แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 163

ได้ทราบจากบางท่านที่ได้ฟังธรรมแล้วกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ลึกซึ้งอะไรเลย เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชีวิตปกติธรรมดานั่นเอง แต่ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา มีทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งพระอภิธรรมปิฎกละเอียดและลึกซึ้งมาก เป็นเหตุเป็นผล แม้ข้อความในอรรถกถาก็มีว่า การดำเนินชีวิตในการงานของคนเราอาศัยปฏิจจสมุปปาทเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพศบรรพชิตหรือเพศฆราวาส มีกิจการงาน มีชีวิต มีความเป็นไปในวันหนึ่งๆ แตกต่างกันออกไป

ด้วยเหตุนี้ตลอด ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงธรรมวินัย ไม่มีอะไรเลยที่จะพ้นจากชีวิตปกติธรรมดา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะ สุข ทุกข์ อุเบกขาที่ทุกคนมี แล้วก็ปรากฏให้พิสูจน์ได้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน จึงดูเหมือนกับว่า เป็นเรื่องที่ไม่ลึกซึ้ง เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องธรรมดา แต่แท้ที่จริง คมฺภีรปญฺญํ ซึ่งได้แก่ปัญญาที่เป็นไปในอารมณ์ทั้งหลายอันลึกซื้ง

คมฺภีร เป็นชื่อของอารมณ์ อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอารมณ์อันลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถ้าท่านไม่เจริญสติปัฏฐานท่านจะไม่ทราบเลย เหมือนกับว่าเป็นเรื่องที่ท่านรู้แล้ว ทางตา พูดถึงสีสันวัณณะว่า เป็นของจริงที่ปรากฏทางตา ดูเหมือนกับว่าท่านรู้แล้ว อารมณ์ทางหู คือ เสียงที่กำลังปรากฏเป็นสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู ถ้าพูดถึงเรื่องของจริงลักษณะของจริงธรรมดา ก็ดูเหมือนว่าท่านรู้แล้ว แต่ความละเอียด ความลึกซึ้งของสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ละลักษณะลึกซึ้งโดยสภาพของอารมณ์ตามความเป็นจริง ซึ่งท่านยังไม่ประจักษ์ ถ้าท่านใดกล่าวถึงผลการปฏิบัติ ไม่ว่าขั้นใดก็ตาม ก็ไม่ควรจะตื่นตามผลที่ท่านผู้นั้นกล่าว แต่ควรจะได้ตรวจสอบตามความเป็นจริง

มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อรรถกถาฉวิโสธนสูตร

ฉ แปลว่า ๖ โสธน แปลว่า หมดจดบริสุทธิ์ ซึ่งมีข้อความว่า

เพราะฉะนั้น ถ้าว่าภิกษุไรๆ พึงพยากรณ์การบรรลุอุตริมนุสสธรรม ภิกษุนั้นอันใครๆ ไม่พึงสักการะ โดยเหตุเพียงเท่านี้ แต่ว่าพึงสอบสวนเพื่อความหมดจดในฐานะทั้ง ๖ เหล่านี้ว่า ท่านได้บรรลุอะไร ได้ฌาน หรือว่าได้วิโมกข์ อย่างหนึ่งอย่างใด

เป็นข้อความธรรมดา บางท่านอาจจะกล่าวว่า ไม่ได้พูดถึงญาณใดเลยด้วย ซึ่งธรรมดาท่านจะได้ยินโสฬสญาณ คือ ญาณ ๑๖ ท่านจะได้ยินชื่อของวิปัสสนาญาณชื่อต่างๆ แต่ในฉวิโสธนสูตรนี้ ไม่มีการกล่าวถึงแม้แต่ชื่อของญาณหนึ่งญาณใด แต่ว่าข้อความทั้งหมดก็เป็นเรื่องของญาณด้วย

มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ฉวิโสธนสูตร มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหาร เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเพิ่งยินดี อย่าเพิ่งคัดค้านคำกล่าวของภิกษุรูปนั้น ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาเธอว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้ มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือ คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว นี้แล

โวหาร ๔ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบ ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้

พยัญชนะที่ว่า คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว คือ ทิฏฐํ ได้ยินในอารมณ์ที่ตนได้ฟังแล้ว คือ สุตํ ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว คือ มุตํ รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว คือ วิญญาตํ

ประการต้น ท่านสอบถามกันเพียงเท่านี้ ผู้ที่ไม่เจริญสติจะยกสิ่งนี้ขึ้นถามไหม หรือจะถามว่า ได้ญาณไหน ก็คงจะสนใจแต่ในผลที่เป็นญาณ ผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะไม่สนใจในผล หรือญาณ เพราะเหตุว่าถ้าผู้ใดรู้ชัดในสภาพธรรมเหล่านี้แล้ว เป็นการทดสอบญาณความรู้ชัดของผู้นั้นว่า รู้ชัดอย่างไร ด้วยพยัญชนะเพียงเท่านี้ในขั้นต้น คือ จะถามว่า

โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้ มี ๔ ประการ

๔ ประการเป็นไฉน คือ

คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว

คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว

คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว

คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว

นี้แล โวหาร ๔ ประการอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบ ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้

โวหาร ๔ เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถามถึงเรื่องธรรมดา ไม่ได้ถามเรื่องอื่นเลย เพราะเหตุว่าความรู้ชัดต้องเป็นความรู้เรื่องนี้ ไม่ใช่ความรู้เรื่องอื่น ถ้ามีท่านผู้หนึ่งผู้ใดพยากรณ์ว่า ได้รู้ญาณนั้นแล้ว หรือเป็นพระอริยบุคคลขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว ท่านจะสอบถามเรื่องอารมณ์ คือ เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไหม หรือท่านเว้น ท่านข้าม ไม่สอบถามเรื่องนี้ แต่ไปสอบถามเรื่องอื่น คือ ไปตื่นเต้นเรื่องญาณมีลักษณะอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโยชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ ดังนี้ว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้เห็น มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ยิน มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ทราบ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้รู้ชัด มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่

ดูกร ท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้า ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้

นี่คือผู้ที่เป็นพระอรหันต์จริงๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดน ซึ่งเป็นเขตแดนของกิเลสอย่างหนึ่ง และเขตแดนของอารมณ์อย่างหนึ่ง เวลานี้ท่านที่ยังไหวหวั่นไปเพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ยังอยู่ในเขตแดนของกิเลส ยังไม่พ้นไปจากเขตแดนของกิเลสได้

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชมอนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้มี ๕ ประการ แล ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์

ดูกร ท่านผู้มีอายุ นี้แลอุปาทานขันธ์ ๕ ประการอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้

ตอนแรกกล่าวถึงเพียงอารมณ์ที่เห็นทางตา ที่ได้ทราบทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ควรจะถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเหตุว่าผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่รู้นิดรู้หน่อย แล้วก็ไม่ใช่รู้เพียงหยาบๆ ตื้นๆ เผินๆ แต่ความรู้ของท่านผู้นั้นเป็นความรู้จริง ซึ่งต้องเป็นความรู้ที่ละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ถามก็ซักไซ้ต่อไปอีกถึงว่า

จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้วก็ไม่รู้อุปาทานขันธ์ ๕ มีไหม รูปขันธ์เป็นสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ ถ้าผู้ใดไม่รู้รูปขันธ์ ผู้นั้นไม่ถึงแม้นามรูปปริจเฉทญาณ การที่ผู้นั้นจะต้องเจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ เมื่อระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมก็รู้ในสภาพที่เป็นนามธรรม เมื่อระลึกรู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรมก็รู้ในความเป็นรูปธรรม จึงจะชื่อว่า เป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ถ้าผู้ใดที่เจริญสติปัฏฐาน ปัญญาเพิ่มความรู้มากขึ้น จะไม่เคลือบแคลงสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเลย ถึงแม้ว่าจะกล่าวถึงโดยลักษณะของขันธ์ ๕ ก็ไม่พ้นจากรูปธรรมและนามธรรมนั่นเอง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโยชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่า มีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในรูป และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในรูปได้

ข้าพเจ้ารู้แจ้งเวทนาแล้วแลว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในเวทนา และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในเวทนาได้

ข้าพเจ้ารู้แจ้งสัญญาแล้วแลว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในสัญญา และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในสัญญาได้

ข้าพเจ้ารู้แจ้งสังขารแล้วแลว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในสังขาร และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในสังขารได้

ข้าพเจ้ารู้แจ้งวิญญาณแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นสิ่งที่ตั้งแห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในวิญญาณ และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในวิญญาณได้

ดูกร ท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้า ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้

กล่าวถึงญาณอะไรบ้างหรือเปล่า ไม่ได้เอ่ยคำว่าญาณเลย แต่ว่าข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ

ถ้าไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม จะกล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ท่านไม่ได้เอ่ยถึงว่า เป็นญาณนั้นญาณนี้เลย ซึ่งคำของท่านและความรู้ชัดของท่านแสดงว่า ท่านประจักษ์ในลักษณะที่ไม่งาม ในลักษณะที่ไม่เที่ยง ในลักษณะที่เป็นทุกข์ ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของนามและรูปนั่นเอง

สำหรับรูปขันธ์ จะต้องระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

ต่อไปในขันธ์ ๕ ก็มีเวทนาขันธ์ ความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง เฉยๆ บ้าง

ขันธ์ที่ ๓ คือ สัญญาขันธ์ สภาพที่จำได้นั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิด หนึ่ง เห็นแล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ที่จำได้เมื่อสักครู่นี้เองก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็นสิ่งใดทางตา ความจำเกิดขึ้น รู้ทางตา แล้วก็ดับไป ได้ยินอะไรทางหู เข้าใจความหมายของสิ่งที่ได้ยินทางหูก็เป็นความจำได้ทางหู แล้วก็ดับไป เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติจะไม่รู้ลักษณะของสัญญาได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสัญญาทำให้เกิดความยึดมั่นโยงอดีตไว้กับปัจจุบัน ทำให้มีความยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ปัญญาที่เกิดพร้อมสติ ทำให้รู้ในสภาพนั้นๆ ตามความเป็นจริงว่าเป็นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิด

ขันธ์ที่ ๔ คือ สังขารขันธ์ ความยินดี ความชอบใจ ไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง อยู่ในประเภทของสังขารขันธ์ สภาพรู้ทางตาก็เพียงรู้ทางตา ยังไม่มีความพอใจไม่พอใจใดๆ เกิดพร้อมกับขณะที่กำลังเห็น แต่ว่าเมื่อเห็นแล้วเกิดความชอบใจ ลักษณะที่ปรุงแต่งให้จิตจากการเห็นมาเป็นสภาพที่พอใจในสิ่งที่เห็น นั่นเป็นลักษณะของสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง

ขันธ์ที่ ๕ ขันธ์สุดท้าย คือ วิญญาณขันธ์ กำลังเห็นขณะนี้เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นสภาพรู้ทางตา กำลังได้ยินก็เป็นสภาพรู้ทางหู ผู้เจริญสติไม่รู้ลักษณะของวิญญาณขันธ์ได้ไหม

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชมอนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ ธาตุอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้มี ๖ ประการ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ

ดูกร ท่านผู้มีอายุ นี้แลธาตุ ๖ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้

ถามถึงธาตุ ๖ ไม่ต้องถามถึงญาณ ถามถึงธาตุ ๖ นี้ จะทราบได้ว่า ท่านผู้นั้นรู้จริง หรือว่ารู้ไม่จริง

เปิด  277
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566