แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 150

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์ และ สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็น อรรถกถาพระวินัยปิฎก มีข้อความว่า

ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติปฐมปาราชิก เมื่อ ๒๐ พระพรรษานั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงบัญญัติกองอาบัติเล็กน้อย ในเพราะเรื่องอันเป็นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบทนั้นๆ

ข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์ มีว่า

ก่อนเสด็จไปสู่พระนครเวสาลี อันเป็นต้นเรื่องของปฐมปาราชิกนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็ได้จำพรรษาอยู่ในเมืองเวรัญชา ตามคำอาราธนาของเวรัญชพราหมณ์ผู้ซึ่งได้ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ณ พระพุทธสำนัก แล้วก็ได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยประการต่างๆ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสแก้คำกล่าวตู่ของเวรัญชพราหมณ์ จนกระทั่งเวรัญชพราหมณ์หายข้องใจแล้ว เวรัญชพราหมณ์ก็ได้ทูลคำนี้แก่ พระผู้มีพระภาคว่า

ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจะเห็นรูป ดังนี้ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ จงทรงรับอาราธนา อยู่จำพรรษาที่เมืองเวรัญชาของข้าพเจ้าเถิด

พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณีย์ ครั้นเวรัญช พราหมณ์นั้นทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ หลีกไป

ข้อความต่อไปในพระวินัยปิฎกมีว่า

ก็โดยสมัยนั้นแล เมืองเวรัญชามีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย

ครั้งนั้น พวกพ่อค้าม้าชาวอุตตราปถะ มีม้าประมาณ ๕๐๐ ตัว ได้เข้าพักแรมตลอดฤดูฝนในเมืองเวรัญชา พวกเขาได้ตกแต่งข้าวแดงสำหรับภิกษุรูปละแล่งไว้ที่คอกม้า เวลาเช้าภิกษุทั้งหลายครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตร จีวร เข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวรัญชา เมื่อไม่ได้บิณฑบาต จึงเที่ยวไปบิณฑบาตที่คอกม้า รับข้าวแดงรูปละแล่งนำไปสู่อาราม แล้วลงครกโขลก ฉัน ส่วนท่านพระอานนท์บดข้าวแดงแล่งหนึ่งที่ศิลา แล้วน้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้นอยู่ ได้ทรงสดับเสียงครกแล้ว

ที่กล่าวถึงตอนนี้เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาสภาพของชีวิตจริงๆ การเจริญสติปัฏฐานในครั้งโน้น เจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏแก่ตนตามความเป็นจริง ชีวิตของพระภิกษุในครั้งนั้นลำบากไหม ชีวิตของฆราวาสในสมัยนี้ และในสมัย ต่อๆ ไปข้างหน้าจะลำบากถึงแค่นี้ได้ไหม

ไม่มีใครสามารถที่จะทราบว่า พรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น วันนี้เป็นคนที่แข็งแรง มีข้าวปลาอาหารที่สมบูรณ์ มีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่พรุ่งนี้อาจจะไม่มีอะไรเหลือเลยก็ได้ อาจจะต้องประสบกับชีวิตที่ยากแค้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะต้องเป็นผู้ที่เจริญสติรู้รูปนามที่ปรากฏกับตน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่หลีกเลี่ยงว่า ตอนนี้ทุกข์ยากนัก ลำบากนัก ต้องไปขวนขวายแสวงหาทรัพย์ แสวงหาอาหารมาให้สมบูรณ์ดีเสียก่อน ใครจะเจริญสติปัฏฐานได้ทั้งๆ ที่กำลังหิว หรือใครจะเจริญสติปัฏฐานได้ทั้งๆ ที่กำลังบริโภคข้าวแดง บางคนอาจจะคิดอย่างนั้น โน่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ขณะนั้นก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ขณะนี้ก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้

ชีวิตจริงๆ ของท่านเป็นอย่างไร มีกรรมที่ได้ทำไว้ในอดีตที่จะทำให้มีวิบากได้ประสบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์อย่างไรในวันไหน ก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ขอให้ดูชีวิตของบรรพชิต ท่านไม่ได้เข้าไปอยู่ในห้องเล็กๆ ไม่ได้ทำอะไรแล้วจึงจะเจริญสติปัฏฐาน ท่านไปบิณฑบาต

พยัญชนะในพระไตรปิฎกอาจจะทำให้บางท่านเข้าใจคลาดเคลื่อน ผิวเผินผิดไป เช่น พยัญชนะที่ว่า เวลาเช้าภิกษุทั้งหลายครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวรัญชา

บางท่านติดพยัญชนะเสียอีกแล้ว คิดว่า ท่านครองอันตรวาสก คือ นุ่งสบงแล้วก็ถือบาตร ถือจีวร เข้าไปบิณฑบาต แต่ความหมาย คือ ภิกษุทั้งหลายครองอันตรวาสก คือ นุ่งสบงแล้ว ถือบาตรและจีวร บาตรที่จะถือ ก็ถือด้วยมือทั้งสอง แต่จีวรนั้นก็คล้อง คือ ห่มจีวร ซึ่งจะถือเอาจีวรด้วยอาการใดที่ควร ครองจีวรแล้วก็ชื่อว่า ถือเอาจีวรนั่นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านถือบาตร แล้วก็ถือจีวร ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็ผิด

และสำหรับชีวิตจริงๆ ในเมืองเวรัญชานั้นเกิดทุพภิกขภัย ไม่ได้บิณฑบาตจึงเที่ยวไปบิณฑบาตที่คอกม้า รับข้าวแดงรูปละแล่งนำไปสู่อาราม แล้วลงครกโขลก ฉัน

นี่เป็นชีวิตจริงๆ แม้ของบรรพชิต ไม่ใช่ว่าห้ามทำอะไร ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็ผิด เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมวินัยทั้ง ๓ ปิฎก ถ้าท่านยิ่งศึกษามาก และท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านก็จะทราบถึงความสอดคล้องของทั้ง ๓ ปิฎก ถึงการที่จะต้องเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าแม้บรรพชิตก็ยังต้องกระทำกิจเช่นนั้น

ข้อความใน ปฐมสมันตปาสาทิกา ภาค ๑ มีว่า

เหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงเข้าจำพรรษาในบรรดาพระนครแห่งใดแห่งหนึ่ง มีนครจำปา สาวัตถี และราชคฤห์ เป็นต้น

คงจะเกิดข้อสงสัยขึ้นว่า พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงทราบหรือว่า เมือง เวรัญชานั้นเกิดทุพภิกขภัย เมื่อทรงทราบแล้ว เหตุไฉนจึงทรงจำพรรษาอยู่ที่เมืองเวรัญชา เพราะเหตุว่าพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้นจะต้องมีชีวิตที่ลำบากในเรื่องของภัตตาหาร

ข้อความในสมันตปาสาทิกา แก้ว่า

พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นี้เป็นอย่างดีว่า พวกพ่อค้าม้าจักทำการสงเคราะห์ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงทรงเข้าจำพรรษาในเมือง เวรัญชานั่นแล ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้อาหารที่หุงต้มแล้ว ได้แต่เฉพาะข้าวแดงแล่งหนึ่ง แล้วผู้ที่จะรับหุงต้มเป็นข้าวต้มหรือข้าวสวยถวายแก่พระภิกษุทั้งหลายนั้น ก็ไม่มี และการหุงต้มเอง ย่อมไม่เป็นสมณสารูป คือ ไม่สมควรแก่เพศสมณะ

ภิกษุเหล่านั้นรวมเป็นพวกๆ พวกละ ๘ รูปบ้าง พวกละ ๑๐ รูปบ้าง ปรึกษากันว่า ความเป็นผู้มีความประพฤติเบา และการเปลื้องจากการหุงต้มให้สุกเองจักมีแก่พวกเราด้วยวิธีอย่างนี้ ดังนี้ จึงโขลก ตำในครกแล้ว เอาน้ำชุบส่วนของตนๆ ให้ชุ่ม แล้วก็ฉัน ครั้นเธอเหล่านั้นฉันแล้ว ก็เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ด้วยประการฉะนี้

ท่านผู้ฟังคงยังไม่เคยประสบชีวิตอย่างนี้ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วกับบรรพชิตและชาวเมืองเวรัญชาในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติเป็นผู้ที่เดือดร้อนน้อยกว่าผู้ที่ไม่เจริญสติ นี่เป็นของที่แน่นอน

เรื่องของวิบาก คือ การที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ได้ยินเสียงทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น ได้สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็งทางกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา หรือตามความปรารถนาของบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพราะเหตุว่าทุกท่านย่อมปรารถนาที่จะเห็นแต่สิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ได้รสที่ดี ได้โผฏฐัพพะที่ดี แต่ทุกสิ่งเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละท่านนั้น ย่อมเป็นไปตามกรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติก็ระลึกรู้สภาพของนามรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริงว่า สภาพนั้นก็เป็นนามชนิดหนึ่ง เป็นรูปชนิดหนึ่ง ทางตา เป็นนามชนิดหนึ่ง เป็นรูปชนิดหนึ่ง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ทำนองเดียวกัน เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติ ถ้ามีความรู้ชัดขึ้น เพิ่มขึ้น มากขึ้นแล้ว ก็ระลึกรู้ในสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เป็นเครื่องกั้นกระแสของกิเลสที่จะทำให้เดือดร้อน ดิ้นรน หรือว่ากระวนกระวายไปได้ ด้วยเหตุนี้พระภิกษุในครั้งนั้น ท่านก็บำเพ็ญสมณธรรมด้วยประการดังนี้

ข้อความต่อไปมีว่า

ส่วนพวกพ่อค้าม้าเหล่านั้น ถวายข้าวแดงแล่งหนึ่ง และเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวดที่ควรแก่ข้าวแดงนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ท่านพระอานนท์นำเอาข้าวแดงนั้นมาบดที่ศิลา กิจที่บุรุษบัณฑิตผู้มีบุญทำแล้ว ย่อมเป็นของที่ชอบใจทีเดียว คราวนั้นท่านพระอานนท์ ครั้นบดข้าวแดงนั้น ก็ปรุงด้วยเครื่องปรุง มีเนยใส เป็นต้น น้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค ขณะนั้นพวกเทวดาได้แทรก ทิพย์โอชาลงในข้าวแดงที่ปรุงนี้ พระผู้มีพระภาคก็เสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้น ครั้นเสวยแล้ว ก็ทรงยังกาลให้ผ่านไปด้วยผลสมาบัติ จำเนียรกาลตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่เสด็จเที่ยวทรงบาตร

สำหรับท่านพระอานนท์ ท่านเป็นพุทธอุปัฏฐากเป็นเวลา ๒๕ ปี แต่ว่าในปฐมโพธิกาล ๒๐ ปีแรกนั้น พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงมีอุปัฏฐากประจำ

ข้อความใน สมันตปาสาทิกา มีว่า

ถามว่า ก็คราวนั้น พระอานนท์เถระยังไม่ได้เป็นผู้อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคหรือ

แก้ว่า ยังไม่ได้เป็น ทั้งท่านก็ไม่ได้รับตำแหน่งผู้อุปัฏฐาก และความจริงในครั้งปฐมโพธิกาล ชื่อว่าภิกษุผู้อุปัฏฐากประจำของพระผู้มีพระภาค ในภายใน ๒๐ พรรษาย่อมไม่มี บางคราวท่านพระนาคสมาลเถระอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค บางคราวท่านพระนาคิตเถระ บางคราวท่านพระเมคิยเถระ บางคราวท่านพระอุปวานเถระ บางคราวท่านพระสาคตเถระ บางคราวพระเถระผู้เป็นโอรสของเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค

พระเถระเหล่านั้นอุปัฏฐากตามความพอใจของตนแล้ว ก็หลีกไปในเวลาที่ตนปรารถนาจะหลีกไป ท่านพระอานนท์เถระ เมื่อท่านเหล่านั้นอุปัฏฐากอยู่ ก็เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย เมื่อท่านเหล่านั้นหลีกไปแล้ว ก็ทำวัตรปฏิบัติเสียเองทีเดียว

นี่เป็นเรื่องของท่านพระอานนท์ที่ว่า ถึงแม้ในตอนแรกท่านจะไม่ได้เป็นผู้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเป็นประจำ มีท่านพระเถระรูปอื่นอุปัฏฐากอยู่ แต่เมื่อถึงคราวที่ท่านพระเถระเหล่านั้นหลีกไป ท่านพระอานนท์ก็อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยตนเองทั้งๆ ที่ท่านยังไม่ได้เป็นผู้อุปัฏฐากประจำ

ข้อความต่อไปใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ มีว่า

พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้นอยู่ ได้ทรงสดับเสียงครกแล้ว พุทธประเพณี พระตถาคตทั้งหลาย

ทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี

ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี

ทรงทราบกาล แล้วตรัสถาม

ทรงทราบกาล แล้วไม่ตรัสถาม

พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ สิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ

พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ

จักทรงแสดงธรรม อย่างหนึ่ง

จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลาย อย่างหนึ่ง

นี่เป็นชีวิตของบรรพชิตที่ดำเนินไปตามปกติ แต่เมื่อมีเหตุที่ไม่สมควร ที่ไม่ใช่สมณสารูป พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงบัญญัติสิ่งที่ควรแก่สมณสารูป เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การเจริญสติปัฏฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นปกติในชีวิตประจำวัน และท่านพระภิกษุทั้งหลายก็ประพฤติสิ่งที่ควรตามพระวินัยบัญญัติ

ข้อความต่อไปมีว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า

อานนท์ นั่นเสียงครกหรือหนอ

จึงท่านพระอานนท์กราบทูลเนื้อความนั้น ให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่า

ดีละ ดีละ อานนท์ พวกเธอเป็นสัตบุรุษ ชนะวิเศษแล้ว พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลัง จักดูหมิ่นข้าวสาลีและข้าวสุกอันระคนด้วยเนื้อ

ในครั้งที่เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย พระภิกษุและพระผู้มีพระภาคก็ได้ภัตตาหารเพียงข้าวแดง และท่านก็ต้องเอามาบด เอามาโขลกในครก แล้วก็ชุบน้ำฉัน แต่ว่าพวกเพื่อนพรหมจารี คือ พระภิกษุชั้นหลัง จะดูหมิ่นข้าวสาลีและข้าวสุกอันระคนด้วยเนื้อ เพราะถ้าไม่ใช่สมัยทุพภิกขภัย ภัตตาหารที่ได้รับจากผู้ที่มีจิตศรัทธามาถวาย ก็ย่อมจะเป็นอาหารที่ประณีต เป็นข้าวสุกและระคนด้วยเนื้อ แต่แม้กระนั้น จิตของท่านที่ยังไม่หมดกิเลส ก็จะเกิดการดูหมิ่นว่า ข้าวสวยนี้สวยไป หรือว่าข้าวสุกนี้เป็นอย่างนั้น เนื้อนี้เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นที่สบอัธยาศัย หรือว่าไม่เป็นที่พอใจได้ ไม่เหมือนในครั้งพุทธกาลที่แม้เป็นข้าวแดงบด แต่ท่านเหล่านั้นก็เจริญสมณธรรมด้วยประการดังนั้น

นี่เป็นความต่างกัน สำหรับผู้ที่จะขัดเกลากิเลสในครั้งโน้น และในครั้งหลัง เป็นข้อเปรียบเทียบให้เห็นว่า ในกาลต่อๆ มาจะมีอะไรเกิดขึ้น และความรู้สึก ความนึกคิดของบุคคลในครั้งหลังจะเป็นอย่างไร ที่ยกตัวอย่างนี้เพื่อที่จะเทียบเคียงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าเป็นสมัยที่ไม่ใช่ทุพภิกขภัย และท่านทั้งหลาย ทั้งบรรพชิตและฆราวาสก็ยังมีอาหารที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ มีรสที่ประณีต แต่ก็ควรที่จะย้อนระลึกถึงท่านเหล่านั้นในอดีตด้วยว่า ท่านเป็นผู้ที่เจริญสมณธรรม ไม่ว่าสิ่งอะไรจะเกิดขึ้นแก่ท่าน

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นบุคคลในครั้งนี้ ก็ไม่ควรจะเดือดร้อนอะไรมากมายที่จะต้องกระวนกระวายดิ้นรน เป็นผู้ที่ยอมรับสภาพธรรมที่เกิดกับตน แล้วก็เจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าทางตาจะประสบอะไร ทางหูจะประสบอะไร ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายจะประสบอะไร

ทุกท่านก็ต้องบริโภคอาหารอยู่เป็นประจำ ถ้าท่านเป็นผู้ที่สังเกตสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวท่าน บางวันอาหารประณีตมาก แต่ว่าบางวัน ทั้งๆ ที่ท่านอาจจะมีเงินทอง แต่อาหารไม่ประณีตเลย บางท่านอาจจะเทียบเคียง ใกล้ชิดยิ่งกว่านั้นอีก มื้อเย็นของท่านอาจจะเป็นอาหารที่ประณีตมาก ปรุงอย่างดี มีหลายชนิดในวันนั้น แต่พอรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ย้ายสถานที่ เปลี่ยนสถานที่แล้ว อาหารกลางวันของท่านเกือบจะไม่มีอะไรเลย เป็นไปได้ไหม ก็เป็นไปได้ เป็นปกติ เป็นสภาพธรรมที่อาจจะเกิดกับบุคคลใด ในขณะใด ในกาลใดก็ได้

เพราะฉะนั้น ก็เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า ไม่ว่าท่านจะประสบกับวิบากอย่างไรก็ตาม ก็เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เจริญสมณธรรมได้ ในเมื่อสภาพธรรมนั้นๆ เป็นของจริงที่เกิดปรากฏกับท่าน ซึ่งสภาพธรรมที่จะเกิดกับแต่ละท่านนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามกรรมของท่าน และตามโอกาสอันควรด้วย

เปิด  343
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566