แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 115

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดู แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี้เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้นย่อมไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ตถาคตไม่เป็นผู้ชื่นชม ไม่เสวยความชื่นชม และไม่ระคายเคือง ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า การตั้งสติประการที่ ๑ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่

การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เป็นการเจริญปัญญาที่รู้จริง รู้ทั่ว รู้แจ้ง สามารถละความไม่รู้ที่สะสมมาทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่ว่าจะมีผู้ที่ฟังอย่างเงี่ยโสตแล้วก็รับรู้ และประพฤติปฏิบัติตามเสมอ

บางท่านอาจจะคิดว่า ในอดีตกาลนั้นมีผู้ที่บรรลุมรรคผลด้วยการประพฤติตามที่ได้ทรงแสดงไว้ แต่สมัยนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะประพฤติตามที่ทรงแสดงไว้ ต้องย่นย่อ ทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้บ้างเพื่อที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่เจริญสติ

สิ่งที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ท่านผู้ฟังต้องใคร่ครวญ พิสูจน์ ซึ่งถ้าเป็นของง่าย ก็ประพฤติตามกันไปง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องฟังมาก

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดู แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี้เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้น บางพวกย่อมไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ แล้วประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา บางพวกย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นศาสดาไม่เป็นผู้ชื่นชม ไม่เสวยความชื่นชม ทั้งไม่เป็นผู้ไม่ชื่นชม ไม่เสวยความไม่ชื่นชม เว้นทั้งความชื่นชมและความไม่ชื่นชมทั้งสองอย่างนั้นแล้ว เป็นผู้วางเฉย ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า การตั้งสติประการที่ ๒ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดู แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี้เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ตถาคตเป็นผู้ชื่นชม เสวยความชื่นชม และไม่ระคายเคือง ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า การตั้งสติประการที่ ๓ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ นั่น เราอาศัยเหตุดังนี้กล่าวแล้ว

ข้อความตอนท้าย

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่ละเอียด โสมนัสเวทนาอาศัยเรือน ไม่อาศัยเรือน เป็นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นของที่มีจริงพิสูจน์ได้

. สมมติว่าเราเดินธรรมดา ถ้าไม่จดจ้องก็ไม่รู้จะเดินอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นรูปหรือเป็นนาม อาการที่เคลื่อนเป็นรูปถูกไหม และความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะที่เราเคลื่อนนั้นเป็นนามถูกไหม ขณะที่เราเดิน เราก็ต้องมีจดจ้อง ถ้าไม่จดจ้องก็ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร

สุ. ต้องเข้าใจให้ถูกว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ขณะที่เดินมีเห็นไหม มีได้ยินไหม มีกลิ่นปรากฏไหม มีเสียง มีสี มีนามคิดนึก มีอะไรหลายๆ อย่าง แล้วทำไมจึงจะไปจดจ้องที่เดิน ถ้าไปจดจ้องที่ลักษณะเดิน ก็ไม่รู้อย่างอื่นใช่ไหม

. ขณะที่จดจ้องที่เดิน ก็มีได้ยินเสียง เห็นก็มี รู้สึก ขณะที่ไปจดจ้องที่เดิน ดูเดิน เสียงก็ได้ยิน แต่ใจไปจดจ้องอยู่ที่เดิน

สุ. ถ้ามีความต้องการที่จะรู้ตรงที่เดิน ก็จะจดจ้องอยู่เรื่อยๆ ไม่มีการรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทุกอย่างเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป

ขณะที่กำลังเดินที่จดจ้องอยู่รู้สภาพของนามอะไร ของรูปอะไร เพราะการเจริญสติปัฏฐานจะต้องรู้ลักษณะของนาม รู้ลักษณะของรูป จึงจะหมดการยึดถือว่าไม่ใช่ตัวตน ซึ่งการที่จะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น เป็นเพราะปัญญาพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรม รูปธรรม พร้อมกับที่สติระลึกได้จนชิน จนคลาย จนรู้ชัด ข้อสำคัญคือ อย่าคิดว่ารู้พอแล้ว

บางท่านไม่ยอมที่จะรู้มาก คิดว่าจดจ้องอยู่รูปเดียวนามเดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องรู้ทางอื่นเลย หรือไม่ต้องเจริญความรู้ให้มากขึ้น คิดว่าเพียงอย่างนั้นก็พอ แต่ความจริงไม่พอ เพราะอวิชชามีมากเหลือเกิน เมื่ออวิชชาซึมซาบอยู่ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ การคลายอวิชชาได้ต้องเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เพราะปัญญาจะต้องค่อยๆ เจริญแทนอวิชชา ด้วยการพิจารณาแล้วความรู้ก็เกิด แต่ไม่ใช่ด้วยการจดจ้อง

การเข้าใจข้อปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผู้ที่รู้ว่าขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพที่ระลึกได้ เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ในขณะใดที่ระลึกได้เป็นลักษณะของสติ ไม่ใช่ตัวตน กับผู้ที่กำลังจดจ้อง ไม่ได้รู้ว่า แม้แต่ขณะที่สติเกิดระลึกขึ้นนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง นี่เป็นความต่างกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าไปจดจ้องอยู่ ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น จะต้องรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยไม่บังคับสติ แต่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติ

การเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อน หรือเข้าใจผิดก็มีแม้แต่ในครั้งพุทธกาล ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อลคัททูปมสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อริฏฐภิกษุผู้เป็นเหล่ากอของคนฆ่าแร้งมีทิฏฐิอันลามกว่า รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วเห็นว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมกระทำซึ่งอันตราย ธรรมเหล่านั้น ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง ภิกษุทั้งหลายเมื่อซักไซร้ไล่เลียงสอบสวน ไม่สามารถปลดเปลื้องอริฏฐภิกษุจากทิฏฐิอันลามกนั้น ก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ

นี่ก็เป็นข้อความเบื้องต้นโดยย่อในอลคัททูปมสูตร ซึ่งท่านผู้อ่าน ท่านผู้ศึกษาธรรม บางครั้งก็เกิดความสงสัยข้องใจเล็กๆ น้อยๆ อย่างบางท่านพอมีข้อความในพระสูตรบางตอนกล่าวว่า ภิกษุรูปนั้นผู้เป็นเหล่ากอของคนฆ่าแร้ง หรือภิกษุรูปโน้นผู้เป็นเหล่ากอของชาวประมง ท่านก็บอกว่า ทำไมต้องกล่าวพยัญชนะอย่างนี้ในพระสูตรด้วย เหมือนกับการดูหมิ่นหรือดูถูกบุคคลนั้น แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่เป็นเพราะชื่อมีซ้ำกันได้ ถ้าไม่กล่าว หรือไม่แสดงความชัดเจนพอที่จะให้ทราบว่า เป็นบุคคลไหน ก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นบุคคลอื่น หรือเข้าใจผิดได้

ที่ยกพระสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่า ผู้ใดที่มีความเห็นผิด เข้าใจผิด แล้วกล่าวถ้อยคำที่ตรงกันข้ามกับพระธรรมวินัย เช่น อริฏฐภิกษุมีทิฏฐิอันลามกว่า รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และเห็นว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมกระทำซึ่งอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง

ข้อความใน อรรถกถาปปัญจสูทณีย์ มีข้อความอธิบายว่า

คำว่า ทำอันตราย คือ ทำลายแก่ สวรรค์ นิพพาน

คำว่า ธรรม คือ ธรรม ๕ ประการ ได้แก่ ๑. กรรม ๒. กิเลส ๓. วิบาก ๔. อริยุปวาท ๕. อาณาวีติกกมะ

กรรม ได้แก่ อนันตริยกรรม มีการฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ กระทำโลหิตพระผู้มีพระภาคให้ห้อ และสังฆเภท (กระทำสงฆ์ให้แตกกัน) นอกจากนั้นก็ยังมีประทุษร้ายภิกษุณี

สำหรับกิเลสนั้น ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ เห็นว่าบาป บุญ กรรมไม่มี ไม่ให้ผล หรือไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล

สำหรับ วิบาก คือ การปฏิสนธิ เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นบัณเฑาะก์

ประการที่ ๔ อริยุปวาท ได้แก่ การกล่าวร้ายพระอริยะ

ประการที่ ๕ อาณาวีติกกมะ อาบัติที่ภิกษุแกล้งต้อง

ธรรม ๕ ประการนี้ อริฏฐภิกษุมีทิฏฐิอันลามกกล่าวว่า รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว และเห็นว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วว่า เป็นธรรมกระทำซึ่งอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง

ความเห็นผิดเริ่มจากความเห็นผิดทีละเล็กทีละน้อย ถ้าเห็นว่า บาป บุญ กรรม ไม่มี ไม่เป็นเหตุให้เกิดผล ความประพฤติจะเป็นอย่างไร ในเมื่อแนวความคิดเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ในเรื่องของข้อประพฤติปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน จะต้องพิจารณาว่า ท่านเจริญสติปัฏฐานถูกต้องไหม

สำหรับเรื่องของเวทนา ๓ ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ทัฏฐัพพสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุขมสุขเวทนา

ภิกษุทั้งหลาย พึงเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์ พึงเห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นลูกศร พึงเห็นอทุกขมสุขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ภิกษุเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์ เห็น ทุกขเวทนาโดยความเป็นลูกศร เห็นอทุกขมสุขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง ภิกษุนี้เรากล่าวว่า มีความเห็นโดยชอบ ตัดตัณหาได้เด็ดขาด เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ

ข้อความต่อไปมีว่า

ถ้าภิกษุใดเห็นสุขโดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกข์โดยความเป็นลูกศร เห็นอทุกขมสุขซึ่งมีอยู่นั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ภิกษุนั้นเป็นผู้เห็นโดยชอบ ย่อมกำหนดรู้เวทนาทั้งหลายได้ ครั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในธรรม ถึงที่สุดเวทย์ เมื่อตายไป ย่อมไม่เข้าถึงความนับว่าเป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง เป็นผู้งมงาย

พระผู้มีพระภาคตรัสถึงเรื่องเวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ซึ่งเป็นของมีจริงเกิดปรากฏ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เวลาที่เป็นสุขก็เพลิดเพลิน ลืมที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะเห็นบ้าง เพราะได้ยินบ้าง ที่ทำให้ความรู้สึกเป็นสุขเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ดังที่ทรงแสดงไว้ว่าภิกษุทั้งหลายพึงเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์ ถึงแม้กำลังประสบสุขอยู่ เที่ยงไหมเดี๋ยวก็หมด เดี๋ยวเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น สุขเวทนา ภิกษุพึงเห็นโดยความเป็นทุกข์ นี่ประการหนึ่ง

พึงเห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นลูกศร ทุกขเวทนาบ่อยไหม หิว เมื่อย ไม่สบาย ถ้ามีตาก็มีโรคตา มีหูก็มีโรคหู มีจมูกก็มีโรคจมูก มีตับก็มีโรคตับ มีไตก็มีโรคไต ถ้าเห็นเป็นโทษจริงๆ จิตก็ย่อมน้อมไปที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

พึงเห็นอทุกขมสุขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง ถ้ามีอุเบกขาเวทนา เป็นผู้ที่อบรม ไม่หวั่นไหว ยินดี ยินร้าย สุขนัก ทุกข์นัก หรือเป็นผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงปัญจมฌานเป็นอุเบกขา ก็มีความยินดีพอใจในความรู้สึกที่เป็นอุเบกขา ละโทมนัส ละโสมนัสได้ แต่พึงเห็นโดยความไม่เที่ยง ไม่ใช่จะมีอุเบกขาอยู่ได้ตลอดเวลา แม้แต่อุเบกขาเวทนาที่พอใจว่า ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นสภาพที่สงบระงับประณีตนั้น ก็เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง

ขุททกนิกาย ชาดก ติกนิบาตชาดก สังกัปปราคชาดก มีข้อความว่า

อาตมาภาพอันลูกศรที่อาบด้วยราคะดำริ อาศัยกามวิตกอันนายช่างศรไม่ได้ตกแต่งขัดเกลาและเหลาเสี้ยมแทงเข้าแล้ว อาตมาภาพมิได้ถูกลูกศรที่เขายกคันขึ้นยิงมา หรือที่ติดพู่หางนกยูงเสียบแทงเลย แต่อาตมาภาพถูกลูกศร คือ กิเลส เครื่องเผาอวัยวะทั้งปวงให้เร่าร้อนเสียบแทงที่หทัย แต่อาตมาภาพไม่เห็นรอยแผล ไม่เห็นโลหิตไหลออกจากรอยแผลนั้น จิตที่ไม่มีอุบายอันแยบคาย ถูกลูกศรตรึงไว้แล้วอย่างมั่นคง อาตมาภาพนำความทุกข์มาให้แก่ตนเอง

เป็นถ้อยคำของพระเถระท่านหนึ่ง ซึ่งท่านได้ระลึกถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ในขณะดำริไปด้วยราคะอาศัยกามวิตก ก็เหมือนกับถูกลูกศรที่นายช่างศรไม่ได้ตกแต่งขัดเกลาและเหลาเสี้ยมแทงเข้าแล้ว เป็นความรู้สึกทุกข์ในใจ เหมือนลูกศรที่ไม่ได้ตกแต่งขัดเกลาด้วย จะเจ็บปวดสักแค่ไหน

ถ้าพิจารณาสภาพของความรู้สึกว่า มีความรู้สึกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสุข ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ใดๆ ก็ตาม ก็เป็นสภาพที่ควรดับ ถึงแม้ว่าจะเป็นความสุข ความติด ความพอใจ ก็ต้องนำความทุกข์มาให้ แต่ถ้าไม่ทราบความจริง ก็ดิ้นรนขวนขวายแสวงหาไป เพราะต้องการสุขเวทนาอยู่เรื่อยๆ

เพื่อสรุปเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขอกล่าวถึงข้อความใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อัฏฐสตปริยายสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเวทนา ๑๐๘ ประการ มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังธรรมปริยายนั้น ก็ธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนา ๒ เป็นไฉน เวทนา ๒ คือ เวทนาทางกาย ๑ เวทนาทางใจ ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๒

ก็เวทนา ๓ เป็นไฉน เวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๓

เปิด  313
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566