แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 117

รูปทุกรูปที่เป็นรูป ไม่ใช่เป็นนาม ต้องมีลักษณะของรูป นามที่กล่าวว่าเป็นนามไม่ใช่รูป ก็ต้องมีลักษณะของนามแต่ละชนิด เวลานี้ลักษณะของนามของรูปนี้ปรากฏให้รู้อยู่ตลอดเวลา แต่เพราะไม่เจริญสติ จึงยึดถือนามและรูปที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาจะต้องรู้ชัดว่า เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น ส่วนสีสันวรรณะต่างๆ ที่ปรากฏ ชั่วขณะที่ตาเห็นเท่านั้นเป็นของจริง เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งซึ่งพิจารณาระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ จะทำให้ละคลายการหลงเพลิดเพลินไปด้วยการยึดถือว่าเป็นตัวตน สติเพียงระลึกสิ่งที่มีปรากฏ ไม่ต้องไปทำอะไร แต่เจริญสติโดยการระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเนืองๆ บ่อยๆ ตามปกติ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ อย่าไปทำอะไรให้ผิดปกติ

ขณะนี้ทุกท่านมีทั้งเห็น มีทั้งได้ยิน มีทั้งรู้เรื่องที่ได้ยิน แต่โดยสภาพความเป็นจริงแล้ว เห็นเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวแล้วก็ดับ จากนั้นจิตก็เกิดสืบต่อกันมากมายหลายขณะก่อนที่จะได้ยิน และเกิดดับสืบต่อกันมากมายหลายขณะก่อนที่จะรู้เรื่อง แต่ปรากฏเหมือนกับทั้งๆ ที่เห็นไม่ดับเลย ก็ยังทั้งได้ยินด้วย ทั้งรู้เรื่องด้วย ซึ่งผู้ที่เจริญสติเท่านั้นที่จะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามรูปที่ปรากฏ ให้ปัญญาสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ

อย่าไปเป็นห่วงการเกิดดับ หรืออะไรเลย เพราะถ้าปัญญาไม่สมบูรณ์ สิ่งที่เกิดดับอยู่ขณะนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร นอกจากไปยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะเกิดดับสืบต่อกันเร็วเหลือเกิน

อย่างเช่น เวทนา ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเมื่อวานนี้ มากมายนับไม่ถ้วน ตั้งแต่เช้านี้จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ เวทนาก็มากมายนับไม่ถ้วน เพราะเวทนาต้องเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าไม่เจริญสติก็ไม่รู้ว่า เป็นลักษณะของเวทนาแต่ละชนิด เมื่อไม่รู้ว่าเป็นลักษณะของเวทนาแต่ละชนิด จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของเวทนาชนิดนั้นที่ดับ แล้วเวทนาชนิดอื่นที่เกิดแล้วก็ดับไม่ได้

เพราะฉะนั้น การเจริญสติเป็นปกติ ไม่เลือก ไม่รอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ เป็นทางเดินของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวก ซึ่งต้องเพียร ต้องอดทน สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน ไม่มีความต้องการ หรือไม่มีความเห็นผิดมาเป็นเครื่องกั้น

ถ. เรื่องอิริยาบถ อาจารย์ได้กรุณาอธิบายไปแล้ว ก็พอเข้าใจขึ้น แต่ในสัมปชัญญะบรรพท่านก็ว่า เมื่อรู้ว่าเราเดิน หรือยืน หรือนั่ง หรือนอนนั้น หมายถึงอิริยาบถนาน ก้าวหน้า ถอยหลัง แล เหลียว เหยียด คู้ หมายถึงอิริยาบถพอปานกลาง เดิน ยืน นั่ง นอน ตื่น หมายถึงอิริยาบถเล็กน้อย ตรงนี้หมายความว่าอย่างไร

สุ. นั่งนาน มีรูปมีนามไหม นั่งนานก็มีนามมีรูป เหลียวไปนิดหนึ่งก็เป็นนามเป็นรูป อ่อน แข็ง ขณะที่นั่งนาน ก็อ่อนเท่านั้น แข็งเท่านั้น เย็นเท่านั้น ร้อนเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวตน เอี้ยวไปนิดหนึ่งก็เป็นลักษณะที่ตึงเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตน ก็เหมือนกัน โลกมี ๖ โลกเท่านั้น ไม่ว่าจะปรากฏในขณะที่นั่งนาน หรือไม่นาน จะเป็นอิริยาบถใหญ่ หรืออิริยาบถย่อยก็ตาม โลกก็มีปรากฏเพียง ๖ โลก ที่จะให้ปัญญารู้ชัด

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ให้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ไม่ว่าจะนั่งนาน ยืนนาน หรือว่าครู่เดียว เดี๋ยวเดียว ก็อย่าเป็นผู้หลงลืมสติ ไม่อย่างนั้นจะมีสติเฉพาะเวลานั่งนาน ยืนนาน แล้วไม่มีสติเวลาที่เคลื่อนไหว เหยียดคู้ หรือว่ามิฉะนั้นจะไปรู้ตัวแต่เฉพาะตอนเคลื่อนไหวเหยียดคู้ แต่เวลาจะนั่งเฉยๆ รอนานๆ หรืออะไรสติก็ไม่เกิด แต่ถ้าเกิดแล้วก็เป็นนามเป็นรูป ๖ ทางนี้ตามความเป็นจริง ที่ไม่มีอะไรต่างกันเลย

ให้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ไม่ว่าจะนั่งนานก็เป็นนามเป็นรูป ประเดี๋ยวเดียวก็เป็นนามเป็นรูป เพราะถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานจริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรกั้นเลย สติสามารถเจริญได้ และรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ตามปกติ

โดยมากข้ามการที่จะรู้ตามปกติ เพราะเข้าใจผิดว่าจะต้องไปรู้อย่างอื่น บางคนกล่าวว่า ปกติวุ่นวาย เจริญสติปัฏฐานไม่ได้เลย วุ่นวายแล้วเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ แต่อริยสัจจะนั้นคืออะไร ทุกขอริยสัจจะ สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนั้นก็ไม่เที่ยงที่ปัญญาจะต้องรู้จริงๆ แล้วจึงจะละได้ หลบไป หลีกไป แล้วไม่รู้ ไม่มีวันที่จะละได้ เพราะไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ตามปกติของแต่ละคน

สำหรับวันนี้จะเป็นเรื่องของจิตตานุปัสสนา ข้อความใน มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่

จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือว่าจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต

จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดังพรรณามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และ ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่

จบจิตตานุปัสสนา

ใครจะรู้ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เจริญสติ ลักษณะของจิตที่ได้ทรงแสดงไว้ในจิตตานุปัสสนา ถ้าไม่ใช่ผู้เจริญสติแล้วจะรู้อย่างนี้ไหม ไม่มีหนทางเลยที่จะรู้ได้ แต่ทำไมทรงแสดง จิตตานุปัสสนา เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดดับสืบต่อกันทุกขณะ แต่หลงเข้าใจผิดยึดถือจิตว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล เป็นสภาพที่ปัญญาจะต้องเจริญแล้วก็รู้ชัด จึงจะละได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ไม่รู้ไป เรื่องไม่รู้เป็นเรื่องที่จะไม่ถึงอริยสัจธรรม และเมื่อย่อสภาพธรรมที่มีจริง ก็จะปรากฏเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่งกับสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่มีปรากฏให้รู้ได้ ก็มีลักษณะที่ปรากฏแตกต่างกัน อย่างเวทนาเป็นสภาพความรู้สึกไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น เวทนาซึ่งเป็นสภาพความรู้สึกปรากฏให้รู้ได้ ความสุขมี โสมนัสมี ความทุกข์มี โทมนัสมี อุเบกขามี เป็นสภาพที่ปรากฏให้สติระลึกได้ ส่วนของเวทนานุปัสสนา ก็เป็นเวทนานุปัสสนา

แต่สภาพของจิตก็เป็นสภาพที่มีจริง เกิดดับสืบต่อกัน สภาพของจิตนั้นเป็นสภาพที่มีความรู้อารมณ์เป็นลักษณะ มีความเป็นไปโดยความถึงก่อนเป็นรสะ

รู้ หรือว่าเป็นหัวหน้า เป็นประธานในการรู้อารมณ์นั่นเอง อย่างทางตาที่เห็นสีเป็นจิต ส่วนที่จะชอบหรือไม่ชอบเป็นสภาพธรรมอื่นที่เกิดพร้อมกับจิต หรือว่าความรู้สึกโสมนัส โทมนัส อุเบกขา ก็เป็นสภาพความรู้สึกที่เกิดกับจิต แต่ในขณะที่กำลังเห็น เป็นจิตที่เห็น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ มีการสืบเนื่องกัน คือ มีการเกิดดับสืบต่อกันเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏให้รู้ได้ ถ้าจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้วไม่เกิดต่อก็ไม่มีการปรากฏอะไรให้รู้ได้เลย แต่ถึงแม้เมื่อจิตดับไปแล้ว ก็เกิดอีก สืบต่อไว้อีก เห็นเมื่อสักครู่นี้ก็ดับไปแล้ว มีปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นเห็นอีก ได้ยินอีก ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน มีชีวิตอยู่ที่ไหนก็มีจิตที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย แล้วก็ดับ แล้วก็เกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์อยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของจิต ระลึกได้ทุกแห่ง ไม่ว่าในสถานที่ใด ทรงแสดงลักษณะของจิตทุกชนิดว่าเป็นสติปัฏฐาน เป็นจิตตานุปัสสนา เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้ จึงจะละการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

สภาพของจิตนั้นมีนามและรูปเป็นปทัฏฐาน ในบางแห่ง เช่น ในสัมโมหวิโนทนีย์กล่าวว่า มีสังขารเป็นปทัฏฐาน หรือมีวัตถุและอารมณ์เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะฉะนั้น การเจริญสติต้องเจริญเป็นปกติเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณานามรูปที่กำลังปรากฏตามปกติให้ทั่ว ได้มากเท่าไรปัญญาก็จะรู้ชัดแล้วละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนมากเท่านั้น

อย่างใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรม วินัยนี้ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ

ในจิตตานุปัสสนา ทรงแสดงนัยของการพิจารณาไว้ ๑๖ ประการในเรื่องของจิต เริ่มด้วยจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เพราะวันหนึ่งๆ ราคะมาก โลภมูลจิตเป็นพื้นเป็นประจำที่จะให้ระลึกได้ ก็ควรที่จะระลึกเพื่อรู้ชัด แล้วละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล แต่โดยมาก เพราะไม่เจริญสติ ไม่เข้าใจการเจริญสติ จึงกล่าวว่าเจริญสติไม่ได้ แต่ในพระไตรปิฎก สติระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ

คำว่าอนุปัสสนา คือ เนืองๆ บ่อยๆ เพราะว่าจุดประสงค์ คือ ปัญญาที่รู้ชัด เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ

ถ้าจุดประสงค์เป็นความสงบ จะไม่รู้ชัดในสภาพธรรมตามปกติ เพราะขณะนี้ตามปกติเป็นโลภมูลจิต ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ละ ก็ไปทำผิดปกติขึ้น แต่การเจริญสติปัฏฐานถ้าเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่หลีกเลี่ยง ไม่รีรอ โลภมูลจิตก็โลภมูลจิต เป็นของธรรมดาที่จะละโลภะ โทสะ โมหะได้ ต้องละเป็นลำดับขั้น โดยการละการที่ยึดถือโลภะ โทสะ โมหะว่าเป็นตัวตนเสียก่อน โดยการรู้ว่า สภาพนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะบางคนเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นละอภิชฌาและโทมนัส ซึ่งพยัญชนะมีกล่าวไว้จริงแต่ต้องเข้าใจด้วยว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่ใช่ละอภิชฌาโทมนัสเพียงขั้นของการเจริญสมาธิ แต่การเจริญสติปัฏฐานที่ละอภิชฌา โทมนัส เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ละโมหะความไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยสติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

อย่างประการที่หนึ่งของจิตตานุปัสสนาที่ว่า จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เป็นอริยสัจธรรมสำหรับผู้ที่ละคลายเพราะรู้ทั่ว โลภมูลจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเป็นปกติ สติระลึกรู้เท่านั้นเพื่อจะไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ไม่ใช่ว่าจะให้เปลี่ยน หรือว่าให้ทำอะไร หรือว่าให้มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ที่จะทำให้ไม่รู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริง

ถ. มีคำอธิบายบางประการบอกว่า เพื่อกันอภิชฌาและโทมนัสไม่ให้เกิดขึ้น คำว่า กัน หมายความว่าอย่างไร

สุ. เวลาที่โลภะเกิดขึ้น หลงลืมสติ ก็เป็นโลภะไปเรื่อยๆ เกิดดับสืบต่อกันนาน ทันทีที่สติเกิดโลภะไม่เกิด สติเป็นคุณธรรม เป็นสัมมาสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามที่ปรากฏ ถึงแม้ว่าจะเกิดแล้วดับสืบเนื่องก็ยังปรากฏให้รู้ได้ เหมือนกับกำลังเห็น เห็นก็เกิดดับ แล้วก็มีได้ยิน แล้วแต่สติจะระลึกที่นาม หรือที่รูปทางตา หรือนาม หรือรูปทางหู ไม่มีกฎเกณฑ์ที่จะไปบังคับ เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า สภาพธรรมทั้งหลายมีเกิดขึ้นปรากฏ แต่สติก็ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเนืองๆ บ่อยๆ เป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ สติไม่ใช่โลภะ แต่ถ้าหลงลืมสติ ก็ยึดถือโลภมูลจิตที่เกิดดับสืบต่อกันว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ที่จะละคลายการยึดถือได้ ก็เมื่อสติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะโลภะก็ดับ ถ้าใครถามถึงคำแนะนำสั้นๆ ก็บอกว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติ ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่นั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด เหยียด คู้ ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่เว้น

ใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็น อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า

จิตมีราคะ ได้แก่ จิตอันไปกับโลภะ ๘ อย่าง

หมายความถึงโลภมูลจิต ๘ ดวง สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตได้ทั้ง ๘ ดวง โดยไม่จำเป็นต้องนึกถึงชื่อ เพราะมีลักษณะปรากฏให้รู้ความต่างกัน แต่ว่าใครจะรู้ลักษณะของโลภมูลจิต ๘ ดวงที่ต่างกันบ้าง

ใครรู้ความต่างกันของ โสมนัสสสหคตัง ทิฎฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง กับ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ผู้เจริญสติเท่านั้นที่สามารถรู้ได้ แต่ไม่ใช่มุ่งหมายว่า ผู้เจริญสติมีความจงใจว่า จะรู้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่หมายความว่า เริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม เมื่อระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ก็ชินกับการที่จะไม่ยึดถือความรู้สึกทุกข์บ้าง สุขบ้าง โสมนัส โทมนัส อุเบกขาว่าเป็นตัวตน เมื่อได้พิจารณารูปอื่นนามอื่นแล้วก็ทำให้รู้ว่า ยังมีอีกมากนักที่ยังไม่รู้ จิตที่มีความต้องการเกิดขึ้น สติก็จะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสราคจิต คือ จิตที่เป็นไปกับโลภะ แต่ไม่ใช่จงใจจะรู้จิตดวงนั้น หรือจิตดวงนี้ แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏ

การยึดการติดในนามในรูปนี้เหนียวแน่นมาก ละคลายยาก เพราะฉะนั้น เวลาที่ระลึกแล้ว ยังอาจจะเกิดความต้องการรู้แทรกขึ้นมาก็ได้ ซึ่งผู้เจริญสติต้องเป็นผู้ที่สำเหนียกด้วยความละเอียดจริงๆ จึงจะละคลายได้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งจนกว่าจะคลายได้จริงๆ สติจะระลึกเป็นไปในกายก็ได้ ในเวทนาก็ได้ ในจิตก็ได้ ในธรรมก็ได้

จิตตานุปัสสนาหมวดที่ ๑ คือ สราคจิต ได้แก่ จิตที่มีราคะ มีความพอใจ ผู้ไม่เจริญสติจะไม่ทราบเลยว่า มีความต้องการมากมายสักเท่าไร โลภมูลจิตตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนกระทั่งถึงหลับลงไป จะมีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจมากสักเท่าไร ผู้ที่หลงลืมสติ ผู้ที่ไม่เจริญสติจะไม่ทราบเลย แต่ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนั้น ตื่นขึ้นมาจะเห็นอะไรบ้าง จะได้ยินอะไรบ้าง จะได้กลิ่นอะไรบ้าง จะลิ้มรสอะไรบ้าง จะสัมผัสกระทบอะไรบ้าง ก็เป็นสิ่งที่มีความต้องการเป็นพื้นเป็นประจำ

ตลอดเวลาที่หลงลืมสติ ขณะใดที่เกิดความต้องการพอใจขึ้นก็เป็นเรา เป็นตัวตน ไม่รู้เลยว่า ในขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

เปิด  366
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566