แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 162

ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ชนเหล่าใดยินดีแล้วในความสงบอินทรีย์

ในความสงบอินทรีย์ คือ ระลึกรู้นามและรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทันที ถ้าสติไม่ระลึกทันที ขณะนั้นจิตไม่สงบ หวั่นไหวไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความเป็นตัวตน แต่เวลาที่สงบอินทรีย์ คือ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

กามทเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทางที่ไปได้ยาก คือ ทางที่ไม่เสมอ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กามทเทวบุตร อริยะทั้งหลายย่อมไปได้ แม้ในทางที่ไม่เสมอที่ไปได้ยาก ผู้มิใช่อริยะย่อมเป็นผู้บ่ายศีรษะลงเบื้องต่ำ ตกไปในทางอันไม่เสมอ ทางนั้นสม่ำเสมอสำหรับอริยะทั้งหลาย เพราะอริยะทั้งหลายเป็นผู้สม่ำเสมอในทางอันไม่สม่ำเสมอ

เวลานี้ทางที่ไปได้ยากเพราะไม่สม่ำเสมอ ยังเป็นของท่านที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล หรือว่ายังไม่มีความมั่นคงในข้อปฏิบัติ

สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค มีข้อความว่า

ทางที่ไปได้ยาก ก็คือทางที่ไม่เรียบ ไม่สม่ำเสมอ ความจริงอริยมรรคไม่ใช่ไปได้ยาก ไม่ใช่ไม่เรียบ แต่ว่ามีอันตรายอยู่มากมายในทางปฏิบัติเบื้องต้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสไว้อย่างนี้ ชื่อว่า ไปได้ยาก

สำหรับท่านที่เพิ่งเริ่มเจริญสติปัฏฐาน พิสูจน์ความจริงได้กับตัวของท่านเอง สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป มีความจดจ้อง มีความสังสัย มีความเคลือบแคลงเกิดขึ้น ทำให้เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างนี้บ้าง หวังในผลบ้าง หรือสติไม่ระลึกรู้ว่า แม้ที่คิดอย่างนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ในตอนแรกจึงยากเหมือนกับเป็นทางที่ไม่สม่ำเสมอ เพราะสติยังไม่ได้ระลึกรู้จนทั่วว่า เป็นแต่นามเป็นแต่รูปเท่านั้น

ข้อความต่อไปมีว่า

ผู้ไม่ใช่อริยะ เป็นผู้มีศีรษะตกจากศีรษะ คือ ญาณ เพราะไม่สามารถขึ้นสู่อริยะได้ และท่านเรียกว่า ผู้ไม่ใช่อริยะเหล่านั้นย่อมตกไปในทาง

ทางที่ไม่เสมอเป็นทางที่ผิดได้ เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นว่า มรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดคิดว่า ท่านละบ้านช่องไปอยู่ที่หนึ่งที่ใด จำกัดสถานที่อยู่สัก ๗ วัน ๑๕ วัน ๗ เดือน ท่านก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ทำไมในครั้งโน้นไม่มีการชักชวนฆราวาสว่า มาเถิด มากันสัก ๗ วัน ๑๕ วัน หรือว่าเดือนหนึ่ง แล้วจะได้รู้สภาวธรรม หรือได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ทั้งๆ ที่ท่านละอาคารบ้านเรือนแล้ว เป็นเพศบรรพชิตแล้ว ท่านก็ยังเจริญกัน ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี และกามทเทวบุตรก็เป็นประจักษ์พยานว่า ถึงเจริญอย่างนั้นก็ไม่บรรลุเป็นอริยบุคคลได้ ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล

เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาโดยตรง จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง

มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ กินติสูตร มีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในป่าชัฏ สถานที่บวงสรวงพลี เขตเมืองกุสินารา สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมีความดำริในเราบ้างหรือว่า พระสมณโคดมแสดงธรรมเพราะเหตุจีวร หรือเพราะเหตุบิณฑบาต หรือเพราะเหตุเสนาสนะ หรือเพราะเหตุหวังสุขในภพน้อยภพใหญ่ ด้วยอาการอย่างนี้

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ไม่มีความดำริในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้เลยว่า พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมเพราะเหตุจีวร หรือเพราะเหตุ บิณบาต หรือเพราะเหตุเสนาสนะ หรือเพราะเหตุหวังสุขในภพน้อยภพใหญ่ ด้วยอาการนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เป็นอันว่าพวกเธอไม่มีความดำริในเราอย่างนี้เลยว่า พระสมณโคดมแสดงธรรมเพราะเหตุจีวร หรือเพราะเหตุบิณฑบาต หรือเพราะเหตุเสนาสนะ หรือเพราะเหตุหวังสุขในภพน้อยภพใหญ่ ด้วยอาการนี้ ถ้าเช่นนั้นพวกเธอมีความดำริในเราอย่างไรเล่า

พระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์มีความดำริในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้แลว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงอนุเคราะห์ ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ทรงอาศัยความอนุเคราะห์แสดงธรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เป็นอันว่าพวกเธอมีความดำริในเราอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความอนุเคราะห์แสดงธรรม เพราะฉะนั้นแล ธรรมเหล่าใดอันเราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เธอทั้งปวงพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ จะพึงมีภิกษุผู้กล่าวต่างกันในธรรมอันยิ่งเป็น ๒ รูป

ที่กล่าวต่างกันนั้น มีลักษณะ ๔ อย่าง คือ

ประเภทที่ ๑

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ถ้าพวกเธอมีความเห็นในภิกษุ ๒ รูปนั้น อย่างนี้ว่า ท่านทั้ง ๒ นี้แล มีวาทะต่างกันโดยอรรถและโดยพยัญชนะ พวกเธอสำคัญภิกษุรูปใดใน ๒ รูปนั้นว่า ว่าง่ายกว่ากัน พึงเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น แล้วกล่าวแก่เธออย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้ง ๒ มีวาทะต่างกันโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ขอท่านโปรดทราบความต่างกันนี้นั้น แม้โดยอาการที่ต่างกันโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ท่านผู้มีอายุทั้ง ๒ อย่าถึงต้องวิวาทกันเลย

ต่อนั้นพวกเธอสำคัญภิกษุอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายเดียวกันรูปใดว่า ง่ายกว่า พึงเข้าไปหารูปนั้น แล้วกล่าวแก่เธออย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้ง ๒ มีวาทะต่างกันโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ขอท่านโปรดทราบความต่างกันนี้นั้น แม้โดยอาการที่ต่างกันโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ท่านผู้มีอายุทั้ง ๒ อย่าถึงต้องวิวาทกันเลย

ด้วยประการนี้ พวกเธอต้องจำข้อที่ภิกษุทั้ง ๒ นั้นถือผิด โดยเป็นข้อผิดไว้ ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น

ถ้าไม่มีท่านผู้หนึ่งผู้ใดศึกษาพระธรรมวินัย จะมีท่านผู้หนึ่งผู้ใดไปกล่าวกับภิกษุ ๒ รูปนั้นได้ไหมว่า ท่านทั้ง ๒ กล่าววาทะต่างกันโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ด้วยเหตุนี้การศึกษาพระไตรปิฎก จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เกื้อกูลแก่พุทธบริษัท

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ด้วยประการนี้ พวกเธอต้องจำข้อที่ภิกษุทั้ง ๒ นั้นถือผิด โดยเป็นข้อผิดไว้ ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น

พุทธบริษัทสมัยนี้ยังจะกระทำอย่างนี้บ้างหรือเปล่า ซึ่งถ้ามีความเข้าใจถูกต้องในพระธรรมวินัย และปรากฏว่า มีท่านที่กล่าวคลาดเคลื่อน เข้าใจผิดไปจากพระธรรมวินัย ท่านจะทำอย่างนี้ไหม นอกจากนั้นยังต้องจำข้อที่ท่านผู้นั้นถือผิด โดยเป็นข้อถือผิด ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น

นี่เป็นประเภทหนึ่ง คือ กล่าววาทะต่างกันทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ

ประเภทที่ ๒ คือ

ท่านทั้ง ๒ นี้ มีวาทะต่างกันโดยอรรถ ย่อมลงกันได้โดยพยัญชนะ นี่ก็โดยนัยเดียวกัน

แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า

พวกเธอต้องจำข้อที่ภิกษุทั้ง ๒ นั้นถือผิด โดยเป็นข้อผิด และจำข้อที่ภิกษุทั้ง ๒ นั้นถือถูก โดยเป็นข้อถูกไว้ ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น

ประเภทที่ ๓ คือ

ท่านทั้ง ๒ นี้แล มีวาทะลงกันโดยอรรถ ยังต่างกันแต่โดยพยัญชนะ ก็เรื่องพยัญชนะนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่กระนั้นก็พึงกระทำอย่างเดียวกัน

ประเภทที่ ๔ คือ

ท่านทั้ง ๒ นี้แล มีวาทะสมกัน ลงกัน ทั้งโดยอรรถและโดยพยัญชนะ แต่แม้กระนั้นก็ยังต้องวิวาทกัน

ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

พวกเธอต้องจำข้อที่ภิกษุทั้ง ๒ นั้นถือถูก โดยเป็นข้อถูกไว้ ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งพึงมีอาบัติเป็นวีติกกมโทษ พวกเธออย่าเพิ่งโจทภิกษุรูปนั้นด้วยข้อโจท พึงใคร่ครวญบุคคลก่อนว่า ด้วยอาการนี้ ความไม่ลำบากจักมีแก่เรา และความไม่ขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่มีทิฏฐิมั่น ยอมสละคืนได้ง่าย และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด

ไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องอาบัติซึ่งเป็นเรื่องวินัย แม้แต่เรื่องธรรมก็โดยนัยเดียวกัน

พึงใคร่ครวญว่า ความไม่ลำบากจักมีแก่เรา และความไม่ขัดใจจักมีแก่บุคคลนั้น เพราะบุคคลนั้นเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่มีทิฏฐิมั่น ยอมสละคืนได้ง่าย และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้ ถ้าเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด

เป็นเรื่องที่จะต้องดูบุคคลด้วยว่า การที่จะพูดธรรม หรือกล่าวธรรมกับบุคคลนั้น จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เพราะว่าบางครั้งการที่จะกล่าวธรรมที่ถูกกับบุคคลอื่น ผู้กล่าวจะไม่ได้รับความลำบากใจอย่างใดเลย เพราะเหตุว่าผู้อื่นก็มีความเข้าใจในเจตนาที่เป็นกุศล และทั้งเป็นผู้ที่ไม่ผูกโกรธ ยอมสละคืนได้ง่าย แต่ว่าบุคคลก็มีหลายประเภท มีหลายจำพวก

สำหรับอีกบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อนึ่ง ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ว่า ความไม่ลำบากจักมีแก่เรา แต่ความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติเป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฏฐิมั่น แต่ยอมสละคืนได้ง่าย และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้ ก็เรื่องความขัดใจของบุคคลผู้ต้องอาบัตินี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลนั้นแลเป็นเรื่องใหญ่กว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด

บางครั้งการกล่าวธรรมที่ถูกต้องให้บุคคลอื่นได้ฟัง ได้พิจารณานั้น ไม่เป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้กล่าว แต่เป็นเรื่องขัดใจของผู้ฟัง ถึงคนอื่นจะขัดใจ แต่ถ้าท่านสามารถที่จะให้เขาออกจากอกุศล และดำรงอยู่ในกุศลได้ ก็ควรที่จะคิดว่า ความขัดใจของบุคคลนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องที่จะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลนั้นเป็นเรื่องใหญ่กว่า เพราะฉะนั้น ก็ควรจะพูด นี่เป็นบุคคลที่ ๒

สำหรับบุคคลที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อนึ่ง ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ว่า ความลำบากจักมีแก่เรา แต่ความไม่ขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ

ข้อความโดยย่อมีว่า

ก็เรื่องความลำบากของเราเป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้นั่นแล เป็นเรื่องใหญ่กว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด

บางทีผู้ที่รับฟังเป็นผู้ที่ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ แต่ว่าความลำบากจะมีแก่ผู้พูด ผู้พูดอยู่ในฐานะที่ยากแก่การที่จะพูด อาจจะโดยฐานะที่เป็นศิษย์ก็ได้ ซึ่งยากแก่การที่จะกล่าวกับอาจารย์ แต่ว่าถ้าบุคคลที่รับฟังเป็นผู้ที่ไม่ผูกโกรธ ไม่มักโกรธ ถึงแม้ว่าจะมีทิฏฐิมั่น ก็ยอมสละคืนได้ง่าย ก็ควรพูด

สำหรับบุคคลอีกประเภทหนึ่ง คือ เป็นเรื่องลำบากใจทั้งผู้พูด และเป็นทั้งขัดใจผู้ฟังด้วย แต่แม้กระนั้น ประโยชน์สำคัญกว่า คือ ถ้าเห็นว่าอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้ ก็ควรพูด นี่เป็นบุคคลประเภทที่ ๔

ส่วนบุคคลอีกประเภทหนึ่งเป็นประเภทสุดท้าย มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

แต่ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ว่า ความลำบากจักมีแก่เรา และความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติเป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฏฐิมั่น สละคืนได้ยาก ทั้งเราก็ไม่อาจจะให้เขาออกจากอกุศลดำรงอยู่ในกุศลได้ พวกเธอก็ต้องไม่ละเลยอุเบกขาในบุคคลเช่นนี้

ประการสุดท้ายก็หมดหนทาง คือ ไม่มีทางที่จะทำอะไรได้ นี่เป็นเรื่องชีวิตปกติประจำวัน ตราบใดที่ยังเกิดวนเวียนในวัฏฏะ ที่ยังจะต้องเกื้อกูลอนุเคราะห์ในธรรมซึ่งกันและกัน ก็จะต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นไป แม้ในครั้งพุทธกาล

ถ้าท่านไม่ศึกษาเทียบเคียงพระธรรม ท่านจะไปเกื้อกูลบุคคลอื่นได้ไหม มีอะไรที่จะเป็นข้อเปรียบ ข้ออ้าง ข้อพิสูจน์ธรรมที่ท่านกล่าวว่าเป็นธรรมที่ถูกต้อง เป็นธรรมที่จริง

ข้อความตอนท้ายของ กินติสูตร มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุอื่นๆ พึงถามเธออย่างนี้ว่า ท่านให้ภิกษุเหล่านี้ของพวกเราออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลแล้วหรือ ภิกษุเมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าฟังธรรมของพระองค์แล้ว ได้กล่าวแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมแล้ว ออกจากอกุศล และดำรงอยู่ในกุศลได้แล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อพยากรณ์อย่างนี้แล ชื่อว่า ไม่ยกตน ไม่ข่มคนอื่น พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรมด้วย ทั้งการกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน อะไรๆ อันชอบด้วยเหตุ ย่อมไม่ถึงฐานะน่าตำหนิด้วย

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

แสดงให้เห็นว่า เพราะภิกษุเหล่านั้นฟังธรรม จึงได้ออกจากอกุศลได้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของธรรมที่จะต้องศึกษา ค้นคว้า ไตร่ตรอง เทียบเคียง ประพฤติปฏิบัติตามแล้วก็เกื้อกูลบุคคลอื่น แต่ถ้าท่านไม่ศึกษาพระไตรปิฎก ไม่เทียบเคียง ท่านก็เกื้อกูลบุคคลอื่นไม่ได้ ไม่ว่าบุคคลอื่นจะเกื้อกูลลำบากหรือไม่ลำบาก

สำหรับในการเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลที่มีอกุศลให้ออกจากอกุศล บางท่านก็อยู่ในฐานะที่ลำบาก

ใน ตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มหาวรรค อุปัฌายวัตตกถา เป็นวัตรข้อปฏิบัติของศิษย์พึงมีต่ออาจารย์ ต่ออุปัชฌายะ ซึ่งถ้าจะศึกษาจากพระวินัย มหาวรรค ก็มีข้อความแสดงถึงวัตรปฏิบัติของศิษย์ที่มีต่ออุปัชฌายะอาจารย์ ที่เป็นชีวิตปกติประจำวันอย่างละเอียด ตั้งแต่ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่

ตติยสมันตปาสาทิกา มีข้อความว่า

เมื่ออุปัชฌาย์กล่าววาจาใกล้ต่ออาบัติ พึงห้าม เป็นเชิงถามอย่างนี้ว่า พูดเช่นนี้ควรหรือขอรับ ไม่เป็นอาบัติหรือ แต่ตั้งใจว่าจักห้าม แล้วก็ไม่ควรพูดกับท่านว่า ท่านผู้ใหญ่อย่าพูดอย่างนั้น

นี่ก็เป็นเรื่องที่จะเกื้อกูลระหว่างศิษย์กับอาจารย์

พระวินัยปิฏก มหาวรรค ภาค ๑ มีข้อความว่า

ถ้าความเห็นผิดบังเกิดแก่อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริกพึงให้สละเสีย หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วย หรือพึงทำธรรมกถาแก่อุปัชฌายะนั้น

นี่เป็นหน้าที่ของศิษย์ที่จะพึงมีต่ออาจารย์ แต่ข้อสำคัญคือ ถ้าศิษย์นั้นเป็นผู้ที่เลื่อมใสในบุคคล ไม่ได้ตรวจสอบทานเทียบเคียงกับพระธรรมวินัย ก็ย่อมจะไม่รู้ว่า อาจารย์เห็นผิดหรือเข้าใจผิด ที่จะรู้ว่า บุคคลใดไม่ว่าจะเป็นศิษย์หรือเป็นอาจารย์ก็ตามมีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิดนั้น ก็จะต้องรู้ได้โดยการศึกษาพระธรรมโดยตรงจากพระไตรปิฎก

เปิด  341
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566