากปัจจัยนั้นย่อมดับ เพราะผัสสะที่เกิดแต่ปัจจัยนั้นดับไป
แม้ผัสสะก็ต้องเกิดเพราะปัจจัย ถ้ายังมีปัจจัยให้ผัสสะเกิด ผัสสะก็ต้องเกิด เมื่อผัสสะกระทบรูปทางตา กระทบเสียงทางหู กระทบอารมณ์ทางใจดับไปแล้วก็จริง แต่ยังมีปัจจัยให้ผัสสะเดี๋ยวนี้กระทบทางตาอีก ทางหูอีก จมูกอีก ลิ้นอีก กายอีก ใจอีก วนเวียนเรื่อยไปในวัฏฏะ และเมื่อมีผัสสะการกระทบเป็นปัจจัยแล้ว ย่อมมีเวทนา
แต่สำหรับการปฏิบัติ ท่านผู้เจริญสติจะรู้ได้อย่างไรว่ามีอุเบกขาเวทนา อุเบกขาเวทนามีหลายประเภท ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นกุศลก็มี ถ้าไม่พูดถึงวิบากจิต และกิริยาจิต ผู้ที่เจริญสติรู้ความต่างกันของขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ ถ้าระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ก็สามารถรู้ลักษณะของความรู้สึกทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนาได้
ถ. ตามปกติทุกข์ก็ดี สุขก็ดี แม้ผู้ที่ไม่มีสติก็สามารถที่จะรู้สึกถึงความสุข และความทุกข์นั้นได้ ทำไมจึงจำกัดว่า ต้องมีสติจึงจะรู้ได้ว่ามีสุข หรือมีทุกข์
สุ. เวลาที่ไม่ได้เจริญสติ สุขก็มี ทุกข์ก็มี แต่เป็นตัวตนที่เป็นสุข เป็นตัวตนที่เป็นทุกข์ หรือความรู้สึกเฉยๆ พอถามก็บอกได้ว่าเฉยๆ ขณะใดที่ไม่เจริญสติ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมในขณะนั้นเป็นตัวตนทั้งหมด เป็นเราสุข เป็นเราทุกข์ เป็นเราเฉยๆ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมเป็นของที่มีจริง เป็นปกติ เป็นประจำวัน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ยากที่จะรู้ลักษณะได้ จึงกล่าวว่าลึกซึ้ง จึงต้องเจริญสติ
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาทุกขักขันธสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่รู้ชัดคุณของรูปทั้งหลายโดยความเป็นคุณ โทษของรูปทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของรูปทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ตามความเป็นจริง พวกนั้นน่ะหรือจะรอบรู้รูปทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจะชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดคุณของรูปทั้งหลายโดยความเป็นคุณ โทษของรูปทั้งหลายโดยความเป็นโทษ การถ่ายถอนของรูปทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ตามความเป็นจริง พวกนั้น แหละหนอจักรอบรู้รูปทั้งหลายด้วยตนเองได้ หรือจักชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
ต่อไปพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงว่า อะไรเป็นคุณของเวทนา ซึ่งก็ได้แก่เวทนาในฌานขั้นต่างๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปฐมฌาน มีสุขเวทนาไปจนกระทั่งถึงจตุตถฌาน ซึ่งเป็นอุเบกขาเวทนา
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นโทษของเวทนาทั้งหลาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี่เป็นโทษของเวทนาทั้งหลาย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกำจัด การละฉันทราคะของเวทนาทั้งหลายเสียได้ นี้เป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่รู้ชัดคุณของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นคุณ โทษของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ตามความเป็นจริง พวกนั้นน่ะหรือจะรอบรู้เวทนาทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ชัดคุณของเวทนาทั้งหลายโดยเป็นคุณ โทษของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ตามความเป็นจริง พวกนั้นแหละหนอ จะรอบรู้เวทนาทั้งหลายด้วยตนเองได้ รู้จักชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจะรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
ต้นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องนี้แก่พระภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุว่า พระภิกษุทั้งหลายได้เข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี แต่เวลานั้นยังเช้านัก พระภิกษุเหล่านั้นจึงไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ แล้วก็ได้สนทนากัน ซึ่งพวกอัญญเดียรถีย์ได้กล่าวว่า
พระสมณะโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ แม้พวกตนก็บัญญัติได้ พระสมณะโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปได้ แม้พวกตนก็บัญญัติได้ พระสมณะโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้เวทนาได้ แม้พวกตนก็บัญญัติได้
อะไรเล่าเป็นข้อวิเศษ เป็นผลที่มุ่งหมาย หรือกระทำให้ต่างกันระหว่างพระสมณะโคดมกับพวกตน
ซึ่งพระภิกษุสาวกไม่กล่าวว่าอะไร แล้วกลับไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลให้ทรงทราบ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ถามอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรถ่ายถอนกาม รูป เวทนาเหล่านั้น เพราะว่าพวกอื่นนอกจาก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือสาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมไม่รู้ เพราะถึงใครจะกำหนดรู้ว่าอะไรเป็นกาม ใครจะกำหนดรู้ว่าอะไรเป็นรูป ใครจะกำหนดว่าอะไรเป็นเวทนา เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงก็บอกได้ อะไรเป็นรูปก็บอกได้ อะไรเป็นความรู้สึกเป็นเวทนาก็บอกได้ แต่ถ้าถามว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอน นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วย่อมไม่รู้ เพราะการที่จะรู้ได้นั้นต้องเป็นผู้ที่เจริญสติ ถ้าไม่เจริญสติจะไม่รู้เลยถึงวิธีละ วิธีถ่ายถอน หรือแม้วิธีที่จะรู้ชัดในคุณและโทษของกาม ของรูป ของเวทนา
ที่กล่าวถึงรูปด้วย ก็เพราะว่าความรู้สึกเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตาม ไม่เนื่องกับรูปนี้มีไหม ในวันหนึ่งๆ มีการเห็นแล้วเกิดสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง มีการได้ยินเกิดสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง มีการได้กลิ่นเกิดสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง เพราะฉะนั้น ความรู้สึกทั้งหลายนี้ก็เนื่องจากรูป อาศัยการเห็นรูป อาศัยการได้ยินเสียง การรู้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็งก็ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ
เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดไม่เจริญสติ จะรู้ชัดในขณะที่เป็นสุขเวทนาได้ไหม จะไปรู้เฉพาะทุกขเวทนาได้ไหม เพราะคิดว่าต้องเป็นทุกข์จึงเป็นอริยสัจ ก็เลยไปรู้แต่ทุกขเวทนาได้ไหม นั่นเรียกว่าเป็นผู้รู้ชัดได้ไหมในคุณของรูป ในโทษของรูป ในการถ่ายถอนรูป ในคุณของเวทนา ในโทษของเวทนา ในการถ่ายถอนเวทนา
ถ้าไม่เจริญสติตามปกติไม่สามารถรู้ชัด และข้อความในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นชีวิตปกติ แม้แต่เวทนานุปัสสนาก็เริ่มด้วยรู้ชัดในสุขเวทนา ถ้าไม่รู้ ไม่มีทางละ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ สติก็จะต้องระลึกรู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ สติก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อรู้ชัดแล้ว นั่นเป็นวิธีถ่ายถอนรูปและเวทนาได้ แต่ถ้าไม่รู้ ไม่เจริญสติ ก็ไม่มีหนทางที่จะถ่ายถอนได้เลย
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค วาตสูตรที่ ๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนลมต่างชนิด พัดไปแม้ในอากาศ คือ ลมทิศตะวันออกบ้าง ลมทิศตะวันตกบ้าง ลมทิศเหนือบ้าง ลมทิศใต้บ้าง ลมมีธุลีบ้าง ลมไม่มีธุลีบ้าง ลมหนาวบ้าง ลมร้อนบ้าง ลมอ่อนบ้าง ลมแรงบ้าง ฉันใด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
ดูเหมือนเรื่องธรรมดาแท้ๆ แต่กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังทรงโอวาทพระภิกษุในครั้งกระโน้น เพื่ออุปการะแก่การที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ซึ่งเป็นของธรรมดา อุปมาเหมือนกับลมต่างชนิดที่พัดไป คือ มีทั้งลมทิศตะวันออก มีลมทิศตะวันตก มีลมทิศเหนือ มีลมทิศใต้ ลมมีธุลีคือมีฝุ่นบ้าง ลมไม่มีธุลีคือไม่มีฝุ่นบ้าง เป็นลมหนาวบ้าง เป็นลมร้อนบ้าง เป็นลมอ่อนบ้าง เป็นลมแรงบ้าง ฉันใด เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
ความรู้สึกบางครั้งแรงไหม โกรธนี่วัดได้เลย เหมือนกับลมต่างชนิด บางครั้งก็อ่อน เล็กๆ น้อยๆ แต่บางครั้งก็เป็นลมแรง แม้แต่ความรู้สึกโทมนัสบางครั้งก็เล็กน้อย แต่บางครั้งก็รุนแรงมาก หรือความรู้สึกโสมนัสก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็เล็กน้อย แต่บางครั้งก็ตื่นเต้นปลาบปลื้ม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีอยู่ที่กายสารพัดชนิด บางครั้งก็เป็นลมที่มีธุลี บางครั้งก็ปราศจากธุลี
สำหรับผู้ที่เจริญสติ ขณะที่เป็นกุศลจิต ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรม เวทนาที่เกิดร่วมด้วยก็เปรียบเหมือนกับลมที่ปราศจากธุลี คือ ไม่มีกิเลส ไม่เห็นผิด หรือหลงเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งถ้ายังเป็นไปกับกามคุณ เป็นไปด้วยความเพลิดเพลิน เป็นไปกับการยึดถือหลงผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็เหมือนกับลมที่มีธุลี
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค นิวาสสูตร ข้อความคล้ายคลึงกัน มีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนพักคนเดินทาง ชนทั้งหลายมาจากทิศตะวันออกบ้าง มาจากทิศตะวันตกบ้าง มาจากทิศเหนือบ้าง มาจากทิศใต้บ้าง เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง เป็นพ่อค้าบ้าง เป็นคนงานบ้าง มาพักในเรือนนั้นฉันใด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิด ย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง สุขเวทนามีอามิสบ้าง ทุกขเวทนามีอามิสบ้าง อทุกขมสุขเวทนามีอามิสบ้าง สุขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง ทุกขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง อทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง
ใครรู้ ถ้าไม่ใช่ผู้เจริญสติจะรู้ได้ไหมถึงเวทนาประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะมีอามิสหรือว่าไม่มีอามิส เป็นสุข หรือว่าเป็นทุกข์ หรือเป็นอุเบกขา และกายนี้ก็อุปมาเหมือนเรือนพักของคนเดินทางจริงๆ เวทนาที่เกิดก็มีคละกันไปหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะเป็นประเภทกุศลบ้าง อกุศลบ้าง อุปมาเหมือนกับผู้มาพัก เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง เป็นพ่อค้าบ้าง เป็นคนงานบ้าง เวทนาต่างๆ นี้ก็เป็นประเภทที่มีอามิสบ้าง ไม่มีอามิสบ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ที่หลงลืมสติแล้วไม่รู้แน่ หรือเจาะจงจะรู้เฉพาะเวทนานั้นเท่านั้น คือ ทุกขเวทนา สุขไม่มีเลย อย่างนี้จะรู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ไหม เพราะตามความเป็นจริงสุขเวทนาเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และต้องรู้ด้วย ไม่รู้ไม่ได้
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อานันทสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวทนามีเท่าไร ความเกิดแห่งเวทนาเป็นไฉน ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ เวทนามี ๓ เหล่านี้คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
ดูกร อานนท์ เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา เพราะผัสสะเกิดขึ้นเวทนาจึงเกิด เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนา
สุข โสมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยเวทนาใด นี้เป็นคุณแห่งเวทนา เวทนาใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งเวทนา
การกำจัด การละฉันทราคะในเวทนาใด นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา
ท่านที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล และยังไม่ได้เจริญสติ ไม่เห็นโทษของเวทนาเลย อาจจะเห็นโทษของทุกขเวทนาเท่านั้น แต่ปรารถนาในสุขเวทนาอย่างยิ่ง ขณะที่มีทุกขเวทนาเกิดขึ้นต้องการอะไร ต้องการสุขทันที เวลาที่มีสุขเวทนาต้องการอะไร ต้องการให้สุขอีกเรื่อยๆ ไม่ได้ต้องการทุกขเวทนาเลย นี่เป็นลักษณะของผู้ที่ไม่ได้รู้ในคุณ ในโทษ ในเหตุเกิดของเวทนา แต่ผู้ที่ประจักษ์ความจริงว่า แม้สุขเวทนานั้นก็ไม่เที่ยง เป็นผู้ที่รู้แจ้งในอริยสัจธรรม ที่ว่าเวทนาเป็นทุกข์ ก็เพราะไม่เที่ยง
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค รโหคตวรรคที่ ๒ รโหคตสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ความปริวิตกแห่งใจเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ ผู้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสอย่างนี้ว่า
ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นทุกข์ดังนี้ ทรงหมายเอาอะไรหนอ