แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 144

จะเห็นได้ว่า ที่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันอุโบสถ คือ วันอาสาฬหะ วันเพ็ญเดือน ๘ ซึ่งเป็นวันแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น

ในวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม ๑ ค่ำ ท่านพระวัปปะเป็นพระโสดาบัน ได้บรรลุธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรม

ในวันแรม ๒ ค่ำ ท่านพระภัททิยะได้ดวงตาเห็นธรรม

ในวันแรม ๓ ค่ำ ท่านพระมหานามะได้ดวงตาเห็นธรรม

ในวันแรม ๔ ค่ำ ท่านพระอัสสชิได้ดวงตาเห็นธรรม

โดยนัยนี้ จะต้องมีปัญจวัคคีย์ที่ไม่ได้ดวงตาเห็นธรรมไปบิณฑบาตด้วยเพราะว่าจำเดิมแต่วันปาติบท คือ วันแรม ๑ ค่ำ พระผู้มีพระภาคมิได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาต แต่พระปัญจวัคคีย์ไปบิณฑบาต ๓ รูป และฟังโอวาท ๒ รูป สลับกัน จนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อได้ฟังอนัตตลักขณสูตรเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีปัญหาเลยในเรื่องที่ว่า เป็นผู้เจริญสติในขณะที่บิณฑบาต หรือว่าทรงจีวร สังฆาฏิ กระทำกิจใดๆ ก็ตาม

ถ. เมื่อครู่ท่านอาจารย์พูดถึงปัญจวัคคีย์ที่ว่า ๒ องค์รับโอวาทคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค อีก ๓ องค์ไปบิณฑบาต ขอทราบว่า ในสมัยพุทธกาล การบิณฑบาตในสมัยนั้น หรือการฉันนั้น ฉันอย่างไร ๓ องค์รับโอวาท อีก ๒ องค์ไปบิณฑบาต แล้วจะพอฉันหรือ ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยง ช่วยอธิบายด้วย

สุ. ท่านผู้ฟังสงสัยในเรื่องของการฉันภัตตาหาร ในครั้งนั้นท่านฉันกันอย่างไร ซึ่งตามวิสัยของท่านผู้เป็นบรรพชิต ก็แล้วแต่ว่า ท่านผู้นั้นจะมีข้อปฏิบัติอย่างไร อย่างท่านพระปัญจวัคคีย์ก็คงจะทราบว่า เป็นผู้นิยมการทรมานตนก่อนที่จะได้ฟังธรรม แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคได้เสวยพระกระยาหารจนกระทั่งทรงมีพระกำลัง ปัญจวัคคีย์ก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคนั้นทรงย่อท้อ และไม่ได้ประพฤติหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจ์ แต่ในครั้งพุทธกาลเมื่อมีผู้ที่มีศรัทธาทูลขอบรรพชาอุปสมบทแล้ว ก็ยังไม่ได้มีการห้ามการฉันภัตตาหารแต่ประการใด

สำหรับในเรื่องของการฉันภัตตาหารนั้น ใน อรรถกถาปปัญจสูทนี อรรถกถากีฏาคิริสูตร มีข้อความเรื่องการละการบริโภคในเวลาวิกาลกลางวัน และในเวลาวิกาลกลางคืน คือ ตอนค่ำ

พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงให้ละ ๒ อย่างนี้พร้อมกัน

แสดงให้เห็นว่า ในเบื้องต้นนั้นบุคคลใดจะฉันในเวลากลางวัน หรือในเวลากลางคืนอย่างไร ก็ยังไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัย

ในสมัยหนึ่ง ทรงให้ละการบริโภคในเวลาวิกาลกลางวัน ต่อมาอีก เมื่อยังกาลให้ล่วงไปอีก จึงทรงให้ละการบริโภคในเวลาวิกาลกลางคืน เพราะทรงเห็นว่ากุลบุตรผู้ละเอียดอ่อนใคร่จะละโภชนะทั้ง ๒ อย่างพร้อมกันก็จะลำบาก จึงทรงให้ละการบริโภคในเวลาวิกาลกลางวันไว้ในภัททาลิสูตร และทรงให้ละการบริโภคในเวลาวิกาลกลางคืนในกีฏาคิริสูตร

เมื่อจะให้ละนั้น ทรงตำหนิติเตียน และทรงแสดงอานิสงส์ของการละการ บริโภคในเวลาวิกาลทั้ง ๒ เมื่อทรงบัญญัติครั้งแรกนั้น ทรงบัญญัติให้ละการบริโภคในเวลาวิกาลกลางวันก่อน แล้วต่อมาภายหลังก็ทรงให้ละการบริโภคในเวลาวิกาลกลางคืน

ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มีข้อความเรื่องของการฉันภัตตาหารอยู่หลายสูตร เช่นใน ภัททาลิสูตร ลฑุกิโกปมสูตร กีฏาคิริสูตร

สำหรับที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบข้อความตอนหนึ่งนั้น จะขอกล่าวถึงข้อความใน ลฑุกิโกปมสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในอังคุตตราปชนบท เวลาปัจฉาภัตกลับจากทรงบิณฑบาตแล้ว เสด็จเข้าไปในป่าแห่งหนึ่ง เพื่อประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง เวลาเช้าวันนั้นท่านพระอุทายีกลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เข้าไปยังป่านั้น นั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ท่านพระอุทายีดำริถึงคุณของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเวลาเย็นท่านก็ได้ไปเฝ้า แล้วก็ได้กราบทูลว่า

เมื่อข้าพระองค์อยู่ในที่ลับเร้นอยู่ ได้เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

ท่านพระอุทายีกราบทูลต่อไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเมื่อก่อน ข้าพระองค์เคยฉันได้ทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาลในกลางวัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า

ดูกร ภิกษุ เราขอเตือนเธอทั้งหลาย จงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในเวลากลางวันนั้นเสียเถิด ดังนี้

ข้าพระองค์นั้นมีความน้อยใจ มีความเสียใจ คฤหบดีทั้งหลายผู้มีศรัทธาจะให้ของควรเคี้ยว ของควรบริโภคอันประณีต ในเวลาวิกาลในกลางวันแก่เราทั้งหลาย แม้อันใดพระผู้มีพระภาคตรัสการละอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นเมื่อเห็นแก่ความรัก ความ เคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในกลางวันนั้นเสีย ด้วยประการอย่างนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น ย่อมฉันในเวลาเย็นและเวลาเช้า

นี่คือตอนแรกที่ทรงให้ละการบริโภคในเวลาวิกาลในเวลากลางวัน แต่ท่านก็ยังฉันได้ในเวลาเย็นและในเวลาเช้า

ท่านพระอุทายีกราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายจงละเว้นการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีนั้นเสียเถิด ดังนี้

ข้าพระองค์นั้นมีความน้อยใจ มีความเสียใจว่า ความที่ภัตทั้ง ๒ นี้ของเราทั้งหลายเป็นของปรุงประณีตกว่าฉันใด พระผู้มีพระภาคตรัสการละอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว พระสุคตตรัสการสละคืนอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว บุรุษคนใดได้ของสมควรจะแกงมาในเวลากลางวัน จึงบอกภริยาอย่างนี้ว่า เอาเถิดจงเก็บสิ่งนี้ไว้ เราทั้งหมดเทียวจักบริโภคพร้อมกันในเวลาเย็น อะไรๆ ทั้งหมดที่สำหรับจะปรุงกินย่อมมีรสในเวลากลางคืน กลางวันมีรสน้อย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นเห็นแก่ความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงพากันละการบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีนั้นเสีย ด้วยประการอย่างนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีแล้ว ภิกษุทั้งหลายเที่ยวไปบิณฑบาตในเวลามืดค่ำ ย่อมเข้าไปในบ่อน้ำครำบ้าง ลงไปในหลุมโสโครกบ้าง บุกเข้าไปยังป่าหนามบ้าง เหยียบขึ้นไปบนแม่โคกำลังหลับบ้าง พบกับโจรผู้ทำโจรกรรมแล้วบ้าง ยังไม่ได้ทำโจรกรรมบ้าง มาตุคามย่อมชักชวนภิกษุเหล่านั้นด้วยอสัทธรรมบ้าง

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตในเวลามืดค่ำ หญิงคนหนึ่งล้างภาชนะอยู่ ได้เห็นข้าพระองค์โดยแสงฟ้าแลบ แล้วตกใจกลัวร้องเสียงดังว่า ความไม่เจริญได้มีแก่เราแล้ว ปีศาจจะมากินเราหนอ เมื่อหญิงนั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ข้าพระองค์ได้พูดกับหญิงนั้นว่า ไม่ใช่ปีศาจดอกน้องหญิง เป็นภิกษุยืนเพื่อบิณฑบาต ดังนี้ หญิงนั้นกล่าวว่า บิดาของภิกษุตายเสียแล้ว มารดาของภิกษุตายเสียแล้ว ดูกร ภิกษุ ท่านเอามีดสำหรับเถือโคที่คม เชือดท้องเสียยังจะดีกว่าการที่ท่านเที่ยวบิณฑบาตในเวลาค่ำมืด เพราะเหตุแห่งท้องเช่นนี้ไม่ดีเลย ดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงเรื่องนั้นอยู่ มีความคิดอย่างนี้ว่า

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

พยัญชนะที่ท่านพระอุทายีกราบทูลพระผู้มีพระภาค ท่านผู้ที่เจริญสติจะรู้สึกซาบซึ้งในข้อความที่ท่านพระอุทายีกล่าว ซึ่งจะขอกล่าวถึงในภายหลัง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็อย่างนั้นแลอุทายี โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า จงละโทษสิ่งนี้เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ทำไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อยนี่เล่า พระสมณะนี้ช่างขัดเกลาหนักไป เขาจึงไม่ละโทษนั้นด้วย ไม่เข้าไปตั้งความยำเกรงในเราด้วย

หมายความว่า เข้าไปตั้งความไม่ยำเกรงในพระผู้มีพระภาคด้วย

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร อุทายี อนึ่งโทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขานั้น ย่อมเป็นเครื่องผูกอันมีกำลังมั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ ฐานะเพศของบรรพชิตกับฆราวาสนั้นต่างกัน ถ้าโทษแม้เพียงเล็กน้อยของผู้ที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุมีอยู่ ย่อมเป็นเครื่องผูกที่มีกำลังมั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่เห็นโทษในสิ่งที่เป็นโทษในวินัยของพระอริยเจ้า

ที่กล่าวถึง ลฑุกิโกปมสูตร ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบถึงข้อความในพระไตรปิฎกเทียบเคียงกับฉบับภาษาบาลี ข้อความในพระสูตรนี้ ในพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาไทย อาจจะทำให้เข้าใจไม่ชัดเจน ดิฉันได้กราบเรียนขอความอนุเคราะห์จากพระคุณเจ้าที่มหามกุฎราชวิทยาลัย ให้ท่านช่วยอนุเคราะห์สอบทานเทียบเคียงกับฉบับภาษาบาลีให้ ซึ่งความหมายตามฉบับภาษาบาลีมีว่า

ข้อ ๑๗๗ ควรจะเป็นข้อความว่า

เขาจึงไม่ละโทษนั้นด้วย ขัดเคืองในเราด้วย

ตามพยัญชนะภาษาบาลีที่ว่า

เต ตญฺเจว นปฺปชหนฺติ มยิ จ อปฺปจฺจยํ อุปฏฺฐเปนฺติ

ข้อ ๑๗๘ ควรจะเป็นข้อความว่า

ส่วนกุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ เขาละโทษนั้นด้วย ไม่ขัดเคืองในเราด้วย

ตามพยัญชนะภาษาบาลีที่ว่า

เต ตญฺเจว ปชหนฺติ มยิ จ น อปฺปจฺจยํ อุปฏฺฐเปนฺติ

สำหรับ ข้อ ๑๗๙ ควรจะตรงกับ ข้อ ๑๗๗ และ ข้อ ๑๘๐ ควรจะตรงกับ ข้อ ๑๗๘

เป็นเรื่องที่ใคร่จะให้ท่านผู้ฟังได้สังเกต และพิจารณาเทียบเคียงข้อความภาษาไทยกับภาษาบาลี

สำหรับข้อความที่ว่า

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสีย ได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

ก่อนที่จะได้เจริญสติก็คงจะเต็มไปด้วยอกุศลธรรม ไม่ว่าจะกำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังพูด กำลังคิด กำลังประกอบกิจการงานใดๆ ก็ตาม ย่อมเป็นกระแสของโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ถ้าจิตในขณะนั้นไม่ระลึกเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในภาวนา แต่ถ้าได้เจริญสติปัฏฐาน สติสามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ เพื่อให้ปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริง ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

แต่ก่อนนี้ที่ท่านกำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน แล้วจิตก็ไหลไปเป็นกระแสของโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เห็นประโยชน์ และรู้ลักษณะของสติ แล้วสติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ท่านย่อมจะเข้าใจได้ และย่อมจะซาบซึ้งในพระธรรมที่ว่า

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ

โลภะเกิดขึ้นก็หวั่นไหวกระวนกระวาย โทสะเกิดขึ้นก็หวั่นไหวกระวนกระวาย แต่เวลาที่สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของนามธรรม เป็นลักษณะของรูปธรรม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติจะเห็นคุณของสติ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่เคยเกิด แต่เมื่อได้เข้าใจหนทางปฏิบัติ คือ การเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะซาบซึ้งในข้อความที่ว่า

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

ที่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ เพราะเวลาที่หวั่นไหว กระสับกระส่าย กระวนกระวายไปด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ในขณะนั้นเป็นทุกข์ แต่เวลาที่สติเกิด เบาจากการที่จะยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

ท่านจะเห็นได้จริงๆ จากการเจริญสติปัฏฐานว่า พระธรรมนั้นมีประโยชน์เพียงไร และสติ คือ การระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็เกื้อกูลและมีประโยชน์มาก

ถ. ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเริ่มต้นด้วยคำว่า อานาปานสติ คือ มีสติระลึกรู้ถึงลมหายใจ การระลึกรู้ที่ลมหายใจนี้อะไรที่เรียกว่า ปรมัตถ์

สุ. ลมเป็นรูป มีลักษณะของมหาภูตรูป เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่ปรากฏกระทบได้ทางกาย

ถ. ท่านอาจารย์กล่าวในฐานะที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานใช่ไหม

สุ. ใช่ค่ะ

ถ. เมื่อกล่าวถึงอานาปานสติ ท่านอาจารย์กล่าวถึงลักษณะของมหาภูตรูปซึ่งมีความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ตรงนี้เรียกว่ารู้ตามปรมัตถ์ ในการรู้ตามปรมัตถ์ซึ่งเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ผู้ที่เจริญอาปานสติสามารถที่จะไปรู้ถึงเวทนาด้วยได้ไหม

สุ. ไม่ได้มีแต่รูป สภาพธรรมตามความเป็นจริง มีทั้ง ๕ ขันธ์ คือ มีทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และสติก็เป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เวลาที่สติระลึกรู้ที่ลม จะเป็นลมหายใจก็ตาม สติก็ดับ ไม่ใช่ว่าไม่ดับ ไม่ใช่ว่าจะรู้แต่ลมได้เพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปแล้วก็ดับไป และสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่ปรากฏต่อไปได้

ถ. แม้ว่าจะเจริญอานาปานอยู่ก็ตาม เวทนาก็ปรากฏขึ้นให้รู้ได้เหมือนกัน แม้จิตตานุปัสสนาก็สามารถจะปรากฏได้ ใช่ไหมครับ

สุ. การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ให้เลือกเจริญสติปัฏฐานเดียว นั่นเป็นการไม่รู้ ไม่ใช่เป็นการรู้ ถ้าเป็นการรู้แล้ว ความรู้ต้องเจริญขึ้น และการรู้ก็เกิดขึ้นเพราะสติระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เป็นการรู้เพียงขั้นปริยัติเท่านั้น

เปิด  324
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566