แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 131

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วหรือหนอ

เพราะเหตุว่าเป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่จะทำให้รู้ขันธ์ ๕ ได้ ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ขันธ์ ๕ ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญสัมมัปธาน ๔ แล้วหรือหนอ

สัมมัปธาน ได้แก่ วิริยะ ซึ่งเกิดร่วมกับสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป เป็นความเพียรชอบ

ไม่ใช่เพียรอย่างอื่น แต่เพียรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นผู้ที่เจริญสัมมัปธาน เจริญความเพียร เจริญวิริยะ ไม่ใช่วิริยะนเรื่องอื่น แต่วิริยะที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญอิทธิบาท ๔ แล้วหรือหนอ

อิทธิบาท ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสะ ซึ่งจะต้องมีในการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าไม่มีฉันทะ ก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญอินทรีย์ ๕ แล้วหรือหนอ

ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญพละ ๕ แล้วหรือหนอ

เป็นการตรวจสอบตัวเองตามความเป็นจริงตลอดเวลา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วหรือหนอ

ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐแล้วหรือหนอ

ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญสมถะและวิปัสสนาแล้วหรือหนอ

ไม่ใช่หมายความว่า ให้ไปเจริญฌาน แต่หมายความว่าในมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง มีทั้งสมถะและวิปัสสนา ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนาม ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของรูป สงบจากอกุศล เพราะเหตุว่าสติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามว่าเป็นนาม ระลึกรู้ลักษณะของรูปว่าเป็นรูป เมื่อเพิ่มมากขึ้น ก็สงบจากกิเลส คือ การรู้ลักษณะของนามของรูปนั้นมากขึ้น

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราทำวิชชาและวิมุตติให้แจ้งแล้วหรือหนอ

ไม่ใช่การหลอกตัวเอง แต่เป็นการพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ได้ถึงมรรคจิต ผลจิต รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้วหรือยัง

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร สารีบุตร ก็สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้ทำบิณฑบาต ให้บริสุทธิ์แล้วในอดีตกาลทั้งหมดนั้น พิจารณาแล้ว พิจารณาแล้วอย่างนี้เทียว จึงทำให้บิณฑบาตให้บริสุทธิ์ได้ สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้จักทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ในอนาคตทั้งหมดนั้น ต้องพิจารณาแล้ว พิจารณาแล้วอย่างนี้เทียว จึงจักทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ได้

ทรงตรัสไว้ก่อนที่จะปรินิพพาน ให้เห็นว่า บุคคลในอดีตได้เจริญอย่างไร แม้ในอนาคตก็จะต้องเจริญเหมือนกันอย่างนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้กำลังทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์อยู่ ในบัดนี้ทั้งหมดนั้น ย่อมพิจารณาแล้ว พิจารณาแล้วอย่างนี้เทียว จึงทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ได้ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงสำเหนียกว่า จักพิจารณาแล้ว จักพิจารณาแล้ว ทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์

ดูกร สารีบุตร พวกเธอพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้แล

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

เหมือนกันทุกสมัย ไม่ใช่ว่าสมัยนี้จะไม่เหมือนกับสมัยก่อน ผู้ที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมจะต้องพิจารณาเหมือนอย่างบุคคลในครั้งอดีตที่ได้พิจารณาแล้ว

เรื่องของจิตมีราคะซึ่งเป็นปกติเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ระลึกได้ ไม่ต้องกั้น แต่เป็นผู้ที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปมากขึ้น เพิ่มขึ้น

ถ. บุคคลเป็นจำนวนมาก เขาซื้อลอตเตอรี่กันทุกเดือน เมื่อถูกลอตเตอรี่เขาก็ย่อมเกิดโสมนัสยินดี มีความพอใจ และอยากจะซื้ออีก เขาบอกว่า ไม่จำเป็นจะต้องไปเจริญสติปัฏฐาน ลอตเตอรี่ถูก เราก็ยินดี พอใจแล้ว รู้แล้วว่าเรายินดี เราพอใจ เช่นนี้จะต้องไปเจริญสติปัฏฐานอะไรกันอีก

สุ. ต้องการตายแล้วเกิดอีกต่อไปเรื่อยๆ จึงจะไม่ต้องเจริญสติปัฏฐานอะไร ก็เป็นเรื่องของบุคคลที่ไม่เห็นภัยในวัฏฏะ

ถ. รู้ว่าอยากได้

สุ. รู้ว่าอยากได้ แต่เป็นตัวตนที่อยากได้ ไม่ใช่รู้ว่าสภาพความยินดีพอใจที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป เพราะเหตุว่ามีนามธรรมอื่นประเภทอื่นต่อไป เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ไม่ใช่มีแต่อกุศลจิตที่จะระลึกรู้ มีจิตอื่นด้วย คือ กุศลจิตก็มี

ถ. แต่เขาพอใจ

สุ. เขาพอใจ เขาก็เกิดอีก เขาก็ตายอีก ก็เรื่องของเขาที่จะเวียนเกิดเวียนตาย เพราะเขายังเต็มไปด้วยอวิชชา

ผู้ที่เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่เพียงรู้ว่ากำลังพอใจ แต่รู้ว่าสภาพที่พอใจนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งต่างกับนามธรรมอื่นๆ เพราะเหตุว่าพอสติระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิต โลภมูลจิตก็ดับ แล้วสติก็ระลึกรู้ลักษณะของจิตประเภทอื่นต่อไป มีนามมีรูปมากมายทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่จะต้องระลึกเพื่อรู้ชัดเพิ่มขึ้น

ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่ทราบว่า ได้รู้ลักษณะของนามอะไรเพิ่มขึ้น มากขึ้น แล้วความสมบูรณ์ของญาณเกิดขึ้นแล้วหรือยัง และผู้นั้นก็รู้ได้ว่า ญาณนั้นเกิดขึ้นเพราะเจริญเหตุอย่างไร ไม่ใช่ว่าไม่เคยเจริญสติเลย แล้วจะมีญาณเกิดขึ้น ซึ่งก่อนจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ญาณก็จะต้องเกิดเป็นลำดับขั้น ถ้าญาณขั้นที่ ๑ ยังไม่เกิด ผู้นั้นจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม

ถ. ผู้ที่ไม่มีความรู้ว่า จิตที่เป็นภาษาบาลีมีทั้งหมดกี่ดวง จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า

สุ. ได้แน่นอน เพราะเหตุว่าการศึกษาเรื่องจิตประเภทต่างๆ ก็เป็นเพียงชื่อ เป็นการศึกษาเรื่องของจิต แต่ยังไม่ใช่การรู้ชัดในลักษณะของจิต

ความรู้ก็มีหลายขั้น ขั้นการฟังศึกษาเรื่องของจิตนี่มาก จิตเป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปมีกี่ประเภท จิตใดเกิดก่อน แล้วจิตใดเกิดต่อ มีปัจจัยอะไรทำให้จิตชนิดนั้นเกิดก่อนจิตชนิดนี้ ก็เป็นผู้ที่แตกฉานในการศึกษาเรื่องของจิต แต่ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของจิตตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ผู้นั้นไม่ได้รู้ลักษณะของจิตโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงรู้ขั้นการศึกษาเท่านั้น

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตที่ต่างกัน แม้ว่าไม่รู้ชื่อ เช่น เวลาที่เกิดความยินดีพอใจ เป็นสภาพของจิตที่เป็นไปกับราคะหรือโลภะ ผู้นั้นระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพของจิตชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรมอาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมอื่นต่อไป ไม่ใช่มีแต่โลภมูลจิต การเห็นเป็นของที่มีจริง ระลึกรู้ลักษณะของการเห็น ชื่อว่าเป็นการระลึกรู้ลักษณะของจิต เพราะเหตุว่ารู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ว่า สิ่งที่เป็นสภาพรู้นั้นไม่ใช่รูป ไม่ใช่ไปจดจ้องอยู่ที่กลางจักขุปสาทเพื่อให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของจิต นั่นไม่ใช่วิธีที่จะรู้ลักษณะของจิต นั่นไม่ใช่วิธีที่จะทำให้ปัญญาสมบูรณ์ขึ้นจนกระทั่งละคลาย แล้วก็รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมถูกต้อง โดยการที่ได้ศึกษา ได้ฟังธรรม ไม่ใช่ว่าไม่ได้ยินได้ฟังเลย ได้ยินได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เมื่อเข้าใจถูกต้องก็ทราบว่า เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ จะมีลักษณะที่ต่างกัน คือลักษณะหนึ่งเป็นสภาพรู้ อีกลักษณะหนึ่งไม่ใช่สภาพรู้ อย่างตานี่ทุกคนก็มี แล้วก็เห็นทุกวัน สิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตาก็มีปรากฏทุกวันๆ เหมือนกัน ไม่ใช่ลักษณะเดียวกัน สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏ แต่สภาพรู้ที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นก็อีกลักษณะหนึ่ง

เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ถ้าฟังแล้วพิจารณาอย่างแยบคาย และเทียบเคียงธรรมให้เข้าใจถูกต้อง สติก็สามารถระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมได้ถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานรู้ว่าสภาพธรรมทุกอย่างต่างกันเป็นประเภท คือ เป็นนามธรรมประเภทหนึ่ง เป็นรูปธรรมประเภทหนึ่ง ไม่มีผู้ใดคัดค้านใช่ไหม

ประโยชน์ของสติ เพื่อระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะถ้าระลึกรู้ลักษณะจะไม่มีความเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมแต่ละลักษณะก็ต่างกันเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างกัน ปรากฏแล้วก็หมดไป

ถ. เวลาที่ผมเริ่มเจริญสติปัฏฐาน ตาไปกระทบสี แล้วเกิดความรู้สึกว่า เห็นสีปรากฏขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วเกิดเป็นความรู้สภาพรู้ว่า เห็นแล้วก็ดับไป และมีสภาพความอยากรู้อยากเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นอะไรเกิดขึ้นแล้วดับไป แบบนี้จะเรียกว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐานไหม

สุ. ยังไม่อยากเรียกว่า ได้เจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าระลึกอย่างไรจึงรู้ว่าสีมากระทบตา แล้วมีการเห็นเกิดขึ้น

ถ. ก็สีกระทบ

สุ. ระลึกอย่างไรจึงว่า สีกระทบแล้ว

ถ. ก็มีสภาพรู้

สุ. เดี๋ยวนี้สภาพรู้มีใช่ไหม สภาพกระทบเมื่อสักครู่นี้มีด้วยหรือที่จะให้เกิดความรู้ คือ รู้ถึงลักษณะที่กระทบกันด้วยหรือ

ถ. รู้ว่าเป็นสภาพรู้

สุ. เพราะฉะนั้น ต้องมีเหตุผลด้วยที่รู้ว่าเป็นคนละสภาพกัน ที่รู้จริงๆ เพราะระลึกอย่างไร แต่ไม่ใช่เพราะระลึกว่า สีมากระทบตาก่อน

ถ. รู้ว่าสภาพของจริงกำลังปรากฏทางตา ทางหู

สุ. ทีละทาง ทางตาก็ได้ ที่จะรู้ว่าสีไม่ใช่การเห็นนั้นระลึกอย่างไร แต่ไม่ใช่โดยลักษณะที่ว่า เพราะสีมากระทบตา

ถ. ปรากฏอยู่ แต่สภาพรู้นั้น

สุ. และที่ว่าอะไรเกิดก่อน รู้ได้อย่างไร

ถ. กำหนดหมาย

สุ. กำหนดหมายว่าสีเกิดก่อนอย่างไร

ถ. เพราะสีที่เห็นมากระทบตา

สุ. นั่นไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสี หรือไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของเห็น แต่เป็นการคิดนึก

ถ้าระลึกรู้ว่า สภาพที่คิดนึกในขณะนั้นเป็นนามธรรม ก็ไม่ใช่รู้ลักษณะของสี ไม่ใช่ระลึกรู้ลักษณะของเห็น รวดเร็วมาก ต้องทีละอย่าง แล้วก็ชัด และถูกต้องด้วย ไม่ใช่ปนกัน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่ใช่รู้ว่า สีเกิดก่อน แล้วมากระทบตา แล้วจักขุวิญญาณเกิดทีหลัง จึงเป็นลักษณะที่ต่างกัน ไม่ใช่อย่างนั้น

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. จิตหนึ่งขณะนี้เร็วสักเท่าไรประมาณไม่ได้เลย เพราะขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ก็เหมือนกับมีเห็นด้วย มีได้ยินด้วย ดูเหมือนพร้อมกันทันที แต่ตามความเป็นจริงแล้ว จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะแล้วดับไป แต่ทำให้ปรากฏเหมือนกับว่าไม่เกิดดับเลย ก็เพราะเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก

นี่เป็นเหตุที่ทำให้เรายึดโลกว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ได้กระจัดกระจายแยกรู้ลักษณะของนามแต่ละชนิด รูปแต่ละชนิดว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเพียงเกิดดับสืบต่อกันเท่านั้นเอง

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ระลึกรู้ลักษณะของนามแต่ละชนิด ไม่ปนกัน ระลึกรู้ลักษณะของรูปแต่ละชนิด ไม่ปนกัน จึงจะประจักษ์ว่าไม่ใช่ตัวตน เมื่อละคลายมากขึ้น รู้สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันตามปกติมากเท่าไร คลายมากเท่าไร ก็จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ไม่มีอะไรบังไว้

ถ. รู้เอง

สุ. อาศัยการเจริญสติ แล้วปัญญาก็เกิดพร้อมกับสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นการเจริญปัญญา ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่ด้วยสมาธิ แต่เป็นปัญญาที่รู้ชัด ชื่อว่าวิปัสสนาญาณ อาศัยการเจริญสติแล้วรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ชัดขึ้น ทั่วขึ้น

. รู้อย่างไร เร็วเหลือเกิน จับไม่ได้สักที

สุ. อยากจะประจักษ์การเกิดดับของนามรูปใช่ไหม

ถ. ใช่ครับ

สุ. โดยที่ไม่เจริญสติหรือ

ถ. มีสติสักแค่ไหน

สุ. ไม่ใช่สติแค่ไหน แต่หมายความว่า ปัญญารู้ชัดเพิ่มขึ้นโดยที่สติระลึกรู้ลักษณะของนาม ปัญญาก็รู้ว่าเป็นนาม

ถ. เป็นธรรมชาติคนละอย่าง

สุ. ธรรมชาติคนละอย่าง แต่อาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนาม ปัญญาจะรู้ว่าเป็นนามไม่ได้ ถ้าไม่เจริญสติ จะรู้ไม่ได้เลย

การเจริญสติจริงๆ นั้น ต้องพิจารณาแล้วก็เทียบเคียงเสมอ ถ้าท่านเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามทางหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามทางอื่น เป็นต้นว่า ถ้าท่านเริ่มระลึกรู้ลักษณะของได้ยินว่า เป็นสภาพรู้ทางหู แต่ว่าทางตายังไม่ได้เริ่มระลึกรู้เลย ท่านเองจะต้องเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมเทียบเคียงธรรมว่า ทางหูขณะที่กำลังได้ยิน เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ทางตาที่กำลังเห็น สภาพรู้ก็คือการเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้นั่นเอง เทียบเคียงกับทางอื่น แล้วท่านก็สามารถจะระลึกได้ว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

หรือว่า ทางกายก็เหมือนกัน บางท่านเวลาที่ระลึกรู้รูปเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวทางกาย ท่านบอกว่าไม่ได้รู้นามทางกายเลย เวลาที่ระลึกรู้ที่กายทีไรก็ระลึกรู้แต่ลักษณะของรูปที่อ่อนบ้าง ที่แข็งบ้าง ที่เย็นบ้าง ที่ร้อนบ้างเท่านั้นเอง ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามที่รู้เย็น ที่รู้ร้อน ที่รู้อ่อน ที่รู้แข็ง ที่รู้ตึง ที่รู้ไหว ความไม่รู้มีมาก ความสงสัยในลักษณะของนามของรูปมีมาก การที่จะยึดถือนามรูปนั้นก็ยังอีกมากมายนักที่สติจะต้องระลึกรู้โดยที่ข้ามไม่ได้

เพราะฉะนั้น เวลาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสราคจิต คือ โลภมูลจิต จะเห็นว่าตรงกับที่ได้ทรงแสดงไว้โดยขั้นของปริยัติ เพราะเหตุว่าตลอดเวลาในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ตื่นนอน ถ้าไม่ใช่เป็นไปในกุศล ก็จะต้องมีสราคจิต โลภมูลจิตเกิดมาก เกิดบ่อย แล้วก็มีอกุศลจิตประเภทอื่นเกิดด้วย แต่ทำไมสติไม่ค่อยจะระลึกถึงลักษณะของความต้องการ หรือจิตที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กายไหวไปกระทำสิ่งนั้นบ้าง กระทำสิ่งนี้บ้าง

ระลึกยากใช่ไหม เคยระลึกบ้างไหม เพราะฉะนั้น ที่จะระลึกได้ว่า ถึงแม้สภาพนี้เป็นอกุศลจิต แต่เป็นอกุศลจิตชนิดหนึ่งซึ่งเกิดเพราะมีความต้องการเกิดร่วมด้วย

เพราะฉะนั้น วิธีที่จะระลึกรู้ขั้นต้น เวลาปกติธรรมดาในวันหนึ่งๆ ก็มีอกุศลมากมาย เช่น โลภมูลจิตก็มี โทสมูลจิตก็มี โมหมูลจิตก็มี ผู้ที่เจริญสติจะทราบได้อย่างไรว่า ขณะนั้นจิตกำลังเป็นสภาพของสราคจิตหรือโลภมูลจิต หรือเป็นสภาพของโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต แต่เวลาที่เป็นสราคจิตที่จะรู้ได้ จะสังเกตได้จากเวทนา คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

เวลาที่เห็นก็ตาม ได้ยินก็ตาม เกิดความปีติ ความโสมนัส ความดีใจ ความชอบมาก ขณะนั้นก็เป็นโสมนัสสสหคตัง เป็นโลภมูลจิต

ในเรื่องของเวทนานุปัสสนา เคยได้กล่าวถึงแล้วว่า เวลาที่สุขเวทนาเกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้ว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน แต่นั่นเป็นเรื่องเวทนา ไม่ใช่เรื่องจิต

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิต เวลาเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เวลาไปซื้อของ แล้วก็เกิดความชอบ ความพอใจอย่างยิ่ง ในขณะนั้นเป็นสราคจิต ระลึกรู้ได้ หรือเวลาที่รับประทานอาหาร เกิดความรู้สึกว่าอร่อย แล้วก็ชอบมากเกิดขึ้น ในขณะนั้นสติก็ระลึกรู้ได้ว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของสราคจิต หรือโลภมูลจิตนั่นเอง เป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่ผู้ที่เจริญสติจะต้องละเอียดขึ้น เริ่มระลึกรู้ลักษณะของจิตจริงๆ ของนาม ของรูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ

เปิด  369
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565