แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 155

ใน ปปัญจสูทนี อรรถกถาโลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร มีข้อความว่า

นับแต่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้ในปีที่ ๗ ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ในวันเพ็ญเดือน ๘ ที่เมืองสาวัตถี และธรรมดาของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้น ทำ ยมกปาฏิหาริย์แล้ว ย่อมไม่อยู่ในถิ่นของมนุษย์ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงก้าวพระบาทเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสด็จจำพรรษาที่ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ โคนไม้ปาริฉัตตกะ ทรงกระทำพระพุทธมารดาเป็นกายสักขี เมื่อทรงแสดงพระอภิธรรมแก่พระพุทธมารดาพร้อมด้วยเทวดาทั้งหลายในชั้นดาวดึงส์แล้ว จึงตรัส อุเทสและวิภังค์ของภัทเทกรัตตสูตรสลับเป็นระยะๆ ไป เพื่อให้เกิดความสังเวชแก่เทวดาทั้งหลาย

แสดงให้เห็นความสำคัญของ ภัทเทกรัตตสูตร ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ คือ ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ด้วยการเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุว่าผู้ที่เจริญ สติปัฏฐานนั้น ย่อมไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วด้วยตัณหาและทิฏฐิ ไม่มุ่งหวัง คือ ไม่ปรารถนาสิ่งที่ยังไม่มาถึง การที่บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ก็ด้วยวิปัสสนานั่นเอง

เพราะฉะนั้น ขอให้ทราบถึงจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคเอง แม้ว่าจะได้ ทรงแสดงอภิธรรมแก่พระพุทธมารดาและเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ก็ได้ทรงแสดง ภัทเทกรัตตสูตร ผู้ที่มีราตรีหนึ่งเจริญ สลับกับที่ทรงแสดงพระอภิธรรมเป็นระยะๆ ไป เพื่อที่จะให้บุคคลที่ได้ฟังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเอง ไม่ต้องรอไว้เลย เพราะการที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบันนั้น จะทำให้ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน และเห็นแจ้งในธรรมปัจจุบันได้

ขอตอบคำถามข้อ ๓ ที่ว่า พระโสดาบันรู้แต่กายอย่างเดียว ไม่รู้เวทนา ไม่รู้จิต ไม่รู้ธรรม จะต้องมาเจริญเวทนา จิต ธรรมอีก มีว่าไว้ในสูตรไหน

ที่ถูกแล้วคำถามนี้ ควรจะเป็นว่า ที่ว่า พระโสดาบันรู้แต่กายอย่างเดียวนั้น มีว่าไว้ในสูตรไหน หรือว่าในอรรถกถาฎีกาเล่มใด เพราะว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่พระโสดาบันจะรู้แต่กายอย่างเดียว แม้แต่ในวิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะอย่างถ่องแท้ของนามและรูป ไม่ใช่กายอย่างเดียว

เพราะฉะนั้น คำถามของท่านผู้ข้องใจที่ว่า พระโสดาบันรู้แต่กายอย่างเดียวไม่รู้เวทนา ไม่รู้จิต ไม่รู้ธรรม จะต้องมาเจริญเวทนา จิต ธรรมอีก มีว่าไว้ในสูตรไหน ก็เป็นความเข้าใจของท่านผู้ข้องใจเท่านั้นที่เข้าใจว่า พระโสดาบันนั้นรู้แต่กายอย่างเดียว

สืบเนื่องจากคำถามข้อ ๒ ท่านเข้าใจว่า พระโสดาบันนั้นรู้กายอย่างเดียว คือ รู้ในท่าทางที่เป็นท่านั่ง หรือท่านอน หรือท่ายืน หรือท่าเดิน แต่ว่าถ้าสอบทานกับพระธรรมวินัยแล้ว ในขณะที่นั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด ถ้าผู้ใดจะระลึกรู้ลักษณะของรูป ก็จะต้องเป็นรูปที่ปรากฏทางตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า ในรูป ๒๘ รูป รูปอะไรเป็นวิสยรูป และรูปอะไรเป็นรูปหยาบ คือ รูปที่มีลักษณะที่สามารถจะปรากฏให้แทงตลอดในลักษณะนั้นได้

สำหรับรูปที่เป็นรูปหยาบมี ๑๒ รูป คือ นอกจากสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว) แล้ว ก็ยังรวมปสาทรูป ๕ คือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป

แต่การที่จะรู้ลักษณะของปสาทรูปได้ ก็ต่อเมื่อระลึกสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงจะรู้ได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาที่ปรากฏได้นั้นต้องมีรูปที่สามารถรับกระทบสีทางตาได้ ในขณะที่ได้ยินเสียง ผู้ที่เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของเสียงว่า เป็นรูปชนิดหนึ่ง แล้วก็รู้ว่ารูปเสียงที่ปรากฏนั้นก็จะต้องกระทบกับรูปอีกรูปหนึ่งซึ่งสามารถรับกระทบเสียงได้ เพราะเหตุว่าเสียงไม่กระทบกับตา เสียงไม่กระทบกับจมูก เสียงไม่กระทบกับลิ้น เสียงไม่กระทบกับกาย แต่รูปเสียงนั้นจะกระทบแต่เฉพาะกับโสตปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่สามารถรับกระทบเสียงได้เท่านั้น

ถ. มีผู้ที่สงสัยว่า พิจารณารูปนามให้กระจัดกระจาย แตกอย่างนี้เป็นไปไม่ได้ ไม่ถูกกับหลักฐานด้วย เพราะกระจัดกระจายนามรูปออกไป ส่วนใหญ่เป็นส่วนย่อย ส่วนย่อยขนาดเล็กเท่าเมล็ดทรายหรือปรมาณูก็ตาม ที่เป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่นั้นต้องมี คือ อวินิพโภครูป ๘ จะย่อยอย่างไรก็ยังมีความเป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่นั่นเอง อย่างรูปนั่งคน จะดูอย่างไร ไม่ให้รูปเป็นกลุ่มก้อน เพราะรูปทุกรูปต้องมีอวินิพโภครูป ๘ เป็นกลุ่มเป็นก้อน ที่อาจารย์อธิบายเขาไม่เห็นด้วยเลย

สุ. สำหรับการรู้ลักษณะของนามและรูป มีสิ่งที่ให้พิสูจน์อยู่ทุกขณะ ขอให้พิสูจน์เป็นทางๆ ไป เป็นต้นว่าทางตา อะไรกำลังปรากฏ สีสันวรรณะต่างๆ ที่เราใช้คำว่าสี หรือวรรณะ รูปารมณ์ ก็ตามแต่ หมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ เวลาที่ลืมตาขึ้น มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ทางตา เป็นของจริงแน่นอน มีท่านผู้ใดที่กำลังเห็นแล้วปฏิเสธว่า ไม่มีสิ่งใดปรากฏทางตาเลย เพราะทันทีที่ท่านลืมตาก็มีสิ่งต่างๆ ปรากฏให้เห็นทางตา หลับตาจะเห็นสิ่งต่างๆ ทางหูได้ไหม ไม่ได้ มีแต่ เสียงปรากฏทางหู

เพราะฉะนั้น การประจักษ์สภาพของรูป ทั้งๆ ที่รูปยังไม่แตกย่อยกระจัดกระจาย แต่ปัญญาระลึกรู้ลักษณะของรูปแต่ละรูปตามความเป็นจริง ถ้ามีลักษณะเย็นที่ปรากฏกระทบกาย ไม่ใช่จุดเล็กๆ จุดเดียวจนกระทั่งมองไม่เห็นหรือกระทบไม่ได้ แต่หมายความว่า จะเป็นกี่กลาปก็ตาม จะมากจะน้อยก็ตาม แต่ลักษณะนั้นปรากฏทางตาท่านก็รู้ว่าลักษณะหนึ่ง ปรากฏทางหูรู้ว่าลักษณะหนึ่งปรากฏทางจมูกรู้ว่าลักษณะหนึ่ง ปรากฏทางลิ้นรู้ว่าลักษณะหนึ่ง ปรากฏทางกาย เย็นก็ไม่ใช่ร้อน อ่อนก็ไม่ใช่แข็ง ตึงก็ไม่ใช่ไหว เพราะถ้าขณะที่กำลังระลึกลักษณะที่แข็งที่ปรากฏ โดยที่ไม่เอาความจำมาเชื่อมมาโยงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ก็จะมีแต่เฉพาะลักษณะที่แข็งเท่านั้นที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องเอาทางตามารวมด้วย หลับตาเสีย แข็งส่วนใดที่ปรากฏ ลืมตา แข็งก็ยังปรากฏที่ส่วนนั้น แต่เวลาที่ไม่พิจารณาลักษณะของรูปทีละรูป ก็เอารูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายมาเชื่อมมาโยงทำให้ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จะละได้ก็เพราะสติระลึกแล้วรู้ในลักษณะที่ปรากฏแต่ละลักษณะ

ฆนสัญญา ความประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จะแตกย่อยหมดสิ้นไปได้ด้วยการระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นนามที่เป็นรูป

ถ. ผมก็เคยถามท่านผู้หนึ่งว่า ฆนสัญญาหมายความถึงอะไร ท่านบอกว่า เปลี่ยนจากรูปนั่งไปเป็นรูปยืน เปลี่ยนจากยืนไปเป็นนอน เปลี่ยนจากนอนไปเป็นเดินนี้ คือ แตกเป็นอย่างนี้ ผมก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าพูดถึงความหมาย คำว่า แตกย่อยซึ่งเป็นฆนสัญญานี้ แตกย่อยด้วยปัญญาที่สามารถพิจารณารู้ได้ แต่จะเอาความหมายแตกย่อยธรรมดาที่ว่าแก้วแตก หรืออะไรแตกอย่างนี้ๆ ไม่สามารถจะรู้ได้ ผมเข้าใจว่าอย่างนี้

สุ. ถ้ารูปนั่งมี ปรากฏเป็นกลุ่มเป็นก้อน แล้วดับลงไป นั่นอะไรแตกย่อย ก็ยังรวมกันทั้งหมด ในเมื่อท่านศึกษาแล้วว่า ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นดวงแรกมีรูปกี่รูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตในอุปปาทขณะของปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่าจิตดวงหนึ่งมี ๓ ขณะ คือ อุปปาทขณะ ขณะเกิดขึ้น ฐีติขณะ ขณะที่ยังตั้งอยู่ ยังไม่ดับไป ภังคขณะ คือ ขณะที่ดับไป

ในอุปปาทขณะของปฏิสนธิจิต มีกัมมชรูปเกิดร่วมด้วยกี่กลาป ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ในฐีติขณะ ในภังคขณะก็มีกัมมชรูปเกิดร่วมด้วย เมื่อปฏิสนธิจิตดับ ปฐมภวังค์เกิดต่อเป็นจิตดวงที่ ๒ ซึ่งในขณะนั้นมีจิตตชรูปเกิดพร้อมกับ อุปปาทขณะของปฐมภวังค์ และรูปทุกรูปที่เป็นสภาวรูปมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ดวง คือ ทยอยกันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้ารูปที่เกิดพร้อมอุปปาทขณะของปฏิสนธิจิตก็จะต้องมีอายุต่อไปจนถึงจิตเกิดดับ ๑๗ ดวง จึงจะดับ

ที่กาย ที่ปรากฏให้เห็นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ยังไม่แตกย่อยสลายไป ก็เพราะเหตุว่ารูปทยอยกันเกิด และทยอยกันดับตามประเภทของรูปที่เกิดขึ้นว่า จะเกิดขึ้นพร้อมกับอุปปาทขณะของจิตดวงใด หรือจะเกิดในฐีติขณะ หรือในภังคขณะอย่างไร นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ใช่มีท่าทางอันหนึ่งกำลังนั่งอยู่ แล้วก็ดับไปทั้งหมดพร้อมกัน นั่นไม่ได้แตกย่อย กระจัดกระจายรูปอะไรออกไปเลยสักรูปเดียว

มีรูปอะไรที่ผู้เจริญสติกำลังรู้ในขณะที่นั่ง เป็นรูปอะไรในรูป ๒๘ รูป และเป็นรูปอะไรใน ๑๘ รูปที่เป็นสัมมสนรูป และในรูปที่เป็นสภาวรูป ๑๘ รูปนั้น เป็นรูปอะไรที่เป็นวิสยรูปที่เป็นรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

. ใน วิสุทธิมรรค ท่านได้กล่าวไว้ชัดเจนเหมือนกันในเรื่องรูปกลาป แต่ละกลาปมีรูปอยู่ ๘ รูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา แต่ความปรากฏของรูปที่มาประชุมรวมกัน รูปเดียวเท่านั้นที่จะปรากฏได้ทางตา คือ สี เย็นจะปรากฏได้ทางกาย และอย่างอื่นก็ปรากฏอย่างละรูปๆ แต่รูปทั้งหมดนี้มาทั้งกลุ่มจริงๆ ทั้ง ๘ รูปจริงๆ แต่จะปรากฏได้ทีละหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ปรากฏหมดทั้ง ๘ อย่าง และท่านยังสรุปอีกว่า เมื่อถึงคราวที่ทิฏฐิจะวิสุทธิได้ ต้องมี ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะหนึ่งจะต้องรู้สามัญลักษณะ อีกลักษณะหนึ่งจะต้องรู้สภาวลักษณะ

สามัญลักษณะ คือ รู้ความเป็นอนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตาของรูป

สภาวลักษณะ ท่านแสดงไว้ว่า ผัสสะมีหน้าที่ทำอะไร เวทนาเป็นอย่างไร เสวยอารมณ์อย่างไร ปฐวีลักษณะเป็นอย่างไร คือ ความแข็ง ความกระด้าง ถ้าไม่รู้สภาวะหรือสามัญลักษณะอย่างนี้ ทิฏฐินั้นจะถึงความวิสุทธิไม่ได้ ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ ไม่ว่าคัมภีร์ไหนๆ ถ้าอ่านแล้วจะเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด

สุ. การที่ทิฏฐิ ความเห็นจะวิสุทธิได้นั้น ก็เพราะความเห็นถูกต้องอย่างถ่องแท้ในสภาพ ๒ อย่าง คือ สามัญลักษณะอย่าง ๑ สภาวลักษณะอย่าง ๑

คำว่า สามัญลักษณะ หมายความถึงลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลาย ไม่เว้น เป็นสามัญ ทั่วไปแก่สังขารธรรมทั้งหลาย คือ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงเกิดขึ้นและดับไปนั้นเป็นทุกข์ และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นอนัตตา ที่เคยได้ยินได้ฟังกันบ่อยว่า อนิจํ ทุกฺขํ อนัตฺตา เป็นสามัญลักษณะของสังขารธรรมทั้งปวง

อีกอย่างหนึ่งที่ว่า ทิฏฐิจะวิสุทธิได้เพราะรู้ในสามัญลักษณะ และ สภาวลักษณะ หมายความว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะของตนปรากฏจริงๆ อย่างเสียงเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง มีจริง เพราะว่าปรากฏทางหู สภาพที่รู้เสียงมีเป็นปกติ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนอกจากจะรู้สามัญลักษณะ ยังรู้สภาวลักษณะของสภาพธรรม จึงจะสามารถมีทิฏฐิวิสุทธิ

ถ. การเจริญสติปัฏฐานอยู่ที่บ้าน ไม่ไปเที่ยวเตร่ ไม่ออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น อย่างนี้จะเป็นการปิดกั้นตัวเองเอาไว้กับบ้านหรือไม่

สุ. ความจริงการเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่จำกัดสถานที่ เจริญสติเพื่อรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง การที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดอยู่บ้าน จะไม่ไปไหน หรือจะไปที่ไหน ก็เป็นเรื่องซึ่งแต่ละท่านสะสมมาที่จะกระทำอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะสั่งจะบังคับได้ และผู้ที่เจริญสติจะทราบได้ว่า ตัวของท่านเองนั้นเพิ่มความสนใจในธรรมมากขึ้น ทำให้คลายความสนใจในเรื่องอื่น และท่านที่ไม่ออกจากบ้าน ก็เป็นปกติธรรมดาของท่านอยู่แล้วก็ได้ แล้วแต่อัธยาศัย บางท่านก็ออกจากบ้านบ่อยๆ แต่บางท่านก็ไม่ชอบไปไหนเลย ถ้าไม่มีธุระจำเป็นก็ไม่ไป

การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ตามบุคคลอื่นโดยที่ไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของท่าน เพราะฉะนั้น การเจริญสติเป็นปกติ ทำให้ท่านได้รู้จักสภาพธรรมที่เกิดกับท่านละเอียดขึ้น ตรงตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น

ถ. การเจริญสติตามที่อาจารย์อธิบายนี้ ผมได้ยินมาจากบางแห่ง อธิบายว่า เปรียบเหมือนสอนว่ายน้ำบนบก ไม่ทราบว่าจะสงเคราะห์กับธรรมได้อย่างไร

สุ. หมายความว่า ท่านที่กล่าวว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันเป็นการสอนให้ว่ายน้ำบนบกใช่ไหม ถ้าจะให้ว่ายน้ำเป็นจริงๆ ก็จะต้องสอนกันในน้ำ เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่สามารถที่จะว่ายน้ำได้ใช่ไหม

การฟังธรรม อย่าเพิ่งเชื่อทันที ต้องพิจารณาไตร่ตรอง สอบทาน เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาค ไม่ใช่ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ที่ว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้ผล เหมือนกับการสอนให้ว่ายน้ำบนบก คำพูดเช่นนี้ ไม่มีในพระไตรปิฎกเลย ท่านจะค้นทั้งในพระวินัยปิฎก พระสุตตันปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ก็จะไม่มีคำอุปมาว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้ผล เพราะเหตุว่าเป็นการสอนให้ว่ายน้ำบนบก

ในพระไตรปิฎก เรื่องของโอฆะ ๔ คำว่า โอฆะ คือ ห้วงน้ำ ได้แก่ อกุศลธรรม ๔ ประเภท คือ

๑. กาโมฆะ (กาม - โอฆะ) ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นห้วงน้ำที่ทำให้สัตว์โลกจมอยู่ในวัฏฏะ

เป็นปกติในชีวิตประจำวันไหม มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือว่าใครไม่มี ทุกวันๆ นี้อยู่ในห้วงน้ำ หรืออยู่บนบก เพราะฉะนั้น ในปกติประจำวันนั้นทุกคนไม่ได้อยู่บนบก ซึ่งขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ในขณะนั้นเป็นการว่ายเพื่อจะให้ถึงฝั่ง คือ การพ้นจากโอฆะทั้ง ๔

๒. ภโวฆะ (ภพ - โอฆะ) ความยินดีพอใจในภพ ในชาติ ในขันธ์

๓. ทิฏโฐฆะ (ทิฏฐิ - โอฆะ) ห้วงน้ำ คือ ความเห็นผิด ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จมอยู่อีกแล้วในห้วงน้ำของทิฏฐิ เพราะว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง ในขณะใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ในขณะนั้นไม่ได้ว่าย ยังไม่สามารถไปถึงฝั่งได้เลย คงจมอยู่ในห้วงของโอฆะ

๔. อวิชโชฆะ (อวิชชา - โอฆะ) ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ยังมีอวิชชาอยู่

เพราะฉะนั้น ทุกๆ วัน ทุกๆ ขณะที่มีชีวิตอยู่ ไม่ได้อยู่บนบก อยู่ในน้ำ อยู่ในห้วงน้ำ อยู่ในห้วงของกามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ใช่การว่ายน้ำบนบก การเจริญสติแต่ละขณะจะทำให้สามารถไปถึงฝั่งบนบกได้

เปิด  343
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566