แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 135

สำหรับพยัญชนะที่อ้าง คือ ทิฏฺฐํ โสตํ มุตฺตํ และ วิญญาตํ นั้น

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เหมกมาณวกปัญหานิทเทส มีข้อความเรื่อง ทิฏฺฐํ โสตํ มุตฺตํ วิญฺญาตํ ดังนี้

คำว่า ทิฏฺฐํ ความว่า ที่ได้เห็นด้วยจักษุคำว่า

โสตํ ความว่า ที่ได้ยินด้วยหู

คำว่า มุตฺตํ ความว่า ที่ทราบ คือ ที่สูดด้วยจมูก ลิ้มด้วยลิ้น ถูกต้องด้วยกาย

คำว่า วิญฺญาตํ คือ ที่รู้ด้วยใจ

ทั้งหมดนี้ทรงแสดงอารมณ์ที่ปรากฏทั้ง ๖ ทวาร

สำหรับสีที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นอารมณ์ของการเห็นนั้นใช้คำว่า ทิฏฺฐํ ความว่า ที่ได้เห็นด้วยจักษุ หมายความถึงอารมณ์ที่เห็นด้วยจักษุ ส่วนคำว่า โสตํ ก็ได้แก่เสียงที่รู้ได้ทางหู

คำว่า โสตํ ความว่า ที่ได้ยินด้วยหู หมายความถึงอารมณ์ที่ได้ยินด้วยหู

ส่วนคำว่า มุตฺตํ ความว่า ที่ทราบ คือ ที่สูดด้วยจมูก ลิ้มด้วยลิ้น ถูกต้องด้วยกาย คือ เป็นอารมณ์ทางจมูก คือ กลิ่น อารมณ์ที่รู้ได้ทางลิ้น คือ รส อารมณ์ที่รู้ทางกาย คือ โผฏฐัพพะ

ส่วนคำว่า วิญฺญาตํนั้น คือ อารมณ์ที่รู้ด้วยใจ

เพราะฉะนั้น เป็นอารมณ์ทั้ง ๖ ทวาร แต่ทรงจำแนกตามลักษณะหรือประเภทของอารมณ์นั้น เช่น ทางตาเป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ เป็นทิฏฐํ เสียงก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู เป็นโสตํ ส่วนมุตฺตํนั้น คือ ที่สูดด้วยจมูก ที่ลิ้มด้วยลิ้น ที่กระทบสัมผัสด้วยกาย เพราะเหตุว่าอารมณ์ทั้ง ๓ อารมณ์นี้ เวลาที่กระทบปรากฏนั้น จะต้องกระทบสัมผัสถูกต้องสรีระจริงๆ สำหรับสีเป็นแต่เพียงที่ปรากฏทางตาให้เห็นเท่านั้น แล้วเสียงก็เป็นแต่เพียงอารมณ์ที่ปรากฏทางหูให้ได้ยิน แต่ว่ากลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเป็นมุตฺตํ เพราะเหตุว่าต้องกระทบ ต้องเข้ามาชิดติดกับอายตนะ คือ จมูก ลิ้น กายจริงๆ

แต่ไม่ได้ทรงแสดงไว้ว่า ในการเจริญสติปัฏฐานนั้น ทางตาให้ระลึกรู้แต่เห็นไม่ให้รู้สี หรือว่าทางหูให้ระลึกรู้แต่ได้ยินไม่ให้ระลึกรู้เสียง หรือว่าทางจมูกไม่ได้ทรงแสดงไว้ว่า ให้รู้แต่กลิ่น ทางลิ้นก็ไม่มีพยัญชนะใดในพระไตรปิฎกที่ทรงแสดงไว้ว่า ให้รู้แต่รสไม่ให้รู้นามธรรมที่รู้รส ทางกายก็ไม่มีพยัญชนะใดที่ทรงแสดงไว้ว่า ให้รู้โผฏฐัพพะแต่ไม่ให้รู้นามธรรมที่รู้โผฏฐัพพะ

ทิฏฺฐํ ก็ดี โสตํ ก็ดี มุตฺตํ ก็ดี วิญฺญาตํ ก็ดี เป็นการจำแนกอารมณ์ทั้ง ๖ ว่าอารมณ์ประเภทใดเป็นทิฏฺฐํ อารมณ์ประเภทใดเป็นโสตํ ประเภทใดเป็นมุตฺตํ ประเภทใดเป็นวิญฺญาตํ เทียบเคียงได้กับมหาสติปัฏฐาน อย่างจิตตานุปัสสนาประการต่อไปก็จะถึงจิตประเภทต่างๆ

ถ. สรุปได้ว่า ทิฏฺฐํ โสตํ มุตฺตํ หรือวิญฺญาตํ เป็นการจำแนกอารมณ์ซึ่งเป็นรูปและเป็นนามเท่านั้นเอง ไม่ใช่จะต้องกำหนดว่า โสตํ ให้รู้ทางหูโดยเฉพาะ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น แต่พยัญชนะที่ว่า ทิฏฺฐํ โสตํ มุตฺตํ วิญฺญาตํนี้จะมีความหมายว่าเป็นตัวรู้ไปจะได้หรือไม่

สุ. ดิฉันได้กราบเรียนถามพระคุณเจ้าที่มีความรู้ทางภาษาบาลี ท่านก็ กล่าวว่า ทิฏฺฐํ ได้แก่ รูปารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยตา โสตํ ได้แก่ สัททารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยหู มุตฺตํ ได้แก่ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย

ดิฉันได้กราบเรียบถามท่าน ย้ำแล้วย้ำอีกหลายครั้ง แต่พยัญชนะก็แสดงว่า หมายความถึงอารมณ์

การที่จะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้ ผู้นั้นจะต้องเจริญข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูก และทิ้งข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดจึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถ้ายังมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดหลงเหลืออยู่ไม่ทิ้งไป ก็หมดโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าขณะนี้สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏเลย จะมีข้อประพฤติปฏิบัติอื่นใดที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

ท่านที่มีความโกรธแรงกล้า สติอาจจะเกิดขึ้นระลึกนิดเดียว แต่เพราะโทสะมีกำลังแรง ก็เป็นปัจจัยให้เกิดต่อไปอีกถ้าสติไม่ระลึกรู้ในขณะนั้น แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติบ่อยๆ เนืองๆ วันหนึ่งปัญญาของท่านก็จะต้องระลึกรู้ แล้วละสิ่งที่ท่านเคยระลึกตอนที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง ซึ่งอารมณ์ก็ไม่ผิดแปลกไปจากขณะปกติธรรมดาที่สติเริ่มเกิดเลย แต่ปัญญารู้ชัดขึ้น แล้วก็ละได้

ถ. ให้เรารู้ว่า ... (ไม่ได้ยิน)

สุ. ให้รู้ถูก แล้วก็ให้รู้ชัด แล้วก็ให้รู้แจ้ง ไม่ใช่เพียงรู้ขั้นการศึกษา ขั้นการศึกษาฟังขณะนี้เข้าใจแล้วว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไป เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี่เป็นความรู้ขั้นปริยัติ แต่ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของสังขารธรรมแต่ละชนิด

ถ. คำว่ารู้แจ้ง

สุ. รู้ถึงลักษณะ แล้วก็ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป อย่างเวลานี้ถ้าสติจะระลึกรู้ที่เย็น เย็นนั้นก็หมดไป แต่ยังไม่ได้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนั้นจริงๆ และของนามที่รู้รูปนั้นเลย เพราะเหตุว่าสติยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปจนทั่ว จนละ จนคลาย แล้วถึงจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปได้

ถ้าเพียงแต่ไปนั่งจ้องที่จะให้ประจักษ์ความดับไปของสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของนามของรูปอื่นๆ จนทั่ว ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ประจักษ์การเกิดดับของนามและรูป

มีธรรมปรากฏทุกวัน ทางตาก็มีของจริงที่ปรากฏ ทางหูก็มี ทางจมูกก็มี ทางลิ้นก็มี ทางกายก็มี ทางใจก็มี จะประจักษ์ได้ก็ต่อเมื่อรู้ทั่วในลักษณะของนามและรูปจนชิน และละคลาย ปัญญาคมกล้า ก็จะสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมของรูปธรรมได้จริงๆ

เพราะฉะนั้น ท่านที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องทราบลักษณะของสีลัพพตปรามาสกายคันถะด้วย

ถ. อาจารย์พูดก็ถูก ผมฟังก็ถูก

สุ. สภาพธรรมไม่ได้เป็นของใครเลย สภาพธรรมเป็นความจริง อกุศลธรรมก็เป็นอกุศลธรรม กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม ทิฏฐิก็มีความเห็นผิดเป็นลักษณะที่ทำให้เข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติผิดไป อวิชชาเป็นสภาพที่ไม่รู้ที่ทำให้ปิดกั้นไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็ศึกษาพิจารณาเหตุผลว่า การประพฤติอย่างไร การเจริญอย่างไรจึงจะทำให้ปัญญาเจริญแล้วก็รู้มากขึ้น รู้ทั่วขึ้น รู้ชัดขึ้น หรือติดข้องอยู่ในข้อประพฤติปฏิบัติอย่างไร ทำให้ไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปรากฏเป็นปกติตามความเป็นจริงได้

อย่างท่านที่เข้าใจว่าจะต้องเข้าวิปัสสนา เป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะไหม สีลัพพตปรามาสกายคันถะ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ ความเห็นผิดก็ขยายกระจายออกไปถึงในการประพฤติปฏิบัติด้วย เพราะว่าไม่ทำให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตามปกติ

คันถะที่ ๔ คือ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ได้แก่ ความเห็นผิดทั้งหมดที่เว้นจากสีลัพพตปรามาสกายคันถะ

ท่านมีความเห็นถูกในข้อประพฤติปฏิบัติ แต่ยังไม่หมดความเห็นผิดจนกว่าจะเป็นพระโสดาบันบุคคล ผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว สามารถที่จะละกายคันถะได้ในข้อหรือในฐานะที่เป็นความเห็นผิด คือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะก็ละได้ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะก็ละได้ เพราะเหตุว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว จะไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย

เรื่องของสีลัพพตปรามาสกายคันถะมีมากทีเดียว แม้ว่าท่านจะมีความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติแล้ว แต่กิเลสอกุศลธรรมที่ได้สะสมมาก็ยังมีกำลังพอที่จะชักพาท่านให้ไขว้เขว ให้คลาดเคลื่อนไปทีละเล็กทีละน้อยได้

ถ. บางครั้งขณะที่เรากำลังระลึกรู้บ่อยๆ จะเบื่อ

สุ. เบื่อไม่อยากเจริญสติ หรือเบื่ออะไร

ถ. เบื่อในอารมณ์

สุ. เบื่อในอารมณ์ อารมณ์อะไรที่น่าเบื่อ สีที่กำลังปรากฏนี้น่าเบื่อหรือยัง เสียงที่กำลังได้ยินนี้น่าเบื่อหรือยัง กลิ่นที่กำลังปรากฏทุกวันเป็นปกติธรรมดาๆ น่าเบื่อหรือยัง รสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ร้อนต่างๆ นั้นน่าเบื่อหรือยัง เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่กำลังกระทบสัมผัสน่าเบื่อหรือยัง

เหตุต้องสมควรแก่ผล หรือว่าผลที่จะเกิดขึ้นต้องสมควรแก่เหตุ ดังนั้นเบื่ออะไร นึกเบื่อ อย่าเพิ่งรีบเบื่อ หรือว่าเบื่อจริงๆ ก็ต้องบอกให้ถูกว่าเบื่ออะไร

ถ. ถ้าเราเห็นสี เราพิจารณาตลอด ...

สุ. แต่ไม่ใช่ความรู้ชัดที่จะเป็นความเบื่อที่รู้จริง ความเบื่อที่แท้จริงเป็นญาณที่เกิดต่อกันไปเป็นขั้นๆ จนถึงขั้นที่เบื่อด้วยปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามและรูป

แต่นี่เป็นการนึกเบื่อ คิดเบื่อ อย่าเพิ่งเบื่อเลย เพราะเบื่อนี่หมายความว่าต้องรู้ชัดในลักษณะของนามและรูป และความรู้ชัดที่เป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ขั้นการศึกษา ไม่ใช่ขั้นคิด แต่เป็นขั้นที่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นนามธรรม ลักษณะที่เป็นรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วก็สำเหนียก ให้ปัญญารู้ชัดเพิ่มขึ้น ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่า เจริญอย่างไรปัญญาจึงจะเพิ่มขึ้น หรือว่าข้อปฏิบัติอย่างไร ปัญญาไม่สามารถจะเจริญอีกต่อไปได้

ยังไม่ทันไรจะเบื่อเสียแล้ว โดยที่ปัญญายังไม่ทันรู้ลักษณะของนามและรูป ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ต้องสำเหนียก ระวังอย่าให้มีความเห็นผิดเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะในข้อประพฤติปฏิบัติที่จะผูกท่านไว้กับความเห็นผิด และในชาติต่อๆ ไปก็ไม่แน่ว่า ท่านจะมีความเห็นผิดเหมือนอย่างในชาตินี้อยู่หรือไม่ คือ ไม่เจริญปัญญา

กว่าปัญญาจะประจักษ์แน่นอนมั่นคงว่า ไม่มีอะไรเลยที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉทนอกจากสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น แม้ว่าในขณะนั้นจะระลึกแต่ยังไม่รู้ชัด แต่การระลึกบ่อยๆ เพื่อวันหนึ่งปัญญาจะได้รู้ชัด ถ้าไม่ระลึกขณะนิดขณะหน่อย ปัญญาก็รู้ชัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขอให้สติระลึกลักษณะของนามและรูป แม้แต่เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ

ในคันถะ ๔ ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ ๑ พยาปาทกายคันถะ ๑ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ๑ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ๑ คันถะนี้คือเครื่องผูกไว้ไม่ให้หลุดไป โดยสภาพของเจตสิก ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑

ในเรื่องของอาสวะก็ดี โอฆะก็ดี โยคะก็ดี อกุศลธรรมที่เป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะ ได้แก่ โลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก โมหเจตสิก แต่พอถึงคันถะ ๔ โลภะก็ยังคงเป็นคันถะ ทิฏฐิก็ยังคงเป็นคันถะ แต่อวิชาไม่เป็นคันถะแล้ว เพิ่มอีกคันถะหนึ่ง คือ โทสะ ได้แก่ พยาปาทกายคันถะ ซึ่งสภาพธรรมที่ได้ทรงจำแนกไว้เป็นประเภทก็ต้องเป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เป็นต้นว่า อภิชฌากายคันถะที่เป็นเครื่องผูก ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในอารมณ์ทั้งปวง ในวงศาคณาญาติ ในพวกพ้อง ในเพื่อนฝูง ในมิตรสหาย เป็นเครื่องผูกประการหนึ่ง

บางท่านไม่มีความเห็นผิดอย่างพวกพ้องเพื่อนฝูงมิตรสหาย แต่ก็ไม่สามารถไปสู่ข้อปฏิบัติที่ถูกได้ เพราะมีความคลุกคลี เป็นพวกพ้อง เป็นเพื่อนฝูงกับหมู่คณะนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหมว่า ความใกล้ชิด ความคลุกคลีกับหมู่คณะ กับพวกพ้อง ถึงแม้ว่าความเห็นของท่านไม่เหมือนกับหมู่คณะพวกพ้องก็จริง แต่กระนั้นความคลุกคลี ความสนิทสนม การงานที่ต้องประกอบร่วมกันก็อาจจะเป็นเครื่องผูกอันหนึ่งที่ทำให้ท่านไม่ไปสู่ข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกได้ เป็นไปได้ไหม

ท่านที่เห็นแก่บุคคล ไม่ได้เห็นแก่ธรรม เป็นอภิชฌากายคันถะที่จะผูกไว้กับหมู่คณะหรือพวกพ้อง อภิชฌากายคันถะก็เป็นเครื่องผูกอันหนึ่ง โลภเจตสิกมีกิจทางฝ่ายอกุศลครบถ้วนทุกประการทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นอาสวะ ไม่ว่าจะเป็นโอฆะ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ไม่ว่าจะเป็นคันถะ

สำหรับคันถะต่อไป คือ คันถะประการที่ ๒ ได้แก่ พยาปาทกายคันถะ ความขุ่นเคืองใจในสิ่งที่บุคคลอื่นได้กระทำความเสื่อมเสียกับตน เป็นเครื่องกั้นอันหนึ่งได้ ความขุ่นเคืองใจที่บุคคลอื่นทำความเจริญให้กับบุคคลผู้ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นเครื่องกั้นอันหนึ่งได้ ทั้งที่ทำแล้ว กำลังทำ หรือรู้ว่าจะทำ หรือคิดว่าจะทำ ก็เป็นเหตุที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ แสดงให้เห็นว่า เครื่องผูก เครื่องกั้น มีทั้งโลภเจตสิก และโทสเจตสิก

สำหรับเครื่องผูกประการที่สำคัญอีก ๒ ประการ คือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ได้แก่ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ หรือว่าผิดจากมรรคมีองค์ ๘ กับอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะในข้อที่เป็นเครื่องผูก

ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด แยกออกเป็น ๒ เป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ ๑ และอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะอีก ๑ ผู้ที่จะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้ คือพระโสดาบันบุคคล และอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่จะละได้ คือพระโสดาบันบุคคล

จะเห็นได้ว่า กายคันถะมีโลภเจตสิกเป็นเครื่องผูกไว้ประการหนึ่ง มีโทส เจตสิกเป็นเครื่องผูกไว้ประการหนึ่ง มีทิฏฐิที่เป็นเครื่องผูกไว้ทั้งในข้อปฏิบัติที่เป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะและอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ คือ ความเห็นผิดอื่นที่นอกจากสีลัพพตปรามาสกายคันถะ

ท่านผู้ฟังคงสงสัยว่า ทำไมโมหะซึ่งเป็นอวิชชา เป็นโอฆะ เป็นโยคะ แต่ไม่เป็นคันถะ ความเห็นผิด ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ความไม่รู้ ได้แก่ โมหเจตสิก เพราะฉะนั้น อวิชชาหรือโมหะนั้นไม่เป็นเครื่องผูกไว้ เพราะเหตุว่าท่านสามารถจะศึกษา พิจารณา มนสิการให้เกิดความเข้าใจถูกในข้อประพฤติปฏิบัติ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติถูกได้

ต่อไปเป็นอกุศลธรรมที่ได้แก่ โลภเจตสิกกับทิฏฐิเจตสิก คือ อุปาทาน ๔ ได้แก่ กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑

สำหรับโลภเจตสิก ได้แก่ กามุปาทาน ๑ แต่ทิฏฐิเจตสิกนั้น ได้แก่ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑

ทิฏฐุปาทาน ได้แก่ ความเห็นผิด บาปบุญไม่มี แล้วก็ความเห็นผิดประการอื่นๆ ต่อๆ ไปทั้งหมด

สีลัพพตุปาทาน เวลาที่เข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติคลาดเคลื่อนเป็นกายคันถะแล้ว ผูกไว้แล้วไม่ให้หลุดไปง่ายๆ แล้วท่านยังยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นทีเดียวในข้อปฏิบัติผิดเป็นสีลัพพตุปาทาน ถ่ายถอนลำบาก เพราะเหตุว่ามีความยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นทีเดียว

และยังมี อัตตวาทุปาทาน ซึ่งได้แก่สักกายทิฏฐิ การเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดทั้งหมดมาจากอัตตวาทุปาทาน ซึ่งได้แก่ สักกายทิฏฐิ

นี่เป็นเรื่องของอุปาทาน ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ ดวง ทิฏฐิเจตสิก ๑ ดวง

มีอกุศลเจตสิกถึง ๑๔ ดวง แต่เจตสิกซึ่งเป็นโลภะและทิฏฐิทำกิจของอกุศลธรรมมากกว่าอกุศลเจตสิกดวงอื่นๆ

เปิด  328
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566