แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 148

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ดูกร กัจจานะ วัณณะไหนเล่าที่ไม่มีวัณณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า

เวขณสปริพาชกกราบทูลว่า

ข้าแต่ท่านพระโคดม วัณณะใดไม่มีวัณณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วัณณะนั้นเป็นวัณณะอย่างยิ่ง

คือ กราบทูลเหมือนเดิม ไม่ได้ชี้ว่าเป็นวัณณะใด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กัจจานะ ท่านกล่าวแต่เพียงว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม วัณณะใดไม่มี วัณณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วัณณะนั้นเป็นวัณณะอย่างยิ่ง ดังนี้ วาจานั้นของท่านพึงขยายออกอย่างยืดยาว แต่ท่านไม่ชี้วัณณะนั้นได้

ดูกร กัจจานะ เปรียบเหมือนบุรุษพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราปรารถนารักใคร่นางชนบทกัลยาณีในชนบทนี้ คนทั้งหลายพึงถามเขาดังนี้ว่า พ่อ นางชนบทกัลยาณีที่พ่อปรารถนารักใคร่นั้น ท่านรู้จักหรือว่า เป็นนางกษัตริย์ พราหมณี แพศย์ หรือศูทร เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้ คนทั้งหลายพึงถามเขาว่า พ่อ นางชนบทกัลยาณีที่พ่อปรารถนารักใคร่นั้น พ่อรู้จักหรือว่า นางมีวัณณะอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้คนทั้งหลายพึงถามเขาว่า พ่อ นางชนบทกัลยาณีนี้ ที่พ่อปรารถนารักใคร่นั้น พ่อรู้จักหรือว่า สูง ต่ำ หรือพอสันทัด ดำ ขาว หรือมีผิวคล้ำ อยู่ในบ้าน นิคม หรือนครโน้น เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้ คนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า พ่อปรารถนารักใคร่หญิงที่พ่อไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นนั้นหรือ เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า ถูกแล้ว

ดูกร กัจจานะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ คำกล่าวของบุรุษนั้น ถึงความเป็นคำใช้ไม่ได้ มิใช่หรือ

เวขณสปริพาชก กราบทูลว่า

แน่นอน พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น คำกล่าวของบุรุษนั้น ถึงความเป็นคำใช้ไม่ได้

ยอมรับคำพูดของตนเอง ซึ่งตนเองก็ได้แต่เพียงกล่าวว่า วัณณะใดไม่มีวัณณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วัณณะนั้นเป็นวัณณะอย่างยิ่ง

ใน อรรถกถาปปัญจสูทนี มีข้อความว่า

ชื่อว่าผู้สามารถจะพูดถ้อยคำแบ่งรับแบ่งสู้ในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคนั้น ไม่มี

คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ผู้นั้นจะต้องตอบอย่างหนึ่งอย่างใดตรงตามความคิดของตน ที่จะบ่ายเบี่ยงหรือแบ่งรับแบ่งสู้นั้นเป็นไปไม่ได้ เมื่อได้กราบทูลในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กัจจานะ ท่านก็ฉันนั้นแล กล่าวอยู่แต่ว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม วัณณะใดไม่มีวัณณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วัณณะนั้นเป็นวัณณะอย่างยิ่ง ดังนี้ แต่ไม่ชี้วัณณะนั้น

เวขณสปริพาชกกราบทูลว่า

ข้าแต่ท่านพระโคดม เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ ๘ เหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว เขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลแดง ย่อมสว่างไสวส่องแสงเรืองอยู่ฉันใด ตัวตนก็ฉันนั้น เมื่อตายไป ย่อมเป็นของมีวัณณะ ไม่มีโรค

เป็นความคิดที่ว่า ตัวตนนั้นเที่ยง

พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบวัณณะที่งามกว่า ประณีตกว่าวัณณะของแก้ว ไพฑูรย์เป็นขั้นๆ แล้วเวขณสปริพาชกก็กราบทูลรับว่า เป็นเช่นนั้นจริง

คือ พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบว่า วัณณะของแมลงหิ่งห้อยในเวลาเดือนมืดในราตรี งามกว่าวัณณะนั้น คือ งามกว่าแก้วไพฑูรย์นั้น

พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบประทีปน้ำมันในเวลาเดือนมืดว่า งามกว่านั้น

ทรงเปรียบกองไฟใหญ่ในเวลาเดือนมืดว่า งามกว่านั้น

ทรงเปรียบดาวพระศุกร์ในอากาศอันกระจ่าง ปราศจากเมฆ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีว่า งามกว่านั้น

ทรงเปรียบว่า ดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรง ในอากาศอันกระจ่าง ปราศจากเมฆในวันอุโบสถที่ ๑๕ คือ วันเพ็ญกลางเดือนว่า งามกว่านั้น

แล้วทรงเปรียบดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงตรง ในอากาศอันกระจ่าง ปราศจากเมฆ ในสารทสมัย เดือนท้ายฤดูฝนว่า งามกว่านั้น

แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กัจจานะ เทวดาเหล่าใด ย่อมสู้แสงพระจันทร์และแสงอาทิตย์ไม่ได้ เทวดาเหล่านั้นมีมากยิ่งกว่าเทวดาพวกที่สู้แสงพระจันทร์และแสงพระอาทิตย์ได้ เรารู้เรื่องเช่นนั้นดีอยู่ ถึงกระนั้นเราก็ไม่กล่าวว่า วัณณะใดไม่มีวัณณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า

คือ ทรงทราบเรื่องของเทวดา เรื่องของพรหม ซึ่งพวกพราหมณ์ก็นับถือว่าเป็นอัตตาที่มีวัณณะอย่างยิ่งทีเดียว แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์ทรงทราบเรื่องเช่นนั้นดีอยู่ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ตรัสว่าวัณณะใดไม่มีวัณณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านก็ชื่อว่า กล่าวอยู่ว่าวัณณะใดเลวกว่า และเศร้าหมองกว่าแมลงหิ่งห้อย วัณณะนั้นเป็นวัณณะอย่างยิ่ง ดังนี้ แต่ท่านไม่ชี้วัณณะนั้นเท่านั้น

ดูกร กัจจานะ กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูป ซึ่งรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก เกี่ยวด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของเสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตะ กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วย ฆานะ รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก เกี่ยวด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

ดูกร กัจจานะ กามคุณ ๕ เหล่านี้แล ความสุขโสมนัสใดอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น ความสุข โสมนัสนี้ เรากล่าวว่ากามสุข ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันเรากล่าวกามสุขว่า เลิศกว่ากามทั้งหลาย

กล่าวสุขอันเป็นที่สุดของกามว่า เลิศกว่ากามสุข ในความสุขอันเป็นที่สุดของกามนั้น เรากล่าวว่าเป็นเลิศ

สำหรับความสุขอันเป็นที่สุดของกามนั้น ก็ได้แก่พระนิพพานนั้นเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวขณสปริพาชกได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อที่พระโคดมผู้เจริญตรัสกามสุขว่า เลิศกว่ากามทั้งหลาย ตรัสความสุขอันเป็นที่สุดของกามว่า เลิศกว่ากามสุข ในความสุขอันเป็นที่สุดของกามนั้น ตรัสว่าเป็นเลิศนี้ ตรัสดี น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสิ่งที่ไม่มี เช่น วัณณะใดเป็นวัณณะที่ประณีตกว่า งามกว่า แต่ว่าพูดถึงสิ่งที่มี ที่ปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ถ้าเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ก็ทำให้เกิดความสุข แต่ว่าความสุขนั้นก็เป็นเพียงกามสุข คือ สุขที่ยินดีพอใจ เพราะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้โผฏฐัพพะที่น่าพอใจเท่านั้น แต่ว่ายังมีสุขที่เลิศกว่านั้นอีก ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ เวขณสปริพาชกก็เห็นด้วย แล้วก็กราบทูลว่า พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั้น ตรัสดี น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กัจจานะ ข้อที่ว่า กามก็ดี กามสุขก็ดี สุขอันเป็นที่สุดของกามก็ดี นี้ยากที่ท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความประกอบเนื้อความเป็นประการอื่น มีลัทธิอาจารย์เป็นประการอื่น จะพึงรู้ได้

ดูกร กัจจานะ ภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกรณียะได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้วตามลำดับ มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นแลจะพึงรู้ข้อที่ว่า กาม กามสุข หรือสุขอันเป็นที่สุดของกามนี้ได้

พยัญชนะนี้คงจะช่วยประกอบความเข้าใจของท่านผู้ฟังว่า ถ้าไม่มีความรู้เกิดขึ้นแล้ว ที่จะหลุดพ้นไปได้นั้นไม่มี เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้วตามลำดับ มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นแลจะพึงรู้ข้อที่ว่า กาม กามสุข หรือสุขอันเป็นที่สุดของกามนี้ได้

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวขณสปริพาชกโกรธ ขัดใจ

ทำไมโกรธ เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แต่ถ้าคนฟัง ฟังด้วยการไม่พิจารณาเพื่อประโยชน์ของตน ก็จะเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคนั้นตรัสตำหนิ หรือว่าตน ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กัจจานะ ข้อที่ว่า กามก็ดี กามสุขก็ดี สุขอันเป็นที่สุดของกามก็ดี นี้ยากที่ท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความประกอบเนื้อความเป็นประการอื่น มีลัทธิอาจารย์เป็นประการอื่น จะพึงรู้ได้

เพราะว่าไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังอย่างนี้ เวขณสปริพาชกก็โกรธ ข้อความในสูตรนี้มีว่า

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวขณสปริพาชกโกรธ ขัดใจ เมื่อจะด่าว่า ติเตียนพระผู้มีพระภาค ก็คิดว่า เราจักให้พระสมณโคดมได้รับความเสียหายดังนี้ จึงได้กราบทูลว่า

ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น สมณพราหมณ์บางพวกในโลกนี้ ไม่รู้เงื่อนเบื้องต้น ไม่รู้เงื่อนเบื้องปลาย แต่ปฏิญาณอยู่ว่า เรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้ ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความเป็นคำน่าหัวเราะทีเดียว ถึงความเป็นคำต่ำช้าอย่างเดียว ถึงความเป็นคำเปล่า ถึงความเป็นคำเหลวไหลแท้ๆ

นี่เป็นข้อความในครั้งโน้น ซึ่งมีผู้กราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ เมื่อโกรธขัดใจ ก็จะต้องใช้คำพูดที่จะทำให้เสียหายแก่พระผู้มีพระภาค คือ ให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวติเตียนภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่าอื่น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กัจจานะ สมณพราหมณ์เหล่าใด เมื่อไม่รู้เงื่อนเบื้องต้น เมื่อไม่รู้เงื่อนเบื้องปลาย มาปฏิญญาว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรถูกข่มขี่สมกับเหตุ

ดูกร กัจจานะ ก็แต่ว่า เงื่อนเบื้องต้นจงงดไว้เถิด เงื่อนเบื้องปลายจงงดไว้เถิด บุรุษผู้รู้ความ ไม่เป็นคนโอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนซื่อตรง ขอจงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เมื่อปฏิบัติตามคำที่เราสอนแล้ว ไม่นานก็จักรู้เอง จักเห็นเอง ได้ยินว่า การที่จะหลุดพ้นไปได้โดยชอบจากเครื่องผูก คือ อวิชชา ก็เป็นอย่างนั้น

ดูกร กัจจนะ เปรียบเหมือนเด็กอ่อนยังนอนหงาย จะพึงถูกเขาผูกไว้ด้วยเครื่องผูกที่ข้อเท้าทั้งสอง ที่ข้อมือทั้งสอง ที่คอหนึ่ง เป็น ๕ แห่ง เครื่องผูกเหล่านั้นจะพึงหลุดไป เพราะเด็กนั้นถึงความเจริญ เพราะเด็กนั้นถึงความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย เขาพึงรู้ว่า เป็นผู้พ้น และเครื่องผูกก็ไม่มี ฉันใด กัจจานะ บุรุษผู้รู้ความก็ฉันนั้นแล เป็นคนไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนซื่อตรง ขอจงมาเถิด เราจักสั่งสอน เราจักแสดงธรรม เมื่อปฏิบัติได้ตามคำที่เราสอนแล้ว ไม่นานนักก็จักรู้เอง จักเห็นเอง ได้ยินว่า การที่จะหลุดพ้นไปได้โดยชอบจากเครื่องผูก คือ อวิชชา ก็เป็นอย่างนั้น

แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ข้อปฏิบัติตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือไม่ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อปฏิบัติได้ตามคำที่เราสอนแล้วไม่นานนักก็จักรู้เอง นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคิด เพราะเหตุว่าทุกท่านก็ปรารถนาผล คือ การรู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อการละคลายกิเลสให้ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทเป็นลำดับขั้น แต่ถ้าข้อปฏิบัติไม่ตรง ก็ไม่มีโอกาสเลย ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

อรรถกถาเวขณสสูตร ได้อธิบายเรื่องอวิชชาไว้ว่า อวิชชานั้นเป็นเครื่องผูก และเครื่องผูก ๕ แห่งนั้น คือ เครื่องผูกที่ข้อเท้าทั้งสอง ที่ข้อมือทั้งสอง ที่คอ ได้แก่ เส้นด้ายที่เท้า ที่มือ ที่คอ ในกาลที่เขาเติบโตแล้ว เส้นด้ายนั้นเน่า หลุดออกไปเองบ้าง ถูกตัดออกไปบ้าง การไม่รู้ที่สุดของอวิชชา เปรียบเหมือนการที่เด็กไม่รู้จักเครื่องผูก มีเส้นด้าย เป็นต้น การรู้ว่ามีความหลุดพ้นจากเครื่องผูก คือ อวิชชาด้วยอรหัตตมรรค ก็เช่นเดียวกับการรู้เมื่อปลดเปลื้องเครื่องผูกอันนั้นออกไปในเวลาที่โต

แสดงให้เห็นว่า ตอนที่เป็นเด็กเล็กๆ มีเครื่องผูกทั้งที่ข้อเท้าทั้งสอง ทั้งที่ข้อมือทั้งสองกับที่คอนั้น เพราะเป็นเด็กเล็กๆ จึงไม่รู้ว่า ตัวเองนั้นมีเครื่องผูกอยู่ที่ข้อมือ ข้อเท้า และที่คอ แต่เวลาที่โตขึ้น เวลาหมดอวิชชานั้นย่อมทราบได้ ไม่ใช่หมดไปโดยไม่ทราบ เวลามีอวิชชาไม่รู้ แต่เวลาที่อวิชชาหมดไปย่อมรู้ เหมือนกับผู้ที่เติบโตขึ้น และเวลาที่เครื่องผูกนั้นขาดไปก็รู้ได้

เมื่อจบพระสูตรนี้ เวขณสปริพาชกก็ได้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ

ในพระสูตรยังมีเหตุการณ์และมีข้อความที่คล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันที่สถานที่และบุคคล และผลของพระธรรมเทศนา

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ จูฬสกุลุทายิสูตร ข้อความคล้ายคลึงกับเวขณสสูตร มีว่า

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ สกุลุทายีปริพาชกอยู่ในปริพาชิการาม ซึ่งเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า

การเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ยังเช้านัก พึงเข้าไปหาสกุลุทายีปริพาชกยังปริพาชการามเถิด

เป็นพระมหากรุณา ที่จะทรงอนุเคราะห์สกุลุทายีปริพาชก

เมื่อพระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปถึงปริพาชิการามแล้ว สกุลุทายีก็ตั้งใจที่จะฟังธรรม แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงให้โอกาสสกุลุทายีถามปัญหา ซึ่งสกุลุทายีก็ได้กราบทูลเล่าให้ฟังว่า สกุลุทายีได้ถามท่านผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่อ้างว่า ท่านเป็นผู้สารพัดรู้ สารพัดเห็น แต่ว่าสิ่งที่สกุลุทายีถาม ท่านผู้นั้นก็โกรธ ขัดใจ ไม่พอใจ ซึ่งสิ่งที่สกุลุทายีถามก็คือ ถามเรื่องการระลึกถึงอดีตชาติ หรือว่าการรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับสกุลุทายีว่า

การที่บุคคลใดจะสนทนากันด้วยเรื่องของการระลึกชาติ ผู้นั้นก็ควรจะเป็นผู้ที่ระลึกชาติได้ จึงจะทำให้พระองค์ทรงยินดีด้วยกับการสนทนาของบุคคลนั้น และการสนทนาของพระองค์ พระดำรัสของพระองค์ ก็จะทำให้บุคคลนั้นยินดีด้วย แต่ถ้าพูดกับบุคคลที่ระลึกชาติไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ในเมื่อคนหนึ่งระลึกชาติได้ และอีกคนหนึ่งระลึกชาติไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะสนทนาในเรื่องนั้นก็ไม่นำมาซึ่งความยินดี

โดยนัยเดียวกัน สำหรับเรื่องของการเห็นจุติปฏิสนธิของสัตว์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าสกุลุทายีเป็นผู้ที่เห็นจุติปฏิสนธิของสัตว์ แล้วก็สนทนากับพระผู้มีพระภาค พระองค์ก็ทรงยินดีในคำสนทนาของสกุลุทายี และพระดำรัสของพระองค์ก็จะเป็นที่ยินดีของสกุลุทายี แต่เมื่อสกุลุทายีไม่สามารถที่จะเห็นจุติปฏิสนธิของสัตว์ได้ ก็ย่อมจะไม่ยินดีในคำสนทนานั้น

ซึ่งสกุลุทายีก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า แม้แต่อัตภาพของสกุลุทายีที่เป็นอยู่ในบัดนี้ ก็ยังไม่สามารถจะระลึกได้ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ก็ไฉนจะระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก เหมือนพระผู้มีพระภาคได้เล่า

คือ อย่าว่าแต่จะระลึกถึงอดีตชาติก่อนๆ เพียงในชาติปัจจุบันที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดิน เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น คิดนึก สุข ทุกข์ ก็ยังระลึกไม่ได้แล้ว เมื่อระลึกไม่ได้ ไฉนจะระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมากเหมือนพระผู้มีพระภาคได้เล่า

สกุลุทายี ก็ได้กราบทูลต่อไปว่า ในเดี๋ยวนี้ แม้แต่ปังสุปีศาจ สกุลุทายีก็ยังไม่เห็นเลย ไฉนจักเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ

ก็เป็นการยอมรับว่า ตนเองนั้นไม่สามารถระลึกชาติ หรือว่าเห็นจุติ ปฏิสนธิได้ เพราะเหตุว่าแม้ในปัจจุบันชาตินี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะระลึกอัตภาพที่เป็นอยู่ในบัดนี้ได้ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ

เปิด  322
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566